ความเป็นมา          พระราชประวัติ ร.5          พระบิดาแห่งการรถไฟไทย
         พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5          หัวรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์            ประมวลภาพ

ความเป็นมาการก่อสร้างสวนสาธารณะ
สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา

         ด้วยพื้นที่อำเภอทุ่งสง เป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชภาระกิจอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวทุ่งสงได้มีโอกาสได้รับเสด็จในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายครั้งหลายคราว ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีต่อประชาราษฎร์ชาวอำเภอทุ่งสงเป็นล้นพ้น ประกอบกับพื้นที่ในโรงงานปูนซิเมนต์ทุ่งสง ซี่งอยู่ห่างจากเทศบาลตำบลปากแพรกไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจอยู่เสมอ ทำให้ชาวทุ่งสงได้มีโอกาสได้รับเสด็จต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานะวงศ์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวทุ่งสงได้มีโอกาสใกล้ชิดในพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ดังนั้น ในวโรกาสมหามงคลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พสกนิกรชาวทุ่งสงทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมงานอย่างทั่วถึง ไม่ต่ำกว่าหมื่นคน และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาทุกปี ซึ่งการแสดงออกของประชาชนชาวทุ่งสงในวโรกาสสำคัญดังกล่าวนี้เกิดจากความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อย่างล้นเหลือ

         ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนม์ 72 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2542 พสกนิกรชาวอำเภอทุ่งสงจึงพร้อมใจกันที่จะสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อเทิดพระเกียรติในมหามงคลดังกล่าว ประกอบกับเทศบาลตำบลปากแพรก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชพิธีในวันสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง มีดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นที่ระลึกในมหามงคลครั้งนี้ คือ การจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นจุดรวมจิตใจของพสกนิกรชาวทุ่งสง น้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลครั้งนี้ ซึ่งตรงกับความประสงค์ของชาวอำเภอทุ่งสง จึงได้เข้าร่วมในการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพของพสกนิกรชาวอำเภอทุ่งสงทุกหมู่เหล่า

         เทศบาลตำบลปากแพรก ได้เตรียมการฉลองเนื่องในวโรกาสมหามงคลดังกล่าว โดยได้จัดทำโครงการ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ทั้งนี้ ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยพันเอกชุมพล จินดาโชติ นายกเทศมนตรีตำบลปากแพรก เตรียมวงแผนดำเนินการร่วมกับบุคคลหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มี สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 เทศบาลตำบลปากแพรก ได้เสนอโครงการ เป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่อผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสำหรับก่อสร้างเป็น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อน ประกอบกับที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ใจกลางเมืองมีถนนตัดผ่านหลายสายทั้งทางรถยนต์และรถไฟ พื้นที่จุดนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นประตูเมืองทุ่งสง เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อเทิดพระเกียรติในมหามงคลครั้งนี้

Top


         พื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมระหว่างทางแยกรถไฟสายทุ่งสง-กันตัง ทุ่งสง-หาดใหญ่ ไปถึงทางหลวงแผ่นดินเลข 403 ถนนสายทุ่งสง-ร่อนพิบูลย์ เป็นพื้นที่ประมาณ 16.50 ไร่

         เทศบาลตำบลปากแพรก ได้ขออนุญาตก่อสร้าง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2540 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้อนุมัติมอบพื้นที่เพื่อให้เทศบาลดำเนินการก่อสร้างสวนสาธารณะ การรถไฟพิจารณาเห็นว่าที่ดินของการรถไฟดังกล่าว ซึ่งมีราคาประมาณไร่ละ 7.2 ล้านบาท เป็นบริเวณที่สามารถให้เช่าเพื่อหาประโยชน์ในเชิงพาณิชได้ แต่เห็นว่าพื้นที่นี้เปรียบดั่งเป็นปอดของเมือง ไม่สมควรมุ่งหาประโยชน์ด้านเดียวโดยปล่อยให้มีอาคารพาณิชเต็มพื้นที่ ซึ่งในอนาคตก็จะแออัด เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างขาดทัศนียภาพที่ดี โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เปรียบเสมือนประตูเมืองทุ่งสง และเป็นบริเวณที่ถนนสายต่าง ๆ ตัดผ่านรอบด้านทั้งรถไฟและรถยนต์ ประกอบกับเทศบาล และรถไฟเองมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างสวนสาธารณะ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุ 6 รอบ (72 พรรษา) จึงอนุญาติให้เทศบาลดำเนินการใช้สถานที่ดังกล่าวสร้างสวนสาธารณะขึ้น เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวทุ่งสงและเป็นอนุสรณ์ในมหามิ่งมงคลดังกล่าว และต้องการทำห้สถานที่แห่งนี้มีทัศนียภาพที่สวยงามเป็น ปูชนียสถานให้ประชาชนรุ่นหลังได้ชื่นชม ซึ่งสถานที่ดังกล่าวประกอบด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนและใช้ประกอบงาน พิธีการ ๆ และ เทศบาลตำบลปากแพรก ได้หารือกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไปประดิษฐาน ณ บริเวณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบิดาแห่งการรถไฟ ไทย พระองค์ทรงวางรากฐานการรถไฟมาตั้งแต่อดีต จึงมีผลให้อำเภอทุ่งสงเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ของการรถไฟ สำหรับการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลายฝ่ายได้มองเห็นว่ามีความ เหมาะสม เพราะทุ่งสงเป็นอำเภอที่ใหญ่อำเภอหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับอำเภออื่น ๆ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าได้หลายด้าน เช่น เป็นศูนย์กลาง หน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค จึงสมควรมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ประดิษฐานไว้เพื่อการสักการะบูชา และเป็น ศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวทุ่งสงและบริเวณไกล้เคียง

Top


         เทศบาลตำบลปากแพรก ได้ทำหนังสือขออนุญาติก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราชและสำนักราชเลขาธิการ เพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและได้รับพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างได้ และพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า "สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา"

         เทศบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างสวนสาธารณะแห่งนี้ โดยใช้งบประมาณประจำปี 2541 และ 2542 ของเทศบาลเป็นเงิน 7 ล้านบาท ในการก่อสร้างสวนสาธารณะดังกล่าว โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดสินประสานมิตร เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2542

         ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 กรมศิลปากรได้ดำเนินการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตบแต่งแล้วเสร็จและอัญเชิญมาประดิษฐานชั่วคราว ณ ศาลจังหวัดทุ่งสง

         วันที่ 10 กรกฎาคม 2542 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางศิลากฤษ์ และอัญเชิญพระบรมราชานะสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา

         การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบหัวรถจักรไอน้ำโบราณ ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ของการรถไฟ ยี่ห้อ แปซิฟิค (ฮาโนแมก) รุ่นเลขที่ 277 มาติดตั้งไว้ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ศึกษา และเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการรถไฟไทย การก่อสร้างสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้จะประกอบไปด้วยทางเดินชมทิวทัศน์ ซึ่งปูลาดด้วยหินศิลาแลงทั้งหมด เชื่อมต่อกันทั่วทุกจุด สนามหญ้า สวนหย่อม ดอกไม้ประดับ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขนาดเท่าครึ่ง ลานหินศิลาแลงหน้าพระบรมราชานุสาวรีและหัวรถจักรไอน้ำโบราณ

         เพื่อเป็นศิริมงคลแก่พสกนิกรชาวทุ่งสง และเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสมหามงคล พระชนมายุ 72 พรรษา เทศบาลตำบลปากแพรก จึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษาในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542.

Top