Untitled

http://www.tungsong.com

 

ระบบนิเวศ
1. ความหมายของนิเวศวิทยา
     คำว่า Ecology ได้รากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ Oikos หมายความถึง "บ้าน" หรือ "ที่อยู่อาศัย" และ Ology หมายถึง "การศึกษา" Ecology หรือนิเวศวิทยา จึงเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยการศึกษาสิ่งมีชีวิตในแหล่งอาศัยและกินความกว้างไปถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
2. ความหมายของระบบนิเวศ
          ระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับบริเวณแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ดำรงชีวิตอย
          ระบบนิเวศนั้นเป็นแนวคิด (concept) ที่นักนิเวศวิทยาได้นำมาใช้ในการมองโลกและส่วนย่อยๆ ของโลก เพื่อที่จะได้เข้าใจความเป็นไปบนโลกนี้ได้ดีขึ้น
          ระบบนิเวศหนึ่งๆ นั้นประกอบด้วยบริเวณที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ และกลุ่มประชากรที่มีชีวิตที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว พืชและโดยเฉพาะสัตว์ต่างก็ต้องการบริเวณที่อยู่อาศัยที่มีขนาดอย่างน้อยที่สุดที่เหมาะสมส่วนในพืชและสัตว์แต่ละชนิด ทั้งนี้เพื่อว่าการมีชีวิตอยู่รอดตลอดไปยกตัวอย่างเช่น สระน้ำแห่งหนึ่ง เราจะพบสัตว์และพืชนานาชนิดซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริเวณสระน้ำที่มันอาศัยอยู่ โดยมีจำนวนแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด สระน้ำนั้นดูเหมือนว่าจะแยกจากบริเวณแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ขอบสระ แต่ตามความเป็นจริงแล้วปริมาณน้ำในสระสามารถเพื่อขึ้นได้โดยน้ำฝนรที่ตกลงมาในขณะเดียวกันกับที่ระดับผิวน้ำก็จะระเหยไปอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลเข้ามาเพิ่มก็จะพัดพาเอาแร่ธาตุและชิ้นส่วนต่างๆ ของพืชที่เน่าเปื่อยเข้ามาในสระ ตัวอ่อนของยุงและลูกกบตัวเล็กอาศัยอยู่ในสระ แต่จะไปเติบโตบนบก
          สระน้ำนี้ จึงเป็นหน่วยหนึ่งของธรรมชาติที่เรียกว่า "ระบบนิเวศ" (Ecosystem) ซึ่งกล่าวได้ว่าระบบนิเวศหนึ่งๆ นั้น เป็นโครงสร้างที่เปิดและมีความสามารถในการควบคุมของมันเอง ประกอบไปด้วยประชากรต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ไร้ชีวิต ระบบนิเวศเป็นระบบเปิดที่มีความสัมพันธ์กับบริเวณแวดล้อม โดยมีการแลกเปลียนสารและพลังงาน ดังนั้น จึงมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ตัว ชุมชนที่มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ใช้ชีวิตนั้นรวมกันเป็นระบบนิเวศ
          ระบบนิเวศอาจมีขนาดใหญ่ระดับโลก คือ ชีวาลัย (biosphere) ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่อหุ้มโลกอยู่ และสามารถที่ขบวนการต่างๆ ของชีวิตเกิดขึ้นได้ หรืออาจมีขนาดเล็กเท่าบ่อน้ำแห่งหนึ่งแต่เราสามารถจำแนกระบบนิเวศออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
          1. ระบบนิเวศทางธรรมชาติและใกล้ธรรมชาติ (nutural and seminatural ecosystems) เป็นระบบที่ต้องพึ่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะทำงานได้
               1.1 ระบบนิเวศแหล่งน้ำ(Aquatic ecosystems)
                    1.1.1 ระบบนิเวศทางทะเลเช่น มหาสมุทร แนวปะการัง ทะเลภายในที่เป็นน้ำเค็ม
                    1.1.2 ระบบนิเวศแหล่งน้ำจึด เช่น แม่น้ำ ทะเลสาป อ่างเก็บน้ำ
               
1.2 ระบบนิเวศบนบก (terrestrial ecosystems)
                    1.2.1 ระบบนิเวศกึ่งบก เช่น ป่าพรุ
                    1.2.2 ระบบนิเวศบนบกแท้ เช่น ป่าดิบ ทุ่งหญ้า ทะเลทราย
          2. ระบบนิเวศเมือง-อุตสาหกรรม(Urbanindustrial ecosystems)
          เป็นระบบที่ต้องพึ่งแหล่งพลังงานเพิ่มเติม เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง พลังนิวเคลียร์ เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใหม่
          3. ระบบนิเวศเกษตร (Agicultural ecosystems)
          เป็นระบบที่มนุษย์ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางธรรมชาติขึ้นมาใหม่
3. องค์ประกอบของระบบนิเวศ
          ระบบนิเวศทุกๆ ระบบจะมีโครงสร้างที่กำหนดโดยชนิดของสิ่งมีชีวิตเฉพาะอย่างที่อยู่ในระบบนั้นๆ โครงสร้างนี้ประกอบด้วยจำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เหล่านี้ และการกระจายตัวของมันถึงแม้ว่าระบบนิเวศบนโลกจะมีความหลากหลาย แต่มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน คือ ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
          1. ส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิต(abiotic component ) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
               1.1 อนินทรียสารเช่น คาร์บอน ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและออกซิเจน เป็นต้น
               1.2 อินทรียสารเช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และฮิวมัส เป็นต้น
               1.3 สภาพแวดล้อมทางกายภาพเช่น แสง อุณหภูมิ ความเป็นกรด เป็นด่างความเค็มและความชื้น เป็นต้น
          2. ส่วนประกอบที่มีชีวิต(biotic component) แบ่งออกได้เป็น
               2.1 ผู้ผลิต(producer) คือ พวกที่สามารถนำเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสังเคราะห์อาหารขึ้นได้เองจากแร่ธาตุและสสารที่มีอยู่ตามธรรมชาต ได้แก่ พืชสีเขียว แพลงค์ตอนพืช และแบคทีเรียบางชนิด พวกผู้ผลิตนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนเริ่มต้นและเชื่อมต่อระหว่างส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ
               2.2 ผู้บริโภค(consumer) คือ พวกที่ได้รับอาหารจากการกินสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ได้แก่ พวกสัตว์ต่างๆ แบ่งได้เป็น
                    - ผู้บริโภคปฐมภูมิ (primary consumer) เป็นสิ่งมีชีวิตทีกินพืชเป็นอาหาร เช่น กระต่าย วัว ควาย และปลาที่กินพืชเล็กๆ ฯลฯ
                    - ผู้บริโภคทุติยดภูมิ (secondary consumer) เป็นสัตว์ที่ได้รับอาหารจากการกินเนื้อสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเช่น เสือ สุนัขจิ้งจอก ปลากินเนือ้ ฯลฯ
                    - ผู้บริโภคตติยภูมิ (tertiary consumer) เป็นสัตว์ทีกินทั้งสัตว์ กินพืช และสัตว์กินสัตว์ นอกจากนี้ ยังได้แก่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับขั้นการกินสูงสุด ซึ่งหมายถึงสัตว์ทีไม่ถูกกินโดยสัตว์อื่นๆ ต่อไป เป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับสุดท้ายของการกินเป็นอาหาร เช่น มนุษย์
               2.3 ผู้ย่อยสลาย(decompser) เป็นพวกที่ไม่สามารถปรุงอาหารได้แต่จะกินอาหารโดยการผลิตเอนไซน์ออกมาย่อยสลายแร่ธาตุต่างๆ ในส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตให้เป็นสารโมเลกุลเล็ก แล้วจึงดูดซึมไปใช้เป็นสารอาหารบางส่วน ส่วนที่เหลือปลดปล่อยออกไปสู่ระบบนิเวศ ซึ่งผู้ผลิตจะสามารถเอาไปใช้ต่อไป จึงนับว่าผู้ย่อยสลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สารอาหารสามารถหมุนเวียนเป็นวัฏจักรได้
4. การถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศ
          ดวงอาทิตย์นับเป็นแหล่งที่ให้พลังงานกับระบบนิเวศโลกได้รับพลังงานนี้ในรูปของการแผ่รังสี แต่รังสีทั้งหมดที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์นั้นจะผ่านบรรยากาศของโลกลงมาเพื่อให้ใช้ในการสังเคราะห์แสงเพียงประมาณ 1% เท่านั้น ผู้ผลิตในระบบนิเวศจะเป็นพวกแรกที่สามารถจับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไว้ได้ในขบวนการสังเคราะห์แสงผู้ผลิตซึ่งเป็นพืชที่มีคลอโรฟิลนี้จะเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานเคมีแล้วนำพลังงานเคมีนี้ไปสังเคราะห์สารประกอบที่มีโครงสร้างอย่างง่าย คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)ให้เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างซับซ้อนและมีพลังงานสูง คือ คาร์โบไฮเดรท (CH2)N

          พลังงานที่ผู้ผลิตรับไว้ได้จากดวงอาทิตย์และเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของสารอาหารนี้ จะมีการถ่ายทอไปตามลำดับขั้นของการกินอาหารภายในระบบนิเวศ คือ ผู้บริโภคจะได้รับพลังงานจากผู้ผลิต โดยการกินต่อไปเป็นทอดๆ ในแต่ละลำดับขั้นของการถ่ายทอดพลังงานนี้ พลังงานจะค่อยๆ ลดลงไปในแต่ลำดับเรื่อยๆ ไป เนื่องจากได้สูญเสียออกไปในรูปของความร้อนการรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ โดยผู้ผลิตเป็นจุดแรกที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศนั้นระบบนิเวศใดรับพลังงานไว้ได้มาก ย่อมแสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก
          การเคลื่อนย้ายหรือถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศในรูปของอาหารจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคและจากผู้บริโภคไปสู่ผู้บริโภคอันดับต่อไปเป็นลำดับขึ้นมีลักษณะเป็น "ลูกโซ่อาหาร" (food chain) เนื่องจากทุกๆ ลำดับขั้นของการถ่ายทอดจะมีพลังงานสูญไปในรูปของความร้อนประมาณ 80-90 % ดังนั้น ลำดับของการกินในโลกโซ่อาหารนี้จึงมีจำนวนจำกัด โดยปกติจะสิ้นสุดในลำดับสี่ถึงห้าเท่านั้น ลูกโซ่อาหารสายใดมีลักษณะสั้นก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพดีเท่านั้น เพราะมีพลังงานรั่วไหลไปจากลูกโซ่ได้น้อยเช่น
          ในสภาพธรรมชาติจริงๆ แล้ว การกินกันอาจไม่ได้เป็นไปตามลำดับที่แน่นอน เช่นที่กล่าวมา เพราะผู้ล่าชนิดหนึ่งอาจจะล่าเหยื่อได้หลายชนิดและขณะเดียวกันนี้อาจจะตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดเช่นกัน การถ่ายทอดพลังงานจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น และสัมพันธ์เกี่ยวโยงไปมาในลักษณะ "ข่ายใยอาหาร" (food web) เช่น
5. การหมุนเวียนของแร่ธาตุ
          ในระบบนิเวศนั้น ปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็คือ การหมุนเวียนของแร่ธาตุเป็นวัฏจักรจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่สิ่งมีชีวิต และจากสิ่งมีชีวิตถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม อีกเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป วัฏจักรของแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบแก่นสารของสิ่งมีชีวิต เช่น
          - วัฏจักรของคาร์บอน คาร์บอนซึ่งอยู่ในบรรยากาศมีโอกาสหมุนเวียนเข้าสู่สิ่งมีชีวิตได้โดยการสังเคราะห์แสงของผู้ผลิตในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสิ่งมีชีวิตตายลงบางส่วนจะถูกสลายทำให้คาร์บอนมีโอกาสถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนซากที่ไม่ถูกสลายเมื่อทับถมกันเป็นเวลานานก็จะกลายไปอยู่ในรูปของถ่านหิน น้ำมัน เป็นต้น แม้ว่าพืชบกจะมีบทบาทสำคัญในการตรึงคาร์บอนเอาไว้ในรูปของสารอินทรีย์ก็ตาม แหล่งควบคุมใหญ่ของปริมาณคาร์บอนก็ยังคงเป็นทะเลและมหาสมุทร
          - วัฏจักรของไนโตรเจน วัฏจักรของไนโตรเจนมีความซับซ้อนมาก แม้ว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะอาศัยขบวนการหายใจและการสังเคราะห์แสงร่วมกัน ความสมดุลของออกซิเจนในวัฏจักรจึงขึ้นอยู่กับขบวนการทั้งสองนี้เป็นสำคัญ
          - วัฏจักรกำมะถัน
