ขั้นที่ 1 ขั้นผสมโลหะ
         ชั่งเงิน 95 ส่วน ทองแดง 5 ส่วน สำหรับหลอมเป็นโลหะทำถม

ขั้นที่ 2 ขั้นหลอมโลหะ
         ถ้าเป็นงานขนาดเล็ก ๆ จะใช้จอกหลอมถ้าเป็นงานขนาดใหญ่ที่โลหะมีน้ำหนักตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปจะใช้เบ้าหลอม หรือใช้เตาถ่านหรือเตาไฟฟ้า เพราะหลอมได้ สะดวกและแม่นยำดี การหลอมจะดีหรือใช้ได้เพียงใดนั้นใช้วิธีการสังเกตสีของโลหะว่าละลายผสมเข้ากันดีหรือไม่ การหลอมต้องใช้น้ำประสานทองใส่ผสมลงไปในขณะหลอมด้วย และใช้ถ่านไฟ คนหรือกวน ถ้าโลหะผสมกันดีแล้วจะเป็นสีม่วงและผิวเรียบเกลี้ยงเป็นเงามัน แล้วเทลงรางออกรูปเป็นแผ่นเงิน

ขั้นที่ 3 ขั้นขึ้นรูป
นำแผ่นเงินมาดัดหรือตีแผ่ให้เป็นรูปภาชนะต่าง ๆ หรือรูปพรรณต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ให้มีความหนาพอสมควร ในขั้นนี้ต้องใช้เวลานานมากกว่าขั้นอื่น ๆ เพราะโลหะแข็งมาก และใช้มือทำตลอด (จะไม่ใช้เครื่องจักรช่วยเลยถ้าเป็นเครื่องถมนครแท้)

ขั้นที่ 4 ขั้นเขียนลาย
เมื่อสร้างรูปพรรณต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วก็เขียนลวดลายนั้นใช้วิธีการแบ่งส่วนทั้งซ้ายและขวาให้เท่า ๆ กัน โดยใช้วงเวียนแบ่งเส้น แบ่งช่วง และแบ่งครึ่ง เขียนไปเรื่อย ๆ เช่น แบ่ง1เป็น 2, แบ่ง 2 เป็น 4, แบ่ง 4 เป็น 8 ฯลฯ จนได้ลวดลายละเอียดตามความเหมาะสม

ขั้นที่ 5 ขั้นแกะสลักลาย
ก่อนแกะสลักลายช่างจะทำความสะอาดและแต่งผิวรูปพรรณให้เรียบ แล้วแกะเป็นรอยลึกลงไปตามลวดลายที่เขียนไว้ โดยไม่ให้ผิวโลหะหลุดออกเป็นชิ้น และสลักให้มีรอยนูนดุนออกไปอีกด้านหนึ่ง ส่วนที่แกะสลักลวดลายนี้เป็นพื้นที่ที่จะถูกเคลือบด้วยยาถมต่อไป

ขั้นที่ 6 ขั้นเก็บผิวรูปพรรณ
        ในขั้นแกะสลัก รูปทรงและผิวพรรณอาจจะมีตำหนิบ้าง เมื่อแกะสลักเสร็จจึงต้องแต่งผิวให้เรียบร้อย แต่งทรงรูปพรรณให้ได้ศูนย์หรือสมดุลเหมือนเดิมจากนั้นก็ทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง การทำความสะอาดจะขัดด้วยกรดอ่อน ๆ โดยใช้กรดผสมน้ำอัตราส่วน 1: 4 ต้องขัด ส่วนที่ลงยาถมให้สะอาดเป็นพิเศษ ขัดจนขาวเป็นเงามัน ไม่มีคราบสีน้ำตาลเจือปนอยู่เลย

    

ขั้นที่ 7 ขั้นลงถม
        ต้องใช้น้ำยาถมที่เตรียมไว้แล้วละลายด้วยความร้อนสูงพอสมควร โดยให้สังเกตว่าน้ำยาถมนั้นมีลักษณะเกือบแดง แล้วใช้น้ำยาถมที่ละลายนั้นแปะลงไปบนร่องลวดลายที่แกะสลักไว้ จะเห็นได้ว่าน้ำยาถมจะ "แล่น"(วิ่ง) หรือไหลไปตามร่องนั้นจนทั่ว โดยการใช้ไฟ "เป่าแล่น" การลงถมที่ดีนั้นไม่ได้ลงครั้งเดียว ต้องลงถมถึง2-4 ครั้ง โดยครั้งแรกลงแต่พอประมาณ

ขั้นที่ 8 ขั้นตกแต่งถม
        เมื่อลงยาถมกระจายเต็มลวดลายทั่วทุกส่วนดีแล้ว ก็ทิ้งรูปพรรณนั้นให้เย็น แต่ห้ามนำไปแช่น้ำ เพราะโลหะจะหดตัว และอาจจะแตกได้ หรือถมหลุดออกเป็นชิ้น ๆ ได้ เมื่อเย็นดีแล้วก็ใช้ตะไบถูหรือเหล็กขูดแต่งยาถมที่ไหลเลาะ บนส่วนที่ไม่ต้องการที่มียาถมออกให้หมด แต่งผิวให้เรียบด้วยกระดาษทรายจนกระทั่งเห็นลวดลายหรือภาพปรากฏขึ้นชัดเจนดีหมดทุกส่วน และผิวของส่วนถมจะไม่มีรูพรุนหรือจุด ที่เรียกว่า "ตามด" ต้องมีถมอยู่เต็มสนิท ไม่มีช่องที่จะมองเห็นเนื้อโลหะพื้นซึ่งเรียกว่า "พื้นขึ้น"

ขั้นที่ 9 ขั้นปรับแต่งรูปทรง
        ในขณะที่ลงยาถมนั้นรูปพรรณหรือภาชนะต้องถูกความร้อนสูงเผาอยู่เป็นเวลานานพอสมควรจนกว่าจะเสร็จจาการลงยาถมแต่ละครั้ง ดังนั้นรูปลักษณะของรูปพรรณอาจบิดเบี้ยว คดงอไปจากเดิมไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้เมื่อเสร็จจาการลงยาถมแล้วต้องมีการปรับแต่งรูปใหม่ให้มีรูปลักษณะคืนสภาพเดิม

ขั้นที่ 10 ขั้นขัดผิวและแกะแร
เมื่อปรับแต่งรูปแล้วพื้นผิวยังคงหยาบกร้านและด้าน ต้องขัดผิวด้วยกระดาษทรายละเอียดและถูด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อนจนผิวเกลี้ยง ถ่านไม้ที่ใช้ถูเป็นถ่านไม่สุกคล้ายถ่านหุงข้าวแต่เนื้ออ่อน ส่วนมากต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศแต่ถ้าไม่มี ช่างจะใช้ถ่านไม้สนแทน เมื่อเกลี้ยงได้ที่แล้วก็ขัดผิวทั่วไปทั้งหมดด้วยเครื่องขัดและยาขัดโลหะอีกครั้งหนึ่ง แล้วล้างให้สะอาดเช็ดให้แห้ง

        หลังจากนั้นถึงขั้นการแกะแรลวดลาย หรือการแรเงาตกแต่งลวดลายให้สวยงาม เพราะลวดลายที่ปรากฏในขั้นที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นเพียงภาพโครงสร้างภายนอกเท่านั้น เป็นภาพที่หยาบ ๆ ไม่สมบูรณ์หรือไม่มีรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ไม่มีเส้นตัดภายในให้เป็นลวดลายอ่อนช้อนสวยงาม ขึ้นอยู่กับความชำนาญและประณีตของช่างประเภทนี้โดยเฉพาะ

ขั้นที่ 11 ขั้นขัดเงา
        หลังจากแกะแรจะนำรูปพรรณถมเข้าเครื่องขัดด้วยยาขัดอย่างละเอียด เช็ดด้วยผ้านุ่ม ๆ ทำความสะอาดให้ขึ้นเงางาม ก็ถือว่าสำเร็จเรียบร้อย


ตำนานความเป็นมา

การทำถมทองหรือถมตะทอง