Untitled

http://www.tungsong.com



ประเวศ วะสี

วิสุทธิ์ ใบไม้

สมศักดิ์ สุขวงศ์

ฉลาดชาย รมิตานนท์

ชนวน รัตนวราหะ

ระพี สาคริก

ยศ สันตสมบัติ

ทำไมการค่อย ๆ หายไปของแมลง พืชและนกจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

สำหรับนักชีววิทยาและสำหรับคนธรรมดาๆ อีกจำนวนไม่น้อย การตั้งคำถามดังกล่าวไม่มีความจำเป็น
ด้วยซ้ำไป ด้วยว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เป็นผลิตผลของการวิวัฒนาการที่กินเวลาเป็นหลายล้านปี มีลักษณะเฉพาะตัวและไม่สามารถหาที่ไหนมาทดแทนได้อีก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งมีคุณค่ามหาศาลต่อการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามสำหรับอีกหลายๆ คน สาเหตุจำเป็นและเร่งด่วนของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเหตุผลที่มาจากผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ กล่าวคือ การดำรงอยู่ต่อไปของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ต้องพึ่งพาอาศัยหรือขึ้นอยู่กับความอยู่รอดปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ อย่างไม่อาจหลีเลี่ยงได้นั่นเอง (Ryan, 1992:6) ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง

 

แต่สำหรับสาธารณชนก็ดี รัฐและหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะในกรณีประเทศไทย หากจะให้ความ
สำคัญต่อเรื่องนี้ก็ดูจะให้ความสำคัญแต่เฉพาะพืชที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความหมายแคบๆ ในทางปฏิบัติ คือต้นไม้ที่ขายได้ราคาแพงในตลาด เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้ตะเคียน ไม้แดง เป็นต้น พืชชนิดอื่นๆ ที่มีคุณค่าในเชิงการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศถูกทำลาย กำจัด หรือละเลย ในกรณีของสัตว์ก็มักจะให้ความสำคัญ ต่อสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง เสือ กระทิง พืชและสัตว์เล็ก เช่นเห็ดรา และแมลงต่าง ๆ จึงอยู่นอกสายตา การศึกษาดูแลของทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน

 

ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่สัตว์ แมลง หรือพืชบางชนิดที่มนุษย์คิดว่าไม่มีประโยชน์บ้าง เป็นอันตรายบ้าง
ถูกทำลายไป ต่อมาภายหลังได้พบว่าสัตว์เหล่านั้นมีบทบาทสำคัญต่อระบบธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่กินสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ที่มนุษย์ถือว่าเป็นอันตราย เช่น เสือหรืองู พิษชนิดต่างๆ จึงอาจถูกกำจัดจนกระทั่งสูญพันธ์ไปก็ได้ ในที่สุดธรรมชาติก็เลยไม่มีกลไกที่จะควบคุมแมงสัตว์ หรือพืชที่เป็นอาหารตามธรรมชาติให้อยู่ในจำนวนพอเหมาะ ฉะนั้นต่อมาสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นวัชพืชหรือสัตว์ แมลงที่มากเกินไปก็ได้ ตัวอย่างเช่น ไส้เดือนหรือ มด ปลวกถูกฆ่าโดยยาฆ่าแมลง จึงไม่มีใครทำหน้าที่พรวนดินให้โปร่งมีอากาศถ่ายเทได้อีกต่อไป งูถูกฆ่า เพื่อถลกหนังขาย หนูนากลับชุกชุมมากจนเกิดอันตรายต่อการเพาะปลูก ป่าชายเลนอาจถูกตัดไปเผาถ่าน แต่ที่รุนแรงที่สุด คือนักวางแผนการพัฒนาประเทศส่วนใหญ่มองว่าป่าชายเลนไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ จึงมีนโยบายเปลี่ยนป่าชายเลนเป็นนากุ้ง ก็เลยไม่มีแนวป่าชายเลนคอยป้องกันแผ่นดินจากการกัดเซาะโดยพลังของคลื่นลมสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา บางชนิด ก็ไม่มีถิ่นที่จะวางไข่เติบโตและหากินตามธรรมชาติ ก็เลยพากันสูญพันธุ์ตามไปด้วย เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบนิเวศทุก
ระบบและต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนชีวิตของผู้คนในทุกๆ ประเทศ ทุกๆ สังคมและต่อโลกทั้งโลก


การพัฒนาคือการเปลี่ยนวัฒนธรรม BACK ยุทธวิธีในการป้องกันรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายฯ