http://www.tungsong.com
Home
| Guestbook
|Local Agenda 21
|Download Document
[ มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ]  [ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร ]

[ การส่งเสริมบทบาทของกลุ่ม-องค์กรสำคัญ ]  [ วิธีการในการดำเนินงาน ]

การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร
[ อารัมภบทในการส่งเสริม ] [ สตรีในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ] [ เด็กและเยาวชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ]
[ การส่งเสริมบทบาทของคนพื้นเมือง ] [ ความร่วมมือกับองค์กรเอกชน ] [ รัฐบาลท้องถิ่น ] [ คนงานและสหภาพแรงงาน ]
[ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ][ นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี ][ การส่งเสริมบทบาทของเกษตรกร ]

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ให้ความเห็นชอบในวัตถุประสงค์ นโยบายและกลไกต่างๆเป็น
จำนวนมากตามที่ระบุไว้ใน Agenda 21 แต่การที่จะบรรลุถึงเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องให้กลุ่มต่างๆ ในสังคมปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธกรณีและเข้ามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง การเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของสาธารณชนในการพัฒนานโยบายและให้มีการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์การต่างๆ จำเป็นต้องรับรู้และเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
เรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

เพื่อให้มีการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลรัฐบาลควรให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อสนเทศ
ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมถึงข้อมูลในเรื่องผลผลิตและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดหรืออาจจะเกิดผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และข้อสนเทศในเรื่องมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบทต่อๆ ไป จะกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
โดยรัฐบาล เพื่อช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มที่สำคัญต่างๆ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


สตรีมีประสบการณ์และความรู้เป็นอันมากในเรื่องการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม บทบาทของสตรีในการบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนถูกจำกัดโดยอุปสรรคต่างๆ เช่น การเลือกปฏิบัติ (discrimination) การขาดการศึกษา ขาดการใช้ที่ดิน และความไม่เท่าเทียมกันในการทำงาน

รัฐบาลควรพิจารณาจัดทำกลยุทธ์ภายในปี พ.ศ. 2543 ที่จะขจัดสิ่งขัดขวางต่างๆ ต่อสตรี
ทางด้านกฎหมาย การบริหาร วัฒนธรรม พฤติกรรมเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สตรีสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและในกิจกรรมของสาธารณะอย่างเต็มที่

ประเทศต่างๆ ควรเพิ่มสัดส่วนสตรีที่เป็นนักบริหาร นักวางแผน นักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษา
ทางวิชาการ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ส่งเสริม ในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ขจัดการไม่รู้หนังสือของสตรี ให้เด็กหญิงได้มีโอกาสศึกษาในระดับปฐมและมัธยม และให้การฝึกอบรมในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สตรีที่สำเร็จมัธยมศึกษาไปแล้ว

ในการสนับสนุนความสามารถของสตรีให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รัฐบาลควรที่จะ

- ให้สตรีมีบทบาทในการจัดการระบบนิเวศทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และในการควบคุมมิให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง

- ให้การรักษาพยาบาลที่ครบถ้วนแก่สตรี รวมทั้งในเรื่องการดูแลก่อนคลอดบุตร การใช้น้ำนมมารดาเลี้ยงบุตร ให้ข้อมูลในเรื่องการดูแลมารดาและเด็ก การวางแผนครอบครัวและการเป็นมารดาอย่างรับผิดชอบ

- ช่วยลดปริมาณงานที่มีอยู่จำนวนมากของสตรีและเด็กหญิงทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงการร่วมมือกับนายจ้างและองค์การต่างๆ ในการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลหรือสถานที่เลี้ยงดูเด็กในราคาที่เหมาะสม จัดทำแผนงานระดับชาติที่จะส่งเสิรมให้บุรุษรับภาระงานในบ้านเท่าเทียมกับสตรี

- จัดหาเงินกู้ในรูปแบบต่างๆ ให้กับสตรีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ

- ให้สตรีมีสิทธิในทรัพย์สิน และเข้าถึงปัจจัย (inputs) และอุปกรณ์ต่างๆ ในการเกษตร

- ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อขจัดความรุนแรงที่กระทำต่อสตรี ดำเนินงานที่จะขจัดภาพลักษณ์ของสตรีในทางลบ การมองสตรีที่เป็นแบบฉบับเดียวกัน (stereotypes) การมีทัศนคติและอคติต่างๆ ที่ต่อต้านสตรี

- ให้สตรีซึ่งเป็นผู้บริโภคมีความตื่นตัวที่จะลดหรือขจัดการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าที่ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น

