Untitled

http://www.tungsong.com



ประเวศ วะสี

วิสุทธิ์ ใบไม้

สมศักดิ์ สุขวงศ์

ฉลาดชาย รมิตานนท์

ชนวน รัตนวราหะ

ระพี สาคริก

ยศ สันตสมบัติ

คุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ

 

วิสุทธิ์ ใบไม้ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง
ของประเทศไทยกล่าวว่า

 

……ในทางชีววิทยาแล้ว ถือว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์
ของสิ่งมีชีวิตและกลไกการเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายในแต่ละท้องที่ของทุกมุมโลก แต่ในด้านเศรษฐกิจและสังคมทั่วไปแล้วมักมีสงสัยและความไม่แน่ใจเกี่ยวกับคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการค้นหาคุณค่าของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งมีชีวิตนั้นเสียก่อน ถ้าหากเราไม่เคยรู้จักมันเลย และไม่เคยรู้ว่ามีสิ่งนั้นอยู่ในโลกแล้ว เราจะรู้ถึงคุณค่านั้นอย่างไรกัน หากจะคิดอย่างนักธรรมชาติวิทยา ผมมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อุบัติขึ้นมา และอยู่ได้ในระบบนิเวศที่สมดุล ย่อมมีคุณค่าในตัวเองเสมอ เพียงแต่ว่าเราจะมีวิธีการค้นหาความรู้และนำคุณค่าของมันมาใช้ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะนำเอาหลักการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ประเมินหาคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตที่แฝงอยู่ในความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ กันอย่างซับซ้อน นักวิชาการมีความรู้สึกว่าการจะศึกษาประเมินคุณค่าอย่างแท้จริงของความหลากหลายทางชีวภาพที่เห็นสมควรจะอนุรักษ์ไว้ได้ทันใจผู้บริหารการพัฒนาประเทศก็คงจะไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพให้หลงเหลือไว้ได้เชยชมและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กัน… (วิสุทธิ์ ใบไม้, 2532:8)

 

นอกจากนั้นนักวิชาการท่านนี้ยังได้สรุปเอาไว้ พร้อมกับให้ตัวอย่างประกอบให้เห็นถึงคุณค่าและ
ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะพืชนานาชนิดที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตรกรรม การแพทย์ และอุตสาหกรรม
 
การเกษตรกรรม

 

มนุษย์ได้อาศัยพืชเป็นอาหารในการดำเนินชีวิตมานานนับหลายแสนหรือราวหลายล้านปีมาแล้ว
ปัจจุบันทราบกันว่ามีพืชจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 ชนิดที่ใช้กินได้ และมีพืชจำนวนไม่น้อยกว่า 150 ชนิดที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกเป็นอาหารสำหรับทั้งคนและสัตว์ แต่ในจำนวนดังกล่าวนี้ มีพืชเพียงประมาณ 20 ชนิดเท่านั้นที่ใช้เป็นอาหารของประชากรโลก โดยเฉพาะพืชที่ให้แป้งซึ่งเป็นอาหารหลักของคน ได้แก่ พืชประเภทข้าวข้าวโพด และมันฝรั่ง ความหลากหลายทางของพืชที่เป็นอาหาร เช่น การมีข้าวหลายๆ พันธุ์ เพื่อให้ผลผลิตมากขึ้น (วิสุทธิ์ ใบไม้, 2533:9) หรือเพื่อให้พืชอาหารนั้นมีความทนทายต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือทนต่อโรคหรือแมลงศัตรูพืชเป็นต้น ถ้าไม่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายความเสี่ยงต่อการเกิดความล้มเหลวของการเกษตรก็จะสูงมากยิ่งขึ้น (วิสุทธิ์ ใบไม้,2533:9) อย่างไรก็ตามได้กล่าวแล้วบ้างในตอนต้นว่าการพัฒนาการเกษตรกรรมภายใต้ชื่อเฉพาะว่า "การปฏิวัติเขียว" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมาและอ้างว่าเป็นการปฏิวัติเพื่อขจัดความอดอยากยากจนของมนุษย์ในโลกโดยเฉพาะในอาณาบริเวณประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายของโลก เมื่อกาลเวลาถึงปัจจุบันนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า นอกจากจะประสบกับความล้มเหลว คือไม่อาจแก้ไขปัญหาความอดอยากยากจนในโลกที่สามตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้เพราะปัญหาดังกล่าวมิใช่จะแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มผลผลิตในไร่นาอย่างเดียว แต่จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจในการควบคุมทรัพยากรและการกระจายผลผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นแม้การปฏิวัติเขียว ซึ่งแท้จริงก็คือการแนะนำส่งเสริมให้ชาวไร่ชาวนาปลูกพืชพันธุ์ใหม่จำนวนไม่กี่พันธุ์ ซึ่งจริงอยู่แม้ว่าผลผลิตมวลรวมอาหารของโลกเพิ่มขึ้นจริง แต่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกที่อาศัยอยู่ในประเทศโลกที่สามต่างๆ ก็ยังคงอดอยากยากจนอยู่ดังเดิม และที่เป็นเรื่องเสียหายมากไปกว่านั้นก็คือ การปฏิวัติเขียวมีผลทำให้ธัญพืชพื้นเมืองที่เคยเพาะปลูกกันอยู่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศท้องถิ่นที่หลากหลายมาเป็นเวลาช้านานแล้ว และยังคงมีศักยภาพที่อาจถูกนำมาพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและเหมาะสมกับท้องถิ่นทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมถูกทำลายสูญหายไปด้วย หากแนวโน้มในปัจจุบันยังคงดำเนินไปเช่นนี้ ในปี พ.ศ. 2548 ผืนนาประมาณสามในสี่ของประเทศอินเดียก็จะมีข้าวที่ชาวนาปลูกเหลือเพียงสืบพันธุ์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในอดีตอินเดียเคยมีพันธุ์ข้าวอยู่จำนวนเป็นพันสายพันธุ์เลยที่เดียว ในกรณีของประเทศอินโดนีเซีย ข้าวพื้นเมือง 1,500 พันธุ์หายไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เท่านั้นยังไม่พอเกือบจะสามในสี่ชองข้าวที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันสืบสายพันธุ์มาจากแม่พันธุ์เดียวเท่านั้น ปรากฎการณ์ที่น่าตกใจดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศโลกที่สามเท่านั้นในสหรัฐอเมริกาเองข้าวโพดที่ปลูกกันอยู่ในพื้นที่ร้อยละ 71 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดมีเพียงแค่ 7 ชนิดเท่านั้น ส่วนในพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชประเภท wheat ปรากฏว่ามีการใช้พันธุ์เพียงเก้าชนิดเท่านั้นในพื้นที่ร้อยละ 50 ของพื้นที่เพาะปลูก wheat (Ryan, 1992: 14)

 

การที่การเกษตรกรรมของโลกถูกเปลี่ยนแปลงไปในนามของการพัฒนาขึ้นมาจนเกิดลักษณะที่
เหมือนกันไปทั่วทั้งโลกเช่นนี้ทำให้ไร่นาต่างๆ ของประเทศต่างๆ และของโลกตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการทำลายล้างโดยประเทศต่างๆ อย่างมาก อันตรายที่รุนแรงที่สุดอาจทำให้เกิดความเสียหายของพืชนั้นๆ ในทุกๆ ประเทศทั่วไปหมด ดังเช่นในกรณีของโรคระบาดที่ทำให้มันฝรั่งพันธุ์ ไอริช (Irish potato) เสียหายทั่งโลกจนเกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรง เมื่อปี พ.ศ. 2389 ในปี พ.ศ. 2535 เกิดโรคระบาดต้นส้ม ในประเทศบราซิล อันเป็นผลที่เกิดจากการใช้พันธุ์ที่มียีนส์คล้ายคลึงกัน ทำให้เมื่อเกิดโรคระบาด เช่นโรคมะเร็งที่เกิดกับพืชตระกูลส้ม (citrus cancer) ความเสียหายใหญ่หลวงที่ตามมาคือผลผลิตส้มของประเทศตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ตามยังคงเป็นโชคดีของมนุษยชาติทั้งมวลอยู่บ้างที่ชาวไร่ชาวนาที่ถูกมองว่า "โง่เขลาเบาปัญญา" บางแห่งของโลกรับเอาพืชพันธุ์ใหม่ๆ เข้าไปปลูกโดยไม่ละทิ้งพันธุ์ดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ชาวนาในหุบเขาตูลูมาโย (Tulumayo Valley) ในภาคตะวันออกของประเทศเปรู ยังคงปลูกมันฝรั่งพันธุ์ต่างๆ อยู่เกือบ 180 พันธุ์ ทั้งๆ ที่เกือบจะครึ่งหนึ่งของพื้นที่ของพวกเขาใช้ปลูกมันฝรั่ง พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง (Ryan, 1992: 14-15)

 

ในกรณีการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เป็นที่ชัดเจนว่า ภายใต้นโยบายและการดำเนินการ
เพื่อให้บรรลุของการพัฒนาเกษตรกรรมในห้วงสามสิบปีเศษที่ผ่านมา ชาวนาไทยโดยเฉพาะในเขตการเกษตรกรรมหลักๆ ของประเทศ เช่นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เขตชลประทานในภาคเหนือและอีสาน ได้พากันละทิ้งข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายหลากชนิดกันไปแล้วอย่างสิ้นเชิง โอกาสที่เราจะค้นหาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ทรงคุณค่าที่มิได้อยู่ในธนาคารยีน (gene bank) อาจยังพอมีอยู่บ้างหากมีการศึกษาเสาะค้นตามไร่นาของชาวไร่ชาวนา "ผู้ล้าหลัง" ที่ยังคงอาศัยอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลจากเขตส่งเสริมเช่นเขตภูเขาลำเนาไพร เป็นต้น พวกเขาเหล่านั้นอาจเก็บรักษาพันธุ์พื้นเมืองเหล่านั้นไว้ด้วยเหตุผลที่นักวางแผนการพัฒนาฟังดูแล้วอาจไม่มีคุณค่าแก่การรับฟังเพราะปราศจากคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่นยังคงปลูกข้าวพันธุ์เดิมๆ ไว้บริโภคเพราะ "อร่อย" กว่าข้าวพันธุ์ส่งเสริม เป็นต้น คนเหล่านี้เองคือผู้ที่รักษาสมบัติล้ำค่าที่ธรรมชาติได้สร้างไว้ให้มิให้ถูกทำลายไป
 
การแพทย์

 

นอกเหนือจากอหารแล้วมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง นับแต่อดีตกาลก็ได้อาศัยพืชและสัตว์เป็นยารักษาโรค
และก็ได้สืบทอดความรู้ความเข้าใจคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของพืชและสัตว์กันมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนกระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เราพยายามลอกเลียนแบบมาจากตะวันตกซึ่งพัฒนาขึ้นมาบนรากฐานขององค์ความรู้ที่รวบรวมขึ้นมาจากประสบการณ์ระหว่างมนุษย์กับพืชและสัตว์ ของระบบนิเวศเขตอบอุ่นที่มิได้มีความหลากหลายทางชีวภาพเท่ากับในอาณาบริเวณของโลกเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นับแต่นั้นเราก็ได้พากันละทิ้ง “ภูมิปัญญา” ความรู้ทั้งหลายทางด้านการแพทย์และเภสัชวิทยาดั้งเดิมที่เราขนานนามให้ใหม่อย่างมีอคติว่า “แผนโบราณ” ไปเพื่อหลีกทางให้การแพทย์สมัยใหม่มีฐานทางประสบการณ์กับชีวภาพที่หลากหลายน้อยกว่า

 

อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางสาขาบางกลุ่ม เช่น นักมานุษยวิทยาในแขนงมานุษยวิทยาการแพทย์
(ethno-mesicine) แม้จะมีจำนวนไม่มากนักและเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ ได้ศึกษาและสรุปว่ามนุษย์เป็นนักสังเกตการณ์ตัวยงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางชีววิทยาที่อยู่รายรอบตัวของพวกเขามานมนานแล้ว และได้ใช้ชีวิตเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างมีพลวัตกับพืชและสัตว์มาโดยตลอด นับแต่การกำเนิดของระบบการแพทย์แรกเริ่มหรือแบบดั้งเดิมควบคู่กันมากับเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตแบบล่าสัตว์ เก็บหาอาหารตามธรรมชาติ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิชาการแพทย์พื้นบ้าน และแบบแผนของการใช้พืชและสัตว์เป็นอาหารและยาของคนในโลกด้อยพัฒนานั้น ความจริงแล้วมิได้มีความสำคัญแต่เฉพาะในเชิงวิชาการเท่านั้น แต่หากว่าได้กลายเป็นความสนใจอย่างสำคัญต่อการวางแผนสาธารณสุขระดับชาติของหลายๆ ประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเทศที่อาจไม่ร่ำรวยพอที่จะพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขแบบตะวันตกที่มีราคาแพง หรืออาจจะเป็นประเทศที่การแพทย์พื้นบ้านพื้นเมืองเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าด้วยประการทั้งปวงต่อการจัดสร้างระบบสาธารณสุขมูลฐาน

