Untitled

http://www.tungsong.com

 

พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม
ความหมายของสิ่งแวดล้อม
     เมื่อกล่าวถึงคำว่า "สิ่งแวดล้อม" ก็มักจะมีผู้เข้าใจกันไปถึงเรื่องของน้ำเน่า ควันและไอเสีย จากรถยนต์ หรือมูลฝอย ฯลฯ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความหมายและขอบเขตกว้างกว่านั้นมาก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาในเรื่องของความสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง
          นักวิชาการสิ่งแวดล้อมหลายท่าน ได้พยายามให้คำจำกัดความของคำว่า "สิ่งแวดล้อม" อยู่เนืองๆ แต่ก็โดยเหตุที่ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องกว้างขวางนี่เอง จึงทำให้คำจำกัดความและความหมายแตกต่างกันไปบ้าง อย่างไรก็ตามทุกท่านก็ได้ยึดถือหลักการเดียวกันและเข้าใจตรงกันทั้งสิ้น เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั่วไป เราอาจสรุปความหมายอย่างง่ายๆ ของสิ่งแวดล้อมได้ว่า
          "สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม (จับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (วัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ้งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฎจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ"
          อย่างไรก็ดี สิ่งแวดล้อมอาจแยกออกเป็นลักษณะกว้างๆ ได้ 2 ส่วนคือ
          สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
          เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร ทุกประเภท และ
          สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
           เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น
มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
          จากความหมายของคำว่า สิ่งแวดล้อม ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้นๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลของตัวเองได้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาสิ่งแวดลล้อมที่รุนแรง จึงยังไม่ปรากฎแต่อย่างไรก็ตามจากการที่ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น และเกือบทุกประเทศต่างก็มุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมจึงปรากฎให้เห็นบ้าง แต่ก็ยังพอที่จะอยู่ในวิสัยและสภาพที่รับได้
          กาลเวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา ( ระยะสิบปี ) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฏว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น
          - ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ อากาศ ดิน และสารเคมีต่างๆ
          - ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลาย และหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา เป็นต้น
          - ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมฃนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม และปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย เป็นต้น
          เมื่อผลจากการเร่งรัดพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ปรากฎว่าในหลายกรณีก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม ในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นักพัฒนาและนักวางแผนที่มีเหตุผลก็เริ่มตระหนักว่าการเร่งรัดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเร่งและเน้นความเจริญทางด้านวัตถุนั้นอาจจะไม่สามารถสร้างคุณภาพที่ดีของชีวิตความสุข ความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตดังที่มุ่งหมายไว้ได้ ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์อาจจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ต้องเสี่ยงกับภัยจากมลพิษ เช่น มลพิษในอากาศ ในน้ำ ในอาหาร และความเสื่อมโทรมทางด้านสุขภาพจิต เป็นต้น
          เมื่อเป็นเช่นนั้น แนวทางของการพัฒนาในปัจจุบัน จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงเพราะว่าได้มีการนำเอาความผิดพลาดจากอดีตมาพิจารณาทบทวน และให้ความสำคัญปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนได้มีความเห็นพ้องกันว่า การพัฒนาที่ถูกต้องนั้น ควรเป็นการพัฒนาที่มุ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นสูงขึ้นในด้าน มากกว่าจะเป็นการเล็งผลเสียทางด้านรายได้เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแต่เพียงประการเดียวอย่างไรก็ตามมีอยู่บ่อยครั้งที่มีผู้มองเห้นว่า การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น เป็นการขัดขวางการพัฒนาและความเจริญของประเทศ ซึ่งการมองในลักษณะเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการมองปัญหาด้านเดียว ความเป็นจริงแล้วทั้งการพัฒนาและการรักษาคุรภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้เพียงแต่ร่วมกันพิจารณาหาจุดแห่งความสมดุลซึ่งจะก่อประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสามารถรักษาดุลยภาพแห่งสภาวะแวดล้อมและธรรมชาติไว้ได้ด้วย
สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม
          1. การเพิ่มของประชากร(Population Growth)
          ปัจจุบันการเพิ่มของประชากรโดยเฉลี่ยทั่วโลก มีแนวโน้มสูงมากขึ้นแม้ว่าการรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัวจะได้ผลดี แต่ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน ฯลฯ
          2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Economic Growth & Technological Progress)
          ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้น ทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกับที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มักจะมีความเห็นตรงกันในคำกล่าวที่ว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่สุดในการทำลายธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเร่ง ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงจุดที่สุดคือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงจุดที่สุดคือ การแก้ที่พฤติกรรมของคนอันเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งอาจจะได้ผลดีกว่าการใช้เทคโนโลยีตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด เนื่องจากความละโมบและมักง่ายของมนุษย์นั่นเอง
ผลที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
          จากสาเหตุของปัญหาดังกล่าวแล้วข้างต้นนำมาซึ่งผลสืบเนื่องอันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประการ
          1. ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอเนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด
          2. ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษในน้ำในอากาศและเสียงมลพิษในอาหาร สารเคมี ฯลฯ อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง
          เหตุและผลอันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจเขียนเป็นแผนภูมิง่ายๆ ให้เห็นได้ดังนี้
คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของชีวิต
          ดังได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมตามความเข้าใจโดยทั่วไปนั้น มีความหมายเพียงแค่อากาศเป็นพิษและน้ำเสีย แต่ความหมายอย่างกว้างของสิ่งแวดล้อมนั้น คือกระบวนการทั้งหมดของชีวิตกับธรรมชาติทุกอย่างรอบตัวเรา เป็นวัฏจักรที่เกี่ยวเนื่องกันมีผลต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เห็นได้เร็วและมีผลที่จะแสดงให้เห็นในภายหลังสิ่งแวดล้อมคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศประชากร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ ภูเขา แร่ธาตุ) การตั้งถิ่นฐานชุมชนตลอดจนถึงเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถเห็นได้ชัดในรูปของศิลปกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ และกิจกรรมที่สืบทอดความมีชีวิตจากอดีตถึงปัจจุบันในรูปแบบกิจกรรมท้องถิ่นต่างๆ
          ากขอบเขตและความหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเกี่ยวพันต่อเนื่องกับปัญหาของชุมชนและสังคมในเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปกรรม โบราณคดี สุขภาพอนามัย ฯลฯ หากจะกล่าวโดยสรุป ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นก็คือปัญหาที่รวมตัวอยู่ในกระบวนการทางด้านการพัฒนานั่นเองโดยเหตุที่มีความเกี่ยวพันกับโครงการพัฒนาต่างๆ จึงปรากฏอยู่เสมอว่านักพัฒนาที่มีความเห็นด้านเดียวมักจะมองว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาประเทศแต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในระยะยาวจะนำความผาสุกอย่างแท้จริงมาสู่ประชาชนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การพัฒนานั้นคือการพัฒนาที่สูญเปล่า สิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติและก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม
          หลายต่อหลายครั้งที่พบว่า ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมบางส่วน เนื่องมาแต่ผลจากการพัฒนาที่มิได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแนวความคิดที่ถูกต้องในการพัฒนาก็คือ การพัฒนาที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลจากการพัฒนานั้นก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง นั่นก็คือการยกระดับ "คุณภาพแห่งชีวิต"ของประชาชนในสังคมนั้นให้ดีขึ้นภายในกรอบและขอบเขตของความเป็นจริง ซึ่งจะต้องสอดคล้อมกับเอกลักษณ์ระดับมาตรฐาน สภาพความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม ระเบียบประเพณี วัฒนธรรม สังคม ซึ่งประชาชน ทุกคนรับได้และมีความสุขความเจริญทางเศรษฐกิจ และพยายามที่จะให้มวลรายได้ประชาชาติสูงขึ้นถึงระดับบางประเทศในโลก ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีลักษณะตลอดจนมาตราฐานความเป็นอยู่ตลอดจนค่านิยมแตกต่างกันของไทยโดยสิ้นเชิงนั้น มิใช่เป้าประสงค์สุดท้ายของการบรรลุถึงการมีคุณภาพแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ได้ ตรงกันข้ามอาจกลับทำให้สังคมนั้นต้องเสียสละคุณภาพแห่งชีวิต ในมาตราฐานของตนให้แก่การพัฒนาไป
          การพัฒนาเพื่อคุณภาพแห่งชีวิตนั้น ก็คือความพยายามร่วมกันในอันที่จะใช้ทรัพยากรอันมีค่าของชาติให้เกิดผลที่สุด และสอดคล้องกับชีวิตจิตใจความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของชาติให้มากที่สุดในความพยายามร่วมกันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นไในรูปแบบของสหวิทยาการ (วิชาการหลายสาขาร่วมกัน) เพื่อให้แน่ใจได้ว่าโครงการพัฒนาทั้งมวลจะต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือหากว่ามีก็ต้องน้อยที่สุด
          หลักปฏิบัติ พื้นฐาอันเป็นหลักทั่วไปของโครงการพัฒนาต่างๆ ควรจะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญการพัฒนาต่างๆ ควรจะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญต่างๆ ต่อไปนี้คือ
          1. ผลดีในทางเศรษฐกิจ
          2. ความเหมาะสมในทางสังคม
          3. เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางเทคโนโลยี
          4. เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในด้านสิ่งแวดล้อม


[ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและชีวิต ]  [ ความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ]  [ ระบบนิเวศ ]  [ ทรัพยากรธรรมชาติ ]  [ ปัญหาสิ่งแวดล้อม