เมื่อผู้ใดย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่จะต้องมีการแจ้งย้ายให้ถูกต้องตามกฏหมาย หากไม่แจ้งย้ายนอกจากจะเป็นการปฏิบัติที่ผิดกฏหมายซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แล้วยังทำให้ผู้นั้นเสียสิทธิต่าง ๆ และรวมถึงการมิได้รับบริการจากรัฐอีกด้วย
          การย้ายที่อยู่ หมายถึง การที่ผู้มีรายการอยู่ในทะเบียนบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้านที่ตนอาศัยอยู่ และย้ายเข้าไปอยู่ในอีกบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอาจจะอยู่ในตรอก ซอย ถนน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัดเดียวกันกับบ้านเดิมหรือไม่ก็ได้
 
หน้าที่ของผู้แจ้งการย้ายที่อยู่
            1.   เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน ให้เจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายออกไป โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
          2.   เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ทั้งนี้ให้นำหลักฐานการย้ายออกไปแสดงต่อนายทะเบียน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
          3.   การแจ้งย้ายปลายทางเป็นกรณีที่นอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งผู้ย้ายที่อยู่จะเป็นผู้แจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออก โดยนำสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมคำยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าบ้านที่เข้าไปอยู่ใหม่แสดงต่อนายทะเบียนและเสียค่าธรรมเนียม 5 บาท
          4.   เมื่อผู้อยู่ในบ้านออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด เจ้าบ้านต้องแจ้งการย้ายออกโดยไม่ทราบที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 30 วัน นับแต่วันครบ 180 วัน ซึ่งนายทะเบียนจะเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านกลางต่อไป
 
สถานที่รับแจ้งการย้ายที่อยู่และผู้มีหน้าที่รับแจ้ง
            1.   กรณีเป็นการย้ายที่อยู่นอกเขตเทศบาล ณ ท้องที่ใดให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง คือ กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น หรือปลัดอำเภอนั้นเว้นแต่การแจ้งการย้ายที่อยู่เกินกำหนดเวลา จะต้องมาดำเนินการ ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอเท่านั้น
          2.   กรณีเป็นการย้ายที่อยู่ในเขตเทศบาลหรือกรุงเทพมหานคร ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาลหรือสำนักงานเขตนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
 
หลักฐานที่จะต้องนำไปแจ้งเกี่ยวกับการย้ายที่อยู่

การย้ายออก
            ให้นำหลักฐานดังต่อไปนี้ไปแสดง
          1.   สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
          2.   บัตรประจำตัวเจ้าของบ้าน
          3.   บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีการมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน)
          4.   หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (ถ้ามี)
  การย้ายเข้า
            ให้นำหลักฐานดังต่อไปนี้ไปแสดง
          1.   สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
          2.   บัตรประจำตัวเจ้าของบ้าน
          3.   บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
          4.   หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (ถ้ามี)
          5.   ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ตอนที่ 1 และตอนที่ 2) กรณีใบแจ้งการย้ายที่อยู่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญก่อนนำไปย้ายเข้า ผู้ย้ายเข้าสามารถขอใบแทนได้ที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ โดยยื่นคำร้องพร้อมสำเนาการแจ้งความประกอบเรื่อง หรือนำไปแจ้งย้ายที่อยู่ซึ่งชำรุดไปแสดง



[ การแจ้งเกิด ]  [การแจ้งตาย ]  [การแจ้งย้ายที่อยู่ ]  [เจ้าบ้าน
[ การแก้ไขรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร ]  [บัตรประจำตัวประชาชน