<%@ Language=VBScript %> นครศรีธรรมราช - อำเภอ



 
  สารทเดือนสิบ
 

          

        งานเดือนสิบเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นงานรื่นเริงที่จัดขึ้นในโอกาสประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเพณีทำบุญที่สำคัญยิ่ง เพราะเชื่อกันว่าเป็นการทำบุญให้แก่ปูย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อกันว่าพญายมจะปล่อยวิญญาณญาติ ๆ มาพบลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปเมืองนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงความชื่นชมกับผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งให้ผลในปลายเดือนสิบด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาสเหมาะทั้งด้านเชื่อและปัจจัยในการทำบุญก่อให้เกิดประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ และต่อมามีการจัดงานรื่นเริงขึ้นด้วย เพื่อเป็นกาเฉลิมฉลองและสนุกสนานกันจึงก่อให้เกิด "งานเดือนสิบ" ตามมา งานนี้ได้จัดมาเป็นเวลาช้านานจวบจนปัจจุบันนี้ จนถือได้ว่างานเดือนสิบเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชและถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดนี้อีกด้วย ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของการจัดงานนี้ จึงทำให้งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่งไปในภาคใต้หรือแม้ภาคอื่น ๆ


ความเป็นมาของงานเดือนสิบ

       มูลเหตุในการจัดงานเดือนสิบ สืบเนื่องมาจากการจัดงานในวันวิสาขบูชาในปี พ.ศ.2465 ที่วัดพระมหาธาตุฯโดยพลโทสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมขุน) อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดการซ่อมแซมพระวิหารในวัดพระธาตุฯ เช่น ทำช่อฟ้า ใบระกา เพดานที่พระวิหารหลวง และประดับประดาด้วยหนกลวดลายไทยมีดวงดาวแฉกเป็นรัศมีมีวิหารพระทรงม้า และวิหารเขียน เป็นต้น แต่งบประมาณในการก่อสร้างไม่เพียงพอ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จึงคิดหาเงินด้วยการจัดงานขึ้นในวันวิสาขบูชา พ.ศ.2465 ในวัดพระมหาธาตุฯ ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวง (ซึ่งขณะนั้นไม่มีภิกษุสามเณรหรือแม่ชีเข้าอยู่อาศัย เรียกว่า
“สวนดอกไม้”) มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าและเล่นการพนันบางประเภทในงานนั้นโดยจัดงานอยู่ 3 วัน 3 คืน

ปรากฎว่าได้เงินค่าประมูลร้านและการพนันนับหมื่นบาทคืน ปรากฎว่าได้เงินค่าประมูลร้านและการพนันนับหมื่นบาทสามารถนำไปซ่อมแซมพระวิหารในครั้งนั้นได้เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ.2466 พระภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) เวลานั้นยังเป็นหลวงรามประชา ผู้พิพากษหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและเป็นนายยกศรีธรรมราชสโมสร (ปัจจุบันคือสโมสรข้าราชการ) เห็นว่านครศรีธรรมราชสโมสรซึ่งสร้างมาหลายปีแล้วชำรุด สมควรที่จะได้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นตึกถาวรสง่างามแต่ก็ขัดข้องเรื่องเงินที่จะใช้ในการก่อสร้างจึงได้ปรึกษาหารือกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จึงได้ตกลงกันให้จักงานขึ้นอีก เพราะเห็นว่าการจัดงานวันวิสาขบูชาในปีก่อน (พ.ศ.2465) มีรายได้สูงแต่ในปี พ.ศ.2466 นั้นให้กำหนดเอางานทำบุญเดือนสิบมาเป็นช่วงที่จัดงาน
“งานเดือนสิบ”

จึงเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่สนามเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2466 นั่นเอง คณะกรรมการจัดงานเดือนสิบในครั้งนั้นประกอบด้วยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา พระภัทรนาวิกธรรมจำรูญ(เอื้อน) เป็นประธานกรรมการ หลวงนิติกฤตประพันธ์ (ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปากพนัง) หลวงอรรถกัลยาณวินิจ (อัยการจังหวัด) ขุนวิโรจน์รัตนาการ ขุนบวรรัตนารักษ์ ขุนประจักษ์รัตนกิจ ขันสุมนสุขภาร ทั้งข้าราชการจังหวัดและอำเภอทุกแผนก และพ่อค้าคหบดีอีกหลายคนเป็นกรรมการงานครั้งนั้นจัดเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยเริ่มงานตั้งแต่วันแรม 12 ค่ำ ในงานมีการออกร้าน มีมหรสพ กีฬา และการพนันอีกหลายประเภท เช่น ชนโค ตกเบ็ด ปาหน้าคน ยิงเป้า บิงโก สะบ้าชุด และมวย เป็นต้น การเก็บค่าผ่านประตูผู้ใหญ่คนละ 10 สตางค์ เด็ก 5 สตางค์ มีรายได้จากการจัดงานครั้งนี้เกือบสามพันบาท จึงนำรายได้นี้สร้างศรีธรรมราชสโมสรบริเวณสนามหน้าเมืองตามเป้าหมาย

ในปีถัดมาคือ พ.ศ.2476 คณะกรรมการจัดงานเดือนสิบได้ปรับปรุงงานให้สนุกยิ่งขึ้น คือนอกจากมีการออกร้านและการพนันเช่นปีแรกแล้ว ยังอนุญาตให้ออกลอตเตอรี่ในงานและการเชิญชวนกรมกองต่าง ๆ อำเภอและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในจังหวัดให้ออกมาร้าน มีการสั่งคณะนักมวยฝีมือดีจากกรุงเทพฯ มาชกในงานด้วย ปรากฎว่าในปีนี้สามารถเก็บค่าผ่านประตูและค่าประมูลร้านได้เกือบหมื่นบาท ในปีต่อ ๆ มา ศรีธรรมราชสโมสรก็ได้จัดงานเดือนสิบนี้เรื่อยมา จนมีเงินสร้างตึกศรีธรรมราชสโมสรสำเร็จในปี พ.ศ.2469 และมีรายได้บำรุงสโมสรจนมีเครื่องใช้ไม้สอยครบครันและมีเงินฝากธนาคารเป็นจำนวนหลายหมื่นบาท

ในปี พ.ศ.2477 นายมงคล รัตนวิจิตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช หลวงสรรพนิติพัทร (เพียร บุณผลึก) ผู้พิพากษารองศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายยกสมาคมพร้อมด้วยผู้ที่เคยเป็นกรรมการจัดงานเดือนสิบในปีก่อน ๆ บางคน และสามชิกนครสมาคม มีความเห็นพ้องกันว่าศรีธรรมราชราชสโมสรได้จัดงานเดือนสิบเก็บเงินสโมสรมาถึง 10 ปีแล้วควรจะนำเงินรายได้จาการจัดงานในปีนี้ใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์เสียบ้าง

นายมงคล รัตนวิจิตร จึงได้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการจังหวัดเพื่อขอร่วมจัดงานด้วยทางคณะกรรมการจังหวัดเข้าใจว่า มีความประสงค์จะให้คณะกรรมการจังหวัด ศรีธรรมราชสโมสรกับตนเองและหลวงสรรพนิติพัทรร่วมมือกันจัดงานในปีนั้น เพื่อบำรุงสาธารณประโยชน์หาใช่ต้องการสถานที่ไปจัดงานเองไม่ แต่ทางคณะกรมการจังหวัดและศรีธรรมราชสโมสรไม่ย่อมร่วมมือด้วย นายมงคล รัตนวิจิตร หลวงสรรพนิติพัทร (เพียร) สมาชิกนครสมาคม ข้าราชการบางคน โรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนจึงได้ร่วมกันจัดงานขึ้นโดยพยายามจัดให้คึกคักกว่าปีก่อน ๆ มีแผนกปาฐกถาและเผยแพร่รัฐธรรมนูญในงานด้วย แต่ก็ปรากฎว่าการจัดงานเดือนสิบในครั้งนี้ขาดทุนเพราะขาดคสามสามัคคีระหว่างข้าราชการบางหมู่คณะ

ในปี พ.ศ.2482 คณะกรมการจังหวัดได้มอบให้เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดงานเดือนสิบเพื่อนำรายได้บำรุงเทศบาลเมือง ส่วนในปี พ.ศ.2484-2488 งดจัดงานเดือนสิบเพราะอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2504 คณะกรรมการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดงานเดือนสิบ หลังจากนั้นจังหวัดก็ได้จัดงานเดือนสิบติดต่อกันเรื่อยมา โดยร่วมมือกับเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช และหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัด


งานเดือนสิบในปัจจุบัน

งานเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราชยังคงจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ และยังคงเป็นงานรื่นเริงประจำปีที่จัดเนื่องในเทศกาลทำบุญสารทเดือนสิบเหมือนที่เคยจัดมา เพียงแต่ทางคณะกรรมการจังหวัดได้พยายามจัดให้ยิ่งใหญ่ขึ้นทั้งในด้านสถานที่จัด ช่วงเวลาที่จัดและกิจกรรม

สถานที่จัดงานเดือนสิบในปัจจุบันก็ยังคงใช้บริเวณสนามหน้าเมืองเช่นเดิม เพราะเป็นที่ที่มีบริเวณกว้างขวางมีเนื้อที่ถึง 33 ไร่เศษ และอยู่ในกลางเมืองนครศรีธรรมราชการไปมาสะดวก (ดู สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช) แต่มาในระยะหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันนี้เพียงแต่บริเวณสนามหน้าเมืองหาเพียงพอไม่ เพราะงานได้จัดให้ใหญ่โตขึ้นและมีผู้คนมาเที่ยวกันคับคั่ง จึงทำให้ต้องขยายที่ที่จัดงานออกมานอกสนามหน้าเมือง คือกินมาถึงบริเวณถนนราชดำเนินหน้าสนามเมืองด้วย ส่วนช่วงเวลาที่จัดงานได้กำหนดเป็น 10 วัน 10 คืน โดยกำหนดให้ตรงกับช่วงเทศกาลทำบุญสาทรเดือนสิบของทุก ๆ ปี ถึงกระนั้นก็ตามผู้คนก็มักจะนิยมเที่ยวกันทั้งก่อนเริ่มงานและหลังเลิกงานด้วย เพราะเป็นช่วงที่ไม่ได้เก็บค่าผ่านประตูแต่บรรดาร้านค้าต่าง ๆ ได้ตามชอบใจ

กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้มีในงานเดือนสิบมีหลายประเภททั้งที่ให้ความรู้ความบันเทิงและการบุญการกุศล กิจกรรมที่สำคัญซึ่งมี่อยู่แทบทุกปีในการจัดงานเดือนสิบในปัจจุบันนี้ได้แก่

  1. กิจกรรมเกี่ยวกับการบุญการกุศลและฟื้นฟูประเพณีทำบุญวันสารท เช่น จัดให้มีการทำบุญตักบาตรในวันเปิดงานการทำบุญวันสารท การประกวดห.ม.รับและการแห่ห.ม.รับไปในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่อย่างจริงจังในประเพณีเก่าแก่ จากทั้งทางราชการและประชาชน นอกจากนั้นแล้วในโอกาสงานเดือนสิบทางวัดมหาธาตุฯ ก็ได้เชิญชวนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมและนมัสการองค์พระบรมธาตุด้วย
  2. กิจกรรมเกี่ยวกับการออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้ามีบริษัทห้างร้านต่าง ๆ จากแทบทุกภาคมาออกร้านเพื่อแสดงและจำหน่ายสินค้าของตนในงานนี้ ชาวบ้านชาวเมืองเองก็ออกร้านจำหน่ายอาหารและสิ้นค้าพื้นเมือง ตลอดจนหน่วยราชการต่าง ๆ เช่น โรงเรียน อำเภอ หรือหน่วยราชการอื่น ๆ ต่างก็ออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าด้วยเพื่อหารายได้ให้หน่วยราชการนั้น ๆ การออกร้านต่างก็ประดับประดาตกแต่งเพื่อประชันกันในที และบางปีก็มีการจัดประกวดร้านด้วย
  3. กิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟูและให้ความรู้และให้ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมแก่ประชาชน งานเดือนสิบเป็นงานที่มีจุดกำเนิดและมีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมโดยตรง การให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมแก่ประชาชนจึงเป็นวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของการจัดงานนี้ โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทางราชการค่อนข้างจะเน้นวัตถุประสงค์นี้อย่างเด่นชัด ศิลปะและวัฒนธรรมที่ให้ความรู้แก่ประชาชนนี้มีทั้งศิลปะและวัฒนธรรมชาวภาคใต้และจากภาคอื่น ๆ ทั่งประเทศ กิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟูและให้ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมแก่ประชาชน เช่น การประชันกลองยาว การประชันเพลงบอกการจัดพานดอกไม้ การสาธิตการทำหมาตักน้ำ การสาธิตการแกะหนังตะลุง การสาธิตการทอหูก เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2523 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างภาคและด่จัดในปีต่อ ๆ มาด้วย นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากสถานการศึกษาบางแห่ง เช่น สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมภาคใต้ขึ้นที่ศาลาประชาคม (อยู่ในบริเวณสนามหน้าเมือง) เพื่อให้ความรู้ด้านนี้แก่ประชาชนโดยตรง เป็นต้น
  4. กิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานและนโยบายของรัฐบาล ได้มีหน่วยงานราชการจากกรม กอง กระทรวงต่าง ๆ ออกร้านเพื่อแสดงผลงานและนโยบายของหน่วยราชการนั้น ๆ ส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะของการจัดนิทรรศการ แจกเอกสารและมีวิทยากรคอยบรรยายและตอบข้อสงสัยของประชาชนด้วย เช่น หน่วยราชการเกี่ยวกับกรมประมง การเกษตร ทหารและตำรวจ เป็นต้น
  5. กิจกรรมเกี่ยวกับการประกวดมีการประกวดหลายประเภท เช่น การประกวดศิลปหัตถกรรมของนักเรียนและประชาชน (วาด ปั้น แกะสลัก ฯลฯ) การประกวดมารยาทนักเรียนอ่านทำนองเสนาะ โต้กลอนและโต้วาที่ เป็นต้น
  6. กิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา กีฬาที่จัดให้มีการแข่งขันในบริเวณงานเดือนสิบมีทั้งระดับนักเรียนและประชาชน เช่น บาสเกตบอล ตะกร้อ แบดมินตัน วอลเลย์บอล ชกมวย เป็นต้น โดยจะแข่งขันกันในบริเวณที่จัดงานคือด้านตะวันตกของสนามหน้าเมือง ซึ่งมีสนามเหล่านี้พร้อมอยู่แล้วการแข่งงขันนี้อาจจัดขึ้นในระดับโรงเรียน อำเภอ เขตหรือภาคแล้วแต่ความเหมาะสมเป็นปี ๆ ไป
  7. กิจกรรมเกี่ยวกับมหรสพและการบันเทิง งานเดือนสิบเป็นงานที่มีเป้าหมายเพื่อความสนุกรื่นเริงเป็นสำคัญ ในงานนี้จึงเต็มไปด้วยมหรสพและการละเล่นเพื่อความบันเทิงหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นของท้องถิ่นภาคใต้โดยตรง เช่น หนังตะลุง โนรา และมหรสพอื่น ๆ ทั่วไป เช่น ลิเก ลำตัด ภาพยนตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแสดงอื่น ๆ ที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้เที่ยวงานนี้อีกมาก เช่น รถไต่ถัง ปากระป๋อง สาวน้อยตกน้ำ ยิงปืน เป็นต้น รวมทั้งการแสดงวิวิธทัศนาของนักเรียนนักศึกษาระดับต่าง ๆ
  8. กิจกรรมพิเศษเฉพาะปีเป็นกิจกรรมที่ทางคณะกรรมการจัดงานได้กำหนดให้มีขึ้นเป็นพิเศษแต่ละปี เช่น การจัดนิทรรศการเรื่อง “พลังงานกับชีวิต” ในงานเดือนสิบปี พ.ศ. 2522 เป็นต้น

    


ความสำคัญของงานเดือนสิบ

  1. เป็นการรักษาฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีการทำบุญวันสารท ในขณะเดียวกันเป็นการสืบทอดประเพณีการจัดงานรื่นเริงประจำปีของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ยั่งยืนมาถึงปัจจุบันนี้
  2. ทำให้ประชาชนชาวเมืองนครศรีธรรมราชและผู้ที่อยู่ใกล้ไกลได้รับความสนุกสนานรื่นเริงจากการเที่ยวงานประเพณี
  3. ทำให้ประชาชนได้รับความรู้ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรมการประกอบอาชีพและอื่น ๆ เท่าที่มีกิจกรรมในงานเดือนสิบในแต่ละปี
  4. ทำให้ประชาชนได้รับความรู้และเข้าใจในผลงานตลอดจนนโยบายที่สำคัญของทางราชการ อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน
  5. ทำให้จังหวัดมีรายได้นำไปบำรุงสาธารณประโยชน์และช่วยในกิจการกุศล
  6. เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำบุญและนมัสการองค์พระบรมธาตุโดยทั่วถึง

