www.tungsong.com
คำขวัญ
        6.  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        6.1  ทรัพยากรดิน
          ในท้องที่อำเภอร่อนพิบูลย์มีสภาพดินแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่
             6.1.1 ดินในพื้นที่ราบลุ่ม มีตะกอนน้ำทับถม เกิดจากตะกอนที่มากับแม่น้ำลำคลองค่อย ๆสูงขึ้น ดินจำพวกนี้ถ้าอยู่ในสภาพแช่น้ำจะไม่แสดงความเป็นกรด แต่ถ้าทำให้ดินชั้นล่างแห้งซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบก็จะมีปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศดินจะเปลี่ยนสภาพเป็นกรด ศักยภาพของดินจะใช้ประโยชน์ในการทำนาได้เพียงบางส่วนแต่ให้ผลผลิตต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน
             6.1.2 ดินในที่ราบตะกอนลำน้ำเป็นที่ราบเกิดขึ้นบริเวณที่เป็นหุบเขา และมีธารน้ำไหลผ่าน เมื่อน้ำท่วมในแต่ละครั้งก็จะไหลผ่านเอ่อนองสองข้างน้ำจะนำตะกอนต่าง ๆ ไปตกสองฟากตลิ่งจะกลายเป็นที่ราบน้ำท่วมสันดินริมน้ำเหมาะแก่การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นพบมากในบริเวณที่ราบสูงเชิงเขา เช่น ตำบลร่อนพิบูลย์และตำบลหินตก
             6.1.3 ดินบริเวณที่ราบสูงเชิงเขา จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ ดินบริเวณเขาหินทรายกับดินบริเวณภูเขาแกรนิต พบมากในตำบลร่อนพิบูลย์ ตำบลหินตก
        6.2.  ทรัพยากรป่าไม้
          อำเภอร่อนพิบูลย์ มีพื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่
             - ป่าไม้ในท้องที่ตำบลควนพัง เสาธง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้เสม็ด ไม้หว้า
             - ป่าดิบชื้น หรือป่าดิบเขา ในท้องที่ตำบล ตำบลควนเกย ตำบลร่อนพิบูลย์ มีไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง ไม้หลุมพอ ไม้ยูง ไม้ไข่เขียว ไม้อินทนิน ไม้กะบก ไม้จำปา และไม้ตะเคียน
        6.3  ทรัพยากรน้ำ
          อำเภอร่อนพิบูลย์มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้และทำการเกษตรกรรมในหลายตำบล ได้แก่ ตำบลร่อนพิบูลย์ และตำบลหินตก จะมีสภาพเป็นธารน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกซึ่งเหมาะแก่การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ส่วนตำบลเสาธง ตำบลควนพัง ตำบลควนชุม และตำบลควนเกยมีสภาพเป็นกลาง ห้วย เหมาะแก่การปลูกพืชผัก และนาข้าว
        6.4  แร่ธาตุ
          ทรัพยากรสินแร่ในท้องที่อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นที่มีแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ดีบุกวุลแฟรม หินปูน หินดินดาน โดยมีการให้สัมปทานบัตรให้แก่บริษัทเอกชนมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีการสัมปทานแร่เพียงรายเดียว การผลิตแร่เป็นลักษณะการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่มีการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า
        6.5  ทรัพยากรหิน
          ในท้องที่อำเภอร่อนพิบูลย์มีทรัพยากรหินที่เหมาะสมในการก่อสร้างหลายแหล่งปัจจุบันมีการให้สัมปทานทำเหมืองหินในตำบลหินตก และตำบลร่อนพิบูลย์ จำนวน 5 แห่ง
        6.6  มลภาวะและสิ่งแวดล้อม
             6.6.1 สภาพปัจจุบันมีหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นบริการจัดเก็บขยะมูลฝอย ได้แก่เทศบาลตำบลร่อนพิบูลย์ เทศบาลตำบลหินตก และเทศบาลตำบลเขาชุมทองโดยใช้รถเก็บขนขยะประเภทเปิดข้างเทท้ายแห่งละ 1 คัน โดยมีถังขยะชนิดยางรถยนต์ประมาณ 1,000 ใบ การกำจัดขยะเทศบาลตำบลร่อนพิบูลย์ใช้วิธีฝังกลบ ส่วนเทศบาลตำบลหินตกและเทศบาลตำบลเขาชุมทอง กำจัดโดยวิธีเทกองกลางแจ้งและเผาเป็นครั้งคราว
             6.6.2 การจัดการขยะติดเชื้อ โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์มีการรวบรวมขยะติดเชื้อใส่ถุงแดงแล้วนำไปกำจัด โดยเผาในเตาเผาของโรงพยาบาลเอง ซึ่งมีประมาณ 30 ก.ก./วัน
             6.6.3 การจัดการสิ่งปฎิกูล เทศบาลทั้ง 3แห่งยังไม่มีรถสูบสิ่งปฏิกูล ประชาชนทั่วไปจึงใช้บริการจากเอกชนซึ่งเอกชนนำสิ่งปฎิกูลไปกำจัด โดยการนำไปทิ้งตามที่ลุ่ม ทุ่งนา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค เกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ เช่น ท้องร่วง บิดเป็นต้น

กลับหน้าแรก