สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชกับงานจักสานไม้ไผ่  นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีประดิษฐกรรมด้านศิลปหัตถกรรมมายาวนาน มีความหลากหลายของศิลปะในท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยภูมิปัญญาของชุมชนที่แตกต่างกันออกไป และมักจะแสดงให้ปรากฏจากเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ กระจูด ย่านลิเภา ก้านมะพร้าว ใบตาล และไม่ไผ่ เป็นต้น

        ไม้ไผ่เป็นหญ้าประเภทหนึ่งซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น และมีฝนตกชุกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันได้หลายประการ เช่น สร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งทำได้ทั้งโครงสร้าง หลังคา ฝาผนัง พื้นบ้าน และรั้วบ้าน นอกจากนี้ยังนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ เช่นโต๊ะ เก้าอี้ ม่าน ภาชนะใส่น้ำ ตะกร้าใส่ของ กรงนก แจกันดอกไม้ และเครื่องตกแต่งบ้านอื่น ๆ รวมทั้งสร้างเป็นคอกสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย

        งานจักสานไม้ไผ่เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น และสะท้อนให้เป็นภาพวัฒนธรรมดั้งเดิมได้เป็นอย่างดียิ่ง ในอดีตคนส่วนใหญ่มีความสามารถในการจักสานไม้ไผ่เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้มาก แต่ต่อมาสังคมได้วัฒนาการมากขึ้น เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันจึงเปลี่ยนไปผู้ที่มีความสามารถด้านจักสานลดน้อยลง รวมทั้งวัสดุธรรมชาติโดยเฉพาะไม้ไผ่ที่ใช้ในการจักสานก็ลดจำนวนลงด้วย เนื่องจากมีการถางป่าเพื่อใช้เพาะปลูกพืชอื่นที่จำเป็นต่อการครองชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนก็นิยมซื้อหาเครื่องใช้ที่ทันสมัยและสะดวกสบายมาใช้เป็นเหตุให้งานจักสานไม้ไผ่ลดความสำคัญลงไปมาก

        อย่างไรก็ดี ผู้ที่เห็นความสำคัญของงานศิลปะการจักสาน ก็พยายามเสาะแสวงหามาใช้สอยอยู่บ้างแต่ก็มีจำนวนน้อย ราคาสูง และความประณีตในการประดิดประดอยก็ลดลง น่าดีใจที่มีหลายหน่วยงานพยายามหาทางฟื้นฟูงานการจักสานไม้ไผ่ขึ้น ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชก็เป็น หน่วยงานหนึ่งในหลาย ๆ หน่วย ที่พยายามจะดำเนินรวมกลุ่มประชาชนผู้มีความสนใจในการประกอบอาชีพประเภทนี้มาฝึกอบรมการจักสานไม้ไผ่ ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพประเภทนี้อยู่แล้วแต่ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนโดยจัดการรวมกลุ่ม และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการจักสานไม้ไผ่ พร้อมทั้งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่เดือดร้อน

        เมื่อปี พ.ศ.2524 สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ริเริ่มจัดการประกวดชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ริเริ่มจัดการประกวดแข่งขันและสาธิตการจักสานไม้ไผ่ในงานเทศกาลเดือนสิบขึ้น และได้ดำเนินต่อจนถึงปัจจุบันในระยะแรกกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนน้อย ต้องอาศัยความร่วมมือจากพัฒนาการประจำตำบลเสาะหาผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ที่มีความประณีตสวยงามและหาผู้ผลิตที่มีความสามารถในการจักสานมาประกวดแข่งขันและสาธิต แต่มาในระยะหลังการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเริ่มแพร่หลายประชาชนจึงตื่นตัวมากขึ้น มีผู้นำผลิตภัณฑ์การจักสานไม้ไผ่มาประกวดแข่งขันและสาธิตมากขึ้นทุกปีขณะเดียวกันประชาชนผู้สนใจสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ตนเองชอบไปใช้สอยได้มากขึ้นด้วย

        นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการจักสานไม้ไผ่ควบคู่กันไปด้วย โดยรวมกลุ่มประชาชนผู้มีความสนใจในการประกอบอาชีพประเภทนี้มาฝึกอบรมการจักสานไม้ไผ่ ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพประเภทนี้อยู่แล้วแต่ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนโดยจัดการรวมกลุ่ม และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการจักสานไม้ไผ่ พร้อมทั้งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่เดือดร้อน



ไม้ไผ่กับการดำเนินชีวิต

กลุ่มอาชีพจักสานไม้ไผ่