คำผวน เป็นคำที่พูดกลับเสียงคำเดิม ด้วยการสัมผัสเสียง เช่น ลายตา ผวนเป็น ตาลาย ขอคัด
ผวนเป็น ขัดคอ ลำคลอง ผวนเป็น ลองคลำ ตามัว ผวนเป็น ตัวมา ไม้ดัด ผวนเป็นมัดได้ เป็นต้น

ชาวไทยภาคใต้เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน มีอารมณ์ขันชอบพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน นิยมเล่น
คำผวนกันมาเป็นเวลานานปี ยิ่งคนรุ่นปู่ย่าตาทวด เล่นคำผวนได้รวดเร็วมาก ผู้ฟังติดตามไม่ทันทีเดียว คำผวนจะช่วยให้สนุกสนานได้ ผู้ฟังต้งมีสติปัญญาเฉียบแหลม ผวนได้ทันทีทันควัน คำผวนนิยมใช้พูดจากันในแวดวงคนสนิทมิตรสหาย ลักษณะของคำผวนที่นิยมใช้กัน จำแนกออกได้เป็นประเภทดังนี้

1.  ประเภทลายแทง ผู้ที่จะแก้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญา คนธรรมดาคิดไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น
ดังตัวอย่าง
    1.1 ยายทองคำกำสากเบือตำหมาก มีผู้ผวนหรือแปลว่ายายทองคำ ยายกำทอง จึงใช้ไม้ทุบ
สากเบือ ทองอยู่ในจริงๆ ผู้นั้นได้ทองไป ถือว่าแก้ลายแทงได้
    1.2 มีภาพปั้นเป็นรูปคน มีบ่อน้ำอยู่ด้วย เรียกว่าบ่อคัน เมื่อมีผู้ผวนกลับเป็นบั่นคอ ทุบต้นคอของ
รูปปั้นมีทองอยู่ข้างในถือว่าผู้นั้นแก้ลายแทงได้

2.  ประเภทปริศนาคำทาย ผู้ทายบอกเป็นคำผวนดังตัวอย่าง
    2.1 โบสถ์ไหน คำตอบ ใบโหนด
    2.2 สองหนำสามหนำเข้าหนำเดียว คำตอบ เหนียวดำ
    2.3 คาบหัน คำตอบ คันหาบ
    2.4 ผูดกัก ผาดกัก ผีชัก จอมหัน คำตอบ ผักกูด ผักกาด ผักชี จันทน์หอม
    2.5 ลูกกินใบ คำตอบ ลูกไก (ไก่) บิน
    2.6 นกบาหลิน เกาะอยู่บางทน เห็นคามน บินไปหัวตก คำตอบ นกบินหลา เกาะอยู่บนทาง เห็นคนมาบินไปหกตัว

3.  ประเภทปริศนาคำทาย แต่ผู้ทายต้องตอบเป็นคำผวน ดังตัวอย่าง
    3.1 บ้านไหนที่หญิงสาวไม่ควรไป คำตอบบ้านดอนยอ
    3.2 วัดไหนคนชอบไปอาบน้ำกันมาก คำตอบ วัดป่าตอ
    3.3 พืชอะไรไม่ควรนำไปผึ่งแดด คำตอบ สะตอ
    3.4 ผู้ชายคนนั้นชื่ออะไร ถ้ามาขอลูกสาวพ่อแม่ไม่ควรยกให้ คำตอบแดง
    3.5 ชื่อใดไม่ควรตั้งชื่อลูกเป็นอัปมงคล คำตอบ สี
    3.6 ชอบวัวหางด้วนหรือหางดี คำตอบ วัวหางดี
    3.7 อยากเป็นคนหูหนักหรือหูดี คำตอบ หูดี

4.  ประเภทปริศนาคำทาย แต่เป็นคำผวนที่ชวนให้ผู้ตอบต้องมีปฏิภาณไหวพริบแก้ตัวได้ทันที
ชวนให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ขัน ตัวอย่าง นายขวัญเมืองเล่นคำผวนกับนายสะหม้อ
   
ขวัญเมือง : ไปยะลา
สะหม้อ : ปายะไล
ขวัญเมือง : ไปจะนะ
สะหม้อ : ปะจะไหน
ขวัญเมือง : ไปสะเดา
สะหม้อ : เปาสะได
ขวัญเมือง : ไปปัตตานี
สะหม้อ : ปีปัดตะไน
ขวัญเมือง : ไปหัวเขา
สะหม้อ รู้ทันก็เลี่ยงไปว่า "กะกูไปเรือเสียแล้" หัวเขาอยู่คนละฟากกับตัวเมืองสงขลาการไป
มาต้องโดยสารเรือเป็นคำตอบที่สมเหตุสมผล ไม่ผวนคำ ผู้ฟังยกย่องว่านายสะหม้อเป็นคนฉลาด

5.  ประเภทปริศนาคำทาย เป็นคำผวนที่ทำให้ผู้ตอบตกหลุมพรางโดยไม่ทันคิด นายหนูนุ้ยกับนายเท่ง
เป็นตัวตลกเอกของหนังตะลุงทุกคณะเล่นคำผวนกันเรื่องเข่ง นายหนูนุ้ย พูดคำผวนให้นายเท่งเป็นฝ่ายแก้
   
หนูนุ้ย : ขุ่นยี่เป้ง
เท่ง : เข้ง (เข่ง) ญี่ปุ่น
หนูนุ้ย : กั่งฝ้าเหร้ง
เท่ง : เข้งฝรั่ง
หนูนุ้ย : ขิดอังเกร้ง
เท่ง : เข้งอังกฤษ
หนูนุ้ย : ขั้นเยอระเมง
เท่ง : เข้งเยอระมัน
หนูนุ้ย : ข้วนเยง
เท่ง : เข้งญวน
หนูนุ้ย : ข้าวเลง
เท่ง : เข้งลาว
หนูนุ้ย : เข้งกี้
เท่ง : ขี้เก้ง (ถ่ายอุจจาระแล้วไม่ชำระ)
หนูนุ้ย : เข้งไอไท
เท่ง : ไขไอ้เท่ง (เท่งกำลังตอบด้วยความมันจึงเผลอตอบไปโดยไม่ทันคิด คือตอบเข้าตัวเองคนดูชอบใจหัวเราะ ไข หมายถึงอวัยวะของผู้ชาย)

หนังตะลุง ชอบใช้คำผวนชนิดตรงไปตรงมา คนดูมักประมาณว่าพูดจาหยาบโลน หนังบางคณะ
ใช้คำผวน แต่รู้จักให้เหตุผล เช่นฤาษีให้นายเท่งอ่านหนังสือนางแตงอ่อน ว่านายเท่งอ่านออกแล้วหรือไม่ นายเท่งอ่านไม่คล่อง ตะกุกตะกัก อ่านคาบวรรคว่า"นางแตงแดด อ่อนๆ ไปเก็บผัก" ฤาษีแนะนำว่าอย่าอ่านคาบวรรค แนะนำให้อ่านว่า นางแดง แดดอ่อนๆ ไปเก็บผัก" คนดูหัวเราะ เพราะสมเหตุสมผล คนที่อ่านหนังสือไม่คล่องมักจะอ่านคาบวรรค

6.  ประเภทคำผวน แต่อีกฝ่ายหนึ่งหลีกเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน กลายเป็นไม่หยาบโลน ส่วนมากโนรา
ชอบนำมาใช้ในการทำบท ดังตัวอย่าง
   
