1.การเตรียมวัสดุถมตะทอง
        ใช้โลหะเงินที่ขัดผิวไว้เรียบร้อย แล้วแต่ยังไม่แกะแร เตรียมเฉพาะถึงขั้นทำความสะอาดผิวตามกระบวนการถมเงิน

2.การเตรียมเปียกทอง (เนื้อทอง)
        ใช้ทองคำบริสุทธิ์อย่างน้อยร้อยละ 99 กะจำนวนที่จะใช้แต่ละครั้งให้พอดี รีดหรือทุบให้บางที่สุดเท่าที่จะทำได้ หั่นให้เป็นฝอยแล้วเอาเข้าเครื่องบดจนเกือบเป็นผงทราย ล้างให้สะอาด เทปรอทบริสุทธิ์ลงไปคลุกเคล้ากับผงทองนี้ในครกหินที่เตรียมไว้ บดกวนจนผงทองกับปรอทละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จนกระทั่งข้นและเหนียวซึ่งเรียกว่า "ทองเปียก" เก็บไว้ใช้ในขั้นต่อไป

3.การทาทองหรือตะทอง
        นำผลิตภัณฑ์ถมเงินที่เตรียมไว้มาเช็ดถูให้สะอาดด้วยน้ำมะกรูดหรือมะนาว เพื่อขจัดไขมันและไฝฝ้าต่าง ๆ บนผิวเงินให้หมดไปจริง ๆ แล้วใช้สำลีชุบทองเปียกที่เตรียมไว้ตามข้อ 2 ถูทาให้ทั่วเฉพาะตรงส่วนที่เป็นเส้นเงินหรือลวดลายบนวัตถุถมเงินที่เตรียมไว้ แล้วนำวัตถุนั้นไปตากแดดหรืออบให้ความร้อนอ่อน ๆ บนเตาผิงทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายอบให้ได้ความร้อนสูงกว่าเดิมจนรูปพรรณนั้นร้อนจัด แต่อย่าให้ร้อนเกินไปจนเนื้อถมละลายอบจนปรอทระเหยออกหมด เหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นกับเนื้อเงินก็ถือว่าเสร็จงานในขั้นนี้ ทางช่างเรียกว่า "การรมทอง"

4.การสลักหรือเพลาลาย รูปพรรณ
        ช่างต้องสลักลวดลายเพิ่มเติมให้เหมาะสมและงดงามขึ้นเรียกว่า แกะแร ในการทำเครื่องถมเงิน หรือ "การสลัก" หรือเพลาลาย


ขั้นตอนการทำเครื่องถม

ตำนานช่างเครื่องถม