ในวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยโดยเฉพาะของชาวภาคใต้นับตั้งแต่มารดาครบกำหนดจะคลอดบุตรต้องนอนบนแคร่ไม้ไผ่ เมื่อทารกคลอดออกมาก็ได้สัมผัสกับฟากไม้ไผ่เป็นอันดับแรก จึงเรียกเวลานั้นว่า "เวลาตกฟาก" ต่อจากนั้นก็ใช้ไม่ไผ่รวกตัดสายสะดือ วัฒนธรรมนี้มีทั้งในหมู่ชาวเล เงาะซาไก (และในชนชาติอื่น เช่น อินเดีย เป็นต้น) พออาบน้ำ แต่งตัวเสร็จ จะนำทารกมาวางในกระด้งที่สานด้วยไม้ไผ่ ตามคติความเชื่อว่าเป็นการหลอกผี โดยทำทีเขย่าและร่อนกระด้ง แสดงให้ผีหลงผิดว่าไม่มีใครรักเด็กคนนั้น ผีก็จะได้ไม่สนใจ เพื่อจะได้ปลอดภัยจากระยะอันตรายที่เรียกกันว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน" ครั้นเด็กโตพอจะสอนเดินก็ใช้ "บอกเวียน" ที่ทำด้วยไม้ไผ่ฝึกเดิน เด็กคนใดดื้อรั้นก็ต้องดัดนิสัยกันด้วยเรียวไม้ไผ่ โตพอรักสวยรักงามก็ใช้หวีไม้ไผ่ โดยเฉพาะหญิงเงาะซาไกในภาคใต้นั้นพบว่าชั่วชีวิตของเขามีอุปกรณ์ในการเสริมสวยเพียงชิ้นเดียวคือ หวีไม้ไผ่ การดำรงชีวิตของชาวภาคใต้ทุกคน จะผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมการใช้ไม้ไผ่อย่างกว้างขวางและพิศดาร นำเอาไม้ไผ่ทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ เหง้า หน่อ กาบ ลำต้น กิ่ง ใบ แขนง เมล็ด และขุยไผ่ นำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องทำมาหากินและเครื่องใช้นานาชนิดเช่น เป็นแคร่ ม้านั่ง และเก้าอี้ เป็นอุปกรณ์การกินเช่น เป็นตะเกียบ และกระบอกน้ำ เป็นอุปกรณ์การทำมาหากิน เช่น เป็นสุ่ม คันเบ็ด ข้อง และไซเป็นต้น

        ความที่ชีวิตประจำวันของชาวภาคใต้ผูกพันอยู่กับไม้ไผ่อย่างใกล้ชิด วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวภาคใต้ที่เป็นนามธรรมส่วนหนึ่งมีไม้ไผ่เป็นสิ่งบันดาลใจ เช่น เพลงกล่อมเด็ก ปริศนาคำทาย ภาษิตพื้นเมือง นิทานพื้นเมือง ฯลฯ วัฒนธรรมเหล่านั้นทำให้หยั่งคติชาวบ้านลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังเพลงกล่อมเด็กภาคใต้หลายบทเกริ่นนำด้วยไม้ไผ่ แล้วกล่าวเป็นเชิงอุปมาในลักษณะต่างกัน เช่น

        "เดือนขึ้นเหอ                ขึ้นมาแค่ปลายไม้ไผ่
        รักกันแต่ในใจ               ไม่เท่ใช้ใครไปขอให้
        ตัวพี่คือแมงภู่ทอง           ตัวน้องคือพวงดอกไม้
        ไม่เท่ใช้ใครไปขอให้      รักกันแต่ในใจ

        บทเพลงนี้นอกจากมีคุณค่าเชิงเปรียบเทียบแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นสภาพบ้านชนบทที่มีกอไผ่เป็นรั้วบ้าน (อย่างน้อยด้านทิศตะวันออกของบ้าน) ดังได้กล่าวมาแล้วอย่างชัดเจนหนุ่มในบ้านจึงได้นอนคิดคำนึงออกมาเช่นนั้น หรือ

        "ฝนตกเหอ               ตกมาสุมสุม
        ไม้ไผ่กอหนุ่ม            แตกพุ่มกลางกอ
        ถ้าพี่ได้เป็นช่าง         จะเข้าไปง้างเอาสักหน่อ
        แตกพุ่มกลางกอ        สองหน่อเรียงเรียงกัน"

        วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ของแต่ละชาติ สะท้อนให้เห็นทั้งสถานภาพของสังคมและศักยภาพของกลุ่มชนที่มีต่อวิธีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างสรรค์วิถีการดำเนินชีวิตและผลิตทรัพยากรวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและมีระบบ ไม้ไผ่จึงกลายเป็นพืชธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่งสำหรับคนทั่วไป

        ในประเทศไทยมีไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองอยู่ 12 สกุล แบ่งได้ 50 ชนิด มีอยู่ทุกภาค ไม้ไผ่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และทนทานต่อความแห่งแล้งได้ดีพอใช้สามารถขยายพันธุ์ได้จากหน่อ เหง้า เมล็ด และตาที่อยู่บริเวณบนข้อปล้องแก่ (อายุราวหนึ่งปีขึ้นไป)

        ไม้ไผ่ที่พบเห็นและรู้จักกันดีทั่วไปในป่าและไร่นา ได้แก่ ไผ่เพ็ก ไผ่ผาก ไผ่สีสุก ไผ่โจ็ด ไผ่แจ้ พวกที่ใช้ทำเชือกได้ก็มีไผ่เลื้อย ไผ่คลาน ส่วนไผ่ต้นโต ๆ ไดแก่ ไผ่ป่า ไผ่หนาม ไผ่ตง ไผ่ซาง ไผ่สีสุก ไผ่หอม ในชนบทไทยทุคภาค ไม้ไผ่ซึ่งเจริญงอกงามจนเป็นที่รู้จัก และถูกนำมาใช้สอยอย่างกว้างขวาง มีสายพันธุ์และชื่อเรียกต่างกัน



งานหัตถกรรมไม้ไผ่

สำนักงานพัฒนาชุมชน