![]() ![]() ![]() |
![]() |
[ ภาคหนึ่ง ] [ ภาคสอง ] [ ภาคสาม ] [ ภาคสี่ ] [ ภาคห้า ] [ ภาคหก ] [ ภาคเจ็ด ] [ ภาคแปด ] [ ภาคเก้า ] [ ภาคสิบ ] |
ภาคสาม ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ. |
![]() ![]() ![]() |
ข้อนี้หมายความว่า กิริยาอาการที่แสดงออกของบุคคลที่เป็นผู้ดีนั้นย่อมแสดงออกแต่ในทางสุภาพเรียบร้อยน่าดูน่าชมเท่านั้น กิริยาอาการนี้ก็เป็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โบราณท่านกล่าวไว้ว่ากิริยาส่อชาติ มารยาทส่อสกุล เพราะฉะนั้นการแสดงกิริยาอาการที่สุภาพอ่อนโยนงดงาม จึงเป็นการสมควรที่ทุกคนควรทำอย่างยิ่ง ท่านแบ่งไว้ดังนี้ |
![]() หมายถึงการแสดงสัมมาคารวะทางกาย 1. ผู้ดีย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ หมายความว่า เมื่ออยู่กับผู้ใหญ่ต้องรู้ที่นั่งของตน ว่าตนควรจะนั่ง ณ ที่แห่งใด และควรจะนั่งอย่างไร เช่น ผู้ใหญ่อยู่กับพื้นก็ควรนั่งกับพื้น และควรนั่งพับเพียบ ในระยะห่างพอควรแก่สถานที่และธุระที่ทำ ถ้าท่านนั่งเก้าอี้และท่านอนุญาตให้เรานั่งเก้าอี้ด้วยก็ควรนั่ง แต่ไม่ควรนั่งไขว้ขาหรือกระดิกเท้าตามชอบใจ ควรนั่งด้วยท่าทางที่สุภาพเรียบร้อย ควรแก่สถานที่และภาวะของตน |
2. ผู้ดีย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่ หมายความว่า เมื่อเดินไปกับผู้ใหญ่ต้องเดินตามหลังท่าน และไปในระยะไม่ห่างนัก ไม่ชิดนัก เพราะถ้าเดินห่างนักพูดไม่ค่อยได้ยิน ถ้าเดินชิดนักจะสะดุดส้นท่าน ต้องเดินในระยะพอสมควรที่จะพูดจะถามได้ยินสะดวก และต้องไม่เดินแซงขึ้นหน้าผู้ใหญ่ หากไม่ได้เดินร่วมไปกับท่าน เมื่อท่านเดินมา มีความจำเป็นจะต้องผ่าน ก็ไม่ควรเดินผ่านหน้าท่าน ควรหาทางที่จะผ่านไปทางหลังท่าน จึงดูสุภาพดี |
3. ผู้ดีย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่ หมายความว่าขณะที่อยู่ใกล้ผู้ใหญ่ไม่ว่าในที่เช่นใด ต้องไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่ ต้องหันหน้าเข้าหาท่าน จึงดูเรียบร้อยดี |
4. ผู้ดีย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง หมายความว่า ขณะที่เรานั่งหรือยืนอยู่ในที่ใด ๆ ก็ตาม เช่น ในที่ชุมนุม หรือในรถโดยสาร เมื่อมีผู้ใหญ่คือผู้สูงอายุ คือ คนชรา หรือผู้หญิงขึ้นมาภายหลังต้องให้ที่นั่งแก่คนเหล่านั้นตามสมควร แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในวัยที่เสมอกัน ตามปรกติไม่ต้องให้นั่ง แต่ถ้าคนเหล่านั้นอุ้มเด็กมา หรือมีครรภ์หรือมีของหนักติดมือมา ก็ต้องลุกให้ตามควร อย่างนี้จึงดูสุภาพดี |
5. ผู้ดีย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น หมายความว่า เมื่อเราเข้าไปหาผู้ใหญ่หรือเดินทางไปกับผู้ใหญ่ หรืออยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ เราไม่ควรเอาบุหรี่มาทัดหู แม้ของอื่นก็ไม่สมควร เมื่อจะสูบบุหรี่ก็ไม่ควรคาบกล้องต่อหน้าผู้ใหญ่ อีกอย่างหนึ่งในที่ชุมนุม จะเป็นในที่ประชุมกันก็ตาม อยู่ในรถก็ตาม ไม่ควรสูบบุหรี่ทีเดียว ถ้ามีความจำเป็น ก็ควรอยู่ใต้ลมและเบื้องหลังท่าน อย่างนี้จึงสุภาพดี |
6. ผู้ดีย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น หมายความว่า เมื่อจะเข้าเขตของท่านผู้ใด ต้องแสดงความเคารพต่อเจ้าของเขตนั้น ๆ จึงเป็นการสมควรทีเดียวที่จะต้องเปิดหมวกออก |
7. ผู้ดีย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่า แห่งศาสนาใด หมายความว่า ตามธรรมดาคนเรานี้มีความเชื่อถือในลัทธินิยมต่าง ๆ กัน แล้วแต่ความสมัครใจของตน เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งในการนับถือศาสนา ในลัทธินิยมเหล่านั้น ย่อมมีสิ่งที่เคารพนับถือของผู้เชื่อถือจะได้ยึดถือเป็นหลักใจ เป็นที่รวมของคนทั้งหลาย จึงมีสถานที่กลางขึ้น เรียกทั่วไปในภาษาไทยว่าวัดบ้าง ศาลเจ้าบ้างหรือเรียกอนุโลมเพื่อให้เข้าใจกันได้ว่า โบสถ์บ้าง วิหารบ้าง สุเหร่าบ้าง ตามที่หมายรู้กัน สถานที่เหล่านี้เราเรียกกันออกไปอีก เช่น ปูชนียสถาน เจดียสถานบ้าง ตามถนัดที่จะหมายรู้กันได้ เมื่อรวมลงแล้วสถานที่เหล่านี้ก็เป็นที่เคารพอย่างสูงสุดของผู้นับถือลัทธินิยมนั้น ๆ การเข้าไปในเขตบริเวณสถานที่ เช่นนั้นแม้เราจะนับถือหรือไม่ก็ตาม เราต้องแสดงความเคารพต่อสถานที่เหล่านั้นเช่นเดียวกับสถานที่ซึ่งตนเคารพนับถือ การแสดงความเคารพนั้นมีหลายวิธีถ้าสวมรองเท้า เมื่อจะเข้าไปในเขตนั้น ต้องถอดรองเท้า ถ้าสวมหมวกต้องเปิดหมวก ถ้ากางร่มต้องลดร่ม แต่เรื่องการถอดรองเท้านี้ ถ้าสวมตามเครื่องแบบมีข้อบังคับว่าถอดไม่ได้ ถอดเป็นการแสดงความเคารพ เช่นนี้ไม่ต้องถอดรองเท้าก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะเข้าในสถานที่เคารพทุกแห่งควรแสดงความเคารพก่อนเข้าไป |
8. ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน หมายความว่าในการแสดงความเคารพต่อกันและกันนั้น ตามปรกติผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ก่อน แล้วผู้ใหญ่จึงรับเคารพภายหลัง เช่นเมื่อพบกัน ผู้น้อยต้องแสดงความเคารพผู้ใหญ่ เช่น ไหว้ก่อนแล้วผู้ใหญ่จึงรับไหว้ภายหลัง ข้อนี้หากอยู่ในเครื่องแบบอย่างไรในที่เช่นใดต้องทำให้เหมาะแก่กาลเทศะ |
9. ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน หมายความว่าเมื่อชายหญิงได้พบกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตามปรกติผู้ชายต้องเคารพผู้หญิงก่อน จึงจะนับว่าเป็นมรรยาทที่ดี ทั้งนี้หมายถึงสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษโดยทั่วไป มิใช่แก่พ่อแม่พี่ป้าน้าอาปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์ ซึ่งต้องเคารพกันฐานญาติอยู่แล้ว |
10. ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน หมายความว่าแขกผู้ไปถึงถิ่นของท่านผู้ใด ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อจะลากลับฝ่ายผู้เป็นแขกต้องแสดง คารวะต่อเจ้าถิ่นโดยสถานใดสถานหนึ่ง ตามควรแก่ภาวะของตน ถ้าแขกเป็นผู้น้อยกว่า ก็ทำตามภาวะของผู้น้อย ถ้าแขกเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ทำตามภาวะของผู้ใหญ่ |
11. ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน หมายความว่าในการพบปะกันในถานที่ต่าง ๆ เช่น ในงานชุมนุม ในการพบปะกันในที่เช่นนี้น ตามปรกติผู้ที่เห็นควรแสดงเความเคารพก่อน โดยควรแก่ภาวะของตน เช่น ทักก่อน หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ามีไมตรีกัน |