พิธีกรรม

           ประเพณีสารทเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ล่วงลับไปแล้วที่ (เรียกว่า "เปรต") มาจากนรก สำหรับวันนี้บางคนก็ประกอบพิธี บางคนก็ยกไปประกอบพิธีในวันแรม 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ การประกอบพิธีในวันนี้กระทำเพียงจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัด หรือเรียกว่าวัด "หม.รับเล็ก" ไปทำบุญที่วัดเป็นการต้อนรับบรรพบุรุษ และญาติมิตรที่ขึ้นมาจากนรกเท่านั้น
          การเตรียมการสำหรับประเพณีสารทเดือนสิบ เริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 วันนี้ เป็นวันที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า "วันจ่าย" เป็นวันที่เตรียมหม.รับ และจัดหม.รับ คือการเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดหม.รับ สิ่งของที่ใช้ในการจัดหม.รับ ก็หาซื้อได้จากท้องตลาด ซึ่งในนี้ชาวนครศรีธรรมราชต่างก็จัดของมาขายและมาซื้อในตลาดกันมากเป็นพิเศษ
          เมื่อได้ของตามที่ต้องการแล้วก็เตรียมจัดหม.รับรับการจัดหม.รับแต่เดิมใช้กระบุงเตี้ย ๆ ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ภายหลังใช้ภาชนะได้หลายชนิด เช่น กระจาด ถาด กะละมัง ถัง หรือ กระเชอ สำหรับสิ่งของที่ใช้ในการจัดหม.รับ

  


การจัดหม.รับ

          ชั้นแรกใส่ข้าวสารรองกระบุงแล้วใส่หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และบรรดาเครื่องปรุงอาหาร คาวหวานที่เก็บไว้ได้นาน ๆ เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย (ที่ยังไม่สุก) อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผักอื่น ๆ บรรดาในเวลานั้น นอกจากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าดไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กะทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย เครื่องเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู ปูน กานพลู การบูน พิมเสน สีเสียด ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน แล้วใส่สิ่งอันเป็นหัวใจอันสำคัญของหม.รับคือ ขนม 5 อย่างมี ดังนี้

          
ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม

          
ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับบุรพชน ใช้ลอ่งข้ามห้วงมหรรณพ

          
ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

          
ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย

          
ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เล่นสะบ้า ในวันสงกรานต์


          ผู้ที่สูงอายุบางท่านกล่าวว่า ขนมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหม.รับ มี 6 อย่าง คือ เพิ่มขนมลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์ แทนฟูกหมอนอีกอย่างหนึ่งด้วย
          สิ่งที่ใฃ้ในการจัดหม.รับอื่น ๆ มี เครื่องเล่น และของใช้ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของพื้นเมือง เช่น ไม่เถึยะ (ไม้หยี) ไม้ระกำ กระดาษ ใบลานทำเป็นรูปสัตว์ เช่น ไก่ นก ปลา ช้าง ม้า หรือ รูปละคร รูปหนังตะลุง อาวุธต่าง ๆ เช่น ปืน มีด พร้า ขวาน หรืออาจจัดเป็นกระถางต้นไม้ชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้จำพวกของใช้ก็มีหลายอย่าง เช่น กระชอน กระจ่า ตะกร้า เป็นต้น
          การทำเครื่องใช้หรือเครื่องเล่นไปถวายพระในวันสารทโดยวิธีติดหม.รับ จะต้องพิจารณาว่า ผู้ที่ตนอุทิศส่วนกุศลไปให้นั้น ชอบอะไรเป็นพิเศษก็ถวายสิ่งนั้น
          สำหรับรูปแบบการจัดหม.รับ ก็แล้วแต่ผู้จัดว่าจะจัดแบบใด อาจจัดเป็นแบบธรรมดา คือจัดลงในกระจาด กระเขอ กะละมัง หรือ กระบุง หรืออาจจะจัดให้สวยงารเป็นรูปแบบต่าง ๆ แล้วตกแต่งด้วยดอกไม้ หรือทำเป็นรูปแบบอื่นตามต้องการที่ผู้จัดต้องการ
          อนึ่งการจัดหม.รับนั้นอาจจัดเฉพาะครอบครัวหรือจัดรวมกันในหมู่ญาติพี่น้อง หรือจัดเป็นกลุ่มก็ได้ ปัจจุบันการจัดหม.รับส่วนใหญ่จะจัดรวมกันในหมู่ญาติพี่น้อง และจัดเป็นกลุ่ม

