ชั้นบรรยากาศของโลกได้ตกอยู่ภายใต้ความกดดันเพิ่มมากขึ้น
จากก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) ซึ่งคุกคามที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และจากสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซน สารมลพิษอื่นๆ รวมทั้งชนิดที่ก่อให้เกิดฝนกรดได้เดินทางระยะไกลผ่านสู่ชั้นบรรยากาศ
ทำความเสียหายแก่พื้นดินและน้ำ ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก สารซึ่งเป็นอันตรายเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน
การใช้พลังงานเป็นแหล่งที่มาสำคัญของการปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก)
สู่บรรยากาศ การใช้พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการปรับปรุงคุณภาพของชีวิต
อย่างไรก็ตาม การผลิตและการบริโภคพลังงานส่วนใหญ่ในโลกไม่สามารถกระทำได้อย่างยั่งยืนถ้าหากปริมาณการใช้
โดยทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การควบคุมการปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก) จึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการผลิตพลังงาน
การส่งผ่าน (transmission) การจัดสรร การบริโภคพลังงาน และในการสร้างระบบพลังงานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน มีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรพลังงานอย่างพอเพียงและยุติธรรม
เพื่อตอบสนองการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงความจำเป็นของประเทศที่ต้องการพึ่งพา
การส่งออกหรือการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuels)* ในระดับสูง หรือความจำเป็นที่ต้องการใช้พลังงานเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรม
ซึ่งบางประเทศไม่สามารถหาทางเลือกเพื่อการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้โดยง่าย
รัฐบาลจำเป็นต้อง
- พัฒนาวิธีการที่แน่นอนมากยิ่งขึ้นในการคาดการณ์ระดับของสารมลพิษในชั้นบรรยากาศและการสะสมของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
- ปรับปรุงระบบพลังงานที่เป็นอยู่ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมีการพัฒนาแหล่งพลังงานคืนรูปและพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม
น้ำ มวลชีวภาพ พลังงานความร้อนใต้ดิน มหาสมุทร พลังงานจากมนุษย์และจากสัตว์
- ช่วยให้ประชาชนเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาและการใช้รูปแบบของพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแต่เกิดมลพิษน้อยลง
- ประสานแผนพลังงานในระดับภูมิภาคเพื่อให้การผลิตและการจัดสรรรูปแบบของพลังงานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- สนับสนุนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางในการตัดสินใจอื่นๆ ที่จะผสมผสานเรื่องของพลังงาน สิ่งแวดล้อมและนโยบายเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกันในลักษณะที่ยั่งยืน
- ให้มีแผนงานการติดฉลากสินค้าเพื่อแจ้งประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้ผู้บริโภคได้ทราบ
- การขนส่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ความจำเป็นในด้านนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาการปล่อยมลพิษสู่อากาศ
รัฐบาลควรที่จะ
- สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดมาตรฐานการปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก) ในระดับชาติ และให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงระบบพลังงานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
- พัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะทั้งในเมืองและชนบทที่ให้ความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุน (cost-effective) แต่สร้างมลพิษน้อยลง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายถนนที่เหมาะสมกับสภาพที่เหมาะสมกับสภาพของสิ่งแวดล้อมด้วย
- สนับสนุนรูปแบบการขนส่งที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
- วางแผนการตั้งถิ่นฐานทั้งในเมืองและในภูมิภาค ในลักษณะที่จะลดผลกระทบของการขนส่งที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลควรที่จะ
- ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการบริหารเพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สะอาด ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังประเทศกำลังพัฒนา
- ใช้การประเมิณผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะที่ยั่งยืน
- การใช้ประโยชน์จากพื้นดินและทะเลในบางลักษณะนำไปสู่การลดจำนวนพืชซึ่งจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได-ออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ รัฐบาลควรสนับสนุนการจัดการอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติที่รองรับ (sinks) และกักเก็บ (reservoirs) ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งบริเวณที่เป็นป่าไม้และระบบนิเวศของน้ำเค็ม
- โอโซนประโยชน์จากชั้นสตาโตสเฟียร์ (stratosphere) กำลังลดระดับลงเรื่อยๆ เนื่องจากการปล่อยสาร CFCs ฮาลอน (halons) และสารอื่นๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของคลอรีน (chlorine) และโบรมีน (bromine) ขึ้นสู่อากาศ รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีและปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศที่ลดการใช้สารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และให้มีการพัฒนาสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่าและนำไปใช้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
รัฐบาลควรพิจารณามาตรการที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชน การเกษตร และสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยอาศัยพื้นฐานการวิจัยในเรื่องผลกระทบจากการที่รังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ส่องมายังพื้นผิวโลกเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลควรจัดทำหรือสนับสนุนความตกลงในภูมิภาค เช่น อนุสัญญาการข้ามเขตพรมแดนระยะไกลของมลพิษทางอากาศ ปี พ.ศ. 2522 (2522 Convention on Long-Range Transboundary Air Pollution) เพื่อลดจำนวนสารมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ป่าไม้ และทำให้เกิดกรดในทะเลสาบและแม่น้ำ ประเทศต่างๆ ควรมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการแก้ไขมลพิษทางอากาศจากอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม ภัยพิบัติธรรมชาติและจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
|
 |
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์ในการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นดิน ทำให้เกิดการแข่งขันและความขัดแย้ง ถ้าหากจะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในลักษณะที่ยั่งยืนแล้ว เราจำเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งเหล่านี้ และหาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นดินในลักษณะที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็คือเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์ยั่งยืนสูงสุด วิถีทางที่จะทำให้ความขัดแย้งน้อยลง และมีทางเลือกที่เหมาะสมมากที่สุดในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ก็คือการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเข้ากับการคุ้มครองและส่งเสริมความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องดำเนินการในเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองในเรื่องสิทธิทรัพย์สินส่วนตัว สิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในการครอบครองที่ดินด้วย
ในกรณีมีทางเลือกในการใช้ที่ดิน ควรสนับสนุนรูปแบบดั้งเดิมของการจัดการที่ดินที่ยั่งยืน และให้การคุ้มครองที่ดินเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
รัฐบาลควรพิจารณาในด้านต่างๆ รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ประชากรและสังคม และให้มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการจูงใจทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการใช้และการจัดการทรัพยากรที่ดินในลักษณะที่ยั่งยืน รัฐบาลควรจะ
จัดทำแนวนโยบายในการใช้ที่ดินโดยพิจารณาถึงฐานทรัพยากรที่ดิน การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรและผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น
ปรับปรุงและบังคมใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ควบคุมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เกิดผลผลิตในการเพาะปลูกเพื่อไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ
ใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การวางแผนสิ่งแวดล้อมของภูมิประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการคุ้มครองระบบนิเวศหรือแหล่งต้นน้ำลำธาร และสนับสนุนการมีอาชีพที่ยั่งยืน
นำเอาวิธีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบพื้นเมืองและดั้งเดิมที่เหมาะสม การสงวนรักษาที่ดินแบบดั้งเดิมและการเพาะปลูกแบบขั้นบันไดไปใช้ในการจัดการที่ดิน
สนับสนุนให้กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน และมักจะถูกกีดกันออกไป เช่น กลุ่มสตรี คนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแข็งขัน
ทดลองนำเอาค่า (value) ของที่ดิน และระบบนิเวศไปรวมไว้ในรายงานการประเมินผลทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP)
ให้สถาบันต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ประสานเรื่องของสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมรวมเข้าไว้ในการวางแผนการใช้ที่ดิน
จัดทำนโยบายเพื่อการจัดการที่ดินแบบยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการวางแผนการใช้ที่ดินเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้นภายในปี พ.ศ. 2539
ปรับปรุงวิธีประสานการวางแผนที่ดินภายในปี พ.ศ. 2541
จัดระบบการจัดการและวางแผนการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพภายในปี พ.ศ. 2543
|
 |
ป่าไม้เป็นแหล่งที่มาของไม้ ไม้ฟืน และผลผลิตอื่นๆ และยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์น้ำและดินรักษาชั้นบรรยากาศของโลก และบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์
ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่คืนรูปและหากสามารถจัดการป่าไม้ให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แล้วสามารถนำไปผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ที่ช่วยในการพัฒนาได้
ปัจจุบันป่าไม้ในส่วนต่างๆ ของโลกกำลังถูกคุกคามจากการเกิดความเสื่อมโทรม และจากการนำพื้นที่ป่าไม้ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ขาดการควบคุม เนื่องจากสภาวะกดดันจากมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ได้มีการแปรสภาพพื้นที่ป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกและในการเลี้ยงสัตว์ที่มากเกินพอดี (overgrazing) มีการตัดไม้ในลักษณะที่ไม่ยั่งยืน ขาดการควบคุมไฟป่าที่เหมาะสมและความเสียหายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ความเสียหายและการสูญเสียของป่าไม้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ดินถูกกัดเซาะและพังทลาย (soil erosion) ลดความหลากหลายทางชีวภาพ และถิ่นพำนักอาศัยของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ทำลายแห่งต้นน้ำลำธาร และลดจำนวนไม้ฟืน ไม้และผลผลิตอื่นๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อการพัฒนา รวมทั้งการสูญเสียจำนวนต้นไม้ที่สามารถจะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศอีกด้วย
การอยู่รอดของป่าไม้จึงขึ้นอยู่กับการยอมรับและการให้ความคุ้มครองคุณค่า (value) ของป่าไม้ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทางด้านการควบคุมสภาพภูมิอากาศ และคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ผลประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ควรถูกนำไปรวมไว้ในระบบบัญชีทางเศรษฐกิจชองชาติ เพื่อใช้เป็นข้อตัดสินใจสำหรับทางเลือกเพื่อการพัฒนาต่างๆ
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต้องอนุรักษ์และปลูกป่าเพื่อที่จะรักษาหรือรื้อฟื้นความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ รัฐบาลต้องดำเนินงานร่วมกับภาคธุรกิจ องค์กรเอกชน (NGOs) นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี (Technologists) ชุมชนท้องถิ่น คนพื้นเมือง รัฐบาลท้องถิ่นและสาธารณชน ในการกำหนดนโยบายการจัดการและการอนุรักษ์ป่าไม้ในระยะยาวเพื่อรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารและป่าไม้ในแต่ละภูมิภาค
การจัดการป่าไม้ให้ดียิ่งขึ้นจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลในเรื่องสภาวการณ์ของป่าไม้เพิ่มมากขึ้น ในหลายๆ กรณี ผู้วางแผนขาดแคลนแม้แต่ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ในเรื่องขนาดและชนิดของป่าไม้ และจำนวนไม้ที่เก็บเกี่ยวจากป่า
รัฐบาลควรจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานในด้านต่างๆ ตั้งแต่การใช้ภาพถ่ายดาวเทียม การใช้เครื่องมือตัดไม้ที่ทันสมัย จนถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากต้นไม้และผลผลิตของป่าไม้อื่นๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชน องค์การที่มิใช่รัฐบาลและกลุ่มต่างๆ สามารถ
- ปลูกป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดสภาวะกดดันที่มีต่อการใช้ป่าไม้ที่มีมาดั้งเดิมหรือที่มีต้นไม้เก่าแก่ ปลูกพืชไร่ (crops) ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแทรกระหว่างต้นไม้ เพื่อเพิ่มคุณค่าของป่าไม้ที่ได้รับการจัดการให้มากยิ่งขึ้น
- เพาะเลี้ยงพันธุ์ไม้ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตและมีความต้านทานความกดดันจากสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
- ปกป้องป่าไม้จากไฟป่า ตัวแมลงที่กัดกินต้นไม้ การลักลอบตัดไม้ และทำเหมืองแร่ การลดสารมลพิษซึ่งมีผลกระทบต่อป่าไม้ รวมทั้งมลพิษทางอากาศซึ่งผ่านข้ามพรมแดนของประเทศ
- จำกัดและยุติการทำไร่เลื่อนลอย โดยแก้ไขสาเหตุพื้นฐานทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ใช้วิธีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่เกิดมลพิษน้อยลง และขยายอุตสาหกรรมแปรรูปซึ่งใช้ไม้และผลผลิตอื่นๆ จากป่าไม้
- ลดความสูญเสียจากการใช้ไม้ (wood waste) ให้น้อยที่สุด และพยายามนำพันธุ์ไม้ที่ถูกละเลยมาใช้ประโยชน์
- สนับสนุนการประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาชนบท และการประกอบธุรกิจของท้องถิ่น
- เพิ่มปริมาณของมูลค่าเพิ่ม (value-added) จากการแปรรูปในระดับรอง (Secondary processing) ของผลผลิตป่าไม้ เพื่อให้มีการจ้างงานและมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวป่าไม้ในแต่ละครั้งเพิ่มมากขึ้น
- สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในเขตเมือง เพื่อช่วยทำให้พื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ชุ่มชื่นร่มเย็น
- สนับสนุนการใช้ประโยชน์ผลผลิตอื่นๆ จากป่าไม้ เช่น สมุนไพร สีย้อมผ้า เส้นใย ยางไม้ ยางสน หญ้าฟาง หวาย ไม้ไผ่ และสนับสนุนประดิษฐ์กรรมท้องถิ่น
- สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ เช่น การท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (eco-tourism) การจัดหาสารพันธุกรรม (genetic materials) เช่นเพื่อใช้ทำเวชภัณฑ์
- ลดความเสียหายที่จะเกิดกับป่าไม้ โดยสนับสนุนให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนในบริเวณพื้นที่ใกล้กับต้นไม้
เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากป่าไม้เพิ่มขึ้น บางประเทศจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการใช้อัตราการค้า (terms of trade)* ที่เป็นธรรม โดยไม่มีการตั้งข้อจำกัดทางการค้าแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือห้ามการค้าผลผลิตจากป่าไม้
นอกจากสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่ยั่งยืนแล้ว ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องจัดตั้งหรือขยายบริเวณพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครอง (protected areas) ออกไป เพื่อรักษาป่าไม้บางชนิดเอาไว้ อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ และถิ่นพำนักอาศัยของสัตว์ป่า บางครั้งมีการคุ้มครองป่าไม้เพื่อคุณค่าทางสังคมและจิตใจ รวมทั้งการเป็นถิ่นอาศัยแบบดั้งเดิมของชนพื้นเมืองผู้อาศัยอยู่ในป่าและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ
|
 |
การแปรสภาพเป็นทะเลทรายเป็นกระบวนการที่พื้นดินเสื่อมโทรมลง อันเป็นผลมาจากการผันแปรในสภาพภูมิอากาศและจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีผลกระทบเป็นการเฉพาะต่อพื้นที่แห้งแล้งซึ่งสภาพทางนิเวศที่เปราะบางอยู่แล้ว
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดจากการแปรสภาพเป็นทะเลทรายก็คือ การเสื่อมโทรมของทุ่งหญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์และการผลิตการอาหารที่ลดลง เกิดความยากจนและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ประมาณว่า ประชากรประมาณ 3 ล้านคนได้เสียชีวิตลงในช่วงกลางทศวรรษ พ.ศ. 2523 เนื่องจากความแห้งแล้งในบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (sub-Sahara) ในแอฟริกา
ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ประมาณ 70% ของพื้นที่แห้งแล้งของโลก -3.6 พันล้านเฮกแตร์ - ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้แล้ว พื้นที่ดังกล่าวมีประมาณครึ่งหนึ่งในสี่ของพื้นที่ดินของโลก หรือมากกว่า 3 เท่าของทวีปยุโรป ความเสื่อมโทรมดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดดินเค็มเนื่องจากขาดการระบายน้ำที่ดี ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกชลประทานในบริเวณที่กว้างขวาง
ในการหยุดยังมิให้พื้นที่แห้งแล้งขยายต้องออกไป การใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพาะปลูกและใช้เลี้ยงสัตว์ จะต้องปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับในทางสังคม และมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ
แนวทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การปลูกต้นไม้และพรรณพืชชนิดต่างๆ ที่ช่วยในการดูดน้ำและบำรุงรักษาคุณภาพาของดิน และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสำหรับใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เป็นเชื้อเพลิง ไม้ หญ้าแห้ง และอาหารอีกด้วย
ในการแก้ไขการแปรสภาพเป็นทะเลทราย รัฐบาลควรที่จะ
นำเอาแผนการใช้ที่ดินระดับชาติและการจัดการทรัพยากรน้ำในลักษณะที่ยั่งยืนมาใช้
เร่งรัดโครงการปลูกต้นไม้โดยใช้พืชโตเร็ว หรือต้นไม้ท้องถิ่นที่ต้านทานความแห้งแล้งและพืชชนิดอื่นๆ
ลดความต้องการในการใช้ไม้เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง โดยดำเนินโครงการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาพลังงานทดแทน
ในพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและเกิดความแห้งแล้ง วิธีการเพาะปลูกพืชและการใช้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในแบบดั้งเดิม มักจะไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จำนวนประชากรได้เพิ่มมากขึ้น ประชาชนในชนบทควรได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้น้ำ วนเกษตร (agro forestry) และการชลประทานขนาดเล็ก โครงการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายในระดับชาติเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในเรื่องการดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ความยากจนเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งรัดอัตราการเสื่อมโทรมและการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ในการลดความกดดันต่อการใช้พื้นที่เปราะบาง มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรมไปแล้ว และให้ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นๆ ควรมีการจัดระบบธนาคารและเงินกู้ในชนบท เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นได้
นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งระบบการแก้ไขความแห้งแล้งในลักษณะฉุกเฉินระหว่างประเทศ โดยมีการเตรียมการทางด้านอาหาร การรักษาพยาบาล ที่พักอาศัย การขนส่งและการเงินให้พร้อมเพรียง
มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมโครงการในบางลักษณะ เช่น Earthwatch และ Sahara and Sahel Observatory และเครือข่ายระดับชาติและระดับภูมิภาคในกาติดตามและตรวจสอบสภาวะน้ำและอากาศ ข้อมูลที่ได้รับจะช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดทำแผนการใช้ที่ดินและจัดให้มีการเตือนภัยล่วงหน้าในเรื่องที่จะเกิดความแห้งแล้งเพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที
การจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537
|
 |
ในปัจจุบันมีคนเป็นจำนวนมากกำลังประสบความหิวโหย โดยที่ความสามารถในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลกทางด้านอาหารและผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ยังมีความไม่แน่นอนในระยะยาว
ประชากรโลกในปี พ.ศ. 2536มีจำนวน 5.5 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 8.5 พันล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2568 เมื่อถึงเวลานั้นจะมีประชากรโลกประมาณ 83% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโลกประการหนึ่งก็คือ การเพิ่มการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลผลิตอาหารจากพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ได้ลดลง ในขณะที่ความต้องการอาหาร เส้นใยจากพืช (fibre) และเชื้อเพลิงกำลังเพิ่มมากขึ้น ปัญหาต่างๆ เช่น การกัดเซาะและพังทลายของดิน การเกิดปัญหาดินเค็ม น้ำท่วมขัง (waterlogging) และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินกำลังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ ประเทศ นอกจากนี้ รังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ที่แผดกล้ามากยิ่งขึ้นอันหนึ่งอันเนื่องมาจากการสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก จะทำให้การผลิตอาหารลดลงด้วย
การเกษตรจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นโดยวิธีการหลักคือ การเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ผลิตอาหารที่ดีที่สุดของโลกส่วนใหญ่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แล้ว ในขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นดินที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
แม้ว่าเทคนิคในการเพิ่มผลผลิตและการลดความสูญเสียอาหารที่เกิดจากการเน่าเปื่อยหรือจากโรคระบาด แมลง รวมทั้งเทคนิคในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำจะมีอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบหรืออย่างกว้างขวาง ภายในสิ้นสุดศตวรรษนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรมีนโยบายทางด้านอาหารที่เหมาะสมบนพื้นฐานจากการตระหนักถึงผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมของทางเลือกนโยบายต่างๆ
นโยบายการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนควรสนับสนุนให้มีการวางแผนในระดับกว้างอย่างเพียงพอที่จะรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของภูมิภาคเอาไว้ได้ เช่น การรักษาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นต้น ควรสนับสนุนให้ประชาชนลงทุนในที่ดินเพื่ออนาคต โดยให้กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของ การเข้าถึงทรัพยากร เงินทุน และวิธีการที่จะขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม
ประชาชนจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและฝึกอบรมในการใช้เทคโนโลยี และในเรื่องระบบเพาะปลูกที่ช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในขณะที่เพิ่มผลผลิต เทคนิคดังกล่าวเช่น การอนุรักษ์พื้นที่เพาะปลูก การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้สารอาหารพืช (plant nutrients) (เช่น ปุ๋ยอินทรีย์) วนเกษตร การปลูกพืชแบบผสมผสานและการเพาะปลูกแบบขั้นบันได ควรใช้เทคนิคการอนุรักษ์ทั้งในแบบสมัยใหม่และดั้งเดิมร่วมกัน
พลังงานที่จะถูกนำไปใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารควรเป็นการผสมผสานกันอย่างคุ้มทุนระหว่างเชื้อเพลิงฟอสซิลกับพลังงานคืนรูปอื่นๆ รวมทั้งเชื้อเพลิงไม้และพืชต่างๆ
นอกจากนี้ การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ความหลากหลายของทรัพยากรพันธุกรรมพืชและสัตว์ของโลกยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มจำนวนชนิดและปริมาณผลผลิตอาหาร และช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของสัตว์ที่ใช้ลากจูงในปัจจุบันได้เกิดการสูญเสียชนิดพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่หาค่ามิได้อย่างต่อเนื่อง และการดำเนินงานที่จะสนับสนุนความหลากหลายทางพันธุกรรมต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนทางการเงินและบุคลากร ผลประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาในการเพาะพันธุ์พืชและการผลิตเมล็ดพืช ควรได้รับการแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างแหล่งที่มา (sources) และผู้ใช้ประโยชน์
การสูญเสียอาหารจากการทำลายของศัตรูพืช (Pests) มีปริมาณ 25% ของปริมาณการเก็บเกี่ยวทั้งหมด การใช้สารเคมีเพื่อควบคุมศัตรูพืชได้กระทำกันอย่างแพร่หลาย แต่การใช้มากเกินพอดีนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายสูงแล้วยังทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การจัดการศัตรูพืชในลักษณะผสมผสาน คือรวมเอาวิธีการควบคุมทางชีวภาพ การปลูกพืชนิดที่ต้านทานโรคกับวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อลดการใช้ยาฆ่าแมลง วิธีการผสมผสานดังกล่าวนี้จะให้หลักประกันในการผลิตอาหาร ลดภาวะค่าใช้จ่าย และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงด้วย
ในการป้องกันมิให้ชาวชนบทเข้าไปใช้พื้นดินในบริเวณที่ลาดเชิงเขา ควรส่งเสริมอาชีพอื่นๆ เพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมในครัวเรือน การใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า การประมง อุตสาหกรรมขนาดเบาในหมู่บ้านและส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น
|
 |
สินค้าและบริการที่จำเป็นในโลกนี้ขึ้นอยู่กับความหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงของจีน (genes) หรือหน่วยพันธุกรรม ชนิดพันธ์ (species) ประชากร และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต
ทรัพยากรทางชีวภาพเป็นที่มาของอาหารและเสื้อผ้า ที่พักอาศัย เวชภัณฑ์ และการหล่อเลี้ยงทางด้านจิตใจของมนุษย์ ทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ สามารถพบเห็นได้ในระบบนิเวศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทะเลทราย ที่ราบทุนดรา (tundras) แม่น้ำ ทะเลสาบและทะเล พื้นที่เพาะปลูก สวน แหล่งเก็บรักษาพันธุกรรม สวนพฤกษศาสตร์ และส่วนสัตว์
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของโลกยังคงมีอยู่ต่อไป ส่วนใหญ่เกิดจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย (habitat) การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มากเกินไป (over-harvesting) มลพิษ และการนำเข้าพืชและสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นอย่างไม่เหมาะสม การสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใญ่เกิดจากมนุษย์และภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาของเรา
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินงานที่เด็ดขาดและเร่งด่วน เพื่อที่จะอนุรักษ์และบำรุงรักษาหน่วยพันธุกรรม ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ได้แสดงให้เห็นว่าสารพันธุกรรม (genetic material) ในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ (micro-organism) มีศักยภาพเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร สุขภาพและสวัสดิการของประชาชน และในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลโดยความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชน (NGOs) ธุรกิจเอกชน และสถาบันการเงิน ควรที่จะ
ทำการประเมินสถานะความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
จัดทำกลยุทธ์ของประเทศในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และรวมเข้าไว้ในส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของการพัฒนาประเทศโดยรวม
ทำการวิจัยในระยะยาวเกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อระบบนิเวศทั้งในแง่เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
สนับสนุนวิธีการแบบดั้งเดิมในการเกษตร วนเกษตร (agroforestry) ป่าไม้ ปศุสัตว์ และการจัดการสัตว์ป่า ซึ่งสามารถใช้บำรุงรักษา หรือเพิ่มพุนความหลากหลายทางชีวภาพ นำเอาชุมชนรวมทั้งสตรีเข้ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และจัดการระบบนิเวศ
ดำเนินการให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและชีวภาพอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันระหว่างแหล่งที่มาและผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรดังกล่าว คนพื้นเมืองและชุมชนซึ่งเป็นที่มาของทรัพยากรดังกล่าวควรจะได้รับแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าด้วย
ให้การคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (natural habitats) การคุ้มครองจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากส่งเสริมให้มีการพัฒนาในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ บริเวณดังกล่าว
สนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย การเพิ่มจำนวนประชาชนของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ ที่ได้รับการคุมคามหรือที่ใกล้จะสูญพันธุ์
พัฒนาการให้เทคโนโลยีชีวภาพในลักษณะที่ยั่งยืน และวิธีการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา
รัฐบาล ภาคธุรกิจ และหน่วยงานพัฒนาจำเป็นต้องเรียนรู้และสามารถที่จะประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนาที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ดียิ่งขึ้น และในเรื่องการคิดคำนวณหาค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไป โครงการที่จะเกิดผลกระทบอย่างสำคัญควรจะได้รับการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
|
 |
เทคโนโลยีชีวภาพใช้ความรู้ดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมในพืชสัตว์และจุลชีพ (microbes) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และสร้างผลผลิตใหม่ๆ
เทคโนโลยีชีวภาพยังเป็นประโยชน์ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัยไห้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพูนผลผลิตอาหาร ทำให้การปลูกป่าทดแทนได้ผลดียิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการอุตสาหกรรม การกำจัดของเสียที่ปนเปื้อนในน้ำและในการบำบัดของเสียที่เป็นอันตราย (hazardous wastes)
การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพได้สร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับความร่วมมือระดับโลก ระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและมีความชำนาญการ กับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีทรัพยากรทางชีวภาพอยู่มาก แต่ไม่มีเงินทุนและความชำนาญการที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าว
รัฐบาลโดยความร่วมมือขององค์การระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน (NGOs) ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิทยาศาสตร์ ควรจะปรับปรุงการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ ชนพื้นเมืองมีส่วนเป็นอย่างมากในการสนับสนุนและควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ควรให้การดูแลเพื่อมิให้เทคนิคใหม่ๆ เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้ควรให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องผลประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ควรมีการจัดตั้งหลักการสากลในเรื่องการประเมินความเสี่ยงและการจัดการเทคโนโลยีชีวภาพในทุกๆ ด้าน
เทคโนโลยีชีวภาพควรได้รับการพัฒนาเพื่อ
ปรับปรุงผลผลิต คุณภาพทางโภชนาการ และเพิ่มระยะเวลาในการใช้งานของอาหารและอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์
พัฒนาวัคซีนและเทคนิคต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของเชื้อโรคและสารพิษต่างๆ (toxins)
ทำให้พืชผลมีความต้านทานโรคและศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าแมลงลง
พัฒนาวิธีการที่ปลอดภัยและได้ผลดีในการใช้การควบคุมทางชีวภาพ (biological control) เพื่อกำจัดแมลงที่เป็นพาหนะของโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงที่ทนต่อยาฆ่าแมลง
เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำให้พืชใช้สารอาหารในดิน (nutrients) เพื่อลดปริมาณการชะล้างสารอาหารออกไปจากดินจากการเพาะปลูก
จัดหาแหล่งพลังงานที่คืนรูปและวัตถุดิน จากของเสียอินทรีย์ (organic waste) และวัสดุจากพืช
บำบัดน้ำโสโครก ของเสียอินทรีย์เคมี และน้ำมันรั่ว (oil spills) โดยใช้วิธีประหยัดและได้ผลดีมากกว่าวิธีการที่เคยกระทำกันมา
พัฒนาพืชผลที่ยังไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในปัจจุบัน มาใช้เป็นอาหารและเพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรม
พัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตของพันธุ์พืชโตเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เป็นไม้ฟืน
การนำแร่ธาตุต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ควรเป็นไปในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ความสำเร็จของแผนงานเทคโนโลยีทางชีวภาพขึ้นอยู่กับความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี มีความจำเป็นที่จะลดสภาวะ "สมองไหล" (brain drain) ในประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดโครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการในระดับชาติและในภูมิภาค แผนงานดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในประเทศต่างๆ
|
|
มหาสมุทรของโลก รวมทั้งทะเลปิดและกึ่งปิด เป็นส่วนสำคัญของระบบการค้ำจุนสิ่งมีชีวิตของธรรมชาติมหาสมุทรครอบคลุมพื้นผิวส่วนใหญ่ของโลก มีอิทธิพลต่อสภาวะอากาศและชั้นบรรยากาศของโลก รวมทั้งเป็นแหล่งที่มาของอาหารและทรัพยากรอื่นๆ สำหรับประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น
กฎหมายทะเล (The Law of the Sea) ได้วางพื้นฐานระหว่างประเทศในการคุ้มครองและใช้ประโยชน์ทะเลอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มหาสมุทรได้ตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเกิดมลพิษ การจับปลาในปริมาณที่มากเกินขนาด (over-fishing) การเสื่อมโทรมของชายฝั่งทะเลและปะการัง
ประมาณ 70% ของมลพิษทางทะเลเกิดจากแหล่งที่มาบนบกรวมทั้งจากเมืองต่างๆ จากอตุสาหกรรมการก่อสร้าง การเกษตร ป่าไม้ และการท่องเที่ยว
สิ่งปนเปื้อนที่เป็นมหันตภัยคุกคามสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากที่สุดคือ น้ำเสีย สารเคมี ตะกอน (sediments) ขยะและพลาสติก โลหะ กากกัมมันตรังสี และน้ำมัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้บางอย่างเป็นพิษแตกสลายอย่างเชื่องช้าและสะสมอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตในทะเล ปัจจุบันยังไม่มีแผนงานระดับโลกที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากแหล่งที่มาบนบก
มลพิษยังเกิดจากการเดินเรือและการทิ้งของเสียลงทะเล น้ำมันประมาณ 600,000 ตันได้ไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปี อันเนื่องมาจากการเดินเรือ อุบัติเหตุ และการทิ้งลงทะเลโดยผิดกฎหมาย
ประเทศต่างๆ ได้สร้างพันธะในการควบคุมและแก้ไขความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อที่จะรักษาและปรับปรุงสมรรถนะในการผลิตและในการค้ำจุนสิ่งมีชีวิตในทะเล ในการนี้จึงจำเป็นต้อง
- คาดการณ์และป้องกันมิให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมลงไปอีก ตลอดจนลดความเสี่ยงจากความเสียหายอันมิอาจแก้ไขได้หรือความเสียหายในระยะยาวที่จะเกิดต่อมหาสมุทร
- มีการประเมินผลล่วงหน้าในกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดผลกระทบอันตรายต่อทะเล
- นำเอาการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมโดยทั่วไป
- นำเอาหลักการในเรื่อง มาใช้ และใช้มาตรการจูงใจทางเศรษฐกิจที่จะช่วยลดมลพิษทางทะเล
- ปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตของผู้อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถช่วยคุ้มครองชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทางทะเลได
ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องสร้างและบำรุงรักษาระบบการบำบัดน้ำโสโครก และหลีกเลี่ยงการปล่อยน้ำโสโครกใกล้กับแหล่งการประมง แหล่งรับน้ำ และบริเวณที่อาบน้ำ ควรมีวิธีการควบคุมและบำบัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม
ประเทศต่างๆ ควรเปลี่ยนแปลงวิธีการในการจัดการของเสียและน้ำโสโครก วิธีการในการเกษตร การทำเหมืองแร่ การก่อสร้าง การขนส่ง เพื่อควบคุมการไหลของสารมลพิษจากแหล่งแพร่กระจายลงสู่ทะเล
ประเทศต่างๆ ควรจะพิจารณาในเรื่อง
- การลดหรือกำจัดการปล่อยสารเคมีสังเคราะห์ลงสู่ทะเล ซึ่งจะเกิดการสะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตในทะเล จนถึงระดับที่เป็นอันตราย
- การควบคุมและลดปริมาณการปล่อยของเสียที่เป็นพิษ และจัดตั้งระบบการกำจัดของเสียที่ปลอดภัยบนบก เพื่อมิให้ทิ้งลงไปในทะเล
- เข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงภัยที่จะเกิดอุบัติเหตุและลดการเกิดมลพิษจากเรือขนส่งสินค้า
- ควบคุมการทิ้งสารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งคุมคามจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเร่งรัดการเติบโตของพืชในทะเลจนมากเกินไป
- หาวิธีการในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อที่จะลดปริมาณการไหลของหน้าดินและของเสียต่างๆ ลงสู่แม่น้ำและออกไปสู่ทะเล
- ใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยประเภทที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ควรห้ามการใช้ชนิดที่ไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และหาวิธีการอื่นๆ ที่ปลอดภัยในการควบคุมศัตรูพืช
- ยุติการทิ้งของเสียลงทะเล (ocean dumping) และการทิ้งเถ้าจากการเผาไหม้ของของเสียที่เป็นอันตรายในทะเล ควรมีการจัดเก็บคราบน้ำมัน ของเสียที่เป็นสารเคมี และขยะบริเวณท่าเรือและอ่าวที่ใช้ทำการประมงควรมีการควบคุมมลพิษที่เกิดจากเรือ โดยบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ส่วนต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น ปะการัง ป่าชายเลน *และบริเวณปากแม่น้ำ (estuaries) เป็นระบบนิเวศที่เกิดผลผลิตและมีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะช่วยในการคุ้มครองริมฝั่งทะเล และมีส่วนสนับสนุนในการผลิตอาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศดังกล่าวในหลายๆ ส่วนของโลกได้ตกอยู่ภายใต้ความกดดันและถูกคุกคาม ดังนั้นประเทศต่างๆ จำเป็นต้องคุ้มครองระบบนิเวศเหล่านี้โดยวิธีการต่างๆ เช่น การควบคุมและการป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง การตกตะกอนของโคลนตมอันเนื่องมาจากการใช้ที่ดิน เช่น ในการก่อสร้าง เป็นต้น
การประมงทางทะเลให้ผลผลิตปริมาณปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ประมาณ 80-90 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 95% ของผลผลิตดังกล่าวได้มาจากทะเลในเขตอำนาจรัฐ ปริมาณการจับปลาได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา
ปัญหาที่เกิดจากการจับปลาในปริมาณมากเกินขวด (over-fishing) การรุกล้ำน่านน้ำโดยกองเรือประมงต่างชาติ การเสื่อมโทรของระบบนิเวศ และการใช้เครื่องมือจับปลาไม่เหมาะสมได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับสภาวะของมวลสัตว์น้ำ (fish stocks) ยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีไม่มากพอที่จะป้องกันมิให้มีการจับปลาในเขตทะเลหลวง (high seas)** ในปริมาณที่มากเกินขนาด ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์และการอนุรักษ์มวลสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายถิ่นอยู่เสมอและที่เคลื่อนย้ายข้ามเขตแดนเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าสู่ทะเลหลวง
ประเทศต่างๆ ได้สร้างพันธะในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งปลาและสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล (marine mammals) เข่น ปลาวาฬ ปลาโลมา แมวน้ำ เป็นต้น
ประเทศต่างๆ ควรที่จะ
- กำหนดนโยบายการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาถึงความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและคนพื้นเมืองไว้ด้วย
- พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) ให้มีมากยิ่งขึ้น โดยการเลี้ยงปลาในกระชังในทะเล
- เจรจาให้มีความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการจัดการและการอนุรักษ์ปลา
- ควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎข้อบังคับทางด้านการประมงให้เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น
- ลดความสูญเสียที่เกิดจากขั้นตอนในการจับปลา การดำเนินการและกรรมวิธีในการักษาปลาไม่ให้เน่าเสียง่าย พยายามจะไม่จับชนิดพันธุ์ปลาที่ไม่นำมาใช้ประโยชน
- ประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมในวิธีการจับปลาแบบใหม่ ๆ และใช้เทคโนโลยีการจับปลาที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
- ห้ามการใช้ระเบิด ยาพิษ หรือการจับปลาในลักษณะอื่นๆ ที่มีผลในการทำลายล้างอย่างเดียวกัน
- ให้การคุ้มครองพื้นที่บางแห่ง เช่น แนวปะการัง บริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) บริเวณหญ้าทะเล เขตปลาวางไข่และบริเวณเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของปลาต่างๆ
- ป้องกันและยับยั้งมิให้เรือเปลี่ยนสัญญาณธงในทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการอนุรักษ์การประมง
- ควบคุมการประมงที่ใช้อวนลอยขนาดใหญ่ (large-scale drift-net) ในทะเลหลวง
อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขยายตัวของน้ำทะเล และการละลายของธารน้ำแข็งและน้ำแข็งในบริเวณส่วนต่างๆ ของโลก ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็อาจจะเกิดความเสียหายแก่หมู่เกาะเล็กๆ และบริเวณชายฝั่งทะเลที่อยู่ระดับต่ำได้ ดังนั้นควรดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงภัยและผลกระทบที่จะเกิดกับบริเวณดังกล่าว เนื่องจากประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในรัศมี 60 กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเล และจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 ใน 4 ภายในปี พ.ศ. 2563
ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ มีความล่อแหลมเป็นพิเศษต่อการเกิดน้ำท่วม หรือบางเกาะอาจจะจมลงเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัจจุบันหมู่เกาะในเขตศูนย์สูตรส่วนใหญ่กำลังประสบกับภัยอันตรายเฉพาะหน้าจากความถี่ของการเกิดพายุโซนร้อน (cyclones) พายุและเฮอริเคน (hurricanes) อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือในการจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขหรือรองรับกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
หมู่เกาะในเขตศูนย์สูตรเป็นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะหลายชนิดและยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งความรู้ในเรื่องการจัดการจัดทรัพยากรของหมู่เกาะอย่างเหมาะสม แต่ทางเลือกของการพัฒนาถูกจำกัดโดยพื้นที่ของเกาะซึ่งมีขนาดเล็ก ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้อง
- ศึกษาความสามารถในการรองรับ (carrying capacity) ซึ่งรวมถึงระดับของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ระบบนิเวศสามารถค้ำจุนได้ในระยะยาว
- เตรียมแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเน้นในเรื่องการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ การผสมผสานการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน การรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์รวมทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยในทะเล (marine habitats) ที่สำคัญๆ ด้วย
- ทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีการที่ไม่ยั่งยืนต่างๆ ในปัจจุบัน และกำหนดเทคโนโลยีที่ไม่ควรนำมาใช้เนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศที่สำคัญของเกาะ
ประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศควรให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะในด้านการวางแผนและในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยื่น
|
|
น้ำจืดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบริโภคการสุขาภิบาล การเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง การผลิตไฟฟ้า การจับปลาในแม่น้ำลำคลอง การขนส่ง การนันทนาการ (recreation) และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ น้ำจืดยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธรรมชาติสามารถกระทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
ในหลายส่วนของโลก แหล่งทรัพยากรน้ำจืดกำลังถูกทำลายลง เกิดมลพิษเพิ่มขึ้น และเกิดความขาดแคลนโดยทั่วไป โดยมีสาเหตุมาจากการบำบัดน้ำโสโครกและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะสม การสูญเสียแหล่งต้นน้ำลำธาร การตัดไม้ทำลายป่า และวิธีการเกษตรที่ไม่เหมาะสมโดยมีการปล่อยยาฆ่าแมลงและสารเคมีอื่นๆ ลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อน การผันน้ำจากแม่น้ำ และการชลประทาน ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณน้ำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศแหล่งน้ำ (aquatic ecosystems)
การจัดหาอาหารสำหรับประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องอาศัยน้ำเป็นส่วนสำคัญ แต่ระบบการชลประทานกำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง (waterlogging)* และการเกิดปัญหาดินเค็ม ทำให้ลดสมรรถนะของดินในการผลิตอาหาร
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรูปแบบของการพัฒนาซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม และการขาดความตระหนักและการศึกษาของสาธารณชนเกี่ยวกับความจำเป็นและวิธีการที่จะคุ้มครองทรัพยากรน้ำ รวมทั้งความล้มเหลวที่จะเข้าใจถึงความเกี่ยวพันระหว่างรูปแบบต่างๆ ของการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ
ในประเทศกำลังพัฒนา ประชากรหนึ่งในสามขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาดและการสุขาภิบาลซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเทศเหล่านี้ ประมาณ 80% ของการเกิดโรคต่างๆ และประมาณหนึ่งในสามของการเสียชีวิตเกิดจากการบริโภคน้ำที่ถูกปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกยังเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอน แต่การที่อุณหภูมิสูงขึ้นและปริมาณหิมะและน้ำฝนที่ลดลงได้เพิ่มความกดดันต่อความสมดุลที่เปราะบางอยู่แล้วระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำในบางส่วนของโลก ในบริเวณอื่นๆ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การเกิดน้ำท่วม ถ้าหากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว ก็จะเกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มสู่บริเวณปากแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณชายฝั่งทะเล (coastal aquifers) ทำให้เกิดน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ที่อยู่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่เกาะที่อยู่ในระดับต่ำ ผลกระทบที่เกิดจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมในขนาด (magnitude) ที่ปัจจุบันเรายังไม่สามารถทราบได้ และอาจจะคุกคามต่อการอยู่รอดของรัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ บริเวณริมฝั่งทะเลที่อยู่ในระดับต่ำ และบริเวณพื้นที่ที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งได้
จากภัยคุกคามต่างๆ ดังกล่าว ทำให้มีความจำเป็นต้องหาทางเพื่อจัดสรรน้ำที่มีคุณภาพดีอย่างเพียงพอแก่ทุกๆ คน ดังนั้น ต้องมีการปรับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ให้เข้ากับความจำกัดของธรรมชาติ เพื่อให้ระบบนิเวศสามารถทำหน้าที่ต่อไปอย่างสมบูรณ์ วิธีการที่จะจัดสรรน้ำและให้มีการสุขาภิบาลอย่างทั่วถึงก็คือ การใช้แนวทาง "การแบ่งเฉลี่ยเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทุกๆ คน" (Some for all, rather than more for some) กลยุทธ์ที่เป็นไปได้ในอันที่จะตอบสนองความต้องการน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคตก็คือ บริการจัดหาน้ำที่เสียค่าใช้จ่ายถูกและเพียงพอ ดำเนินการสร้างและบำรุงรักษาโดยชุมชนท้องถิ่น
การจัดการน้ำที่ดียิ่งขึ้นจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการปรับปรุงเทคโนโลยีพื้นเมืองเพื่อที่จะใช้ทรัพยากรน้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดมลพิษ นอกจากนี้ จะต้องผสมผสานการจัดการน้ำให้เข้ากับนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งในเรื่องการวางแผนใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ การคุ้มครองความลาดชันของภูเขาและบริเวณริมฝั่งน้ำ
การบริหารทรัพยากรน้ำควรมอบอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยให้สาธารณชน รวมทั้งสตรี เด็ก คนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการจัดการน้ำและในการตัดสินใจ
เป้าหมายสำหรับระยะเวลาในการจัดสรรน้ำสากลคือในปี พ.ศ. 2568 สามารถบรรจุได้โดยการจัดบริการที่เสียค่าใช้จ่ายถูก สามารถสร้างและบำรุงรักษาในระดับท้องถิ่น
เป้าหมายสำหรับปี พ.ศ. 2543 คือ
- จัดหาน้ำดื่มที่สะอาดอย่างน้อย 40 ลิตรต่อคนต่อวันให้กับผู้อาศัยอยู่ในเมือง
- จัดให้มีการสุขาภิบาลแก่ประชาชนจำนวน 75% ที่อาศัยอยู่ในเมือง
- บังคับใช้กฎเกณฑ์ในเรื่องการปล่อยของเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม
- ให้มีการจัดเก็บและนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือการกำจัดปริมาณสามในสี่ของเสียที่เป็นของแข็งในเขตเมืองในล้กษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
- ให้ประชาชนในชนบททุกๆ แห่งมีน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลเพื่อการมีสุขภาพที่สมบูรณ์และบำรุงรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นของท้องถิ่น
- ควบคุมการเกิดโรคที่เกี่ยวกับน้ำโดยทั่วๆ ไป และตั้งเป้าหมายการขจัดโรคต่างๆ เช่น โรคที่เกิดจากพยาธิตัวตืด (guinea-worm) หรือโรคพยาธิที่เกิดจากยุง (river blindness) ภายในปี พ.ศ. 2543
แนวทางต่างๆ สำหรับการจัดให้มีน้ำและสุขาภิบาลอย่างเพียงพอก็คือ
- ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องปริมาณและคุณภาพของน้ำที่มีเพื่อที่จะจัดสรรให้กับประชากรและกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้การวิจัยในเรื่องดังกล่าวกำลังขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนและขาดผู้เขี่ยวชาญ
- การจัดการน้ำควรให้การยอมรับถึงความจำเป็นในการคุ้มครองระบบนิเวศแหล่งน้ำมิให้ถูกทำลาย และป้องกันมิให้เกิดการเสื่อมโทรมในบริเวณลุ่มน้ำ รวมทั้งการใช้แนวทางป้องกันเพื่อลดและมิให้เกิดมลพิษ
- กำหนดและคุ้มครองบริเวณแหล่งทรัพยากรน้ำ ให้มีการใช้น้ำในลักษณะที่ยั่งยืน มีแผนงานในการควบคุมและป้องกันการเกิดมลพิษทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีความจำเป็นโดยเฉพาะที่จะจัดให้มีการสุขาภิบาลและเทคโนโลยีการกำจัดของเสียที่หมาะสมสำหรับเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่นและมีรายได้ต่ำ
