ความเป็นมา          พระราชประวัติ ร.5          พระบิดาแห่งการรถไฟไทย
         พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5          หัวรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์            ประมวลภาพ

        

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งรถไฟไทย

         ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ตรงกับยุคที่สหราชอาณาจักรอังกฤษแผ่แสนยานุภาพครอบคลุมไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกาและเอเซียตะวันออกและในยุคนี้เองกิจการรถไฟสายแรกของโลกก็ได้ก่อกำเนิดขึ้นในเกาะอังกฤษ ซึ่งได้แก่ ทางรถไฟสายดาร์ลิงตัน - สต๊อคตัน (Darlington - Stockton) ระยะทาง 12 ไมล์ เปิดเดินเมื่อปี พ.ศ. 2366 ตามด้วยทางรถไฟสายที่สองเดินระหว่างเมืองลิเวอร์พูล - แมนเชสเตอร์ (Liverpool - Manchester) ซึ่งเปิดการเดินรถในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2373

         อย่างไรก็ตาม กิจการรถไฟก็ยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีชาวไทยผู้ใดรู้จัก จนเมื่อ เซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ผู้สำเร็จราชการเกาะฮ่องกง ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษให้เป็น อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม พร้อมด้วย มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปากส์ (Mr. Harry Smith Parker) กงสุลเมืองเอ้หมึง เป็นอุปทูต เดินทางโดยเรือรบหลวงอังกฤษเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับที่รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียทำไว้กับรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ 2369 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิไชยญาติ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหมและเจ้าพระยาพิพากรวงศ์มหา-โกษาธิบดีว่าราชการกรมท่า เป็นคณะผู้แทนเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับฝ่ายอังกฤษ การประชุมแก้ไขสนธิสัญญาดำเนินไปด้วยการผ่อนปรนซึ่งกันและกันจนกระทั่งลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อยและได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ซึ่งในกาลนั้น มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปากส์ อุปทูตในคณะของ เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ได้นำสนธิสัญญาฉบับใหม่ออกไปประทับตราแผ่นดินอังกฤษแล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนสนธิสัญญากับฝ่ายไทยถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2398 พร้อมกับอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษเข้ามาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายด้วยเป็นอันมาก อาทิ รถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริง ประกอบด้วยรถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบขบวน เดินบนรางด้วยแรงไอน้ำทำนองเดียวกับรถใหญ่ที่ใช้อยู่ใน เกาะอังกฤษ ขบวนรถไฟจำลองนี้สมเด็จพระนางวิคตอเรีย ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักรไทย เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักรอังกฤษบ้าง ปรากฏว่า รถไฟจำลองดังกล่าวยังผลให้เกิดความสนใจขึ้นในราชสำนักและประชาชนชาวไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง

Top


         ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง) เป็นตรีทูต หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นล่าม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามรวมทั้งสิ้น 27 คน เดินทางไปจำเริญทางพระราชไมตรีกับกรุงอังกฤษ คณะราชทูตพิเศษและเจ้าหน้าที่ได้กราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2400

         ระหว่างที่คณะราชทูตพิเศษของไทยอยู่ในอังกฤษนั้น ได้มีโอกาสเดินทางโดยรถไฟไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง โดยเริ่มต้นเดินทางจากกรุงลอนดอนไปเมืองเบอร์มิงแฮม (Bermingham) เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) จากเมืองแมนเชสเตอร์ไปเมืองลิเวอร์พูล (Livrerpool) ซึ่งห่างกัน 40 ไมล์ ตามเส้นทางที่ ยอร์ช สเตเฟนสัน (George Stephenson) ผู้ให้กำเนิดรถไฟของโลกเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2373 จากนั้นจึงเดินทางกลับเมืองแมนเชสเตอร์แยกไปตามเส้นทางรถไฟอีกสายหนึ่งไปเมืองเชฟฟิลด์ (Sheffield) เมืองเบอร์มิงแฮม แล้วกลับกรุงลอนดอน รวมระยะทางทั้งสิ้น 529 ไมล์ ในการเดินทางขบวนรถไฟต้องผ่านภูเขา อุโมงค์สะพานหลายสิบแห่ง คณะราชทูตได้เห็นกิจการเดินรถระบบทางคู่ การใช้เครื่องโทรเลข สื่อสาร การโดยสาร การสินค้า และกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการกิจการรถไฟเป็นอันมาก และได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของรถไฟว่าเป็นยานพาหนะที่ช่วยส่งเสริมการอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรมของอังกฤษให้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ช่วยส่งเสริมการขนส่งผู้โดยสารสินค้าและทรัพยากรธรณีให้แผ่ขยายติดต่อกันทั่วเกาะอังกฤษ ข้อมูลต่าง ๆ ที่คณะราชทูตไทยได้ประสบพบเห็นในกรุงอังกฤษครั้งนั้นเองที่กระตุ้นเตือนให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทยและประชาชนชาวไทยเกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

         จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระยะนั้นเป็นช่วงที่นโยบายขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส สร้างความบีบคั้นแก่ประเทศไทยอย่างยิ่ง เริ่มด้วยการที่อังกฤษใช้กำลังเข้ารวบดินแดนของพม่าทั้งหมดไว้ในอำนาจ ทางด้านเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทย ฝรั่งเศสก็บังคับให้กษัตริย์นโรดมทำสัญญายอมอยู่ภายในอารักขาของฝรั่งเศา ต่อมาในปี พ.ศ. 2410 ก็บังคับให้ประเทศไทยสละดินแดนเขมรส่วนนอกและเกาะอีก 6 เกาะ ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเสียดินแดนครั้งที่สามของประเทศไทย

Top


         ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ และยังไม่ทรงว่าราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง จึงเสด็จประพาสต่างประเทศโดยมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีและนำกิจการที่สำคัญ ๆ มาใช้ปรับปรุงกิจการภายในประเทศ เริ่มด้วยในปี พ.ศ. 2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวาเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรการก่อสร้างทางรถไฟในชวาเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรการก่อสร้างทางรถไฟในชวา การวางผังเมือง โรงทหาร อู่เรือ ศาล เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน การไปรษณีย์โทรเลข โรงงานผลิตอาวุธและกระสุนปืน สถานีดับเพลิง โรงงานทอผ้าและในปี พ.ศ. 2414 เสด็จประพาสอินเดีย ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ จากเมืองกัลกัตตาไปเดลฮีและเดลฮีไปอักรา ลักเนา คอนปุระ จนถึงบอมเบย์ ระหว่างทางที่เสด็จได้ทรงแวะตามเมืองท่ารายทางต่าง ๆ รวมทั้งเมืองร่างกุ้งด้วย

         หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสอินเดีย และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว เกิดมีข่าวแพร่สะพัดว่ารัฐบาลไทยดำริจะสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา จึงมีชาวยุโรปหลายชาติมาติดต่อเสนอขอรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟ แต่เนื่องจากฐานะเศรษฐกิจของประเทศขณะนั้นยังไม่อำนวย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงยังไม่ทรงโปรดให้รับข้อเสนอดังปรากฏความบางตอนในจดหมายเหตุพระราชกิจประจำวัน ดังนี้

         "…วันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู นพศกจุลศักราช 1239… หนังสือกงลุศอเมริกันถวายหนังสือว่า มีคนยุโรปคนหนึ่งที่ลอนดอนมีหนังสือมาว่าได้รู้ว่าไทยจะทำรถไฟ จะขอรับเหมาส่งสำเนาคำแปลมาด้วยฉบับ 1…"

         "…วันเสา แรม 12 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู นพศกจุลศักราช 1239… พระราชหัตถเลขาตอบกงสุลอเมริกันว่า ขอบพระทัยที่นำผู้ที่จะรับทำทางรถไฟในเมืองไทยมาถวาย ขอแจ้งให้ทราบว่า ทางที่จะไปโคราช คอเวอเมนต์ของเรายังไม่ได้คิดจะทำทางรถไฟแน่ทีเดียว เพราะยังไม่ทราบชัดว่า การจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ทุนรอนที่จะทำการรถไฟก็กลัวจะไม่มีพอ จึงได้ให้ขึ้นไปตรวจดู ควรจะตัดเป็นทางการหรือตรัมเวประการใด จึงปรึกษากันดูเพื่อต่อไปมีประโยชน์อย่างใด จึงจะเป็นทางรถไฟ ตามกำลังที่จะทำได้ แต่เวลานี้ยังไม่ต้องการจะคิดในเรื่องรถไฟก่อน"

Top


         จนถึงปี พ.ศ. 2426 อังกฤษแผ่อิทธิพลเข้ามาทางด้านเหนือของไทย โดยขอทำสัญญาเกี่ยวกับ อำนาจทางศาลและการพาณิชย์ ระหว่างพม่ากับเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พร้อมกับขอตั้งสถานกงสุลประจำไว้ที่เชียงใหม่แห่งหนึ่งด้วย เมื่ออังกฤษตั้งสถานกงสุลที่เชียงใหม่แห่งหนึ่งด้วย เมื่ออังกฤษตั้งสถานกงสุลที่เชียงใหม่ขึ้นแล้ว ก็มุ่งหวังจะขยายอิทธิพลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษในดินแดน ภาคเหนือของไทย ในการนี้รัฐบาลอังกฤษได้ส่งวิศวกรเข้ามาทำการสำรวจทางรถไฟถึงเชียงแสน และต่อมาได้ส่งวิศวกรชื่อ โกลคูน (Colquhoun) และฮอลต์ ฮัลเลต (Holt Hallet) รวม 2 นาย เข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยเมื่อปี พ.ศ. 2428 ขอสร้างทางรถไฟระหว่างพม่าติดต่อกับประเทศจีนผ่านทางภาคเหนือของประเทศไทย ทางจังหวัดตาก (ระแหง) เพื่อใช้เป็น เส้นทางขนส่งสินค้าจากประเทศจีนมายังอินเดียให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก แต่รัฐบาลไทยได้ พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้ายอมให้อังกฤษสร้างทางรถไฟ สายนี้ขึ้นแล้วก็จะแบ่งประเทศไทยออกเป็น 2 ส่วน อาจ เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนภาคเหนือประกอบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจะตกอยู่กับอังกฤษแต่ผู้เดียว เพราะไม่ผ่านกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงปฏิเสธที่จะให้สัมปทานทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่และเชียงแสนเอง ถ้ารัฐบาลอังกฤษรับว่าจะสร้างทางรถไฟจากมะละแหม่งมาที่ชายแดนไทย รัฐบาลไทยก็ยินดีจะให้มีทางแยกไปเชื่อมต่อกันที่จังหวัดตาก (ระแหง)

         ในการเจรจาขอสร้างทางรถไฟของอังกฤษครั้งนี้ ปรากฏว่า เมื่อรัฐบาลไทยปฏิเสธไม่อนุมัติสัมปทานให้แก่อังกฤษแล้ว มิสเตอร์โกลคูน ก็ได้เสนอให้ไทยกู้เงินเพื่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 แต่รัฐบาลไทยเห็นว่าไทยอาจหาแหล่งเงินกู้จากที่อื่นในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 6 ได้โดยไม่ยากนักและตามข้อเท็จจริงแล้ว ประโยชน์ในการสร้างทางรถไฟจากระแหงเข้าไปในดินแดนพม่าจะทำให้เมืองมะละแหม่งเจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยอังกฤษเพียงแต่สร้างทางรถไฟจากมะละแหม่งมายังพรมแดนไทย ยาวเพียง 100 กิโลเมตร ในขณะที่ไทยจะต้องสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่และเชียงแสน และสร้างทางแยกไปจังหวัดตาก (ระแหง) ยาวถึง 1,200 - 1,500 กิโลเมตร

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานแก่บริษัทชาวเดนมาร์ก สร้างทางรถไฟสายแรกขึ้นในประเทศไทย ระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะได้เล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางด้านยุทธศาสตร์ของไทยสมัยนั้นได้เป็นเอนกประการ เนื่องจากการติดต่อระหว่างเมืองหลวงของไทยกับปากอ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองสมุทรปราการนั้น ต้องการทำโดยทางน้ำเพียงทางเดียว เมื่อมีทางรถไฟสายนี้ขึ้นแล้ว การขนส่งผู้โดยสารสินค้า ระหว่างเมืองหลวงกับปากอ่าวซึ่งเป็นทางติดต่อกับประเทศภายนอกย่อมทำให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังจะใช้เป็นเส้นทางขนส่งกำลังทหารไปรักษาป้องกันปากอ่าวได้ทันความต้องการในยามฉุกเฉินอีกด้วย

Top


         แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์กจะได้รับอนุมัติสัมปทานสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตรแล้วก็ตาม แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่งนับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนให้กู้ยืมเป็นครั้งแรก ในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุนและจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ

         ระหว่าง วันที่ 16 เมษายน ถึง วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสรอบแหลมมาลายู เริ่มต้นเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งสุริยมณฑล จากกรุงเทพมหานครเข้าปากน้ำเมืองชุมพร ประทับแรมที่บ้านท่าตะเภา แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางบกไปตามสายโทรเลข ข้ามคอคอดกระ ถึงแม่น้ำปากจั่น โดยมีพระราชประสงค์จะสำรวจแนวทางที่อังกฤษ ฝรั่งเศสขอขุดคลองลัดหรือสร้างทางรถไฟข้ามคอคอดกระ ด้วยพระองค์เองแล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยทางเรือจากเมืองกระบุรีเลียบฝั่งทะเลตะวันตกไปเมืองระนอง ตะกั่วป่า ภูเก็ต ตะกั่วทุ่ง พังงา กระบี่ ตรัง ปะเหลียน ลังกาวี สตูล ปะริด ปีนัง ไทรบุรี แล้วอ้อมมาสิงค์โปร์ ตรังกานู สงขลา ชุมพร กลับมากรุงเทพมหานคร

         วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่ ปีนังนั้น มิสเตอร์สกินเนอร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองปีนังของอังกฤษได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงพิจารณาในเรื่องที่ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้เสนอต่อกรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศขอสัมปทานให้บริษัทอังกฤษและชาวอังกฤษสร้างทางรถไฟสองสาย สายแรก สร้างจากไปร ผ่านตำบลกุหลิม ถึงคลองสเลมา เขตแดนเมืองเปรัค สายที่สอง มิสเตอร์ ชาลส์ ดันลอป (Mr. Charles Dunlop) ขอสร้างทางรถไฟจากเมืองสงขลาถึงเมืองไทรบุรีในการนี้ได้กราบบังคมทูลชี้แจงรายละเอียดแนวทางในแผนที่เพื่อทรงพิจารณาด้วย

         ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ถึงปีนังนั้น ทรงมีพระราชดำรัสหารือกับพระยาไทรบุรีในเรื่องที่ มิสเตอร์ ชารล์ ดันลอป ขอสัมปทานสร้างทางรถไฟสายสงขลา - ไทรบุรี นี้อยู่ก่อนแล้ว และทรงมีพระราชดำริในความเห็นของพระยาไทรบุรีที่ว่า ทางรถไฟสายนี้จะเป็นประโยชน์แก่ไทยในการดึงความเจริญจากสิงค์โปร์มาให้แก่เมืองไทรบุรีและสงขลาแต่ก็ทรงโต้แย้งไว้ว่า ไม่ใช่จะนำความเจริญมาให้เมืองไทรบุรีและสงขลาของไทยเท่านั้น แต่จะนำความเจริญมาสู่ปีนังของอังกฤษด้วย ดังนั้น เมื่อมิสเตอร์สกินเนอร์ กราบบังคมทูลพระกรุณาในเรื่องนี้ขึ้น จึงทรงมีพระราชดำรัสตอบว่าถ้าอังกฤษจะยอมรับเงื่อนไขให้ไทยมีสิทธิบอกเลิกสัมปทานและชื้อกิจการรถไฟคืนได้เมื่อต้องการเช่นเดียวกับที่รัฐบาลอังกฤษตั้งเงื่อนไขไว้กับบริษัทรถไฟเอกชนในดินแดนอังกฤษแล้ว ไทยก็อาจตกลงด้วยได้แต่ทั้งนี้ จะได้ปรึกษาหารือพระยาไทรบุรีก่อน

Top


         วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 เสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งที่รัฐบาลมาลายูของอังกฤษจัดถวายจากปอร์ทเวลด์ถึงไท้เผง ระยะทาง 8 ไมล์ และวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากกลังไปกัวลาลัมเปอร์ ระยะทาง 22 ไมล์ หยุดทอดพระเนตรการก่อสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำกวาลากลัง นับเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรกิจการรถไฟสหรัฐมลายูของอังกฤษ

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประพาสรอบแหลมมาลายูแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุมัติสัมปทานให้แก่มิสเตอร์ชาลส์ดันลอป ชาวอังกฤษ สร้างทางรถไฟจากสงขลาถึงไทรบุรีได้ตามที่เสนอขอพระราชทานมา โดยกำหนดให้ลงมือก่อสร้างภายใน 3 ปี และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 8 ปี แต่นับวันที่ได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่เป็นที่น่าเสียใจที่มิสเตอร์ ชาลส์ ดันลอป มิได้ลงมือดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปแต่อย่างใด กลับขอให้รัฐบาลไทยค้ำประกันเงินทุนค่าก่อสร้างทางรถไฟสายนี้อีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า มิสเตอร์ ชาลส์ ดันลอป เสนอเงื่อนไขผูกมัดรัฐบาลไทย ผิดไปจากเดิมที่กำหนดในสัมปทาน และทางรถไฟดังกล่าวก็มิได้ชักจูงหัวเมืองเหล่านั้นเข้ามาติดต่อกับกรุงเทพพระมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง กลับชักจูงให้ติดต่อห่างออกไปภายนอกไม่เป็นการสมควรแก่ราชการปกครองของไทยอยู่แล้ว หาควรยอมประกันเงินทุนให้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงต่างประเทศ ตอบปฏิเสธการค้ำประกันเงินทุนตามเงื่อนไขที่ มิสเตอร์ ชาลส์ ดันลอป ได้เสนอขอมา ต่อมาเมื่อใกล้สิ้นอายุสัมปทาน มิสเตอร์ ชาลส์ ดันลอป ได้เสนอขอเลื่อนกำหนดการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ต่อไปอีก 5 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะให้ขยายเวลาออกไปอีกจึงโปรดเกล้าฯ ให้บอกเลิกสัมปทานทางรถไฟสายสงขลา - ไทรบุรี นั้นเสียเมื่อปี พ.ศ. 2447

         ดังที่ทราบแล้วว่า ยุคสมัยนั้นชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างมุ่งแสวงหาอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรอินโดจีน ในระยะนั้นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสชื่อ ลาเกรอะ (Lagre) และการ์นีเอร์ (Garnier) ซึ่งเข้ามาสำรวจดินแดนในแถบนี้ ได้ทำรายงานเปรียบเทียบไว้ว่า แหลมอินโดจีนมีลักษณะคล้ายฝ่านิ้วมือทั้ง 5 ได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำแดง ในตังเกี๋ยและได้กล่าวสรุปไว้ในรายงานว่า ดินแดนเหล่านี้ควรต้องตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศสเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำโขง ซึ่งไหลมาจากประเทศจีนนั้น ถ้าสามารถเข้าควบคุมไว้ในอำนาจของฝรั่งเศลทั้งหมดได้แล้วก็จะเป็นอดิเรกลาภ และเป็นลู่ทางที่จะพัฒนาเกาะแก่งใช้เป็นทางเดินเรือติดต่อกับประเทศจีนทางมณฑลยูนนาน และสิบสองปันนา ได้โดยง่าย ดังนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงพยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะยึดครองดินแดนของไทยผนวกเข้าเป็นอาณานิคมให้จงได้ทั้งรัฐสภาฝรั่งเศสเองก็รบเร้าให้รัฐบาลดำเนินการกับประเทศไทยเพื่อผนวกดินแดนฝั่งซ้ายตลอดแนว แม่น้ำโขงของไทยมาเป็นฝรั่งเศสให้จงได้