- เริ่มต้นที่จะนำเอามูลค่า (value) การทำงานของสตรีที่มิได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน รวมทั้งการทำงานบ้านรวมเข้าไว้ในการวัดสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย


จำนวนเยาวชนมีประมาณหนึ่งในสามของประชากรโลก และพวกเขาจำเป็นต้องแสดง
ความเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง บทบาทที่แข็งขันของเยาวชนในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการเข้ามีส่วนร่วมเพื่อการตัดสินใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การดำเนินงานตาม Agenda 21 ประสบความสำเร็จในระยะยาว

แผนพัฒนาควรให้ความมั่นใจกับคนในวัยหนุ่มสาวเพื่อการมีอนาคตที่มั่งคง รวมทั้งการ
มีสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต การศึกษาและการทำงาน

การศึกษาควรได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นเพื่อที่ภายในปี พ.ศ. 2543 คนในวัยหนุ่มสาว
มากกว่าครึ่งหนึ่งของในแต่ละประเทศ จะได้รับโอกาสเข้าศึกษาถึงระดับมัธยมหรืออาชีวศึกษา เยาวชนควรได้รับการศึกษาอบรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดระยะเวลาการศึกษาในโรงเรียน

รัฐบาลควรปรึกษากับเยาวชนและให้เยาวชนได้เข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผล
ต่อสิ่งแวดล้อม ควรมีผู้แทนของเยาวชนเข้าร่วมในการประชุมระหว่างประเทศ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่องค์การสหประชาชาติด้วย

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ ประชากรเด็กมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร
ทั้งประเทศเด็กๆ ที่อยู่ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเสื่อมโทรมของ สิ่งแวดล้อม

ประเทศต่างๆ ควรต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ยิ่งต่อเด็กหญิงและสตรีวัยรุ่น ควรดูแลให้เด็กๆ มีสุขภาพที่ดี ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ได้รับการศึกษา และได้รับการปกป้องจากมลพิษและสารพิษต่างๆ กลยุทธ์ในการพัฒนาควรจะดำเนินการในเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิของคนรุ่นหนุ่มสาวในทรัพยากรธรรมชาติ


คนพื้นเมืองซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชากรโลก ได้อาศัยทรัพยากรที่คืนรูป
และระบบนิเวศเพื่อความอยู่ดีกินดีในการดำรงชีวิต

ในหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา คนพื้นเมืองได้สะสมความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิม
สืบทอดกันมาในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความสามารถของคนพื้นเมืองที่จะใช้ที่ดินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ถูกจำกัดโดยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและประวัติศาสตร์

รัฐบาลควรให้การยอมรับถึงความจำเป็นที่จะป้องกันดินแดนของคนพื้นเมืองจากกิจกรรมที่ไม่
ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และจากกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ควรมีการดำเนินงานในระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในเรื่องสิทธิในที่ดิน และในเรื่องการใช้ทรัพยากร

คนพื้นเมืองบางคนอาจจะต้องการเข้าควบคุมที่ดินของพวกเขามากขึ้น และเข้าจัดการ
ทรัพยากรด้วยตนเองรวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องการพัฒนาที่มีผลกระทบถึงพวกเขา และในเรื่องการจัดตั้งเขตคุ้มครอง

รัฐบาลควรรวมเอาเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบของคนพื้นเมืองไว้ในกฎหมายของชาติ
ประเทศต่างๆ ควรออกกฎหมายและนโยบายที่จะรักษาประเพณีปฏิบัติและให้การคุ้มครองทรัพย์สินคนพื้นเมืองรวมทั้งความคิดและความรู้ของพวกเขา

รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศควรให้การยอมรับค่านิยม (values) ความรู้ดั้งเดิม
และวิธีการจัดการทรัพยากรซึ่งคนพื้นเมืองได้ใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมของพวกเขา และประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในพื้นที่บริเวณอื่นๆ ที่มีการพัฒนาเกิดขึ้น รัฐบาลควรจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับคนพื้นเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรให้มากขึ้น


องค์กรเอกชน (NGOs) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและดำเนินงานในเรื่องการเข้ามีส่วน
ส่วนร่วมในประชาธิปไตย ความเป็นเอกเทศจากรัฐบาลและจากส่วนอื่นๆ ในสังคมเป็นคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของ NGOs นอกจากนี้ NGOs ยังมีความชำนาญการในหลายๆ ด้านและได้รับการยอมรับกันแล้ว ในเรื่องการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลักษณะที่รับผิดชอบต่อสังคมและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ จึงควรให้การยอมรับและสนับสนุนเครือข่ายระดับโลกของ NGOs ในฐานะ
ผู้ร่วมงาน (partners) ในการดำเนินงานตาม Agenda 21 ทั้งนี้ NGOs สามารถมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสังคมให้ตกลงใจว่าจะละทิ้งแบบแผนของการพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนได้อย่างไร