 

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าพืชที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรค แต่
เนื่องจากอุตสาหกรรมยาสมัยใหม่ทำให้ผู้บริโภคยาไม่ได้บริโภคยาในรูปแบบดั้งเดิมของพืช เช่น ไม่ได้เอารากไม้เปลือกไม้มาต้ม แต่บริโภคยาที่เป็นเม็ดหรือยาฉีดมีตัวยาสกัดมาจากพืช ดังนั้นสาธารณชนทั่วไป เมื่อพูดถึงความสำคัญของพืชที่เป็นยาจึงนึกภาพไม่ออก หรือหากนึกก็มักจะนึกถึงแต่สิ่งที่ถูกเรียกว่า “สมุนไพร” ในรูปแบบของพืชนำมาต้มเป็นยาหม้อของไทย เมื่อคนปัจจุบันไม่ได้กินยาหม้อแต่ใช้การฉีดรักษาโรคแทน จึงไม่เห็นความสำคัญของพืชไปโดยปริยาย เนื่องจากเชื่อมโยงไม่ได้ว่าตัวยาที่ฉีดเข้าไปรักษาโรคนั้นแท้จริงแล้วบางอย่างสกัดมาจากพืช

 

โดยประมาณแล้วมีสารเคมีบริสุทธิ์ 119 ชนิดสกัดมาจากพืชชั้นสูงและใช้เป็นยากันอยู่ทั่วทั้งโลก
แต่น่าประหลาดใจถ้าได้ทราบว่าอย่างน้อย 46 ชนิดในจำนวนดังกล่าวไม่เคยถูกใช้เลยในสหรัฐอเมริกา ประเด็นต่อไปที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่แล้วการค้นพบตัวยาในการรักษาโรคต่างๆ จากพืชเกิดจากความรู้ว่าได้มีการใช้สารสกัดเหล่านั้นในการรักษาโรคชนิดหนึ่งหรือหลายๆ ชนิดในหมู่ผู้คนท้องถิ่นหรืออาณาบริเวณบางแห่งของโลกอยู่แล้ว ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมองหาสารเหล่านั้นที่มีแววว่าน่าจะมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณที่สำคัญต่างๆ ก่อนที่จะผลิตออกมาจำหน่ายเป็นยาเชิงอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงจะต้องเข้าใจว่าพืชสมุนไพรที่ใช้กันอยู่ในรูปแบบที่ง่ายๆ หรือหยาบๆ ในมหู่ผู้คนที่เป็นชาวบ้านทั้งหลายทั่วโลกมีความสำคัญมาก องค์การอนามัยโลก (The World Organization) ประมาณไว้ว่าร้อยละ 80 ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลกพึ่งพาอาศัยยาพื้นบ้านเพื่อตอบสนองความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพมูลฐาน และประมาณร้อยละ 85 ของยาพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารที่ได้มาจากพืช ข้อเท็จจริงนี้หมายความว่า มนุษยชาติในโลกประมาณ 3,500,000,000 -4,000,000,000 คน (สามพันห้าร้อยล้าน-สี่พันล้านคน) พึ่งพาอาศัยพืชในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง (Wilson, et.al., 1988:83-91)

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่ควรนำมากล่าวถึงก็คือ ปัจจุบันนี้ในหลายๆ ประเทศได้มี
ความสนใจและการสนับสนุนให้มีการค้นคว้าทดลองเพื่อหาตัวยาใหม่ๆ จากพืชอย่างกว้างขวางและจริงจัง เช่นในกรณีของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเยอรมัน เป็นต้น สหรัฐอเมริกา แม้ว่าในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์อเมริกันบางคนอาจยังเห็นว่าอุตสาหกรรมยาของสหรัฐฯ ยังคงให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมาก แต่ก็ได้มีการพยายามผลักดันในบริษัทผลิตยาต่างๆ หันมาสนใจศึกษาค้นคว้าพืชสมุนไพรมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ Dr.E.Z. Greenleaf ได้เตรียมเสนอโครงการพัฒนายาชนิดใหม่ของเขา เขาต่อบริษัทผู้ผลิตยาแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ชื่อ ที่ควรนำมากล่าวก็คือ ปัจจุบันนี้หลายๆ ประเทศได้มีความสนใจการค้นคว้าทดลองเพื่อหาตัวยาใหม่จากพืช ในกรณีของ Dr. E.Z. Greenleaf ได้เตรียมเสนอโครงการพัฒนายาชนิดใหม่ของเขา ต่อบริษัทผู้ผลิตยาแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ชื่อ ABC Pharmaceutical Corporation ซึ่งเขาเสนอว่าจะศึกษาพืชในฐานะที่เป็นแหล่งยาชนิดใหม่ วิธีการที่เขาเสนอคือศึกษาตรวจสอบตำรายาพื้นบ้านพื้นเมืองต่างๆ ที่มีการเขียนไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลว่ามีพืชชนิดใดบ้างที่ผู้คนที่ถูกจัดว่า “เป็นคนป่าคนเถื่อน” ใช้ในการักษาโรคอะไรบ้าง เขาคงกล้าหาญถึงขนาดเสนอแนะว่า บริษัทดังกล่าวควรจ้างแพทย์สักคนสองคนเดินทางไปอาฟริกา บอร์เนียว นิวคาลีโดเนีย หรือบริเวณอื่นที่ยังคงดูป่าเถื่อนอยู่เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนพื้นเมืองเหล่านั้นสักปีสองปี และในช่วงดังกล่าว แพทย์ทั้งสองก็จะสังเกตวิธีการที่บรรดาหมดผีทั้งหลายรักษาคนไข้พร้อมกันนั้น แพทย์ทั้งสองก็จะวินิจฉัยโรคของคนไข้แต่ละคนเหล่านั้นในทัศนะของแพทย์สมัยใหม่ จากนั้นก็คอยติดตามประเมินผลการรักษาของหมอผีอย่างใกล้ชิด เมื่อสังเกตเห็นว่าคนไข้มีอาการดีขึ้นแพทย์ทั้งสองก็จะบันทึกไว้ว่าสมุนไพรชนิดใดถูกนำมาใช้ในการรักษา หลังจากนั้นรวบรวมเก็บตัวอย่างพืชเหล่านั้นส่งกลับมาให้ห้องทดลอง ของบริษัทในสหรัฐฯวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ค่าใช้จ่ายในการทำโครงการนี้ 5 ปี มีราคาถูกกว่าเครื่องบินชับไล่ไอพ่นใหม่เพียงหนึ่งลำเสียด้วยซ้ำไป (Wilson, et.al., 1988: 96)

 

ความจริงแล้วเรื่องเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับประเทศไทย นั้นคือกรณีที่บริษัททำยาของต่างประเทศ
ได้ลงทุนศึกษาตำราแพทย์พื้นบ้านของไทยเราในที่สุดก็พบว่า ตำรายาสมุนไพรของเราใช้ต้นเปล้าน้อยเป็นตัวยาหนึ่งในการรักษาโรคเกี่ยวกับท้อง จึงได้นำไปสะกัดทางเคมีและตรวจสอบสรรพคุณทางเภสัชวิทยา ก็ได้สารชนิดหนึ่งออกมาที่มีสรรพคุณในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร บริษัทดังกล่าวจึงทำการจดลิขสิทธิ์วิธีการสกัดสารดังกล่าวไว้ และได้ดำเนินการผลิตยารักษาโรค (แผลใน) กระเพาะอาหารออกมาจำหน่ายและน่าจะสามารถทำกำไรได้มากมายมหาศาล โอกาสที่คนไทยจะได้ประโยชน์จากยาที่สกัดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม และพืชดั้งเดิมในท้องถิ่นของเราก็มีน้อยไปโดยปริยายเข้าทำนองที่คนโบราณว่าไว้ว่า "ใกล้เกลือกินด่าง"
 
อุตสาหกรรมและหัตถกรรม

 

การปฎิวัติเขียวนอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จตามสมควรในการแก้ไขปัญหาความอดอยากยากจนใน
หมู่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกแล้ว ยังมีผลกระทบในการทำลายความหลากหลายของพันธุ์พืชที่เป็นอาหารของมนุษยชาติดังได้กล่าวมาแล้วอีกด้วย แต่ยังมีผลกระทบในทางลบที่สาธารณชนทั่วไปอาจไม่สู้จะตระหนักกันนักคือ การปฏิวัติเขียวหรือการเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชในการเกษตรกรรม เท่ากับเป็นการนำเอาพันธุ์ใหม่ๆ ที่ไม่มีภูมิต้านทานโรคเข้ามาเพาะปลูก ฉะนั้นเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาจึงต้องใช้ยาฆ่าแมลงกันมากมาย ยาฆ่าแมลงส่วนใหญ่ที่ผลิตจากประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยทำจากสารเคมีซึ่งส่วนมากมีฤทธิ์ตกค้าง และเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยาฆ่าแมลงบางชนิดที่ผลิตมาจากโรงงานต่างๆ และในโลกอีกด้วย ชาวไร่ชาวนาในแถบแอฟริกาตะวันตกมีความรู้ความสามารถหรือ “ภูมิปัญญา” ที่ทำให้พวกเขาสามารถสกัดสารอย่างหนึ่งจากถั่วชนิดหนึ่ง (Physostigma venenosum) นำมาใช้เป็นยาพิษฆ่าสัตว์มาเป็นเวลานานหนักหนาแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำสารดังกล่าวมาศึกษาตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็พบว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง สามารถนำมาพัฒนาใช้เป็นตัวยาสำคัญจำพวก methyl carbamate ที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลงหลายชนิด อีกอย่างหนึ่งคือในหมู่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในอเมริกาใต้ (ซึ่งปัจจุบันสาธารณชนเรียกพวกเขาว่า "อินเดียนแดง" ตามความเข้าใจผิดของโคลัมบัส-ผู้เขียน) ใช้พันธุ์พืชเลื้อยชนิดหนึ่ง (Lanchocarpus) ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชื้นเขตร้อนเป็นยาเบื่อปลา เพื่อจับปลามาเป็นอาหารเช้านานแล้วเช่นกัน ปัจจุบันสารสกัดได้จากพืชเลื้อยเหล่านั้นถูกนำมาใช้เป็นสารฆ่าแมลงพวก rotenone ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดี (วิสุทธิ์ ใบไม้, 2532 : 11) ในกรณีพืชเดียวกันนี้คนพื้นเมืองในป่าชื้นเขตร้อนรวมทั้งคนไทย ด้วยกันก็รู้จักใช้รากของต้นหางไหล หรือที่รู้จักกันดี ในชื่อ "โลติ๊น" เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันมานานแล้วเช่นเดียวกัน

 

ตัวอย่างที่ค่อนข้างจะล่าสุดในประเทศของเราก็คือคุณประโยชน์ของต้นสะเดา ที่คนเราสามารถสกัด
จากต้นไม้พื้นบ้านพื้นเมืองนี้มาใช้เป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืชได้โดยที่ไม่มีผลตกค้าง และไม่มีพิษในการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยไม่จำเป็น ความรู้นี้เป็นที่รู้และใช้กันอยู่ในหมู่ “ปัญญาชนท้องถิ่น” ที่เป็นชาวไร่ชาวนาไร้การศึกษาทางด้านชีวะเคมี สมัยใหม่ ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมยาและสารฆ่าแมลงต่างๆ เช่น เยอรมนีก็ได้เริ่มลงมือค้นคว้า ลงทุนและเริ่มทำการผลิตยาฆ่าแมลงจากสะเดาเชิงอุตสาหกรรมไปแล้วในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยที่ต้องการเป็นประเทศอุตสาหกรรม ยังเห็นคุณค่าของต้นสะเดาและความสำคัญของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นสมบัติที่ทรงคุณค่ามหาศาลน้อยมาก

 

ผลผลิตของพืชป่าและพืชดอยหลายชนิดถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางอุตสาหกรรมเช่นน้ำมันพืช ยาง
ธรรมชาติ สารเคมีธรรมชาติ ที่ได้จากพืชเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีคุณสมบัติเหนือกว่าบรรดาสารสังเคราะห์ที่ผลิตได้ หรือเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันเคมี (โปโตรเคมี/ปิโตรเคมี) (วิสุทธิ์ ใบไม้, 2533 :11) แม้กระนั้นก็ตามกล่าวโดยรวมแล้ว เรายังมีความรู้ในเรื่องของพืชและสัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่ในป่าชื้นเขตร้อนและป่าประเภทต่างๆ รวมทั้งระบบนิเวศทางน้ำทางทะเลที่เรามีอยู่น้อยมา เมื่อเราไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เราจะทราบหรือบอกกับนักวางแผนพัฒนาได้อย่างไรว่า พืชหรือสัตว์ชนิดไหนมีคุณค่า (ทางเศรษฐกิจ) ไม่ใช่เฉพาะนักวิทยาศาสตร์ในประเทศเราเท่านั้นที่ไม่สามารถบอกได้ ในระดับสากลสถานการณ์ก็มิได้ ต่างอะไรกัน เจมส์ ดีเนชั่น (Gams D. Nations) กล่าวว่าเราจำเป็นต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า พวกเรานักวิทยาศาสตร์ไม่มีวันจะสามารถพิสูจน์หรือแสดงให้เห็นชัดๆ ว่ามนุษย์เราจะได้ประโยชน์โดยตรงอะไรบ้างจากการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกนี้เอาไว้ สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจไม่มีประโยชน์อะไรต่อมนุษย์นอกเหนือไปจากเป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ แต่ใครกันล่ะที่จะเป็นผู้บอกเราว่าสิ่งมีชีวิตของความลึกลับไม่มีประโยชน์ ใครกันละจะเป็นผู้ที่สามารถจะบอกว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตระดับไหนจึงจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงข่ายสายใยแห่งชีวิตที่เราในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ (Wilson, et,al., 1988:81)

 

นอกจากนั้น เนชั่นยังได้อ้างถึงนักเขียน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่ออีริค เอ็คโฮล์ม (Erik Eckholm) ว่า
เขาได้กล่าวไว้ว่า ภารกิจหลักสำคัญประการหนึ่งที่เผชิญหน้าทั้งนักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลก็คือ ต้องระบุค้นให้พบ ศึกษาและชี้ให้เห็นความสำคัญพร้อมกับต้องรักษาสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่ทำหน้าที่สำคัญในการรักษาดุลยภาพทางนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ ดังนั้นในระหว่างที่เรายังไม่มีความรู้เพราะยังไม่ได้ศึกษาสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มีอยู่ในโลกได้ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดหลักการว่าในเมื่อเรายังไม่มีความรู้เราก็ต้องถือว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มีอยู่ล้วนแต่มีคุณประโยชน์มหาศาลทั้งสิ้น (Wilson, et, al., 188:81)

 

ดังนั้นการเร่งด่วนใช้ทรัพยากรในรูปแบบที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนถาวรต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมทำไม้
อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การสร้างเขื่อน ทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง การเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จากภายนอกระบบนิเวศท้องถิ่นและกิจกรรมอื่นๆ ที่มีผลในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่เรายังขาดความรู้ มนนามของการพัฒนาที่ทำกันมาและกำลังทำกันอยู่ จึงเท่ากับเป็นการพัฒนาที่ฉาบฉวยมีสายตาที่สั้นคับแคบและอาจถึงขึ้นเขลาเอาการด้วยซ้ำไป

 

อนึ่งการที่นักวางแผนพัฒนาก็ดี นักการเมืองก็ดี ข้าราชการก็ดี พากันพร่ำบอกกับสาธารณชนว่า
ประเทศไทยกำลังเป็นประเทศอุตสาหกรรม เมื่อกาลเวลาผ่านไป คำถามว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นสามารถจะเป็นจริงได้ขนาดไหนเริ่มหนาหูขึ้น สิ่งที่เราเรียกกันอย่างหลวมๆ ว่าอุตสาหกรรมส่งออกมีไม่น้อยเลยที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นหัตถกรรมเสียมากกว่า เฟอร์นิเจอร์ ดอกไม้ประดิษฐ์ และสินค้าส่งออกหลายชนิดต้องอาศัยวัสดุธรรมชาติ ยิ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มลักษณะการอุปโภคบริโภคของผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อในประเทศดังกล่าว บางส่วนเริ่มแสวงหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นยา อาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางทำจากสารธรรมชาติ เสื้อผ้าทำจากเส้นใยของพืช ฉะนั้นหากมีการศึกษาค้นคว้าถึงคุณประโยชน์ และสามารถจัดระบบการนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมไม่ให้เกิดผลเสียในทางทำลายจนสูญพันธุ์ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระดับใด ระดับหนึ่งแล้วหัตถกรรมในประเทศเราก็เป็นได้ค่อนข้างมากทีเดียว


ปัญหาหลักของการพัฒนากระแสหลัก BACK สถานภาพขององค์ความรู้