ทำอย่างไรธรรมะจะกลับมา

เอาละ ที่นี้ก็ดูต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะมีธรรมะกลับมา พอที่จะตัดต้นเหตุแห่งปัญหา ขอเน้นที่นั่นแหละ ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีทางอื่น เน้นที่นั่น ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ความถูกต้องเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ นั่นแหละคือสิ่งที่ต้องการ มันมาจากความไม่ลุอำนาจแก่กิเลส ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่ลึกซึ้ง

มีอารมณ์ 2 ประเภท คือ ยินดีกับยินร้าย สิ่งที่น่ารักน่ายินดี น่าพอใจเข้ามา มันก็ต้อนรับเอามาเป็นของบวก ถ้ามันไม่พอใจ มันก็ต้อนรับเป็นของลบ

ของบวกก็มาทำให้เกิดตัวกูบวก ตัวกูบวกก็เกิดโลภะ ราคะของลบเข้ามาก็ทำให้เกิดตัวกูลบ เกิดโทสะ โกธะ จะฆ่าให้ตายจะทำให้วินาศ นั่นแหละตัวกูลบ


กิเลสบวก กิเลสลบ

ตัวกูบวกมันก็จะเอา จะเอา จะเอาด้วยโลภะ ราคะนั่นนะตัวกูลบจะฆ่าทำลายไม่ให้เหลือ ถ้าไม่รู้แน่ว่าอะไรเป็นบวกเป็นลบที่แน่นอน ก็เป็นโมหะ มันหลงวิ่งอยู่รอบๆ ด้วยความสงสัยอยู่นั่นแหละ เสร็จแล้วเมื่อไหร่ มันก็ออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบจนได้มันก็เข้ารูปเดิมของมันกิเลสฝ่ายบวกเอาเข้ามา กิเลสฝ่ายลบมุ่งจะทำลาย กิเลสฝ่ายโมหะก็วิ่งอยู่รอบๆ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี

ดังนั้นเราจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ ความรัก รักอะไรก็เป็นทุกข์ ไม่รักดีกว่า ความโกรธก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความกลัวก็เป็นทุกข์ ความตื่นเต้น ความโง่เขลา ตื่นเต้นก็เป็นทุกข์ความวิตกกังวลเรื่องที่ยังมาไม่ถึงก็เป็นทุกข์ อาลัยอาวรณ์เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็เป็นทุกข์ ความอิจฉาริษยาไม่อยากให้ใครได้ดีคอยยกตนข่มท่านก็เป็นทุกข์ ความหวงทั่วๆ ไปก็เป็นทุกข์ ความหวงเฉพาะจุดคือความหึงที่รุนแรงก็เป็นทุกข์

รู้จักผลของมันเถอะ มันออกมาเป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง มาจากความหลงบวกและหลงลบ


อยู่เหนือดีใจ เหนือเสียใจ

มันจะต้องมีสิ่งแก้ไขความโง่เขลาเหล่านี้ อย่าให้หลงบวกและหลงลบ ความปกติสุขต้องไม่เป็นบวกและลบ ความปกติเยือกเย็นถึงที่สุดไม่เป็นบวกและต้องไม่เป็นลบ

พูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ หัวเราะก็เหนื่อยร้องไห้ก็เหนื่อย ไม่ไหวดีใจก็เหนื่อย เสียใจเหนื่อย อย่าเอากับมันเลย ดีใจแรงๆ ก็บ้าชนิดหนึ่ง เสียใจก็เหนื่อยก็บ้าชนิดหนึ่ง อย่าไปเอากับมันเลย เอาที่มันปกติดีกว่า จิตใจที่ปกติ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจนั่นแหละ

แต่คนมันชอบดีใจ หัวเราะร่าด้วยความโง่ หารู้ไม่ว่านั่นแหละคือความวุ่นวายไม่พักผ่อน

ที่อยู่เหนือดีใจ อยู่เหนือเสียใจ นั่นแหละคือความปกติสุข เยือกเย็น สงบเย็น มันเป็นนิพพาน มันจึงไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวอย่างนี้มีนิพพาน ความสงบเย็นเป็นปกติไม่บวกไม่ลบ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมาย


ใช้สติอย่างเดียว

มีสติเร็ว มีปัญญาพอ มีสัมปชัญญะเข้มแข็ง มีสมาธิมั่นคง สิ่งเหล่านี้ถ้ายังไม่มี ก็รีบฝึกให้มีเถิด

ฝึกสติให้เร็ว มีปัญญา เอาความถูกต้องมาเผชิญหน้ากับอารมณ์ไม่หลงบวกหลงลบ สัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่เอามาแบ่งๆ ให้ถูกต้องเป็นเรื่องๆ เผชิญหน้ากับอารมณ์ที่มีสมาธิ จิตใจมั่นคงเข้มแข็ง ระดมกำลังลงไปแล้วก็มีปัญญา ศึกษาไว้เพียงพอทุกแง่ทุกมุมที่จะดับทุกข์ ถ้าไม่มีก็ต้องศึกษาไว้ให้พร้อม

พอมันเกิดเรื่องขึ้นมา มันใช้อย่างเดียวคือ สติ ซึ่งแปลว่าถูกต้องอย่างเดียว สำหรับการเผชิญหน้ากับอารมณ์อันนี้ เรียกว่า สัมปชัญญะ ปัญญาในหน้าที่เฉพาะเหตุการณ์โดยตรงสัมปชัญญะที่มีสมาธิเข้มแข็ง สัมปชัญญะก็สู้กับอารมณ์ได้ ก็ไม่ตกเป็นฝ่ายบวกฝ่ายลบ ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นความทุกข์


ไม่มีใครกินยาทีเดียวทุกอย่าง

เราต้องศึกษาไว้ให้พอ แม้ว่าใช้ ใช้อย่างเดียว เช่นที่บ้านเรือนของเรามีตู้ยา มียาครบทุกอย่าง แต่ไม่มีใครกินยาทีเดียวทุกอย่างหรอก ไม่มี มันต้องกินยาเฉพาะยา เฉพาะเรื่องเฉพาะโรค อย่างเดียวขวดเดียวนั่นน่ะ

เนี่ยสติมันต้องไปเอาปัญญาชนิดนี้มาทันเหตุการณ์ ควบคุมตนเองไว้ ไม่ให้โง่ ไม่ให้หลง ไม่ไปเป็นบวกไม่ไปเป็นลบ ไม่เกิดกิเลสบวกไม่เกิดกิเลสลบ มันจึงจะมีธรรมะได้

แม้แต่ความรู้สึกธรรมดาๆ รักเพื่อนบ้าน เห็นแก่บรรพบุรุษ เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น รักเกียรติของบ้านเกิดเมืองนอนที่เคยดีมาแต่กาลก่อน นี่พอจะห้ามจิตใจได้มากเหมือนกัน มีธรรมะพื้นฐานอย่างนี้ก็ไม่น้อย ขอให้มีสิ่งเหล่านี้เถอะ ที่มันจะช่วยให้มีธรรมะ ธรรมะที่สามารถเผชิญเหตุการณ์แก้ไขวิกฤติการณ์ทั้งหลายได้


ใครจะช่วยให้ปฏิบัติธรรมะ

ข้อต่อไปนี้ จะพิจารณากันว่า อะไรหรือใครที่จะช่วยให้มีการปฏิบัติธรรมะ

พูดสั้นๆ แล้ว ถ้าไม่มีการปฏิบัติธรรมะ ธรรมะไม่มีทางมาช่วยได้ พระรัตนตรัยก็ไม่มาช่วย ต้องมีการปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติตามพระรัตนตรัย

ใครล่ะที่จะมาช่วยให้มีการปฏิบัติธรรมะ ผีสางเทวดาที่ไหนจะช่วยได้ล่ะ ไม่มีทาง ผีสางก็ได้แต่สาปแช่งคนที่ไม่ปฏิบัติธรรมน่ะ ถ้ามันเป็นผีสางที่ดี แต่ถ้ามันเป็นผีสางชั้นเลว มันก็ช่วยผสมโรงกันใหญ่ ไสหัวให้คนปฏิบัติผิด ปฏิบัติเลว ปฏิบัติชั่ว ไปหวังพึ่งพาผีสางเทวดาไม่ไหวหรอก

มันต้องอาศัย “หิริโอตตัปปะ” ของตนเอง

หิริ ละอายต่อความชั่ว

โอตตัปปะ เกลียดกลัวความชั่ว

หิริละอายความชั่ว ไม่ต้องมีใครเห็น เห็นตัวเอง ทำเองก็ละอายเหลือประมาณ ทำไม่ลงหรอก โอตตัปปะกลัวความชั่ว ไม่ต้องกลัวกฎหมาย ไม่ต้องมีตำรวจมาคอยขู่หรอก กลัวความชั่วอย่างนี้เรียกว่า หิริโอตตัปปะ