หน่วยงานของระบบสหประชาชาติและรัฐบาลของแต่ละประเทศควรให้ NGOs เข้ามีส่วน
ร่วมในการกำหนดนโยบายและข้อตัดสินใจต่างๆ ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ NGOs เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทบทวนและประเมินผลการดำเนินงานตาม Agenda 21 ควรให้ NGOs ได้เข้าถึงข้อมูลและข่าวสารอย่างทันเวลาที่จะสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง NGOs กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติควรใช้ประโยชน์จากความชำนาญการของ NGOs
และควรทบทวนความสนับสนุนทางด้านการเงินและการบริหารที่ให้กับ NGOs เพื่อให้ NGOs มีบทบาทเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในฐานะผู้ร่วมงาน (partners) ในอันที่จะบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รัฐบาลควรให้ NGOs เข้าไปมีส่วนร่วมในแผนงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้
ความสามารถของ NGOs ในด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด เช่น ในด้านการศึกษา การบรรเทาภาวะความยากจน การคุ้มครองและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รัฐบาลควรนำเอาข้อคิดเห็นของ NGOs มาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในเรื่องสภาวะของความยั่งยืนด้วย

ประเทศต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้ NGOs จัดตั้งกลุ่มปรึกษาหารือ และมีกฎหมายให้สิทธิ
NGOs ที่จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของสาธารณะด้วย

NGOs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้าน
การเงินเพิ่มขึ้นอีกมากเพื่อที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตาม Agenda 21


ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นจำนวนมาก ตามที่ระบุไว้ใน Agenda 21มีพื้นฐานมา
จากกิจกรรมในระดับท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รัฐบาลท้องถิ่น เช่น เทศบาล มีหน้าที่สร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น
ระบบน้ำดื่มและถนน ดูแลการวางแผนในเรื่องที่พักอาศัยและการพัฒนาอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น และยังช่วยในการดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อมในระดับชาติอีกด้วย

โดยที่เป็นรัฐบาลในระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด รัฐบาลท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญ
ในการให้การศึกษา และระดมความร่วมมือของสาธารณชนในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลท้องถิ่นทุกๆ แห่ง ควรหารือกับประชาชนเพื่อร่วมกันจัดทำ "แผนปฏิบัติการ 21 ของทิ้งถิ่น" (A Local Agenda 21) สำหรับชุมชนนั้นๆ

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นควรหารือกับประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการรวบรวม
ข้อมูลข่าวสารและสร้างฉันทามติ (consensus) ในเรื่องกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฉันทามติดังกล่าวจะช่วยในการกำหนดแผนงาน นโยบาย และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของท้องถิ่นเสียใหม่ เพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของ Agenda 21 กระบวนการของการปรึกษาหารือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความตื่นตัวของประชาชนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ระหว่างปี พ.ศ. 2536 และ 2537ควรเริ่มต้นเชื่อมโยงการดำเนินงานของท้องถิ่นต่างๆ
ในระดับระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการแบ่งปันข่าวสาร ความคิด และความชำนาญการจากระดับชุมชม องค์การต่างๆ เช่น ศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (HABITAT) ควรรวบรวมข้อมูลข่าวสารในเรื่องกลยุทธ์การพัฒนาท้องถิ่น การสนับสนุนที่ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นอาจจะมาจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) สหภาพระหว่างชาติของรัฐบาลท้องถิ่น (International Union of Local Authorities) The World Association of the Major Metropolises, The Summit of Great Cities of the World และ The United Towns Organization


คนงานจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่
จำเป็นในการดำเนินงานเพื่อบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สหภาพแรงงานซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมมีบทบาท
สำคัญในการดำเนินงานเพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ลำดับความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองสถานที่ทำงานสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในการทำงาน และสนับสนุนการพัฒนาที่รับผิดชอบต่อสังคม

รัฐบาล ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ควรส่งเสริมการเข้ามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของคนงาน
และสหภาพแรงงานในการกำหนด (shaping) และในการดำเนินกลยุทธ์ทางด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ กลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการจ้างงาน วิธีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมแผนงานการปรับตัวในการใช้แรงงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

วัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อให้มีการจ้างงานอย่างเต็มที่ ซึ่งจะสนับสนุนการทำงานเลี้ยงชีพอย่าง
ยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัยและสมบูรณ์ ทั้งในสถานที่ทำงานและอื่นๆ

กลุ่มต่างๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล คนงานและนายจ้าง ควรได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อ
ดำเนินงานในเรื่องความปลอดภัย สุขภาพอนามัย ควรตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สหภาพแรงงานและนายจ้างควรร่วมกันกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมและจัดลำดับความสำคัญ
ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน และในการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปของภาคธุรกิจ สหภาพแรงงานควรจัดทำนโยบายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทั้งสองฝ่ายควรมีความเห็นชอบร่วมกันมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุถึงสภาวะของความยั่งยืน

มีความจำเป็นที่จะให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่คนงานมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านความปลอดภัย
และสุขภาพในการทำงาน และในด้านทักษะเพื่อการมีอาชีพอย่างยืน

รัฐบาลและนายจ้างควรส่งเสริมสิทธิของคนงานในเรื่องเสรีภาพในการรวมกลุ่มและจัดตั้ง
สมาคม เพื่อให้คนงานมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเต็มที่


การประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุง
ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสีย คุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม

การจัดการสิ่งแวดล้อมควรได้รับความสำคัญลำดับสูงสุดเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับนำไป
สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ราคาของสินค้าและบริการควรแสดงให้เห็นมากยิ่งขึ้นถึงต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมในการผลิตการใช้ การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และในการกำจัดของเสีย

ผู้นำธุรกิจที่ทันสมัยบางคนได้ดำเนินการทางด้านการจัดการและการใช้ทรัพยากรในการผลิต
สินค้าโดยสนับสนุนการเปิดเผยและการเจรจากับลูกจ้างและกับสาธารณชน ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจเหล่านี้ยังได้ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยสมัครใจเพื่อให้กิจกรรมต่างๆ ของพวกเขามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์น้อยที่สุด

ในแต่ละปีภาคธุรกิจควรจัดทำรายงานในเรื่องการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการ
ใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และควรยอมรับเอาประมวลการปฏิบัติต่างๆ (codes of conduct) ทางด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เช่นของ Business Charter on sustainable Development of the International Chamber of Commerce และ Responsible Care Programme ของอุตสาหกรรมเคมี

รัฐบาลควรที่จะ
ใช้มาตรการจูงใจทางเศรษฐกิจ กฎหมาย มาตรฐาน และการบริหารที่คล่องตัวเพื่อสนับสนุน
การประกอบธุรกิจให้มีวิธีการผลิตที่สะอาดขึ้น

- สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

- ร่วมมือกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สถาบันวิชาการ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมทางด้านสิ่งแวดล้อมในการบริหารวิสาหกิจ

ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมควรที่จะ

- จัดทำนโยบายซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานและการผลิตสินค้าที่เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมน้อยลง

- ให้มีการจัดการที่มีคุณธรรมและรับผิดชอบในคุณภาพของสินค้าและในกระบวนการผลิต จากมุมมองทางด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

- นำเอาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมให้บริษัทเครือข่ายที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนานำไปใช้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

- สนับสนุนบริษัทเครือข่ายในต่างประเทศให้ปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น และให้มีการแบ่งปันข่าวสารกับรัฐบาลที่บริษัทเครือข่ายนั้นตั้งอยู่

- สร้างความเป็นหุ้นส่วน (partnership) เพื่อช่วยให้ผู้อยู่ในธุรกิจขนาดเล็กเรียนรู้ความชำนาญทางธุรกิจจากธุรกิจขนาดใหญ่กว่า

- จัดตั้งสภานักธุรกิจ (councils) ในระดับชาติในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในภาคธุรกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็ก เช่น งานช่างฝีมือ (artisans)

- เพิ่มพูนการวิจัยและพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และในเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรวมทั้งบรรษัทข้ามชาติและองค์การตัวแทนมีบทบาทสำคัญในการ
ช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายของ Agenda 21 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกๆ คน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายจนถึงสาธารณชนโดยทั่วๆ ไป ควรมีความ
เข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของมนุษย

การปรับปรุงการติดต่อสื่อสารให้ดีขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถเข้าถึง
ความรู้ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ เพื่อช่วยในการพัฒนากลยุทธ์สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การหารือกันเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีสามารถกำหนดลำดับ
ความสำคัญในการทำวิจัยและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากดดันต่างๆ ที่มีอยู่ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์และสาธารณชนควรจะมีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น เพื่อทำให้นโยบายต่างๆ สามารถตอบสนองความกังวลของสาธารณะอย่างได้ผลด

นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษในการค้นหาความรู้ และที่จะ
ช่วยคุ้มครองชีวาลัย (biosphere) กลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งรวมถึงวิศวกร สถาปนิก ผู้ออกแบบทางอุตสาหกรรม ผู้วางแผนเมือง และบุคคลในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ควรจัดทำประมวลการปฏิบัติ (codes of practice) และแนวทางต่างๆ ที่จะประสานความต้องการมนุษย์กับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ประมวลการปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขาเหล่านี้สามารถให้คุณค่า (value) การรวมตัว (integrity) ของระบบน้ำจุนสิ่งมีชีวิตของโลก หลักเกณฑ์ ประมวลการปฏิบัติและแนวทางต่างๆ ดังกล่าวนี้จะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมโดยทั่วไป เพื่อให้บังเกิดผลดีและได้รับความน่าเชื่อถือ

รัฐบาลควรที่จะ

- ตัดสินใจว่าแผนงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติจะช่วยทำให้การพัฒนาบังเกิดความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร

- ให้มีการแบ่งปันข้อมูลอย่างเต็มที่และเปิดเผยระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับนักบริหารหรือผู้ตัดสินใจและควรมีการจัดทำรายงานของประเทศ (national reports) ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจและเกี่ยวข้องกับความต้องการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของท้องถิ่น

การดำเนินงานอื่นๆ รวมถึง

- จัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาระดับชาติเพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์และสังคมในการสร้างค่านิยมร่วมกัน (common value) ในเรื่องจริยธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา

- นำเอาจริยธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเป็นลำดับความสำคัญในการศึกษาและวิจัย


การเกษตรครอบครองพื้นที่หนึ่งในสามของพื้นที่ดินของโลก และเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ
ประชากรส่วนใหญ่ คนพื้นเมือง ประชาชนในชนบท และครอบครัวเกษตรกรได้มีบทบาทในการจัดการ (stewards) ทรัพยากรส่วนใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ตาม การเกษตร รวมทั้งการประมงและป่าไม้ อาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากจน
เกินไปและขาดการจัดการที่ดินในพื้นที่เปราะบางและในบริเวณที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ในปัจจุบันได้มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับสภาวะความยั่งยืนในระบบการผลิตทางการเกษตร แม้ว่าปริมาณผลผลิตการเกษตรโดยรวมได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่ในบางประเทศผลผลิตที่เพิ่มขึ้นยังน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากร เกษตรกรยังได้รับผลกระทบจากภาระหนี้สินต่างประเทศและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนายังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและวิธีการในการผลิต

ในการพัฒนากลยุทธ์การเกษตรอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรร่วมมือกับศูนย์วิจัยในประเทศและ
ระหว่างประเทศต่างๆ และ NGOs ในการ

- พัฒนาเทคโนโลยีและวิธีการในการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยปรับปรุงผลผลิตพืชไร่ บำรุงรักษาคุณภาพของดิน นำสารอาหารในดินกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ อนุรักษ์น้ำและพลังงานควบคุมศัตรูพืชและวัชพืช

- ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีการแลกเปลี่ยนความชำนาญการในการอนุรักษ์ที่ดิน น้ำ และทรัพยากรป่าไม้ การใช้สารเคมีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดปริมาณของเสียจากไร่นา (farm wastes) หรือนำกลับมาใช้ใหม

- สนับสนุนการพึ่งพาตนเองสำหรับเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานหรือปัจจัยการผลิต (input) ในระดับต่ำ รวมทั้งการใช้วิธีการพื้นเมืองที่ได้ผลดีในการเกษตร

- สนับสนุนการวิจัยในเรื่องเครื่องมือการเกษตรที่ใช้แรงงานมนุษย์และพลังงานจากสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลควรมอบอำนาจและความรับผิดชอบให้ผู้ทำงานกับที่ดินมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้
เกษตรกรสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนรัฐบาลควรให้สิ่งจูงใจกับประชาชนมากยิ่งขึ้นในการดูแลที่ดิน โดยให้กรรมสิทธิ์การครอบครองได้รับเครดิตเงินกู้ เทคโนโลยี การฝึกอบรมและปัจจัยต่างๆ ทางการเกษตร

นักวิจัยจำเป็นต้องพัฒนาเทคนิคการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมสถาบันการศึกษาควร
เอาเรื่องนิวเวศวิทยาบรรจุไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมทางด้านการเกษตร

ราคาสินค้าควรสะท้อนค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงสร้างราคา
นโนบายการค้าและการพยุงราคาสินค้าการเกษตรควรส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ
การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร back วิธีการในการดำเนินงาน