คนที่ 1 ทำปีปิดหิ้ง : คนที่ 2 ทำปิ้งปิดไซ
คนที่ 1 ทำท่าฉีหีก : คนที่ 2 ฉีกปีกโลกไก (ลูกไก่)
คนที่ 1 ทำท่าฉ้อเด้ง : คนที่ 2 เฉ้งกลักขีดไฟ
คนที่ 1 มักเป็นพรานตัวตลก : คนที่ 2 มักเป็นตัวนายโรงต่อคำที่ไม่เป็นคำผวนกลับใจคนดู ถือว่าเป็นศิลปะ

7.  ประเภทคำผวน ที่ผูกแต่งเป็นกลอนสุภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลอนหนังตะลุง กลอนโนรา ทั้งเป็นกลอน
สั้นๆ และเป็นเรื่องราวหรือเป็นนิยาย ดังตัวอย่างกลอนของ นายฉิ้ว ทิพย์วารี นักแต่งกลอนชื่อดังของจังหวัดสงขลา
   
     "ยามว่างว่างพลางฆ่าเวลาว่าง
แดดบางบางลมเบาเบาเกลาสมอง
เลือก "สรรคำ" ที่ "สำคัญ" ประพันธ์กรอง
ตามครรลอง "ตารำ" เจ้า "ตำรา"
เห็น "สมควร" "สวนคม" แทนลมปาก
ถึงแสนยาก "หาสรร" เพื่อ "หรรษา"
ให้สดชื่นรื่นรสพจนา
เขียนนำมาฝากมิตรพอติดมือ
อันชมรมเห็นสมชอบจึงมอบหมาย
เหมือนมอบให้อาวุธได้ยุดถือ
ช่วย "เกลาขัด" "ปัดเขลา" ให้เขาถือ
ได้ฝากชื่อ "สายชม" ว่า "สมชาย"

นับเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว มีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ปรากฎชื่อ ได้ใช้ความอุตสาหะวิริยะ
แต่งกลอนสุภาพเป็นคำผวนเรื่องยาวหรือที่เรียกว่านิยาย เขาเป็นคนแรกของชาวภาคใต้และของประเทศไทย ที่แต่งกลอนคำผวนเป็นนิยายได้ยาวที่สุด เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องแรก ที่แต่งได้แปลกแหวกแนว และเป็นต้นแบบการใช้คำผวน ของคนรุ่นหลัง คนส่วนมากหาว่าหยาบโลนต่ำช้า ไม่มีใครกล้าจัดพิมพ์ออกแบบเผยแพร่กลัวว่าผิดพระราชบัญญัติการพิมพ์ เข้าลักษณะลามกอนาจารแท้ที่จริงไม่มีคำใดกล่าวถึงเรื่องเพศต่างๆ เลย ผู้มีแอบพิมพ์โรเนียว แจกกันในหมู่เพื่อนฝูง ทุกคนยกให้ว่าผู้แต่งเป็นยอดแห่งปัญญา ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า "สรรพลีหวน" ได้เขียนคำนำไว้หน้าปกว่า
   
     "สรรพลีหวนควรอ่านตามบ้านร้าง
หนำหรือข้างคลองทะเลนอกเคหา
จะดีร้ายปลายคำเป็นธรรมดา
นอกภาษานิทานอ่านอย่าแปล
เหมือนแบบเก่าเอาชื่อถือเป็นหลัก
ถึงที่รักก็ให้เฉยอย่าเผยแผ่
ให้อภัยบ่าวสาวหนุ่มเฒ่าแก่
ผึ่งขึ้นแลหยิบอ่านสำราญเอย"

แสดงถึงผู้แต่งเรื่องสรรพลี้หวน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย มีจิตใจสูงส่ง เขาได้วิงวอนขอร้องไว้เป็นพิเศษ
อ่านแล้วอย่าแปลหรือผวนคำ จะไม่เป็นการหยาบโลนแต่อย่างใด เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติของกวีผู้แต่งเรื่องนี้ ขอยกตัวอย่างให้เห็นพอเป็นสังเขป
   
