Untitled

http://www.tungsong.com



ประเวศ วะสี

วิสุทธิ์ ใบไม้

สมศักดิ์ สุขวงศ์

ฉลาดชาย รมิตานนท์

ชนวน รัตนวราหะ

ระพี สาคริก

ยศ สันตสมบัติ

ความหลากหลายทางชีวภาพ สัจจธรรมและการศึกษาที่เข้าถึงความจริง
ประเวศ วะสี
(วิสาขบูชา 2536)

 

สรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะความเป็นอนิจจังจึงเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ เกิดมีความหลากหลาย และเชื่อมโยง
สัมพันธ์ หรือเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามหลักอิทัปปัจจยตา ความหลากหลายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ทั้งหมดทำให้เกิดความสมดุลหรือความยั่งยืน นี้คือธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ การเข้าถึงธรรมชาติและปฏิบัติตาม กฎของธรรมชาติก่อให้เกิดความเป็นปกติหรือ 2 สมดุล หรือ ยั่งยืน หรือ ศานติ
 
1. กำเนิดของจักรวาลและความหลากหลายทางกายภาพ
  หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจักรวาลหรือสากลจักรวาลหรือเอกภาพ (Universe) เกิด
ขึ้นจากการระเบิดตูมใหญ่(Big Bang) เมื่อประมาณ 20,000 ล้านปีมาแล้ว จากเอกภาพ หรือภาวะหนึ่งเดียวที่ระเบิดออกมานำไปสู่พหุภาพ หรือความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือดาวขนาดต่างๆ จำนวนเป็นล้านๆ ๆ ดวงที่อยู่ในกาแล็กซีต่างๆ แม้มาจากภวะหรือภพหนึ่งเดียวกัน ก็เกิดมีภวะหรือภพของตนๆ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ภวะหรือภพเกิดจากขนาดและตำแหน่งในจักรวาล ซึ่งไปกำหนดสัมพันธภาพระหว่างกัน เช่นแรงดึงดูด และปฏิกิริยาของพลังงานอื่นๆ อันไปกำหนดสิ่งอื่นๆ อีก เช่น อุณหภูมิ ทำให้ปฏิกิริยาของสสารและพลังงานของดาวแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความหลากหลายทางกายภาพ (physical) ทั่วจักรวาล
  ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โลก ดาวอังคาร พุทธ พฤหัส ศุกร์ หรือดาวดวงใดอื่นในจำนวนล้านๆ ดวง แต่ละดวง
จะมีองค์ประกอบทางกายภาพไม่เหมือนกัน เพราะเป็นผลของปฏิกิริยาในความจำเพาะของดาวแต่ละดวง
  โลก โดยขนาด ระยะห่างจากดวงอาทิตย์และจากดวงดาวอื่นๆ แรงดึงดูด อุณหภูมิ และอื่น ๆ ณ จุดของตัว
เองในกาลอวกาศ ย่อมมีความจำเพาะของตัวเอง ซึ่งไม่มีดาวดวงอื่นใดๆ เหมือนเลย แม้เริ่มต้นจากเอกสภาวะหนึ่งเดียว เมื่อเวลาเนิ่นนานออกไป ความเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งความหลากหลายหรือพหุสภาวะ ของแร่ธาตุ สสาร ต่างๆ มากขึ้นๆ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ จนกล่าวได้ว่า "ธรรมชาติมีปกติเคลื่อนตัวไปสู่ความหลากหลาย"
  โลกซึ่งเดิมเป็นกลุ่มพลังงานอันเป็นเอกสภาวะได้เคลื่อนไปสู่การมีแร่ธาตุและสสารหลากหลายขึ้น สสารนั้นเริ่มต้นมีแต่อนินทรียสารไม่มี
อินทรียสาร เช่น ออกซิเจน น้ำ กรดอะมิโน ก็เปลี่ยนแปลงไปเกิดอินทรียสารขึ้น อินทรียสารเกิดจากอนินทรียสาร และเป็นต้นกำเนิดของชีวิต เกี่ยวข้องโยงใยสัมพันธ์กัน เช่นนี้ เป็นนิจนิรันดร์
 
2. ชีวสภาวะและความหลากหลายทางชีวภาพ
  อินทรียสาร (organic material) เป็นเงื่อนไขให้เกิดอินทรียสภาวะ (organism) หรือสิ่งมีชีวิต หรือชีวสภาวะ หรือชีวภาวะ
สิ่งมีชีวิตเป็นหน่วยเอกเทศที่มีความเป็นไปของตัวเอง และสร้างสิ่งที่เหมือนตัวเอง (reproduction) สืบพืชพันธุ์ต่อไปได้
  สารกรรมพันธุ์หรือ DNA เป็นรหัสชีวิตที่สร้างสิ่งที่เหมือนตัวเองหรือสำเนา (copy) ของตัวเองได้ การเกิดขึ้นของสาร DNA หรือ
สารทำนองเดียวกันที่เรียกว่า RNA อันเป็นรหัสชีวิต จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสิ่งมีชีวิตขึ้นบนพื้นพิภพนี้
  ขณะนี้ยังไม่ปรากฎหลักฐานว่าพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นๆ และไม่แน่ว่าจะพบหรือไม่ในอนาคต โลกอาจเป็นดาวดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิต
เพราะภวะของโลกเฉพาะตัว เหมาะเจาะที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ สภาวะเหมาะเจาะที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ อาจจะเป็นสภาวะหนึ่งเดียวเท่านั้นในสภาวะอันนับมิถ้วนสุดคณนาในสากลจักรวาล และสภาวะที่เหมาะกับการเกิดมีสิ่งมีชีวิตหรือชีวิตสภาวะเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้นอีกในอนันตกาลต่อไปในภายภาคหน้า
  สสารอันเป็นรหัสชีวิตที่เรียกว่า DNA หรือ RNA นี้มีส่วนประกอบพื้นฐานที่เรียกเป็นสัญลักษณ์ด้วยอักษร 4 ตัว A C G T ลักษณะของ
กลุ่มอักษร 3 ตัว (triplet) จะเป็นรหัสสำหรับกรดอะมิโนตัวหนึ่ง ตัวอย่างเช่น AAA ก็มีความหมายหนึ่ง ACA ACG AGT CCC GGG TTT TGC TAC ...... แต่ละ “ไตรอักษรา” ก็เป็นรหัสบอกว่าให้เกิดอะไร
  ยีน (gene) หรือหน่วยกรรมพันธุ์ประกอบด้วย “ไตรอักษรา” จำนวนมากมาเรียงตัวกันอย่างจำเพาะ เช่น.... ACA ACG AGT CCC
TTT TGC TAC..... รหัสที่กำหนดให้เป็นมนุษย์มีความยาวประมาณ 3 พันล้านตัวอักษร รหัสเหล่านี้กำหนดโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นคน เป็นม้า เป็นช้าง เป็นแมลงสาป เป็นต้นไม้ชนิดใด เป็นเชื้อโรค เป็นเชื้อรา เป็นเชื้อโรคเอดส์ ล้วนใช้สาร DNA หรือ RNA อันมีรหัสอยู่ในอักษร 4 ตัว คือ A C G T เดียวกันทั้งสิ้น อันแสดงความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ของสรรพชีวิตทั้งปวงในวัฏจักรหรือวัฏสงสารเดียวกัน
  ชีวิตแรกที่อุบัติขึ้นจากปฏิกิริยาของอินทรียสารเป็นท่อน DNA สั้นๆ ที่มีผนังหุ้มเป็นเซลล์เดียว DNA เป็นรหัสชีวิตที่สร้างสิ่งที่เหมือน
ตัวเองซ้ำได้จึงสร้างเซลล์หรือชีวิตที่เหมือนตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้น เดิมชีวิตแรกนี้ก็เหมือนกัน เพราะเกิดมาจาก DNA เดียวกันแต่ต่อมาจะเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น กล่าวคือตัวอักษร A C G T เกิดเรียงพลาด หรือขาดหาย หรือเกินมา เช่นไตรอักษราหนึ่งแทนที่จะเป็น CCG เกิดเป็น ACG ความหมายก็ต่างไปแล้วจึงเกิดสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่มีชีวิตแปลกใหม่จะถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) กล่าวคือ ถ้าสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่หนึ่งเข้ากับธรรมชาติแวดล้อมไม่ได้ก็จะสูญพันธุ์ไป ส่วนสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่ใดที่เข้ากับธรรมชาติแวดล้อมหนึ่งๆ ได้ดีก็จะได้รับการคัดเลือกให้เพิ่มพูนขึ้นในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
  โดยอาศัยการกลายพันธุ์ หรือการเปลี่ยนแปลงในรหัสของ DNA กับการคัดเลือกโดยธรรมชาติก็เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย
มากขึ้นทุกที ตั้งแต่ไม่มีเลย มีหนึ่งแล้วก็มามีเป็นสิบๆ ล้านชนิด ตั้งแต่จุลชีพที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไปจึงถึงสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ไดโนเสาร์ ช้าง ปลาวาฬแม้แต่สิ่งที่มีชีวิตที่ดูอยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน และดูรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน ก็มีความหลากหลายในระดับ DNA เช่น มนุษย์ที่มีทั้งหมดกว่า 5,000 ล้านคน นอกจากคู่แฝดไข่ใบเดียวกันแล้ว จะไปหาคนสองคนที่มีรหัส DNA เหมือนกันทั้งหมดไม่ได้เลย เรียกว่าเป็นความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity)
  ฉะนั้นสิ่งมีชีวิตจึงมีความหลากหลายเหลือคณานับ ที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) นี้คือธรรมชาติหรือกฎ
ของธรรมชาติหรือสัจจธรรม
 
3. ความหลากหลายทำให้เกิดความมั่นคง
  ชีวิตเซลล์เดียว เช่น แบคทีเรีย หรือ อะมีบา หรือพารามีเซี่ยมตามปกติจะสืบพันธุ์โดยการแบ่งตัวเองจาก 1 เป็น 2 เป็น 4 เป็น 8 ....เรื่อยๆ ไป
จะเกิดชีวิตใหม่ที่เหมือนตัวเองเพราะมาจากรหัส DNA เดียวกัน แต่ในยามที่มันเผชิญสิ่งแวดล้อมที่วิกฤตต่อมัน มันจะเปลี่ยนวิธีสืบพันธุ์ใหม่โดยการประกบคู่ เพื่อแลกเปลี่ยนสารกรรมพันธุ์ หรือ DNA เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางกรรมพันธุ์ ความหลากหลายทางกรรมพันธุ์ทำให้ทนทานหรือต่อสู้กับอันตรายจากสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ช่วยให้เกิดความมั่นคงหรือความยั่งยืนของสายพันธุ์ หรือของชีวภาพ
  ที่เป็นดังนี้เพราะยืนหรือหน่วยกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดโครงสร้างและปฏิกิริยาของสารต่างๆ ในชีวิตหนึ่งๆ ถ้าแบคทีเรียตัวหนึ่งเผชิญ
สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อมัน เช่น ภาวะที่อาหารขาดแคลนหรือความเป็นกรดเป็นด่างหรืออุณหภูมิสูงหรือต่ำเกิน หรือสารพิษ บางชนิด ถ้าไม่มียีนที่ทำให้เผชิญหรือเอาชนะสภาวะที่เป็นอันตรายต่อมัน มันจะตายและสูญพันธุ์ สิ่งแวดล้อมแปรผันเปลี่ยนแปลงเสมอ ชีวิตใดที่มีความหลากหลายทางกรรมพันธุ์จะสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า และมีความมั่นคงหรือความยั่งยืนสูง
  วัตถุประสงค์ของการผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางกรรมพันธุ์เพื่อความยั่งยืนของสายพันธุ์ ความยั่งยืนของชีวิตทั้งหมดคือ
ความยั่งยืนทางชีวิภาพ ความยั่งยืนทางชีวภาพ คือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสรรพชีวิตทั้งมวล กฎของธรรมชาติจึงกำหนดให้มีการผสมพันธุ์ ตั้งแต่การผสมพันธุ์ของแบคทีเรียที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การผสมพันธุ์ของคน ที่จริงการผสมพันธุ์นำไปสู่สิ่งข้างเคียง และสิ่งตามมาอันไม่พึงปรารถนาเป็นอันมาก แต่ธรรมชาติก็เลือกให้มีการผสมพันธุ์ เพราะความหลากหลายทางกรรมพันธุ์และความยั่งยืนทางชีวภาพเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า
  เรื่องกฎของความหลากหลายกับความมั่นคงนี้ใช้กับเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังคม วัฒนธรรม การเมือง ศาสนา การค้า ธุรกิจการค้าก็ค้นพบ
เองว่าสินค้าถ้าไม่มีความหลากหลายธุรกิจจะล่มสลาย เขาจึงต้อง diversify ธุรกิจให้มีความหลากหลาย เพื่อความมั่นคง เรื่องความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม จะพูดถึงภายหลัง
 
4. ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง (อิทัปปัจจยตา)
  สรรพสิ่งต่างๆ ในจักรวาลล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่อยู่โดดๆ หรืออยู่แยกโดยไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน กาแล็กซี ดวงดาว หลุมดำ
ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โลก ไปจนถึงอณู ปรมาณู และพลังงานย่อมสัมพันธ์กัน
  สสารซึ่งเป็นอนินทรียะเป็นต้นกำเนิดและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอินทรียสารและสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตต่างๆ มีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกันใช้รหัส
ชีวิตอย่างเดียวกัน และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
  ในดินหนึ่งช้อนชามีจุลชีพอยู่ในนั้นประมาณ 20 ล้านตัว เรียกว่าดินมีชีวิตหรือชีวิตในดิน ซึ่งสามารถวัดความมีชีวิตนี้ได้จากปริมาณจุลชีพ
ดินบนดวงดาวที่ไม่มีชีวิตก็จะไม่พบชีวิตในดิน เป็นดินที่ไม่มีชีวิต ดินที่ไม่มีชีวิตไม่สามารถก่อให้เกิดชีวิตอื่นๆ ได้
  จุลชีพในดินทำหน้าที่สังเคราะห์สารต่างๆ เช่นโปรตีนและวิตามินเรียกว่าทำให้ดินมีโอชะ เชื้อรา ไส้เดือน ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ได้อาศัย
โอชะในดิน ไส้เดือนอยู่ในดินได้อาศัยอาหารชอนไชไปในดิน ทำให้รากต้นไม้แทรกไปได้สะดวกขึ้นต้นไม้ใหญ่มีรากชอนลงไปลึกไปดูดเอาแร่ธาตุจากที่ลึกๆ ขึ้นมา ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ นอกจากเป็นประโยชน์ต่อแมลง นก สัตว์ และมนุษย์ แล้วเมื่อร่างหล่นผุพังก็เป็นประโยชน์ต่อพืชเล็กหรือพืชผิวดิน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้เป็นไปในทางเกื้อกูลกันบ้าง แข่งขัน ต่อสู้กันบ้างเพื่อความสมดุลของธรรมชาติ เช่น เชื้อราบางชนิดสร้างสารปฏิชีวนะ (antibiotics) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายแบคทีเรียบางชนิด หรือสะเดาและตะไคร้หอมขับไล่แมลงบางชนิด
  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสรรพชีวิตทำให้มีความสมดุลตามธรรมชาติ เช่นป่าหนาทึบ เป็นไปเองโดยไม่ต้องมีใครใส่ปุ๋ย เพราะธรรมชาติสร้างปุ๋ย
เองได้โดยพืชบางชนิดจับไนโตรเจน จุลชีพในดินสังเคราะห์ปุ๋ย สัตว์กินพืชแล้วเปลี่ยนเป็นโปรตีน เมื่อสัตว์ตายต้นไม้ได้ปุ๋ย ฯลฯ
  ต้นไม้ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์กับ ดิน ฟ้า อากาศ กล่าวคือ ต้นไม้ยึดดินและปกคลุมดิน ทำให้ไม่ถูกพัด ซัด หรือกัดกร่อนไปด้วยแรงลมและ
แรงน้ำ ต้นไม้แต่ละต้นเก็บน้ำได้จำนวนมาก ให้ความชุ่มชื้น และปล่อยน้ำออกมาเป็นต้นน้ำลำธารยังความชุ่มชื้นแก่แผ่นดิน และเป็นประโยชน์กับสรรพชีวิตต่างๆ ไปตลอดสายธาร ต้นไม้ยังจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์และสัตว์ปล่อยออกมา นำไปใช้ประโยชน์ และปล่อยออกซิเจนออกมา เป็นการฟอกอากาศทำให้มนุษย์และสัตว์ได้ประโยชน์
  จึงเห็นได้ว่าสรรพชีวิตทั้งหมด สสาร น้ำ ดิน อากาศ ภูมิประเทศ ฤดูกาลล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นวัฏฏะ (cydle) และมีความเป็น
บูรณาการ (integration) เป็นองค์รวม (holism) จึงได้สมดุล หรือมีความเป็นปกติ
  ธรรมชาติที่ปราศจากมนุษย์จะมีความสมดุล หรือปรับไปสู่สมดุลเสมอเพราะมีความเป็นวัฏฏะ บูรณาการ และองค์รวม มนุษย์เพราะความ
ไม่รู้ (อวิชชา) โลภะ อหังการ และมีอำนาจในการทำลายสูง ได้เข้าไปกระทำกับธรรมชาติแบบแยกส่วน แบบทำลาย แบบเป็นเส้นตรง (linear) เช่นความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติแห่งความเป็นวัฏฏะ (cycle) ของสรรพสิ่งทั้งหลาย จึงก่อให้เกิดการเสียสมดุล หรือความไม่เป็นปกติ หรือการทำลาย หรือความไม่ยั่งยืน
 
5. สายโซ่ชีวิต (Life Chain)
  สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ เกิดขึ้นในสภาวะที่เหมาะเจาะจำเพาะ อันเป็นเอกสภาวะของกาลเวลา ภูมิอากาศ และช่วงจังวะทางพันธุกรรม ซึ่งจะ
ไม่เกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดสูญพันธุ์ไปจะไม่เกิดขึ้นอีก สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เปรียบเสมือนปล้องของสายสร้อย หรือห่วงโซ่ที่คล้องอยู่กับปล้องอื่นๆ วงจรชีวิตประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันถ้าตัดชีวิตใดชีวิตหนึ่งออกไปก็เปรียบประดุจตัดปล้องของสายโซ่ ทำให้สายโซ่หรือวงจรชีวิตขาดไป ประดุจทำให้ดุลยภาพทางชีวภาพ หรือธรรมชาติทั้งหมดเกิดแผลหรือรูโหว่ขึ้น
  ยกตัวอย่างเช่น ที่ลอสแองเจลีสมีผู้นิยมกินซุบขากบ และมีการส่งออกกบจากประเทศอินเดีย เมื่อกบกลายเป็นสินค้าที่ได้ราคา ชาวบ้านจึงจับ
กบจำนวนเป็นร้อยๆ ตันส่งเป็นสินค้าขาออก ทำให้กบถูกขลิบออกไปจากวงจรทางชีวภาพ กบเคยกินแมลง ทำให้มีดุลยภาพ บัดนี้กบหายไป แมลงก็เพิ่มจำนวนขึ้นจนเกินดุล ทำลายพืชผลทางเกษตร เกษตรกรต้องไปซื้อยาฆ่าแมลงมาใช้ ยาฆ่าแมลงนอกจากฆ่าแมลงแล้วยังฆ่าชีวิตอื่นๆ อีก เช่น ฆ่าจุลชีพในดิน ฆ่าไส้เดือน ฆ่าปู ฆ่าปลายในนา ฆ่าหอย ฆ่างู และนก ที่มากินหอยปูปลา และส่งผลกระทบกระเทือนมาถึงชีวิตและสังคมของมนุษย์ด้วย
  นี้เป็นตัวอย่างว่าถ้าชีวิตหนึ่งถูกขจัดออกไปจากสายโซ่ชีวิต จะเป็นชนวนส่งให้เกิดความวิปริตเป็นทอดๆ ไปตลอดสายหรือวัฏฏะของชีวิต
และธรรมชาติ ชีวิตทุกชีวิตและทุกสายพันธุ์ มีความสำคัญต่อกันและกัน
  ในเมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยใหม่ก่อให้เกิดการฆ่าสายพันธุ์ชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ เป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นฆาตกรรมต่อธรรมชาติ อันเป็นมหา
อนันตริยกรรมทีเดียว การฆ่าสัตว์หนึ่งตัว หรือฆ่าตนหนึ่งคน ก็เป็นโทษมากแล้วแต่การฆ่าสายพันธุ์ชีวิต (species murder) หลายๆ สายพันธุ์ เป็นการทำลายพระแม่ธรรมชาติ (Mother Nature) ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อธรรมชาติทั้งหมด กระทบกระเทือนต่อสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต จึงเป็นบาปกรรมที่เป็นมหาอนันตริยกรรม
  ถ้าชาวบ้านจับปลาทุกตัวกินหมดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก็จะไม่เหลือวัตถุทางพันธุ์กรรมที่จะผลิตปลามาให้ชาวบ้านได้กินอีกต่อไป เพราะ
เขาได้ทำลายมรดกทางพันธุกรรมไปแล้ว เช่นเดียวกันถ้ามนุษย์ต้องการกินผลไม้แล้วโค่นต้นเสีย เป็นการไม่สมควรฉันใด การทำลายป่าไม้ทั้งป่าเพื่อหากินก็ไม่เป็นการสมควรเช่นเดียวกัน เพราะในป่ามีสรรพชีวิตน้อยใหญ่ทั้งพืชและสัตว์ตลอดไปจนถึงจุลชืพต่างๆ เป็นล้านชนิด เป็นการทำลายล้างมรดกทางกรรมพันธุ์ที่ธรรมชาติอาศัยเวลาเป็นพันๆ ล้านปีสร้างและสะสมไว้ มนุษย์เอาสิทธิอันใดมาที่จะกระทำฆาตกรรมต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และทำลายล้างมรดกทางพันธุกรรมของโลกได้เช่นนี้
  การพัฒนาที่ทำลายธรรมชาติอย่างหนักเช่นทุกวันนี้ จึงไม่ใช่การพัฒนาแต่เป็นหายนกรรม หรือฆาตกรรมมากกว่า ธรรมชาตินั้นละเอียดอ่อน
และเชื่อมสัมพันธ์กันสุดประมาณอันเป็นผลของการสร้างสรรค์ตามธรรมชาติ นับเวลาด้วยพันล้านปี ถ้าจะนับเป็นธรรมชาติปัญญา (Nature Wisdow) ก็เป็นปัญญาบริสุทธิ์ที่ปราศจากกิเลส และเป็นปัญญาที่ครอบคลุมความเกี่ยวข้องของสรรพสิ่งทั้งหมดในธรรมชาติ จึงเป็นมหาปัญญา (Great Wisdom) อย่างแท้จริง ยากที่ปัญญาของมนุษย์อันเห็นเฉพาะส่วน และมีกิเลสหนาจะรู้เท่ากันและเมื่อเข้าไปกระทำกับธรรมชาติอย่างไม่รู้เท่าทันและไม่เคารพ จึงก่อให้เกิดการทำลายอย่างหนัก และนำไปสู่วิกฤตการณ์อย่างที่เรียกกันว่า การพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน (Unsustainable Development) อันเป็นการเสียศีลธรรมอย่างร้ายแรง
  มนุษย์ควรจะศึกษาธรรมชาติจนเข้าใจธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ และมีสัมมาอาชีวะโดยไม่ทำลายธรรมชาติ หรือทำมาหากินโดยพึ่งพิง
หรือโดยสารไปกับความสมดุลของธรรมชาติ ก็จะเกิดความเป็นปกติ หรือศานติ หรือยั่งยืน หรือศีลธรรม
 
6. คุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ
  ตามที่กล่าวมาข้างต้น ความหลากหลายทางชีวภาพคือ ธรรมชาติธรรมชาติเป็นสิ่งมีคุณค่าที่สุด คุณค่านี้อาจพิจารณาลงไปให้ละเอียดใน
แง่มุมต่างๆ ได้ เช่น
  มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือเป็นธรรมชาติ ความสมดุลของมนุษย์ ทั้งภายในตนเองและกับธรรมชาตินอกตัว คือ ความเป็นปกติ
หรือสุขภาพ การเสียความเป็นปกติ คือการเสียดุลยภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วย คือ ความไม่ปกติหรือการเสียดุลยภาพ ในเมื่อความหลากหลายทางชีวภาพทำให้เกิดดุลยภาพทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นคุณค่าต่อสุขภาพภาวะของมนุษย์ เช่น มนุษย์อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ เป็นเครื่องยังชีวิต โดยเก็บหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บผัก จับสัตว์ หาฟืน โดยไม่ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ย่อมสามารถพึ่งพิงธรรมชาติอย่างยั่งยืน ความหลากหลายทางธรรมชาติจึงมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
  มาในสมัยปัจจุบันที่มีการ “พัฒนา” แบบทำลายความหลากหลายของธรรมชาติ เช่น ทำลายป่าไม้อันมีความหลากหลายทางพันธุกรรม
อย่างสุดคณานับอย่างยับเยิน โดยการโค่นไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนไปเป็นเงินของคนบางคนจำนวนน้อยก็ดี หรือแทนที่ความหลากหลายทางชีวภาพอันมีค่ายิ่งด้วยการเกษตรกรรมพืชเดี่ยว เช่น ปอ มันสำปะหลัง อันมีค่าน้อยแต่ทำให้เสียความสมดุลทางธรรมชาติมาก อันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองของคนจำนวนมาก
  ในเมื่อสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นไปอย่างมีดุลยภาพ หรือปรับไปสู่ดุลยภาพหรือปกติภาพ ในความหลากหลาย
ทางชีวภาพจะต้องมี “สิ่ง” ที่มีคุณสมบัติที่ส่งเสริมหรือเยียวยาให้ธรรมชาติได้สมดุล “สิ่ง” นี้เมื่อมาเกี่ยวข้องกับการรักษาดุลยภาพของมนุษย์ก็เรียกว่า ยา ดังที่มนุษย์ได้อาศัยพืชจำนวนมากเป็นยาสมุนไพร รวมทั้งเอามาทำยาแผนปัจจุบัน ความรู้เกี่ยวกับยาไม่อาจที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นลอยๆ หรือนึกฝันเอาเองโดยไม่มีที่มาหรือฐานของความรู้ ฐานของความรู้คือความจริงตามธรรมชาติ เช่นการค้นพบเพนิซิลลินก็โดยการสังเกตว่าเชื้อราเพนิซิลเลียมมีสารที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ถ้าศึกษาให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็ค้นพบยาที่มาช่วยรักษาปกติภาพหรือสุขภาพของมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นแหล่งความรู้อันยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติสะสมไว้เป็นเวลาหลายพันล้านปี รอคอยให้มนุษย์ไปศึกษาให้เข้าใจและใช้คุณค่าของความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นการทำลายโอกาสของมนุษยชาติที่จะได้รับคุณค่าของความรู้ในธรรมชาติซึ่งจะไม่มีวันหวนกลับมาอีกเลย
  ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าของมนุษยชาติร่วมกันที่ควรหวงแหนรักษาไว้เพื่อเรียนรู้ เอามาใช้ประโยชน์ มนุษย์
สามารถได้รับประโยชน์จากความรู้โดยไม่ต้องทำลายต้นตอของความรู้ ในทางตรงข้ามมนุษย์เอาประโยชน์ระยะสั้นและเฉพาะตัวโดยการทำลายต้นตอของความรู้โดยไม่ได้เรียนรู้ และตัดโอกาสของคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะได้เรียนรู้ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นการทำลายโอกาสทางปัญญาของมนุษยชาติ
  ในภูมิอากาศต่างๆ มีความหลากหลายทางชีวภาพไม่เท่ากัน ในที่ที่หนาวจัดหรือร้อนจัดจะมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยกว่าเช่น แถบ
ขั้วโลกมีน้ำแข็งจับตลอดปีย่อมไม่มีพืชพันธุ์อะไรจะขึ้นได้มากนัก หรือในทะเลทรายอันแห้งและร้อนจัด มีแต่ต้นกระบองเพชรขึ้นได้นิดหน่อย ในประเทศในเขตหนาว มีต้นไม้เมืองหนาวเพียงไม่กี่ชนิด แต่ในประเทศเขตร้อนที่ฝนตกชุก มีความชื้นสูง ย่อมมีสรรพชีวิตมากมายหรือความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าในประเทศในเขตหนาวมากมาย
  ความหลากหลายทางชีวภาพยังมีคุณค่าทางสุนทรียภาพ ความงามของธรรมชาติอันหลากหลายก่อให้เกิดความสุขใจแก่มนุษย์อย่างลึกซึ้ง
ทัศนียภาพของป่า เขา แม่น้ำลำธาร แมกไม้นานาพรรณ ออกดอกสะพรั่งพร้อมด้วยผีเสื้อหลากสี วิหคส่งเสียงเจื้อยแจ้ว กระรอกกระแตวิ่งเล่นไล่กันอย่างสนุก คือ สุนทรีชีวภาพ อันก่อให้เกิดความประทับใจแก่มนุษย์อย่างล้นเหลือ ไม่ว่าชาติภาษาใดๆ จึงเป็นสัจจธรรมสากล มนุษย์เมืองอยู่กับสิ่งแวดล้อมเทียมที่จำเจซ้ำซาก แปลกแยกจากธรรมชาติ จึงมีความเจ็บป่วยทางจิตใจและต้องการธรรมชาติบำบัดเป็นอย่างมาก การที่มนุษย์ได้อยู่ร่วมอย่างบรรสานกับความหลากหลายของธรรมชาติ จึงไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางวัตถุเท่านั้น แต่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างลำลึกอีกด้วย
  เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นทั้งความดี ความงามและความถูกต้องที่มนุษย์ควรศึกษาให้เข้าใจ เห็นคุณค่า และได้
ประโยชน์
  แต่ละท้องที่ควรส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนและครูร่วมกับชาวบ้าน ศึกษาต้นไม้ สัตว์ และจุลชีพให้มากที่สุด ทั้งโดยวิธีทางวัฒนธรรม
หรือวิธีของชาวบ้าน และโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ให้รู้จักชื่อ คุณสมบัติ ปฏิสัมพันธ์ประโยชน์ ชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติเหล่านี้มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะต้องพึ่งพิงอาศัยธรรมชาติ วิธีคิดและความเข้าใจที่มาจากฐานทางวัฒนธรรม ความรู้ที่ชาวบ้านมีส่วนหนึ่งเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ เช่น สัตว์กินหรือไม่กินอะไร และอีกส่วนหนึ่งได้จากการทดลองของชาวบ้านเอง ความรู้เหล่านี้ได้ผ่านการสังเกต ทดลองใช้ สะสมถ่ายทอดกันมา เป็นความรู้ดั้งเดิม (traditional knowledge) ซึ่งเป็นขุมปัญญาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ความรู้เหล่านี้อาจไม่อยู่ในตำรา แต่อยู่ในบุคคลที่ถ่ายทอดกันมาทางปฏิบัติและทางปาก การเรียนที่เน้นแต่เรียนจากตำราและยิ่งเป็นตำราที่มาจากที่อื่นทำให้ผู้เรียนขาดการเรียนรู้จากขุมปัญญาอันยิ่งใหญ่ และทำให้ความรู้ดั้งเดิมของมนุษย์ที่สะสมไว้นับด้วยพันด้วยหมื่นปีสูญหายไปอย่างไม่มีวันจะได้กลับคืน
  ฉะนั้นวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ควรจะนำมาใช้ร่วมกับฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ความรู้เกิดเร็ว และสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น
แต่ยังทำให้การศึกษาเป็นการศึกษาของคนทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คน คุณค่าของการศึกษาที่แท้จริงอยู่ที่การศึกษาของคนทั้งหมด อันจะช่วยให้เกิดการลงตัวทางเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมได้
 
7. บูรณาการ
  จากหลักที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างเป็นปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา) จึงไม่มี
อะไรดำรงอยู่อย่างแยกส่วน โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น ฉะนั้นแม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นบูรณาการ ทั้งหมดทั้งปวงจึงเป็นองค์รวม (holism)
  ที่กล่าวมาใน 6 ตอนข้างต้น ได้เห็นแล้วว่า ความหลากหลายทางวัตถุหรือทางกายภาพ เกิดขึ้นจากความเป็นอนิจจัง ความหลากหลายทาง
วัตถุเป็นเหตุให้เกิดชีวิต ถ้าวัตถุมีความเป็นหนึ่งเดียว เช่น มีธาตุใดธาตุเดียวจะเกิดสิ่งมีชีวิตไม่ได้ เพราะสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยโครงสร้างของวัตถุอันหลากหลาย วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพความหลากหลายทางชีวภาพทำให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
  มนุษย์นอกเหนือไปจากกายซึ่งเป็นชีวภาพแล้วยังมีมิติทางจิต-สังคม (psycho-social) ซึ่งส่วนหนึ่งมีฐานอยู่ในชีวภาพ แต่ก็มีมิติที่มี
วิวัฒนาการเป็นอิสระจากชีวภาพ สังคมหนึ่งๆ จะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมในแต่ละแห่งแตกต่างกัน สังคมวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นจึงแตกต่างกัน เป็นความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยของความมั่นคงฉันใด ความหลากหลายทางสังคม-วัฒนธรรม ก็เช่นเดียวกัน ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นที่สะสมความรู้ทางธรรมชาติฉันใด ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งที่สะสมความรู้ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ มักจักควบคู่ไปกับการทำลายความหลากหลายทางสังคม-วัฒนธรรมด้วย อันเป็นการทำลายแหล่งความรู้และทำลายความมั่นคงหรือความสมดุลของสรรพสิ่ง
  เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่ควรได้รับความสนใจเฉพาะมิติทางวัตถุเท่านั้น แต่ควรจะเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม-วัฒนธรรม
ด้วยชาวบ้านต้องพึงพิงธรรมชาติ จึงมีกฎ ระเบียบ กติกา ตลอดจนความเชื่อร่วมกันที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อมไว้เพื่อความยั่งยืน การรวมตัวของชาวบ้านเป็นองค์กรชาวบ้าน หรือองค์ชุมชนก็เป็นมิติหนึ่งทางสังคมที่ทำให้ชาวบ้านมีอำนาจในการรักษาดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรกรรมแบบไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพก็เป็นการทำให้ชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อมมีดุลยภาพ
  มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่โครงสร้างอันวิจิตรของสมองทำให้เกิดนามธรรมที่ไปไกล เช่น เกิดความรู้สึกเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องคุณค่าทาง
จิตใจ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องวัตถุ และเกิดมีมิติทางจิตวิญญาณ (spirituality) ขึ้นในเรื่องของธรรมชาติแวดล้อม มีมิติทางจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันมาก เช่นเรื่อง แม่พระธรณี พระแม่คงคา แม่โพสพ รุกขเทวดา ดอนผีปู่ตา ฯลฯ มิติทางจิตวิญญาณนี้เพื่อให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งอันทรงคุณค่าสูง ที่มาช่วยกำกับพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในความถูกต้อง ไม่หยาบช้าสามานย์และให้มนุษย์ได้เข้าถึงความสุขอันลึกซึ้งยิ่งกว่าที่สัมผัสได้ทางวัตถุ ที่เรียกว่าความสุขทางจิตวิญญาณ (spiritual happiness) มิติทางจิตวิญญาณแปลออกมาสู่วัตถุธรรมในรูปต่างๆ เช่น ศาลเจ้า ศาลผี ศาลพระภูมิ เทวสถาน ศาสนสถาน และศาสนวัตถุอื่นๆ ในวัฒนธรรมของชาวบ้านจะเห็นการใช้มิติทางจิตวิญญาณเข้ามารักษาธรรมชาติแวดล้อม และความเป็นชุมชนอยู่ด้วย
  เมื่อลัทธิวัตถุนิยมบริโภคนิยมระบาด ลัทธินี้ไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นชุมชน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และ
มิติทางจิตวิญญาณ จึงก่อให้เกิดการแตกร้าวทำลาย และวิกฤตการณ์
  ฉะนั้น การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพไม่ควรจะเรียนแบบแยกโดดเดี่ยวเฉพาะชีววัตถุ แต่ควรจะเรียนในลักษณะเชื่อมโยงเป็น
บูรณาการทางข้างล่างกับโลกทางกายภาพ ทางข้างบนกับโลกทางจิต-สังคม และโลกทางจิตวิญญาณ และทุกขั้นตอนต้องโยงกลับมาให้เข้าใจตนเอง (self realigation) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จนเกิดจิตสำนึก และดำรงชีวิตโดยถูกต้องหรือจริยธรรม
  จริยธรรมไม่เกิดจากการเรียนวิชาจริยธรรมแบบแยกส่วน แต่เกิดจากการมีปัญญา เข้าใจโลกตามความเป็นจริง และเข้าใจตนเอง จนดำเนิน
ชีวิตถูกต้อง

รูปที่ 1 โลกแห่งบูรณาการ ของมิติทางกายภาพ ชีวภาพ จิต-สังคม และจิตวิญญาณการเข้าใจโลกตามความเป็นจริงต้องโยงกลับมาสู่การเข้าใจตนเองเสมอ เพื่อให้เกิดจริยธรรม
 
  โลกตามความเป็นจริงประกอบด้วยโลกทางกายภาพ ชีวภาพ จิต-สังคมและจิตวิญญาณ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน การเรียนรู้เกี่ยวกับโลกในมิติ
ต่างๆ ได้แบ่งแยกย่อยเป็นวิชาต่างๆ จำนวนมาก เช่น
 
  วิทยาศาสตร์กายภาพ : ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์
  วิทยาศาสตร์ชีวภาพ : ชีววิทยา พันธุศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา
  จิต - สังคม : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศาสนศาสตร์ ศิลปศาสตร์...
  จิตวิญญาณ : เทวศาสตร์ ศาสนศาสตร์.
  มีการเรียนวิชาเหล่านี้แยกย่อยออกไปแบบแยกส่วน จนไม่เห็นความเป็นบูรณาการ จึงไม่เห็นทั้งหมด และไม่เข้าใจตนเอง ทำให้จริยธรรม
เสื่อม
  การเรียนรู้ควรจะให้เห็นความเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ หรือการเห็นช้างทั้งตัว แม้เพียงคร่าวๆ และโยงกลับให้เข้าใจตัวเองเสมอว่า สัมพันธ์
กับสิ่งต่างๆ อย่างไร และต้องทำอย่างไรความสัมพันธ์นั้นจะถูกต้อง ไม่ว่าเรียนวิชาอะไร เฉพาะทางหรือละเอียดลงไป ก็สามารถโยงกลับมาสู่องค์รวม และมาสู่การพัฒนาตนเองเสมอ ถ้าโยงกลับมาสู่องค์รวมและมาสู่การพัฒนาตนเองไม่ได้ ก็จะรู้เป็นส่วนๆ เหมือนคนตาบอดคลำช้าง จะมีการทะเลาะ และขัดแย้งกันสูง และเข้าไปสู่การพัฒนาแบบทำลายเยี่ยงปัจจุบัน
  การเรียนรู้ที่ถูกต้องจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา หรือคือการพัฒนา
 
8.  การศึกษาที่เข้าถึงความจริง
  การศึกษาทุกวันนี้มีปัญหามากที่สุด เพราะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่เอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง ความเป็นจริงหมายถึง ความเป็นจริงของ
ธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อไม่รู้ความจริงวิชาต่างๆ ที่เรียนก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือ หรือเทคนิคแต่ขาดปัญญา เมื่อขาดปัญญารู้ความเป็นจริง แต่มีเทคนิคหรือเครื่องมือ เทคนิคหรือเครื่องมือก็เลยกลายเป็นอาวุธไปได้ อาวุธก็คือศาสตระ ศาสตร์ในความหมายว่าวิชา ถ้าไม่มีปัญญารู้ความเป็นจริงเป็นเครื่องนำ ศาสตร์ก็จะกลายเป็นศาสตรา หรืออาวุธที่จะทำร้ายธรรมชาติ ทำร้ายสังคม ทำร้ายตนเอง
  ทุกวันนี้คนที่ไม่รู้ความจริงมีจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจทุกระดับ การไม่รู้ความจริงทำให้เกิดการทำร้ายและทำลาย โดยจะรู้ตัว
หรือไม่รู้ตัวก็ตาม เพราะการศึกษา การงาน และการดำรงชีวิตของเขาไม่ทำให้เขารู้ความจริง เพราะเขาอยู่ห่างจากความจริง การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่เอาความจริงเป็นตัวตั้ง จึงก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ความรู้
  วิกฤตการณ์ความรู้ หรือการไม่รู้ความจริงของมนุษย์ได้มาถึงจุดที่ทำการแก้ไขปรับปรุงการศึกษา โดยตกแต่งโน่นนิดนี่หน่อยจะไม่ได้ผล
แต่ต้องเปลี่ยนตัวตั้งกันเลย ไปเป็นการศึกษาที่เอาความจริงเป็นตัวตั้ง เอาวิชาเป็นเครื่องมือให้เข้าใจความจริงดีขึ้น หรือเอาวิชาเป็นเครื่องให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ไปถือเอาวิชาเป็นปัญญาเสียเอง ดังที่เป็นอยู่
  ความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ธรรมชาติดังได้กล่าวมาทั้งหมดในตอนต้นการศึกษาควรสัมผัสความจริงอย่างที่เป็นจริงของธรรมชาติ
แวดล้อม มนุษย์และสังคม อย่างเชื่อมโยงเป็นบูรณาการและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การสัมผัสกับเรื่องของชาวบ้าน ซึ่งมีชีวิต จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อันเป็นเรื่องที่ยาก และสลับซับซ้อนเกินกว่าที่การศึกษาทางทฤษฎีเป็นวิชาๆ จะทำให้เกิดความเข้าใจได้เพียงพอและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
  การศึกษาโดยสัมผัสธรรมชาติที่เป็นจริง สามารถทำได้ตามวัย และวุฒิ สภาวะของผู้เรียน โดยให้มีความสนุกและความสุขในกระบวน
การเรียนรู้ไปด้วย เช่น เด็กให้ได้มีโอกาสเที่ยวศึกษาต้นไม้ สัตว์ ตามความสนใจ แต่ต้องมีการโยงความรู้ให้เชื่อมโยงกันเสมอ ไม่ใช่รู้อย่างขาดเป็นห้วงๆ เช่น เชื่อมโยงว่าต้นไม้กับดวงอาทิตย์เกี่ยวข้องกันอย่างไร แมลง กล นก ต้นไม้ ไส้เดือน งู เกี่ยวข้องกันอย่างไร และเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร ควรใช้เครื่องมือขยายการรับรู้ด้วย เช่น ใช้กล้องจุลทัศน์ส่องน้ำที่เอามาจากคูคลอง หรือส่องดินให้เห็นจุลชีพ ให้เห็นว่าแม้สิ่งที่ไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็มีสิ่งมีชีวิตและศึกษาต่อไปว่าจุลชีพเหล่านี้เกี่ยวกับชีวิตอื่นๆ อย่างไร
  ควรใช้เครื่องมือศึกษาทั้งทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์ เช่นว่าชาวบ้านเขาเชื่อ เขารู้และเขาประพฤติปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างไรใน
การดำรงชีวิต นี่ชื่อว่าเป็นการศึกษาทางวัฒนธรรม ในทางวิทยาศาสตร์อาจใช้เครื่องมือวัดอุณหภูมิ วัดความชื้น วัดปริมาณน้ำฝน วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินของน้ำ เพื่อให้เกิดความรู้ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศว่าในท้องที่หนึ่งๆ เป็นอย่างไร ทำไมต้นไม้บางชนิดขึ้นไม่ขึ้น มีสัตว์หรือไม่มีสัตว์อะไร สำรวจพันธุ์สัตว์พันธุ์ไม้ในท้องที่หนึ่งๆ อย่างละเอียด ศึกษาให้รู้คุณสมบัติ และปฏิสัมพันธ์ของธรรมชาติ และที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ สังคม เศรษฐกิจ จิตใจ วัฒนธรรม
  การไปสัมผัสและไปมีกิจกรรมเกี่ยวกับของจริงมาเช่นนี้ จะทำให้เกิดการรับรู้ความจริง เกิดความเข้าใจหรือปัญญาขึ้นมาระดับหนึ่งจากการ
สัมผัสความจริง เกิดจิตสำนึกขึ้นมาระดับหนึ่ง เช่น รักธรรมชาติรักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเกิดยากมากหรือไม่เกิดเลยจากการท่องจำวิชาและการสอบแบบท่องจำและการสอบแบบท่องจำเนื้อหาวิชา
  จากนี้สามารถนำมาทำให้เกิดปัญญาที่เข้าใจละเอียดและแจ่มแจ้งมากขึ้น โดยนำเอาข้อสังเกต ความรู้สึก และความรู้ มาสู่การปุจฉาวิสัชนา
ในกลุ่มการปุจฉาวิสัชนาทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น และจากปุจฉาหรือการตั้งคำถามนำไปแสวงหาคำตอบ เช่น จากหนังสือ จากคอมพิวเตอร์ จากการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ และจากการวิจัย
  การสัมผัสความเป็นจริง กระบวนการทางวัฒนธรรม กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย เข้ามาเชื่อมโยงกันในกระบวนการเรียนรู้ ที่ทำ
ให้มีปัญญามากขึ้น โดยมีฐานอยู่ในความเป็นจริง
  การเรียนรู้ควรจะต้องเป็นการเรียนรู้ของคนทั้งหมด และก่อให้เกิดการพัฒนาทุกมิติทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา ซึ่งจะไม่
กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ แต่อยากจะกล่าวว่าผู้ที่เข้าถึงความหลากหลายจะมีจิตใจสงบ สัมผัสกับความงามของธรรมชาติ มีความสุข มีความรัก เพื่อนมนุษย์และรักธรรมชาติและสามารถเรียนรู้ได้ในทุกสถานการณ์ การเข้าถึงความหลากหลายเป็นการเข้าถึงธรรมะอย่างสูง การเรียนรู้ควรจะเป็นการแก้ปัญหา หรือพัฒนาทั้ง 7 เรื่องพร้อมกันไปอย่างบูรณาการ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นปัจจยาการ การแยกทำเป็นเรื่องๆ จะไม่ได้ผล
  การรวมตัวของชาวบ้านเป็นองค์กรชุมชน และมีกระบวนการเรียนรู้ในการกระทำ (community education through action) เป็น
ตัวอย่างของการศึกษาที่สำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมกันไป
  การศึกษาควรเป็นการศึกษาที่เข้าถึงความจริง ความจริงทำให้มนุษย์เข้าใจถูกต้อง และกระทำถูกต้อง ความถูกต้อง ช่วยให้เกิดความเป็น
ปกติหรือดุลยภาพ หรือศานติ

กลับหน้าแรก