http://www.tungsong.com


ประวัติศาสตร์   |    โบราณสถาน,วัตถุ  |   ศาสนา,ความเชื่อ  |   ภูมิศาสตร์   |   ชาติพันธุ์ วรรณกรรม  |   วัฒนธรรมประเพณี  |    อื่นๆ

เหตุการณ์เมืองทุ่งสง  ที่มาของชื่อ "ทุ่งสง"  |  เหตุการณ์ไฟไหม้เมืองทุ่งสง  ประวัติศาสตร์การศึกษา

โดยอาจารย์สมหมาย กะลาศรี

ที่มาของ "ชื่อทุ่งสง"

ที่มาของชื่อ “ทุ่งสง” มีที่มาหลายนัย ได้แก่ การกำหนดชื่อจากการสร้างทางรถไฟ   การกำหนดชื่อตามศักดินาหลังตามการ 4 ที่ (แขวง) การกำหนดตามชื่อคน  การกำหนดชื่อเนื่องจากเป็นพื้นที่ขนส่งสินค้า …แต่ยังไม่มีข้อสรุป

สมหมาย กะลาศรี (2544) กล่าวเกี่ยวกับชื่อทุ่งสง ซึ่งวินิจฉัยกันไปหลายนัย ได้แก่

นัยที่ 1 เพราะการสร้างทางรถไฟสายใต้ เดิมทีจากการสำรวจเส้นทางกำหนดจะทำทางแยกไปกันตัง ไปพัทลุง ที่ตำบลทุ่งสง เขตอำเภอนาบอนปัจจุบันและกำหนดเรียกชุมทางทุ่งสง แต่พอสร้างจริง สภาพพื้นที่มีปัญหาต้องเลื่อนมาที่บ้านปากแพรก แต่ยังคงกำหนดว่าชุมทางทุ่งสง และสมหมายกล่าวว่าเกี่ยวกับนัยนี้วิเคราะห์แล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะมีการสำรวจเส้นทางรถไฟ เมื่อ พ.ศ. 2449 เริ่มก่อสร้างพร้อมกันหลายช่วงในปี พ.ศ. 2453 ในขณะที่ทุ่งสงเริ่มยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2440 ก็มีชื่อเป็น ทุ่งสงอยู่แล้ว

นัยที่ 2 วินิจฉัยว่าก่อนที่จะยกฐานะให้เป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2440 นั้นจะต้องรวมเอา “ที่” ถึง 4 ที่เข้าด้วยกันคือ ที่ทุ่งสง (ปัจจุบันคือตำบลหนึ่งของอำเภอนาบอน) ที่ชะมาย ที่แก้ว (แก้วแสนอำเภอนาบอน) และที่นาบอน แต่เนื่องจากศักดินาของนายที่ทุ่งสงสูงกว่าที่อื่นๆ จึงยกให้ที่ทุ่งสงเป็นชื่ออำเภอ แต่ตั้งที่ทำการอยู่ที่ปากแพรก

นัยที่ 3 สถานที่แห่งนี้เป็นที่ชุมนุมผู้คนและเป็นแหล่งค้าขาย ที่พ่อค้านำสินค้าล่องเรือมาจากกันตัง โดยอาศัยแม่น้ำตรังจนถึงบ้านโคกแซะ (ชุมชนทุ่งสงเดิม) ตลอดถึงการส่งผู้คนหรือพ่อค้าในการติดต่อระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองตรัง จึงนิยมเรียกทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งสง”[1] ในหนังสือทุ่งสง 100 ปี (2544) กล่าวว่าตั้งแต่อดีตนครศรีธรรมราชเป็นที่ที่มีความสำคัญทางทหาร ต้องควบคุมหัวเมืองมลายู  เช่น ไทรบุรี ส่งทหารเสบียงยุทธปัจจัยเดินทางมาลงแม่น้ำตรังที่ทุ่งสงมีสถานที่ เช่น ทุ่งค่ายบ้านฉาง นาฉาง คลองช้างที่ตำบลที่วัง  แม้ปัจจุบันการส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (เจ้านาย) เดินทางผ่านสถานีชุมทางทุ่งสงเป็นประจำ

นอกจากนี้ จรูญ (2543) ได้กล่าวถึงชื่อ “ทุ่งสง” ในเรื่องเล่าเมืองทุ่งสง รถไฟมาทุ่งสงทางไหนว่า   ที่บ้านโคกแซะริมคลองท่าเลา มีนาดอนระหว่างหุบเขา  ซึ่งอาศัยการทำนาด้วยน้ำฝน ติดกับเขาดีปลี  เนื่องจากทุ่งนานั้นเป็นทุ่งสูง  ภาษาถิ่นเรียกว่า “ท่งสูง”[2] นายช่างผู้ทำการสำรวจในแผนที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า “Thungsong” ต่อมาเมื่อมีการแปลเป็นภาษาไทยก็ใช้เป็น “ทุ่งสง” และสมหมาย (2544) กล่าวว่าในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมัยดำรงตำแหน่งเป็นสยามกุฎราชกุมาร เคยเสด็จทุ่งสง ในปี พ.ศ. 2452 ตรงกับ ร.ศ.128 ปรากฏชื่อ “ทุ่งสรง”
สำราญ  มีสมจิตร (2553) ได้ให้ความเห็นว่าจากคำว่า ทุ่งสง หมายถึง “ทุ่งสรง” ซึ่งเป็นทุ่งหรือ “ท่ง” ในภาษาไทยถิ่นใต้ที่หมายถึง “ที่สรงน้ำ” หรืออาบน้ำชำระร่างกายของหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ นั้น เมื่อได้มีการทบทวนเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานใหม่ที่ต่างไปจากข้อสรุปเก่าใน 2 ประการคือ
 1.  ชุมชนโบราณย่านทุ่งสง ไม่ได้เพิ่งเกิดใหม่หรือตั้งขึ้นหลังการตั้งเมืองนครศรีฯ ที่หาดทรายแก้วเมื่อราว 1,700 ปีก่อน (พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช) แต่เป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีอยู่เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ก่อนแล้ว โดยเติบโตจากการเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีชุมชนริมน้ำเป็นเมืองท่าค้าขายย่อยร่วมอยู่ในเส้นทางเดินเรือของชนชาติต่างๆ ที่ใช้แม่น้ำในย่านทุ่งสงเป็นทางลัดผ่านระหว่าง 2 คาบสมุทรโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และแม้จะเป็นชุมชนที่เล็กกว่าเมืองไชยา และเมืองนครดอนพระอยู่มาก แต่ก็ถือว่ามีอยู่ยาวนานแล้ว
2)   ที่มาของชื่อ “ทุ่งสง” สำราญเห็นว่าไม่ได้มีเหตุผลเชื่อมโยงเรื่อง “ชื่อบ้าน-นามเมือง” เพียงแค่ 3 บทสรุปของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่กล่าวว่าเกิดขึ้นใน 3 ตรรกะ คือ (1) ตรรกะที่ว่าด้วยมีเหตุการณ์เกิดโรคระบาดหรือไข้ยมบนที่กษัตริย์แห่งนครศรีธรรมาโศกราชให้ราษฎรหนีภัยโรคระบาดกระจายกันไปอยู่ตามป่าเขา เมื่อราว 1,700 ปีมาแล้ว โดยให้มาเบิกร้างถางพงในป่ากลางแผ่นดินระหว่าง 2 คาบสมุทรคือย่านนี้ จนกลายเป็นชุมชนที่มีชื่อต่างๆ อาทิ ที่ทุ่งสง ที่ชะมาย ที่วัง ที่แก้ว และกาลต่อมา และมีคำเรียกบางย่านที่เป็นที่ดอนในพื้นที่แถบนี้ว่า “ทุ่งสูง” เป็นต้น  (2) ตรรกะที่ว่าเป็น “ทุ่ง(ขน)ส่ง” คือเป็นแหล่งขนส่งเสบียงอาวุธในยามศึกสงครามทั้งในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยกรุงธนบุรี และต่อเนื่องถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  จึงเรียกกันในภาษาไทยถิ่นใต้สืบต่อกันมาว่า “ท่งสง” (ทุ่ง คือ       ท่ง และ ส่ง คือ สง)  (3) ตรรกะที่ว่ามีการสำรวจและก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ช่วงชุมทาง  ทุ่งสงและมีการเขียนถ่ายจากคำเรียกชื่อสถานีรถไฟในภาษาอังกฤษ “Thungsong” มาเป็นภาษาไทยว่า “ทุ่งสง” ในช่วงต้นทศวรรษ 2400 (เปิดเดินรถไฟช่วงเส้นทางทุ่งสงอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก พ.ศ. 2457) แต่สำราญได้ประมวลข้อมูลประวัติศาสตร์และเชื่อมโยงเหตุผลว่า ยังมีตรรกะที่ (4) ที่ว่า “ทุ่งสง” คือ “ทุ่งสรง” ในช่วงสมัยอยุธยาอีกด้วย (สำราญจึงขอใช้ภาษาเขียนคำว่า “ทุ่งสง” โดยเขียนเป็น “ทุ่งสรง” กล่าวคือ
