http://www.tungsong.com


ประวัติศาสตร์   |    โบราณสถาน,วัตถุ  |   ศาสนา,ความเชื่อ  |   ภูมิศาสตร์   |   ชาติพันธุ์ วรรณกรรม  |   วัฒนธรรมประเพณี  |    อื่นๆ

สถานที่สำคัญตั้งแต่อดีต | ปูนทุ่งสง | เอกสารสรุปการเสวนาจากสไลด์ของอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ | รายงานการประชุม 25 เม.ย. 56 |
รายงานผลการดำเนินงาน 12 ม.ค. 58 | สรุปการประชุมเสวนา 12 ม.ค. 58

 

 
สถานที่สำคัญตั้งแต่อดีต

วงเวียนหอนาฬิกา

วงเวียนหอนาฬิกา ในปี พ.ศ. 2503 เป็นอนุสาวรีย์สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2513 เป็นวงเวียนที่ไม่มีอนุสาวรีย์ใดๆ ส่วนสำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสงในปี พ.ศ. 2496 ยังไม่มีการก่อสร้าง เป็นพื้นที่ว่างเปล่า

วงเวียนหอนาฬิกาเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2503 (ภาพซ้าย) และปี พ.ศ. 2512 (ภาพขวา)
                (
ภาพจากคุณสุมาลี ลิ่มอุสันโณ)

ที่ตั้งสำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสง เมื่อปี พ.ศ. 2496 (ภาพจากนางเลี้ยงเกี้ยว แซ่ง้อ)

·   โรงแรม

หลังจากการเปิดเดินรถไฟสายใต้ เมืองทุ่งสงเป็นชุมทางค้าขาย จึงมีโรงแรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น โรงแรมทุ่งสง (อยู่ริมถนนชนปรีดา-ปัจจุบันคือที่ตั้งของธนาคารกสิกรไทย) เป็นอาคารเรือนไม้ 2 ชั้นหลายคูหา และติดกับโรงแรมทุ่งสงนี้เป็นร้านตัดผมบุรุษชื่อร้าน ไมตรีเกศา เจ้าของร้านชื่อนายเหลื่อม ชัยศรี ช่างตัดผม (กัลบก) สมัยนั้น คือลุงดำริห์ พาหุกุล (ปัจจุบันอายุ 76 ปี เกิด พ.ศ. 2477) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 4 ติดกับโรงเรียนเจริญวิทยา ในซอยเข้าถ้ำตลอด (ถนนราชบริพาร) นอกจากนี้ยังมี โรงแรมฮั้วเซี่ยมเฮง (ตั้งอยู่หลังบ้านนายกเนย) โรงแรมอุดมพร  (วงเวียนหอนาฬิกา) โรงแรมแกรนด์ (สมัยนายกแกน)  มีเตี่ยของโกนันต์เป็นผู้จัดการโรงแรม ที่ตั้งของโรงแรมแกรนด์ในอดีตคือที่ตั้งของธนาคารไทยพาณิชย์สาขาทุ่งสงในปัจจุบันนั่นเอง โรงแรมเอเชีย ช่วงแรกที่เป็นอาคารไม้ก่อนไฟไหม้ใหญ่ โรงแรมอรุณ (ตั้งอยู่ข้างร้านชุมนุมศิลป์) โรงแรมศรีอรุณ โรงแรมปักษ์ใต้ (โรงแรม 7 ชั้น) โรงแรมเอเชีย (วงเวียนหอนาฬิกา) ช่วงที่เป็นตึกสร้างขึ้นใหม่หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ พ.ศ. 2501  โรงแรมเทียมฟ้า (สร้างปี พ.ศ. 2511) และโรงแรมบุญรัตน์ เป็นต้น

โรงแรมอุดมพร ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2512

โรงแรมอุดมพร ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2552

 

โรงแรมเอเชียในอดีต (ภาพซ้าย) และตำแหน่งโรงแรมเอเชียในปัจจุบัน (ภาพขวา) (ภาพจากคุณสุมาลี ลิ่มอุสันโณ)

 

