<%@ Language=VBScript %> นครศรีธรรมราช - ข้อมูลเกษตรกรรม


 
  ลองกอง
 
        ลองกอง เป็นพืชประจำถิ่นของภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดนราธิวาส ในทางพฤกษศาสตร์ลองกองเป็นลูกผสมระหว่างลางสาด (Aglaia domestica) กับดูกู (Aglaia dookoo) ลองกองเป็นไม้ผลที่ชอบร่มเงาความชื้นสูงและมีฝนตกสม่ำเสมอ

ช่อผลลองกอง

 

พืชตระกูลนี้มีสมาชิกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายชื่อ เช่น ลางสาด ดูกู และลองกอง ลองกองมีผลกลมติดกันเป็นช่อยาว ๆ ผลของลองกองแตกต่างจากผลไม้อื่น ๆ เพราะมีเปลือกบาง ยางน้อย บริโภคง่าย เนื้อมีรสหวานและกลิ่นหอม มีเมล็ดน้อย เมล็ดไม่ขม ส่วนเนื้อของลางสาดจะมีรสหวานอมเปรี้ยว มีเมล็ดมากและรสขมจัดส่วนดูกูมีผลกลมไม่ติดกันเป็นช่อ ผลร่วงง่าย รสหวาน มีเมล็ดมาก เมล็ดไม่ขม


ประเภทของลองกอง

สำหรับลองกองเองก็ยังแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ

  • ลองกองแห้งหรือลองกองแท้ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากและทำเป็นการค้า เพราะมีผลกลม เปลือกหนาผิวหยาบเล็กน้อย เกาะติดกันเป็นช่อยาวและแน่น เนื้อมีรสหวาน กลิ่นหอม เมล็ดน้อย เมล็ดไม่ขม
  • ลองกองน้ำ ลักษณะผลคล้ายกับลองกองแห้ง เปลือกบางและผลจะนุ่มกว่า เนื้อไม่ค่อยหวานและมีน้ำมาก เวลาปอกและกินแล้วจะรู้สึกเปียก ๆ จึงเรียกว่าลองกองน้ำ
  • ส่วนลองกองปาลาแม มีผลคล้ายลางสาด คือ กลมรีหรือเปลือกบาง แต่ช่อไม่ค่อยแน่น

ลักษณะอ่อนนุ่ม เนื้อมีรสหวานและมีเมล็ดน้อย จึงนิยมปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือน

ถ้าดูตามภูมิประเทศจะพบว่าลองกองปลูกกันมากในกลุ่มชาวไทยมุสลิม เช่น ที่บ้านซิบโป บ้านตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาเมื่อทางราชการได้ไปส่งเสริมและคัดเลือกพันธุ์จึงทำให้ลองกองจากนราธิวาสขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว เพราะการขยายพันธุ์สามารถทำได้โดยการขยายพันธุ์เมล็ด โดยการเสียบยอดหรือทาบกิ่งบนต้นตอพวกลางสาด ดูกูและกองน้ำ ขณะนี้มีการปลูกลองกองกันทั่วหน้า 14 จังหวัดภาคใต้ และมีการนำพันธุ์ลองกองไปปลูกในภาคตะวันออกหรือแถวปราจีนบุรีอีกด้วย

 

การปลูกลองกอง

         การเตรียมหลุมปลูก ควรขุดให้มีขนาดกว้างยาว ลึก ประมาณ 1 เมตร ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟตรองก้นหลุม 1 – 2 กระป๋องนม และใช้อีกส่วนหนึ่งผสมกับดินที่ขุด ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 – 2 ปุ้งกี๋ กลบดินลงหลุม ใช้ระยะปลูกประมาณ 6 6 หรือ 8 8 เมตร ในระยะแรก ๆ ควรทำร่มให้กับลองกองด้วย หรือจะปลูกกล้วยเป็นร่มเงาก็ได้ ชาวสวนนิยมปลูกลองกองแซมพืชอื่น ๆ เช่น ทุเรียน สะตอ มังคุด และมะพร้าว เพื่อจะได้พึ่งพาร่มเงาซึ่งกันและกัน สำหรับจังหวัดที่มีการปลูกลองกองมากที่สุด 5 จังหวัดได้แก่

นราธิวาส (33,846 ไร่) ยะลา (10,925 ไร่) ปัตตานี (7,823 ไร่) ชุมพร (2,698 ไร่) และนครศรีธรรมราช (2,056 ไร่) แต่เมื่อรวมทั้ง 14 จังหวัดแล้วจะมีพื้นที่ปลูกลองกองเท่ากับ 65,073 ไร่ ซึ่งเพิ่มจากปีก่อน ๆ ปีละ 5,000 – 6,000 ไร่ ลองกองให้ผลผลิตตั้งแต่ 386 – 1,496 กิโลกรัมต่อไร่หรือเฉลี่ยแล้วจะเท่ากับ 1,329 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาซื้อขายกันประมาณกิโลกรัมละ 40 – 50 บาท ในฤดูที่ขาดแคลนลองกองชั้นดีจะซื้อขายกันกิโลกรัมละ 150 บาท จึงนับได้ว่าลองกองเป็นไม้ผลที่ให้รายได้แก่เกษตรกรมากที่สุดอย่างหนึ่ง และจะมีการขยายเนื้อที่ปลูกกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีความต้องการลองกองอีกมาก


[กลับสู่หน้า "ข้อมูลเกษตรกรรม"

[ทำนา]  [มะม่วงหิมพานต์]  [มะพร้าว]  [กาแฟ
[สวนยาง]  [ส้มจุก]  [เงาะ]  [หมาก]  [ปาล์มน้ำมัน]  [ตาลโตนด]  [มังคุด
[สะตอ]  [ทุเรียน]  [พืชไร่และผัก]  [ส้มโอ]  [พืชยืนต้น]  [ลองกอง]  [ไม้ผลเมืองร้อน