ตรรกะที่ว่า “ทุ่งสง” คือ “ทุ่งสรง”  นั้น    พบข้อมูลที่เชื่อมโยงคำว่า “ทุ่งสง” กับคำว่า “ทุ่งสรง” ซึ่งหมายถึงสถานที่สำหรับใช้เป็น “ที่สรงน้ำ” ของหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ หรือไม่ก็พระพุทธรูปหรือไม่ก็พระสงฆ์ที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างสูงของคนในสมัยนั้น จึงมีพิธีกรรมหรือการจัดเตรียมการ “สรงน้ำ” ขึ้นจนปรากฏเป็นชื่อเรียกและเป็นสถานที่ที่ถูกกล่าวขานสืบมา ในข้อมูลส่วนที่เป็นนัยนี้ สำราญ วินิจฉัยว่า “ทุ่งสง” ปัจจุบันคือ “ทุ่งสรง” ในอดีต คือเนื่องจากแม้ทุ่งสงจะตั้งอยู่ตอนในของแผ่นดินใหญ่กลางคาบสมุทร 2 ฝั่ง ซึ่งการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำสายใหญ่ หรือริมฝั่งทะเล หรือปากอ่าวเพื่อเป็นเมืองท่าค้าขายจึงจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง เดินทางสะดวก มีประชากรมาก และมีความเข้มแข็งสามารถรวมตัวและป้องกันข้าศึกรุกรานได้ โดย “ทุ่งสรง” มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิสำหรับการ “สรงน้ำของกษัตริย์” มากที่สุด กล่าวคือ มีบันทึกกล่าวว่าสมัยหนึ่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้ยกทัพเมืองนคร มาสู้รบกับทัพเจ้าเมืองทะรัง (เมืองตรัง) โดยก่อนจะมีการชนช้างกันที่ย่านหนึ่งในอำเภอทุ่งสง ซึ่งเรียกกันต่อมาเป็น “ตำบลทุ่งชน” นั้น บันทึกอย่างกล่าวว่าก่อนทำศึกสงครามพระเจ้าจันทรภาณุได้พักทัพที่ย่านใกล้เคียงกันนี้ ดังนั้น ย่านบริเวณนี้เอง (ทุ่งสงที่นาบอน-ทุ่งสรงที่หนองหงส์) จึงน่าจะเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “ทุ่งสรง” นอกจากนี้ ตำนานพระนางเลือดขาวเองระบุว่าหลังพระนางเป็นมเหสีของพระเจ้าจันทรภาณุแล้ว พระนางได้เดินเรือผ่านไปมาแถบทุ่งสงอยู่หลายครั้ง (รวมทั้งครั้งที่นำศพพระนางผ่านทุ่งสงกลับไปเมืองสทิงพระบ้านเดิมของพระนางด้วย) โดยมีหลักฐานเกี่ยวข้องกับพระนางคือ ยอดมณฑปที่ขุดพบในสระน้ำบ้านนาโต๊ะแถมตำบลหนองหงส์ และคำชื่อบ้าน-นามเมืองที่ตกทอดกันมาคำหนึ่งว่า “อู่เรือนางเลือดขาว” ดังนั้น “ทุ่งสรง” จึงน่าจะเป็นจุดที่กลายเป็นวัดในเวลาต่อมาหรือมีวัดมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว โดยเป็นที่แวะประทับของพระนางในระหว่างแวะพักที่ย่านแห่งนี้ “ทุ่งสรง” จึงอาจหมายถึงที่ “สรงน้ำ” ของพระนางเลือดขาวราชินีแห่งกษัตริย์จันทรภาณุหรือไม่ก็เป็นที่ “สรงน้ำ” ของทั้งสองพระองค์นั่งเอง
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทุกท่านยังไม่สรุปว่านัยใดน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ควรมีการสืบค้นที่มาของคำว่า “ทุ่งสง” พร้อมทั้งเสาะหาหลักฐานประกอบที่น่าเชื่อถือและหนักแน่นมากขึ้นกันต่อไป
 

[1] การเป็นทำเลในการขนส่งยุทธปัจจัย นั้น คำว่า “ส่ง” ภาษาไทยถิ่นใต้ออกเสียงว่า “สง” จึงเป็น “ทุ่งสง”

[2] ออกเสียงถิ่นใต้ว่า “ท่งสูง”