Top


         พฤติการณ์ของฝรั่งเศสดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยตระหนักชัดว่า ราชอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์ของไทยเป็นที่ปรารถนาของบรรดาชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ และฝรั่งเศสประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงล้วนต้องตกเป็นอาณานิคมของทั้ง 2 ชาติ ดังกล่าว โดยสิ้นเชิงแล้ว เอกราชของประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ การคมนาคมของไทยซึ่งมีแต่ทางเกวียนและแม่น้ำลำคลอง เป็นพื้นนั้นไม่เพียงพอแก่การบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต เฉพาะอย่างยิ่งภูมิประเทศของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทางทุรกันดาร ต้องผ่านป่าที่มีความไข้และสัตว์ร้ายชุกชุม ราษฏรที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมีจิตใจแนวโน้มไปทางชาติใกล้เคียงสมควรที่จะสร้างทางรถไฟรัฐขึ้นในประเทศ เพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดนเหล่านี้ ก่อนอื่นเพื่อสะดวกแก่การปกครอง ตรวจตราป้องกันการรุกราน เป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนพลเมืองเข้าบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารสินค้า ไปมาถึงกันโดยง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เซอร์ แอนดรู คลาก (Sir Andrew Clark) และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ (Messrs Punchard Mac Taggart , Lowther & Co.) ทำการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่และมีทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรีถึงเมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง จากเมืองอุตรดิตถ์ถึงตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงสายหนึ่ง และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย เชียงแสนหลวงอีกสายหนึ่ง โดยทำการสำรวจให้แล้วเสร็จเป็นตอน ๆ รวม 8 ตอน ในราคาค่าจ้างโดยเฉลี่ยไม่เกินไมล์ละ 10 ปอนด์ คือ

         ตอนที่ 1 จากกรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า (อยุธยา) ให้เสร็จภายใน 18 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 2 จากกรุงเก่า ถึง ลพบุรี ให้เสร็จภายใน 24 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 3 จากลพบุรี ถึง นครสวรรค์ ให้เสร็จภายใน 28 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 4 จากนครสวรรค์ ถึง อุตรดิตถ์ แพร่ ให้เสร็จภายใน 28 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 5 จากแพร่ ถึง ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ให้เสร็จภายใน 36 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 6 จากสระบุรี ถึง นครราชสีมา ให้เสร็จภายใน 36 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 7 จากอุตรดิตถ์ ถึง ท่าเดื่อ ให้เสร็จภายใน 36 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา
         ตอนที่ 8 จากเชียงใหม่ ถึง เชียงราย เชียงแสนหลวง ให้เสร็จภายใน 48 เดือน นับแต่วันใช้สัญญา

Top


         การสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟทั้ง 8 ตอนนี้กำหนดไว้เป็นทาง 3 ขนาด คือ ขนาดกว้าง 1.00 เมตร ขนาดกว้าง 4 ฟุต 8 นิ้ว และขนาดกว้าง 60 ซม. ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2430

         แม้ว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เชอร์ แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด ทำการสำรวจแนวทางรถไฟ 8 ตอน ดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากเส้นทางติดต่อระหว่างกรุงเทพพระมหานครกับเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งพาณิชยกรรมในภูมิภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนั้น ยังมีเส้นทางที่ประชาชนจะใช้เดินทางติดต่อค้าขายได้สะดวกกว่าทางอื่นอีกทางหนึ่งคือ ไปทางเมืองกบินทร์บุรี เมืองนางรองถึงเมืองนครราชสีมา แต่เส้นทางนี้ไม่มีข้อกำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้างให้ทำการสำรวจ ดังนั้น เพื่อความแน่ชัดในการเลือกว่าแนวทางใดจะเป็นประโยชน์มากที่สุดและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงต่างประเทศติดต่อขอวิศวกรแห่งประเทศปรัสเซีย ผู้ซึ่งเคยทำการตลาดทางรถไฟในประเทศจีนมาแล้ว เข้ามาดำเนินการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2437 การสำรวจแล้วเสร็จในปีเดียวกัน และผู้สำรวจได้เสนอรายงานต่อเสนาบดีว่าการต่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 สรุปได้ว่า แนวทางรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ผ่านทางกรุงเก่า (อยุธยา) สระบุรี ถึงเมืองนครราชสีมา มีความเหมาะสมมากกว่าแนวทางที่ผ่านทางเมืองกบินทร์บุรีเมืองนางรอง และควรสร้างเป็นทางขนาด 1.435 เมตร

         เซอร์ แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ดฯ ทำการสำรวจแนวทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า (อยุธยา) ลพบุรี นครสวรรค์ แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน และนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 1,090 กิโลเมตร ได้จัดทำแผนผังพร้อมบัญชีประมาณการเสนอต่อรัฐบาลในปี พ.ศ. 2433 ราคาค่าสำรวจประมาณกิโลเมตรละ 35 ปอนด์ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 38,214 ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้นประมาณปอนด์ละ 16.50 บาท จึงคิดเป็นเงินไทยประมาณ 630,000 บาท

         ระหว่างที่ไทยพยายามพัฒนาเส้นทางคมนาคม เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และการรักษาเอกราชของชาติไทยพร้อมกับประโยชน์ในการปกครองและการเศรษฐกิจนั้น ปรากฏว่า กงศุลฝรั่งเศสที่นครราชสีมาได้ดำเนินการก่อกวนยุงยงประชาชนทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลไทยหนักยิ่งขึ้น ด้วยกลอุบายต่าง ๆ อาทิ ชักชวนชาวจีนให้โอนสัญชาติไปอยู่ในบังคับฝรั่งเศสยุยงพลเมืองไทยว่ามณฑลนครราชสีมาเป็นนครเก่าแก่ของเขมรที่เคยรุ่งเรืองแต่มาทรุดโทรมเพราะรัฐบาลไทยไม่ใส่ใจทำนุบำรุง เป็นต้น

Top


         ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงเห็นว่า จุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงก่อนเป็นสายแรกเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ก็คือ เมืองนครราชสีมาตามแนวทางที่ เซอร์ แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ดวางไว้ และเป็นปฐมเหตุให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมรถไฟขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 มีพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดีและนาย เค. เบ็ทเก (K. Bethge) ชาวเยอรมันเป็นเจ้ากรมรถไฟกับให้เปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ขึ้นเป็นลำดับแรก กรมรถไฟทำการเปิดซองประมูลเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2434 เวลา 12.00 น. ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาก่อสร้าง 2 ราย คือ มิสเตอร์ เลนซ์ แห่งเยอรมัน และมิสเตอร์แคมป์เบลล์ เสนอราคาก่อสร้างเป็นเงิน 9,956,164 บาท ต่ำกว่า มิสเตอร์ เลนซ์และมีรายการที่เสนอมาถูกต้องเป็นที่พอใจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเรแคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพปัจจุบัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2443

         ในปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าระเบียบการปกครองหัวเมืองไกลของไทยนั้นไม่เหมาะแก่กาลสมัยสมควรจัดระเบียบการปกครองใหม่และจัดข้าหลวงที่ทรงคุณวุฒิปรีชาสามารถออกไปประจำรักษาพระราชอาณาเขตที่ติดต่อกับหัวเมืองต่างประเทศป้องกันการรุกรานจากภายนอกหลังจากที่ไทยจัดระเบียบการปกครองใหม่ได้ปีเดียวรัฐบาลชุดมองซิเออร์ ริโบต์ (Monsieur Alexandef Filix Joseph Ribot) ของฝรั่งเศสก็ได้เริ่มปฏิบัติการรุกรานไทยขั้นรุนแรงเป็นชนวนนำไปสู่กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. 112 จนไทยต้องยอมเสียสละดินแดนบางส่วนและประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อรักษาเอกราชของชาติ ตามพระบรมราโชบายอันสุขุมคัมภีร์ภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

         ในปี พ.ศ. 2439 การก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา สำเร็จบางส่วนพอที่จะเปิดการเดินรถได้ ดังนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ 2493 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนิน มาทรงประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟ ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ - อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ - อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 เป็นต้นไป ในระยะแรกเดินขบวนรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน มีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพฯ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย

Top


         การก่อสร้างทางรถไฟต่อจากแก่งคอยถึงนครราชสีมา ดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง จนสามารถเปิดเดินขบวนรถรับส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างแก่งคอยถึงหินลับได้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2440 สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2440 ได้เปิดเดินขบวนรถสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงแก่งคอย อีกต่างหากด้วยผลปรากฏว่า กรมรถไฟมีจำนวนรถจักร ล้อเลื่อนและสถิติการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในรอบปีแรกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนี้

        เครื่องล้อเลื่อน
                 รถจักรทำการ 6 คัน
                 รถโดยสาร 27 คัน
                 รถสินค้า 58 คัน
                 รวมจำนวนล้อเลื่อน 91 คัน
        การโดยสารและสินค้า
                 จำนวนผู้โดยสาร 276,747 คน
                 รายได้โดยสาร 188,967 บาท
                 รายได้สินค้า 42,320 บาท
        รายได้รายจ่าย
                 รายได้ทั้งสิ้น 231,880.97 บาท
                 รายจ่าย 147,316.89 บาท
                 รายได้สุทธิ 84,564.10 บาท
        การเดินรถ
                 รถโดยสารวันละ 6 ขบวน
                 รถสินค้าวันละ 2 ขบวน
                 รถก่อสร้างสัปดาห์ละ 4 ขบวน

         หลังจากที่กรมรถไฟได้เปิดทางรถไฟหลวงสายแรกจากกรุงเทพฯ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและขยายกิจการรถเพิ่มเติม ต่อไปตามลำดับ คือ

Top


         1. ทรงพระราชดำริให้กระทรวงโยธาธิการและกรมรถไฟวางแผนงานเพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี เมื่อปี 2441 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายนี้ เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงเพชรบุรี เป็นทางขนาดกว้าง 1.00 เมตร ระยะทาง 150 กิโลเมตร แล้วเสร็จเปิดเดินรถได้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446

         2. สร้างทางรถไฟสายเหนือต่อจากทางรถไฟสายนครราชสีมา ที่ตำบลภาชีไปลพบุรี ปากน้ำโพ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ มีทางแยกไปสวรรคโลก

         3. สร้างทางสายตะวันออกไปแปดริ้ว

         4. เนื่องจากสถานที่บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมในย่านสถานีกรุงเทพฯ คับแคบไม่เพียงพบกับปริมาณสินค้าที่บรรทุกส่งมาโดยทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือและสายเหนือ ซึ่งทวีปริมาณมากยิ่งขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟแยกจากสายตะวันออกที่มักกะสันไปตั้งสถานีสินค้าใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลช่องนนทรีย์ เพื่อระบายความคับคั่งการสินค้าที่กรุงเทพฯ

         5. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำรวจแนวทางเพื่อสร้างทางรถไฟแยกจากนครชัยศรีไปสุพรรณบุรีและอุทัยธานี

         6. สร้างทางรถไฟสายใต้ต่อจากเพชรบุรี ไปสงขลา ระแงะ มีทางแยกไปนครศรีธรรมราช ตรัง และกันตัง

         7. ย้ายโรงงานซ่อมรถจักรและล้อเลื่อน จากย่านสถานีกรุงเทพฯ ไปสร้างใหม่ที่ทุ่งบางกระสัน (มักกะสัน)

         8. ขยายย่านสถานีกรุงเทพฯ ออกไปทางด้านใต้ เพื่อสร้างที่ทำการรับส่ง สินค้าและอาคารสถานีใหม่

         9. ตั้งเครื่องจักรย่อยศิลาที่ช่องแค เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ

         10. เริ่มการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาลในทางสายเหนือ

         11. เริ่มติดตั้งเครื่องห้ามล้อลมดูดกับขบวนรถแทนระบบห้ามล้อด้วยมือ

Top


         รัชสมัยแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการรถไฟในประเทศไทย สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงกิจการรถไฟหลวง จนกิจการรุ่งเรืองขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับคือ

         1. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งแผนกรถไฟขึ้นในกรมยุทธศาสตร์ ขึ้นอยู่กับกรมเสนาธิการทหารบก กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2455 และฝึกหัดงานช่างกลในโรงงานมักกะสันแล้วขอโอนทางรถไฟ สายสวรรคโลกจากกรมรถไฟไปฝึกหัดการเดินรถเอง

         2. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกทางรถไฟหลวงสายใต้ออกจากการบังคับบัญชาของกรมรถไฟเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 และให้นาย เอช กิตตินส์ เป็นนายช่างผู้บังคับบัญชาการรถไฟสายใต้ (ตำแหน่งเทียบเท่าเจ้ากรมรถไฟหลวงสายเหนือ)

         3. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวมกรมรถไฟหลวงสายเหนือและรถไฟหลวงสายใต้ที่แยกสายการบังคับบัญชาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 เข้าเป็นกรมเดียวกันตามเดิม เรียกชื่อว่า กรมรถไฟหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชากรม

         4. ในโอกาสที่ประเทศไทยประกาศสงครากับประเทศเยอรมณี และออสเตรีย ฮังการี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิศวกรไทยเข้าบริหารงานแทนชาวต่างประเทศ ควบคุมการเจาะถ้ำขุนตาน ในทางสายเหนือที่ค้างอยู่จนสำเร็จเรียบร้อยเป็นถ้ำที่ยาวที่สุดในอาณาจักรไทย คือมีความยาวถึง 1,362.05 เมตร เปิดการเดินรถตลอดทางสายเหนือถึงเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2464

         5. ออกพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 อันเป็นพระราชบัญญัติควบคุมคุ้มครองการรถไฟหลวง รถไฟราษฎร์และทางหลวงในประเทศไทย

         6. สร้างทางรถไฟสายตะวันออกต่อจากแปดริ้วไปถึงอรัญประเทศ

Top


         7. สร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือออกนครราชสีมา ไปถึงวารินทร์ ในจังหวัดอุบลราชธานี

         8. สร้างสะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและสร้างทางรถไฟเชื่อมทางฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกให้ติดต่อเป็นสายเดียวกัน

         9. โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนขนาดของทางรถไฟฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด จากความกว้าง 1.345 เมตร ให้เป็นทางขนาด 1.00 เมตร เท่ากับฝั่งตะวันตก แม่น้ำเจ้าพระยา การเปลี่ยนขนาดของทางรถไฟ ดังกล่าวทำให้ใช้รถจักรและล้อเลื่อนขนาดเดียวกันไปมาติดต่อกันได้ทั่วทุกสายตลอดราชอาณาจักร

         10. เปิดการเจรจาทำสัญญาการเดินรถไฟร่วมผ่านเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐมลายา

         11. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายก่อสร้างทางรถไฟจาก นครราชสีมา ไปขอนก่อน

         12. เปิดทางรถไฟเล็กสายหัวหวาย ขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร แยกจากสถานีหัวหวายในทางสายเหนือเข้าไปในป่า สำหรับบรรทุกฟื้นใช้ในกิจการรถไฟ และเปิดรับส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วย

         13. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางคู่ระหว่างสถานีกรุงเทพกับสถานีชุมทางภาชีเพื่อให้ขบวนรถไฟเดินเข้าสถานีกรุงเทพทางหนึ่ง และออกอีกทางหนึ่งขจัดความคับคั่งและเพิ่มความปลอดภัยแก่การเดินรถไฟ

         14. สั่งซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าจากต่างประเทศใช้ลากจูงขบวนรถแทนรถจักรไอน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถไฟ และประหยัดค่าใช้จ่าย

         15. ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟต่อจากขอนแก่นไปยังจังหวัดหนองคายและนครพนม

Top


         ในยุคภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การรถไฟฯ ได้ขยายกิจการเพิ่มเติมต่อไปอีก มีรายการสำคัญ ๆ ดังนี้

         1. ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2478 และได้ทำการก่อสร้างไปจนถึงจังหวัดอุดรฯ เปิดการเดินรถรับส่งคนโดยสารและสินค้าตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484

         2. สร้างทางรถไฟแยกจากทางสายใต้ที่สถานีบ้านทุ่งโพธิ์ ไปยังอำเภอคีรีรัฐนิคมเพื่อต่อไปยังจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ตในอนาคต เปิดการเดินรถได้เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2499 ถึงเพียงคีรีรัฐนิคม

         3. ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางเขน อำเภอดุสิต อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2484 เพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือ สายใต้ และสายตะวันออก ให้เดินติดต่อกันได้สะดวก

         ในปี พ.ศ. 2483 เกิดสงครามชายแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส ไทยเข้าปฏิบัติการรบมีชัยชนะโดยทั่วไป จนในที่สุดฝรั่งเศสจำต้องยอมลงนามในสัญญาสันติภาพ โดยยกดินแดนฝั่งขวาของเมืองหลวงพระบาง เมืองจำปาศักดิ์ เมืองศรีโสภณ เมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบองคืนให้ไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 ผลครั้งนั้นทำให้กรมรถไฟได้รับมอบทางรถไฟใน ดินแดนที่ได้คืนจากฝรั่งเศสดังกล่าวตั้งแต่ชายแดนคลองลึกที่อรัญประเทศ ถึงสวายดอนแก้วระยะทางประมาณ 161 กิโลเมตร มาดำเนินการโดยเปิดการเดิน รถติดต่อระหว่างกรุงเทพ - อรัญประเทศ -อธึกเทวเดช (สวายดอนแก้ว) มีจำนวนสถานีและที่หยุดรถในทางที่ ได้รับมอบหมาย 22 แห่ง

         อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 ดินแดนดังกล่าวก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสอีกครั้ง และไทยได้มอบทางรถไฟในดินแดนดังกล่าวคืนให้อินโดจีน ฝรั่งเศสเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2490

         และในทำนองเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2486 กรมรถไฟได้รับมอบทางรถไฟในรัฐไทรบุรี ประลิศกลันตัน และตรังกานูที่ไทยได้มาในมหาสงครามเอเซียบูรพามาดำเนินการ แต่ภายหลังได้มอบคืนให้อังกฤษตามสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ ซึ่งได้ลงนามกัน ณ สิงค์โปร์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489

         ผลที่เกิดเพราะสงครามอีกประการหนึ่งก็คือไทยได้ร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น สร้างทางรถไฟจากสถานีหนองปลาดุกในทางสายใต้ไปยังด่านพระเจดีย์สามองค์ชายแดนติดต่อกับพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2485 ซึ่งภายหลังได้รื้อถอนรางตอนเหนือสถานีน้ำตกถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ออก เพราะไม่เหมาะแก่การพาณิชย์เดินทางสายนี้ คือทางสายกาญจนบุรี - น้ำตก ในปัจจุบัน

         กรมรถไฟดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2494 รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นสมควรจัดตั้งกิจการรถไฟเป็นเอกเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ต่อรัฐสภา และได้มีพระราชโองการให้ตามเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 พระราชบัญญัตินี้อนุมัติให้จัดตั้งองค์การรถไฟอิสระขึ้นเรียกว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย" โดยให้โอนกิจการของกรมรถไฟไปให้องค์การนี้ และคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นควบคุมดูแลกิจการขององค์การประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และคณะกรรมการอีก 6 คน มีผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และรัฐได้มอบเงินจำนวน 30 ล้านบาทมให้เป็นเงินสมทบทุนประเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย และมี พลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา

         ข้อมูลจากหนังสือ "รถจักรและรถพ่วงประวัติศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทย มีนาคม 2543"

Top