·   ร้านถ่ายรูป

ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของเมืองทุ่งสง คือ ร้านวรภาพ (ของนายนรินทร์  เจนสุริยะ อดีตเทศมนตรีสมัยนายกแกน วงศ์สุรีย์) ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดราชบุรี ในสมัยการเดินทางด้วยรถไฟสายใต้เริ่มเป็นที่นิยม ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปสมัยที่ถ่ายด้วยกล้องขนาดใหญ่แบบช่างภาพต้องมุดเข้าไปอยู่ใต้ผ้าคลุมโปง ต่อมาจึงมีร้านอื่นๆ ตามมาอีกได้แก่ ร้านชัยรัต (ของพี่ชาย) ร้านศรีสยาม (ของผู้น้อง) อยู่ริมถนนศิลปนุสรณ์ ปัจจุบันเป็นคิวรถตุ๊กๆ สายทุ่งสง-ไสใหญ่ ภายหลังจึงมีร้านโรจน์ศิลป์  และร้านคณิตศิลป์ (เป็นลูกน้องเก่าของร้านโรจน์ศิลป์) ปัจจุบันร้านถ่ายรูปสมัยใหม่ของเมืองทุ่งสงคือร้านจัมโบ้

ถ่ายจากร้านวรภาพ ถ่ายจากร้านศรีสยาม
ถ่ายจากร้านชัยรัต ถ่ายจากร้านโรจน์ศิลป์
ร้านถ่ายรูปยุคก่อนและหลังเหตุการณ์ไฟไหม้เมืองทุ่งสง 
 

·   ร้านน้ำชากาแฟ

ร้านน้ำชา-กาแฟเก่าแก่ของเมืองทุ่งสงมีหลายร้านมาก เช่น ร้านเจ๊เกียวหน้าโรงรับจำนำ ซึ่งสมัยเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังคามุงสังกะสี นายเจริญ เจริญฤทธิ์ ปัจจุบันอายุ 85 ปี เล่าว่า ตั้งแต่แกยังเด็กก็เห็นมีร้านน้ำชาเจ๊เกียวนี้อยู่แล้ว และอยู่ต่อเนื่องมาถึงสมัยเป็นตึกปูนตรงที่เดิมซึ่งตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งสง ส่วนร้านน้ำชา-กาแฟแห่งอื่นๆ เช่น ร้านแป๊ะเหมา ร้านโกดัด พ่อของโกตั๊บ-นายวีระพงษ์  อภิรักษ์ขิตกุล ซึ่งเป็นอดีตเทศมนตรีในสมัยพันโท น.พ.ปริวรรต อุดมศักดิ์ เป็นนายกเทศมนตรี ร้านโกเหม่ง (ตั้งอยู่ตรงวงเวียนหอนาฬิกา) ร้านโกดีกา ร้านโกเซ่ง ร้านเจ๊เกียวตาเข ร้านมุ่ยเอี้ยง (โกหย่วน) ตั้งอยู่ใกล้กับร้านมุ่ยหลี ต่อมาปิดร้านไป ร้านมุ่ยหลี  (สมัยเรือนไม้ริมคลองตมและอยู่ต่อเนื่องจนเป็นตึกปูนจนถึงปัจจุบัน)