- บังคับให้มีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญๆ ซึ่งอาจจะทำลายคุณภาพน้ำและระบบนิเวศแหล่งน้ำได
- พัฒนาแหล่งทดแทนน้ำจืดให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น การลดความเค็มของน้ำทะเล การกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะเล็กๆ นำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (re-using) หรือนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (recycling) โครงการต่างๆ เหล่านี้ควรใช้เทคโนโลยีที่เสียค่าใช้จ่ายถูก สามารถนำไปใช้กับประเทศกำลังพัฒนาได้
- ในการพัฒนาและใช้ทรัพยากรน้ำ ควรให้ความสำคัญแก่ความจำเป็นในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และคุ้มครองระบบนิเวศ ผู้ใช้น้ำนอกจากจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้แล้วควรจ่ายค่าบริการอย่างเหมาะสม
- สิ่งจำเป็นเพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในลักษณะที่น้ำเป็นทรัพยากรหายากและไม่มั่นคง ก็คือการยอมรับค่าต้นทุนน้ำเต็มจำนวน (full cost) ในช่วงของการวางแผนและการพัฒนาของทุกๆ โครงการ
- ให้การคุ้มครองป่าไม้ซึ่งปกคลุมแหล่งต้นน้ำลำธาร และลดผลกระทบของสารมลพิษจากการเกษตรที่มีต่อน้ำให้น้อยที่สุด
- จำเป็นต้องจัดการการประมงน้ำจืดเพื่อให้สามารถผลิตปริมาณอาหารได้สูงสุดในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ควบคุมดูแลเพื่อมิให้การจับปลาและการเลี้ยงปลาเกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศของแหล่งน้ำ
- การปศุสัตว์จำเป็นต้องอาศัยน้ำอย่างเพียงพอ ควรป้องกันมิให้คุณภาพของน้ำถูกแปดเปื้อนด้วยของเสียจากสัตว์
- ควรประเมินผลกระทบของโครงการชลประทานใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในระยะของการวางแผน
โลกยังต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในด้านการประเมินและพัฒนาแหล่งน้ำจืด และในการจัดการโครงการน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประเทศที่ยากจนจำเป็นต้องเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยในประเมินทรัพยากรน้ำของตนเอง
|
 |
สารเคมีชนิดต่างๆ ได้ถูกนำไปใช้ทั่วโลก และเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรลุถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมดังนั้นจึงควรปรับปรุงวิธีการใช้สารเคมีให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์
พื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ของโลกบางแห่งถูกแปดเปื้อนด้วยสารเคมีจนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ต่อโครงสร้างพันธุกรรมและการเจริญพันธ์ นอกจากนี้ มลพิษที่แพร่ออกไประยะไกลยังมีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย การลักลอบค้าที่ผิดกฎหมาย (illegal traffic) ของสินค้าและของเสียที่เป็นอันตรายและเป็นพิษรวมถึงการส่งสารเคมีที่ถูกห้ามใช้ไปในประเทศหนึ่งเนื่องจากเป็นอันตรายไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศกำลังพัฒนา
ปัจจุบันมีสารเคมีเชิงพาณิชย์ประมาณ 100,000 ชนิด ในจำนวนนี้ประมาณ 1,500 ชนิดมีปริมาณการผลิตถึง 95% ของการผลิตทั้งหมดของโลก อย่างไรก็ตาม เรายังขาดข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีที่ถูกผลิตขึ้นในปริมาณดังกล่าว
สารเคมีสามารถนำไปใช้ในลักษณะที่คุ้มทุน (cost-effective) ด้วยความปลอดภัยในระดับที่สูง แต่ประเทศส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาขาดความสามารถที่จะจัดการกับสารเคมีได้อย่างปลอดภัย ประเทศต่างๆ ควรพัฒนาและแลกเปลี่ยนความชำนาญในการประเมินความเสี่ยงของการใช้สารเคมีต่างๆ
รัฐบาลสามารถควบคุมอันตรายจากสารเคมีโดยการป้องกันมิให้เกิดมลพิษ การจัดทำสถิติและแสดงปริมาณการการปล่อยสารเคมี (emission inventories) การติดฉลากสินค้า จำกัดการใช้ มีวิธีการจัดการและกฎระเบียบควบคุมการใช้ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ อาจจะค่อยๆ ยกเลิก (phase out) หรือห้ามการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากเป็นพิษและเกิดการสะสมทางชีวภาพ รวมทั้งไม่สามารถควบคุมการใช้ได้อย่างทั่วถึง รัฐบาลควรพิจารณานโยบายที่มีพื้นฐานบนหลักเกณฑ์ในด้านความรับผิดชอบของผู้ผลิต
การลดความเสี่ยง สามารถกระทำได้โดยใช้สารเคมีที่เป็นพิษน้อยกว่า หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีที่ไม่ใช้สารเคมีเลย รัฐบาลควรทบทวนการใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งมีบรรทัดฐานของการยอมรับไม่เพียงพอหรือล้าสมัยในปัจจุบัน และหาวิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีอื่นๆ แทน เช่น การควบคุมทางชีวภาพ (biologicalcontrol) เป็นต้น
รัฐบาลควรให้ข่าวสารแก่สาธารณชนในเรื่องอันตรายของสารเคมีด้วยภาษาที่ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ นอกจากนี้ จะต้องมีระบบติดฉลากสินค้าเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีโดยใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์ที่สามารถเข้าใจได้โดยทั่วไป ควรมีการจัดตั้งศูนย์ที่จะแก้ไขปัญหาฉุกเฉินรวมทั้งศูนย์ควบคุมการบำบัดพิษ
ภาคอุตสาหกรรมควรที่จะ
- จัดทำประมวลหลักการ (code of principles) ระหว่างประเทศเกี่ยวกับการให้ข้อมูลในเรื่องความเสี่ยงในการใช้สารเคมี และวิธีกำจัดสารเคมีในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมในเรื่องสิทธิการรับรู้ของประชาชน โดยให้ข่าวสารแก่สาธารณะในเรื่องปริมาณการปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุและการปล่อยในภาวะปกติในแต่ละปี
- การจัดการสารเคมีเป็นพิษจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในแต่ละประเทศ
ปัจจุบันยังไม่มีความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการลักลอบค้าสินค้าที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ รัฐบาลควรควบคุมการส่งออกสารเคมีที่ถูกสั่งห้ามหรือจำกัดการใช้ และควรให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประเทศที่นำเข้าทุกครั้งที่มีการส่งออกสารเคมีที่เป็นอันตราย การค้าสารเคมีควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศ
|
 |
การเพิ่มขึ้นของปริมาณของเสียที่เป็นอันตรายได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่หลายๆ ประเทศยังขาดความชำนาญการที่จะจัดการกับปัญหานี้ ส่วนมากรัฐบาลจะขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของมลพิษที่ถูกปล่อยออกไป รวมทั้งอันตรายที่จะเกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม
แผนงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในระดับชาติของทุกๆ ประเทศควรครอบคลุมถึงเป้าหมายการลดของเสียที่เป็นอันตรายด้วย ควรมีแผนงานในการกำหนดประเภทของเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และการลดปริมาณหรือมีการบำบัดของเสียเหล่านี้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการในเรื่อง "ผู้ก่อมลพิษมีหน้าที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย" (polluter pays)
ลำดับความสำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณของเสียที่เป็นอันตรายต่อหน่วยของการผลิต รัฐบาลควรดำเนินงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการรณรงค์เพื่อลดปริมาณการเกิดและการปล่อยของเสียที่เป็นอันตราย ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญและควรสนับสนุนวิธีการในการผลิตที่สะอาดในระดับที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การใช้มาตรฐานควบคุมของเสียที่เป็นอันตรายในแต่ละประเทศควรมีความเข้มงวดที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
รัฐบาลควรดำเนินการโดยทันทีในการกำหนดพื้นที่กำจัดของเสียที่ถูกแปดเปื้อนและกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตราย และดำเนินมาตรการแก้ไขต่างๆ ที่จำเป็น รวมทั้งการทำความสะอาดพื้นที่ดังกล่าว
รัฐบาลควรที่จะ
- ออกข้อกำหนดและให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีการผลิตที่สะอาด การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการเกิดของเสียและในการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (recycling)
- สนับสนุนให้ค่อยๆ ยกเลิกกระบวนการในการผลิตที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดของเสียที่เป็นอันตราย
- ตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงวิธีการในการจัดการของเสียที่เป็นอันตราย
- ให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
- ดำเนินโครงการให้ข่าวสารแก่สาธารณชน และให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐและภาคอุตสาหกรรม ในเรื่องของเสียที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น
- จัดตั้งศูนย์บำบัดของเสียที่เป็นอันตรายในระดับชาติหรือภูมิภาค ภาคอุตสาหกรรมควรบำบัด (treat) นำกลับใช้ประโยชน์ใหม่ (recycle) นำมาใช้ใหม่ (re-use) และกำจัด (dispose) ของเสียในบริเวณหรือใกล้กับแหล่งที่เกิดของเสียนั้นๆ
รัฐบาลควรดำเนินการให้แน่ใจว่า ฝ่ายทหารปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องการกำจัดและการบำบัดของเสียที่เป็นอันตราย
ประเทศที่พัฒนาแล้วควรสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและความรู้ในการใช้งาน (know-how) ในเรื่องเทคโนโลยีที่สะอาด และวิธีการผลิตที่ลดปริมาณของเสียให้กับประเทศกำลังพัฒนา
บางส่วนของการเคลื่อนย้ายของเสียที่เป็นอันตรายระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับการส่งออกโดยผิดกฎหมายส่วนมากไปยังประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลควรห้าม (ban) การส่งออกของเสียที่เป็นอันตรายไปยังประเทศที่ยังไม่พร้อมจะจัดการกับของเสียในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลควรดูแลการจัดส่งของเสียที่มีวัตถุประสงค์นำกลับมาใช้ใหม่ว่าได้ดำเนินการภายใต้ระบบที่มีความเหมาะสมทางสิ่งแวดล้อมและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ประเทศต่างๆ ควรมีระบบเฝ้าระวังที่จะตรวจสอบการลักลอบค้าที่ผิดกฎหมายสำหรับของเสียที่เป็นอันตราย
|
 |
ปริมาณขยะและน้ำโสโครกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเมืองต่างๆ เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.2 ล้านคน ในจำนวนนี้รวมทั้งเด็ก 4 ล้านคนจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากการกำจัดน้ำโสโครกและของเสียที่เป็นของแข็งโดยไม่เหมาะสม ของเสียในเมืองยังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ พื้นดิน และน้ำในบริเวณที่กว้างขวางอีกด้วย
ในประเทศกำลังพัฒนา มีการบำบัดของเสียในเมืองน้อยกว่า 10% ของปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดและการบำบัดส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่ยอมรับกัน ภายในสิ้นสุดศตวรรษนี้ ประชากรกว่า 2 พันล้านคนจะขาดแคลนการสุขาภิบาลพื้นฐาน และประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในเขตเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจะไม่มีการกำจัดของเสียอย่างเพียงพอ
การบริโภคอย่างไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณและความหลากหลายของของเสียเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปริมาณของเสียอาจจะเพิ่มขึ้นสี่หรือห้าเท่าภายในปี พ.ศ. 2568 ภายในสิ้นสุดทศวรรษนี้ ค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียอาจจะเพิ่มสองหรือสามเท่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรม เนื่องจากสถานที่กำจัดของเสียต่างก็เต็มและมีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น การคิดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียควรเป็นไปในลักษณะที่ว่าผู้ที่ทำให้เกิดของเสียควรจะรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่สำหรับการกำจัดของเสียที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (recycling) และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (recovery) มีความคุ้มทุนมากยิ่งขึ้น
หนทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาของเสียก็คือวิธีป้องกันมิให้ของเสียเกิดขึ้น โดยมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงการดำเนินวิธีชีวิต และรูปแบบในการผลิตและการบริโภค นอกจากนี้ควรมีแผนงานระดับชาติเพื่อลดปริมาณการเกิดของเสียและให้มีการนำของเสียกลับมาใชัใหม่หรือใช้ประโยชน์ใหม่ มีการจัดเก็บและการบำบัดของเสียที่ปลอดภัย แผนงานควบคุมของเสียควรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลท้องถิ่น ภาคธุรกิจ องค์กร เอกชน (NGOs) และกลุ่มผู้บริโภค
ประเทศอุตสาหกรรมควรมีแผนงานที่จะรักษาระดับหรือลดปริมาณการเกิดของเสียภายในปี พ.ศ. 2543 ประเทศกำลังพัฒนาควรดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายต่อหนทางในการพัฒนาประเทศของตน
รัฐบาลควรเสนอสิ่งจูงใจในการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการทดลองต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือในครัวเรือนที่นำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การนำของเสียไปผลิตปุ๋ย การชลประทานโดยใช้น้ำที่ได้รับการบำบัดแล้ว การผลิตพลังงานจากของเสีย เป็นต้น รัฐบาลควรจัดวางแนวทางสำหรับการนำของเสียมาใช้ใหม่อย่างปลอดภัย สนับสนุนการขายสินค้าที่นำกลับมาผลิตใช้ประโยชน์ใหม่และนำกลับมาใช้ใหม่ (recycled and reused products)
การให้การศึกษาแก่ประชาชนรวมทั้งการสร้างกฎเกณฑ์และสิ่งจูงใจทางการเงินเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนับสนุนภาค อุตสาหกรรมในการออกแบบสินค้าใหม่เพื่อลดปริมาณของเสียลง รวมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้วัสดุต่างๆ ที่สามารถนำกลับคืนมาใช้ใหม่ (reused) ได้อย่างปลอดภัย
|
 |
เมื่อพิจารณาถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแล้ว ทำให้มองเห็นว่าการจัดการกากกัมมันตรังสีในลักษณะที่ไม่เป็นภัยต่อ สิ่งแวดล้อมและให้เกิดความปลอดภัยนั้น รวมถึงเรื่องการลดปริมาณ การขนส่งและการกำจัดกากดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ความเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัยและการแผ่รังสีของกากกัมมันตรังสี มีระดับที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของกากของเสียที่เกิดขึ้น บางชนิดอาจจะเป็นกากกัมมันตรังสีที่มีระดับรังสีต่ำและอยู่ได้ไม่นานจนถึงในระดับที่สูง แต่ละปี การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทำให้เกิดกากกัมมันตรังสีในระดับต่ำและระดับปานกลางประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตร และเกิดกากกัมมันตรังสีระดับสูงและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณของกากดังกล่าวได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เปิดดำเนินการมากขึ้นและมีบางโรงงานได้ถูกปิดลง
การใช้สารกัมมันตรังสีทางการแพทย์ การวิจัย และอุตสาหกรรมทำให้เกิดกากมันตรังสีในปริมาณที่น้อยกว่า เฉลี่ยหลายสิบลูกบาศก์เมตรต่อปีต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม การใช้สารกัมมันตรังสีได้เพิ่มมากขึ้นทำให้ปริมาณของกากกัมมันตรังสีเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้น มาตรการที่เคร่งครัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อมิให้เกิดอันตรายจากการใช้สารดังกล่าว
ประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการ
- ส่งเสริมวิธีการที่จะลดปริมาณและจำกัดการเกิดกากกัมมันตรังสี
- ให้มีการจัดเก็บ กระบวนการผลิต การปรับสภาพ (conditioning) การขนส่งและการกำจัดกากกัมมันตรังสีที่ปลอดภัย
- ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับกากกัมมันตรังสี หรือช่วยให้ประเทศเหล่านี้สามารถจัดส่งสารกัมมันตรังสีที่ใช้แล้วกลับคืนไปยังผู้ผลิตได้ง่ายขึ้น
- สนับสนุนให้มีการวางแผนอย่างเหมาะสมในเรื่องวิธีการจัดการกากกัมมันตรังสีในลักษณะที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัย รวมถึงการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
- ส่งเสริมความพยายามที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลการปฏิบัติในเรื่องการเคลื่อนย้ายกากกัมมันตรังสีข้ามแดน (Code of Practive on the Transboundary Movements of Radioactive Waste) และพิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดทำความตกลงที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายในเรื่องนี้
- ส่งเสริมให้มีการศึกษาต่อไปจนเสร็จสิ้น ในเรื่องที่ว่าสมควรที่จะห้าม (ban) การกำจัดกากกัมมันตรังสีที่มีระดับรังสีต่ำในทะเลหรือไม่ แทนที่จะเป็นการหยุดดำเนินการโดยสมัครใจ (Voluntary moratorium) ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
- ไม่ส่งเสริมหรือยินยอมให้มีการจัดเก็บรวบรวม หรือการกำจัดกากกัมมันตรังสีใกล้กับชายฝั่งทะเลหรือทะเลเปิด นอกจากจะเป็นที่แน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่เกิดผลอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมทางทะเล
- ไม่ส่งออกกากกัมมันตรังสีไปยังประเทศที่ห้ามการนำเข้า
ประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ควรได้รับความช่วยเหลือในด้านการเงินและการฝึกอบรมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
แต่ละประเทศเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการและการกำจัดกากกัมมันตรังสีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของเทคโนโลยีที่นำมาใช้
|
|