http://www.tungsong.com
Home
| Guestbook
|Local Agenda 21
|Download Document
[ มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ]  [ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร ]

[ การส่งเสริมบทบาทของกลุ่ม-องค์กรสำคัญ ]  [ วิธีการในการดำเนินงาน ]

มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
[ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ] [ การต่อสู้กับความยากจน ]
[ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค ] [ ประชากรและความยั่งยืน ] [ การคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพมนุษย์ ]
[ การตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน ] [ การตัดสินใจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ]
         ความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันของนานาชาติเป็นสิ่งสำคัญเพื่อทำให้เศรษฐกิจของโลกมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยให้ทุกๆ ประเทศสามารถบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

        ระบบการค้าซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายการผลิตของโลกอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าหากดำเนินการภายใต้นโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

           - ระบบการค้าของโลกควรให้ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา สามารถจำหน่ายสินค้าอย่างได้ผลดี ถ้าหากประเทศยากจนมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นแล้วก็จะเพิ่มขีดความสามารถเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

         รายได้จากการส่งสินค้าออกของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศได้ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1980 เนื่องจากการตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดโลก ในบางกรณีการแข่งขันเกิดจากการที่สินค้าที่ได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกสามารถขายสินค้าในราคาต่ำ มีความจำเป็นในการจัดทำความตกลงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเพื่อให้เกิดราคาที่ยุติธรรมสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น โกโก้ กาแฟ น้ำตาล และไม้เขตร้อน เป็นต้น

           - รายได้จากการส่งออกที่ลดลง รวมกับการมีหนี้สินต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

            - ประเทศกำลังพัฒนามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการลงทุนเพื่อกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนในลักษณะที่ยั่งยืน ประเทศเหล่านี้ควรกระจาย (diversify) หรือเพิ่มความหลากหลายของสินค้าส่งออก และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้มากขึ้น

           - ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากได้ชำระหนี้ที่ติดค้างไว้กับประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่ารายได้จากการส่งออกและที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศรวมกัน ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้จำเป็นต้องลดปริมาณสินค้านำเข้า การลงทุนและการบริโภค และทำให้ความสามารถที่จะต่อสู้กับความยากจนลดลงด้วย ในบางกรณีมีความจำเป็นต้องตัดทอนค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศประสบกับความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และประสบกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น

           กลยุทธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ประเทศต่างๆ จำเป็นต้อง

           - ยุติและแก้ไขลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) รวมทั้งอุปสรรคการค้าฝ่ายเดียวต่างๆ ซึ่งได้ทำความเสียหายแก่ประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมการค้าเสรี

           - ลดการให้เงินอุดหนุนต่างๆ (subsidies) ซึ่งนำไปสู่รูปแบบการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน

           - ทำให้นโยบายการค้าและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ

           - สอดส่องดูแลว่าการใช้กฎข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยจะไม่เป็นไปโดยพลการหรือเลือกปฏิบัติ (discrimination) โดยไม่เป็นธรรม หรือเป็นการสร้างข้อจำกัดโดยแอบแฝงทางการค้า

           - สนับสนุนให้สาธารณชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำการเจรจาต่อรอง และการดำเนินนโยบายทางด้านการค้า

           - กลยุทธ์ดังกล่าวรวมถึงให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น การกลับคืนของเงินทุนที่ไหลออกไปต่างประเทศจากประเทศที่ยากจน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศที่ยากจนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินและหนทางเพื่อลดภาระหนี้สินต่างประเทศลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยากจนที่สุด

           - ประเทศที่พัฒนาแล้วควรช่วยเหลือประเทศดังกล่าวในด้านการจัดการและให้มีการกระจายการผลิตในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน ตัวแปรที่มีอำนาจของการตลาด เช่น อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ควรมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ราคาของสินค้าในทุกๆ ประเทศจะต้องสะท้อนต้นทุน(Costs) ทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการผลิต

           - ในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องขจัดการคอรัปชั่น และทำให้การบริหารงานของรัฐมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นธรรม ซื่อสัตย์ และตรวจสอบได้ รวมทั้งในเรื่องการส่งเสริมสิทธิและโอกาสของปัจเจกบุคคล นอกจากนี้ รัฐบาลควรทำให้เกิดเสถียรภาพของราคาสินค้า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ และให้การสนับสนุนบทบาทของภาคธุรกิจเอกชน
         ความยากจนมีสาเหตุมาจากหลายๆ ประการ และไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับทุกๆ ประเทศ

        แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีแผนงานของตนเองที่จะขจัดสาเหตุของความยากจน เช่น ความหิวโหย การไม่รู้หนังสือ การขาดแคลนบริการทางการแพทย์และการดูแลเด็ก การว่างงาน และความกดดันทางด้านประชากร การดำเนินงานของรัฐบาลในประเทศที่ยากจนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน รวมทั้งความช่วยเหลือทางด้านการเงินเพราะว่าการต่อสู้กับความยากจนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกๆ ประเทศ

        องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกควรจะจัดให้การบรรเทาภาวะความยากจนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง

        วัตถุประสงค์ของโครงการต่อสู้กับความยากจนคือช่วยให้ประชาชนสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนยากจนจะต้องพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น แทนที่จะคอยอาศัยแต่การส่งอาหารและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ยากจนในการสร้างงานให้กับผู้ตกงานหรือทำงานไม่เต็มที่ในปัจจุบันและสำหรับบุคคลในวัยทำงานที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

         เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว แผนพัฒนาต้องดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากร นโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะการเพิ่มผลผลิต โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรที่เป็นฐานรองรับการผลิตแล้ว จะนำไปสู่การถดถอยของผลผลิตในเวลาใดเวลาหนึ่ง และอาจจะทำให้ความยากจนเพิ่มมากขึ้น

        หนทางหนึ่งที่รัฐบาลจะสามารถส่งเสริมการพัฒนาก็คือ การมอบความรับผิดชอบและทรัพยากรให้กลุ่มชนในท้องถิ่นและสตรีมากยิ่งขึ้น องค์กรของประชาชน องค์กรสตรี และองค์กรเอกชน (NGOs) เป็นแหล่งที่มาสำคัญของนวัตกรรม (innovation) หรือการค้นคิดสิ่งใหม่ๆ และการดำเนินงานพัฒนาในระดับท้องถิ่น องค์กรเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความสามารถที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานเลี้ยงชีพอย่างยั่งยืนได้

        ประชาชนในท้องถิ่นจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการคุ้มครองและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะที่ยั่งยืน จำเป็นต้องเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และมีเงินทุนเพียงพอเพื่อให้เกิดผลผลิต รวมทั้งมีส่วนแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในภูมิภาคของตน ประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทั้งนี้ สามารถดำเนินการผ่านศูนย์ฝึกอบรมของชุมชนนั้นๆ และมีการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนความชำนาญการ (Expertise) ซึ่งกันและกัน

        ในส่วนต่างๆ ของโลกจำเป็นต้องมีการวางแผนครอบครัวโดยเร่งด่วน ทั้งหญิงและชายควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการตัดสินใจโดยอิสระและอย่างรับผิดชอบ ในเรื่องจำนวนและระยะห่าง (spacing) ของการมีบุตร สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา และวิธีการที่เหมาะสมเพื่อใช้สิทธิดังกล่าว รัฐบาลควรมีโครงการและบริการทางสาธารณสุขอย่างพอเพียงสำหรับสตรี รวมทั้งการดูแลสุขภาพสตรีมีครรภ์ที่ได้ผลดีและปลอดภัย และการที่สตรีสามารถได้รับและเข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัวที่มีความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้สตรีใช้น้ำนมมารดาเลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสี่เดือนแรกของลูกอ่อน

        ประเทศที่ยากจนจะไม่สามารถพัฒนาได้ หากยังมีภาระหนี้สินต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก และการที่ราคา สินค้าโภคภัณฑ์ของตนในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำทำให้มีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศเหล่านี้ต้องดำเนินการในลักษณะที่ต้องตอบสนองต่อความกังวลทางด้าน สิ่งแวดล้อม และเพื่อการคงไว้ซึ่งบริการพื้นฐานต่างๆ สำหรับผู้ยากจนและขาดแคลน
         สาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกยังคงเสื่อมโทรมอยู่ต่อไปก็คือรูปแบบการบริโภคและการผลิตในลักษณะที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรม

        ความต้องการที่มากเกินควร และการดำเนินวิถีที่ฟุ่มเฟือยของกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยทำให้เกิดสภาวะของการกดดันต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนที่ยากจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านอาหาร การรักษาพยาบาล ที่พักอาศัยและการศึกษา ลักษณะดังกล่าวทำให้ความยากจนของโลกต้องเลวร้ายลงไปเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น รูปแบบการบริโภคในลักษณะที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของ Agenda 21

        เราจำเป็นต้องทบทวนตรวจสอบความต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากการบริโภคในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนและหาทางลดความสิ้นเปลืองการใช้ทรัพยากรและลดมลพิษ

        เราต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างแนวความคิดใหม่ (new concepts) ในเรื่องความร่ำรวยและความมั่งคั่งเพื่อยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตให้สูงขึ้น โดยเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับ (carrying capacity) ของธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวความคิดในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นมา บุคคลเหล่านี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาถึงคุณค่าเต็มจำนวนของทุนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะต้องอาศัยการพัฒนาดัชนีอย่างใหม่ที่รวมเอาสภาวะความยั่งยืน (Sustainability) มาใช้ในการวัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ด้วย

        การบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยประสิทธิภาพในการผลิตและในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการบริโภค เช่น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ได้เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมของประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งรูปแบบดังกล่าวหลายประเทศในโลกได้มาเลียนแบบ

        ทุกๆ ประเทศควรพยายามที่จะสนับสนุนรูปแบบการบริโภคอย่างยั่งยืน แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วควรมีบทบาทนำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้

        ประเทศกำลังพัฒนาควรสร้างรูปแบบการบริโภคอย่างยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องประกันการสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ยากจน ในขณะเดียวกันพยายามหลีกเลี่ยงรูปแบบการบริโภคในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเป็นภัยโดยไม่จำเป็นต่อสิ่งแวดล้อมไร้ประสิทธิภาพและสูญเปล่า การดำเนินงานดังกล่าวจะต้องอาศัยความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีและอื่นๆ จากประเทศอุตสาหกรรม

         เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศต่างๆ จำเป็นต้อง

            - หาทางให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและมั่งคั่ง และในขณะเดียวกันลดการใช้พลังงานและวัสดุต่างๆ ตลอดจนลดปริมาณการเกิดของเสีย

             - กำหนดรูปแบบที่สมดุลสำหรับการบริโภคทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ธรรมชาติสามารถค้ำจุนได้ในระยะยาว

        รัฐบาลควรพยายามที่จะ

            - ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต และลดการบริโภคที่สิ้นเปลืองลง

            - ดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

            - ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม (environmentally sound technology) ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา

        รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องร่วมมือกันในการพัฒนาวิธีการที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในการใช้ทรัพยากร ในการผลิตและการใช้พลังงาน การลดปริมาณวัสดุและพลังงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการนอกจากจะช่วยลดความกดดันที่มีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตและการแข่งขันทางเศรษฐกิจอีกด้วย

        สังคมต่างๆ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะและของเสีย โดยสนับสนุนกรรมวิธีนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (recycling) ลดการบรรจุหีบห่อที่สิ้นเปลือง รวมทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ในหลายๆ ประเทศได้เกิดกลุ่มผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนได้เพิ่มความสนใจที่จะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

        รัฐบาลร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มต่างๆ และโดยใช้วิธีการ เช่น การออกกฎหมายเพื่อผู้บริโภคส่งเสริมให้มีการติดฉลากสินค้าและข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงผลกระทบของสินค้าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

        นอกจากนี้ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ ควรพิจารณาทบทวนนโยบายในการจัดซื้อสินค้าเพื่อช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเท่าที่จะสามารถทำได้

        รูปแบบการผลิตและการบริโภคคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างเพียงพอและรวดเร็วหากไม่มีแรงกระตุ้นทางด้านราคาและกลไกทางการตลาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคพลังงาน วัสดุและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนผลกระทบจากการเกิดกากของเสีย ในด้านการตลาดควรส่งเสริมวิธีการต่างๆ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีสิ่งแวดล้อม การวางมัดจำและคืนเงินสำหรับบรรจุภัณฑ์เป็นต้น

        นอกจากนี้ แต่ละบุคคลจำเป็นต้องมีส่วนรับผิดชอบในการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ในลักษณะที่ยั่งยืน รัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนได้ โดยการให้การศึกษา การสร้างจิตสำนึกและความตื่นตัวของประชาชน ตลอดจนให้มีการโฆษณาสินค้าและบริการในลักษณะที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน
         การเพิ่มขึ้นของประชากรของโลกและผลผลิตเพื่อเลี้ยงดูประชากร และรูปแบบการบริโภคในลักษณะที่ไม่ยั่งยืน ได้เพิ่มความกดดันต่อการใช้อากาศ ที่ดิน น้ำ พลังงาน และทรัพยากรที่สำคัญอื่นๆ จำนวนประชากรของโลกมีมากกว่า 5.5 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1993 และคาดว่าจะมีมากกว่า 8 พันล้านคนภายในปี ค.ศ. 2020
         กลยุทธ์ในการพัฒนาจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากรการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เทคโนโลยีและการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ นอกจากนี้เป้าหมายหลักของการพัฒนาต้องรวมถึงการบรรเทาภาวะความยากจน การมีอาชีพที่มั่งคง มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีรวมถึงการปรับปรุงสถานภาพของสตรี ดังนั้นแผนการพัฒนาจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางด้านอาหาร บริการต่างๆ ที่จำเป็น ที่พักอาศัยขั้นพื้นฐาน การศึกษา สวัสดิการครอบครัว การปลูกป่า การดูแลสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้นและการจ้างงาน

        ปัญหาด้านประชากรควรเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชาติและประเทศต่างๆ ควรกำหนดแผนงานและเป้าหมายทางด้านประชากร รวมทั้งการประเมินโครงสร้างอายุของประชากรที่จะมีผลต่อความต้องการทรัพยากรในอนาคตด้วย

        ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องทราบถึงความสามารถในการรองรับ (carrying capacity) ของธรรมชาติที่มีต่อประชากร ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องภาวะของทรัพยากรที่สำคัญๆ รวมทั้งในเรื่องของน้ำ ที่ดิน และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เป็นต้น ความสามารถในการรองรับ หมายถึงความสามารถของฐานทรัพยากรที่จะสนับสนุนและตอบสนองความต้องการต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยไม่บังเกิดการสูญสลาย

        ควรปรับปรุงวิธีคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นรวมทั้ง ในเรื่องแนวโน้มประชากร การใช้ทรัพยากรต่อหัว และการกระจายความมั่งคั่ง ผลกระทบที่คาดไว้ประการหนึ่งก็คือ การเคลื่อนย้ายถิ่น (migration) ของประชากรเป็นจำนวนมากไปสู่เมืองใหญ่ๆ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้สะสมกันมา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายของโลกในเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่น ซึ่งเป็นผลและนำไปสู่การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

        การพัฒนาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยแผนงานอนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive health programme) ในการลดการเสียชีวิตของแม่และทารกเมื่อคลอดใหม่ๆ ให้ข้อมูลข่าวสารแก่หญิงและชายในเรื่องวิธีการวางแผนครอบครัว สตรีควรมีโอกาสได้รับการดูแลก่อนคลอดบุตร (pre-natal care) และสนับสนุนให้มีการใช้น้ำนมแม่เลี้ยงดูทารกอย่างน้อย 4 เดือนหลังจากการคลอด สตรีควรได้รับการประกันในเรื่องโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการทำงานด้วย

        แผนงานประชากรควรเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในระดับกว้างที่เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ เช่น ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เทคโนโลยีและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และการเข้าถึงทรัพยากรเป็นต้น การจัดการทรัพยากรจะต้องสามารถรองรับความต้องการของประชาชน และทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวด้วย

         แผนงานประชากรจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากนักการเมือง คนพื้นเมือง ผู้นำศาสนาและผู้นำกลุ่มอื่นๆ ภาคเอกชนและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ และควรได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินอย่างพอเพียง รวมทั้งการสนับสนุนที่ประเทศอุตสาหกรรมให้กับประเทศกำลังพัฒนา
         สุขภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการมีสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์รวมถึงการมีน้ำสะอาด การขจัดของเสียที่ถูกสุขลักษณะ และการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างพอเพียง เราจำเป็นต้องให้การเอาใจใส่ทั้งสุขภาพของมนุษย์และสภาวะสิ่งแวดล้อม

        สิ่งท้าทายต่างๆ ทางด้านสุขภาพอนามัยที่โลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้คือ

            - จำนวนเด็กกว่า 15 ล้านคน เสียชีวิตลงในแต่ละปีจากสาเหตุต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้ เช่น บาดแผลจากการคลอด การติดเชื้อของทางเดินหายใจอย่างรุนแรง การขาดสารอาหาร และโรคท้องร่วง เยาวชนยังล่อแหลมต่อการติดยาเสพติด การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และโรคติดต่อจากการร่วมเพศมากยิ่งขึ้น

             - การที่สตรีส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาขาดวิธีการในการปรับปรุงสุขภาพอนามัย และการปรับปรุงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม หรือควบคุมการมีบุตร สตรีเหล่านี้ยังประสบกับภาวะความยากจนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น การขาดสารอาหาร และการเจ็บป่วยโดยทั่วๆ ไป

            - แม้จะมีการพัฒนาวัคซีนและตัวยาต่างๆ แล้วก็ตาม แต่ประชากรโลกเป็นจำนวนมากยังถูกคุกคามโดยโรคร้ายต่างๆ เช่น โปลิโอ อหิวาตกโรค วัณโรค โรคเรื้อน ท้องร่วง มาลาเรีย และโรคพยาธิใบไม้ในเลือด (schistosomiasis) อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนที่พักอาศัย น้ำสะอาด การสุขาภิบาล และการรักษาพยาบาล

            - ในหลายๆ ภูมิภาค การเติบโตของชุมชนเมืองมีมากเกินกว่าความสามารถที่ชุมชนจะรองรับความต้องการต่างๆ ของประชาชนไว้ได้ ทำให้ประชาชนหลายร้อยล้านคนขาดแคลนในด้านต่างๆ เช่นอาชีพ อาหาร ที่พักอาศัย หรือบริการอื่นๆ มลพิษในเมืองยังเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ในขณะที่ความเป็นอยู่อย่างหนาแน่น และการขาดแคลนที่พักอาศัยมีส่วนทำให้เกิดวัณโรค เยื่อหุ้มสมองหรือไขสันหลังอักเสบ โรคทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ

             - คาดว่าประชากรโลกประมาณ 30-40 ล้านคนจะได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV) ภายในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งจะเกิดการแพร่ขยายของโรคและส่งผลกระทบต่อทุกๆ ประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังน้อยกว่ามูลค่าความสูญเสียจากรายได้และผลผลิตของประชาชนในวัยทำงานที่ได้รับเชื้อไวรัส

            - มลพิษจากแหล่งต่างๆ เช่น จากการผลิตและการใช้พลังงาน อุตสาหกรรมและการขนส่ง ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนหลายร้อยล้านคน แม้ว่าจะมีมาตรการแก้ไขบ้างแล้วก็ตาม แต่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมยังคงมีอยู่ต่อไป เนื่องจากการควบคุมมลพิษต่างๆ ไม่สามารถก้าวทันตามการพัฒนาเศรษฐกิจ

            - วิถีชีวิตในแบบดั้งเดิมของคนพื้นเมือง (Indigenous peoples) ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจนต้องประสบกับปัญหาการว่างงาน ขาดแคลนที่พักอาศัย ความยากจน และความเจ็บป่วยมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประชาชนโดยทั่วไป

         สุขภาพอนามัยที่ดีขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ และสภาวะความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ควรมีการรณรงค์ในระดับกว้างเพื่อต่อต้านการเจ็บป่วย รวมทั้งการฝึกอบรมในด้านชีววิทยาโมเลกุล (molecular biology) และให้การศึกษาแก่มารดาในเรื่องการป้องกันและรักษาโรคท้องร่วงด้วยตนเอง ประชาชนควรได้รับการศึกษาทางด้านสุขภาพอนามัย ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคและยาที่จำเป็นในการรักษาโรค การรักษาพยาบาลควรปรับให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่น คนท้องถิ่นควรได้รับการอบรมในด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือทางการแพทย์ด้วย

        กลยุทธ์โดยทั่วไปเพื่อให้บรรลุถึงสุขภาพดีถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ. 2000 รวมถึงเป้าหมายดังต่อไปนี้

            - การขจัดโรคพยาธิตัวตืด (dracunculiasis) และโปลิโอ และการควบคุมโรคพยาธิที่เกิดจากยุง (onchocerciasis) และโรคเรื้อน

             - ระดมและผนึกกำลังความร่วมมือในระดับชาติและระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ขยายของเชื้อ ไวรัสเอดส์

            - ควบคุมวัณโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ที่ต่อต้านตัวยาชนิดใหม่ๆ

            - ให้การรักษา 95% ของจำนวนประชากรเด็กของโลก จากการติดเชื้อของทางเดินหายใจอย่างรุนแรง

            - ลดจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากอาการท้องร่วงในประเทศกำลังพัฒนาลง 50-70%

             - มีแผนงานต่อต้านการระบาดของมาลาเรียในทุกๆ ประเทศที่ประสบกับการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรง

            - ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัด (measles) ลง 95% ภายในปี ค.ศ. 1995

        ทุกๆ ประเทศจำเป็นต้องมีแผนดำเนินงานด้านสุขภาพในระบบสาธารณสุขของชาติ และจำเป็นต้องมี

            - การดำเนินงานในระดับชาติที่จะตรวจสอบและคาดการณ์การเกิดหรือการเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อ

            - พัฒนาระบบอนามัยชุมชน เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานทางด้านการจัดหาน้ำสะอาด อาหารที่ปลอดภัย และการสุขาภิบาล

            - เปิดโอกาสให้ชายและหญิงมีสิทธิโดยเท่าเทียมกัน และวิธีการที่จะเลือกจำนวนและระยะห่างของการมีบุตรอย่างรับผิดชอบ

            - จัดหาบริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่เด็ก รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันโรค และการโภชนาการ การคุ้มครองเด็กจากการขูดรีดในการใช้แรงงานและเบียดเบียนทางเพศ

            - ใช้ประโยชน์ความรู้จากแหล่งดั้งเดิมที่ได้ผลดีในระบบสาธารณสุขของชาติ

            - มีแผนงานควบคุมมลพิษทางอากาศทั้งภายในและภายนอกสถานที่ และการกำจัดของเสียที่เป็นของแข็ง (solid wastes) อย่างปลอดภัย

            - ควบคุมการจัดสรรและการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อลดความเสี่ยงภัยที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

         ทุกๆ ประเทศควรมีแผนงานที่จะกำหนดการเกิดอันตรายต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และลดความเสี่ยงภัยดังกล่าวลง นำเอาการป้องกันสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรวมเป็นแผนงานพัฒนาของประเทศ และฝึกอบรมประชาชนในเรื่องการป้องกันอันตรายจากภาวะแวดล้อมดังกล่าว
         ภายในปี พ.ศ. 2543 ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การขยายตัวของสังคมเมืองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา ชุมชนเมืองสร้างผลผลิตประมาณ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP)

        อย่างไรก็ตาม เมืองต่างๆ ที่กำลังประสบกับวิกฤตการณ์ทางด้านพัฒนาและสิ่งแวดล้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกิดมลพิษทางอากาศ จนถึงการไร้ที่อยู่อาศัย ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่การขาดแคลนน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลเป็นสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยทั่วไป รวมทั้งการเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมากในแต่ละปีจากโรคที่สามารถป้องกันได้

        เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองมีความยั่งยืนมากขึ้น รัฐบาลควรให้คนยากจนไร้ที่อยู่อาศัยและผู้ไม่มีงานทำได้รับที่ดิน เงินกู้ และวัสดุก่อสร้างที่มีราคาถูก ประชาชนควรได้รับความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยและการคุ้มครองทางกฎหมายเพื่อมิให้ถูกขับไล่ (eviction) โดยไม่เป็นธรรม ควรมีการปรับปรุงแหล่งสลัมและที่พักอาศัยที่ไม่มีทะเบียนเพื่อลดภาวะการขาดแคลนที่พักอาศัยในเมือง ในเขตชุมชนเมืองทุกแห่งรัฐบาลจะต้องจัดหาบริการต่างๆ เช่นในเรื่องการมีน้ำสะอาด การสุขาภิบาล การจัดเก็บขยะ ทั้งนี้ประชาชนผู้มีรายได้สูงในเขตชุมชนควรจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการบริการต่างๆ เหล่านี้อย่างเต็มที่

        โครงการก่อสร้างควรมุ่งเน้นการใช้วัสดุท้องถิ่น การออกแบบอาคารที่ใช้พลังงานอย่างประหยัด การใช้วัสดุที่ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยีที่มีการว่าจ้างแรงงานมากยิ่งขึ้น

        การขนส่งเป็นภาคกิจกรรมที่ใช้พลังงานประมาณ 30% ของการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ของโลก และบริโภคประมาณ 60% ของการผลิตปิโตรเลียมของโลก ควันจากท่อไอเสียทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในเมืองโดยการผลิตโอโซน ฝุ่นควัน คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แผนปฏิบัติการในระดับชาติจำเป็นต้องส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีพลังงานที่คืนรูป (renewable energy technology) เช่น พลังงานจากดวงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ลม และมวลชีวภาพ (biomass)* จัดให้มีทางเดินเท้าและทางวิ่งจักรยานที่ปลอดภัย นอกจากนี้การจัดผังเมืองในเขตชุมชนควรลดความจำเป็นในการเดินทางระยะไกลลงด้วย

        ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องลดภาวะความยากจนในเขตชุมชนเมือง โดยให้การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก การจัดทำโครงการปรับปรุงเขตชุมชนเมืองควรดำเนินงานโดยร่วมมือกับองค์กรเอกชนต่างๆ

        ในการลดการเคลื่อนย้ายถิ่นไปสู่เมืองใหญ่ๆ รัฐบาลควรจะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในชนบทให้ดีขึ้น สนับสนุนการพัฒนาเมืองในระดับกลางที่เพิ่มการจ้างงานและที่อยู่อาศัย มีการจัดการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เขตชุมชนขยายเข้าไปในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเปราะบางอยู่แล้ว

        ในการตั้งถิ่นฐานหรือสร้างชุมชนใหม่ ควรดูแลในเรื่องการเลือกสถานที่ การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุเพื่อลดความเสี่ยงภัยหรือความเสียหายที่จะเกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ เช่น พายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหวและพื้นดินถล่ม

        ประเทศกำลังพัมนาต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวิชาการที่จะช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆ เช่น การวางผังเมือง การลดปริมาณขยะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การสุขาภิบาล ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและการขนส่งที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
         วิธีการที่คนเป็นจำนวนมากตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐบาล ธุรกิจเอกชน หรือปัจเจกบุคคล มักจะแบ่งแยกปัจจัยต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมออกจากกัน

         ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา เพื่อทำให้วิถีทางของทางเลือกในการพัฒนามีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ มีความเป็นธรรมและรับผิดชอบทางสังคม และในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

        รัฐบาลของบางประเทศได้เริ่มต้นการพิจารณาอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การคลัง พลังงาน การเกษตรกรรม การขนส่งการค้าและอื่นๆ กลุ่มต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในกระบวนการตัดสินใจเพื่อการพัฒนา โดยผ่านการอภิปรายหารือกันระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มสิ่งแวดล้อม และสาธารณชนโดยทั่วไป

         รัฐบาลควรสร้างกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในอันที่จะประสานนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมในหน่วยงานของรัฐบาลทั้งหมดและในระดับต่างๆ รวมทั้งในมาตรการทางด้านการคลังและงบประมาณด้วย

         กลยุทธ์ดังกล่าวควรมุ่งไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ในขณะเดียวกันกับที่ให้การคุ้มครองฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อผลประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป ทั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนากลยุทธ์ดังกล่าวอย่างกว้างขวางที่สุด

         การที่จะให้ผู้ตัดสินใจมีสายตากว้างไกลจากแนวทางแคบๆ รายสาขาไปสู่การประสานประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมกับการตัดสินใจในด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดเก็บข้อมูลเทคนิคในการจัดการและวางแผน

         ในการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล ผู้ตัดสินใจต้องการรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอที่จะรวมเอาสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมและแนวโน้ม เข้ากับข้อมูลในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบบัญชีประชาชาติจะต้องสามารถวัดค่าบทบาทอันสำคัญยิ่งของสิ่งแวดล้อมในลักษณะอันเป็นแหล่งที่มาของทุนตามธรรมชาติ และเป็นที่รองรับ (sinks) ของเสียจากการผลิต

         ส่วนใหญ่การออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนามักจะมีลักษณะชั่วคราวและเพียงบางส่วนหรือขาดสภาพการบังคับและไม่ทันสมัย รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนวิวัฒนาการออกกฎหมายในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของหลักการทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม และให้มีการประเมินความเสี่ยงของกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการบังคับสนับสนุน

         ราคา การตลาด นโยบายทางเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาลยังมีส่วนช่วยหล่อหลอมทัศนคติ และพฤติกรรมของประชาชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่เป็น

         สินค้าไม่เสียเงิน" (free goods) และส่งผ่านค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมไปยังส่วนอื่นๆ ของสังคม หรือไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคควรมองเห็นค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และราคาควรสะท้อนความขาดแคลนและค่าทั้งหมด (Total value) ของทรัพยากรธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทางด้านพลังงาน การขนส่ง การเกษตร ป่าไม้ การใช้น้ำ การเกิดของเสีย สุขภาพอนามัย และการท่องเที่ยว

         รัฐบาลควรขจัดหรือลดการให้เงินอุดหนุน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและดำเนินงานเพื่อนำไปสู่นโยบายการจัดตั้งราคาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว

         ควรให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการแก่ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาหรือกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการตลาด ในเรื่องการใช้กลไกการตลาดเพื่อทำให้การพัฒนามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


back การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร