ถมนคร ชื่อนี้เป็นที่รู้จักและนับเป็นหนึ่งในบรรดาศิลปาชีพชั้นสูงที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา ยังไม่เป็นที่ยุติว่าหัตถศิลปการทำเครื่องถมของประเทศไทย และของเมืองนครศรีธรรมราชนั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อใดแต่ในประวัติศาสตร์โลกนั้น ปัจจุบันนี้ได้พบเครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุดในยุคโรมัน 2 ชิ้น เป็นภาพทหารโรมันและหีบเครื่องสำอางสตรี อายุระหว่าง 210 ปีก่อนพุทธกาล ถึงราว พ.ศ. 1019 ทำให้สันนิษฐานว่าถมนครนี้อาจจะรับมาจากโรมัน ผ่านทางอินเดีย หรือกรีก หรือเปอร์เซีย เมื่อ
ประมาณ 800 ปีก่อน ในขณะที่บางท่านกลับเห็นว่าถมนครนี้น่าจะเกิดที่นี่ เพราะบางหลักฐานทางกรีกก็กล่าวว่ารับศิลปะนี้จากตะวันออกเช่นกัน
        สำหรับประวัติศาสตร์ไทยนั้น เครื่องถมนับเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และที่สำคัญคือเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่งคณะราชฑูตไทยไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ประเทศฝรั่งเศสนั้น พระราชสาส์นถูกบรรจุม้วนไว้ในหีบถมตะทองพร้อมกับราชบรรณาการถมทองด้วย พร้อมกันนั้นในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ณ กรุงวาติกันของคณะราชฑูตกรุงสยามครั้งนั้น ราชบรรณาการก็คือกางเขนพร้อมราชสาสน์ในหีบถมตะทอง บนพานถมตะทอง และเครื่องถมทั้งหลายในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดหาช่างถมที่มีฝีมือเข้าไปทำ ณ กรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2199 - 2231 จึงทำให้หลายฝ่ายสรุปว่าถมนครนั้นรับมาจากฝรั่งชาติโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในนครศรีธรรมราชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2061
        ครั้งรัตนโกสินทร์นั้นเครื่องถมนับเป็นของสูง เป็นสมบัติของผู้สูงศักดิ์โดยช่างแทบทั้งนั้นเป็นชาวนคร แม้ที่อพยพไปตั้งบ้านช่างถมที่กรุงเทพฯ แต่คุณภาพก็ยังสู้มถมเมืองนครไม่ได้ สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งมีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมนั้นเครื่องถมนครก็รุ่งเรืองมาก ถึงรัชกาลที่ 3 เครื่องราชูปโภคทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นเครื่องถม ได้แก่ พระแท่นที่เสด็จออกขุนนางกับพระเสลี่ยง ในรัชกาลที่ 4 มีพระที่นั่งภัทรบิฐ และพนักเรือพระที่นั่งกราบด้วยถม ครั้นรัชกาลที่ 5 เมื่อสร้างพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ประดิษฐานไว้ในท้องพระโรงกลางภายใต้นพปดลมหาเศวตฉัตร และยังมีพระที่นั่งถมทองขนาดใหญ่ที่เจ้าพระยานครให้ช่างทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าถวายอีกด้วย
        นอกจากเป็นเครื่องราชูปโภคแล้ว เครื่องถมนครยังนับเป็นราชบรรณาการ กล่าวคือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญของพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องถม ถวายแด่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษและจนถึงบัดนี้ยังตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบัคกิ้งแฮม, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงพระราชทานเครื่องถมแด่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งอังกฤษ, แด่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวแห่งสหรัฐอเมริกา เฉพาะอย่างยิ่งทรงเลือกหีบบุหรี่ถมทอง และตลับแป้งถมทองแก่แพทย์ และนางพยาบาลทั้ง 4 ที่ร่วมกันถวายการประสูติและอภิบาลพระองค์ท่าน ณ เมืองบอสตัน
        ช่างถมในกรุงเทพฯ ทั้งที่บ้านพานถมและที่ได้รับบรรดาศักดิ์ถึงขั้นขุนปราณีตถมกิจ ขุนประดิษฐถมการ นั้นไม่สืบทอดถึงปัจจุบันแต่ทางนครนั้นพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช (ม่วง รัตนธัชโช) หรือเจ้าคุณ วัดท่าโพธิ์ ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาช่างถมขึ้นในวัด จนพัฒนาเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ทำให้ยังมีเครื่องถมนครผลิตอยู่ถึงปัจจุบัน ทั้งถมทองและถมเงิน เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2530 นายเห้ง โสภาพงศ์ ช่างถมชาวนครศรีธรรมราชก็ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม)
        เครื่องถมนครปัจจุบัน เนื่องจากทองและเงินมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการทำต้องอาศัยเวลาและฝีมือชั้นสูงจึงมีราคาสูง สามารถหาซื้อได้ทั่วไปโดยชิ้นเล็กๆ เช่น ลอคเก็ต สายสร้อย หัวนโม มีขายตามร้านสินค้าที่ระลึก ในขณะที่เครื่องถมชิ้นใหญ่ตั้งแต่หีบถม ตลับถม ขันถม ถาดถม กรอบรูปถม ฯลฯ ซึ่งมีราคาตั้งแต่พันบาท หมื่นบาทถึงแสนบาท สามารถหาซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายผลงานวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชข้างวัดบูรณาราม, ร้านสุพจน์ ผู้ผลิตเครื่องถมส่งสำนักพระราชวังและสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นของขวัญระดับชาติ และร้านทองรูปพรรณแทบทุกร้าน
        ส่วนสายสร้อย สามกษัตริย์ ซึ่งเป็นหัตถศิลป์เอกลักษณ์ของเมืองนครอีกอย่างหนึ่งนั้น สามารถสืบเรื่องราวได้ว่า เริ่มจากช่างทอง ช่างเงินจากเมืองไทรบุรี ที่ถูกกองทัพเจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกไปตีและกวาดต้อน มาหลายครั้งหลายหนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวไทยมุสลิมเหล่านี้รวมกลุ่มตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บริเวณท่าช้างหลังสนามหน้าเมือง ซึ่งต่อมาวัดท่าช้างอารามหลวงร้างลง จึงได้สร้างมัสยิดซอลาฮุดดีนขึ้นแทน และบริเวณตลาดแขก โดยยังคงประกอบหัตถศิลป์เครื่องทองเงินสืบมา ไม่เพียงแต่สายสร้อยสามกษัตริย์อันประกอบด้วย เงิน ทอง นาค และเงิน ช่างชาวนคร ได้ประยุกต์และผลิตเครื่องประดับเงินออกมามากมายทั้งสายสร้อยประดับพลอยประกอบชุดไทยพระราชนิยม สายสร้อยที่มีตุ้มห้อยน่ารักหลายรูปแบบทั้งรูปหัวใจ รูปตะกร้อ รูปตรานโม กระทั่งที่ประดับด้วยเพชรหน้าทั่ง ลูกประคำ กังไสต่างๆ กำไลและต่างหูก็เป็นงานที่พัฒนารูปแบบทันสมัย เช่น เลช ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากนั้น ช่างเงินเมืองนครก็สามารถสลักถักออกมานานา ลวดลาย หาซื้อได้ทั่วทั้งเมืองนครโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนถนนท่าช้าง หลังสนามหน้าเมือง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน

ถมนคร
พระที่นังถมทอง
สร้อยสามกษัตริย์


แร่ธาตุอุดม HOME มากวัดมากศิลป์