|
ภาคใต้มีพื้นที่น้อยและฝนตกชุก การปลูกพืชไร่จึงทำกันได้บางท้องที่ สำหรับพืชผักก็ปลูกกันค่อนข้างน้อย แต่พืชทั้งสองประเภทก็สามารถทำเป็นรายได้เสริมของเกษตรกรได้โดยปลูกเป็นพืชแชมยาง แซมไม้ผล ระหว่างไม่ยืนต้น และปลูกก่อนหรือหลังการทำนา
พืชไร่ที่สำคัญ ๆและพอจะจัดว่าเป็นพืชไร่ในภาคใต้ มี 8 ชนิด คือ
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- ถั่วเขียว
- ถั่วลิสง
- สับปะรด
- อีก 3 ชนิดเป็นพืชไร่ แต่อาจจะจัดอยู่ในประเภทพืชผักก็ได้ คือ แตงโม ข้าวโพดฝักสด และมันเทศ
ใน พ.ศ.2533-2534 ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกพืชไร่ทั้ง 8 อย่างนี้ประมาณ 345,503 ไร่ โดยแบ่งตามลำดับ ดังนี้
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 146,344 ไร่ ในจังหวัดชุมพรและสุราษฏร์ธานี
- แตงโม 54,811 ไร่
- สับปะรด 37,907 ไร่
- ถั่วลิสง 35,880 ไร่ ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี พัทลุง สงขลา และอื่นๆ
- ถั่วเขียว 28,606 ไร่ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และสุราษฏร์ธานี
- ข้าวโพด ฟักสด 26,731 ไร่
- มันเทศ 10,274 ไร่
- งา 7,750 ไร่
สำหรับพืชผักก็มีการปลูกเกือบทุกชนิด มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ท้องที่และโอกาส เมื่อพิจารณาถึงท้องที่ปลูกและเรียงลำดับจากพื้นที่มากไปหาน้อยจะได้ดังนี้ พริกเล็กแตงกวา ฟักทอง ถั่วฝักยาว แตงร้าน บวบ คะน้า ผักบุ้งจีน ขิง ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดฝักอ่อน ผักกาดเขียวปลี มะระ ฝักเขียวพริกใหญ่ ผักกาดขาวปลี หอมแบ่ง เผือก ผักบุ้งไทย กะหล่ำดอก ผักกาดหอมกะหล่ำปลี ผักกาดหัว มะเขือเทศ รวมเป็นเนื้อที่ปลูกผักต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วประมาณ 150,750 ไร่
พืชไร่ที่ปลูกกันในภาคใต้อีกชนิดหนึ่งคือ ยาสูบ โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีนิโคตินมาก ใช้สูบและทำเป็นยาสกัดศัตรูพืชที่เรียกว่า ยากลาย นิยมปลูกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นครศรีธรรมราช
โดยสรุปพวกพืชไร่และพืชผักยังผลิตกันได้น้อยไม่เพียงพอ กับความต้องการของท้องถิ่น จึงได้มีการสั่งผักมาจากภาคเหนือ และภาคกลางมาจำหน่ายในภาคใต้ โดยการจัดตั้งศูนย์การค้าผักและผลไม้ขึ้นที่ใหญ่ที่สุดขึ้นที่ ตลาดหัวอิฐ
อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในแต่ละวันจะมีสินค้าผัก และผลไม้เข้าสู่ตลาดหัวอิฐเป็นจำนวนวันละ 150 - 200 ตัน ซึ่งร้อยละ 70 ของผักที่ตลาดแห่งนี้เป็นผักที่มาจากภาคอื่น ๆ สินค้าผักจากตลาดหัวอิฐประมาณร้อยละ 30 จะกระจายไปสู่ผู้บริโภคใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่เหลือร้อยละ 70 ของปริมาณผักทั้งหมดจะส่งไปขายที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จึงแสดงให้เห็นว่า ภาคใต้ยังมีศักยภาพและโอกาสในการผลิต พืชผักสูงมากเพราะตลาดมีความต้องการอีกมาก
|