·   ร้านประเภทอื่น

ร้านซินเฮง เป็นร้านประเภท ชับฟอ (ภาษาจีนแคะ) ขายของเบ็ดเตล็ด เช่น นาฬิกาทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนผนัง นาฬิกาปลุก เหล็กสกัด ตะเกียงเจ้าพายุยี่ห้อ ปิโตรแม็ก” (Petromax) ซึ่งนำเข้ามาจำหน่ายโดย บริษัทเต็กกี่ จำกัด รวมถึงโซ่ล่ามช้าง เป็นต้น วิธีขายโซ่ล่ามช้างนั้น โกแบน (นายเทพชัย  พันทวีศักดิ์) เล่าว่า ทางร้านซื้อโซ่แบบค้าส่งเข้ามาเป็นกระสอบใหญ่ ต้องดึงโซ่เหล็กออกจากกระสอบมาวัดความยาวตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นจึงนำมาวางบนทั่งเหล็ก แล้วใช้เหล็กสกัดกับทุบด้วยค้อนปอนด์เหล็กที่มีน้ำหนักมากเพื่อให้ข้อโซ่ขาดจากกัน ลูกค้าจึงเอาสินค้าไปได้ เจ้าของร้านซินเฮงคนปัจจุบันคือ โกเหยี่ยน ซึ่งเป็นพี่ชายของ โกแบน และโกแบนก็เป็นเจ้าของโรงแรมเทียมฟ้า (ใกล้ตลาดโต้รุ่ง) อนึ่ง ร้านซินเฮงนี้มีที่ตั้งนับจากอดีตถึงปัจจุบันรวม 3 ตำแหน่งแล้ว ได้แก่ ครั้งที่ 1 ตั้งอยู่ถัดไปจากโรงแรมเทียมฟ้านั้นจะมีร้านทองใกล้โรงแรม ให้นับถัดจากร้านทองไปอีก 5 คูหา ครั้งที่ 2 เคยเช่าเรือนไม้เก่า 2 ชั้น เลขที่ 201 (เลขไทย) เลขที่ 222 (เลขอารบิค) ริมถนนชนปรีดาใกล้กับสมาคมจงฮั้ว  ซึ่งปัจจุบันคือร้านตัดผ้าไชโยและไชโยข้าวมันไก่ ผู้ครอบครองร้านไชโยคนปัจจุบันคือนางนิภา  จันทร์แก้ว ย้ายมาจากปากพนัง โดยมาซื้ออาคารเก่าหลังนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 โดยเจ้าของเดิมคือนายศรีนวล ชอบธรรม อดีตนายสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง แต่เช่าอยู่เพียงระยะสั้นเนื่องจากขายไม่ดี จึงย้ายมาเป็นตำแหน่งปัจจุบันเป็นครั้งที่ 3  โดยร้านเอราวัณ เป็นร้านตัดเสื้อและขายชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงหนังเฉลิมจิตต์ (ริมถนนนิกรบำรุง) เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นเก่าแก่ที่เป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นสมัยก่อน ที่เป็นเสมือนที่นัดพบ และมาซื้ออุปกรณ์การเรียนที่นี่

·   สถานเริงรมณ์

สวนสวรรค์ สวนสวรรค์อยู่บริเวณตลาดสดเทศบาล เป็นป่าจนถึงวัดโคกสะท้อน แต่เดิมนั้นเป็นป่ารก เป็นบึงมีที่ลุ่มน้ำขัง มีสัตว์จำพวกนากกินปลาอาศัยอยู่ ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราว พ.ศ. 2484) โกส้าน (นายวสันต์  ว่องวานิช) เล่าว่าเป็นที่หาความสำราญของพวกทหารญี่ปุ่น  และในช่วง 50 ปีที่แล้ว (ราว พ.ศ. 2499) เจ๊เจ็ง (นางนันท์ ตั้งสกุลเปลี่ยนชื่อเป็นนางวัลยา เหมทานนท์) ลูกสาวของมังแซแห่งร้านแสงไทย เล่าว่า ตอนแกอายุ 5-6 ขวบ สวนสวรรค์ยังเป็นที่เปลี่ยวรกชัฏเสี่ยงต่องูเงี้ยวเขี้ยวขอ  และคนไม่ดีอาจทำมิดีมิร้ายเอาได้ ผู้ใหญ่จึงมักหลอกเด็กๆ ว่าย่านนี้มีผีดุ เพราะเป็นบริเวณต่อเนื่องไปถึงหน้าวัดโคกสะท้อน ช่วงหลัง พ.ศ. 2500 เด็กๆ มักมาเที่ยววิ่งเล่นอยู่ในทุ่งสวนสวรรค์ โดยเจ๊เจ็ง เล่าว่า แกชอบนั่งซ้อนท้ายจักรยานของพี่ชายไปเที่ยวเล่นตามที่ต่างๆ เช่น ไปเที่ยวโรงซำป้อเพื่อไปดูการซ้อมดนตรีจีน และไปวิ่งเล่นในสวนสวรรค์เพื่อ กอบปลากัด ในบึงใหญ่ ต่อมาย่านนี้มีอาคารขึ้นเป็นแถวต่อเนื่องกันและช่วงหนึ่งมีซ่องโสเภณีอยู่ในราว 40-50 ปีก่อน เมื่อลองเทียบค่าครองชีพของข้าราชการชั้นผู้น้อยในสมัย 40-50 ปีก่อนตามคำบอกเล่าของอาจารย์เวช แกว่าสมัยนั้นผู้ที่จบหลักสูตรครู (ปม.) เงินเดือนเริ่มต้น 600 บาทต่อเดือน เมื่อประมาณการค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ ค่าเช่าบ้านเดือนละ 100 บาท ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นสวัสดิการครูของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นรถแบบผู้ชายยี่ห้อฮอนด้า (ท่อเฉียง) เดือนละ 250 บาท  ส่วนที่เหลือจึงเป็นค่ากิน ค่าน้ำมันรถ และค่าเที่ยวเล่น บันเทิงเริงใจ ได้อีกราว 250 บาทต่อเดือน ส่วนราคาซ่องโสเภณีย่านสวนสวรรค์และอีกย่านแถวซ่องแมวดำ (2 ฝั่งถนนนิกรบำรุงตั้งแต่แยกเฉลิมจิตต์เป็นต้นไป) ในยุคนั้น ราคาโสเภณีต่อครั้ง 20 บาท ปัจจุบันนี้ย่านสวนสวรรค์กลายเป็นตลาดสดที่มีอาคารหนาแน่น 2 ฝั่งถนนและคับคั่งด้วยผู้คนในตลาดเช้า มีอาคารที่เป็นโรงแรมศรีอรุณปรากฏเป็นหลักฐานความเฟื่องฟูในอดีต และมีอาคารหลังหนึ่งที่หน้าอาคารชั้นบนสุดนั้นมีข้อความว่า สวนสวรรค์ ปรากฏอยู่เป็นประจักษ์หลักฐานในการมีอยู่ของสวนสวรรค์แห่งนี้

