www.tungsong.com

 
สภาพทั่วไป
 
1.1 ประวัติอำเภอจุฬาภรณ์
 
อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอร่อนพิบูลย์และอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นพื้นที่ตำบลควนมุด ตำบลบ้านชะอวด อำเภอชะอวดและตำบลควนหนองคว้า ตำบลทุ่งโพธิ์ ตำบลสามตำบล และตำบลนาหมอบุญ อำเภอร่อนพิบูลย์ ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่มีความกันดาร และห่างไหลจากอำเภอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปัญหาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาแก้ไขโดยเร่งด่วน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การปกครอง การอาชีพ สังคมจิตวิทยา และการให้บริการประชาชน
 
จึงมีการขอจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าว เป็นอำเภอจุฬาภรณ์(กรณีพิเศษ)พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอเพื่อเป็นประโยชน์แก่การปกครอง และความสะดวกของประชาชน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2537 และได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้พระนาม ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นชื่ออำเภอโดยได้ทำพิธีเปิดอำเภอ และเริ่มบริการประชาชนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537
 
พื้นที่บริเวณที่ตั้งอำเภอจุฬาภรณ์ปัจจุบัน คือ ตำบลสามตำบล โดยมีประวัติว่าหมายถึงสามวัง ได้แก่ วังฆ้อง วังใส และวังนาหมอบุญ ซึ่งทั้งสามวังเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อพระวงศ์แต่โบราณ ที่ได้เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานยังบริการนี้ ต่อมาเมื่อยุคหนึ่งในอดีต พื้นที่แถวนี้กลายเป็นเขตเคลื่อนไหวและต่อสู้ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้บริเวณนี้ซึ่งทุรกันดารอยู่แล้ว ต้องประสบกับปัญหาด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยเพิ่มขึ้นขึ้นอีกนอกจากนี้การพัฒนาและการบริการของทางราชการก็ไม่สามารถเข้าถึงยังจุดนี้ได้
 
1.2 สภาพทางภูมิศาสตร์
 
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตร เลี้ยงสัตว์ ด้านทิศตะวันตก เป็นที่ราบสูงมีภูเขาสลับซับซ้อน เป็นแนวยาวทอดจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ทิศเหนือเป็นที่ราบเชิงเขา ทิศใต้เป็นที่ราบลุ่ม
 
สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจุฬาภรณ์ ตั้งที่บ้านสำนักไม่เรียบ หมู่ที่ 4 ตำบลสามตำบล ห่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 52 กิโลเมตร
 
อาณาเขต
    ทิศเหนือ ติดต่อตำบลร่อนพิบูลย์ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์จังหวัดนครศรีธรรมราช
    ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลควนชุม ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ และตำบลบ้านตูล อำเภอชะอวด
    ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลควนหนองหงษ์ ตำบลบ้านตุล อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
    ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง และตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
1.3 ประชากร
 
มีประชากรทั้งหมด 31,850 คน 9,177 ครัวเรือน
  1.4 พื้นที่ทั้งหมด
 
จำนวนพื้นที่ทั้งหมด192,505 ตารางกิโลเมตร
  1.5  การคมนาคม
 
มีถนนสายหลัก ในความรับผิดชอบของทางหลวง จำนวน 2 สาย แบ่งเป็นถนนลาดยาง 1 สาย ระยะทาง 17 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 41 ตอนอำเภอทุ่งสง-จังหวัดพัทลุง)และถนนลาดยาง (ยังไม่ตลอดสาย) 1 สาย ระยะทาง15 กิโลเมตร (ถนนปลายนา-ควนแบก)
 
ถนนสายรอง ในความรับผิดชอบของ รพช. กรมโยธาธิการและองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวม 92 สาย (แบ่งเป็นราดยาง 2 สาย ลูกรัง 90 สาย))
 
1.6 สภาพดินฟ้าอากาศ
 
อำเภอจุฬาภรณ์ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านอ่าวไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย จึงมีช่วงฤดูฝนยาวนานระหว่างเดือน กรกฎาคม กุมภาพันธ์อุณหภูมิเฉลี่ย 22 องศาเซลเซี่ยส และช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มีนาคม-มิถุนายนอุณหภูมิเฉลี่ย 32 องศาเซลเซี่ยส
 
1.7 ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว
     (1)ทรัพยากรดิน
 
อำเภอจุฬาภรณ์ แบ่งดินออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
       1.1ดินในพื้นที่ราบลุ่ม เกิดจากตะกอนที่มาจากแม่น้ำลำคลอง ค่อย ๆ สูงขึ้น ดินจำพวกนี้ถ้าอยู่ในสภาพแช่น้ำจะไม่แสดงความเป็นกรด แต่ถ้าทำให้ดินชั้นล่างแห้ง ซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ก็จะมีปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ดินจะเปลี่ยนสภาพเป็นกรด ศักยภาพของดินจะใช้ประโยชน์ในการทำนาได้เพียงบางส่วน แต่ให้ผลผลิตต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน
         1.2 ดินบริเวณที่ราบสูงเชิงเขาในตำบลทุ่งโพธิ์
     (2)ทรัพยากรน้ำ
 
อำเภอจุฬาภรณ์มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร คือ ลำคลอง จำนวน 10 สาย ซึ่งมีน้ำ ใช้ตลอดปี จำนวน 2 สาย คือ คลองวังฆ้องและคลองท่ายาง ห้วย,หนอง,บึงประมาณ 20 แห่งมีน้ำเฉพาะฤดูฝน สระน้ำ จำนวน 10 แห่ง มีน้ำเก็บกัก ใช้ได้ตลอดปี
     (3)สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอ
  ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย
        ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย เป็นศิลาจารึกที่พบบริเวณหุบเขาช่องคอย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชพบเมื่อวันที่ 10กันยายน พ.ศ.2522 โดยนายจรง ชูกลิ่น และนายถวิล ช่วยเกิด ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านคลองท้อน หมู่ที่9 ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้เดินทางไปในป่าแถบเขาช่องคอย ซึ่งอยุ่ห่างจากบ้านโคกสะท้อน ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ ไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ณ บริเวณทุบเขาช่องคอยนี้เอง บุคคลทั้งสอง ได้พบแผ่นหินกว้างใหญ่อยู่ใกล้กับร่องน้ำระหว่างหุบเขา แผ่นหินดังกล่าวมีขนาดกว้าง 1.60 เมตร ยาว 6.83 เมตร หนา 1.20 เมตร บนแผ่นหินมีเส้นเป็นรอยลึกขีดไปมาเป็นรูปอักษร คือ ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยนั่นเอง
          การค้นพบศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ทำให้ได้ทราบหลักฐานเกี่ยวกับอารยธรรมของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตเมืองนครศรีธรรมราชในอดีตกาลจากลักษณะรูปอักษรที่ปรากฎในจารึกประมาณได้ว่าจารึกนั้นสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งร่วมสมัยกับจารึกวัดมเหยงณ์ จารึกวัดพระมหาธาตุ ฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจารึกเขาพระนารายณ์ จังหวัดพังงา
          กลุ่มคนผู้สร้างศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นนี้ น่าจะเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาสันสกฤต นับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายและคงจะได้เดินทางเข้ามาพำนักอาศัยในบริเวณนั้นเป็นการชั่วคราว ไม่ใช่กลุ่มชนที่อยู่ประจำถิ่น อีกทั้งยังได้กำหนดสถานที่บริเวณศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยนั้นเป็นศิวสถานเพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามจารีตของตน พร้อมๆ กันนั้นก็อบรมสั่งสอนให้ผู้อยู่ในสันนิบาตนั้น สำนึกในความเป็นคนต่างถิ่นพลัดบ้านเมืองมาสมควรประพฤติตนเป็นคนดี จะได้พำนักอาศัยอยู่ร่วมในสังคมที่มีขนบธรรมเนียมแตกต่างกันได้อย่างสุขสงบ ดังที่ปรากฎข้อความในจารึดซึ่งกล่าวถึงการเคารพบูชา พระศิวะ พระสวามีแห่งนางวิทยาเทวี พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุดบุคคลใดสรรเสริญองค์พระศิวเทพอย่างเทิดทูลบูชา บุคคลนั้นจะได้รับพรจากพระองค์ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ ที่ใดย่อมได้รับการต้อนรับด้วยดีทุกสถาน
          ลักษณะของศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยบ่งชัดว่าเป็นการสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีง่าย ๆ ไม่ประณีตบรรจง ใช้แผ่นศิลาธรรมชาติที่มีอยุ่ในบริเวณหุบเขานั้นเป็นที่จารึกรูปอักษรขึ้น 3 ตอน มีความหมายต่อเนื่องกัน แต่ขนาดของรูปอักษรไม่เท่ากัน ตอนที่ 1 ขนาดของตัวอักษรสูง 25 เซนติเมตร มีอักษรข้อความ 1 บรรทัด ตอนที่ 2 ขนาดของตัวอักษรสูง7 เซนติเมตรมีอักษรข้อความ 4 บรรทัด ตอนที่ 3ขนาดของตัวอักษรเท่ากับตอนที่ 2 แต่มีอักษรข้อความเพียง 2 บรรทัด รูปที่ยกมานี้เป็นตอนที่ 1
          การพิจารณาศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยในทางอักขรวิทยาจำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์ลักษณะเส้นสันฐานแห่งรูปอักษรจะเห็นได้ว่าลักษณะรูปอักษรในศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยเหมือนกับรูปอักษรในจารึกวัดมเหยงคณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชจารึกเขารัง จังหวัดปราจีนบุรี และจารึกอื่น ๆ ที่ใช้รูปอักษรปัลลวะซึ่งจารึกขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 เมื่อนำรูปอักษรในจารึกดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันแล้ว จะทราบได้ว่าเป็นรูปอักษรร่วมสมัยกัน ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยจารึกขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 ด้วยภาษาสันสกฤต
กลับสู่หน้าแรก