![]() ![]() ![]() |
![]() |
[ ภาคหนึ่ง ] [ ภาคสอง ] [ ภาคสาม ] [ ภาคสี่ ] [ ภาคห้า ] [ ภาคหก ] [ ภาคเจ็ด ] [ ภาคแปด ] [ ภาคเก้า ] [ ภาคสิบ ] |
ภาคหนึ่ง ผู้ดี ย่อมรักษา ความเรียบร้อย. |
คำว่าผู้ดี หมายถึง บุคคลผู้มีความประพฤติดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางความคิด คือ ทำดี พูดดี คิดดี |
![]() ![]() ![]() |
![]() คำว่า กายจริยา คือ ทำดี เช่น เดินดี ยืนดี นั่งดี นอนดี แยกออกได้ดังนี้ 1. ผู้ดีย่อมไม่ใช้กิริยาข้ามกรายบุคคล เช่น เมื่อเดินเข้าใกล้ใครก็หลีกไปในระยะที่พอเหมาะ ไม่ยกมือยกเท้าให้กระทบใคร ไม่ชี้มือหรือยกมือให้ผ่านใคร หรือข้ามศรีษะใคร ไม่ว่าเขาจะนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่เหยียดเท้าใส่ใคร เมื่อท่านผู้ใหญ่นั่งอยู่ ไม่เดินเฉียดไป ต้องคลานไป หรือเดินก้มหลังไป |
2. ผู้ดีย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง เช่น เมื่อผู้ใหญ่นั่งอยู่จะทำอะไรในที่สูง หรือจะหยิบอะไรในที่สูงกว่าท่าน ต้องขอประทานโทษท่านก่อนจึงทำและทั้งไม่ละลาบละล้วงอาจเอื้อมจับต้องของสูง เช่น ศีรษะ หรือหน้าตาใคร ๆ ที่ใม่ใช่ลูกหลานของตน โดยผู้นั้นมิได้อนุญาตให้ทำเป็นอันขาด |
3. ผู้ดีย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน หมายความว่า การที่จะถูกต้องตัวผู้อื่นนั้น ต้องระมัดระวังถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่า หรือคนที่มิได้คุ้นเคยอย่างเพื่อนกัน เมื่อจะจับต้องตัวต้องขอประทานโทษก่อนจึงถูกต้องได้ |
4. ผู้ดีย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล หมายความว่า ตามปรกติร่างกายผู้อื่นนั้นไม่ควรถูกต้อง หากมีความจำเป็นจะต้องเสียดสีกระทบกระทั่ง เช่น ในยวดยานพาหนะ ต้องขอประทานโทษก่อนจึงเสียดสีไปได้ เป็นต้น |
5. ผู้ดีย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสีย หมายความว่า ขณะที่เรานั่งอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ก่อนที่จะเคลื่อนที่ไป เช่น จะลุกขึ้นเป็นต้น ต้องนึกก่อนว่าเราจะลุกไป จะไปทางใหน ตรวจดูให้รอบตัวก่อนว่า มีอะไรกีดขวางอยู่บ้าง เมื่อดูรอบคอบแล้วจึงค่อยลุกขึ้นเคลื่อนที่ไป เช่น นั่งอยู่ในโต๊ะเรียน เมื่อนึกก่อนได้เช่นนี้ ก็จะไม่มีเสียงโครมคราม หรือตึงตัง ไม่โดนโน่นโดนนี่ |
6. ผู้ดีย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่น ด้วยกิริยาอันเสีอกไสผลักโยน หมายความว่า เมื่อจะส่งของให้ใครต้องถือของหงายมือ แล้วส่งให้ถึงมือผู้รับ เช่น ตักบาตรพระก็ต้องตักด้วยความสุภาพเรียบร้อย เป็นต้น |
7. ผู้ดีย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป หมายความว่า เมื่อผู้อื่นกำลังยืนหรือนั่งดูสิ่งใดอยู่ เมื่อมีความจำเป็นต้องผ่านไปควรผ่านไปทางหลังท่าน ถ้าจำเป็นจะต้องผ่านกลางไปก็ควรขอประทานโทษเสียก่อนจึงไป |
8. ผู้ดีย่อมไม่เอ็ดอึง เมื่อผู้อื่นทำกิจ หมายความว่า เมื่อผู้อื่นกำลังทำกิจอยู่ เมื่อจะเดินต้องค่อย ๆ เดิน เมื่อจะพูด ต้องค่อย ๆ พูด เพื่อให้เขาได้ทำโดยปลอดโปร่ง |
9. ผู้ดีย่อมไม่อึกทึกในเวลาประชุมสดับตรับฟัง หมายความว่า ขณะที่ผู้อื่นกำลังฟังอะไรอยู่ เช่น กำลังฟังครูสอน ฟังปาฐกถา ฟังพระเทศน์ กำลังดูละคร ฟังดนตรี เป็นต้น ต้องไม่พูดไม่คุยกัน หรือไม่ทำเสียงตึงตัง หรือเคาะโต๊ะเคาะพื้นให้มีเสียงเป็นที่รำคาญแก่ผู้อื่น |
10. ผู้ดีย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก หมายความว่า เมื่อไปหาท่านถึงบ้านท่านไม่ควรทำให้มีเสียงตึงตัง หรือพูดจาส่งเสียงดังผิดปรกติ หรือดุดันขู่ตวาดผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นที่สะเทือนใจ |
![]() |
![]() คำว่า วจีจริยา หมายความว่า การพูดจาให้เรียบร้อย แยกออกได้ดังนี้ 1. ผู้ดีย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด หมายความว่า ขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่ ไม่ควรพูดสอดแทรกขึ้นในขณะนั้น ต้องรอให้ท่านพูดจบเสียก่อน หากจำเป็นจะต้องพูด ก็ต้องให้จบระยะหนึ่งแล้วขอประทานโทษก่อนจึงพูด ไม่ชิงพูด ไม่แข่งกันพูด ไม่พูดพร้อมกัน |
2. ผู้ดีย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน หมายความว่า เมื่อจะสนทนาปราศรัยกัน ต้องพูดด้วยเสียงตามปรกติ พอได้ยินชัดเจน อยู่ใกล้กันพูดค่อย ๆ ก็ได้ยิน |
3. ผู้ดีย่อมไม่ใช้เสียงตวาดรหรือพูดจากระโชกระชาก หมายความว่า เมื่อจะพูดกับใคร ๆ ต้องใช้เสียงตามปรกติ พอเหมาะพอควรแก่เรื่องและบุคคล ทำเสียงให้หนักแน่นและเยือกเย็น |
4. ผู้ดีย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน หมายความว่า เมื่อได้ฟังผู้อื่นพูดคลาดเคลื่อนปรารถนาจะคัดค้านก็ควรขอโทษก่อนจึงพูดคัดค้าน หรือเมื่อจะให้ผู้ใดกระทำสิ่งไรก็ไม่ควรพูดจาหักหาญดึงดันเอาแต่ใจตนเป็นประมาณควรชี้แจงอย่างมีเหตุผลให้เขาเชื่อและกระทำตาม |
5. ผู้ดีย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย หมายความว่า ไม่ว่าจะพูดกับใคร ในเวลาใด ในสถานที่ใด ด้วยเรื่องอะไร ต้องพูดให้น้ำเสียงสุภาพ นุ่มนวล อ่อนหวาน จับใจ สบายหูผู้ฟัง |
![]() |
![]() |
กลับหน้าแรก | ภาคสอง ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาลามก | ![]() |