การประกอบพิธี

การยกหม.รับ

          พิธีสารทจะเริ่มขึ้นโดยการนำหม.รับที่จัดเตรียมไว้ในวันแรม 13 ค่ำ ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า "วันยกหม.รับ" การยกหม.รับไปวัดจะจัดเป็นขบวนแห่ อาจเป็นขบวนเล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่ ขนาดของหม.รับ และจำนวนคนที่ร่วมกันจัดหม.รับ คือ อาจจะมี 3 - 4 คน หรือ 10 - 20 คน หรือ 100 คน ถ้าเป็นหม.รับใหญ่ ก็จะมีขบวนแห่ใหญ่โตเอิกเกริก ผู้ร่วมขบวนก็จะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม หรืออาจแต่งเป็น "เปรต" แล้วแต่ความคิดของผู้ร่วมขบวนแห่ การทำบุญที่
          วัดในวันนี้นอกจากจะยกหม.รับไปวัดแล้ว ก็จะนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย ส่วนการเลือกวัดที่จะไปทำบุญและยกหม.รับไปนั้นก็จะเป็นวัดใกล้บ้าน หรือวัดที่เคยเผาบรรพบุรุษหรืออาจเป็นวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารก็เป็นวัดซึ่งศูนย์กลางและรวมของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองนครศรีธรรมราช ยกหม.รับไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน

การตั้งเปรต

           เมื่อยกหม.รับและถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็จะมีการ "ตั้งเปรต"การตั้งเปรตแต่เดิมกระทำโดยการนำเอาขนมส่วนหนึ่งไปวางไว้ในที่ต่าง ๆ ตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้เพื่อแผ่ส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญด้วย ส่วนการตั้งเปรตในระยะหลังได้มีการสร้างร้านสูงพอสมควรเรียกว่า "หลาเปรต" หรือ "ศาลเปรต" แล้วนำขนมไปวางไว้บนร้านนั้น เมื่อนำขนมมาตั้งเปรตหลาเปรตเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรต เพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "ชิงเปรต" กล่าวคือเมื่อเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์เก็บสายสิญจน์ทั้งคนเฒ่าแก่หนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็จะกรูกันเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรตกันอย่างตั้งอกตั้งใจเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพชน ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่ง

การฉลองหม.รับและการบังสุกุล

           การฉลองหม.รับและการบังสุกุลกระทำกันในวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทในวันนี้มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหม.รับ เรียกว่า "วันฉลองหม.รับ" นอกจากนี้มีการทำบุญเลี้ยงและการบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องกลับไปเมืองนรก การทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันนี้นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะหากมิได้จัดหม.รับหรือทำบุญ อุทิศส่วนกุศลที่วัดในวันนี้ บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะอดอยากทนทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญู

วิวัฒนาการ

           ปัจจุบันประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองนครศรึธรรมราชได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งพิธีการและรูปแบบบ้างกล่าวคือ เนื่องจากในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ที่เรียกว่า "วันจ่าย" ชาวนครจะชวนกันไปชุมนุมซื้อของตามที่นัดหมาย หรือตามตลาดจ่ายต่าง ๆ กันมาก ดังนั้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมาได้จัดงานรื่นเริงสมทบกับประเพณีสารทเดือนสิบด้วยด้วยชื่อว่า "สารทเดือนสิบ" จัดขึ้นที่สนามหน้าเมืองเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2466 และจัดสืบมาถึงปัจจุบัน
           อนึ่ง ในวันแรม 15 ค่ ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหม.รับนั้น มีการจัดขบวนแห่หม.รับกันอย่างสนุกสนาน เพื่อนำหม.รับไปประกวดที่ศาลาประดู่หก และหม.รับก็จะจัดแต่งอย่างสวยงามเพื่อประกวดแข่งขันกันด้วย ส่วนตามชนบทก็ยังคงปฏิบัติตามแบบเดิม