เจ้าของซ่องแมวดำรายหนึ่ง (ซ่องนี้ตั้งอยู่แถวแยกเฉลิมจิตต์-ต่อมาเรียกแยกชื่นจิตต์) นั้นชื่อนายแบน เมียชื่อนางอุบล ปัจจุบันครอบครัวนี้เสียชีวิตหมดแล้ว (ถูกยิงตายทั้งครอบครัว 3 ชีวิตพ่อ-แม่-ลูกชายอายุราว 18 ปี) โดยนายแบนถูกยิงตายก่อนหลังจากเลิกกิจการซ่องแมวดำไปเลี้ยงวัวฝูงใหญ่อยู่ในทุ่งนา ต่อมาเมียและลูกชายก็ถูกยิงตายตามไปอีก  

·   โรงภาพยนตร์

ความบันเทิงของชาวเมืองทุ่งสงในสมัยก่อนที่รายการโทรทัศน์จะเป็นที่นิยม ต้องกล่าวถึงโรงหนังหรือโรงภาพยนตร์ โดยลุงไข่แจ้ง  ท้าวฉาย ปัจจุบันอายุ 76 ปี (เกิด พ.ศ. 2477)  เล่าว่าเมื่อแกจำความได้ (ราวชั้นประถมต้น) ก็มีโรงหนังแห่งแรกของเมืองเป็นเรือนไม้อยู่บริเวณหอนาฬิกาแล้วชื่อ โรงหนัง___ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของอาคารที่เป็นอดีตห้างโอเชี่ยนนั่นเอง) โรงหนังเก่าแก่อันดับต่อมาคือโรงหนังเก่าแก่อีกโรงหนึ่งคือโรงหนังเฉลิมจิตต์ เดิมนั้นเป็นวิกลิเกเฉลิมจิตต์มาก่อน ซึ่งเป็นสมัยที่รุ่นคุณพ่อของคุณเอกชัย ชื่นจิตต์ เป็นผู้ดำเนินกิจการ และมีช่วงหนึ่งที่โรงหนังเฉลิมจิตต์ผิดข้อกฎหมายฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) ต้องก่อสร้างอาคารใหม่ จึงต้องออกมาล้อมรั้วฉายหนังกลางแปลงอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งคนทุ่งสงเรียกโรงหนังแห่งนี้ในช่วงหนึ่งนั้นว่า โรงหนังเฉลิมคอก คุณเอกชัยเล่าว่าเมื่อคุณพ่อดำเนินกิจการมาจนถึงช่วงสมัยมีสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ช่อง 5  และช่อง 7 (เริ่มจากระบบขาวดำราว พ.ศ. 2501) จนมาเป็นช่อง 5 สีในราว พ.ศ. 2517 และช่อง 7 สีในราว พ.ศ.2521 ผู้คนจึงติดรายการบันเทิงภายในบ้านมากกว่าที่จะออกมาดูหนังตามโรงภาพยนตร์ เมื่อคุณเอกชัยจบจากร่ำเรียนที่กรุงเทพและแต่งงานมีครอบครัวจึงเข้ามาดำเนินธุรกิจโรงหนังต่อจากคุณพ่อนับแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา และได้เปลี่ยนชื่อโรงหนังเฉลิมจิตต์มาเป็นชื่อตามชื่อสกุลคือ โรงหนังชื่นจิตต์ ธุรกิจโรงหนังชื่นจิตต์ได้ซบเซาลงตามลำดับจนกระทั่งปิดกิจการลงในราว พ.ศ. 2523-2524 โรงหนังคิง (อยู่ริมถนนชนปรีดา ตรงสามแยกทางไปวัดโคกสะท้อน) ซึ่งเป็นของนายยุคุน  สุวรรณเดช และเป็นเทศมนตรีในสมัยของนายเนย ศิลปรัศมี เป็นนายกเทศมนตรี (ราว พ.ศ. 2483) ส่วนเจ้าของที่ดินที่ตั้งโรงภาพยนตร์แห่งนี้คือ หลวงศิลป์ ซึ่งทำงานอยู่การรถไฟ โรงหนังคิงนี้เปิดได้ชั่วระยะสั้นๆ ก็มีอันต้องพับกิจการไป ต่อมาจึงกลายเป็นโรงหนังโคลีเซียม ที่เจ้าของวิกสมจิตต์จากเมืองนครเข้ามาเปิดดำเนินการ

   
โรงหนังเฉลิมจิตต์ หรือ โรงหนังชื่นจิตต์

คุณเอกชัย ชื่นจิตต์

โรงหนังเฉลิมจิตต์ อดีตวิกลิเกและโรงหนังเฉลิมจิตต์ ถ่ายเมื่อ 18 ส.ค. พ.ศ. 2553 

 

โรงหนังรุ่นต่อมาคือโรงหนังเฉลิมพร เนื่องจากสมัยนั้นโรงหนังในพระนครใช้คำว่า เฉลิม นำหน้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น เฉลิมไทย เฉลิมกรุง เฉลิมศรี เป็นต้น ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังเพชรเกษม โรงหนังรุ่นต่อมาคือ และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงหนังทุ่งสงรามา ส่วนความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่งในสมัยนั้นของเมืองทุ่งสงคือ รำวง อันถือเป็นความบันเทิงสมัยใหม่ที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมอยู่ยุคสมัยหนึ่ง คณะรำวงขึ้นชื่อ ได้แก่ รำวงคณะศรีทุ่งสง รำวงคณะถาวรบันเทิง (ของเมียผู้ใหญ่ด้วง) คณะ ส. ภักดีบันเทิง (ของโกซ้วง แซ่หลีต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็นพฤกษ์ชัยนิมิต) รำวงคณะศรีหัวไทร (ของนายโชติ เจ้าของ) และรำวงคณะนารีฉลองรัตน์ (ตั้งอยู่ตรงร้าน  ว.อรุณภัณฑ์) รำวงคณะจตุพร (จากปากพนัง) ส่วนวงดนตรีสากลขึ้นชื่อในอดีตนั้นต้องยกให้วงยูเอ็ม คาลิปโซ     ซึ่งเป็นวงดนตรี สตริงคอมโบ้ ของครูจำนงค์ หอสุชาติ โดยครูจำนงค์เล่นไวโอลินและเป็นหัวหน้าวง ส่วนสมาชิกวงบางท่าน เช่น ครูจรูญ เมืองไทย (เสียชีวิตแล้ว) บังม้าน ลูกของบังมัสคาน และน้าหลวงชอบ  เกตุแก้ว (มือกลอง)