<%@ Language=VBScript %> อาหาร


  กีฬาชนวัว

        ชนวัว เป็นกีฬาพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ โดยการคัดเลือกเอาวัวที่มีคุณลักษณะเหมาะสมมาชนกันในสถานที่ที่กำหนด และมีกติกาชัดเจนจนถึงขั้นแพ้ ชนะในที่สุด เป็นกีฬาที่ให้ทั้งความสนุกสนาน ตื่นเต้น และความประทับใจแก่ผู้ชม จึงเป็นที่นิยมของชาวภาคใต้ทั่วไปตลอดจนชาวภาคอื่นหรือชาวต่างชาติที่ได้มาเห็นและสนใจกีฬาชนิดนี้ ในประเทศอื่นบางประเทศ เช่น ประเทศโคลัมเบีย(ในอเมริกากลาง) ก็นิยมกีฬาประเภทนี้ แต่ในประเทศไทยเฉพาะในภาคใต้เท่านั้นที่นิยมการชนวัวกันแพร่หลายมาช้านานจนถึงปัจจุบัน จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการชนวัวเป็นกีฬาที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคใต้ มีผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่า ชาวไทยภาคใต้น่าจะได้กีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส คือในสมัยพระเจ้าเอมมานูเอล แห่งโปรตุเกสได้แต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทยใน ปี พ.ศ. 2061 ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นี้ได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทย ซึ่งเป็นฝรั่งชาติแรกที่ได้เข้ามาค้าขายกับไทยโดยทางเรือ และให้ทำการค้าขายใน 4 เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และ มะริด นอกจากทำการค้าขายแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมไว้หลายอย่าง เช่นการติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัว เป็นต้น ในระยะแรกของการชนวัว เชื่อว่าคงเอาวัวมาชนกันเล่นเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้มีการพนันขันต่อกันด้วยตามวิสัยของมนุษยชาติ กีฬาชนวัวจึงได้กลายมาเป็นการพนันประเภทหนึ่งขึ้นด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกีฬาที่มีการพนันแทรกเข้ามาโดยมีการได้เสียกันป็นเงิน เรือนหมื่นเรือนแสนทางราชการก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการเล่นประเภทนี้ให้เป็นไปตามกฏหมายของบ้านเมืองเพื่อป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ ขึ้น โดยจัดให้มีบ่อนชนวัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เรียกว่า “สนามชนโค” โดยทางราชการได้กำหนดให้ขออนุญาตในการตั้งบ่อนและขออนุญาตทุกครั้งที่จะจัดให้มีการชนวัว หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า “บ่อนชนวัว” หรือ “บ่อนวัวชน” และเพื่อขจัดความยุติธรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับกีฬาชนวัวดังกล่าวทางสนามชนวัวจึงได้ทำกติกาสำหรับกีฬานี้โดยตรงขึ้น โดยให้ใช้เหมือน ๆ กัน เกือบทุกแห่งในเวลาต่อมา การชนวัว มักจัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานเทศกาลสารทเดือนสิบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรืองานเฉลิมพระชนมพรรษา(งานฉลองรัฐธรรมนูญเดิม) ที่จังหวัดตรัง เป็นต้น ในช่วงปกติจะชนได้ เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้นโดยกำหนด ให้ชนได้ในวันเสาร์หรืออาทิตย์ สัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งของเดือน แต่ถ้าวันเสารหรือวันอาทิตย์ที่กำหนดไว้นั้นตรงกับวันธรรมสวนะก็ต้องเลื่อนไปชนกันในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์อี่น ในปัจจุบันจังหวัดในภาคใต้นิยมกีฬาประเภทนี้มากคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส ในบางอำเภอของจังหวัดกระบี่ และที่อำเภอบ้านนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้กีฬาชนวัวยังได้แพร่หลายขึ้นไปทางจังหวัดภาคเหนือบางจังหวัดคือจังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย และพิษณุโลก

วัวที่ใช้ชนเรียกว่า วัวชน นั้นต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะถึงจะดี วัวใช้งานธรรมดา หรือวัวเนื้อไม่ค่อยจะนิยมใช้เป็นวัวชนกันนัก วัวชนต้องเป็นวัวตัวผู้ อายุระหว่าง 4-6 ปี ซึ่งเรียกว่า “ถึก” อันเป็นระยะเวลาของอายุเหมาะที่จะชน ถ้าไม่แพ้หลายครั้ง หรือเสียวัวเสียก่อนก็อาจจะชนได้ถึงอายุ 14-15 ปี วัวชนที่ดีต้องมีคุณสมบัติบางอย่างในการต่อสู้ คือต้องมีน้ำใจทรหดอดทน มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีไหวพริบหรือชั้นเชิงในการชนที่ดี ที่เรียกกันว่า “ชนดี ใจดี แรงดี” กับต้องมีลักษณะที่ดีอื่น ๆ อีกหลายอย่างตามความเชื่อของบุคคล

[กลับสู่หน้า "กีฬาพื้นบ้าน"]