ผ้าทอกับประเพณี
1.การเกิด
        การเกิดมีการนำผ้าเข้ามาเกี่ยวข้องช้านานแล้วเพราะสมัยก่อนโบราณเมื่อมารดาเริ่มตั้งครรภ์ก็ต้อง เตรียมทอผ้าไว้สำหรับเป็นผ้าอ้อม ผ้าห่ม ผ้าหุ้มฟูก และเสื้อผ้าสำหรับทารก เมื่อคลอดออกมาและทำความสะอาดตัวเด็กแล้ว ก็เอาผ้าที่ทอไว้มาห่อตัว หรือบางคนก็เตรียมทอผ้าไว้กำนันลูกหลานหรือญาติพี่น้องที่จะคลอดก็มี

2.การแต่งงาน
        ผ้าทอที่เกี่ยวข้องกับพิธีการแต่งงานของชาวนคร คือ ผ้าไหว้ เป็นผ้าที่คู่บ่าวสาวใช้แสดงความเคารพญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย หรือเป็นผ้าขาวพับที่เจ้าบ่าวจัดไปในขบวนขันหมากซึ่งไม่จำกัดความยาว (แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 หลา) ในพิธีแต่งงานจะมีพิธีกราบหมอน ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้จัดเตรียมผ้าขาวสองผืน (ใช้ทำเพดานเหนือที่ประกอบพิธีกราบหมอนผืนหนึ่ง และปูทับบนหมอนก่อนที่จะวางเครื่องบูชาผืนหนึ่ง)

3.การปลงศพ
        เมื่อจัดพิธีปลงศพ นิยมใช้ผ้าขาวห่อศพ เปรียบเสมือนธรรมะที่ขาวสะอาดไม่มีมลทิน ทุกคนต้องใช้การนุ่งผ้าให้ศพ แล้วก็มีผ้าไหมคลุมโลงศพนอกจากนี้ยังมีการใช้ผ้าขาวโยนข้ามศพ 3 ครั้ง เพื่อให้ครบองค์รัตนตรัย แล้วนำผ้าไปสวด เมื่อสวดเสร็จก็นำผ้านี้ไปถวายพระ

4.ประเพณีเข้าพรรษา
        การทำบุญเข้าพรรษาถือเอาวันแรมค่ำ เดือนแปดเป็นวันแรกให้ภิกษุสงฆ์สามเณรอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งเป็นเวลา ๓ เดือน ชาวบ้านจะจัดภัตรหารและเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปถวายพระ ในจำนวนของที่ถวายก็มีผ้า (ผ้าไตรจีวร) รวมอยู่ด้วย

5.ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
        ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ในวันดังกล่าวชาวนครและชาวจังหวัดใกล้เคียงจะร่วมใจกันมาแห่ผ้าซึ่งเรียกว่าผ้าพระบฎ มีความยาวไม่จำกัดจัดเป็นขบวนแห่ผ้าดังกล่าวมาห่อองค์พระบรมธาตุเป็นพุทธบูชา ประเพณีดังกล่าวจึงมีผ้าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

6.ประเพณีสงกรานต์
        วันสงกรานต์เคยเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่เดิมมา มีการนำผ้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับวันดังกล่าว ในการไปรดน้ำผู้ใหญ่ มีการนำผ้าไปไหว้ด้วย รดน้ำเสร็จแล้วก็มอบผ้าแด่ผู้ใหญ่บางแห่งมีการทอธงถวายวัด ธงนั้นจะทอด้วยผ้าสีต่าง ๆ เพราะถือว่าเป็นของสูง



ผ้าทอกับชีวิตของชาวนคร