12. ผู้ใดเคารพตนก่อน ควรตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย หมายความว่า ในการแสดงความเคารพต่อกันและกันนั้น ตามปรกติย่อมถือหลักว่า ผู้ไหว้ย่อมได้ไหว้ตอบ ผู้เคารพย่อมได้เคารพตอบโดยหลักนี้เมื่อมีผู้ใดมาแสดงความเคารพต่อเรา เราต้องแสดงความเคารพตอบทันที ตามปรกติธรรมเนียมไทย ผู้น้อยต้องแสดงก่อน เช่นไหว้ก่อน เป็นต้น เป็นผู้ใหญ่ควรยกมือขึ้นไหว้ตอบผู้น้อยแต่การรับไหว้นี้จะยกสูงต่ำเพียงไรย่อมแล้วแต่ภาวะอันควร แต่บางทีอาจก้มศีรษะน้อมรับแทนก็ได้ ส่วนธรรมเนียมตะวันตก เช่น จับมือผู้ใหญ่ต้องให้มือก่อน แล้วผู้น้อยจึงจับ เป็นผู้น้อยจะยื่นมือให้ผู้ใหญ่เป็นการไม่สมควร |
![]() |
![]() การแสดงสัมมาคารวะทางวาจา 1. ผู้ดีย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่ หมายความว่า ตามปรกติผู้น้อยย่อมต้องเคารพผู้ใหญ่อยู่ทุกโอกาสแล้ว การพูดจาปราศรัยกับผู้ใหญ่ก็ต้องพูดเรียบร้อยเป็นสัมมาคาระ ต้องไม่พูจาล้อเลียนหรือหลอกลวงท่านเพราะการทำเช่นนั้นเป็นการตีเสมอท่าน ดังนั้นผู้ดีจึงต้องพูดจาปราศรัยกับผู้ใหญ่ด้วยสัมมาคารวะเสมอ |
2. ผู้ดีย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง หมายความว่า เราพูดกับใครเราไม่ควรพูดถึงญาติมิตรที่ผู้พูดอยู่กับเรานั้นรักใคร่นับถือกันในทางเสียหาย คือไม่นินทาเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องของผู้ที่พูดอยู่ด้วยให้ผู้นั้นฟัง เช่น เราพูดกับนายแดง เราไม่ควรว่าเพื่อนหรือญาติของนายแดง เป็นต้น โดยปกรติแล้วเราไม่ควรพูดถึงใคร ๆ ในทางที่เสื่อมเสีย ควรพูดถึงแต่ในทางที่ดีเท่านั้น |
3. ผู้ดีย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนสิ่งเคารพ หรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา หมายความว่า สิ่งเคารพได้แก่ เจดียสถานหรือศาสนา ที่เคารพได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือครูบาอาจารย์ ในการสนทนาปราศรัยกันนั้น เมื่อรู้ว่าผู้นั้นถือลัทธิต่างกัน เราไม่ควรพูดจาติเตียนสิ่งเคารพของเขา หรือไม่ควรกล่าวติเตียนพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ของเขา เช่น เราถือพุทธ เพื่อนเราถือคริสต์เราไม่ควรติเตียนเพระเยซูให้เพื่อนเราฟัง หรือเราพูดกับนายดำไม่ควรติเตียนพ่อนายดำดังนี้เป็นต้น นี้เป็นเรื่องของจิตใจไม่ควรกระทบน้ำใจกัน |
4. ผู้ดีเมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน หมายความว่า เมื่อเรามีความจำเป็นจะต้องล่วงเกินผู้อื่น เช่น เราเห็นผงหรือตัวแมลงติดอยู่บนศรีษะของผู้อื่น เรามีความปราถนาจะช่วยหยิบผงหรือตัวแมลงนั้นออก ก่อนที่เราจะทำเราควรขอโทษเขาเสียก่อนแล้วจึงหยิบออก หรือดมื่อจะพูดถึงเรื่องของเขา ก็ต้องขอโทษเขาก่อนจึงควรพูด หรือแม้การอย่างอื่นก็ทำนอง เดียวกัน โดยที่สุดแม้จะฟ้องใครยังต้องบอกให้ผู้ฟ้องทราบก่อน ทำอย่างนี้จึงเป็นการสมควร |
5. ผู้ดีเมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ หมายความว่า เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับคนหมู่มากเราอาจกระทบมือกระทบเท้ากันได้บ้าง เมื่อพลาดพลั้งไปเช่นนั้นก็ต้องกล่าวคำขอโทษทุกครั้ง จึงจะเป็นการสมควร |
6. ผู้ดีเมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ หมายความว่า เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดช่วยเหลือเราด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ในทางที่ดีนั้น เราต้องกล่าวคำขอบคุณท่านเช่น เขาให้ที่นั่งเรา เขาให้ทางเราหรือเขาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เราอย่างไร เราต้องกล่าวคำขอบคุณเขาทุกครั้ง จึงจะเป็นการสมควร |
![]() |
![]() หมายถึงการแสดงความมีน้ำใจอันดีงามเป็นสัมมาคารวะ 1. ผู้ดีย่อมเคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์ หมายความว่า บุคคลผู้สร้างชีวิตของเรา เท่าที่เราเกิดมาครั้งนี้ ก็มีเพียงสองคนเท่านั้น ท่านทั้งสองคือ พ่อกับแม่นี้เป็นผู้มีความรักเราจริงเป็นผู้สร้างชีวิตและร่างกายเราโดยแท้ ถัดจากนั้น ก็มีบุคคลที่มีคุณควรเคารพ คือ ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เป็นผู้สร้างชีวิตเราในฝ่ายวิชาความรู้ วิชาความรู้ที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ตั้งต้นแต่อ่านเขียนได้ คิดเลขได้ ตลอดถึงวิชาทำมาหากินได้นี้ ก็เพราะครูบาอาจารย์บุคคลเหล่านี้ เราต้องเคารพยำเกรง ไม่ว่าในที่ใด ๆ ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ไม่ว่าในเรื่อง ใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าท่านผู้นั้นจะอยู่ในภาวะอย่างไรก็ตามเรามีทางเดียวที่จะพึงปฏิบัติต่อท่าน คือมีความเคารพยำเกรงในท่านเท่านั้น อย่างนี้จึงสมควร |
2. ผู้ดีย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ หมายความว่า ผู้ใหญ่คือบุคคลผู้มีความเจริญกว่าเรา กำหนดใด้เป็น 3 คือ 1. เจริญโดยชาติ หมายความว่าเกิดในสกุลที่ประชาชนยกย่องนับถือว่าสูงศักดิ์ เช่น ตระกูลกษัตริย์ บุคคลที่เกิดในตระกูลเช่นนี้ เช่น เจ้าฟ้า หรือเจ้านายชั้นรองลงมาก็ดี แม้ทรงมีอายุน้อยกว่าเรา เราก็ควรเคารพท่าน เป็นต้น 2. เจริญโดยวัย หมายความว่า เกิดก่อนเรา มีอายุมากกว่าเรา แม้มีศักดิ์ต่ำกว่า เราก็ต้องเคารพท่าน 3. เจริญโดยคุณ หมายเอาบุคคลผู้มีคุณธรรมสูง เป็นภิกษุสามเณรหรือบุคคลอื่น เช่น ครูบาอาจารย์ ท่านเหล่านี้ชื่อว่า ผู้ทรงคุณ เราก็ควรเคารพท่าน หรือถือหลักง่าย ๆ ว่า เป็นผู้น้อยต้องแสดงความนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ จึงเป็นการสมควร |
3. ผู้ดีย่อมมีความอ่อนหวานต่อผู้น้อย หมายความว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่นั้น คือผู้ที่มีคุณธรรม คือมีเมตตากรุณาเป็นหลักใจ เห็นผู้ที่น้อยกว่าตนไม่ว่าสถานใดสถานหนึ่ง ต้องไม่แสดงอาการข่มขู่ให้ตกใจกลัว หรือไม่แสดงอาการเอารัดเอาเปรียบ ต้องแสดงความสงสารเอ็นดูปรานี โดยถือหลักว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องแสดงเมตตากรุณาและอ่อนหวานต่อผู้น้อย จึงจะทำให้ผู้น้อยเคารพรักด้วยน้ำใสใจจริง ไม่ใช่จำใจต้องเคารพไปตามหน้าที่เท่านั้น |
![]() |
![]() |
ภาคสอง ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาลามก | กลับหน้าแรก | ภาคสี่ ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก | ![]() |