www.tungsong.com



สภาพทั่วไป  l  ด้านสังคม  l  ด้านการเมืองการปกครอง  l  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน  l  ด้านเศรษฐกิจ  l  ผลการพัฒนาอำเภอในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาและปัญหาความต้องการ
ผลของการพัฒนาอำเภอในช่วงแผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี ที่ผ่านมา

ผลของการพัฒนาอำเภอในช่วงแผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี ที่ผ่านมา

ภาพรวมสามารถประมวลผลการพัฒนาได้ดังนี้

1. การพัฒนาศักยภาพของประชากร
อัตราการอ่านออกเขียน ได้สูงขึ้น การเข้าเรียนหนังสือมีอัตราการออกจากโรงเรียน เด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนลดลง การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทำได้ดีขึ้น การปรับการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำได้ดีตามระบบประกันคุณภาพ
ระบบการให้บริการสาธารณสุขดีขึ้น โดยผลของการให้บริการในที่ตั้งและการให้บริการโดยรูปหน่วยบริการเคลื่อนที่ ระบบประกันสุขภาพได้รับการตอบรับที่ดีสามารถกระจายครอบคลุมประชากรเกินกว่าเป้าหมาย อายุเฉลี่ยประชากรสูงขึ้น อัตราการตายของทารกและหญิงมีครรภ์ลดลง โรคใหม่ ๆ กลับกลายเป็น สาเหตุการเพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ อุบัติเหตุ และเอดส์ เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องรับภาระการให้บริการแก่ชน กลุ่มน้อย ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
การจัดระบบสวัสดิการ โดยรวมมีสภาพดีขึ้น โดยผ่านศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำ หมู่บ้าน ระบบการให้การช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยพิบัติ ระบบการให้การสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย การให้บริการอาหารกลางวันในโรงเรียน ราษฎรไม่มีปัญหาในการขอรับบริการ และสามารถช่วยเหลือตนเองได้
การพัฒนาจิตใจ ยังมีการดำเนินการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ค่อนข้างน้อย

2. สภาพแวดล้อมทางสังคม
ได้มีความพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาขีดความสามารถในการรวมกลุ่มของราษฎร การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียงซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น งานด้านมวลชนสัมพันธ์ และระบบป้งกันภัยฝ่ายพลเรือนซึ่งจะต้องถือความร่วมมือของราษฎรมาร่วมกับทางราชการก็ยังไม่เป็นระบบงานอย่างจริงจังเช่นกัน ไม่ต้องพูดถึงงานด้านการวางผังชุมชน หรือเครือข่ายชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในระยะ 2-3 ปี หลังมานี้ ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่
การริเริ่มโครงการเซาท์เทิร์นในช่วงปี 2535 – 2539 และการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรง ไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซก่อนหน้านั้น ทำให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ดิน บ้านพักอาศัย และการท่องเที่ยวได้เป็นแหล่งที่สร้างรายได้ ให้แก่ชาวขนอมเสมือนกับยกฐานะให้ร่ำรวยอย่างฉับพลัน และได้มีการนำ รายได้ในช่วงดังกล่าวในการลงทุนด้านการทำสวน การบริโภคด้าน ต่าง ๆ และอื่น ๆ ทั้งในเขตอำเภอขนอม และนอกเขต อย่างไรก็ดีกลับได้ทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพสูงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมาประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในระหว่าง ปี 2540-2541 ประกอบกับภาวะราคาพืชผลทางเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้รายได้ในครัวเรือนลดลงอย่างมากจึงกระทบต่อการลงทุน การศึกษาให้แก่บุตรหลาน และการลดการบริโภคในครัวเรือนไม่ต้องพูดถึง การปิด กิจการของร้านรวงในเขตอย่างมากมาย การลงทุนแทบทุกอย่างหยุดชะงักและผู้ประกอบการด้านที่ดินและบ้านพักอาศัยประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก
การประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง หรือประมงพื้นบ้าน ได้ผลน้อยลงเนื่องจากมีการใช้เรืออวนรุน อวนลาก เข้ามาใกล้ชายฝั่งทะเลมาก ในส่วนของการท่องเที่ยวเนื่องจากในระยะแรกที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นการให้บริการแก่ผู้ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก (เช่น ให้การบริการแก่ผู้มาก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น ) ไม่ได้วางรากฐานให้เป็นการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ และไม่ได้เน้นหนักในเรื่องการให้บริการ การแข่งขันด้านราคา ประกอบกับ ภาวะค่าครองชีพในพื้นที่ค่อนข้างสูงดังกล่าวแล้ว แหล่งท่องเที่ยว ในท้องที่จึงยังไม่อยู่ในสภาพที่จะแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาะสมุย และเกาะพงัน
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ มีรากฐานมาจาก ผู้จบการศึกษาไม่นิยมกลับไปทำอาชีพเช่นเดียวกับบิดามารดา การทำสวน ทำประมง แม้จะเป็นรากฐานในการดึงบุตรหลานไปเรียนในระดับสูง ๆ แต่บุคคลเหล่านั้นจะไม่กลับมาในพื้นที่เพื่อรองรับงานทำครอบครัว ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ การทำสวนและที่สวนจะยิ่งขาดแคลนแรงงานและขาดคนทำมากขึ้น ทั้งนี้ รวมไปถึงอาชีพเกษตรอื่น ๆ เช่นกัน
การเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว จะต้องถือเป็นมาตรการสำคัญ ในการสร้างแหล่งรายได้ ควบคู่กันไปก็จะต้องปรับโครงสร้างการเพาะปลูก ให้หันมาเป็นการเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืช เฉพาะอย่าง โดยเฉพาะ การปลูกยางพารา สวนมะพร้าว และสวนกาแฟเพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ การเพิ่มความสามารถในการทำการค้าปลีก และค้าส่งน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อมองไปยังพื้นที่เป้าหมายคือ เกาะสมุย เกาะพงัน ซึ่งเป็นแหล่งตลาดสำคัญ และมีกำลังซื้อมาก อันเป็นผลจาการมีนักท่องเที่ยวจากท้องถิ่นเข้าไปยังทั้งสองเกาะมาก

