Home

www.tungsong.com

 

               สารสนเทศ หรือ สารนิเทศ เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า"Information"ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ได้ทั้งสองคำ ในวงการคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และธุรกิจ นิยมใช้คำว่า สารสนเทศส่วนในวงการ บรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ ใช้ว่า สารนิเทศ ความหมายกว้างๆ หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ที่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เพื่อนำมาเผยแพร่ และใช้ในงานต่างๆ ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้า การผลิต การบริการ การบริหาร การแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม การทหาร และอื่นๆ

 

             เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology ที่มักเรียกกันว่า ไอที นั้น เน้นถึงการจัดการในกระบวนการดำเนินงานสารสนเทศ หรือสารนิเทศในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การแสวงหา การวิเคราะห์ การจัดเก็บ การจัดการ และการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วทันต่อการนำมาใช้ประโยชน์  ประเด็นที่ว่าไอทีประกอบด้วยอะไรนั้น ข้าพเจ้าได้ไปถามมาจากหลายท่าน เช่น รศ.ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ อาจารย์บอกว่า ประกอบด้วยกลุ่มเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล กลุ่มเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ กลุ่มเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ด้วย กลุ่มเทคโนโลยีการพิมพ์

  และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของความรู้วิธีการใช้งานหรือเรื่องของ know how แล้วก็ได้อ่านบทความของ ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ ในวารสารสุโขทัยธรรมมาธิราช เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อาจารย์เน้นเฉพาะสามกลุ่มแรก ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีการพิมพ์ คุณวิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ คุณวิลาวรรณก็เน้นอยู่ 3 เรื่อง คือเรื่องฐานข้อมูล หรือ Database เรื่องเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม หรือ Telecommunication และเรื่องคอมพิวเตอร์ ก็เลยขออาศัยนิยามของคุณวิลาวรรณ เพราะดูจะเชื่อมโยงกับงานที่ข้าพเจ้าทำ คืองานด้านประวัติศาสตร์ได้มากที่สุด
 

              แนวคิดเรื่อง ฐานข้อมูล หรือ Database ในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น แนวคิดเรื่องฐานข้อมูลเป็นเรื่องที่ใช้มากที่สุด เพราะว่าวิชาประวัติศาสตร์ต้องศึกษาหรือวิเคราะห์แสดงความคิดเห็น ออกมาในกรอบของข้อมูลที่มีอยู่เท่านั้น จะจินตนาการออกไปเองโดยที่ ไม่มีข้อมูลเป็นเครื่องยืนยันไม่ได้ ผู้มีวิชาชีพทางด้านประวัติศาสตร์ จึงมีความคุ้นเคยกับเรื่องฐานข้อมูลอยู่มาก แนวคิดเรื่องฐานข้อมูล เป็นสิ่งที่มีมานานคู่กับมนุษยชาติ และการสร้างอารยธรรมความเจริญในด้านต่างๆ ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น เป็นผลมาจากความรู้ที่สั่งสมกันมา และพัฒนาต่อไปในคนรุ่นหนึ่ง สืบต่อมายังอีกรุ่นหนึ่ง แล้วพัฒนาต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ มนุษย์เห็นคุณค่าของความรู้ และต้องการส่งต่อข้อมูลความรู้นั้นมายังคนรุ่นหลัง ในสังคมโบราณที่มีประชากรน้อย และเป็นสังคมเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มนุษย์อยู่อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงธรรมชาติไม่มาก ธรรมชาติจึงเป็นพลังสำคัญที่ทรงอิทธิพลและบางครั้งดูลึกลับ ดังนั้น ในสังคมโบราณที่ยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือ จึงถ่ายทอดเก็บข้อมูลความรู้ในรูปของนิทานพื้นบ้าน ปรัมปราคติ ซึ่งมักจะแทรกและสื่อพลังธรรมชาติในรูปของเทพเจ้า และสิ่งปาฏิหาริย์ต่างๆ ด้วยวิธีการนี้ มนุษย์ก็สามารถจัดเก็บและถ่ายทอดข้อมูลความรู้ต่างๆ รวมทั้งความเป็นมาของชุมชนส่งต่อสืบทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ จะเห็นได้ว่า ทั้งสังคมตะวันออกและสังคมตะวันตก ล้วนมีนิทานพื้นบ้านและปรัมปราคติอยู่มาก ขอแทรกเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่าให้ฟัง เมื่อข้าพเจ้ายังเด็กอยู่ทรงเล่าเรื่องหนองถล่ม เรื่องมีอยู่ว่ามีชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชน ต่อมาเกิดมีกระรอกเผือกบ้าง ปลาเผือกบ้าง ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามไม่ให้คนกิน แต่ก็มีคนที่ไม่เคารพเชื่อฟังคำห้าม ไปจับมากิน ขณะเดียวกันก็มีคนไม่กิน คนที่กินปรากฏว่า ชั่วข้ามคืนบ้านช่องถล่มกลายเป็นหนองน้ำ ส่วนคนที่ไม่กินบ้านช่องก็ยังเป็นเกาะตั้งอยู่ ทรงบอกว่า ผู้ใหญ่ในชุมชนที่เล่าเรื่องให้ผู้คนในชุมชนฟัง คงทราบว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือทางภูมิศาสตร์ ที่พื้นดินไม่สามารถจะทนต่อน้ำหนักบางอย่างได้ ก็ถล่มลงไป ส่วนไหนที่แข็งก็ยังคงอยู่ ผู้ใหญ่ที่เล่าบอกเล่าเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ โดยโยงกับอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์ เพื่อให้จำได้ง่ายและสอดคล้องกับสภาพสังคม ความเชื่อในสมัยนั้น เรื่องนี้ถ้าไปทูลถาม คิดว่ายังโปรดที่จะเล่าอยู่ เรื่องนิทานแบบหนองถล่มนี้น่าสังเกตว่ามีอยู่ทั่วโลก

 

  เมื่อมนุษย์รู้จักการเขียนหนังสือ เข้าสู่สังคมของการอ่านเขียน พร้อมกับที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมต่างๆ เพิ่มทวีหลากหลายขึ้น ข้อมูลความรู้จึงมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่อ่านเขียนได้มากขึ้นเช่นกัน มนุษย์ก็ได้พัฒนาฐานข้อมูลของตน เพิ่มจากการเล่าปากต่อปากมาเป็นจารึก บันทึก ปูมโหรจดหมายเหตุ และหนังสือที่เขียนด้วยมือ เมื่อค้นพบการพิมพ์ การจัดเก็บข้อมูลความรู้ในรูปของหนังสือก็ยิ่งสะดวกขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ได้กว้างและมากขึ้นด้วย
 

              เรื่องปูมโหรนั้นผู้ที่เป็นโหราจารย์จะรวบรวมบันทึกไว้ว่า ปีนั้นปี นี้มีอะไรเกิดขึ้น จะได้เก็บไว้สอบเทียบกับเรื่องโหรของเขาว่า เขาทำนายถูกหรือทำนายผิด ปัจจุบันนี้ เราคงไม่เชื่อกันแล้วว่า โหรจะไปทำนายอนาคตได้อย่างไร แต่เรื่องที่เขาเขียนเอาไว้บันทึกเอาไว้ก็มีประโยชน์ ทำให้เรารู้ว่าในปีใดมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น  เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้นตามพลังความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สังคมก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น ข้อมูลความรู้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ก็มีการจัดหมวดหมู่ข้อมูลหรือที่เรียกกันว่า filing รวบรวมข้อมูลเป็นกลุ่มๆ แล้วจัดแบ่งแยกย่อยอย่างเป็นระเบียบ มีรหัสของข้อมูลแต่ละกลุ่ม เพื่อสะดวกต่อการสืบค้น ถึงตอนนี้ถ้าจดบันทึกไว้เฉยๆ ไม่พอละ ต้องจัดเป็นหมวดเป็นหมู่ คนที่จะจัดหมวดหมู่ได้ ต้องเป็นคนที่ละเอียดลออพิถีพิถัน ในการจัดกลุ่มและแบ่งแยกย่อยให้เป็นระบบที่มีระเบียบ ข้าพเจ้าเคยถูกผู้ใหญ่บอกว่า การเก็บของแบบข้าพเจ้าเขาไม่เรียกว่า filing เขาเรียกว่า piling คือมีอะไรก็สุมๆ กันเข้าไป แต่ว่าทำอย่างนั้น จะหาอะไรก็มักไม่เจอ คนทำ filing ต้องมีระบบมีระเบียบ อีกอย่างหนึ่งต้องมีความรู้เรื่องของหมวดหมู่ หรือ set ที่เราเรียนในวิชาคณิตศาสตร์บทที่ 1 ตอนเริ่มต้นเลย เราก็ต้องเรียนเรื่อง set ว่าอันไหนเรื่องไหนควรจะอยู่กับหมวดไหน ซึ่งเวลาที่ซับซ้อนมากเข้า ก็ไม่ใช่ของง่ายเหมือนกันในการจัดหมวดหมู่ เท่าที่ทราบพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเรื่องข้อมูลและการทำ filing ข้อมูลต่างๆ ทรงรวบรวมและจัดระบบ filing ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องใส่ในคอมพิวเตอร์ ทรงเก็บเป็นแฟ้มเป็นหมวดหมู่ทรงทำมานานแล้ว ทรงเล่าว่า ที่คุณขวัญแก้วทำถวายตอนหลังนี่ ทรงเป็นคนสอนให้ทำ หากใครไปสนทนากับคุณขวัญแก้ว เรื่องพระราชกรณียกิจในช่วงระยะแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็จะพบว่าคุณขวัญแก้วจัดเก็บและทำ filing ข้อมูลพระราชกรณียกิจไว้อย่างดี มีเรื่องการสาธารณสุข การสื่อสารกับประชาชนทางวิทยุ การเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2503 เป็นต้น หรือเรื่องภาพถ่ายต่างๆ ในส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ที่มีการเขียนเบอร์เรียงลำดับกันมาให้ค้นได้ง่าย ก็เป็นระบบที่ทรงตั้งเอาไว้ หรืออย่างเรื่องการทำแผนที่ ก็ไม่ได้ทรงทำเป็น digital mapping อย่างที่เดี๋ยวนี้นิยมทำกัน เท่าที่ทราบทรงใช้วิธีเสด็จไปที่สถานที่นั้นๆ ได้สัมผัส ได้เห็น ก็บันทึกไว้ในความจำของท่าน เวลาทรงขับรถไปถึงสะพาน มองดูลำธาร ทรงชะโงกดู เห็นน้ำไหลจากทางไหนไปทางไหน ก็ทราบความสูงต่ำของพื้นที่ ก็ทรงเอาข้อมูลมาบันทึกสร้างในสมอง แบบที่เราสร้างในคอมพิวเตอร์ เป็น digital terrain model หรือเป็นภาพแผนที่ออกมา แล้วทรงบอก model ที่อยู่ในสมองนี้ให้คนอื่นทำในรายละเอียดต่อไปได้

 

               การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทำให้อารยธรรมในสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิทยาการ การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือกันว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะที่สาม พลังความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่สั่งสมเพิ่มพูนมาตลอดเวลานี้ ทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น ชีวิตยืนยาวขึ้น ประชากรเพิ่มมากขึ้น มีความก้าวหน้าทางวัตถุในทุกๆ ด้าน รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคม โลกอันกว้างใหญ่ได้ติดต่อกันใกล้ชิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว จนดูเสมือนหนึ่งเป็นโลกไร้พรมแดน ขณะเดียวกันสังคมก็ซับซ้อนมาก ข้อมูลความรู้ก็มากท่วมท้น จนวิธีทำ filing ด้วยมือและใช้เทคโนโลยีธรรมดาไม่อาจสนองสภาพดังกล่าวได้  การรวบรวมจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบจึงพัฒนามาเป็นฐานข้อมูล หรือที่เรียกว่า database โดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้คิดค้นพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ มาช่วยประมวลผล นอกจากนั้น เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะที่สามนี้ ทำให้การไหลบ่าของข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ต่างๆ ดำเนินไปทุกทิศทาง ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศจนเกิดกระแสสารสนเทศท่วมท้น (information explosion) เมื่อยิ่งมีสารสนเทศมาก การทำฐานข้อมูลก็ยิ่งมีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งทำให้เกิดเครือข่ายสารสนเทศด้วย

