ความเป็นมา          พระราชประวัติ ร.5          พระบิดาแห่งการรถไฟไทย
         พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5          หัวรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์            ประมวลภาพ

        

         พระบรมราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม ทรงนามเดิมว่า "เจ้าฟ้าชาย จุฬาลงกรณ์" พระนามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ เรียกขาน โดยเฉพาะ "พ่อใหญ่" และทรงมีพระนามที่ประชาชนได้ถวายแด่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ประชาชนรักยิ่งนักว่า "สมเด็จพระปิยะมหาราช"

         พระองค์ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปี ฉลู เบญจศก ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิริทราบรมราชินี (พระนางเจ้ารำเพยรามราภิรมย์) ทรงเป็นพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าองค์ใหญ่

         สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ได้ทรงรับการศึกษาตามราชประเพณีของพระราชโอรส ซึ่งพระองค์ได้ทรงเล่าเรียนในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอกรมหลวงวรเสรฐสุดา ศึกษา ภาษามคธ การยิงปืน วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง วิชาอัศวกรรม วิชาคชกรรม วิชารัฏฐาบาล ราชประเพณี และโบราณคดี สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงจ้าง แหม่มแอนนา เลี่ยวโนเวนส์ ชาวอังกฤษจากเมืองสิงค์โปร์ มาถวายการสอนภาษาอังกฤษให้ ในระยะหลังทรงบรรพชิตเป็นสามเณร พระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ฝ่ายหน้าทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับจันดะเล หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันจนสิ้นรัชกาลที่ 4 ครั้งเสวยราชย์ พระองค์ยังได้ศึกษากับ นายแปตเตอสัน ชาวอังกฤษและทรงขวนขวายศึกษาด้วยพระองค์เองตลอดมา

         หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงลาผนวชแล้ว ได้ทรงรับใช้ใกล้ชิดพระบรมชนกนาถ ซึ่งพระองค์ทรงกวดขันในเรื่องราชการแผ่นดินยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้รับความรู้ในเรื่องการปกครองแผ่นดินมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่นเดียวกับเรื่องพระราชพิธีต่าง ๆ ของหลวง และพิธีของคนไทยทั่วไป จนมีความรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณีอย่างดียิ่ง ถึงกับโปรดให้พระองค์ทรงรับฎีกาในเวลาที่พระองค์มิได้เสด็จออกด้วยพระองค์เอง และให้รับฎีกาที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาดำรัสสั่งการไปยังกรมพระอำเภอ เพื่อทรงทราบในทางอรรถคดีและกฎหมาย

Top


         เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้ประชุมพร้อมกันถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันติวงศ์ แห่งพระบรมจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระบรมนามาภิไธยจารึกในแผ่นพระสุพรรณบัตร ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษาเท่านั้น เจ้านายเสนาบดีผู้ใหญ่ ร่วมด้วยคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ ได้ขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหก-ลาโหม ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อช่วยราชการแบ่งเบาพระราชภารกิจ หน้าที่ปกครองบ้านเมืองไปจนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ 20 พรรษา

         ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2416 พระองค์ทรงสละราชสมบัติ ออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2416 และทรงลาผนวชเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2416 นับเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จทรงออกผนวชในระหว่างครองราชสมบัติ

         วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2416 พระองค์ทรงโปรดให้มีพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกใหม่ครั้งที่สอง ตามขัตติยราชประเพณีโบราณ

         เสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้าน

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์เสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองที่ชาวยุโรปปกครองอยู่ เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีพระชนม์พรรษาน้อย

         วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2413 เสด็จประพาสสิงค์โปร์ ปัตตาเวีย และสมวัง (ประเทศอินโดนีเซีย) หลังจากเสด็จกลับมาแล้ว พระองค์ได้โปรดให้ข้าราชการแต่งกาย แต่งผ้าคอเสื้อผูกคอตามธรรมเนียมฝรั่งนอก และได้โปรดให้เลิกไว้ผมทรงมหาดไทยหรือผมหลักแจว เปลี่ยนเป็นทรงอย่างฝรั่ง เป็นแบบผมยาวรองทรง และได้มีแบบเสื้อราชปะแตน (Racha Pattern) เกิดขึ้น

Top


         วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2415 เสด็จประพาสพม่า และอินเดียของอังกฤษ และมลฑลชายทะเลฝั่งตะวันตกด้วย

