Untitled

http://www.tungsong.com



ประเวศ วะสี

วิสุทธิ์ ใบไม้

สมศักดิ์ สุขวงศ์

ฉลาดชาย รมิตานนท์

ชนวน รัตนวราหะ

ระพี สาคริก

ยศ สันตสมบัติ

การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์

 

นับเป็นความน่าพิศวงอันหนึ่งของโลกเขาที่มีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดโดยใช้เวลาวิวัฒนา 
การมานานนับหลายร้อยล้านปี ความหลากหลายของสรรพสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) นี้เป็นทรัพยากรที่มิอาจประเมินค่าได้ ตลอดระยะเวลาที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ ถือกำเนิดและมีวิวัฒนาการมาราว 600 ล้านปีความหลากหลายทางชีวภาพอัน ได้แก่สรรพสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นตลอดมามนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเหล่านี้เพียงส่วนน้อย เท่านั้นเมื่อเทียบกับปริมาณสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ทั้งมวล การใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตในบางธุรกิจในบางประเทศ เช่น เป็นยารักษาโรคนั้น มีมูลค่าแต่ละปีหลายแสนล้านบาท แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งมีชีวิตในโลกกำลังถูกคุกคาม และจะสูญพันธุ์ไปเชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักด้วยซ้ำไป
 
ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร
  คนมักเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพ ก็คือการมีสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิด ชนิดในที่นี้ก็คือ
สปีชีส์ (species) ความ จริงแล้วความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่างคือ ความหลากหลายในเรื่องชนิด (Species Diversity) ความหลากหลายของพันธุกรรม
(Genetic Diversity) และความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

 

ความหลากหลายในเรื่องชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นหมายถึง ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต
(species) ที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีความหมายอยู่ 2 แง่ คือ ความมากชนิด (species richness) กับ ความสม่ำเสมอของชนิด (species evenness) ความมากชนิดก็คือ จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อหน่วยเนื้อที่ ส่วนความสม่ำเสมอของชนิดหมายถึงสัดส่วน ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในที่นั้น

 

ในพื้นที่หนึ่งๆ จะมีความหลากหลายของ ชนิดสิ่งมีชีวิต (species diversity) มากที่สุดก็ต่อเมื่อ มี
จำนวนสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด และแต่ละชนิดมีสัดส่วนเท่าๆ กัน ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตนั้นแตกต่าง ไปตามพื้นที่ ในเมืองหนาวเช่น ไซบีเรีย หรือแคนาดา ในเนื้อที่ 1 เฮกแตร์ (100 x 100 ม.) มีต้นไม้เพียง 1 ถึง 5 ชนิดเท่านั้น ส่วนในป่าเต็งรังของไทยมีต้นไม้ 31 ชนิด ป่าดิบแล้ง 54 ชนิด และในป่าดินชื้นมีอยู่นับร้อยชนิด ความสม่ำเสมอ ของชนิดสิ่งมีชีวิต (species evenness) นั้นอาจเข้าใจได้ยาก แต่พอที่จะยกตัวอย่างได้ เช่น มีป่าอยู่ 2 แห่ง แต่ละแห่งมีต้นไม้ จำนวน 100 ต้นและมีอยู่ 10 ชนิดเท่ากัน แต่ป่าแห่งแรกมีต้นไม้ชนิดละ 10 ต้น เท่ากันหมดส่วนป่าแห่งที่ 2 มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง มากถึง 82 ต้น อีก 9 ชนิดที่เหลือ มีอยู่อย่างละ 2 ต้น ถึงแม้ว่าป่าทั้งสองจะมีจำนวนต้นไม้เท่ากัน และมีจำนวนชนิดต้นไม้เท่ากันด้วย แต่ป่าแห่งแรก เมื่อเข้าไปดูแล้วจะมีความรู้สึกว่าหลากหลายว่า เพราะโอกาสพบต้นไม้หลายๆ ชนิดนั้นมากกว่าในป่าแห่งที่สอง

 

ความหลากหลายของพันธุกรรม หมายถึงความหลากหลายของยีนส์ (genes) ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิต
แต่ละชนิด สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจมียีนส์แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่นข้าวมีสายพันธุ์นับพันชนิด มันฝรั่ง หรือพืชอาหารชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด มัน พริก ก็มีมากมายหลายสายพันธุ์ ความหลากหลาย ของพันธุกรรมมีน้อยในพืชเกษตรลูกผสม เช่น ข้าวโพดที่ได้คัดพันธุ์เพื่อต้องการลักษณะพิเศษบางอย่าง ฐานพันธุกรรมของพืชเกษตรที่ได้คัดพันธุ์เหล่านี้จะแคบ ซึ่งไม่เหมือนกับพืชป่าที่ปรับปรุงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติในที่ต่างๆ กัน ความหลากหลายของยีนส์จึงมีมากในพืชป่า ความหลากหลายของ ยีนส์นั้นมีคุณค่ามหาศาล นักผสมพันธุ์พืชได้ใช้ข้าวป่าสายพันธุ์ป่ามาปรับปรุงบำรุงพันธุ์ เช่นได้ใช้ข้าวป่าในอินเดีย มาปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานศัตรูพืช เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น ข้าวโพดป่าก็เช่นกัน ได้ใช้ปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานโรคซึ่งก็ช่วยเพิ่มผลผลิต สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด แต่ละตัวก็มียีนส์แตกต่างกันไป

 

สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่ถูกทำลาย ทำให้มีจำนวนลดน้อยลง ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็สูญหายไป
เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งความหลากหลายของระบบนิเวศน์นั้นมีอยู่ 3 ประเด็น คือ (1) ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ (2) การทดแทน และ (3) ภูมิประเทศ

 

ความหลากหลายถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ (Habitat Diversity) ตัวอย่างเช่น ในผืนป่าทางภาคตะวัน
ตกของไทยที่มีลำน้ำใหญ่ไหลผ่าน จะพบถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมาย คือตัวลำน้ำ หาดทราย ห้วยเล็กห้วยน้อยอันเป็นลำน้ำสาขา พรุซึ่งมีน้ำขัง ฝั่งน้ำ หน้าผา ถ้ำป่าบนที่ดอนซึ่งก็มีหลายประเภท แต่ละถิ่นกำเนิดก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่แตกต่าง กันไป เช่น ลำน้ำพบควายป่า หาดทรายมีนกยูงไทย หน้าผามีเลียงผา ถ้ำมีค้างคาว เป็นต้น เมื่อแม่น้ำใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ภายหลังการสร้างเขื่อนความหลากหลายของถิ่นกำเนิดก็ลดน้อยลง โดยทั่วไป แล้วที่ใดที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลากหลาย ที่นั้นจะมีชนิดสิ่งมีชีวิตหลากหลายตามไปด้วยสิ่งมีชีวิตบางชนิดอาศัยถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายรูปแบบ เช่น กระทิง วัวแดงบางครั้งก็หากินในทุ่งหญ้า บางครั้งก็หากินในป่าโปร่ง บางครั้งก็หากินในป่าดิบมีการโยกย้ายหากินไปตามฤดูกาล ตัวอ่อนแมลงที่อาศัยในน้ำอันเป็นอาหารสำคัญของปลา บางตอนของวงจรชีวิตของแมลงเหล่านี้ก็อาศัยอยู่บนบกปลาบางชนิดตามลำน้ำก็อาศัยผลไม้ป่าเป็นอาหาร การทำลายป่าเป็นการทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำได้เช่นกัน การรักษาความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ โดยเฉพาะ ในที่หนึ่งๆ ให้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายประเภทอยู่ใกล้กันจะทำให้สิ่งมีชีวิตมีมากชนิดเพิ่มขึ้นด้วย

 

ความหลากหลายของการทดแทน (Successional Diversity) ในป่านั้นมีการทดแทนของสังคม
พืช กล่าวคือเมื่อป่าถูกทำลายจะโดยวิธีใดก็ตาม เช่น ถูกแผ้วถาง พายุพัดไม้ป่าหักโค่น เกิดไฟป่า น้ำท่วม หรือแผ่นดินถล่ม เกิดเป็นที่โล่ง ต่อมาจะมีพืชเบิกนำ เช่น มีหญ้าค่า สาบเสือ กล้วยป่าและเถาวัลย์ เกิดขึ้นในที่โล่งนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็มีต้นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วเกิดขึ้น เช่น กระทุ่มน้ำ ปอหูช้าง ปอตองแตบ นนทรี เลี่ยน เกิดขึ้น และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรบกวน ป่าดังเดิมก็จะกลับมาอีกครั้ง เราเรียกกระบวนการนี้ว่าการทดแทนทางนิเวศวิทยา (Ecological Succession) สิ่งมีชีวิตบางชนิดปรับตัวให้เข้ากับยุคต้นๆ ของการทดแทน บางชนิดก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสุดท้าย ซึ่งเป็นป่าบริสุทธิ์ (virgin forest) ในทางภาคเหนือตามป่าดิบเขาเมื่อเกิดที่โล่ง เช่นดินพัง หรือตามทางชักลากไม้ จะพบลูกไม้สนสามใบเกิดขึ้นมากมายตามพื้นดิน ในป่าทึบจะไม่พบลูกไม้สนเหล่านี้ ต้นกำลังเสือโคร่งก็เช่นเดียวกันคือชอบขึ้นตามที่โล่ง ในบริเวณป่าดิบเขาที่ไม่ถูกรบกวนจะไม่พบต้นไม้เหล่านี้ ในป่าดิบทางภาคใต้ในยุคต้นของการทดแทนจะพบต้นปอหูช้าง ปอตองแตบ กระทุ่มน้ำ ส้าน ลำพูป่า เป็นต้น ป่านั้นเป็นสังคมพืชที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการทดแทน กระบวนการทดแทนก่อให้เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นกปรอดหัวโขนมักพบตามป่าละเมาะ และทุ่งหญ้า ชอบทำรังตามไม้พุ่ม หรือต้นไม้ที่ไม่สูงใหญ่ส่วนนกเงือกอยู่ตามป่าทึบหรือป่าบริสุทธิ์ดังเดิม กระบวนการทดแทนตามธรรมชาติช่วยรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และบางทีก็เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน และเกษตร ตัวห้ำที่กิน แมลงศัตรูพืชก็มักพบตามทุ่งหญ้าริมป่า พืชกินได้หลายชนิดพบตามป่ารุ่นสอง (secondary forest) หรือที่เรียกว่าป่าใส (ภาคใต้) หรือป่าเหล่า (อีสาน) นอกจากนี้ชาวบ้านยังเก็บหาฟืน ผลไม้ สมุนไพร และอาหารหลายชนิดจากป่ารุ่นสองเหล่านี้ นับเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชาวบ้าน ป่าเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปปลูกสร้างสวนป่าขึ้นมาใหม่เสมอไป

 

ความหลากหลายของภูมิประเทศ (Landscape Diversity) ในท้องที่บางแห่งมีถิ่นกำเนิด ตาม
ธรรมชาติมากมาย เช่น ลำน้ำ บึง หาดทราย ถ้ำ หน้าผา ภูเขา หุบเขา ลานหิน และมีสังคมพืชในหลายๆ ยุคของการทดแทน มีทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และป่าทึบ ที่เช่นนี้จะมีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมาย ผิดกับในเมืองหนาวที่มีต้นไม้ชนิดเดียวขึ้นอยู่บนเนื้อที่หลายร้อยไร่ มองไปก็เจอแต่ต้นไม้สนเพียงชนิดเดียว
 
ประเทศไทย-แหล่งหนึ่งของโลก ที่มีทรัพยากรชีวภาพหลากหลาย

 

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ตั้งอยู่บนคาบสมุทร ภูเขาทางภาคเหนือเป็นเทือกเขาที่ติดต่อกับเทือกเขาหิมาลัย และมีทิวเขาทอดตัวลงทางใต้ เช่นเทือกเขาธงชัย เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่า นอกจากนี้ยังมีเทือกเขา ภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราชทอดตัวลงทางใต้ลงไปถึงชายแดนจดเทือกเขาสันกาลาคีรี ส่วนทางภาคกลางต่อภาคอีสานก็มีเทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นชายแดนไทยกัมพูชา ประเทศไทยเป็นที่รวมของพรรณพืช
3 เขต คือ (1) Indo-Burma, (2) Annmetic และ (3) Melesia และเป็นที่รวมของพันธุ์สัตว์ 3 เขต คือ Sino-Himalayan, Indo-Chinese และSundaic ประเทศไทยเป็นรอยต่อระหว่างป่าดงดิบชื้นกับป่าผลัดใบเขตร้อนของโลก

 

ในประเทศไทยสังคมพืชนั้นหลากหลาย อยู่ชิดติดต่อกันคล้ายโมเสค (Mosaic of Vegetation)
บ่อยครั้งที่พบว่าริรมห้วยเป็นป่าดิบมีหวาย สูงขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบ และห่างออกไปไม่มากเป็น ป่าเต็งรัง สูงขึ้นไปอีกนิดเป็นป่าดิบเขา สังคมพืชต่างๆ นี้อยู่ใกล้ชิดติดต่อกัน จำนวนสิ่งมีชีวิตก็หลากหลายตามไปด้วย หรือบนภูเขาหินปูนแถบกาญจนบุรีบนด้านลาดทิศใต้เป็นป่าไผ่ ส่วนด้านลาดทิศเหนือเป็นป่าผลัดใบ มีไม้ตะแบกและไผ่รวมกัน แต่ตามริมห้วย และสันเขาเป็นป่าดงดิบ

 

ประเทศไทยมีพืชที่มีท่อลำเลียง 10,000 ชนิด (ความจริงในภูมิภาค Melesian มีพรรณไม้ดอก
25,000 ชนิดประมาณ 10% ของพืชในโลก) ไทยมีหวาย 55 ชนิด ในโลกมีหวายทั้งหมด 600 ชนิด มีไผ่ 41 ชนิด ขณะที่ในเอเชียอาคเนย์มีไผ่ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด มีต้นไม้ในวงศ์ยาง 65 ชนิด ขณะที่ทั้งโลกมีต้นไม้ในวงศ์ยาง 500 ชนิด เรามีกล้วยไม้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด นก 916 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 282 ชนิด สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก 105 ชนิด งู 160 ชนิด เต่า 28 ชนิด ปลาน้ำจืด 600-650 ชนิดใต้คอคอดกระ ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น (Tropical Rain Forest) มีไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpeae) เป็นไม้เด่น มีจำนวนชนิดพรรณพืชมากที่สุด คล้ายคลึงกับป่าในทางมาเลเซีย มีความสลับซับซ้อน ยิ่งเป็นป่าดิบที่ลุ่มต่ำแล้ว จะมีพรรณพืชต่อหน่วยเนื้อที่มากที่สุด มีพืชจำพวกหวาย พืชในวงศ์ขิงข่าและพวกปาล์มหลายชนิด เช่น ระกำ หลุมพี ต๋าว หรือลูกชิด มีพืชสมุนไพรมากมายจนคนป่าซาไกดำรงชีวิตอยู่ในป่าประเภทนี้ ได้รับฉายานามว่า จ้าวแห่งสมุนไพร เหนือคอคอดกระ ภูมิอากาศมีฤดูกาลชัดเจนขึ้น มีป่าดงดิบที่สำคัญประเภทหนึ่งคือ ป่าดิบแล้ง (Dry Dvergreen Forest) ซึ่งอยู่ระหว่าง ป่าดิบชื้นกับป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งนี้มีต้นไม้ในวงศ์ไม้ยางน้อยกว่าป่าดิบขึ้นทางใต้แต่มีเปอร์เซ็นต์พืชประจำถิ่น (endemic) สูง เช่น ตะเคียนหิน เคียมคะนอง สะเดาปัก ความจริงแล้ว ป่าชนิดนี้มีจำนวนชนิดพืชมากที่สุดในเขต Indo-Burma มีไม้ผลมากมาย เช่น คอแลน (ลิ้นจี่ป่า) หยี มะม่วงป่า ขนุนป่า สะตอ มะไฟ มะหวด เป็นต้น ป่าชนิดนี้มักพบไม่เกิน 400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ตัวอย่างป่าดิบแล้ง ที่สำคัญคือ ป่าดงพญาเย็น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ป่าดิบแล้งในประเทศไทยได้ถูกทำลายเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดและที่เกษตรกรรมเกือบหมดแล้วเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยในเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น เขาใหญ่ ทับลาน และที่เป็นผืนใหญ่สุดท้ายคือบริเวณป่าพนมสารคามหรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และมีเป็นแถบเล็กๆ ระหว่าง ชายแดนประเทศไทยกับกัมพูชา ครั้งหนึ่งป่าชนิดนี้เคยมีมากในภาคอีสานและภาคกลาง

 

ป่าผลัดใบในประเทศมีจำนวนชนิดพืชน้อยกว่าป่าดงดิบ ที่สำคัญคือ เบญจพรรณผลัดใบ (Mixed
Deciduous Forest) ซึ่งนอกจากมีไม้มีค่า เช่น สัก แดง ประดู่ มะค่า ตะแบก แล้ว ยังมีไม้ไผ่นานาชนิด มีพืชที่เป็นอาหารได้หลายอย่าง ทั้งที่เป็นใบ ดอก ผล เห็ดและพืชหัว เช่น มัน กลอย ป่าชนิดนี้ไม่มีต้นไม้ในวงศ์ไม้ยาง เนื่องจากมีไม้มีค่า ดินก็ดีป่าชนิดนี้จึงถูกรบกวน ทำลาย เปลี่ยนเป็น ไร่อ้อย ไร่สับปะรด ยาสูบ และนาข้าว ปัจจุบันจะหาป่าที่สมบูรณ์มีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้สักที่มีสภาพดีแทบจะหาไม่ได้แล้ว ป่าชนิดนี้มักอยู่ไม่เกิน 700 เมตร พบตามภูเขาต่างๆ ในภาคเหนือ ป่าสักโดยทั่วไปแล้วมีต้นสัก อยู่เพียง 10-20% บริเวณที่มีได้สักอุดมสมบูรณ์ มักอยู่ใกล้ลำน้ำ บนภูเขามีต้นสักไม่มาก ป่าสักผืนใหญ่ผืนสุดท้ายอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งกำลังจะสร้างเขื่อนในบริเวณดังกล่าว

 

ป่าผลัดใบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) เป็นป่าโปร่งผลัดใบ
มีไม้วงศ์ยางที่สำคัญคือ เต็ง รัง เหียงและพลวงและพบพรรณไม้ยาง ไม้ผลัดใบที่กระจายจากตะวันออก (Indo-Burma element) คือ ต้นพยอม และไม้วงศ์ยางที่กระจายจากตะวันออกสู่ตะวันตก (Indo-Chinese element) คือ ต้นยางกราด ป่าเต็งรังความจริงพบเฉพาะในเขมร ลาว ไทย พม่า เท่านั้น ปรกติมักไม่พบไม่ไผ่ ในป่าชนิดนี้ ยกเว้นหญ้าเพ็ด โจด ป่าชนิดนี้ทนต่อการตัดฟัน ให้ไม้ใช้สอย เช่น ฟืน ใบตองตึงและอาหาร เช่น ผักหวาน เห็นชนิดต่างๆ ป่าชนิดนี้มีมากในอีสานและภาคเหนือ แต่ถูกทำลาย ที่ใดเป็นที่ราบเปลี่ยนเป็นนาข้าว ที่ดอนก็เปลี่ยนเป็นไร่ปอ ไร่มันสำปะหลัง ป่าเต็งรังพบมากในที่ราบสูงโคราช ส่วนในภาคเหนือก็อยู่ตามภูเขามักไม่เกินระดับ 1,000 เมตร ในระดับสูง 1,000 จะพบไม้สนสองใบเข้ามาปะปนอยู่ด้วย

 

ในที่สูงเกิน 1,000 เมตร มักพบป่าดิบเขาซึ่งรวมพืชเขตอบอุ่น (Temperate) ไว้ถึง 59 ชนิด ไม้ก่อ
ของไทยมีถึง 94 ชนิด หรือประมาณร้อยละ 19 ของไม้ก่อทั้งหมดในเอเชียอาคเนย์ ป่าดิบเขาในแต่ละภาคไม่เหมือนกัน ป่าดินเขาในทางภาคเหนือได้รับอิทธิพลของพันธุ์พืชเขตเทือกเขาหิมาลัยและจีนใต้ ภาคอีสานได้รับอิทธิพลของพันธุ์พืชเขตเทือกเขาอันนัม และจีนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลของพันธุ์พืชเทือกเขาพนม กระวานและเขมรต่ำส่วนภาคใต้ได้รับอิทธิพลของพันธุ์พืชเขตมาเลเซีย ป่าดิบเขามีต้นไม้ในวงศ์ยางไม่มี และพบไม้พวกสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนสามใบอยู่เป็นหย่อมๆ

 

ป่าบนเขาหินปูนก็มีลักษณะพิเศษ มีการศึกษากันน้อย ภูเขาหินปูนของดอยเชียงดาวมีสังคมพืชกึ่ง
อัลไพน์ ซึ่งประกอบด้วยพืชล้มลุกและไม้พุ่มภูเขาหินปูนที่มีลักษณะแบบ Karst ซึ่งมีกระจัดกระจายในภาคกลางและภาคใต้จะมีป่าแคระ จำนวนชนิดพืชมีหลายอย่าง และมีเปอร์เซ็นต์พืชประจำถิ่นสูง พืชพื้นล่างมีหลายชนิด เช่นรองเท้านารีชนิดต่างๆ และพวกปาล์ม

 

ป่าที่น้ำจืดท่วมถึง ปัจจุบันมีเหลือน้อยมาก ป่าชนิดนี้เมื่อก่อนอยู่ตามแม่น้ำใหญ่ๆ เช่นลุ่มแม่น้ำ
เจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำตาปี สังคมพืชน้ำท่วมถึงลุ่มแม่น้ำมูล ชาวบ้านเรียกว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม มีไม้พุ่ม หวาย เหลืออยู่น้อยมากในภาคใต้ตอนล่างปีป่าพรุ (Peat Swamp Forest) ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดจัดมีหวายตะคร้าทอง หมากแดง สะท้อนนก ความจริงป่าชนิดนี้มีพืชชั้นสูงไม่น้อยกว่า 300 ชนิด มีพืชในวงศ์ปาล์มและหวายถึง 13 ชนิด ป่าพรุปัจจุบันเหลือเพียงเล็กน้อยในจังหวัดนราธิวาส และถูกรบกวนเปลี่ยนสภาพไปมาก

 

ป่าชายเลนตามชายฝั่งทะเลมีพรรณไม้ถึง 74 ชนิด เคยมี 2.3 ล้านไร่เป็นป่าที่น่าเป็นห่วง ถูกทำลาย
ไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง การทำเหมืองแร่ นาเกลือ การขยายเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้การควบคุมการ ทำไม้ก็ยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้ป่าเลื่อมโทรมไปมาก ป่าชายเลนนอกจากมีคุณค่าในตัวเองแล้ว ยังมีส่วนเกื้อกูลในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ ของทรัพยากรทางทะเลอีกด้วย ส่วนฝั่งทะเลที่เป็นทรายก็มีป่าชายหาด (Beach Forest) ถูกบุกรุกเป็นที่อยู่อาศัยและทำสวนมะพร้าว เหลือน้อยมาก เช่นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

 

สังคมพืชนั้นมีลักษณะเป็นโมเสค ตามริมน้ำมีสภาพป่าที่ชอบความชุ่มชื้นสูง เมื่อห่างจากลำน้ำ
สภาพป่าก็เปลี่ยนไป ตามเชิงเขาและสันเขาบางครั้งก็พบป่าคนละประเภท จำนวนชนิดของสัตว์ และพืชจะลดลงเมื่อความสูงจากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ในป่าดงดิบภาคใต้มีนกมากกว่า 30 ชนิด อาศัยเฉพาะริมน้ำร้อยละ 90 ของนกในป่าดงดิบจะอยู่ต่ำ กว่าระดับ 2,000 เมตร และส่วนใหญ่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในป่าดิบจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 350 เมตร ป่าที่ลุ่มต่ำจึงมีความสำคัญสูงในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศได้สูญเสียป่าที่ลุ่มต่ำผืนใหญ่ๆ ไปเกือบหมดแล้ว เพราะมีลุ่มต่ำมักถูกทำการเพาะปลูกและอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่าสิบเขื่อนแล้ว ป่าที่ลุ่มต่ำผืนใหญ่ชิ้นสุดท้ายได้อยู่ภายใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานทุกวันนี้ ไม่มีใครได้พบเห็นทุเรียนป่าและมังคุดป่า ทั้งนี้ก็เพราะไม้ผลสองชนิดนี้ตามธรรมชาติเกิดอยู่ในป่าตามหุบเขา และที่ลุ่มน้ำท่วมในฤดูฝน ซึ่งที่เช่นนี้ถูกเปลี่ยนเป็นที่เพาะปลูกไปหมดแล้ว นับเป็นสิ่งน่าเสียดายที่สูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมของไม้ผลทั้งสองอย่าง ซึ่งมีความหลากหลายในพันธุ์ป่า พรรณพืชบางชนิด เช่น Damrongia purpureolineata ซึ่ง Dr. Kerr ได้ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบที่แก่งแม่ปิง ปัจจุบันไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลยภายหลังการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

 

สิ่งมีชีวิตใช้เวลานานในการกำเนิด และวิวัฒนาการ ที่ใดมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่นั้นย่อมมีกระบวนการทางนิเวศวิทยาที่สลับซับซ้อนและมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสูง สิ่งมีชีวิตบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว
ก็แพร่พันธุ์กว้างไกลไปทั่วโลก แต่มีมากมายหลายชนิดที่อยู่เฉพาะที่ เฉพาะแห่งเท่านั้นดังนั้นมุมต่างๆ ของโลกย่อมมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไป เช่นป่าไม้สักพบเฉพาะในอินเดีย พม่า ไทย และลาวเท่านั้น เราเสียดายหากสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแล้ว หรือไม่สามารสร้างขึ้นมาใหม่ได้และ ไม่มีโอกาสวิวัฒนาการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกต่อไป ยิ่งในปัจจุบันเราสามารถถ่ายทอดยีนส์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ทำให้สูญเสียแหล่งยีนส์ที่มีลักษณะพิเศษ และมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษย์ชาติ

 

ความจริงแล้วการสูญพันธุ์นั้นเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในที่สุดก็จบลงด้วยการ
สูญพันธุ์เหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่องอัตราเร็วของการสูญพันธุ์ กล่าวคือ ภายใต้สภาพการตามธรรมชาติตลอดชั่วระยะเวลาที่โลกเราได้วิวัฒนาการมานั้น อัตราการสูญพันธุ์จะมีน้อยกว่าอัตราวิวัฒนาการเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ฉะนั้น ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตจึงมีเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ในอดีตหลายล้านปีมาแล้วอาจมีบางช่วงที่มีการสูญพันธุ์ขนาดใหญ่เกิดขึ้นในโลกนี้แต่ก็มีบางช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือภายหลังที่มนุษย์เราได้เจริญขึ้น เข้าสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรม มีการทำลายถิ่นกำเนิดธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตหลายอย่างโดยกิจกรรมที่เรียกว่าการพัฒนา อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีมากกว่า 1,000 เท่าของที่ควรจะเป็นในธรรมชาติ ขณะนี้สรรพสิ่งมีชีวิตของโลกได้ถูกทำลายสูญพันธุ์จนเหลือต่ำสุดในรอบ 65 ล้าน ปีที่ผ่านมา และอีก 20 ปีข้างหน้าจะสูญพันธุ์ไปถึง 1 ใน 4 ของที่เคยมีในปี พ.ศ.2525 การทำลายป่าเป็นเหตุที่สำคัญของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เพราะป่าไม้เป็นที่รวมของสรรพสิ่งมีชีวิตมากมาย และถ้าหากสิ่งมีชีวิตในโลกเรามีถึง 10 ล้านชนิด อัตราการทำลายป่าขณะนี้ ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกสูญพันธุ์ไปวันละ 50-150 ชนิด ซึ่งสูงกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา

 

สิ่งที่มนุษย์เราได้รับจากระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มากมาย ที่เห็นได้ชัดก็คือ
ประโยชน์ทางตรง วัสดุธรรมชาติมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม สามในสี่ของประชากรในโลกนั้นใช้พืชสมุนไพรจากป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอุตสาหกรรมผลิตยาที่สกัดจากวัสดุธรรมชาติมูลค่านับแสนล้านบาท หนึ่งในสี่ของยาที่ใช้กันในสหรัฐในขณะนี้ มีตัวยาที่สกัดจากพืช ยาที่สำคัญใช้กันมากในโลกนั้นพบครั้งแรกในพืช เช่น ควีนิน แอสไพริน (จากเปลือกของต้นหลิว) ในเมืองจีนใช้สมุนไพรกว่า 5,100 ชนิด ส่วนในโซเวียตใช้พืชสมุนไพรมากกว่า 2,500 ชนิด องค์การ อนามัยโลกสนับสนุนให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น ยาปฏิชีวนะมากกว่า 3,000 ชนิด ก็สกัดมาจากราภายในดิน

 

มนุษย์เรานั้นพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และจุลินทรีย์นอกจากได้ใช้สิ่งมีชีวิต
ต่าง ๆ เป็นยาดังกล่าวแล้ว อาหารทั้งหมดและวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ได้จากสิ่งมีชีวิตที่พบในธรรมชาติ หรือที่มนุษย์นำมาเพาะเลี้ยง ปลาส่วนใหญ่ที่บริโภคก็ได้จากธรรมชาติ ป่านั้นเป็นที่รวมสารรพสิ่งมีชีวิตไว้มากมาย พืชเกษตรหลายชนิดก็ถือกำเนิด มาจากป่า ไม่ว่าจะใช้เป็นอาหาร และเป็นไม้ดอกไม้ประดับก็ตาม ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมาได้นำพืชป่าที่เป็นญาติของพืชเกษตรมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ ทำให้ผลผลิตของข้าว ฝ่าย อ้อย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้ผลผลิตมะเขือเทศเพิ่ม 3 เท่า ส่วนข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลังผลผลิต เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวทรัพยากรที่เป็นสิ่งมีชีวิตสามารถทำเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญได้เช่นกัน การท่องเที่ยวในอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านำ เงินตราเข้าประเทศ และทำให้เงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น
 
พรรณพืชที่เป็นประโยชน์บางชนิด

 

ประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งไม้ผลที่สำคัญของโลก เช่นจำพวกขนุน (Artocarpus helerophyllus) จำปาดะ (A.integer) พืชจำพวกขนุนป่าในป่าของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มี45 ชนิด ส้ม (Citrus) มี
ญาติในป่าจำนวนพอๆ กัน ทุเรียน (Durio zibethinus) ซึ่งมีญาติดั้งเดิม 5 ชนิด เช่น ทุเรียนดอน ทุเรียนนก ทุเรียนป่า ส่วนชมพู่ป่า (Eugenia aquaea) ชมพู่สาแหรก (Eugenia malaccensis) และพวกหว้าชนิดต่างๆ ที่มีผลรับประทานได้เกือบ 50 ชนิด พืชในสกุลหว้านี้ในแถบ Melesia มี 700 ชนิด จำนวนมังคุด (Carainia mangostana) ส้มแขก (G.artovirdis) ชะมวง (G.Cowa) มีถึง 23 ชนิด ในสกุลนี้ทั้งหมดมีประมาณ 200 ชนิด ลางสาด (Lansium domesticum) มะม่วง (Mangifera indica) มะมุด (M.foetida) สกุลนี้ในเมืองไทยมี 16 ชนิด ส่วนในภูมิภาคทั้งหมดมี 23 ชนิด หลายชนิดมีผลรับประทานได้ กล้วยป่าก็มีหลายชนิด เงาะ (Nephelium Iappa ceum) คอแลน (N.hypoleucum) เงาะขนสั้น (N.mutabile) มีญาติในป่า 20 ชนิด พวกระกำ (Salacca rumphii) สละ (S.edulis) หลุมพี (S.conferta) มี 12 ชนิด ป่าเมืองไทยจึงเป็นที่รวมพันธุกรรม (Gene pools) ของไม้ผลที่สำคัญไว้มากมายทีเดียว

 

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีไม้พืชพวกอบเชย (Cinnamomum) กระวาน
(Amomum) กานพลู (Eugenia carophyllus) จันทน์ป่า (Myristica fragrans) พริกไทย (Piper nigrum) ดีปลี เป็นเครื่องเทศที่สำคัญ และญาติในป่าอีกหลายร้อยชนิด ส่วนสมุนไพรมีอยู่ในป่าทุกประเภท

 

พืชที่เป็นประโยชน์ในไทยนั้นมีมากจริงๆ ส่วนต้นไม้ที่ให้เนื้อไม้ที่สำคัญในระดับโลกก็ได้แก่ไม้สัก
และไม้ในวงศ์ยาง (Dipterocarps) ซึ่งเป็นไม้สูงใหญ่ เปลาตรง ให้เนื้อไม้มาก เมืองไทยมีถึง 65 ชนิด ไม้ในวงศ์ยางมีมากที่สุดเฉพาะในเอเชีย อาคเนย์ ในแอฟริกามีเพียงอนุวงศ์ (sub family) เล็กๆ ซึ่งมีเพียง 2 สกุล อเมริกาใต้มีอนุวงศ์เดียวและชนิดเดียว ในไม้วงศ์ยางส่วนมากเป็นไม้ ในป่าดิบ แต่ในประเทศไทยมีไม้วงศ์ยางในป่าผลัดใบ เช่น เต็งรัง เหียง พลวง กราด ซึ่งในซีกโลกใต้ไม่มี นอกจากนี้ในป่าก็ยังมีไม้ที่ให้เนื้อไม้ชั้นดีอีกหลายชนิด เช่น มะค่า พยุง ชิงชัน ประดู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้หอมซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
 
ปัจจัยที่มีผลต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีหลายประเภทดังกล่าวแล้ว หากความหลากหลายประเภทหนึ่งลดลงจะทำให้ความหลากหลาย อีกประเภทลดตามลงไปด้วย เช่น หากความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง ก็จะทำให้ความหลากหลายในเรื่อง
ชนิดหรือสปีชีส์ลดตามลงไปด้วย

 

(1) สิ่งมีชีวิตใดก็ตาม หากมีจำนวนประชากรลดลงมากๆ ก็จะทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรม
ลดลงด้วย และในที่สุดก็จะสูญพันธุ์ไป ดังนั้นการล่า หรือเก็บหา หรือตัดต้นไม้มากเกินไปก็เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ประชากรของสิ่งมีชีวิตต้องมีจำนวนอย่างน้อยที่สุดอยู่จำนวนหนึ่งถึงจะดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ เราเรียกขนาดของประชากรที่เล็กสุดที่ควรจะมีว่า Minimum Viable Population ความจริงแล้ว มีหลายปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดขนาดของประชากรเล็กสุดที่ควรจะมี เช่นความหลากหลายทางพันธุกรรม อัตราการเกิด อัตราการตาย การเคลื่อนย้าย ความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมและโอกาสการเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือจากมนุษย์ เป็นต้น

 

(2) การลดขนาดหรือแบ่งแยกถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ (Habitat) เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย หรือการ
ทำลายถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ หรือการลดความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ เช่นการสร้างเขื่อน นอกจากทำให้ป่าริมลำน้ำถูกทำลายไปแล้ว อ่างเก็บน้ำซึ่งมีความยาวหลายสิบกิโลเมตรยังแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติควรมีขนาดใหญ่ให้พอเพียงที่จะให้ประชากรของสิ่งมีชีวิตดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ พื้นที่อนุรักษ์ควรมีขนาดเล็กสุดเท่าไร คำตอบในเรื่องนี้ไม่ง่ายนัก แต่การค้นคว้าวิจัยในแถบลุ่มน้ำอเมซอน ได้ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่อนุรักษ์ต้องมีขนาดใหญ่กว่าที่เราเคยนึกคิดมากก่อนเสียอีก การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไป

 

(3) การนำสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืชมาใช้ ซึ่งนอกจากทำลายสิ่งมีชีวิตโดยตรงแล้วก็
ยังทำลายพืชคลุมดิน การที่ไม่มีพืชคลุมดินทำให้การกัดชะหน้าดินมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำลายแมลงที่ช่วยผสมเกสรของพืช

 

(4) การนำสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นไม่ว่าพืชหรือสัตว์ ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรม และความหลาก
หลายของชนิดสิ่งมีชีวิตลดลง ผลกระทบจะรุนแรงในภูมิประเทศที่เป็นเกาะ เช่น การนำ สุนัข แมว หนู แพะ และแกะเข้ามาทำให้นกบางชนิดสูญพันธุ์ได้ หรือการนำต้นไม้ต่างถิ่นเข้ามาปลูก ทำให้นก แมลงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของท้องถิ่นไม่มีที่อยู่อาศัย การปลูกพืชเกษตร หรือการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวเพื่อการอุตสาหกรรม ทำให้สิ่งมีชีวิตดังเดิมลดน้อยลงไป

 

(5) มลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สาร DDT นอกจากทำลายจุลินทรีย์ในดิน และฆ่าแมลง
แล้วยังมีผลกระทบไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นตามห่วงโซ่อาหาร เช่น นก เป็นต้น โรงงานอุตสาหกรรมอาจปลดปล่อยสารพิษที่ทำให้ต้นไม้ตาย และที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีลำน้ำชีเน่าในเดือนมีนาคม 2535 ได้ทำลายเผ่าพันธุ์ของปลาในลำน้ำยาวถึง 650 ก.ม. ทำให้ปลาตายนับแสนตัน

 

(6) อากาศของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งคาดคะเนกันว่าอากาศของโลกจะร้อนขึ้น 1-3 C ในศตวรรษหน้า
ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 1-2 เมตร เกาะบางแห่งต้องจม ขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งเปลี่ยนไป ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเปลี่ยนไปด้วย
 
ป่ารุ่นสอง

 

การเกิดป่ารุ่นสอง (Secondary forest) ช่วยทำให้ป่าดั้งเดิมกลับคืนมาได้อีก ป่ารุ่นสองในระยะต้นๆ จะมีต้นไม้ขนาดเล็กกว่าป่ารุ่นสองในระยะปลาย ซึ่งมีต้นไม้อายุยืนนานกว่า เนื่องจากป่ารุ่น
สองอยู่ใกล้คน จึงมีพรรณพืชที่มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์หลายชนิด ป่ารุ่นสองนั้นช่วยให้ดินและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพิ่มอินทรีย์วัตถุให้ดินทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินขึ้นอีกครั้งด้วยกระบวนการฟื้นตัวเองตามธรรมชาตินี้เอง หลักการนี้จึงได้นำไปใช้ในการทำไร่แบบหมุนเวียน กล่าวคือหลังจากปลูกพืช 1-3 ปี ก็ปล่อยให้ทีดินมีพืชป่าปกคลุมอีกครั้ง ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับมาอีก

 

ประโยชน์ของป่ารุ่นสองอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นที่รวมของต้นไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว ไม้โตเร็วพวกนี้ใช้ปราบ
วัชพืช และปลูกสร้างสวนป่าได้ดี เนื้อไม้ก็ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ชิ้นไม้สับ รองเท้าไม้ ลังใส่ของ ไม้ฟืน และสกัดสารเคมี ไม้ในป่ารุ่นสองที่สำคัญ เช่น พวกพฤกษ์ หรือจามจุรีป่า (Albizia) กระทุ่มน้ำ (Anthocephalus) ซ้อ (Gmelina) ปอตองแตบ (Macaranga) สน (Pinus) พังแหร (Trema) ตะแบก (Lagerstrocmia) ตลอดจนไผ่หลายชนิด

 

พืชในป่ารุ่นสองมักมีใบเป็นอาหารโอชะของสัตว์กินพืช เช่น แมลง และสัตว์ใหญ่กินพืช เมื่อมีแมลง
มากนกกินแมลงก็มีมากด้วย นอกจากนี้ต้นไม้ในป่ารุ่นสองหลายชนิดมีผล นกกินได้ ให้ผลเร็ว อายุเพียง 2-3 ปี ก็ออกดอกออกผล นกกินผลไม้ก็มีมาก สัตว์จึงมีมากในป่ารุ่นสอง เช่นนกขุนทองมีมากตามป่าโล่งๆ ที่เป็นป่ารุ่นสอง ที่มีไม้ใหญ่เป็นโพรงอยู่กระจัดกระจาย
 
การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้

 

ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านป่าไม้นั้นมีวิธีการหลักอยู่ 3 วิธีคือ
1. จัดทำพื้นที่อนุรักษ์ในบริเวณที่มีระบบนิเวศธรรมชาติ หรือใกล้เคียงธรรมชาติ เช่นจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น
2. ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ซึ่งก็นับเป็นวิธีช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรได้ระดับหนึ่ง การฟื้นฟูนั้นมีหลายวิธีนับ
ตั้งแต่การปลูกต้นไม้พื้นเมืองชนิดเดียว หรือสองสามชนิด จนกระทั่งถึงจัดให้มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติเพื่อให้ป่าฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้ป่าดั้งเดิมได้ถูกทำลายไปมากแล้ว วิธีนี้นับว่าจะมีบทบาทมากขึ้น วิธีนี้จะให้ประโยชน์ได้สองอย่าง คือมนุษย์ได้ใช้สอยบ้าง ในขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาทรัพยากรทางชีวภาพได้บางส่วน
  3. การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเป็นรายชนิดนอกถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ เช่นอนุรักษ์ในสวนสัตว์ สวนพฤกษ
ศาสตร์ สถานที่แสดงพันธุ์ปลา และธนาคารเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น วิธีนี้อาจใช้ได้ดีในกรณีที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ตามธรรมชาติ แต่วิธีนี้ก็เป็นการอนุรักษ์ชั่วคราว หวังว่าสักวันหนึ่งคงจะได้นำกลับไปสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
 
พื้นที่อนุรักษ์ (Protected Areas)

 

พื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่อนุรักษ์ควรเป็นหน่วยทางนิเวศวิทยาที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่พอ
เพียง มีหลายๆ กรณีที่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นต้องการเนื้อที่ในการดำรงชีวิตที่ครอบคลุมถิ่นกำเนิดธรรมชาติหลายประเภทในการดำรงชีพซึ่งต้องการเนื้อที่มากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้ประกาศเสียอีก 88 % ของนกป่าในประเทศไทยปรากฏอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเพียง 7.8% เท่านั้น

 

พื้นที่อนุรักษ์ยิ่งมีขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของแนวขอบป่า (edge effect) มาก
อิทธิพลแนวขอบผ่า (edge effect) ก็คืออัตราส่วนระหว่างระยะทางของแนวขอบป่ากับเนื้อที่ภายในตามแนวขอบป่า แสงสว่างจะส่องเข้าไปข้างในป่าได้มาก อากาศใกล้ผิดดินตามแนวขอบป่าก็ผันแปรมากเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น พืชหลากชนิดได้ปรับตัวเองให้เข้าอยู่กับสภาพภายในป่าตามขอบป่าอยู่ไม่ได้ การมีขอบป่ามากๆ มลพิษ และคนอพยพเข้าไปทำลายได้ง่าย

 

พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีสภาพเป็นเกาะ อยู่ท่ามกลางป่าที่เสื่อมโทรมหรือท่ามกลางบริเวณที่ปลูกพืช
ไร่การแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เช่นโดยการตัดถนน หรือโดยอ่างเก็บน้ำที่เป็นแนวยาว เกิดจากการสร้างเขื่อน จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ในที่สุดความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง พื้นที่ยิ่งมีขนาดเล็ก จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบจะมีจำนวนชนิดลดตามลงด้วย กฎง่ายๆ ตามทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Theory of Island Biogeography) บอกว่า “ถ้าสูญเสียพื้นที่ไป 90% (มีเหลือเพียง 10%) ในที่สุดจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง” พื้นที่อนุรักษ์จึงไม่ควรต่ำกว่า 10% ความจริงโลกเรามีพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3.2 % เท่านั้น

 

ป่าดั้งเดิมนั้นควรเป็นจุดศูนย์กลางอนุรักษ์ แต่ป่าที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังป่าดั้งเดิมถูกทำลาย
(secondary forest) นั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน ป่ารุ่นสองนี้ บางทีเรียกว่าป่าเหล่า ป่าใส หรือไร่ทราก มีพรรณพืชและสัตว์หลายชนิดที่พบเฉพาะในป่ารุ่นสอง แต่ไม่พบในป่าดั้งเดิม มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในป่ารุ่นสองนี้มีพืชอาหารและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์หลายชนิด เปอร์เซนต์พืชที่เป็นประโยชน์ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่พบในป่า ดั้งเดิมเสียอีก ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ป่ารุ่นสอง ไว้เช่นเดียวกัน

 

การป้องกันรักษาป่าโดยวิธีจับกุมปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ
จำเป็นต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันเพื่อมุ่งลดความกดดันที่เกิดจากคนที่มีต่อป่าโดยให้คนผลิตอาหารพอเพียงต่อปากท้อง ดำรงชีพอยู่ได้ มีไม้ใช้สอย ไม่ต้องเบียดเบียนจากป่าธรรมชาติ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ มีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการให้เขาทราบว่า การอนุรักษ์ป่านั้นก็เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่น และรัฐบาลด้วย

 

เมื่อพิจารณาในแง่สังคม และการเมืองแล้ว การอนุรักษ์ป่าที่มีลักษณะเป็นเกาะอยู่ท่ามกลางการ
ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ยากจน มาตรฐานการครองชีพต่ำ และขาดแคลนทรัพยากรพื้นฐานโดยวิธีป้องกันปราบปราม 100 % นั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในกรณีนี้ จะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ 2 แบบ คือบริเวณที่มีคนอยู่กับบริเวณที่ห้ามใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด รัฐเองก็มีทรัพยากร และกำลังคนไม่เพียงพอ การรักษาทรัพยากรโดยวิธีนี้บทเรียนที่ผ่านมาก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าล้มเหลว

 

ควรจัดทำเขตกันชนรอบใจกลางของพื้นที่อนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ที่ดินควรมีหลายรูปแบบลดหลั่น
ไปตามความมากน้อยในการอนุญาตให้คนใช้ประโยชน์จากป่า กล่าวคือจากบริเวณที่ป้องกันห้ามใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาดอันเป็นแกนกลางของการอนุรักษ์ ไปสู่บริเวณที่จำกัดการใช้ประโยชน์เช่น อนุญาตให้เก็บหาผัก สมุนไพร และของป่าได้บ้าง ถัดไปเป็นบริเวณที่อนุญาตให้ตัดไม้ใช้สอยได้ ต่อจากนั้นก็เป็นบริเวณที่ปลูกสวนป่า พื้นที่เกษตรและที่ตั้งบ้านเรือน ในแต่ละโซนอาจมีป่าธรรมชาติเหลือไว้เป็นหย่อมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นเส้นทางในการอพยพ หรือกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์ด้วย

 

แนวความคิดเก่าๆ มักมุ่งอนุรักษ์แต่เฉพาะป่าสมบูรณ์เอาไว้นั้นไม่ได้ผลเช่นเคยมีการอนุรักษ์
ป่าสมบูรณ์ผืนเล็กๆ ไว้ ต่อมาคนเข้าไปเที่ยวเดินเหยียบย่ำต้นไม้ก็เลื่อมโทรมลงตามลำดับ เพราะป่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การอนุรักษ์จึงไม่ควรอนุรักษ์เฉพาะป่าสมบูรณ์ดั้งเดิมเท่านั้น ป่ารุ่นสองก็มีความสำคัญ ป่าก็ฟื้นตัวเองได้ การทดแทนทางนิเวศวิทยานั้นมีตลอดเวลา วันหนึ่งป่ารุ่นสองเหล่านี้ก็กลับเป็นป่าดั้งเดิมได้อีก ป่าดั้งเดิมก็อาจถูกภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น พายุ ไฟป่า แผ่นดินเลื่อนไหล กลายเป็นป่ารุ่นสองได้เช่นเดียวกัน เนื้อที่อนุรักษ์จึงควรกว้างขวางพอที่จะครอบคลุมยุคต่างๆ ของการทดแทน เช่น ป่าใส หรือป่าเหล่า หรือไร่ทรากไว้ด้วย ยุคต่างๆ ของการทดแทนเหล่านี้ ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น

 

การอนุรักษ์ควรวางแผน และจัดการโดยให้มีพื้นที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น อาจให้มีพื้นที่
ถึง 3 โซน คือบางโซนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ บาง โซนเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยป่าธรรมชาติ ส่วนบางโซนเป็นการอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมไว้ตามสภาพธรรมชาติโดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพื่อการใดๆ ทั้งสิ้น ในบางกรณีอาจมีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ เช่นบางพื้นที่มีชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยมานานนับร้อยปีหรือเกาะบางแห่งมีชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่มานาน หากเป็นไปได้ก็ควรให้ชุมชนดั้งเดิมนี้ได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าอนุรักษ์นั้นด้วย โดยให้เขาได้รับผลประโยชน์จากการจัดป่าอนุรักษ์นั้นบ้าง เพื่อบำบัดความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ และให้ป่าอนุรักษ์อำนวยผลประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา
 
ยุทธวิธีในการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้

 

ต้องรักษาป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ไว้ให้ได้ ป่าสมบูรณ์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือป่าสงวนแห่งชาติ ต้องได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินงานที่จะรักษาป่าเหล่า
นี้ไว้ได้อย่างจริงจัง การรักษาป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนี้จำเป็นจะต้องมีการดำเนินงานควบคู่เพื่อลดความต้องการใช้ไม้ลงให้ได้ หรือให้ประชาชนหันไปใช้ไม้ชนิดที่มีการผลิตได้ยั่งยืนกว่า เช่นการหันไปใช้ไม้ยางพาราซึ่งมีแหล่งผลิตได้ยั่งยืนกว่าไม้จากป่าเป็นต้น ความร่วมมือในการอนุรักษ์ระหว่างประเทศก็ต้องมีด้วย ไม่ใช่ว่าอนุรักษ์ป่าในประเทศหนึ่ง แต่ไปทำลายป่าจากอีกประเทศหนึ่ง ป่าสมบูรณ์ในโลกนี้ความจริงเหลือไม่มากนัก

 

การรักษาป่าสมบูรณ์ให้เหลือไว้ได้นั้น จะต้องมีนโยบายการใช้ที่ดินที่แน่นอน นโยบายนี้ควรรวมเรื่อง
การตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชนด้วย ที่ผ่านมาการทำลายป่านั้นเกิดจากนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ขยายการผลิตทางเศรษฐกิจจนทำให้สูญเสียทรัพยากรป่าไม้อย่างมากมาย ดังนั้นการอนุรักษ์ป่าก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างมาก นโยบายฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะป่าไม้ส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเหลือป่าสมบูรณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ขณะนี้มักมีคนตั้งคำถามอยู่เสมอว่าควรจะมีป่าไม้ในประเทศไว้สักเท่าไรควรมีป่าไม้กี่เปอร์เซ็นต์
คำตอบก็มีอยู่สองแง่ คือในแง่ชีวกายภาพ กับในแง่ทางสังคมและการเมือง ในแง่ชีวกายภาพนั้นได้พูดบ้างแล้วตั้งแต่ต้น คือเราต้องการป่าไว้เพื่อประโยชน์ทางนิเวศวิทยาและเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพนั้นอย่างไร ในบางประเทศก็อาศัยความลาดชันของประเทศเป็นเกณฑ์ โดยให้เหลือป่าไว้ในบริเวณที่มีความลาดชันสูง ส่วนในแง่สังคมการเมืองจะเหลือป่าไว้เท่าไรก็ขึ้นอยู่กับความคิดของคนในสังคมนั้นๆ ที่มองประโยชน์ของป่าในแง่ความงามและคุณธรรม ด้านจิตใจที่เจ้าของประเทศมีอยู่ ความงามของป่าเป็นคุณค่าที่มนุษย์ได้เห็น ได้สัมผัสความเป็นธรรมชาติ ส่วนในด้านคุณธรรมก็ยึดหลักว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิด มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ความนึกคิดในด้านคุณธรรมนั้นับวันจะมีความสำคัยขึ้นมาก เช่นเราทราบว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่อาศัยของควายป่าแห่งเดียวที่เหลืออยู่ เราภูมิใจที่มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านี้อยู่ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นควายป่าเลย ในขณะนี้ทั้งๆ ที่มีการวิจัยกันบ้างแต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าควรจะอนุรักษ์ป่าสักกี่เปอร์เซ็นต์จึงจะเหมาะสมที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ดี ป่าธรรมชาติและป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยในขณะนี้นั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรจะรักษาไว้จนกว่าจะมีคำตอบเป็นตัวเลขที่แน่นอน

 

การอนุรักษ์ป่าที่ผ่านการทำไม้และป่าเสื่อมโทรม การอนุรักษ์ป่าเหล่านี้ไว้ก็เพื่อให้พื้นที่นี้
สามารถให้ผลผลิตอำนวยผลประโยชน์แก่ประชาชนได้บ้าง ในขณะเดียวกันก็ได้ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าเสื่อมโทรมนอกจากให้ผลผลิตที่ประชาชนได้เก็บหาใช้ประโยชน์ได้แล้วยังเป็นการอนุรักษ์พืชและสัตว์ที่อยู่ในยุคต้นๆ ของการทดแทน (succession) ความจริงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างมากกว่าป่าเสื่อมโทรมหรือป่าที่มีการตัดฟันไม้นี้ควรทำอย่างไรจึงจะให้ผลผลิตยั่งยืนถาวร และเป็นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ด้วย เช่นมีการทดลองตัดฟันไม้ตามแนวขอบเขา โดยเหลือป่าธรรมชาติเป็นแถบๆ ไว้ในบริเวณที่มีการตัดไม้เป็นต้น

 

การฟื้นฟูป่าขึ้นใหม่ในบริเวณป่าเสื่อมโทรมเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยทั้งเพิ่มผลผลิตและรักษาความ
หลากหลายทางชีวภาพไว้ การฟื้นฟูป่าธรรมชาติอาจใช้วิธีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการจัดการร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนก็ได้ วิธีนี้ประสบความสำเร็จในประเทศอินเดีย และเนปาล คือมีป่าเสื่อมโทรมหลายแห่งที่รัฐมอบอำนาจให้ชุมชนป้องกันรักษาป่า และจัดป่าของชุมชนเอง เมื่อชุมชนได้รับมอบอำนาจดังกล่าว ปรากฏว่าป่าเสื่อมโทรมมีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นด้วย มวลชีวภาพก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

เมื่อมีการปลูกสร้างสวนป่า ก็ควรระลึกว่าสวนป่านั้น นอกจากช่วยลดความกดดันต่อป่าธรรมชาติแล้ว
ส่วนป่าจะต้องช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ทั้งนี้เพราะสวนป่าเองก็เป็นที่อาศัยของพืชและสัตว์ชนิดอื่น ในกรณีที่สร้างสวนป่าเพื่อการอนุรักษ์ควรปลูกต้นไม้ท้องถิ่นเป็นดีที่สุด ทั้งนี้เพราะทั้งพืชชั้นล่างและสัตว์ต่างก็ได้วิวัฒนาการสามารถอยู่ได้กับต้นไม้ท้องถิ่นดีกว่าอยู่กับต้นไม้ที่นำมาจากประเทศอื่น โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีการปลูกสร้างสวนป่าก็มักหวังผลตอบแทนเร็วๆ จึงนิยมปลูกไม้โตเร็วจากต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบทางด้านนิเวศวิทยาตามมาจึงควรมองหาพันธุ์และชนิด ต้นไม้ท้องถิ่นที่โตเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จากการค้นคว้าวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ราชบุรี ได้มีการทดลองปลูกไม้โตเร็วจากประเทศต่างๆ หลายชนิด ภายหลังการทดลอง 5 ปี ก็พบว่าไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นของเราโตเร็วกว่าไม้ที่นำมาจากต่างประเทศเสียอีก สวนป่าจะให้ผลทางนิเวศวิทยามากขึ้นเมื่อปลูกไม้หลายชนิดผสมกัน

 


กลับหน้าแรก