Untitled

http://www.tungsong.com



ประเวศ วะสี

วิสุทธิ์ ใบไม้

สมศักดิ์ สุขวงศ์

ฉลาดชาย รมิตานนท์

ชนวน รัตนวราหะ

ระพี สาคริก

ยศ สันตสมบัติ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ประเด็นสำคัญในเชิงหลักการอีกประการหนึ่งที่ข้อเขียนนี้ต้องการนำเสนอเพื่อปรารถนาและร่วมกัน
ศึกษาค้นคว้าพร้อมทั้งรณรงค์กันต่อไปคือ ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางชีวภาพ

 

โดยปกติแล้วสาธารณชนทั่วไป และแม้กระทั่งนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ว่าจะสายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
วิทยาศาสตร์ประยุกต์ นักสังคมศาสตร์ และนักมานุษยศาสตร์ก็ดี มักไม่เห็นความสำคัญแห่งความสัมพันธ์ของทั้งสามสิ่งนี้ นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติส่วนใหญ่ก็อาจไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดเลยก็ว่าได้แต่ก็มีนักสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก ที่สนใจเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางชีวภาพ

 

เรย์มอนด์ เอฟ. แดสมานน์ (Raymond F.Dasmann) นักชีววิทยาสัตว์ป่าผู้ซึ่งในชีวิตการศึกษา
ค้นคว้า และประสบการณ์ของเขาบีบให้เขาต้องพยายามมองหามุมมองที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ เขามีความเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับปัญหาการอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเสนอว่าผู้คนส่วนหนึ่งของโลกที่พวกเราเรียกพวกเขาว่าเป็นผู้คนในสังคมชนเผ่าบ้าง ชนพื้นเมือง หรือ คำนำหน้าหรือชื่ออื่นๆ เช่น aboriginal,autochthonous และ native เหล่านี้เป็นชื่อ หรือ "ตรา" ที่พวกเราในสังคมวัฒนธรรมกระแสหลักเรียกขานหรือประทับให้กับพวกเขาที่ล้วนแตมีอคติปนอยู่ และให้ภาพในทางลบไม่มากก็น้อย ในทัศนะของเขาเห็นว่าเราน่าจะใช้คำอื่นๆ ที่อาจให้ความหมายและความรู้สึกที่ตรงกว่า และดีกว่า "มนุษย์นิเวศ" (ecosystem people) หมายความถึงผู้คน หรือสังคมวัฒนธรรมของผู้คนที่พึ่งพาอาศัย และเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในลักษณะที่ยั่งยืนถาวรภายในระบบนเวศธรรมชาติ หรือกลุ่มของระบบนิเวศหลายระบบที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งรูปแบบของการดำรงชีวิตแบบนี้จะตรงกันข้ามกันอย่างเห็นได้ชัดกับวิถีชีวิตหรือสังคม-วัฒนธรรมของผู้คนอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "มนุษย์ชีวาลัย" (biosphere people) ซึ่งได้แก่ผู้คนที่ดึงเอา หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีแนวโน้มที่จะดึงเอาทรัพยากรต่างๆ จากเศรษฐกิจโลก (resources of the global economy) หรือดึงเอามาจากชีวลัยทั้งมวล (the entire biosphere) เพื่อดำรงวิถีชีวิตที่ไม่จำเป็นว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนถาวรและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดการเสียหายทำลายระบบนิเวศระบบใดๆก็ได้(Dasmann 1974, 1984 และ 1991 ใน Wilson et. Al, 1991 : 7)

 

ปัญหาที่สำคัญก็คือ ภายใต้การพัฒนา ภายใต้ปรัชญาทุนนิยม วิถีชีวิตแบบ "มนุษย์ชีวาลัย" ที่ทำลาย
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นรูปแบบการดำรงชีวิตหลักหรือกระแสหลักของโลก ส่วนวิถีชีวิตแบบ "มนุษย์นิเวศ" ที่อยู่กับธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพกลับกลายเป็นวิถีชีวิต หรือ วัฒนธรรมที่กำลังสูญสลายหายไป

 

ความสำเร็จของความพยายามรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากจะขึ้นอยู่กับการศึกษา
ค้นคว้า วิจัย และการรณรงค์ในเรื่องสิ่งมีชีวิตต่างๆแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันทำอะไรสักอย่าง หรือหลายอย่างเพื่อให้วิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมแบบมนุษย์นิเวศของผู้คนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ชาติพันธุ์ต่างๆ ในโลกสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป การทำลายล้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่น่าสลดหดหู่ใจและน่ากลัวพอๆ กันกับการทำลายล้างความหลากหลายทางชีวภาพ กระบวนการกำจัดทำลายหรือกลืนวัฒนธรรมของผู้คนสังคมชนเผ่า เช่น ชาวเขาและชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกโดยการบุกรุกเข้ามาของผู้รุกรานจากภายนอก นอกจากจะเป็นการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนเหล่านั้นโดยตรงอันเป็นเรื่องที่ไร้ความเป็นธรรมไปแล้ว ยังเป็นการฆาตกรรมทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเหล่านั้นอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการสูญเสียสิ่งที่เราเรียกว่า ภูมิปัญญาพื้นเมือง ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือความรู้พื้นบ้านที่จะอยู่และทำมาหากินกับที่ดินและการใช้ประโยชน์ และคุณค่าของสิ่งมีชีวิต เช่น พืชป่าชนิดต่างๆที่หลากหลาย ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยได้รับการรักษาสืบทอดไว้ในระบบเกษตรกรรมพื้นเมือง จึงเป็นการน่าเสียใจอย่างยิ่งที่เราได้เสียผู้คนเหล่านั้น ผู้ซึ่งอาจมีความรู้ดีที่สุดที่จะช่วยให้พวกเรานักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์ได้อย่างดีที่สุด ในความพยายามที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (Oldfield and Alcorn et.al., 1991: 9-10)

 

อนึ่ง เป็นที่ประจักษ์กันดีแล้วว่าสถานการณ์ของประเทศไทยเองเราก็กำลังเผชิญหน้ากับการทำลาย
ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมๆกันไปกับการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในระดับการทำลายวัฒนธรรมของผู้คนที่เราเรียกพวกเขาว่า "ชาวเขา" บ้าง "ชนกลุ่มน้อย" บ้างการทำลายวัฒนธรรมของชาวไทยที่อาศัยอยู่ในชนบท หรือเราเรียกว่าการทำลาย "วัฒนธรรมพื้นบ้าน" ก็เกิดขึ้นมานานแล้วและกำลังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราเรียกว่า "วัฒนธรรมไทย" ก็ดี "วิถีชีวิตไทย" ก็ดี หรือ "เอกลักษณ์ไทย" ก็ดีซึ่งส่วนใหญ่แล้วหมายถึงวิถีชีวิตของคนภาคกลางหรือจะกล่าวให้เฉพาะเจาะจงก็คือ คนกรุงเทพฯ เองก็กำลังถูกทำลายลงไปเช่นกันด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่วัฒนธรรมตะวันตก

 

ตัวอย่างของการสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้วนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลาย
ทางชีวภาพได้แก่ การพัฒนาเท่าที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของการผลิตของชาวไร่ชาวนาจากการปลูกเพื่อบริโภคเป็นการผลิตเพื่อขาย ชาวไร่ชาวนาจึงพากันละทิ้งพันธุ์ข้าวเดิม พันธุ์ผักเดิมหรือแม้กระทั่งพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหมที่ถ่ายทอดกันมาแต่บรรพบุรุษไปอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น


ทางเลือกของการพัฒนา : ภูมิปัญญาท้องถิ่น BACK ประสานการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม