Untitled

http://www.tungsong.com



ประเวศ วะสี

วิสุทธิ์ ใบไม้

สมศักดิ์ สุขวงศ์

ฉลาดชาย รมิตานนท์

ชนวน รัตนวราหะ

ระพี สาคริก

ยศ สันตสมบัติ

ทรัพย์สินทางชีวภาพของชาติ : ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาแบบยั่งยืน
วิสุทธิ์ ใบไม้

 

พระพุทธองค์ได้ชี้นำให้เราท่านทั้งหลายได้ทราบว่าสัจธรรมของสรรพสิ่งทั้งมวลนั้น ล้วนแต่อนิจจังทั้ง
สิ้น สิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมมีเกิด มีอยู่และมีดับตามเงื่อนไขของกาลเวลา ดังนั้นการสูญดับหรือการสูญพันธุ์ (extinction) ของสิ่งมีชีวิตจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ส่วนมากเกินร้อยละ 98 ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนที่ยังเหลืออยู่ให้เราได้เห็นในโลกปัจจุบันนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นเอง การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตส่วนมากในอดีตกาลนั้นเกิดขึ้นตามปกติในอัตราเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ชนิด ยกเว้นในกรณีที่เกิดอุบัติภัยตามธรรมชาติอย่างร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น ก็อาจส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดได้ในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในช่วงระยะ 20-30 ปีที่แล้วมานักวิชาการประเมินการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในอัตราเฉลี่ยสูงถึงประมาณวันละ 1 ชนิด แต่ในปัจจุบันที่มีการพัฒนากันแบบฟุ่มเฟือยและไม่ยั่งยืนฝืนธรรมชาติอย่างรุนแรงโดยการทำลายสภาพธรรมชาติโดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพในแถบที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเขตร้อนของเอเชีย อเมริกาใต้และแอฟริกา ยังผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดเกินความคาดหมาย ประเมินกันว่าเกิดขึ้นในอัตราเฉลี่ยสูงถึงประมาณชั่วโมงละ 1 ชนิดเลยทีเดียว หากปล่อยให้เหตุการณ์การทำลายล้างผลาญของสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราโดยกิจกรรมและการกระทำของมนุษย์เองเช่นนี้ต่อไปแล้ว
  นักวิชาการการคาดว่ากว่าจะถึงปี ค.ศ.2543 หรือเริ่มต้นคริสตศตวรรษที่ 21 นั้นสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-50 ของทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันจะต้องสูญหายตายจากเราไปอย่างไม่มีทางได้กลับคืนมาอีก สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เหล่านั้นเปรียบเสมือนรากฝอยที่คอยพยุงลำต้นที่เหมือนเป็นตัวมนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ เมื่อรากฝอยที่คอยค้ำจุนลำต้นถูกทำลายจากพิษภัยของลำต้นเสียเองแล้ว ลำต้นนั้นจะยืนยงอยู่ต่อไปได้อย่างไร ฉันใดก็ฉันนั้น สภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่หลากหลายด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่ประกอบขึ้นเป็นโลกสิ่งมีชีวิตจะคงดำรงอยู่ต่อไปได้ตามคลื่นแห่งวิวัฒนาการถึงแม้ว่าจะไม่มีมนุษย์อยู่ด้วยภายในระบบ แต่มนุษย์จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างแน่นอน หากปราศจากความหลากหลาย ทางชีวภาพที่ทำหน้าที่เป็นหลักค้ำจุนสังคมมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยจนกระทั่งถึงจุดวิกฤตในขณะนี้ เราจะไม่คิดจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่ออนาคตของลูกหลานเหลนต่อไปในภายภาคหน้าเลยเชียวหรือ เพราะแม้แต่เด็กชั้นประถมสี่ผู้มีภูมิปัญญาอันบริสุทธิ์สดใสยังใส่ใจในเรื่องธรรมชาติ อย่างเช่น ด.ช.วีรวัฒน์ พานิชย์เจริญผล แห่งโรงเรียนอนุบาลนนทบุรี ยังมีความคิดว่า “ป่าสวย น้ำใส... ให้ชีวิต โลกสวยด้วยดอกไม้แต่งสีสันต้นไม้สีเขียวๆ อากาศเย็นสบาย ผมอยากให้ทุกคนมีจิตใจสำนึกที่รับผิดชอบต่อธรรมชาติรู้จักที่จะร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่รังแกธรรมชาติเพื่อให้ธรรมชาติอยู่คู่โลกอีกนานแสนนาน...”
 
การพัฒนากับผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักชีววิทยาว่าในปัจจุบันไม่มีใครทราบความจริงว่าในโลกเรานี้ มีสิ่งมีชีวิตทั้งหมดกี่ชนิดไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ แต่มีการประเมินการณ์กันอย่างคร่าวๆ ว่าในขณะนี้น่าจะมีสิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่น้อยกว่า 5 ล้านสปีชีส์หรือมากกว่านั้น ก็เป็นไปได้และในประเทศเรายังขาด
ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมากทีเดียว ไม่ว่าตัวเลขจริงๆ จะเป็นเท่าไร ก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็มีความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในโลกเราขณะนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งหรือไม่ถึงร้อยละสองของสิ่งมีชีวิตที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกใบนี้ หรืออีกนัยหนึ่งสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่เคยอุบัติขึ้นในอดีตได้สูญหายตายไปจากโลกนี้แล้วและอัตราการสูญพันธุ์ก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินทางชีวภาพอย่างน่าเสียดายยิ่งดังที่กล่าวมาแล้ว
  การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตด้านกว้างเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ นับว่าเป็นสิ่ง
ท้าทายต่อนักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นอย่างมาก เพราะการค้นคว้าหาคำตอบในระดับกว้างของสิ่งมีชีวิตทั้งในด้านประชากร ระบบนิเวศและกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการย่อมมีความลำบากกว่าชีววิทยาระดับโมเลกุล
  ทำไมจึงต้องให้ความสนใจศึกษาสิ่งมีชีวิตในด้านกว้างเช่นนี้ คงไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เกี่ยวกับความ
มหัศจรรย์และคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหลากหลายของสปีชีส์ หรือความหลากหลายของพันธุกรรมหรือความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งล้วนแต่เป็นทรัพย์สินทางชีวภาพของชาติและของโลกที่ทรงคุณค่าต่อการอนุรักษ์ไว้อย่างดียิ่งทั้งสิ้นการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้จะทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและปรากฏการณ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลที่ปรากฏอยู่บนโลกเรานี้ นอกจากนั้นความรู้ขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตบางชนิดจะยังเอื้ออำนวยให้นำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนนาน ก่อนที่ทรัพย์สินทางชีวภาพที่มีค่าเหล่านั้นจะสูญหายตายจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันได้กลับคืนมาอีก
  การสูญเสียสภาพความหลากหลายทางชีวภาพนับว่าเป็นการเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่ง ประการหนึ่งใน
ปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยและนานาประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเหนือกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันดี อาทิเช่นปัญหามลภาวะทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ปัญหาของเสียที่เป็นพิษจากผลผลิตทางอุตสาหกรรม ปัญหาอันตรายที่เกิดจากสารเคมีที่ใช้ฆ่าแมลงศัตรูพืช ตลอดจนปัญหามลภาวะเป็นพิษที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมัน เหล่านี้เป็นต้น เนื่องจากปัญหาด้านมลภาวะต่างๆ ดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายที่เห็นได้เด่นชัดภายในเวลาอันสั้นจึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสาธารณชนทั่วไปอยู่เสมอมา แต่ทว่าปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียสภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพกลับได้รับความสนใจและแนวทางแก้ไขน้อยกว่าที่ควร ทั้งๆ ที่มีผล กระทบที่รุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศของโลกสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งมนุษย์เราด้วย ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่าผลกระทบที่เกิดจากความเสียหายหรือการสูญเสียสภาพความหลากหลายทางชีวภาพนั้นไม่ค่อยชัดเจนนัก และมักใช้เวลายาวนานพอสมควรกว่า จะปรากฏผลให้เห็นเด่นชัดได้เข้าทำนองที่ว่า “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ฉันใดก็ฉันนั้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ผู้นำและผู้บริหารทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development หรือ UNCED) ที่กรุง Rio de Janeiro ประเทศบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน 2535 ซึ่งนับว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั่วโลกจะช่วยกันอนุรักษ์ทรัพย์สินทางชีวภาพของแต่ละประเทศไว้เป็นมรดกของโลกให้ยั่งยืนนานต่อไป
 
ธรรมชาติความหลากหลายทางชีวภาพ
  ความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity หรือ biodiversity) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคมมนุษย์และโลกสิ่งมีชีวิตใบนี้คงจะเป็นการยากที่จะให้คำนิยามสั้นๆ เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพเช่นเดียวกับการให้คำจำกัดความของสิ่งมีชีวิต (life) ว่าคืออะไร ในที่นี้คงพอ
จะกล่าวสรุปได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีองค์ประกอบหลักสำคัญ  3  ประการ คือ ความหลากหลายของสปีชีส์ (species diversity) ไม่ว่าจะเป็นพวกจุลินทรีย์ พืช และสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ด้วย สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ล้วนแต่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่แตกต่างแปรผันออกไปมากมาย (genetic diversity) เพื่อตอบสนองให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่น อันเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนและหลากหลาย (ecological diversity) ในบริเวณต่างๆ ของพื่นผิวโลก (วิสุทธิ์ ใบไม้ 2532 ในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 1 หน้า 1-13)
  ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นผลพวงที่เกิดจากกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ในส่วนที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนจะพบว่าสิ่งมีชีวิตนานาชนิดล้วนเป็นแหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับปัจจัยทั้งสี่อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทรัพย์สินทางชีวภาพเหล่านี้มีอยู่อย่างมากมายและหลากหลายในป่าและในน้ำ คนไทยโบราณและชาวชนบทรู้ซึ่งถึงคุณค่าของธรรมชาติดีจึงมีคำกล่าวว่า “ทรัพย์ในดินสินในน้ำ” ซึ่งล้วนแต่ช่วยค้ำจุนให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข เราคงอาจกล่าวได้อย่างภาคภูมิและเต็มปากว่า ป่าไม้มีคุณช่วยค้ำจุนทุกชีวิตอย่างที่คนรุ่นเก่าก่อนได้ยืดถือปฏิบัติกันตลอดมาและสร้างสมเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติชาวบ้านเขายึดถือเสมอว่าป่าไม้มีค่าและมีความศักดิ์สิทธิ์ที่เขาจะต้องอนุรักษ์และปกป้องไว้ให้ดีที่สุดเพื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้แก่กลุ่มชนท้องถิ่นนั้นๆ ธรรมชาติของความหลากหลายทางชีวภาพอันงดงามที่ปรากฏให้เราได้เชยชมนั้นเป็นผลพวงที่ผ่านการกลั่นกรองและการคัดเลือกตามธรรมชาติมาแล้วเป็นอย่างดี จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่สภาพความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในน้ำและบนบก ทั้งในป่าดงดิบ ป่าโปร่ง และป่าชื้น เขตร้อน ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ประเสริฐสุดเสมือนเป็นเบ้าหล่อหลอมและพัฒนาจิตใจของมนุษย์ให้สูงส่งยิ่งขึ้น ป่ายังเป็นแหล่งที่ให้ปรัชญาชีวิตของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นแหล่งกำเนิดของบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคต้น เป็นแหล่งหล่อหลอมจิตใจและเป็นแหล่งกำเนิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเพณีที่สอดคล้องกับธรรมชาติตามสภาพของชุมชนท้องถิ่นในอดีตกาลและถ่ายทอดสืบสานติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน เราจะสังเกตว่ากลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นตามไปด้วย อย่างเช่นวัฒนธรรมของชาวตะวันออกซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อ่อนโยนกลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด ผิดกับกลุ่มประเทศที่มีความเป็นเอกภาพในทางวัฒนธรรม อย่างเช่นประเทศตะวันตกอันเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางชีวภาพที่มีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบโซนร้อน ถ้าหากจะย้อนกลับไปมองอดีตเราจะสังเกตว่า นักปราชญ์ราชบัณฑิตของชาวตะวันตกได้ปรัชญาชีวิตและแนวความคิดจากความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจากแถบโซนร้อน อย่างเช่นนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อ ชาร์ล ดาร์วิน ซึ่งได้แนวความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจากการศึกษา การสังเกตและการเก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตนานาชนิดจากทวีปอเมริกาใต้ที่ซึ่งมีความหลากหลายมากมายมหาศาล สำหรับนักปราชญ์ชาวตะวันออกจะมี แนวความคิดที่ละเอียดอ่อน ลุ่มลึกและหลากหลาย เพราะส่วนหนึ่งได้จากการสัมผัสกับธรรมชาติของความหลากหลายทางชีวภาพนั่นเอง เราจะสังเกตว่าเมื่อสภาพความหลากหลายทางชีวภาพในบ้านเราถูกทำลายลงไปอันเนื่องจากการพัฒนาแบบสิ้นเปลืองและไม่ยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตก ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพนั้นก็พลอยได้รับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงไปและค่อยๆ สูญหายตามไปด้วย หรือเมื่อมีการนำเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ ตามแบบตะวันตกเข้าไปสู่ท้องถิ่นชนบท ก็มักจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายหรือมีการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพให้ลดน้อยลงเป็นเงาตามตัวไปด้วยเช่นกัน ดังที่เราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่าเมื่อการพัฒนาก้าวเข้าไปสู่หมู่บ้านชนบทท้องถิ่นก็มักมีการตัดไม้ ถางป่าหรือทำลายป่าธรรมชาติ อย่างเช่นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือ การสร้างแหล่งเก็บน้ำทับลงไปบนป่าพรุในภาคใต้ จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่มนุษย์เรามีพฤติกรรมและกิจกรรมการทำลายธรรมชาติในลักษณาการคล้ายกับ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และขาดความยั้งคิดเพราะมนุษย์ยุคไฮเทคได้ทำความเสียหาย หรือการสูญเสียสภาพความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งต่างๆ ทั่วโลกอย่างน่าอนาถใจยิ่ง ดังนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาหาความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในแง่มุมต่างๆ อย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้หาแนวทางการอนุรักษ์และการจัดการกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีค่อนข้างจำกัดอยู่ในขณะนี้ ให้เหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อมวลมนุษยชาติ
  องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพแต่ละอย่างมีความสลับซับซ้อนอยู่ภายในระบบของ
ตัวเอง องค์ประกอบแต่ละอย่างยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง ยากแก่ความเข้าใจโดยสามัญชนทั่วไปหรือแม้กระทั่งนักวิชาการทางชีววิทยาบางกลุ่มก็ยังขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์เชื่อมโยงภายในสภาพความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณป่าชื้นเขตร้อน (tropical rain forest) และป่าชายเลน ดังที่ปรากฏอยู่ในท้องที่บางแห่งของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งของโลก เพราะในบ้านเรามีทั้งสัตว์และพืชนานาพันธุ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่มีปรากฏอยู่ในโลกปัจจุบัน พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยล้วนแต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่ายิ่งอย่างหาที่เปรียบมิได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณประโยชน์ในด้านการแพทย์ การเกษตร ด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งด้านวิชาการชีววิทยาพื้นฐาน เป็นที่น่าเสียดายที่ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นได้รับการประเมินค่าต่ำเกินไป และขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพสมดุลยั่งยืน จนอาจกล่าวได้ว่าปัญหาดังกล่าวนี้รุ่นแรงถึงขั้นที่อาจเป็นอันตรายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อย ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติแบบไม่ยั่งยืนอย่างกว้างขวางโดยอาศัยเทคโนโลยียุคใหม่ และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมากด้วย ทั้งๆ ที่บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายายของเราได้พยายามสร้างสรรค์และสะลมประสบการณ์และศักดิ์ศรีของภูมิปัญญาตามสภาพท้องถิ่นในภาพลักษณ์ของเทคโนโลยีท้องถิ่น หรือทีถูกเรียกขานอย่างดูแคลนว่าความรู้แบบชาวบ้านที่ไม่ทันสมัย ทั้งๆ ที่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติของท้องถิ่น และเขาเหล่านั้นได้พยายามพิทักษ์รักษาทรัพยากรสิ่งมีชีวิตอันมีค่าเหล่านั้นไว้ให้รุ่นเราได้เชยชมมาเป็นเวลาช้านานแล้วหากปล่อยให้เหตุการณ์การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ในไม่ช้าทรัพยากรสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็จะไม่มีเหลือให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้ศึกษาและใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่าอีกต่อไป
  ผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาเริ่มปรากฏ
ผลให้เห็นบ้างแล้วในช่วง 5-10 ปีที่แล้วมา ผลกระทบจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังภายในเวลาอันควรดังจะเห็นได้จากการตัดไม้ทำลายป่าในบ้านเราเป็นผลให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว เกินกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ป่าที่เคยมีภายในช่วงเวลา 20 ปีเศษที่ผ่านมา ป่าชายเลนและแนวชายฝั่งทะเลถูกบุกรุกอย่างกว้างขวางเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลและเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น ได้มีการประเมินการว่าสัตว์น้ำทะเลและสัตว์น้ำจืดหลายชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและหรือทางวิชาการมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง บางชนิดก็หายากมากและบางชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในป่าชื้นเขตร้อนในบ้านเราเกือน 300 ชนิด ขณะนี้พบว่ามี มากกว่า 40 ชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ นกเกือบ 200 ชนิดจากจำนวนทั้งหมดกว่า 900 ชนิดที่พบในบ้านเรากำลังมีจำนวนลดน้อยลงอย่างรวดเร็วและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในขณะเดียวกันสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกและสัตว์เลื้อยคลานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมดประมาณ 400 สปีชีส์ที่มีอยู่ในประเทศไทยกำลังถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้ พรรณพฤกษชาติหลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ทางการเกษตรและเภสัชกรรมเริ่มลดน้อยลงและบางชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้วจากป่าดิบและป่าชื้น สำหรับพวก จุลินทรีย์นั้นเรายังมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชนิด และการกระจายของพวกจุลินทรีย์อยู่น้อยมาก เพราะขาดการเอาใจใส่ศึกษาอย่างมีระบบอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่พวกจุลินทรีย์มีความสำคัญยิ่งสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ ข้อมูลเบื้องต้นทางชีววิทยาดังกล่าวเป็นสัณญาณเตือนภัยให้เราได้รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและระบบนิเวศไปในทางลบและมีผลกระทบต่อจำนวนประชากรของสัตว์และพืชและการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นความจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมย่อมเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างสมดุลตามสภาพธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและระบบนิเวศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สมดุลนั้น เกิดจากกิจกรรมและการกระทำของมนุษย์เราเองทั้งสิ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายและสูญเสียสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ต่างๆ อย่างมากมายหลายร้อยเท่าของการสูญเสียสปีชีส์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของระบบนิเวศและของสภาพแวดล้อม
 
นโยบายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  การที่จะอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ให้คงอยู่ต่อไปในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และในระบบนิเวศยั่งยืนในบ้านเรานั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจระบบนิเวศอย่างถ่องแท้ และศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศตามธรรมชาติโดยเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิด
จากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศตามธรรมชาติโดยเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมและการจัดการต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อที่นักวิชาการจะได้ศึกษาหาแนวทางและวิธีการว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยแก้ไขทำให้ระบบนิเวศที่สูญเสียไปบ้างแล้วและที่กำลังจะสูญเสียไปให้กลับฟื้นคืนสู่สภาพยั่งยืนปกติ เพื่อจะได้เกื้อกูลกระบวนการตามธรรมชาติและประชากรของมนุษย์ให้ดำรงชีวิตอย่างปกติสุขและยืนนานต่อไป
  การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นเราจำเป็นต้องพยายามรักษาสภาพความหลากหลายทางชีวภาพ
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทางชีววิทยาจะมีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ นักวิชาการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับแบบแผนของความหลากหลายของสปีชีส์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านเรา ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสปีชีส์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของระบบนิเวศและความหลากหลายของแหล่งที่อยู่อาศัยในระบบนิเวศสมดุลตามธรรมชาติ ความจำเป็นอันดับแรกคือนักชีววิทยาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการนั้น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งหมดอย่างไรในขณะเดียวกันนักวิชาการก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่ากระบวนการต่างๆ ทางระบบนิเวศจะสามารถควบคุมสภาวะสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งระบบได้อย่างไร ปัจจุบันนักวิชาการชีววิทยากลุ่มต่างๆ กำลังใช้ความพยายามอย่างมากและอย่างต่อเนื่องที่จะจัดหาและรวบรวมฐานข้อมูลอย่างมีระบบของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ กันเข้าไว้ด้วยกัน ในขณะเดียวกันนักวิชาการก็กำลังพยายามพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าชื้นและป่าชายเลนแหล่งต่างๆ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในระดับต่างๆ ให้คงสภาพสมบูรณ์ดังเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่ก็ยังพบกับอุปสรรคบางประการที่คอยต้านทานกระแสการอนุรักษ์โดยการอ้างเหตุผลด้านการพัฒนาประเทศเป็นหลักใหญ่
  ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทางชีววิทยาจะมีบทบาทอย่างมากในเรื่อง
นี้ นักวิชาการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับแบบแผนของความหลากหลายของสปีชีส์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านเรา ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสปีชีส์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของระบบนิเวศและความหลากหลายของแหล่งที่อยู่อาศัยในระบบนิเวศสมดุลตามธรรมชาติ ความจำเป็นอันดับแรกคือนักชีววิทยาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการนั้น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งหมดอย่างไรในขณะเดียวกันนักวิชาการก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่ากระบวนการต่างๆ ทางระบบนิเวศจะสามารถควบคุมสภาวะสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งระบบได้อย่างไร ปัจจุบันนักวิชาการชีววิทยากลุ่มต่างๆ กำลังใช้ความพยายามอย่างมากและอย่างต่อเนื่องที่จะจัดหาและรวบรวมฐานข้อมูลอย่างมีระบบของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ กันเข้าไว้ด้วยกัน ในขณะเดียวกันนักวิชาการก็กำลังพยายามพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าชื้นและป่าชายเลนแหล่งต่างๆ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในระดับต่างๆ ให้คงสภาพสมบูรณ์ดังเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่ก็ยังพบกับอุปสรรคบางประการที่คอยต้านทานกระแสการอนุรักษ์โดยการอ้างเหตุผลด้านการพัฒนาประเทศเป็นหลักใหญ่
  มาตรการอย่างหนึ่งในอันที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตที่รัฐบาลได้ทำไปเมื่อไม่นานมานี้คือการ
ปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่าแต่นั่นมิได้หมายความว่าจะเป็นมาตรการเดียวที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้ตามวัตถุประสงค์ หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในป่าเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของบ้านเราโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นบรรทัดฐานของแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาแบบยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะพิทักษ์รักษาพันธุ์พืชและหรือพันธุ์สัตว์ป่า โดยเน้นเฉพาะสปีชีส์หรือกลุ่มสปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งที่คิดว่าสำคัญ สำหรับเราโดยเฉพาะนั้นย่อมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะตามหลักวิชาการแล้วเมื่อสปีชีส์หนึ่งหรือกลุ่มสปีชีส์หนึ่งถูกกำหนดให้ขึ้นบัญชีว่าเป็นสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว มาตรการใดๆ ก็ตามที่จะนำมาใช้ในความพยายามที่จะพิทักษ์รักษาสปีชีส์เหล่านั้นไว้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายเกินกว่าที่จะถือปฏิบัติได้โดยเฉพาะในประเทศที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อการนี้อย่างเช่นประเทศไทยเรา และถึงแม้ว่าจะมีเงินทุนสนับสนุนมากมายเพียงใดก็ตาม แต่มาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการอนุรักษ์หรือพิทักษ์รักษาสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์นั้นก็มักจะใช้เวลายาวนานเกินไป เข้าทำนองที่ว่า “สายเกินแก้” นั่นเอง
  ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานหรือองค์กรหรือที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาความหลากหลายทาง
ชีวภาพจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในชน่วงวิกฤตนี้ คือจะต้องมีความมั่นใจว่าเรามีข้อมูลและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงพอที่จะนำมาพิจารณาวางแผนและนโยบายว่าจะทำอย่างไรจึงจะดำเนินการศึกษาวิจัยและวางมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาระบบสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศน้อยที่สุด ปัจจุบันเรายังขาดข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือแม้กระทั่งพวกจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยว่ามีอยู่กี่ชนิดแต่ละชนิดมีแบบแผนการกระจายทางภูมิศาสตร์อย่างไรบ้าง ชนิดใดบ้างที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ การเกษตร และการแพทย์ แต่ละชนิดมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงใยซึ่งกันและกันมากน้อยอย่างไรในระบบนิเวศนั้นๆ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์และแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สินทางชีวภาพที่มีคุณค่าต่อทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาแบบยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป
  จากความกังวลและห่วงใยในปัญหาดังกล่าวกลุ่มนักวิชาการชีววิทยาจากทั่วประเทศ โดยการประสาน
งานของสาขาชีววิทยา สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน (ชื่อในขณะนั้น) จึงได้จัดสัมมนาวิชาการชีววิทยาครั้งที่ 7 เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย โดยการสนับสนุนด้านการเงินจาก USAID เมื่อเดือนตุลาคม 2532 ที่เชียงใหม่ และติดตามด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องกันอีก 4 เรื่อง ในปี 2533 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งยังผลให้ได้ข้อสรุปสถานภาพและแนวทางการศึกษาอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยไว้อย่างชัดเจน (ดูรายงานการสัมมนาในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 1 และ 2) เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่องกัน สาขาชีววิทยาสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรมป่าไม้ และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน จึงได้จัดสัมมนาชีววิทยาครั้งที่ 8 เรื่อง Global Change : Effects on Tropical Forests, Agricultural, Urban and Industrial Ecosystems โดยการสนับสนุนด้านการเงินจาก ITTO และองค์กรอื่นๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2533 ที่กรุงเทพฯ โดยมีข้อสรุปนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมภายในประเทศและนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ดูรายงานการสัมมนาในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 3) ผลจากการสัมมนาวิชาการชีววิทยาอย่างต่อเนื่องดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานได้เล็งเห็นความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาของการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในประเทศไทย จึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยขึ้นในปี 2533 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลและติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานและองค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการแก้ไขปัญหา การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและปัญหาการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมในภาพรวมของประเทศไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านการเงินและการบริหารงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง องค์กรนี้จึงไม่มีบทบาทและไม่มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลทางรูปธรรมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิต อย่างที่นักวิชาการคาดหวังไว้ ประกอบกับขาดแรงจูงใจและการสนับสนุนทางด้านการเงินจากภาครัฐบาลอย่างจริงจังทั้งๆ ที่ชาวโลกเขาตื่นตัวกันอย่างมากแล้วในเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะหวังอะไรกับหน่วยงานของทางราชการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
 
แนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ
  เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์ให้ได้ผลจริงจัง จึงใคร่เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์รวมประสานงานของนักวิชาการสาขาต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในรูปแบบของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติหรือองค์กรที่มีลักษณะคล้าย
กันนี้เพื่อที่หน่วยงานใหม่นี้จะได้ดำเนินงานอย่างอิสระและคล่องตัวมากกว่าที่จะอยู่ในระบบราชการที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อที่ศูนย์ฯ อิสระนี้จะได้มีบทบาทและหน้าที่อย่างครบวงจรและสมบูรณ์แบบภายในองค์กรเองและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้ทันกาล ศูนย์วิจัยนี้ จะทำหน้าที่วางแผนงานเก็บรวบรวมฐานข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งวางแนวนโยบายและแสวงหาเงินทุนวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จัดลำดับความสำคัญของโครงการวิจัยรวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนเงินทุนวิจัยและจัดการศึกษาอบรมบุคลากรที่จะมีส่วนสนับสนุนโครงการวิจัย และการเผยแพร่ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพของประเทศ แนวทางของโครงการวิจัยที่น่าจะได้รับการพิจารณาให้มีความสำคัญสามอันดับแรกคือ
  ก) เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการจัดหาข้อมูลและจัดระบบเก็บข้อมูลของชนิด
หรือสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่มีกระจัดกระจายอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ กันไม่ว่าจะเป็นในแหล่งน้ำจืด น้ำทะเล ในป่าดิบ ป่าชื้นหรือป่าชายเลน พร้อมกันนั้นก็พยายามพิทักษ์รักษาพื้นที่บริเวณที่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพสูง ภารกิจเช่นนี้จะต้องกระทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลและความรู้พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับโครงการวิจัยศึกษาหารายละเอียดของระบบนิเวศในพื้นที่ที่คัดเลือกไว้ในลำดับต่อไป ซึ่งควรจะเน้นในเรื่องที่มีความสำคัญ 2 ประการคือ
  (1) จะต้องศึกษาวิจัยค้นหาความจริงให้ได้ว่ารูปแบบของความหลากหลายทางชีวภาพในสภาวะ
แวดล้อมที่แตกต่างกันนั้นจะมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมต่างๆ กันของระบบนิเวศวิทยาได้อย่างและมากน้อยเพียงใดตัวอย่างเช่น เราควรจะทราบข้อมูลที่ว่าความหลากหลายของสปีชีส์ที่มีระดับความหลากหลายซับซ้อนมากน้อยแตกต่างกันนั้นจะมีแบบแผนการควบคุมระบบนิเวศของแต่ละแห่งได้อย่างไร และความหลากหลายของสปีชีส์เช่นนั้นจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับอัตราเคลื่อนไหลของสารอาหารในหน้าดินที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองและท้องทะเล หรือแม้กระทั่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าระบบนิเวศต่างๆ นั้นจะมีการตอบสนองอย่างไรบ้างต่อสภาวะมลพิษที่เกิดขึ้นในแหล่งนั้นๆ
  (2) เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดีว่ากระบวนการต่างๆ ที่ปรากฏในระบบนิเวศหนึ่งๆ เช่น การ
เปลี่ยนแปลงแปรผันของปริมาณน้ำ หรือสภาพของดิน หรือปริมาณธาตุไนโตรเจนที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลนั้นจะมีผลกระทบอย่างไรและมากน้อยเพียงใดต่อสภาพความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศนั้นๆ ความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการวิจัยใน 2 ประเด็นดังกล่าวจะเอื้ออำนวยให้นักวิชาการสามารถพัฒนาและหามาตรการจัดการพิทักษ์รักษาระบบนิเวศตามสภาพธรรมชาติดั้งเดิมและระบบนิเวศที่ได้รับการจัดการอยู่ในขณะนี้ให้คงมีสภาพสมดุลและอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป
  (ข) เรื่องของระบบนิเวศยั่งยืน โดยศึกษาหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศตาม
สภาพธรรมชาติดั้งเดิมและระบบนิเวศที่ได้รับการจัดการอยู่ เมื่อถูกแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเกิดความเสียหายขึ้นในระบบนิเวศนั้น และจะมีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยรื้อฟื้นระบบนิเวศที่กำลังได้รับความเสียหายนั้นให้กลับคืนสู่สภาพยั่งยืนปกติได้ดังเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด โครงการวิจัยเช่นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากนักวิชาการหลายๆ ด้าน
  (ค) เรื่องของความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยการแสวงหาแหล่งพันธุกรรมที่มีอยู่ตาม
ธรรมชาติอันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อาจนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์โดยอาศัยเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อให้เกิดคุณค่าทางการเกษตร ไม้ดอก ไม้ประดับ ป่าไม้ โดยการเพิ่มผลผลิตหรือการต้านทานต่อเชื้อโรคหรือแมลงศัตรู ตลอดจนกระทั่งการปรับปรุงด้านเภสัชกรรมที่ได้จากพืชสมุนไพรและผลผลิตจากสัตว์บางชนิดที่อาจนำมาพัฒนาใช้เป็นตัวยารักษาโรคบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิผล การนำแหล่งพันธุกรรมจากธรรมชาติมาใช้จะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมนั้นๆ ไว้ในสภาพธรรมชาติให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์การใช้สอยที่ยั่งยืนและยาวนานตลอดไป ในประเด็นนี้การใช้ความรู้ของชาวบ้านดั้งเดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นจะช่วยให้การศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  ในประเทศไทยเรามีทรัพยากรสิ่งมีชีวิตพันธุ์ป่าหรือพันธุ์พื้นเมืองดังเดิมจำนวนมากมาย ทั้งชนิดที่มี
คุณค่าทางวิชาการและชนิดที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจในทางการเกษตร ทางการแพทย์และทางการอุตสาหกรรมยุคไฮเทค ไม่ว่าจะเป็นพวกพืชพันธุ์ผลไม้ พืชไร่ พืชสวน ป่าไม้ และ สมุนไพร ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งพวกจุลินทรีย์นานาพันธุ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ตามแหล่งต่างๆ ทั้งในดินและในน้ำ ดังคำกล่าวของคนโบราณที่ว่า “เรามีทรัพย์ในดินสินในน้ำอยู่มากมาย” สิ่งมีชีวิตทั้งมวลล้วนแต่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและการคัดเลือกตามธรรมชาติมาเป็นเวลาช้า นานนับเป็นหมื่นเป็นแสนหรือเป็นล้านๆ ปีในอดีต จนกระทั่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมดุล ในสภาพแวดล้อมดั้งเดิมก่อนที่มนุษย์จะเริ่มพัฒนาและเริ่มทำลายทรัพย์สินทางชีวภาพเหล่านั้นภายในเวลาอันรวดเร็วเพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง ในบ้านเรายังขาดการสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางด้านชีววิทยาขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบจึงขาดข้อมูลพื้นฐาน ความรู้ และความเข้าใจอย่างเป็นระบบ ในสิ่งมีชีวิตชนิดที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์เหล่านั้นสำหรับการนำมาใช้ให้ได้ผลอย่างดีและมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมจนเกินขอบเขต คงจะยังไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มต้นสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยชีววิทยาขั้นพื้นฐานของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในบ้านเราขณะนี้เพื่อจะได้หาทางพิทักษ์รักษาและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าไว้เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปก่อนที่มันจะสูญหายตายจากไปอย่างไม่มีทางได้กลับคือมาหรือไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสักเพียงใดก็ตาม การศึกษาชีววิทยาขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบต้องอาศัยนักวิชาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอนุกรมวิธานพันธุศาสตร์ นิเวศวิทยา ชีวเคมี และอณูชีววิทยา ตลอดจนวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ในรูปแบบของสหวิทยาการ
  ดังนั้นหน่วยงานของรัฐและเอกชนตลอดจนองค์กรเอกเทศหรือ NGO ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการวาง
นโยบายด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ควรให้ความสนใจและให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยชีววิทยาขั้นพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างจริงจัง และเริ่มการอนุรักษ์อย่างมีระบบ ทรัพย์สินทางชีวภาพที่ยังรอการค้นพบเหล่านั้นจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน มันจะเป็นประโยชน์อันใดเล่าถ้าเรามีอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่ในโรงงานหรือในห้องปฏิบัติการวิจัยแต่ทว่าขาดทรัพยากรวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิต ฉันใดก็ฉันนั้น เราคงไม่อยากได้ชื่อว่าเป็น “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” นั่งทับสมบัติสิ่งมีชีวิตอันล้ำค่าที่มีอยู่ทั้งในดินและในน้ำ และมัวแต่ชื่นชมและภูมิใจอยู่กับไฮเทคใหม่ๆ ที่นำเข้ามาในขณะที่คนต่างชาติแอบลักลอบเข้ามาค้นหาทรัพย์สินทางชีวภาพของเราไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ เพื่อนำไปศึกษาและพัฒนาในบ้านเมืองของเขา และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็คงต้องกล่าวคำพูดที่ซ้ำซากอีกครั้งหนึ่งว่า “วัวหายล้อมคอก” คนไทยโบราณคงมองการณ์ไกลและคอยตักเตือนลูกหลานไว้ทำนองนี้อยู่เสมอ เพียงแต่เราจะใส่ใจในสุภาษิตของบรรพชนไทยและใส่ใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของ “ชาวบ้านนอก” หรือไม่เท่านั้น

กลับหน้าแรก