วิสัยทัศน์การพัฒนาอำเภอและยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอ

วิสัยทัศน์อำเภอขนอม

     วิสัยทัศน์อำเภอขนอม 2550 ที่ควรจะเป็นเป้าหมาย ความคาดหวังของชาวอำเภอขนอม แยกออกได้ดังนี้
  • ทรัพยากรมนุษย์ : มีสุขภาพดี การศึกษาดี ยึดมั่นในหลักศาสนา การมีงานทำ มีสำนึกการรวมกลุ่มและร่วมมือกันทำงาน มีความถนัดด้านการค้า มีสำนึกในสาธารณชนสูงขึ้น
  • มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : มีป่าไม้สมบูรณ์ ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ภูเขา และทะเล มีน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ สามารถพัฒนาความเป็นเมืองโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม
  • เศรษฐกิจ : เป็นศูนย์กลางการค้าส่ง ค้าปลีก ให้ภูมิภาคใกล้เคียงเตรียมตัวรับการเป็นเมืองท่าในอนาคต รักษาความเป็นศูนย์กลางเมืองท่าสำหรับเรือประมงในเขตภาคใต้ตอนกลาง และเพิ่มความสำคัญของการเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ของจังหวัดและของภาคใต้
  • สังคม : คงความเข้มแข็งของครอบครัว ส่งเสริมกิจกรรมของชุมชนมุ่งสู่ประชาคมเข้มแข็ง สังคมแน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภายได้ทิศทางหลักดังนี้
  • “ลูกรักน่าเอ็นดู

    มุ่งเรียนรู้ มุ่งสู่งาน

    ร่วมสานกิจพัฒนาถิ่น

    รักษาทรัพย์สินแผ่นดิน

    ถิ่นประมง เมืองท่า เมืองค้าขาย

    เที่ยวสนุก แสนสบาย……ใต้ตอนกลาง”

  • ลูกรักน่าเอ็นดู
  • เป้าหมาย

    พ.ศ. 2550 ชาวขนอมจะยังคงความมีใจกว้าง รับฟังความเห็นของผู้อื่น เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ สามารถทำงานเป็นหมู่คณะ เป็นนักจัดการที่ดี มีความเป็นผู้นำ ไม่ติดยาเสพติด จิตใจให้การเป็นนักบริหารที่ดี รักการค้าขาย เป็นบุตรที่ดีของพ่อแม่ เป็นกำลังสำคัญของชาติ

    แนวทาง

    1.เสริมสร้างสถาบันครอบครัว ให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

    2. ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างคุณธรรม จริยธรรมให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

    3.ส่งเสริมให้ประชาคมทุกระดับสนับสนุนการจัดการเครื่องมือการเรียนรู้ เพื่อเสริมภูมิปัญญาให้แก่บุตรหลาน

    4.ส่งเสริมการแข่งขันของสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

    5.สนับสนุนบุตรหลานของครัวเรือนยากจนให้มีโอกาสรับการศึกษาตามขีดความสามารถเพื่อเป็นความหวังของครัวเรือน

  • มุ่งเรียน มุ่งสู้งาน
  • เป้าหมาย

    สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับการมีงานทำของประชากรชาวขนอมอย่างยั่งยืน ช่วยยกมาตรฐานความกินดีอยู่ดีในอนาคต และประชากรจะเป็นคนรักงานสมารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ดีรักการทำงาน และมีรายได้มาเพียงพอที่จะพยุงรักษาทรัพย์สินของครัวเรือนและคงอยู่ในบ้านเกิดได้ตลอดไป

    แนวทาง

    1. สนับสนุนการศึกษาให้วางเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อเป็นฐานการพัฒนาชุมชน และการมีงานทำ โดยเน้นการพึ่งตนเอง และการแข่งขัน คิดเป็น และเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ให้สามารถปรับตัวต่อสถาณการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปรไป

    2. ส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ตลอดจนถึงการเรียนรู้นอกระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

    3. เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นการศึกษาด้านเทคโนโลยี งานช่าง งานด้านบริการ และการค้าขาย ภาษาอังกฤษเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันของประเทศยุคโลกาภิวัฒน์

    4. ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งด้านวิชาการและวิชาชีพ

    5. สนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา และรู้จักการใช้เทคโนโลยี โดยให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

    6. ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ชุมชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าวด้วย

    7. ส่งเสริมสนับสนุนให้การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ความจริง และการวิจัยเพื่อการพัฒนา

  • ร่วมสานกิจ พัฒนาถิ่น
  • เป้าหมาย

    ชาวขนอมรวมตัวเป็นประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมตำบล และประชาคมอำเภอที่ หลากหลาย มีส่วนร่วมในการบริหาร การจัดการพัฒนาและปกครองท้องถิ่น ร่วมกับส่วนราชการ ท้องถิ่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีศักยภาพ และขีดความสามารถในการบริหารการจัดการสูง

    แนวทาง

    1. ส่งเสริมให้องค์กรชุมชนภาคเอกชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เทศบาล สามารถเชื่อมประสานร่วมงานกันได้ทุกระดับ

    2. ส่งเสริมการพัฒนาแบบอย่างที่ดี ทั้งระดับบุคคล และองค์กรเพื่อการเสริมสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

    3. สนับสนุนส่งเสริมการรวมตัว เพื่อตั้งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

    4. สนับสนุนให้ท้องถิ่นให้การส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานชองชุมชน และประชาคม

    5. ส่งเสริมการรวมทุนของท้องถิ่นเพื่อให้มีความสามารถและมีอิสระในการบริหารรงานของ องค์กรของงาน ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

  • รักษ์สินทรัพย์แผ่นดิน
  • เป้าหมาย

    ประชาชนชาวขนอมมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทรัพยากรดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ และทะเล มีมาตรการการกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกวิธีและ เพียงพอ รวมทั้งการกำจัดมลพิษที่อาจพึงมีในอนาคตอย่างเพียงพอ

    แนวทาง

    1. กำหนดมาตรการให้ชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามาดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และไม่เป็นผู้บุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติเสียเอง

    2. กำหนดให้มีการจัดทำแนวทางเขตป่าทุกประเภทให้ชัดเจน

    3. จัดให้มีการรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ และสนับสนุนให้มีการนำน้ำมาใช้อย่างได้ประโยชน์สูงสุด

    4. จัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งในเขตภูเขา และชายฝั่งทะเล

    5. กำหนดมาตรการและวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ประหยัดและมีคุณภาพ สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ ภายใต้การทำงานร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาคม

    6. จัดให้มีระบบกำจัดน้ำเสียในเขตเทศบาลตำบลขนอม

    7. รณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและปลูกฝังคุณค่าการอนุรักษ์ให้แก่ กลุ่มเป้าหมาย และเยาวชน ให้รู้จักการใช้อย่างมีคุณค่าและเหมาะสม

    8. ระดมทรัพยากรภาครัฐ และเอกชน เพื่อร่วมกันกอบกู้สภาพแวดล้อมที่เสียไป และเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

    9. ส่งเสริมให้มีการกำหนดผังเมืองของเทศบาลตำบลขนอม และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยเหลือสนับสนุนรักษาให้เป็นไปตามผังเมืองดังกล่าว

    10. กำหนดแผนการใช้และจัดหาทรัพยากรทางทะเลให้สอดคล้องกับอาชีพการประมง และการท่องเที่ยว ตลอดจนการค้า

  • ถิ่นประมง เมืองท่า เมืองค้าขาย

  • เป้าหมาย

    รักษาสถานภาพการเป็นเมืองท่าจอดเรือประมงจากต่างถิ่น ให้คงอยู่ตลอดไป ส่งเสริมการใช้ท่าเทียบเรือที่มีอยู่ให้เป็นท่าเรือเพื่อการค้ากับเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะทะเลใต้ และส่งเสริมให้มีท่าเทียบเรือใหม่ ๆ เพื่อรองรับการค้าขายในบริเวณเมืองใกล้เคียง พร้อมทั้งปรับแนวคิดของประชากรในพื้นที่ให้คุ้นเคยกับการค้าขายทางทะเล จนกว่าโครงการเซาท์เทอร์นซีบอร์ดจะเข้ามาในพื้นที่

    แนวทาง

    1. ส่งเสริมประชากรให้ทำการค้าส่งเกาะสมุย เกาะพงัน เน้นบทบาทประตูการค้าของขนอมให้ชัดเจนขึ้น

    2. ส่งเสริมการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็ก ขนาดกลาง ตามความจำเป็น

    3. สนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่เรือประมงต่างถิ่นให้มีสินค้าอุปโภค บริโภค อุปกรณ์ซ่อมเรือตามที่ต้องการ

    4. พัฒนาการสื่อสาร คมนาคม เพื่อการเชื่อมโยงในภูมิภาคให้สะดวก รวดเร็ว และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการค้า

    5. ส่งเสริมสนับสนุน การจัดหาอำนวยความสะดวก ในเรื่องท่าจอดรถ การเดินทางของคนต่างถิ่นให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

    6. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งตลาดชุมชนเพื่อรวบรวมผลผลิตในพื้นที่ และรวมซื้อ รวมขาย ทั้งนี้ เพื่อให้ ถนนสายกระบี่ – ขนอม สามารถสนับสนุนผลผลิตท้องถิ่นได้มากที่สุด

    7. กำหนดมาตรการเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากถนนสายกระบี่ – ขนอม ซึ่งเป็นเสมือนสะพานเศรษฐกิจระหว่างทะเลฝั่งอันดามัน และทะเลฝั่งอ่าวไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  • เที่ยวสนุกและสบาย……….ใต้ตอนกลาง

  • เป้าหมาย

    อำเภอขนอมอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของภาคใต้มีลักษณะเด่น คือเป็นเมืองที่มีความงดงาม สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้ง ทะเล ภูเขา ถ้ำ ป่าไม้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่บริสุทธิ์งดงามของภาคใต้ตอนกลาง ฝั่งอ่าวไทย ไม่ไกลจากอำเภอหาดใหญ่ อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพงัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวค่อนข้างครบถ้วน นับวันจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น และจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต

    แนวทาง

    1. เร่งสร้างปัจจัยพื้นฐานทางการท่องเที่ยว โดยการจัดทำแผนแม่บท ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เมืองขนอม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชายฝั่งทะเล

    2. ส่งเสริมธุรกิจการจัดการนำเที่ยวในลักษณะเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น

    3. ประสานธุรกิจท่องเที่ยวให้รวมตัวเป็นสมาคมที่มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นภาคนำ การส่งเสริม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

    4. ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและธุรกิจท่องเที่ยวร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตอำเภอขนอมร่วมกัน

    5. ส่งเสริมการจัดงานเพื่อเน้นการประชาสัมพันธ์ อำเภอขนอมให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ และระดับโลก ตามโอกาสอันควร รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเพื่อมุ่งไปยัง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

    6. ส่งเสริมธุรกิจพื้นบ้าน เพื่อการสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เป็นเสน่ห์ของอำเภอ

    7. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ของตน



    [ หน้าแรก ]



    ออกแบบและบันทึกข้อมูลโดย นางสาวสุภาพร ญาณสูตร
    E-mail : syannasut@hotmail.com