http://www.tungsong.com


ประวัติศาสตร์   |    โบราณสถาน,วัตถุ  |   ศาสนา,ความเชื่อ  |   ภูมิศาสตร์   |   ชาติพันธุ์ วรรณกรรม  |   วัฒนธรรมประเพณี  |    อื่นๆ

เหตุการณ์เมืองทุ่งสง  ที่มาของชื่อ "ทุ่งสง"  |  เหตุการณ์ไฟไหม้เมืองทุ่งสง  ประวัติศาสตร์การศึกษา

 

ประวัติศาสตร์การศึกษา

พ.ศ.2443  พระสิริธรรรมมุนีสามารถเปิดโรงเรียนขึ้นในมณฑลนครศรีธรรมราช  จำนวน 12 แห่ง หนึ่งในจำนวนโรงเรียนที่ได้จัดตั้งขึ้นตามวัดต่างๆ นั้นปรากฏว่าในเขตอำเภอทุ่งสงได้จัดตั้งขึ้นด้วย คือ โรงเรียนนิตยาภิรมย์ ตั้งที่วัดโคกหม้ออำเภอทุ่งสงให้หลวงพำนักนิคมคาม (เที่ยง ณ นคร) กรมการอำเภอทุ่งสงคนแรก (ชื่อใช้เรียกตำแหน่งนายอำเภอในสมัยนั้น) เป็นผู้สนับสนุน (ปัจจุบันคือโรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล) นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของอำเภอทุ่งสงในชั้นแรกใช้สถานที่ศาลาโรงธรรมเป็นสถานที่เรียน และได้ย้ายมาตั้งในสถานที่ปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2463 นอกจากนี้พระสิริธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ยังได้ตั้งโรงเรียนอื่นๆ ในหลายพื้นที่ เช่น โรงเรียนสุขุมาภิบาล  ตั้งที่วัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศ)

หลังจากตั้งโรงเรียนแห่งแรกที่วัดโคกหม้อแล้ว พระสิริธรรมมุนีและพระยาสุขุมนัยวินิต  ข้าหลวงเทศาภิบาล ได้มอบหมายให้กรมการอำเภอ (นายอำเภอ) กำนัน เจ้าอาวาส และแพทย์ประจำตำบล ได้ร่วมกันวางแผนที่จะตั้งโรงเรียนตามวัดต่างๆ ที่สมควรต่อไป  เพื่อให้เห็นภาพรวมในการขยายการศึกษาของอำเภอทุ่งสง  จึงได้สรุปเหตุการณ์ต่างๆ ตามลำดับดังนี้

 
พัฒนาการด้านการศึกษาของอำเภอทุ่งสง

ปี พ.ศ.

เหตุการณ์

2427

ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม และขยายโรงเรียนไปยังส่วนภูมิภาค

2435

ตั้งกระทรวงธรรมการ

2443

ก่อตั้งโรงเรียนนิตยาภิรมย์ (โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล) พร้อมกับโรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) และโรงเรียนอื่นๆ อีก 12 โรง

2449

ตั้งโรงเรียนชุมชนวัดสำโรง

2459

ตั้งโรงเรียนบ้านชายคลอง โรงเรียนวัดคงคาเจริญ

2463

ย้ายโรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพลมาตั้งในที่ปัจจุบัน

2464

เริ่มประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษา ฉบับแรก ให้เกณฑ์เด็กเข้าเรียนในโรงเรียน ตั้งโรงเรียนวัดทุ่งควาย โรงเรียนวัดทุ่งส้าน และโรงเรียนวัดทะเล

2469

มีโรงเรียนประชาบาลทั่วประเทศ 3,817 โรง

2471

ตั้งโรงเรียนมหาราช 3

2475

ตั้งโรงเรียนเทศบาลวัดโคกสะท้อน โรงเรียนวัดวังขรี

2476

ตั้งโรงเรียนราษฎร์ประดิษฐ์ โรงเรียนประชานุเคราะห์ 6

2477

ตั้งโรงเรียนวัดเขาโร โรงเรียนวัดกะโสม

2478

เริ่มโอนโรงเรียนในเขตเทศบาลไปให้เทศบาลดำเนินการ ตั้งโรงเรียนบ้านน้ำตก

2480

ตั้งโรงเรียนบ้านคอกช้าง

2481

ตั้งโรงเรียนวัดธรรมเผด็จ โรงเรียนบ้านหนองหว้า โรงเรียนวัดวังหีบ โรงเรียนบ้านวัดใหม่

2482

ตั้งโรงเรียนวัดเขากลาย โรงเรียนบ้านคลองขุด โรงเรียนบ้านวังยาว โรงเรียนบ้านบ่อมอง

2483

ตั้งโรงเรียนบ้านไทรห้อง โรงเรียนบ้านพูน

2485

ตั้งโรงเรียนบ้านเกาะปราง

2486

ตั้งโรงเรียนทุ่งสง (เป็นโรงเรียนเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาแห่งแรก) ตั้งโรงเรียนวัดก้างปลา โรงเรียนบ้านนาเกิดผล

2487

ตั้งโรงเรียนวัดถ้ำใหญ่

2490

ตั้งโรงเรียนบ้านจำปา โรงเรียนบ้านน้ำพุ

2491

ทางการยกฐานะครูประชาบาลขึ้นเป็นข้าราชการพลเรือน

2493

ตั้งโรงเรียนบ้านเกาะยวน

2494

ทางการยกกองการประถมศึกษา เป็นกรมสามัญศึกษา

2498

ตั้งโรงเรียนบ้านบนควน

2499

ตั้งโรงเรียนบ้านนาพรุ

2500

ตั้งโรงเรียนบ้านคลองตูก โรงเรียนสหกรณ์ฯ

2501

ตั้งโรงเรียนบ้านคลองทราย โรงเรียนบ้านเขาตาว แยกนักเรียนหญิงจาก โรงเรียนทุ่งสงไปตั้งเป็นโรงเรียนสตรีทุ่งสง

2503

ตั้งโรงเรียนบ้านวังเต่า

2504

ตั้งโรงเรียนบ้านหนองปลิง

2506

ปรับโครงสร้างหลักสูตรเป็นประถมต้น 4 ปี ปลาย 3 ปี

2509

โรงเรียนประชาบาลโอน ไปสังกัดองค์กรบริหารส่วนจังหวัด

2511

ตั้งโรงเรียนเทศบาลวัดท่าแพ

2512

ตั้งโรงเรียนวัดควนชม โรงเรียนบ้านวังยวน โรงเรียนบ้านไสส้าน

2518

ตั้งโรงเรียนบ้านหนองท่อม โรงเรียนบ้านสามัคคีธรรม

2520

ตั้งโรงเรียนทุ่งสงวิทยา (โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลแห่งแรก) ที่บ้านไสไฟลาม ตำบลควรกรด

2521

ตั้งโรงเรียนเทศบาลบ้านนาเหนือ

2522

ตั้งโรงเรียนบ้านนาตาแย้ม

2523

โรงเรียนประถมศึกษาโอนไปสังกัด สปช. ยกฐานะครูเป็นข้าราชการครูลดการศึกษาภาคบังคับจาก 7 ปี เหลือ 6 ปี ตั้งโรงเรียนทุ่งสงสหประชาสรรค์ โรงเรียนมัธยมประจำตำบลแห่งที่ 2 ที่ตำบลเขาขาว ตั้งโรงเรียนบ้านนาป่า (ปัจจุบันเป็นนาป่าประชาสรรค์)

2534

ตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 (กรมสามัญศึกษา)

2535

ตั้งโรงเรียนก้างปลาวิทยาคม โรงเรียนมัธยมประจำตำบลแห่งที่ 3 ที่ตำบลที่วัง

2536

ตั้งโรงเรียนโสตศึกษา นครศรีธรรมราช (กรมสามัญศึกษา)

2537

ตั้งโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช (กรมพลศึกษา)พ.ศ.2537 ตั้งโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช (กรมพลศึกษา)

ปี พ.ศ. 2461 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ฉบับแรก ในเวลาต่อมานายอำเภอเมืองทุ่งสง (พระยาคณาสัย) จึงมีนโยบายให้ปิดโรงเรียน น.ศ. 5 ของหลวงไป และนายอำเภอได้เปิดโรงเรียนเอกชนของตนเองขึ้นชื่อว่า “โรงเรียนสุวรรณสาร”  ขึ้นในเวลาไม่นานนัก และต่อมามีโรงเรียนเอกชนอีกโรงหนึ่งซึ่งมีเจ้าของรายเดียวกันคือ โรงเรียนคณาสัย (ปัจจุบันคือที่ตั้งร้าน “ไทยสมบูรณ์” นั่นเอง) จากนั้นจึงมีโรงเรียนเอกชนแห่งอื่นๆ เช่น โรงเรียนเจริญวิทยา ตั้งอยู่ริมถนนราชบริพาร (ซอยเข้าวัดชัยชุมพลและถ้ำตลอด) และโรงเรียนทุ่งสงพณิชการ เป็นต้น