          - วัฏจักรฟอสฟอรัส
          - วัฏจักรของน้ำ น้ำเป็นตัวกลางของขบวนการต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต รวมทั้งเป็นแหล่งให้ไฮไดรเจนที่สำคัญ น้ำที่ปรากฏในโลกจะอยู่ในสภาพและแหล่งต่างๆ กัน ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำในดิน น้ำในอากาศในรูปของไอน้ำและน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลก ในจำนวนนี้มีการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรโดยส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผิวโลกและบรรยากาศโดยการระเหยและการกลั่นตัวตกกลับสู่ผิวโลก
6. ความสมดุลของระบบนิเวศ
          คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของระบบนิเวศคือ มีกลไกในการปรับสภาวะตัวเอง (self-regulation) โดยมีรากฐานมาจากความสามารถของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศนั้นๆ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้ย่อยสลาย ในการทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารผ่านสิ่งมีชีวิต ถ้าระบบนิเวศนั้นได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ และไม่มีอุปสรรคขัดขวางวัฏจักของธาตุอาหารแล้ว ก็จะทำให้เกิดมลภาวะสมดุล (equilibrium) ขึ้นมาในระบบนิเวศนั้น ๆ โดยที่องค์ประกอบและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดทำให้แร่ธาตุและสสารกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งทำให้ระบบนิเวศนั้นมีความคงตัว ทั้งนี้เพราะการผลิตอาหารสมดุลกับบริโภคภายในระบบนิเวศนั้น การปรับสภาวะตัวเองนี้ ทำให้การผลิตอาหารและการเพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนั้นมีความพอดีกันกล่าวคือ จำนวนประชากรชนิดใดๆ ในระบบนิเวศจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนอย่างไม่ขอบเขตได้
          ถ้าในระบบนิเวศใดสิ่งมีชีวิตบางชนิดถูกทำลายไป จะทำให้ความสมดุลของระบบนิเวศลดลง เช่น บริเวณทุ่งหิมะและขั้วโลกเป็นระบบนิเวศที่ง่ายและธรรมดาไม่ซับซ้อน เพราะสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่กี่ชนิดและต้นหลิว พืชเหล่านี้เป็นอาหารของกวาง ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คื อกวางคาริบูกันกับกวางเรนเดีย กวางเป็นอาหารของสุนัขป่าและคน นอกจากนี้ก็มีหนูนาและไก่ป่าซึ่งเป็นอาหารของสุนัขจิ้งจอกและนกสุนัขจิ้งจอกและนกเค้าแมว เพราะฉะนั้นในบริเวณทุ่งหิมะนี้ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนของสิ่งมีชีวิตในระดับอื่นๆ ด้วย เพราะมันไม่มีโอกาสเลือกอาหารได้มากนัก สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในเขตนี้ จึงเปลี่ยนแปลงเร็วจนบางชนิดสูญพันธ์ ดังนั้นระบบนิเวศที่ไม่ซับซ้อนจึงเสียดุลได้ง่ายมากเหมือนกับการปลูกพืชชนิดเดียว (monocropping) เช่น การเกษตรสมัยปัจจุบัน เวลาเกิดโรคระบาดจะทำให้เสียหายอย่างมากและรวดเร็ว
7. อิทธิพลของมนุษย์ต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ
          ในสมัยก่อนที่ประชากรของมนุษย์บนโลกยังมีจำนวนเพียงเล็กน้อยนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างไร แต่ต่อมาเมือ่มนุษย์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาวิถีชีวิตด้วยเทคโนโลยีให้มีความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น การบุกรุกสภาพสมดุลของธรรมชาติ จึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
          ปัจจุบันนี้มนุษย์มักจะทำให้ระบบนิเวศในโลกนี้ เป็นระบบนิเวศที่ธรรมดา โดยเฉพาะการเกษตรในปัจจุบันได้พยายามลดระดับต่างๆ ในห่วงโซ่อาหารให้เหลือน้อยที่สุด โดยการกำจัดพืชและหญ้าหลายชนิดไป เพื่อปลูกพืชชนิดเดียว เช่น ข้าวสาลีหรือข้าวโพด ซึ่งทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความมั่นคงของระบบนิเวศลดน้อยลง หากมีโรคระบาดเกิดขึ้น โอกาสที่ระบบนิเวศจะถูกทำลายก็จะมีมาก
          นอกจากนั้น บริเวณการเกษตรทั่วโลกก็นับเป็นบริเวณที่ระบบนิเวศถูกทำลายมาก ทั้งนี้เพราะมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลายสารพิษที่เกิดจากการเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดไปยังสิ่งมีชีวิตระดับสูงๆ ได้ตามห่วงโซ่อาหาร จึงมักสะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตในปริมาณที่เข้มข้นกว่าที่มีในสิ่งแวดล้อมเสมอ ดังตัวอย่างของการใช้ DDT
          เมื่อมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชในบริเวณพื้นที่หนึ่ง DDT ซึ่งเป็นส่วนผสมของยากำจัดศัตรูพืชนั้น จะตกค้างอยู่ในดิน ถูกชะล้างลงในแหล่งน้ำ และสะสมอยู่ในแพลงค์ตอน เมื่อสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น ปลา มากินแพลงค์ตอน DDT ก็จะเข้าไปสะสมในตัวปลาเป็นปริมาณมากกว่าที่อยู่ในแพลงค์ตอน และเมื่อนกซึ่งกินปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เข้าไป ก็จะสะสมไว้ในประมาณสูง เมื่อสัตว์อื่นกินนกก็ยิ่งจะทำให้การสะสม DDT ในตัวมันสูงมากขึ้นไปอีก ถ้า DDT สูงขึ้นถึงขีดอันตรายก็จะทำให้สัตว์ตายได้ หรือไม่ก็ผิดปกติ DDT ส่วนใหญ่จะสะสมในเนื้อเยื่อ ไขมัน และขัดขวาง การเกาะตัวของแคลเซี่ยมที่เปลือกไข ทำให้ไข่บางแตกง่ายและไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้มีรายงานว่าในประเทศสวีเดนและในประเทศญี่ปุ่นมีนกบางชนิดสูญพันธ์ไปแล้ว เนื่องจากผลกระทบสะสมตัวของ DDT
          พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ นั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ มิฉะนั้นก็อาจจเกิดผลเสียหายร้ายแรงทั้งต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อน ทำให้เกิดบริเวณน้ำขังจำนวนมหาศาลอาจทำให้เกิดการระบาดของโรค เนื่องจากพาหะของโรคนั้นสามารถเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำนิ่ง
          ชีวาลัย(Biosphere) เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ได้แก่ บริเวณที่เป็นมหาสมุทร น้ำจืด บรรยากาศและชั้นดินบางส่วน มีผู้เปรียบเทียบว่า ถ้าให้โลกของเราสูงเท่ากับตึก 8 ชั้น ชีวาลัย (Biosphere) จะมีความหนา เพียงนิ้วครึ่งเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้นั้นบางมากทรัพยากรธรรมชาติจึงมีจำกัดเกินกว่าที่เราคาดหมายไว้ มนุษย์เองเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของชีวาลัย ซึ่งยังต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งชีวิตและสภาพแวดล้อมในชีวาลัย เพื่อมีชีวิตรอดมนุษย์อาจจะเปลี่ยนหรือทำลายระบบนิเวศระบบใดได้แต่มนุษย์จะไม่สามารถทำลายชีวาลัยได้ เพราะเท่ากันเป็น การทำลายตนเอง
          ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องนิเวศวิทยา จึงเป็นการทำให้มนุษย์ได้เข้าใจถึงฐานะและหน้าที่ตัวเอง ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบเท่านั้นการกระทำใดๆ ของมนุษย์เอง ดังนั้น เราจึงควรตระหนักว่าในการพัฒนาใดๆ ของมนุษย์ที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นวัตถุดิบนั้น เราจะต้องคำนึงถึงปัญหาการเสียสมดุลทางนิเวศวิทยาด้วย เพื่อไม่ให้การพัฒนานั้นย้อนกลับมาสร้างปัญญาต่อตัวมนุษย์เองไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะมลพิษหรือการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต


[ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและชีวิต ]  [ ความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ]  [ ระบบนิเวศ]  [ ทรัพยากรธรรมชาติ ]  [ ปัญหาสิ่งแวดล้อม