www.tungsong.com
   
[ ประวัติ ]  [ สภาพทั่วไป ]  [ ภูเขา ลำน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ]  
[ การคมนาคม]  [ สภาพทางเศรษฐกิจ]  [ ผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด]  
[ การดำเนินการตามนโยบายสำคัญของจังหวัด ]  [ การท่องเที่ยว ]  [ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ] [ ปัญหาของอำเภอ ]



ปัญหาของอำเภอทุ่งใหญ่

        แม้ว่าจากข้อมูลที่ได้นำเสนอมาดูแล้วในเขตของอำเภอทุ่งใหญ่ไม่น่าจะเกิดปัญหาใด แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่นเดียวกับอำเภออื่นๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัญหาที่พบอยู่มีดังต่อไปนี้ คือ

        1. ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน เป็นปัญหาทั่วๆ ไปในทุกอำเภอ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นโชคดีของอำเภอทุ่งใหญ่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการปฎิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหลายป่า เช่น ป่าคลองกรุงหยัน ป่าไสค่าย และป่าปลายคลองโอม เป็นต้น เพราะถ้าโครงการนี้สำเร็จ ราษฎรจะมีที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมายและจะได้ตัดปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐบาล และการเรียกร้องที่ดินเพื่อการทำมาหากินของประชาชนก็จะหมดไป
        2. ปัญหาความยากจน ประชาชนในอำเภอทุ่งใหญ่ส่วนใหญ่จะมีฐานะในระดับปานกลาง รายได้มาจากการประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา ซึ่งราคาแผ่นยางดิบที่นำมาจำหน่ายมีราคาที่ไม่แน่นอน รัฐบาลต้องคอยช่วยในการพยุงราคาและแทรกแซงตลาดราคายางให้อยู่ในภาวะที่ผู้ผลิตหรือชาวสวนยางพออยู่ได้ การแก้ปัญหาเรื่องราคายางโดยวิธีการรวมกลุ่มกันของผู้ผลิตหรือชาวสวนยาง และการตั้งโรงงานผลิตยางแผ่นโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง แล้วให้สหกรณ์หรือเกษตรกรผู้ถือหุ้น จะทำให้ยางแผ่นมีคุณภาพและขายได้ในราคาสูงขึ้นกว่าปกติ รัฐควรสนับสนุนด้านเครื่องชั่งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มีตาชั่งมาตราฐานป้องกันการฉ้อโกง นอกจากนี้ เรื่องการส่งเสริมอาชีพนั้นจะส่งเสริมเฉพาะการทำสวนยางอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการส่งเสริมด้านการเกษตร โดยการจัดทำในรูปแบบของไร่นาสวนผสม คือ จำต้องประกอบอาชีพด้วย เช่น การทำพืชไร่ การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกพืชสวน การเลี้ยงสัตว์ และการเลี้ยงปลา เป็นต้น การส่งเสริมอาชีพดังกล่าวต้องเน้นเรื่องการตลาดและการผลิต เนื่องจากการประกอบอาชีพด้านการเกษตรดังกล่าว ยังมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำอยู่เสมอ
        3. ปัญหาแหล่งน้ำในการทำการเกษตรเพื่อการเพาะปลูก และการบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตของเกษตรกร
        4. ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในท้องถิ่น รัฐจะต้องขยายโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการศึกษา เพื่อการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และการส่งเสริมทางด้านการฝึกอบรมเทคโนโลยีการเกษตรใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตการเพิ่มให้ความรู้แก่เกษตรกรและยุวเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
        5. ปัญหาด้านการสาธารณสุข การขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย การวางแผนครอบครัว และการป้องกันโรคเอดส์ของประชาชนในท้องถิ่น
        6. ปัญหาด้านการขาดขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แนวทางในการแก้ไขปัญหานอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยดูแลความสงบในเรียบร้อยแล้ว องค์กรประชาชนซึ่งจัดตั้งไว้แล้วเข้าร่วมด้วย กล่าวคือ อำเภอจะใช้ชุดรักษาความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้าน ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งได้ฝึกอบรมไว้ครบ 47 หมู่บ้านๆ ละ 15 คน รวมทั้งอำเภอ 801 คน เป็นการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ และอำเภอได้แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 ไว้แล้ว
        7. ปัญหาด้านถนนหนทางที่ใช้ในการคมนาคม ยังไม่สะดวกเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการคมนาคมระหว่างตำบลและหมู่บ้าน ส่วนของอำเภอควรจะประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

กลับสู่หน้าแรก