         การเสด็จประพาสเพื่อนบ้านในครั้งนั้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย การนำแบบอาคาร ตึกแถว ของสิงค์โปร์มาปลูกข้างถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และเริ่มทำเขื่อนริมคลองหลอด สร้างถนนขนาบเหมือนถนนในปัตตาเวีย นอกจากนั้นยังโปรดให้จัดตั้ง "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" และจัดการกองทัพตามอย่างประเทศเพื่อนบ้าน

         พระราชกรณียกิจ

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินขึ้น เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 สภานี้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า เคาน์ซิล ออฟ สเตท (Council of State) ประกอบด้วยสมาชิกขุนนางสามัญ ต่ำกว่าเสนาบดี 12 ท่าน ซึ่งมีผลงานการปฏิรูปการคลังและภาษีอากร ทรงตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์

         เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ทรงตั้ง สภาที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ หรือ สภาองคมนตรี ขึ้น เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ปรีวี เคาน์ซิล (Privy Council) มีหน้าที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ และช่วยปฏิบัติราชการอื่น ๆ ตามแต่พระองค์จะทรงมอบภาระกิจให้

         ทรงโปรดให้กระจายอำเภอการปกครองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งมีถึง 17 มณฑล แต่ละมณฑลจะมีจังหวัดในมณฑลนั้น ๆ 3 - 4 จังหวัด ในแต่ละจังหวัดแยกเป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ส่วนการปกครองท้องถิ่นได้โปรดให้มีพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล

         ด้านการศึกษา ทรงโปรดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414 เพื่อสอนหนังสือไทย สอนคิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการ โดยสอนให้กับบุตรหลานเจ้านายข้าราชการ ที่ถวายตัวรับราชการในกรมมหาดเล็ก เมื่อเรียนรู้หนังสือไทยแล้ว ทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ พ.ศ. 2433 โปรดให้ตั้งโรงเรียนนายทหารมหาดเล็กขึ้น ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ

Top


         จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาโดยใช้ศาลาเป็นที่เรียน มีพระสงฆ์เป็นครูสอน โดยเริ่มที่โรงเรียนมหรรณพารามเป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรก พ.ศ. 2430 ได้ตั้ง กรมศึกษาธิการ เพื่อจัดการศึกษาเล่าเรียนทั้งปวง ทรงจัดตั้ง หอสมุดวชิรญาณ สำหรับรวบรวมตำรา และเอกสารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2426 ทรงจัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขา เช่น โรงเรียนแพทย์ของกรมพยาบาล ต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนราชาแพทยาลัย เป็นต้น

         ทรงมีพระบรมราชโองการ ขยายการเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ

         ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2431 พระองค์ทรงโปรดให้ชำระพระไตรปิกฎและพิมพ์เป็นอักษรไทยขึ้นครั้งแรก จำนวน 1,000 จบ และโปรดเกล้าฯ แจกจ่ายไปทั่วพระราชอาณาจักร พ.ศ. 2445 โปรดให้มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดสังฆมณฑลให้เป็นระเบียบทั้งราชอาณาจักร มอบอำนาจบริหารให้แก่มหาเถระสมาคม ที่จะปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดสังฆ์มณฑลให้เป็นระเบียบทั้งราชอาณาจักร มอบอำนาจบริหารให้แก่มหาเถระสมาคม ที่จะ ปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2412 ทรงสร้าง วัดราชบพิธ เป็นวัดประจำราชการ ทรงสร้าง วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ขึ้นที่พระราชวังบางปะอิน และทรงสร้างวัดอื่น ๆ อีกหลายวัด เช่น วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจบพิตร พ.ศ. 2442 ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ วัดอรุณราชวราราม วัดราชาธิวาส และทรงสถาปนา มหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นสถานที่ศึกษาของสงฆ์คณะธรรมยุต

         ทรงเลิกทาสและเลิกไพร่ให้เป็นไท

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า การเลิกทาสเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงหาวิธีที่จะเลิกโดยไม่ให้เป็นเหตุกระทบกระเทือนตัวทาสและเจ้าของทาส

         ปี พ.ศ. 2416 ได้มีพระราชบัญญัติทาสผ่อนห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 มีการออกกฎหมายกำหนดค่าตัวลูกทาสให้สูงสุดในตอนเป็นเด็กแล้วมีค่าตัวลดลงทุก ๆ ปี จนหลุดพ้นเป็นไทจนหมดประเทศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 รวมเวลา 30 ปี กฎหมายเกี่ยวกับการเลิกทาสที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทยประกาศ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2417

Top


         สำหรับเรื่องไพร่ทรงโปรดให้มีพระราชบัญญัติทหาร พ.ศ. 2431 กำหนดให้ทหารสมัครรับราชการไปจนครบ 10 ปีครบเกษียณอายุไม่ต้องเข้าเวรรับราชการต่อไป ในปี พ.ศ 2448 ได้มีพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 เปลี่ยนจากทหารสมัครเป็นทหารเกณฑ์ โดยกำหนดให้ไพร่มีอายุ 18 - 20 ปี ต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารและทหารประจำการมีกำหนด 2 ปี นับเป็นการเลิกระบบไพร่อย่างเป็นทางการ

         ทรงพัฒนาประเพณีให้ทันสมัยนิยม

         ทรงโปรดเกล้าฯ เลิกการหมอบคลานเปลี่ยนเป็นนั่งและยืนตามโอกาส ทรงผมก็เปลี่ยนจากทรงมหาดไทย เป็นตัดผมเกรียนทั้งศีรษะ หรือไม่ก็ไว้ยาวเล็กน้อยเสมอกันเป็นรองทรง ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก นิยมไว้ผมยาวและทรงครกกระทุ่น

         การแต่งกายเปลี่ยนจากนุ่งโจงกระเบน เป็นนุ่งกางเกงสวมเสื้อเชิ๊ต มีผ้าผูกคอหรือเสื้อนอก แต่งแบบสากลนิยมตามโอกาส

         มีการพัฒนาประเพณีในสมัยของพระองค์หลาย ๆ กรณี เช่น การขัดฟันให้ขาว การนับปฏิทินทางจันทรคติ การสืบราชสันติวงศ์ ประเพณีโกนหัว การใช้ช้อนส้อม ประเพณีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

         การพัฒนาบ้านเมือง

         การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในสมัยของพระองค์ได้มีการพัฒนาในส่วนที่เป็นโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การคมนาคม ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำถนน ขุดคลอง สร้างเขื่อนแทนการใช้แรงงานกับสัตว์ ทรงเริ่มใช้วิธีการจ้างแรงงาน สร้างถนน สะพานทางรถราง ทางรถไฟ เริ่มกิจการคมนาคมสื่อสาร เช่น การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ วารสาร โทรเลขติดต่อกับต่างประเทศ ทรงสร้างถนนเยาวราช ถนนราชดำเนิน ถนนบำรุงเมือง ถนนเจริญกรุง ถนนวังบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น มีการพัฒนาระบบการชลประทาน การจัดการสาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การจัดการสาธารณสุข ทรงตั้งโรงพยาบาลใหม่เพิ่มขึ้น คือ ศิริราชพยาบาลจัดตั้งพยาบาล โรงเรียนการแพทยาลัย จัดตั้งโอสถศาลา

         การจัดเก็บภาษีอากรเป็นรายได้ของแผ่นดิน การศาลและกฎหมายอย่างประเทศตก ตลอดรัชสมัยพระองค์ได้ทรงพระราชกรณียกิจอย่างทุ่มเท เพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้พัฒนาเท่าเทียาอาณารยประเทศด้วยอุตสาหะพยายาม ทรงวางรากฐานด้านต่าง ๆ ไว้อย่างมั่นคง ทำให้การพัฒนาประเทศดำเนินมาด้วยดีจนตราบเท่าปัจจุบัน

         หลังจากงานสมโภชน์พระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 15 - 17 พฤศจิกายน 2445 ถึง 2450 แล้วพระองค์ก็ทรงประชวร เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระวักกะที่ไม่ปกติมาหลายปีแล้ว และมีพระ-อาการเรื้อรัง เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปก็มีแพทย์ผู้มีชื่อเสียงของต่างประเทศถวายตรวจหลายคนและมีความเห็นว่าถ้าพระองค์ประทับอยู่ให้นานพอแก่การรักษาก็มีทางแก้ไขให้หายได้ แต่ไม่ทรงยอมที่จะประทับอยู่นานเพราะทรงเป็นห่วงเมืองไทย

         เมื่อทรงเสด็จกลับจากเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 เป็นที่น่าสังเกตว่าพระ-กายาของพระองค์ซูบผอมลงดูไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน และทรงประชวรมาโดยตลอดและแล้วในวันอาทิตย์ ที่ 23 ตุลาคม 2453 เวลา 02.45 ทรงเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ รวมพระองค์ทรงมีพระชนมมายุได้ 57 พรรษา

Top