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ฉบับแรก ขึ้นบังคับใช้ การศึกษาในเมืองทุ่งสงดำเนินเรื่อยมา โดยมีพัฒนาการด้านชื่อของโรงเรียนเก่าแก่ของเมือง คือ โรงเรียนนิตยาภิรมย์ (พ.ศ. 2442)  จนกระทั่งเมื่อ 78 ปีก่อน (ราว พ.ศ. 2475) โกส้าน (นายวสันต์    ว่องวานิช) คนเก่าแก่ของเมืองทุ่งสงซึ่งเดิมอยู่อาศัยย่านตลาดนอก ต่อเมื่อหลังไฟไหม้ใหญ่ตลาดทุ่งสง พ.ศ. 2501 จึงย้ายไปอยู่แถวย่านตลาดใน แกเล่าว่าแกเรียนชั้นประถมอยู่ที่โรงเรียนซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลปากแพรก” ซึ่งต่อมาคือ “โรงเรียนวัดชัยชุมพล” นั่นเอง

นอกจากนี้ พระยาคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) นายอำเภอคนที่ 4 ของอำเภอทุ่งสง  (พ.ศ. 2457-2464) และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง คนที่ 19 (พ.ศ. 2464) ได้ก่อตั้งโรงเรียนเอกชนระดับมัธยม คือ โรงเรียนสุวรรณสาร (เคยตั้งอยู่บริเวณห้างสุรจิตพานิช ในปัจจุบัน) และโรงเรียนคณาศัย (เคยตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวัดโคกสะท้อน) แต่ในปัจจุบันทั้ง 2 โรงเรียนได้ปิดกิจการไปแล้ว

สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอทุ่งสง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเป็นโรงเรียนประถมวิสามัญเกษตรกรรม ประจำอำเภอทุ่งสง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2478 โดยการเริ่มของหลวงประจัณ จุฑารักษ์  นายอำเภอทุ่งสง กับครูชุ่ม ชนะณรงค์ ศึกษาธิการอำเภอในสมัยนั้น พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมนครศรีธรรมราช และในปี พ.ศ. 2508 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนฯ เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมนครศรีธรรมราช เป็นวิทยาลัยแห่งแรกของจังหวัดนครศรีฯ พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนสังกัดจากกรมอาชีวศึกษาไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เพื่อทำการสอนทั้งระดับปริญญาตรีสายอาชีวศึกษาและต่ำกว่าปริญญาตรี และเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเกษตร นครศรีธรรมราช และในปี พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานชื่อใหม่เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนครศรีธรรมราช และเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ตามลำดับ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช, 2549)

 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2542 (http://www.sct.ac.th) ส่วนในระดับเตรียมอนุบาล อนุบาล และประถมศึกษา ในชื่อ โรงเรียนตันติวัตร (http://www.ttw.ac.th)

การสอนภาษาจีน

สงบ แซ่โง้ว กล่าวถึงการเข้ามาของภาษาและวัฒนธรรมจีนว่า เริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2500 มีครูเดินทางมาจากเมืองจีน เข้ามาสอนภาษาจีนกลางที่เมืองทุ่งสง ในสมัยนั้น สอนอยู่ที่โรงเรียนจงฮั้ว (อาคารบ้านไม้) สอนอยู่ประมาณ 4-5 ปี ก็หยุดไป เนื่องจากการเรียนภาษาจีนค่อนข้างยาก และนักเรียนขาดการสนับสนุนด้านทุ่นการศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้มีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์จากรัฐบาลจีน เข้ามาสอนภาษาจีนควบคู่ไปกับการสอนภาษาอังกฤษที่อาคารสมาคมจงฮั้วอีกครั้ง มีนักเรียนประมาณ 22 คน สอนได้ประมาณ 2 ปี ก็ถูกส่งตัวกลับประเทศจีนไป ในปัจจุบัน มีโรงเรียนในเมืองทุ่งสง 2 แห่ง ที่มีหลักสูตรการสอนภาษาจีน คือ โรงเรียนพาณิชยการทุ่งสง และโรงเรียนสตรีทุ่งสง (สัมภาษณ์วันที่ 16 สิงหาคม 2553)