 

ข้อคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

 

  ต้องเพิ่มความรู้ของคน   ริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานและบุคคลทั่วไป ควรนำคอมพิวเตอร์มาช่วยงานของภาครัฐบาลมากขึ้น และให้ใช้ประโยชน์กระจายเข้าถึงชนบทมากขึ้น นอกจากประมวลคำ ( word processing) คือใช้พิมพ์เอกสาร ควรใช้ในงาน ( application) อื่นๆ ด้วยถ้าหากผู้บริหาร หน่วยงานมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ก็คงจะเห็นลู่ทางการประยุกต์คอมพิวเตอร์ในงานด้านอื่นๆ ได้อีกมาก ได้รับทราบว่าทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ข้าราชการระดับ 5 ถึง 8 ต้องมาฝึกอบรมเรื่องคอมพิวเตอร์ 2 วัน ซึ่งก็ดี แต่จำนวนผู้ที่ต้องฝึกอบรมมีหลายแสนคน ถ้าหากไม่ช่วยกันสนับสนุนด้านการจัดฝึกอบรม และงบประมาณแล้ว ก็อาจจะจัดไม่ทัน และการส่งเสริมด้านนี้ ก็คงไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ขณะนี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้จัดดำเนินการไปบ้างแล้ว
     
  ผู้มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้โดยตรง ควรมีความสนใจเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ   ด้แก่ ครู อาจารย์ควรมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เรื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ท้อถอยว่าเราทำไม่ได้ต้องยึดหลักว่า เราทำได้ แม้จะยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ ก็ต้องขวนขวายในสิ่งที่มีอยู่ก่อน คือ การหาความรู้โดยการอ่านหนังสือ ติดตามฟังข่าว อาจไม่มีโอกาสใช้จริงในระยะต้น ต่อไปถ้ามีโอกาส จะได้พร้อมที่จะเรียนรู้ฝึกฝนการใช้ ส่วนเยาวชนนั้น แม้ในปัจจุบันมองดูเหมือนว่าเยาวชนรุ่นใหม่นี้ จะมีความสามารถในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีกว่า ปรับตัวได้เร็วกว่า แต่อันที่จริงแล้วเยาวชนก็ยังต้องการผู้ชี้แนะอยู่มาก หากครูอาจารย์มีความกระตือรือร้น ที่จะทันโลก ทันความรู้ใหม่ๆ มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้ของตนให้แก่เยาวชนได้อย่างดีและกว้างขวาง ครูอาจารย์ควรได้โอกาสฝึกอบรมเรื่องคอมพิวเตอร์ หลักสูตรต้องให้ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าการฝึกอบรมผู้บริหาร เพราะต้องสามารถสอนผู้อื่นได้ด้วย
     
  กระทรวง ทบวง กรม ควรจะใช้ระบบที่สามารถติดต่อกันได้   จะนำไอทีไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ควรจะใช้ระบบที่สามารถติดต่อกันได้ เช่น กระทรวงมหาดไทย จะร่วมสร้างเครือข่ายกับ กระทรวงสาธารณสุข ได้อย่างไร จะสร้างความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรได้อย่างไร เป็นต้น อีกประการหนึ่ง การรวมเครื่องมือรวมบุคลากร หาทางใช้ร่วมกันให้คุ้มค่าเป็นสิ่งที่ดี และจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่องานโดยรวม ต้องตกลงกันว่าจะใช้รหัสและสัญลักษณ์อย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
     
  ต้องมีแหล่งกลางในการให้ข้อมูลข่าวสาร และความช่วยเหลือด้านไอที   วลานี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ก็ทำหน้าที่นี้ แต่ยังไม่สามารถให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารได้มากนัก ต่อไป NECTEC ก็จะทำงานด้านนี้ได้อย่างแท้จริง คนที่มีปัญหาก็มาขอบริการได้ ก็อาจช่วยหน่วยงานต่างๆ ได้มาก นอกจากนั้นศูนย์อาจมี freeware คือ โปรแกรมให้เปล่า สำหรับแจกจ่าย รวมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์กลาง สำหรับแจกจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ร่วมกันได้ด้วย
     
ขอฝากข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีไว้เล็กน้อย เทคโนโลยีต่างๆ ทุกประเภท มิใช่แค่เทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ในสังคมโบราณมีประชากรไม่มาก มนุษย์เพียงแต่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทางภูมิศาสตร์ และทางด้านสังคมที่กำหนดขึ้น ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบาย แต่ในสังคมปัจจุบันมีคนมาก ทรัพยากรน้อย มนุษย์จะปรับตัวเพียงอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องอาศัยเทคโนโลยีปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตนได้ส่วนหนึ่งด้วย เทคโนโลยีจึงทำให้สามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นประโยชน์ต่องานพัฒนาต่างๆ นอกจากนั้นยังทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น เช่น อากาศร้อน หรือหนาวมากทนไม่ได้ ก็มาอยู่ในห้องปรับอากาศให้มีอุณหภูมิตามความต้องการ ไม่ใช่ว่าปรับตนเองให้ทนร้อนหนาวได้ เมื่อสามารถปรับปรุงสิ่งที่มีรอบตัวให้เกิดประโยชน์มากขึ้น มีคนอยู่ในที่ต่างๆ ได้มากขึ้น มีอาหารเลี้ยงคนมากขึ้น มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ส่งผลให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น และมีความก้าวหน้าทางวัตถุในทุกๆ ด้านด้วย
 
แต่เราก็ควรมีหลักในการใช้เทคโนโลยีอย่างรอบคอบในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่ว่าเป็นทาสของสิ่งที่เราจัดทำขึ้น เราต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ต้องให้ธรรมชาติอยู่ยั่งยืนนาน ไม่ใช่แค่ชั่วลูกชั่วหลานหรือแค่ตัวเรา คือทำแล้ว โกยเอา โกยเอา โกยเอา รวยแล้วเลิก อย่างนี้ก็จะอยู่ได้ไม่นาน มนุษย์เรานั้นควรมีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอิสระในความคิด รู้จักพินิจเรื่องต่างๆ กันอย่างกลมกลืน ทั้งทางด้านวัตถุที่อิงอยู่ กับเรื่องเทคโนโลยีและทางด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ( sustainable)  เรื่อง สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องที่พอคิดๆ ไปก็เข้ากับเรื่องของไอทีหรือสารสนเทศนี่อย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชกระแสว่า การจัดทำเรื่องของสารานุกรมเยาวชนต้องการที่จะให้มีข้อมูลต่างๆ ทุกอย่างสำหรับคนทุกระดับ คือระดับเด็กที่เพิ่งหัดอ่าน คนที่มีความรู้ปานกลาง หรือว่าผู้ที่มีความรู้สูง แต่ว่าอาจจะไม่รู้ในสาขาที่เราจะต้องอ่านนั่น ก็ให้มีความรู้หลายๆ สาขา และแต่ละสาขาก็มีข้อสำคัญคือว่าอยากให้โยงกัน บางทีท่านก็นึกว่าอยากรวบรวมทุกๆ อย่างนี้อยู่ในสารานุกรม เพื่อที่จะว่าพอเป็นชุดเป็นเล่ม ที่ส่งออกไปช่วยเหลือเด็กในเขตทุรกันดารได้ ปัจจุบันน่าจะนับเป็น tele-education ได้อีกอย่างหนึ่ง แล้วก็พยายามให้เน้นเรื่องของการโยงวิชาการต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเรียนอันนี้แล้วอันนี้จบอยู่ในตัว ให้โยงกับอย่างอื่นได้ด้วย
 
 
คัดจาก: http://jeekong531.wordpress.com