     "นัครังยังมีเท่าผีแหน
กว้างยาวแสนหนึ่งคืบสืบยศฐา
เมืองห้างกวีสีหับระยับตา
พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง
สูงพอดียีหิบพอหยิบติด
ทองอังกฤษสลับสีด้วยหนีหัง
กำแพงมีรีหายไว้ขอดัง
เจ้าจอมวังพระราโชท้าวโคตวย"

จ.ส.ต.ปลอด สายแก้ว ข้าราชการบำนาญ นักแต่งกลอนชื่อดังชาวจังหวัดพัทลุง ได้รวบรวมคำผวน
จำนวน 400 คำ คำผวนของท่านมีลักษณะเป็นพิเศษ คือมีความหมายทั้งคำหน้าและคำหลัง ผวนแล้วไม่เป็นคำหยาบโลน แต่งเป็นกลอนสุภาพร้อยสัมผัสกันตลอดทั้ง 400 คำ แม้ไม่เป็นนิยายเหมือนสรรพลีห้วน แต่ขยายความหมายของคำไว้ชัดเจน แต่งได้สละสลวยไพเราะเพราะพริ้ง จ.ส.ต.ปลอด สายแก้ว เป็นคนที่ 2 ของภาคใต้ที่แต่งกลอนคำผวนได้อย่างยืดยาว ขอยกตัวอย่างเฉพาะคำบางคำ ดังต่อไปนี้
   
ตักน้อง,ต้องนัก
     "เพราะพี่รักตักน้องอยากต้องนัก
เธอก้มพักตร์ห้ามว่าอย่าซุกซน"
นายล้ำ,น้ำลาย
     "พบเพื่อนชายนายล้ำบ้าน้ำลาย
พูดบรรยายเหลือเฟือเพื่อนเบื่อฟัง"
อำนวย,อวยนำ
     "ขออำนวยอวยนำคำสรรเสริญ
ขอเจริญพ้นทุกข์เป็นสุขสันต์"
เพียรรัก,พักเรียน
     "อย่าเพียรรักพักเรียนเพียรศึกษา
หาวิชาให้ชำนาญเถิดหลานขวัญ"
ง้างคัด,งัดค้าง
     "อย่าง้างคัดงัดค้างแรงช้างสาร
คำโบราณท่องทักอย่าหักโหม"
สาวเหนือ,เสือหนาว
     "เจอสาวเหนือเสือหนาวแรกคราวหนุ่ม
รักชวนลุ่มหลงสนิทแต่ผิดหวัง"
รักพอ,รอพัก
     "เมื่อรักพอรอพักเสียสักหน่อย
รักบ่อยบ่อยอื้อฉาวจนคาวหู"
สาวรัก,สักราว
     "เจอสาวรักสักราวสิบเก้าศก
จะนอนกกคืนละครั้งก็ยังไหว"
ลองทาย,ลายทอง
     "คุณลองทายลายทองแผ่นล่องชาด
ใครช่างวาดพริ้มเพริศงามเฉิดฉัน"
ช่างทอง,ช่องทาง
     "เป็นช่างทองช่องทางเปิดห้างร้าน
ขยายการกิจกรรมทำโตใหญ่"

คำผวนเป็นลักษณะโดดเด่นของภาษาไทย ซึ่งไม่มีในภาษาของชาติอื่นใด คำผวนช่วยให้รู้จักใช้คำ
คล้องจอง ช่วยให้เกิดอารมณ์ขันชวนสนุกสนานคลายความเครียด ช่วยสมานมิตรภาพให้แน่นแฟ้นยาวนาน ช่วยให้เชิงเชาวน์ปฏิภาณไหวพริบ ช่วยไม่ให้เราเขียนคำหยาบโลนตรงไปตรงมา เป็นศิลปะทางการใช้ภาาาอย่างล้ำค่าเราควร อนุรักษ์ให้คงอยู่คู่กับภาษาไทยอีกนานเท่านาน
Back