ชื่อท้องถิ่น

ผักแว่น (ใต้) ผักหนอก จำปาเครือ กะบังนอก (ลำปาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Centella asiatica (Linn.) Urban

วงศ์

UMBELLIFERAE (APIACEAE)

ชื่อสามัญ

Asiatic Pennywort / Tiger Herbal

ลักษณะ

เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มักขึ้นในที่ชื้นแฉะ ลำต้นเลื้อยยาวไปตามพื้นดิน แตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อชูขึ้น 3-5 ใบ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไต เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผล เป็นผลแห้ง แตกได้

การขยายพันธุ์

โดยเมล็ด และไหลปักชำ ตัดแยกไหลที่มีต้นอ่อนและมีรากออก นำไปปลูกในที่ชื้นแฉะ แต่ได้รับแสงแดดมากพอสมควร เป็นพืชที่ขึ้นง่าย ปลูกได้ตลอดทั้งปี

ส่วนที่นำมาเป็นยา

ลำต้นและใบสด

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ

จำพวกไตรเทอร์ปิน และไตรเทอร์ปินกลัยโคไซด์ ได้แก่ กรดเอชีอาติก (asiatic acid) กรดมาดิคาสซิก (madecassic acid) เอซิอาติโคไซด์ (asiaticoside) ออกซิเอซิอาติโคไซด์ (oxyasiaticoside) มาดิคาสซอล (madecassol) ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยเร่งการสร้างเนื้อเยื่อและสมานแผล นอกจากนี้ยังพบน้ำตาลหลายชนิด เช่น เรซิน วิตามินซี สารเทนนินสารที่มีรสขมชื่อ Vellarine อัลคาลอยด์ชื่อไฮโดรคอไทลีน (hydrocotylene) และน้ำมันหอมระเหยชื่อ B-Caryophyllene

สรรพคุณทางยา
และวิธีใช้

  โรคปากเปื่อย ปากเหม็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ:   ใช้บัวบกสด 1 กำมือ (10-20 กรัม) ตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำเติมน้ำตาลทรายเล็กน้อย ดื่มวันละ 3 ครั้งติดต่อกัน 1-2 วัน

  แก้อาการเจ็บคอ:  ใช้บัวบกสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำส้มสายชู 1-3 ช้อน จิบบ่อยๆ

  แก้อาการปวดศรีษะข้างเดียว:  รับประทานแบบสดๆ หรือคั้นน้ำรับประทานไม่จำกัดปริมาณ ควรรับประทานติดต่อกัน 5-6 วัน

  แก้อาการช้ำใน ลดความดันโลหิต:   ใช้บัวบกสด 2 กำมือ คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำตาลทรายเล็กน้อย รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน

  รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก:   ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบริเวณแผลบ่อยๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้

ข้อควรรู้

สารสกัดบัวบกด้วยน้ำ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนอง และฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของกลากได้

บอระเพ็ด สมุนไพร 67 ชนิด ที่ใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน ปลาไหลเผือก