ชื่อท้องถิ่น

หมากอุ๋น หมากอูน คอส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุง (ชอง-จันทบุรี) โพล (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ย่อ (มลายู-ภาคใต้) โดง (สุรินทร์)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cocos nucifera Linn.

วงศ์

PALMAE

ชื่อสามัญ

Coconut

ลักษณะ

เป็นไม้ตระกูลปาล์ม ลำต้นสูงเป็นปล้อง ใบแตกออกที่ยอดเป็นทางยาวและมีใบย่อยแตกออกสองข้าง ใบเล็กยาวเช่นเดียวกันกับต้นตาล ดอกสีขาวนวลเป็นพวง เป็นฝอยเล็กๆ เหมือนจั่นหมาก เรียกว่าจั่นมะพร้าว ผลออกเป็นทะลาย ผลอ่อนจะมีสีขาว พอผลโตขึ้นก็เริ่มมีสีเขียว เมื่อผลแก่เปลือกนอกจะเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล


การขยายพันธุ์

ใช้ผลแก่เพาะเป็นต้นอ่อนสูงประมาณ 0.5-1 เมตร จึงนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ มะพร้าวเป็นไม้ปลูกง่าย ขึ้นได้ในดินธรรมดา มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย

ส่วนที่ใช้เป็นยา

เปลือกต้น ราก น้ำหวานที่ได้จากช่อดอก ผลอ่อน น้ำมะพร้าวอ่อน เนื้อมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันที่ได้จากการเผากะลา สารสีน้ำตาลใต้ใบ เปลือกหุ้มรากมะพร้าว

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ
น้ำมันที่ได้จากการเผากะลา มีสารจำพวกฟีนอลอยู่จำนวนมาก

สรรพคุณทางยาและ
วิธีใช้

  แก้ไข้ : นำน้ำมะพร้าว 4 ลูก หรือมากว่าก็ได้ ใช้ดื่มเมื่อมีอาการ แต่เมื่ออาการไข้ลดลง ต้องหยุดดื่มน้ำมะพร้าวทันที

  อ่อนเพลีย ร้อนใน กระหายน้ำ : ใช้น้ำมะพร้าวอ่อนผสมกับยาหอม ดื่มเมื่อมีอาการ

  ท้องเสีย : ใช้รากมะพร้าว 3 กำมือ ใส่น้ำให้ท่วมยาต้มให้เดือดนาน 30 นาที หรือจนน้ำยามีสีแดง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว ทุก 4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ถ่าย หรือใช้รากมะพร้าวแก่หรืออ่อนก็ได้ 1 กำมือ มาแช่ในน้ำสะอาด 1 ลิตร แช่ไว้สัก 30 นาที กรองเอาเฉพาะน้ำให้ผู้ป่วยดื่มครั้งละ 1 แก้ว ทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุก 4 ชั่วโมง

  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/เคล็ดขัดยอก : เอาน้ำมันมะพร้าวที่เพิ่งเคี่ยวเสร็จใหม่ๆ ทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง หลังจากทา 2-3 วัน อาการปวดก็ทุเลาลง และทาไปจนหายเป็นปกติ

  แผลเรื้อรัง : เอากะลามะพร้าวใหม่ๆ มาขูดหรือถูให้เป็นผง ตากแดดให้แห้ง แล้วตำหรือบดให้ละเอียด กรองหลายครั้งให้ละเอียดที่สุด ผสมพิมเสน โดยใช้ผลกะลา 15 กรัม ต่อพิมเสน 1 กรัม โรยยาบนแผล วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนใส่ยาล้างแผลให้สะอาดเสียก่อน ภายใน 24 ชั่วโมง แผลจะแห้ง

  ท้องแน่นจุกเสียด : เอากะลามะพร้าวเผาไฟให้เป็นถ่านสีดำ นำมาบดให้เป็นผงละเอียด กินครั้งละ 2 ช้อนชา กินแล้วดื่มน้ำตามแต่น้อย ผงถ่านจะช่วยดูดแก๊สในท้อง ทำให้อาการจุกเสียดท้องเนื่องจากแก๊สมากเกินไปทุเลาลง ลมในท้องก็จะหมดไป กินสัก 2-3 ครั้ง ตามแต่อาการหนักเบา แต่ไม่ควรกินผงถ่านนี้เกิน 3 วัน

  เกลื้อน : เอากะลามะพร้าวแก่ๆ ที่ขูดเนื้อหมดแล้วใหม่ๆ ตากแดดให้แห้งสนิท เอาซีกที่มีตาหรือมีรู นำมาวางหงายบนถ้วยหรือบนชามสำหรับรองรับน้ำมัน ใส่ถ่านไฟแดงลงในกะลามะพร้าวนั้นจนเต็ม น้ำมันที่อยู่ในกะลามะพร้าวจะไหลหยดตกลงมาในถ้วยที่รองรับไว้ แต่ระวังอย่าให้ไฟไหม้กะลา เอาน้ำมันที่ได้ทาบริเวณที่เป็น โดยทาครั้งเดียวก็จะหาย

  อาเจียน : ใช้น้ำมะพร้าวอ่อน 1 แก้ว ผสมน้ำมะนาว1 ช้อนชา พอให้มีรสเปรี้ยว รับประทานครั้งละ 1 แก้ว ทุก 4 ชั่วโมง โดยจิบทีละนิดไปเรื่อยๆ

  ชันนะตุ : ใช้มะพร้าวขูดคั้นเอาน้ำข้น ๆ นำไปเคี่ยวไฟจนเป็นน้ำมัน แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น เช้า - เย็น ประมาณ 7 วัน แผลจะร่อนหลุด

  ไล่พยาธิ : ใช้มะพร้าวที่แก่จัด 1- 2 ลูก ขูดคั้นเอาแต่น้ำกะทิล้วนๆ โดยคั้นไม่ต้องเติมน้ำ แล้วใส่เกลือเล็กน้อย คั้นให้ได้ 1 ถ้วย รับประทานครั้งดียวให้หมด ถ้าเด็กอายุ 10 ปี ให้รับประทานเพียงครึ่งถ้วย แล้วจิบน้ำร้อนตามรับประทานตอนท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้า และก่อนนอน
        ถ่ายพยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด : ดื่มน้ำตามด้วยเนื้อมะพร้าว1/2 ถึง 1 ผล ตอนเช้าขณะท้องว่างให้หมดภายในครั้งเดียว หลังจากนั้น 3 ชั่วโมงให้ทานอาหารได้ปกติ

  แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก : ใช้น้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ผสมน้ำปูนใส 1 ส่วน คนให้เข้ากัน ใช้ทาวันละ 3 ครั้ง

  รักษาเหา : กากมะพร้าว ที่เหลือจากการคั้นกะทิ มาตำกับใบน้อยหน่า ทาผมให้ทั่ว โพกผ้าทิ้งไว้ 10 - 15 นาที วันละ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 2 - 3 วัน

  ชลอความชรา : หั่นเนื้อมะพร้าวเป็นชิ้นเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมลูกเต๋า คลุกน้ำตาล ใส่ในโถ และโรยน้ำตาลทับอีกครั้ง ทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ รับประทานครั้งละ 2-3 ชิ้น วันละ 2 ครั้ง

ข้อควรระวัง

  น้ำกะทิ ถ้ากินมากเกินไปทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนได้
  บางคนแพ้น้ำกะทิ กินแล้วถ่ายรุนแรง
  กะทิมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าว มีไขมันอิ่มตัวอยู่สูงจึงไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะทำให้มีไขมันในเส้นเลือดสูง
  ถ้ากินน้ำมะพร้าวอ่อนมากเกินไป ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ วันหนึ่งไม่ควรกินเกิน 4 ลูก น้ำมะพร้าวแก่มีพิษมากกว่าน้ำมะพร้าวอ่อน

ข้อห้ามใช้

  อย่าดื่มน้ำมะพร้าวขณะที่มีประจำเดือน เพราะจะทำให้เป็นไข้ทับระดู หรือทำให้ประจำเดือนเสียได้
  อย่าดื่มน้ำมะพร้าวบ่อยเป็นประจำนานๆ เพราะจะทำให้ปวดหลัง
  อย่าดื่มน้ำมันมะพร้าวมากๆ นานๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการร้อนใน
  เชื่อกันว่าสตรีมีครรภ์ยังไม่ถึง 5 เดือน ห้ามดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนบ่อยๆ เพราะจะทำให้ลูกไม่แข็งแรง

มะนาว สมุนไพร 67 ชนิด ที่ใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน มะละกอ