<%@ Language=VBScript %> นครศรีธรรมราช - สถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม


 
  ศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวกับปลากัด
 
        ศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวกับปลากัด   ก่อหวอด หมายถึง การพ่นน้ำที่ผสมกับน้ำลายหรือน้ำเมือกในปากจนเป็นฟองเกาะกันของปลากัดตัวผู้เพื่อเตรียมการผสมพันธ์
  คร่ำหวอด    หมายถึง ปลากัดตัวผู้ที่ผ่านการก่อหวอดมาหลายครั้งหลายคราว ตามธรรมชาติของปลากัดนั้นมันจะก่อหวอดหรือพ่นฟองในฤดูการผสมพันธุ์ แม้ฟองของมันจะถูกทำลายด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตามมันจะก่อหวอดขึ้นใหม่อยู่เสมอยิ่งปลาที่ชนะคู่ต่อสู้ด้วยแล้วมันก็ก่อหวอดขึ้นเพื่อประกาศความมีชัยของมันในระยะต่อมาทันที
  กัดเหนียว    หมายถึง การกัดติดแล้วสะบัดจนเกล็ดหรืออาจเป็นเนื้อของฝ่ายตรงข้ามขาดติดปากมาด้วย
  ก้างเกล็ด    หมายถึง กิริยาอาการของปลาที่กัดคู่ต่อสู้จนเกล็ดหลุดติดปากแล้วก้างอยู่ในลำคอจนปากหุบไม่ลง ปลากัดที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ก็ทำให้พ่ายแพ้ได้เช่นกัน
   คายเกล็ด    หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดที่กัดคู่ต่อสู้ จนเกล็ดหลุดติดปากแล้วคายออกมา เป็นอาการที่บ่งบอกถึงความได้เปรียบ คืออย่างน้อยก็ทำให้คู่ต่อสู้มีบาดแผลขึ้นบ้างแล้ว
       ติด        หมายถึง การกัดติดส่วนใดส่วนหนึ่งของคู่ต่อสู้ทำให้คู่ต่อสู้ต้องมีบาดแผลฉกรรจ์ ถ้ากัดแป้นเรียกว่า "ติดแป้น"
   ตาเขียว (หรือ ตาขึ้น) หมายถึงกิริยาอาการของ ปลากัดที่คึกคะนอง ใคร่จะผสมพันธุ์เกินไปจนไม่คิดที่จะต่อสู้ เป็นกิริยาที่บ่งบอก ลางแพ้ของปลากัดอีกอย่างหนึ่ง
  อาดเหมีย    เป็นอาการของปลาตัวผู้ที่คึกคะนอง อยากจะผสมพันธุ์เต็มที่โดยแสดงกิริยาที่ลุกลี้ลุกลนและมีนันย์ตาเป็นประกายสีเขียว หรือที่เรียกว่า "ตาเขียว"
  บาดหน้า    เป็นอาการของปลากัดที่บอกลางแพ้โดยการผละออกจากการต่อสู้หรือหนีหน้าคู่ต่อสู้แล้วเคลื่อนตัวลงใต้น้ำหรือก้นขวด
  ถอดสี    (หรือ ถ่ายสี) หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดตัวสู้แสดงอาการบอกลางแฟ้เป็นสำนวนพูดหมายถึงหลัวหรือขี้ขลาดหรือตกประหม่า
  เข้าสี    หมายถึงกิริยาอาการของปลากัดที่คึกคะนอง และพร้อมจะกัด
พอง (หรือ บาน หรือ ผึ่ง) หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดที่คลี่ครีบและหางออกตั้งท่าทางพร้อมที่จะกัด แต่เป็นกิริยาหลังจากเข้าสีหรือในขณะที่พองน้ำก็อาจจะเข้าสีหรือเปล่งสีให้เข้มขึ้นอีกก็ได้
  สอบปาก    หรือที่ตามภาษานักเลงปลากัดภาคกลางเรียกว่า "ติดบิด" หมายถึง การกัดติดปากของกันและกัน หรือการงับปากจนติดกันของปลากัด
  แหย็ง    หมายถึง กิริยาที่ปลากัดอ้าแก้มออก ทั้ง 2 ข้าง ในขณะที่กัดกัน เป็นส่วนหนึ่งของการพองก็ได้
  บ้อนน้ำ    หมายถึง กิริยาที่ปลากัดขึ้นพ่นน้ำบนผิวน้ำ ใช้เป็นสำนวนพูดในภาษาถิ่นใต้ หมายถึง การหยุดพักหายใจหรือพักจากการทำงานหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พูดว่า "ทำงานทั้งวัน ไม่ได้หายใจหายคอ อี้หยุดบ้วนน้ำหมั้งก้าหาช่องไม่ได้สักที"
  ตบ    หมายถึง กิริยาเหลียวกัดของปลากัดเป็นชั้นเชิงในการกัดอย่างหนึ่ง
  ตั้งน้ำ    หมายถึง กิริยาอาการตั้งท่าพัดวี วนเวียนเข้าหากันของปลากัดที่กำลังทำการต่อสู้กันบนผิวน้ำ แต่จะต้องมีพรายน้ำออกจากปากด้วยถึงจะเรียกว่า "ตั้งน้ำ" ปลากัดที่มีกิริยาดังกล่าวเชื่อกันว่ายังเต็มใจและตั้งใจสู้ไม่หนี
  ลอย    หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดประเภทใจดีหรือมีน้ำอดน้ำทนเป็นเลิศ แม้ว่าจะหมดสภาพในการต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรี่ยวแรง หรือปากเจ็บจนกัดฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ฯลฯ แต่ก็ไม่ยอมหนีโดยยอมลอยให้คู่ต่อสู้กัดไปจนตายก็มี
  ตกน้ำ    (หรือ พลัดน้ำ) หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดที่อยู่ในสภาพหมดแรง จะมีลักษณะหงายหัวห้อยลงข้างขณะทำการต่อสู้
  หวง    (หรือ นึง) หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดประเภทใจดี ใจถึงเช่นกัน คือเป็นปลาที่อยู่ในสภาพที่แพ้แล้วแต่ไม่ยอมแพ้ คอยวนเวียนเคล้าคลออยู่กับคู่ต่อสู้แม้คู่ต่อสู้จะกัดเอา ๆ ก็ตาม
  หริก ๆ    หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดที่บอก ลางแพ้ด้วยการทำกิริยาลุกลี้ลุกลน กิริยาเช่นนี้ถ้าเป็นของปลาพันธุ์หม้อหรือลูกปลาพันธุ์ทางก็จะถือว่าดี
  แฉ้    หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดที่บอกอาการแพ้โดยลอยตัวถอยห่างออกจากคู่ต่อสู้ในขณะที่กำลังพองอยู่
  บัดผักเสี้ยน    หมายถึง กิริยาอาการที่หนี้คู่ต่อสู้ในระยะแรก ๆ โดยค่อย ๆ ผละห่างออกจากคู่ต่อสู้แล้วหุบเครื่องลง สะบัดเครื่อง สะบัดหางถอยห่าง ๆ ออกไป
  แล่นกวนหมวน    หมายถึง กิริยาของปลาแพ้ที่วิ่งหนีคู่ต่อสู้อย่างสุดชีวิตด้วยความกลัวโดยวิ่งขึ้นลงหลายตลบ ซึ่งถือว่าเป็นการแพ้โดยเด็ดขาด
  ลูกหม้อ    หมายถึง ปลากัดชนิดที่เกิดจากการคัดพันธุ์โดยการผสมพันธุ์กันหลายชั่วชั้นหรืออาจจะเป็นปลากัดพันธุ์ต่างประเทศที่ได้เข้ามาในประเทศไทยเรานานแล้วเป็นปลากัดชั้นดีที่สุด มีขนาดโตกว่าปลากัดพันธุ์อื่น ๆ มี 3-4 สี คือ แดงเข้ม แดงดำ เขียวแก่ ม่วง คราม และเขียวปนแดงที่เรียกว่า "สีประดู่" ฯลฯ เป็นต้น
  ลูกทุ่ง    (ลูกป่า) หมายถึง ปลากัดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ตามที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมถึง ถ้าอยู่ตามท้องทุ่งก็เรียกว่าลูกทุ่ง ถ้าตามป่าที่มีน้ำท่วมถึงเช่นพรุ หรือป่าจากริมน้ำ ก็เรียกว่าลูกป่า
  ลูกไล่    หมายถึงปลากัดที่แพ้แล้วและเอามาใช้สำหรับปลากัดที่เลี้ยงไว้ใช้ไล่หรือซ้อมกำลัง ส่วนมากการซ้อมกำลังโดยใช้ลูกไล่นี้มักจะใช้กับปลาพันธุ์ลูกหม้อหรือพันธุ์ผสม
  ลง    (หรือลงเหล่า) หมายถึงรูปร่างลักษณะของปลากัดลูกผสมที่มีความคล้ายคลึงไปทางพันธุ์ลูกหม้อ เช่น หน้าแดงมาก หรือมีก้านหางตลอดจนจรดขอบหาง ลง ยังอาจจะหมายถึงกิริยาอาการของปลากัดตัวที่จะพ่ายแพ้คู่ต่อสู้ในกรณีที่กัดกันมานานจนหมดแรงกันทั้งสองฝ่าย ตัวที่แสดงอาการผละหนีถดถอยลงไปข้างล่างหรือก้นขวดเช่นนี้ก็เรียกว่าลงเช่นกัน
  เครื่อง    หมายถึงอวัยวะภายนอกของปลากัดที่เป็นส่วนประกอบของลำตัว มีตะเกียบหรือไม้เท้า กระโดง ราวท้อง และหาง ฯลฯ
  หม็อง    (หรือ หมง) หมายถึงที่อยู่ของปลากัดพันธุ์ลูกทุ่งลูกป่าในหน้าแล้ง เป็นอุโมงเล็ก ๆ ในผิวดินตามที่ราบลุ่มในหน้าแล้ง เช่น หนองแห้ง หรือ ริมบึง ฯลฯ
  หมวนเชี่ยน    หมายถึง เป็นสีชนิดหนึ่งของปลาพันธุ์ลูกทุ่งลูกป่า คือ สีปูนแห้ง
  หวาบ    หมายถึง กิริยาอาการตกใจอย่างกระทันหันของปลากัด หรือ อาจจะหมายถึง ความคร้ามเกรงฝันหนีดีฝ่อที่ใช้เป็นภาษาพูดในภาษาถิ่นใต้ก็มี
  ซ้ำสาม    หมายถึง พันธุ์ปลากัดลูกผสมระหว่างประสังกะสีกับปลาลูกทุ่ง เป็นสำนวนพูดหมายถึงคนเลวต่ำช้าหรือมีเชื้อสายต่ำ
  แส้งแส้ง    หมายถึง พันธุ์ปลากัดประเภทซ้ำสามนั่นเองแต่ตามภาษานักเลงปลากัดปักษ์ใต้ เรียกว่า แส้งแส้ง เป็นภาษาสำนวนพูดในภาษาถิ่นใต้ แปลว่า คุ้มดีคุ้มร้าย หรือไม่เต็มเต็ง
  ชักลายไม้ตับ    เป็นอาการที่แสดงให้เห็นของปลากัดตัวที่พ่ายแพ้หลังจากการถอดสีอีกทีหนึ่ง คือ เมื่อ ถอดสีออกหมดแล้วก็จะแลเห็นเป็นเส้นดำ 2 เส้น เรียงขนานกันไปตลอดลำตัว ภาษานักเลงปลากัดในภาคกลางเรียกว่า ชัก 2 แถว
  ฉีด    หมายถึง การแพ้เร็วเกินไปของปลากัด เพราะไม่เต็มใจสู้หรือไม่ตั้งใจสู้ นักเลงปลากัดทั่วไปไม่นิยมใช้ผักฉีดหรือ ผักกะเฉดใส่ขวด หรือโหลเลี้ยงปลากัด (เพื่อใช้เป็นที่นอนของปลากัด) เพราะเชื่อกันว่าทำให้ปลาฉีดยอมแพ้ได้
  หัวหิ้ง    หมายถึง ปลากัดตัวสำคัญที่อยู่บนหิ้งเป็นสำนวนพูดในภาษาถิ่นใต้ หมายถึง คนสำคัญ ตัวสำคัญ หรือตัวอันตรายของฝ่ายตรงข้ามก็ได้ ฯลฯ
  หัวน้ำ    หมายถึง ปลากัดที่หาได้จากท้องไร่ท้องนาในฤดูกาลของปลากัดในวาระที่ฝนตกลงมาในครั้งแรก หรือ "น้ำแรก" เชื่อกันว่าเป็นปลากัดที่มีคุณสมบัติที่ดีมาก เพราะเป็น "ปลาใหม่" เรียกว่า "ปลาหัวน้ำ" เป็นสำนวนพูดหมายถึง แรกเริ่ม ประเดิม
  หมัก    เป็นวิธีการที่ทำให้ปลากัดมีเกร็ดกร้าวแกร่งหรือเกร็ดแข็ง โดยใช้น้ำฝาดของใบไม้บางชนิด เช่น ใบหูกวาง ใบหญ้าคา ใบจากน้ำ ใบกล้วยทอง โดยเอาปลาปล่อยลงในภาชนะที่ใส่น้ำฝาดนั้น ใช้เวลาเพียง 1-3 วันก็เอาปลาขึ้นมาปล่อยลงในน้ำสะอาดอีกราว 7-8 วัน เพื่อให้ความฝาดที่เกาะติดตามตัวปลานั้นหลุดออกไปเรียกว่า "คลาย" ปลาที่ผ่านการหมักด้วยเครื่องน้ำฝาดดังกล่าวจะมีเกร็ดกร้าวแกร่งมากคู่ต่อสู้กัดไม่เข้า แต่ส่วนมากจะทำกับปลาพันธุ์ลูกหม้อหรือ ปลาพันธุ์ลูกผสมต่าง ๆ ส่วนปลาลูกทุ่งหรือ
ปลาลูกป่านั้นไม่ค่อยนิยมทำกัน เพราะเป็นวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อนมาก
  อยู่น้ำ    เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของปลากัดที่แสดงว่าเคยชินกับน้ำที่ใช้เลี้ยงขังไว้ในภาชนะ คือ ขวดหรือ โหลที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงปลากัดนั้น มีความหมายเหมือนกับว่า "ลงที่" ของวัวชนนั่นเองแต่เดิมการกัดปลาเป็นการเล่นเพียงเพื่อความบันเทิงของชาวชนบทในยามว่างหลังจากการงาน อันเป็นวิถีชีวิตอีกด้านหนึ่งในสังคมเกษตรกรรม ในระยะต่อมาได้กลายเป็นการพนันขันต่อไปอีกตามวิสัยของคน ปลากัดจึงเป็นที่รู้จักดีในสังคมชนบทเกือบทุกแห่ง นับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชนบทก็ว่าได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันปลากัดได้ถูกทำลายลงเป็นอันมากด้วยยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีกำจัดวัชพืชพร้อม ๆ กับปลาเล็ก ๆ ชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ฉะนั้นจึงเป็นสัตว์ที่น่าจะสูญพันธุ์ไปอีกชนิดหนึ่งก็เป็นได้

[กลับสู่หน้า "กีฬาพื้นบ้าน"
 
[ การแข่งปลากัด] [ประเภทของปลากัด] [ลักษณะที่ดีของปลากัด] [ลักษณะที่ไม่ดีของปลากัด]
[สีปลากัดไทย] [ศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวกับปลากัด]