![]() |
![]() |
โนรา เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณประมาณอายุตามที่หลายๆ ท่านสันนิษฐานไว้ ตกสมัยศรีวิชัยหรือไม่ก็ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นอย่างมาก ด้วยกาลเวลาผ่านมานานเช่นนี้ ทำให้ประวัติความเป็นมาของโนราเล่าผิดเพี้ยนกัน จนกลายเป็นตำนานหลายกระแส กระแสที่ ๑ เล่าโดยขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ความว่าพระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆ หนึ่ง มีชายาชื่อนางศรีมาลา มีธิดาชื่อนางนวลทองสำลี วันหนึ่งนางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู ท่ารำมี ๑๒ ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตระ นางให้ทำเครื่องดนตรีและหัดรำตามที่สุบินเป็นที่ครึกครื้นในปราสาท วันหนึ่ง นางอยากเสวยเกสรบัวในสนะหน้าวัง คั้นนางกำนัลเก็บถวายให้เสวย นางก็ทรงครรภ์ แต่ยังคงเล่นรำอยู่ตามปกติ วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดเสด็จมาทอดพระเนตรการรำของธิดา เห็นนางทรงครรภ์ทรงซักไซ้เอาความจริง ได้ความเหตุเพราะเสวยเกสรบัว พระยาสายฟ้าฟาดทรงไม่เชื่อ และทรงเห็นว่านางทรงทำให้อัปยศ จึงรับสั่งให้เอานางลอยแพ พร้อมด้วยสนมกำนัล ๓๐ คน แพไปติดเกาะกะชัง นางจึงเอาเกาะนั้นเป็นที่อาศัย ต่อมาได้ประสูติโอรส ทรงสอนให้โอรสรำโนราได้ชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทราบ ต่อมากุมารน้อยซึ่งเป็นโอรสของนางนวลทองสำลี ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำโนราไปยังเมืองพระอัยกา เรื่องเล่าลือไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด ๆ ทรงปลอมพระองค์ไปดูโนรา เห็นกุมารน้อยมีหน้าตาคล้ายพระธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่าเป็นพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับนางนวลทองสำลีจากเกาะกะชัง แต่นางไม่ยอมกลับ พระยาสายฟ้าฟาดจึงกำชับให้จับมัดขึ้นเรือพามา ครั้นเรือมาถึงปากน้ำ จะเข้าเมืองก็มีจระเข้ลอยขวางทางไว้ ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ครั้งนางเข้าเมืองแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดได้ทรงจัดพิธีรับขวัญขึ้น และให้มีการรำโนราในงานนี้โดยประทานเครื่องต้น อันมีเทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาลพาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดาเป็นขุนศรีศรัทธา ตำนานกระแสนี้ ยังมีเล่าเป็นคำกาพย์ไว้ด้วย ใจความอย่างเดียวกันว่า |
|||
นางนวลทองสำลี |
เป็นบุตรีท้าวพระยา |
||
นรลักษณ์งามนักหนา | จะแจ่มดังอัปสร | ||
เทวาเข้าไปดลจิต | ให้เนรมิตเทพสิงหล | ||
รูปร่างอย่างขี้หนอน | ร่อนรำง่าท่าต่างกัน | ||
แม่ลายฟั่นเฟือน | กระหนกลัวแต่เครือวัลย์ | ||
บทบาทกล่าวพาดพัน | ย่อมจำแท้แน่หนักหนา | ||
จำได้สิบสองบท | ตามกำหนดในวิญญาณ์ | ||
เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมา | แจ้งความเล่าเหล่ากำนัล | ||
แจ้งตามเนื้อความฝัน | หน้าที่นั่งของท้าวไท | ||
วันเมื่อจะเกิดเหตุ | ให้อาเพศกำจัดไกล | ||
ให้อยากดอกมาลัย | อุบลชาติผลพฤกษา | ||
เทพบุตรจุติจากสวรรค์ | เข้าทรงครรภ์นางฉายา | ||
รู้ถึงพระบิดา | โกรธโกรธาเป็นฟุนไฟ | ||
ลูกชั่วร้ายทำขายหน้า | ใส่แพมาแม่น้ำไหล | ||
พร้อมสิ้นกำนัลใน | ลอยแพไปในธารัง | ||
พระพายก็พัดกล้า | เลก็บ้าพ้นกำลัง | ||
พัดเข้าเกาะกะชัง | นั่งเงื่องงงอยู่ในป่า | ||
ร้อนเร้าไปถึงท้าว | โกสีย์เจ้าท่านลงมา | ||
ชบเป็นบรรณศาลา | นางพระยาอยู่อาศัย | ||
พร้อมสิ้นทั้งฟูกหมอน | แท่นที่นอนนางทรามวัย | ||
ด้วยบุญพระหน่อไท | อยู่เป็นสุขเปรมปรีดิ์ | ||
เมื่อครรภ์ถ้วนทศมาส | ประสูติราชจากนาภี | ||
เอกองค์เอี่ยมเทียมผู้ชาย | เล่นรำได้ด้วยมารดา | ||
เล่นรำตามภาษา | ตามวิชาแม่สอนให้ | ||
เล่นรำพอจำได้ | เจ้าเข้าไปเมืองอัยกา | ||
เล่นรำตามภาษา | ท้าวพระยามาหลงใหล | ||
จีนจามพราหมณ์ข้าหลวง | ไปทั้งปวงอ่อนน้ำใจ | ||
ท้าวพระยาสายฟ้าฟาด | เห็นประหลาดใจหนักหนา | ||
ดูนรลักษณ์และพักตรา | เหมือนลูกยานวลทองสำลี | ||
แล้วหามาถามไถ่ | เจ้าเล่าความไปถ้วนถี่ | ||
รู้ว่าบุตรแม่ทองสำลี | พาตัวไปในพระราชวัง | ||
แล้วให้รำสนองพระบาท | ไทธิราชสมจิตหวัง | ||
สมพระทัยหัทยัง | ท้าวยลเนตรเห็นความดี | ||
แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง | สำหรับองค์พระภูมี | ||
กำไลใส่กรศรี | สร้อยทับทรวงแพรภูษา | ||
แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง | คล้ายขององค์พระราชา | ||
แล้วจดคำจำนรรจา | ให้ชื่อว่าขุนศรีศรัทธา | ||
กระแสที่ ๒ เล่าโดยโนราวัด จันทร์เมือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความว่า ท้าวมัทศิลป์ นางกุญเกสี เจ้าเมืองปิญจา มอบราชสมบัติให้เจ้าสืบสาย ราชโอรสขึ้นครองแทน โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดและมอบพี่เลี้ยงให้ ๖ คน ชื่อนายทอง นายเหม นายบุษป์ นายวงศ์ นายตั้น และนายทัน โดยแต่งตั้งให้คนแต่ละคนมีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ดังนี้ นายทองเป็นพระยาหงส์ทอง ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายขวา นายเหมเป็นพระยาหงส์เหมราช ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายซ้าย นายบุษป์เป็นขุนพิจิตรบุษบา ตำแหน่งปลัดขวา นายวงศ์เป็นพระยาไกรยวงศา ตำแหน่งปลัดซ้าย นายตั้นเป็นพระยาหริตันปัญญา ตำแหน่งขุนคลัง และนายทันเป็นพระยาโกนทันราชาให้เป็นใหญ่ฝ่ายปกครอง เจ้าพระยาฟ้าฟาดมีชายาชื่อศรีดอกไม้ มีธิดาชื่อนวลสำลี นางนวลสำลีมีพี่เลี้ยง ๔ คน คือ แม่แขนอ่อน แม่เภา แม่เมาคลื่น และแม่ยอดตอง เมืองนางนวลสำลีเจริญวัย พระอินทร์คิดจะให้มีนักรำแบบใหม่ขึ้นในเมืองกุลชมพู เพิ่มจากหัวล้านชนกันและนมยานตีเก้งซึ่งมีมาก่อน จึงดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว ขณะที่นางกินเกสรบัว พระอินทร์ก็ส่งเทพบุตรไปปฏิสนธิในครรภ์ของนาง จากนั้นมานางรักนางรักแต่ร้องรำทำสนุกสนานแม้เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจะห้ามปราม แต่พบลับหลังก็ยิ่งสนุกสนานยิ่งขึ้น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งเนรเทศโดยให้จับลอยแพพร้อมด้วยพี่เลี้ยงไปเสียจากเมือง พระยาหงส์ทองกับพระยาหงส์เหมราชเห็นเช่นนั้นจึงวิตกว่า ขนาดพระธิดาทำผิดเพียงนี้ให้ทำโทษถึงลอยแพ ถ้าตนทำผิดก็ต้องถึงประหาร จึงหนีออกจากเมืองเสีย แพของนางนวลสำลีลอยไปติดเกาะกะชัง นางคลอดบุตรที่เกาะนั้นให้ชื่อว่าอจิตกุมาร เมื่ออจิตกุมารโตขึ้นก็หัดร้องรำด้วยตนเอง โดยดูเงาในน้ำเพื่อรำให้สวยงาม และสามารถรำท่าแม่บทได้ครบ ๑๒ ท่า ต่อมาข่าวการรำแบบใหม่นี้ได้แพร่ไปถึงเมืองปิญจา เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงให้คนไปรับมารำให้ชาวเมืองดู คณะของอจิตกุมารถึงเมืองปิญจาวันพุธตอนบ่ายโมง เมื่ออจิตกุมารรำคนก็ชอบหลงใหล ฝ่ายนางนวลสำลีและพี่เลี้ยงได้เล่าความหลังให้อจิตกุมารฟัง อจิตกุมารจึงหาทางจนได้เฝ้าพระเจ้าตา เมื่อทูลถามว่าที่ขับไล่นางนวลสำลีนั้นชาวเมืองชอบใจหรือไม่พอใจ เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าไม่รู้ได้ แต่น่าจะพอใจ เพราะเห็นได้จากที่พระยาหงส์ทองและพระยาหงส์เหมราชหนีไปเสียคงจะโกรธเคืองในเรื่องนี้ อจิตกุมารถามว่าถ้าพระยาทั้งสองกลับมาจะชุบเลี้ยงหรือไม่ เมื่อเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าจะชุบเลี้ยงอีก อจิตกุมารจึงทำพิธีเชิญพระยาทั้งสองให้กลับโดยทำพิธีโรงครู ตั้งเครื่องที่สิบสองแล้วเชิญครูเก่าแก่ให้มาดูการรำถวายของเขาและเชิญมากินเครื่องบูชา เมื่อเชิญครูนั้นได้เชิญพระยาทั้งหกซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดขึ้นกินเครื่องบูชาด้วย เมื่อทุกคนได้เห็นการรำก็พอใจหลงใหลแต่เสียตรงที่เครื่องแต่งกายเป็นผ้าเก่าๆ ขาด ๆ จึงหยิบผ้ายกที่จัดไว้เป็นเครื่องบูชาให้เปลี่ยนแทน พอเปลี่ยนแล้วเห็นว่ารำสวยยิ่งขึ้น แจ้าพระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้นจึงเปลื้องเครื่องทรงและถอดมงกุฎให้ และกำหนดเป็นหลักปฎิบัติว่า ถ้าใครจะรับดนราไปรำต้งอมีขันหมากให้ปลูกโรงรำกว้าง ๙ ศอก ยาว ๑๑ ศอก ให้โรงรำเป็นเขตกรรมสิทธิ์ของคณะผู้รำ อจิตกุมารรำถวายครูอยู่ ๓ วัน ๓ คืน พอถึงวันศุกร์จึงเชิญครูทั้งหมดให้กลับไป เสร็จพิธีแล้วเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้เปลี่ยนชื่อธิดาเพื่อให้สิ้นเคราะห์จากนางนวลสำลีเป็นศรีมาลาให้เปลี่ยนชื่อจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน แล้วพระราชทานศรและพระขรรค์ให้ด้วย จากนั้นพระเทพสิงสอนได้เที่ยวเล่นรำยังที่ต่างๆ พระยา ๔ คนขอติดตามไปเล่นด้วย ขุนพิจิตรบุษบากับพระยาไกรยวงศา เล่นเป็นตัวตลก สวมหน้ากากพราน จึงเรียกขานต่อมาว่าขุนพราน พระยาพราน พระยาโกนทันราชาแสดงการโถมน้ำส่วนพระยาหริตันปัญญาแสดงการลุยไฟให้คนดู จึงได้นามเรียกขานกันต่อมาว่า พระยาโถมน้ำ และพระยาลุยไฟ ตามลำดับ เมืองปัญจา เจ้าเมืองชื่อท้าวแสงอาทิตย์ ชายาชื่อกฤษณา มีโอรสชื่อศรีสุธน ศรีสุธนมีชายาชื่อกาหนม มีพรานปืน ๑ คน คอยรับใช้ชื่อบุญสิทธิ์ พรานออกป่าล่าเนื้อมาส่งส่วยทุก ๗ วัน ครั้งหนึ่งหาเนื้อไม่ได้ แต่ได้พบนาง ๗ คนมาอาบน้ำที่สระอโนตัด ครั้นกลับมาเข้าเฝ้าพระราชาและทูลว่าหาเนื้อไม่ได้ จึงถูกภาคทัณฑ์ว่าถ้าหาเนื้อไม่ได้อีกครั้งเดียวจะถูกตัดหัว พรานจึงคิดจะไปจับนางทั้ง ๗ คนมาถวายแทนสัก ๑ คน นางทั้ง ๗ คนเป็นลูกท้าวทุมพร เดิมท้าวทุมพรเป็นนายช่างของเมืองปัญญา ท้าวแสงอาทิตย์ให้สร้างปราสาทให้สวยที่สุด ครั้นสร้างเสร็จท้าวแสงอาทิตย์เกรงว่าถ้าเลี้ยงไว้ต่อไปจะไปสร้างปราสาทให้เมืองอื่นอีกและจะทำให้สวยกว่าปราสาทเมืองปัญจา จึงสั่งให้ฆ่าท้าวทุมพรเสีย ท้าวทุมพรหนีไปอยู่เมืองไกรลาส มีเมียชื่อเกษณี มีลูกสาว ๗ คน ชื่อจันทรสุหรี ศรีสุรัต พิม พัด รัชตา วิมมาลา และโนรา เมื่อลูกสาวจะไปอาบน้ำที่สระอโนตัด ท้าวทุมพรได้ทำปีกหางให้บินไป ครั้งหนึ่ง ขณะนางทั้ง ๗ คนอาบน้ำที่สระอโนตัด พรานบุญลักปีกหางนางโนรา แล้วไปขอร้องพญานาคเกลอมาช่วยจับพญานาคนี้เดิมเคยถูกครุฑเฉี่ยว พรานบุญสิทธิ์ได้ช่วยชีวิตไว้ ครั้นพรานขอร้องจึงให้การช่วยเหลือ พรานนำนางโนราไปถวายพระศรีสุธนๆ รับไว้เป็นชายา ต่อมาข้าศึกเมืองพระยาจันทร์ยกมาตีปัญจา พระศรีสุธนออกศึก แล้วตามไปปราบถึงเมืองพระยาจันทร์ อยู่ข้างหลังนางกาหนมหาอุบายจะฆ่านางโนรา โดยจ้างโหรให้ทำนายว่าพระศรีสุธนมีพระเคราะห์จะไม่ได้กลับเมือง ถ้าไม่ได้ทำพิธีบูชายัญและการบูชายัญนี้ให้เอานางโนราเผาไฟ นางโนราจึงออกอุบายขอปีกหางสวมใส่เพื่อรำให้แม่ผัวดูก่อนตาย และให้เปิดจาก ๗ ตับ เพื่อรำถวายเทวดา นางรำจนเพลินแล้วบินหนีไปเมืองไกรลาส พระสุธนตามไปจนได้รับกลับเมือง ต่อมาพรานบุญสิทธิ์ได้พบน้ำสุราที่คาคบไม้ ดื่มแล้วนึกสนุก เดินทางไปพบเทพสิงสอนเที่ยวรำเล่นอยู่ จึงสมัครเข้าเป็นพราน เมื่อเทพสิงสอนอายุได้ ๒๕ ปี เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้บวช ในพิธีบวชมีการตัดจุกใหญ่โต พรานบุญจึงนำเรื่องนางโนราทีตนพบมาเล่าและดัดแปลงขึ้นเล่นในครั้งนั้น โดยเล่นตอนคล้องนางโนราที่เรียกว่า "คล้องหงส์" |
|||
กระแสที่ ๓ จากนายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ( พ.ศ. ๒๕๐๘) เล่าไว้เป็นกลอน ๔ ว่า |
|||
ก่อเกื้อกำเนิด | คราเกิดชาตรี | ||
แต่ปางหลังยังมี | เมื่อคราวครั้งตั้งดิน | ||
บิดาของเจ้า | ชื่อท่านท้าวโกสินทร์ | ||
มารดายุพิน | ชื่อนางอินทรกรณีย์ | ||
ครองเมืองพัทลุง | เป็นกรุงธานี | ||
บุตรชายท่านมี | ชื่อศรีสิงหรณ์ | ||
ทุกเช้าทุกค่ำ | เที่ยวรำเที่ยวร่อน | ||
บิดามารดร | อาวรณ์อับอาย | ||
คิดอ่านไม่ถูก | เพราะลูกเป็นชาย | ||
ห้ามบุตรสุดสาย | ไม่ฟังพ่อแม่ | ||
คิดอ่านไม่ถูก | จึงเอาลูกลอยแพ | ||
สาวชาวชะแม่ | พร้อมสิบสองคน | ||
มาด้วยหน้าใย | ที่ในกลางหน | ||
บังเกิดลมฝน | มืดมนเมฆัง | ||
คลื่นซัดมิ่งมิตร | ไปติดเกาะสีชัง | ||
สาวน้อยร้อยชั่ง | เคืองคั่งบิดร | ||
จับระบำรำร่อน | ที่ดอนเกาะใหญ่ | ||
ข้าวโพดสาลี | มากมีถมไป | ||
เทวาเทพไท | ตามไปรักษา | ||
รู้ถึงพ่อค้า | รับพาเข้าเมือง | ||
ฝ่ายข้างบิตุรงค์ | ประทานให้เครื่อง | ||
สำหรับเจ้าเมือง | เปลื้องให้ทันที | ||
ตั้งแต่นั้นมา | เรียกว่าชาตรี | ||
ประวัติว่ามี | เท่านี้แหละหนา | ||
กระแสที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึงหลักฐานอันเป็นตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในหนังสือตำนานละครอิเหนาว่า"ในคำไหว้ครูของโนรามีคำกล่าวถึงครูเดิมของโนราที่ชื่อขุนศรัทธาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีความผิดต้องราชทัณฑ์ ถูกลอยแพไปเสียจากพระนคร แพขุนศรัทธาลอยออกจากปากน้ำไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง พวกชาวเรือทะเลมาพบเข้าจึงรับไปส่งขึ้นที่เมืองนคศรีธรรมราชหรือเมืองนคร ขุนศรัทธาจึงได้เป็นครูฝึกโนราให้มีขึ้นที่เมืองละครเป็นเดิมมา" ทั้งยังประทานความเห็นอีกว่าขุนศรัทธานี้เป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงมากในกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะเมื่อเล่นเรื่อง "นางมโนห์รา" ครั้นถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครก็หัดให้ขาวเมืองเล่นแบบเก่า ชาวเมืองนครซึ่งชอบพูดห้วนสั้น โดยตัดคำต้นทิ้งจึงเรียกละครชนิดนี้ว่า "โนรา" กระแสที่ ๕ เป็นตำนานละครชาตรีของกรมศิลปากรปรากฎในหนังสือการเล่นของไทย สรุปความว่า ท้าวทศมาศ นางสุวรรณดารา ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระธิดา ชื่อนางนวลสำลี ครั้นนางนวลสำลีเจริญวัย เทพยดาได้มาปฏิสนธิในครรภ์โดยที่นางมิได้มีสวามี ความทราบถึงท้าวทศวงศ์ จึงทรงให้โหรทำนายได้ความว่า ชะตาบ้านเมืองจะบังเกิดนักเลงชาตรี ท้าวทศวงศ์เกรงจะอับอายแก่ชาวเมือง จึงให้เอานางลอยแพไปเสีย เทพยดาบันดาลให้แพไปติดเกาะสีชังแล้วเนรมิตศาลาให้นางอยู่อาศัย เมื่อครรภ์ครบทศมาสก็ประสูติพระโอรส เพพยดานำดอกมณฑาสวรรค์มาชุบเป็นนางนมชื่อแม่ศรีมาลา แล้วชุบแม่เพียน แม่เภา เป็นพี่เลี้ยง ต่อมานางศรีมาลาและพี่เลี้ยงกุมารไปเที่ยงป่า ได้เห็นกินนรร่ายรำในสระอโนตัดนทีก็จำได้ เมื่อกุมารชันษาได้ ๙ ปี เทพยดาให้นามว่า พระเทพสิงหร แล้วเทพยดาเอาศิลามาชุบเป็นพรานบุญ พร้อมกับชุบหน้ากากพรานให้ด้วย พรานบุญเล่นรำอยู่กับพระเทพสิงหรได้ขวบปีก็ชวนกันไปเที่ยวป่า ขณะนอนหลับใต้ต้นรังในป่าเทพยดาลงมาบอกท่ารำให้ ๑๒ ท่า ทั้งเนรมิตทับให้ ๒ ใบ เนรมิตกลองให้ใบหนึ่ง แล้วชุบขุนศรัทธาขึ้นให้เป็นโนราเมื่อพระเทพสิงหลและพรานบุญตื่นขึ้นเห็นขุนศรัทธา ทับ และกลอง ก็ยินดี ชวนกันกลับศาลาที่พัก จากนั้นเทพยดาก็เนรมิตเรือให้ลำหนึ่ง บุคคลทั้งหมดจึงได้อาศัยเรือกลับอยุธยา เที่ยวเล่นรำจนลือกันทั่วว่า ชาตรีรำดีนัก ท้าวทศวงศ์จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นนางนวลสำลีก็ทรงจำได้ ตรัสถามความหนหลังแล้วโปรดปรานประทานเครื่องต้นให้พระเทพสิงหรใช้เล่นชาตรีด้วย กระแสที่ ๖ เล่าโดยนายพูน เรืองนนท์ดังปรากฎในหนังสือ "การละเล่นของไทย" ของมนตรี ตราโมทว่า "พระเทพสิงหรกับแมศรีคงคาเป็นสามีภรรยากัน เป็นผู้มีความสามรถแสดงละครชาตรีได้อย่างเลิศ แต่เป็ตคนเข็ญใจต้องเที่ยงแสดงละครเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงตัว การแสดงละครของพระเทพสิงหรกับแม่ศรีคงคามีศิลปะถึงขนาดใครๆ ก็เลื่องลือไปทั่วเมือง ตลอดจนนางฟ้าเทวดาก็พากันมาดูจนเพลิดเพลิน และลืมขึ้นไปเฝ้าพรอิศวรๆ ก็กริ้วตรัสว่า จะจัดละครโรงใหญ่ขึ้นแสดงเพื่อประขัน และจะทำลายการแสดงของพระเทพสิงหร และแม่ศรีคงคา พระวิสสุกรรมได้ทูลทัดทานอย่างไรก็ไม่ทรงเชื่อ พระวิสสุกรรมจึงบอกให้พระเทพสิงหรและแม่ศรีคงคาว่า เวลาแสดงให้ทำที่ประทับของพระองค์ไว้พระองค์จะเสด็จมาคุ้มครองไม่ให้แพ้พระอิศวร " จากตำนานนี้จึงเป็นธรรมเนียมของการเล่นโนราว่า ต้องทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้กลางโรง มิฉะนั้นต้องสมมติเสาอื่นขึ้นแทน กระแสที่ ๗ เป็นตำนานโนราที่ได้รับการถ่ายทอดไว้ในรูปของบทกลอน "กาศครู" หรือไหว้ครู มีต่างกันเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ คำกาศครู ของคณะโนราขุนอุปถัมภ์นรากร เป็นต้น บทกาศครูว่าดังนี้ ตอน ๑ |
|||
ขานเอ | ขานให้โนเนโนไน | ||
ขานมาชาต้อง | ทำนองเหมือนวัวชัก | ||
ไถเพลงครวญคิดขึ้นมา | ทรหวนในหัวใจ | ||
เพลงสำลีไม่ลืมใน | พี่ไปไม่ลืมน้องหนา | ||
ลมเอยรวยรวย | ยังหอมแต่รสแป้งทา | ||
หอมรสครูข้า | ส่งกลิ่นพ่อมาไรไร | ||
หอมมาสาแค่ | ลูกเหลียวไปแลหอมไกล | ||
หอมฟุ้งสุราลัย | ไคลเข้าในโรงน้องหนา | ||
ลมใดพัด | แล้วตั้งเมฆขึ้นมา | ||
ลมว่าวดาหรา | พัดโต้ด้วยลมหลาตัน | ||
ลูกก็ชักใบแล่น | กลางคืนมาเป็นกลางวัน | ||
ไกลหลิ่งไกลผั่ง | เอาเกาะกะชังเป็นเรือน | ||
ลูกนั่งนับปี | นางทองสำลีนับเดือน | ||
เอาเกาะชังเป็นเรือน | เป็นแทนที่นอนน้องหนา | ||
ตอนที่ ๒ | |||
ฤกษ์งามยามดี | ปานี้ชอบยามเพราะเวลา | ||
ชอบฤกษ์ร้องเชิญ | ดำเนินราชครูถ้วนหน้า | ||
ราชครูของน้อง | ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา | ||
มาอยู่เหนือเกล้าเกศา | มาอยู่เหนือเกล้าเหนือผม | ||
มาช่วยคุ้มลมกันยา | กันทั้งลูกลมพรมโหวด | ||
กันทั้งผีโภตมายา | มากันพรายแกมยา | ||
ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง | มากันให้ถ้วนให้ถี่ | ||
มากันลูกนี้ทุกทีย่าน | ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง | ||
มากันลูกนี้ทุกทีย่าน | ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง | ||
จำไว้แวะซ้ายแวะขวา | สิบสองหัวช้างสิบสองหัวเชียก | ||
จำให้พ่อร้องเรียกหา | ถ้าพ่อไม่มา | ||
ลูกยาจะได้เห็นหน้าใคร | เห็นหน้าแต่ท่านผู้อื่น | ||
ความชื่นลูกยามาแต่ไหน | ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร | ||
เหมือนไยราชครูถ้วนหน้า | ลูกไหว้ครูพักอีกทั้งครูสอน | ||
ไหว้แล้วเอื้อนกลอนต่อมา | ไหว้ครูสั่งสอนข้า | ||
พ่อมาคุ้มหน้าคุ้มหลัง | มาเถิดพ่อสายสมร | ||
มาคุ้มลูกเมื่อนอนเมื่อนั่ง | มาคุ้มข้างหน้าข้างหลัง | ||
พ่อมาวังซ้ายวังขวา | ราชครูของน้อง | ||
ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา | ราชครูของข้า | ||
ดำเหนินเชิญมาให้หมดสิ้น | ไหลแล้วให้เทกันเข้ามา | ||
ขุนโหรญาโหรขุนพรานญาพราน | โปรดปรานเหนือเกล้าเกศา | ||
ไหว้พรานเทพเดินดง | พระยาพรานคงเดินป่า | ||
พรานบุญพฤษา | เดินจำนำหน้าราชครู | ||
แม้นผิดแม้นพลาดตรงข้อไหน | ท้าวไทยเมตตาได้เห็นดู | ||
บรรดาราชครู | มาอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา | ||
ลูกจับเริ่มเดิมมา | ไหว้ขุนศรัทธาเป็นประธาน | ||
ไหว้หลวงเสนได้เป็นครูพัก | เป็นหลักนักเลงแต่โบราณ | ||
ถัดแต่นั้นทองกันดาร | ไหว้ตาหลวงเสนสองเมือง | ||
ไหว้ตาหลวงคงคอ | ผมหมอไหว้ท้าววิจิตรเรือง | ||
โปรดให้รับท้าวเข้าสู่เมือง | ลือเลื่องความรู้ได้เล่าเรียน | ||
พ่อมาสอนศิษย์ไว้ต่างตัว | พ่อไม่คิดกลัวเพราะความเพียร | ||
สิบนิ้วข้าหรือคือเทียน | เสถียรสถิตยอไหว้ไป | ||
ยอไหว้พระยาโถมน้ำ | โฉมงามพระยาลุยไฟ | ||
พระยาสายฟ้าฟาด | ลูกน้อยนั่งร้องกาศไป | ||
พระยามือเหล็กพระยามือไฟ | ไหว้ใยตาหลวงคงคอ | ||
ไหว้ลูกของพ่อที่แทนมา | ชื่อจันทร์กระยาผมหมอ | ||
ตาหลวงคงคอ | ผมหมอหลวงชมตาจิตร | ||
เมื่อยามพ่อเป็นหลวงนาย | แต่ท้าวมาไร้ความคิด | ||
หลวงชมตาจิตร | ผิดด้วยสนมกรมชาววัง | ||
รับสั่งผูกคอให้ฆ่าเสีย | พ่อไม่ทันได้สั่งลูก | ||
บุญปลูกไม่ทันได้สั่งเมีย | รับสั่งผูกคอให้ฆ่าเสีย | ||
ในฝั่งแม่น้ำย่านยาว | หากพ่อมาตายด้วยเจ็บไข้ | ||
ลูกรักจักได้ไปถามข่าว | ในฝั่งแม่น้ำย่านยาว | ||
ชีวิตพ่อม้วยมรณา | ถ้าพ่อตายข้างฝ่ายบก | ||
ให้เป็นเหยื่อนกเหยื่อกา | พ่อไปตายฝ่ายเหนือ | ||
ให้น้ำเน่าน้ำเหงื่อไหลลงมา | น้ำเน่าลายจันทร์ | ||
น้ำมันลูกลายแป้งทา | โดกแข้งโดกขา | ||
ลูกยาไว้ทำไม้กลัดผม | ดวงเนตรพ่อทองผมสอด | ||
ลูกน้อยไว้ทำไม้หลอดอม | ทำไม้กลัดผม | ||
ชมต่างพ่อร้อยชั่งแก้ว | โอ้พ่อร้อยชั่งแก้ว | ||
สองแถวพ่อร้อยชั่งอา | ร้อยชั่งรักข้า | ||
พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย | พ่ออย่าตัดลูกเหมือนตัดตาล | ||
พ่ออย่ารนรานเหมือนรานกล้วย | พ่ออย่าตัดรัดเสียให้ม้วย | ||
เห็นดูด้วยช่วยรำมโนห์รา | |||
(บทกาศครู กลุ่ม๑ นี้ยังมีอีก แต่ไม่เกี่ยวกับตำนานโนรา) กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ คำกาศครูของโนราบริเวณภาคใต้ตอนบน ในที่นี้ได้จาก นายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ตอนที่ ๑ |
|||
รื่นเอยรื่นรื่น | ข้าจะไหว้พระธรณีผึ่งแผน | ||
ลูกเอาหลังเข้ามาเป็นแท่น | รองตีนมนุษย์ทั้งหลาย | ||
ชั้นกรวดและดินดำ | ลูกจะไหว้ชั้นน้ำละอองทราย | ||
นาคเจ้าแล้วฦาสาย | ขานให้โนเนโนไน | ||
ขานมาเล่าแล้ชาต้อง | ทำนองเหมือนวัวชักไถ | ||
เพลงสำลีไม่ลืมไย | พี่ไปไม่ลืมน้องหนา | ||
ลมตั้งเมฆแล้ว | ก็พัดขึ้นมา | ||
ลมว่าวดารา | พัดโต้ด้วยลมสลาตัน | ||
แล่นเรือเถิดเหวยน้อง | กลางคืนมาเป็นกลางวัน | ||
แล่นออกลึกไม่เห็นฝั่ง | เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน | ||
เป็นแท่นที่นอนน้องหนา | |||
ตอนที่ ๒ | |||
ค่ำแล้วแก้วพี่ | ปานี้ชอบยามพระเวลา | ||
ค่ำแล้วแก้วพี่อา | ค่ำเอยลงมาไรไร | ||
มาเราค่อยจดค่อยจ้อง | มาเราค่อยร้องค่อยไป | ||
รักเจ้านวลสลิ้ม | คือดังพิมพ์ทองหล่อใหม่ | ||
เจ้านวลทั้งก้าน | สะคราญเจ้านวลทั้งใบ | ||
เจ้านวลจริงจริงไม่มีใย | ขัดใจไปแล้วน้องหนา | ||
ครั้นถึงลงโรงลูกยอไหว้คุณ | หารือพ่อขุนศรัทธา | ||
ศรัทธาแย้มศรัทธาราม | โฉมงามเบิกหน้าบายตา | ||
ศรัทธาแย้มศรัทธาขุ้ย | เอ็นดูลูกนุ้ยทูลหัวอา | ||
จำเดิมเริ่มมา | แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น | ||
ลูกข้ามไม่รอด | ลูกจะก้มรอดก็ไม่พ้น | ||
แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น | มารดาศรัทธาท่าแค | ||
น้องแต่พ่อเทพสิงหร | ถ้าพ่อสมัครรักลูกจริง | ||
วันนี้อวยสิงอวยพร | น้องแต่พ่อเทพสิงหร | ||
ได้สอนสืบสืบกันมา | มาสิ่งมาสู่ | ||
มาอยู่เหนือเกล้าเกศา | ราชครูของน้อง | ||
ลอยแล้วให้ล่องกันเข้ามา | มาพร้อมเสร็จสรรพ | ||
คำนับไหว้คัลวันทนา | |||
ตอนที่ ๓ | |||
แล่นเรือเถิดเหวยน้อง | กลางคืนมาเป็นกลางวัน | ||
แล่นออกลึกไม่เห็นฝั่ง | เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน | ||
เพื่อนบ้านเขานับปี | นวลทองสำลีเขานับเดือน | ||
เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน | เป็นแท่นที่เรือนน้องหนา | ||
ครั้นลงถึงโรงลูกจะตั้งนะโม | อิติปิโสภควา | ||
ตั้งเยเกจิ | อกุศลาธรรมา | ||
พระเจ้าทั้งห้า | พระธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ | ||
อย่าให้ศัตรูมาเบียนลูก | ไหว้คุณธาตุทั้งสี่ | ||
พระธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ | มารักษาร่างกายา | ||
พระวิภังค์แต่งหู | พระสังคณีแต่งตา | ||
พระธาตุกัตถา | แต่งจมูกลูกหายใจ | ||
แต่งจบครบสิ้น | แต่งดินแต่งน้ำลมไฟ | ||
แต่งจมูกลูกจาให้หายใจ | ครบไปในร่างกายา | ||
เมื่อแรกเริ่มเดิมมา | แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น | ||
น้องแต่พ่อเทพสิงหร | ถ้าแม่สมัครรักลูกจริง | ||
วันนี้อวยสิงอวยพร | น้องแต่พ่อเทพสิงหร | ||
มานอนสอนลูกอยู่พำพำ | หลับเสียลูกลืมถ้อย | ||
ตื่นขึ้นลูกน้อยลืมจำ | ลืมถ้อยลืมคำ | ||
ลืมจำราชครูถ้วนหน้า | พ่อตายข้างฝ่ายเหนือ | ||
น้ำเน่าน้ำเหงื่อไหลมา | น้ำเน่าลูกลายจันทน์ | ||
น้ำมันลูกลายแป้งทา | กระดูกแข้งกระดูกขา | ||
ลูกยาจะทำไม้กลัดผม | ดวงเนตรพ่อทองผมสอด | ||
ลูกจะคลายออกชม | ทำไม้กลัดผม | ||
ชมต่างพ่อร้อยชั่งเหอ | พ่อร้อยชั่งเหอ | ||
สองแก้วพ่อร้อยชั่งอา | พ่อร้อยชั่งขา | ||
พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย | พ่ออย่าตัดลูกเหมือนตัดตาล | ||
พ่ออย่าตัดหลานเหมือนรานกล้วย | พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย | ||
มาด้วยช่วยรำมโนห์รา | ราชครูของข้า | ||
ใครเรียกใครหาพ่ออย่าไป | เข้ามาเถิดเหวยยอด | ||
เชิญทอดเข้ามาเถิดเหวยใย | เชิญพ่อมานั่งตรงนี้ | ||
ลูกชายขยายที่ให้นั่งใน | ใครเรียกใครพาพ่ออย่าไป | ||
แวะเล่นด้วยใยน้องหนา | ราชครูของน้อง | ||
ลอยแล้วให้ล่องกันเข้ามา | มาแล้วเสร็จสรรพ | ||
คำนับไหว้คัลวันทนา | โอมพร้อมมหาพร้อม | ||
มานั่งห้อมล้อมทั้งซ้ายขวา | มาแล้วพรูพรั่ง | ||
มานั่งแห่หลังแห่หน้า | ประกาศครูเท่านั้นแล้ว | ||
ขอแผ้วเป็นเพลงพระคาถา | ไหว้นวลนางหงส์กรุงพาลี | ||
ไหว้นางธรณีแม่ได้เป็นใหญ่ | ลูกเล่นเต้นรำบนหัวแม่ | ||
วันนี้แล้ขอคำความอำภัย | หลีกเกล้าเกศาเสียให้ไกล | ||
ในวันนี้เล่าเจ้าแม่หนา | นางธรณีแมม่ทองตาต่ำ | ||
ลูกขอที่รำมโนห์รา | ขอที่ตั้งเชี่ยนตั้งฉัตร | ||
ตั้งโรงมนัสเบญจา | ขอที่ตั้งฉัตรขอที่ตั้งโถง | ||
ขอที่ตั้งโรงมโนห์รา | ไหว้พี่พิณพี่พัด | ||
พี่ศรีจุรัสพัชดา | ทูลหัวตัวพี่ชื่อจันจุรีศรีจุหลา | ||
เจ็ดนางชาวฟ้า | ลูกสาวของท้าวทุมพร | ||
สอดปีกสอดหาง | งามเหมือนอย่างนางขี้หนอน | ||
เจ้าไปสรงน้ำที่ในดงดอน | ไปได้นายพรานพฤกษา | ||
คนสุดท้องเพื่อน | แก้มเกลื้อนชื่อนางมโนห์รา | ||
ไหว้พรานเทพเดินดง | ไหว้พรานคงเดินป่าจับ | ||
ได้นางแล้วพานางมา | พาบุกเข้าป่าไม้รังเรียง | ||
น่าสงสารนวลน้อง | นางเหอเจ้าร้องส่งเสียง | ||
พาบุกเข้าป่าไม้รังเรียง | พาเหวี่ยงซ่อนไว้ใต้กาหลง | ||
กาโมห์กาใบ้ | คนเดินเข้าใกล้ให้งวยงง | ||
พาเหวี่ยงซ่อนไว้ใต้กาหลง | ไปถวายพระสุธนราชา | ||
ข้อวินิจฉัยตำนานโนรา จากตำนานต่างๆ ได้มีผู้พยายามวินิจฉัยหาความจริงว่าเรื่องราวที่แท้ของโนราเป็นอย่างไร ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ ข้อวินิจฉัยของเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร และภิญโญ จิตร์ธรรม ท่านทั้งสองได้นำเอาตำนานบางส่วนที่กล่าวมาตอนต้นมาพิจารณาแล้วสรุปว่า โนราเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๘๕๘-๒๐๕๑ ที่เมืองพัทลุงเก่า คือบางแก้วในปัจจุบันเจ้าเมืองพัทลุงครั้งนั้นคือ พระยาสายฟ้าฟาด หรือท้าวโกสินทร์ มเหสีชื่อศรีมาลาหรืออินทรกรณีย์ ทั้งสองมีโอรสชื่อเทพสิงหร และธิดาชื่อนวลทองสำลีหรือศรีคงคา พระยาสายฟ้าฟาดได้หาราชครูให้สอนวิขาการร่ายรำให้แก่โอรสธิดา ผลปรากฎว่านางนวลทองสำลีรำได้ ๑๒ ท่าอย่างคล่องแคล่ว แต่ก็มีเรื่องน่าละอายเกิดขึ้น คือนางเกิดตั้งครรภ์โดยได้เสียกับพระเทพสิงหรผู้เป็นพี่ ส่วนราชครู ๔ คน มีนายคงผมหมอ นายชม นายจิตร และนายทองกันดาร ผูกคอถ่วงน้ำในย่ายทะเลสาบสงขลา ส่วนโอรสธิดา และสนมกำนัลถูกลอยแพ แต่โชคดีแพไปติดที่บ้านกะชังบนเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลาปัจจุบันจึงรอดชีวิต แล้วนางนวลทองสำลีก็คลอดบุตรชื่อทองอู่ สนมที่ได้เสียกับนายคงผมหมอก็คลอดบุตรชื่อจันทร์กระยาผมหมอเมื่อบุตรนางนวลทองสำลีโตขึ้นได้ฝึกร่ายรำจนมีโอกาสได้ไปเมืองพัทลุง ได้พบกับพระยาสายฟ้าฟาดๆ ก็ยกโทษให้โอรสธิดาและได้กลับเมือง และสนับสนุนให้เล่นโนราต่อไป ทั้งแต่งตั้งทองอู่หลานชายให้เป็นขุนศรัทธา ในการวินิจฉัยเรื่องนี้ เยี่ยมยงได้แย้งหลักฐานที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึงตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราชที่ว่าขุนศรัทธาถูกลอยแพไปติดเกาะกะชัง ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดจริงๆ แล้วเกาะที่อ้างถึงคือ เกาะกะชัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา อนึ่ง เรื่องนี้ก็กล่าวไว้ชัดว่าเกิดขึ้นทางเมืองพัทลุงและโนราก็นิยมกันมากทั้งในดินแดนฝั่งทะเลสาบสงขลาด้านตะวันตก (คือพัทลุงปัจจุบัน) และฝั่งทะเลสาบด้านตะวันออก (คืออำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาปัจจุบัน) ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลที่จะยกไปให้เป็นเรื่องของอยุธยา ข้อวินิจฉัยของเทวสาโร ปรากฏในหนังสือเทพสารบรรพ ๒ พิมพ์ที่โรงพิมพ์สกุลไทย อำเภอเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๕๐๘ สรุปความว่า "โนราเป็นการร่ายรำสำหรับบูชาเทพเจ้า พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ในศาสนาพราหมณ์" เมื่อพราหมณ์เข้าสู่ปักษ์ใต้ จึงนำการละเล่นชนิดนี้เข้ามาด้วย เรื่องราวตามตำนานนั้นคงจะเกิดขึ้นราวสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ เป็นช่วงที่มีการสถาปนาเมืองพัทลุงขึ้นที่บางแก้ว นามท้าวโกสินทร์ก็คือพระเจ้าจันทรภาณุนั่นเอง ที่ได้พระนามนี้ก็เพราะทรงสร้างพระแก้วมรกต อันถือเป็นสมบัติอันยิ่งใหญ่ ส่วนนางิอนทรกรณีย์ผู้เป็นขายาก็คือนางอินทิราณี นางพระยาเมืองสิงหลซึ่งพระเจ้าจันทรภาณุได้มาเมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองสิงหล กษัตริย์ทั้งสองมีโอรสชื่อเทพสิงหรหรือศรีสิงหร มีธิดาชื่อศรีคงคา (คือนวลสำลี ผู้เขียน)ที่ได้ชื่อนี้สัณนิษฐานว่าเธอคงจะประสูติกลางทะเลตอนเสด็จกลับจากสิงหล นางศรีคงคาผู้นี้ ตามประวัติว่าได้เสียสมรสกันเองกับบุตรเจ้านครชั้นผู้น้อย ทำให้ท้าวโกสินทร์กริ้วมาก ประกอบกับพระเทพสิงหรก็มิได้ทรงใฝ่พระทัยในการปกครองมัวหลงแต่ศิลปะการฟ้อนรำพระองค์จึงสั่งเนรเทศลอยแพโอรสธิดาไปพร้อมกัน แพไปติดที่เกาะสีสังข์ในทะเลสาบสงขลา ณ ที่นั้น นางศรีคงคาได้ประสูติบุตรชื่อ "ราม" และได้ฝึกให้บุตรได้หัดรำโนรา ต่อมาพระเจ้าจันทรภาณุทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองขนานใหญ่ทรงนิรโทษกรรมแก่โอรสธิดา พระเทพสิงหรจึงได้ครองเมืองที่เขานิพัทธสิงห์ ทรงเป็นแม่กองจัดสร้าง "พระธาตุสัทธังพระ" (พระธาตุสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) เป็นการสนองพระคุณพระบิดา และล้างมลทินที่กระทำมาก่อน ฝ่ายเจ้าชายรามพระเจ้าหลานเธอได้สร้างพระธาตุสัทธังพระ (วัดสทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง) โดยมีเจ้าอู่ทองและนางศรีคงคาเป็นผู้สนับสนุน จากนั้นพระเจ้าจันทรภาณุโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองพระนครและพระธาตุบางแก้วซึ่งเป็นศูนย์รวมของราชธานีใหม่ ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโนราด้วย และได้ประทานบรรดาศักดิ์แก่พระเจ้าหลานเธอเป็น "ขุนศรีศรัทธา" ทั้งทรงอนุญาตให้ใช้เครื่องทรงสำหรับกษัตริย์แต่งตัวโนราได้ โนราก็ได้สืบเชื้อสายกันตั้งแต่นั้นมา บทสรุป จากตำนานและข้อวินิจฉัยข้างต้นจะเห็นได้ว่าโนราเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณกำเนิดของการละเล่นประเภทนี้ ส่วนหนึ่งยกให้เป็นความริเริ่มของเทวดา โดยดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว แล้วให้เทพบุตรมาจุติเพื่อคิดการละเล่นชนิดนี้ขึ้น ซึ่งฟังดูแล้วเป็นเรื่องไร้เหตุผล แต่หากมองอย่างลึกซึ้งแล้ว การกล่าวเช่นนั้นก็เพื่อแสดงคุณวิเศษของโนราอย่างหนึ่ง และปกปิดความชั่วของบรรพบุรุษโนราอีกอย่างหนึ่ง แต่โนราอีกส่วนหนึ่งไม่อำพรางความผิดทางศีลธรรมของบรรพบุรุษโนรากลุ่มนี้ จึงเล่าตำนานที่บ่งว่า นางนวลสำลีผิดประเวณี แต่เล่าต่างกันเป็น ๒ กลุ่มย่อย ได้แก่ ตำนานที่เป็นคำกลอนของนายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ว่าได้เสียกับผู้ที่ชื่ออู่ทอง กลุ่มหนึ่งและตำนานที่เล่าโดยนายพูน เรืองนนท์ รวมทั้งความเห็นของเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ว่านางนวลสำลีได้เสียกับพระเทพสิงหรซึ่งเป็นพี่น้องร่วมท้องกันมาอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ตำนานจะผิดเพี้ยนกันก็เป็นเพียงประเด็นเล็กน้อย สาระสำคัญของความผิดของนางนวลสำลี คือผิดดประเวณีจนพระบิดากริ้วและสั่งลอยแพดังปรากฎในตำนานตรงกันทุกกระแส ส่วนสถานที่ที่แพลอยไปติดนั้นว่าเป็นเกาะสีชังบ้าง เกาะกะชังบ้าง ข้อนี้เห็นจะยุติได้ว่าเป็นเกาะกะชังในทะเลสาบสงขลาแน่นอน เพราะเกาะนี้อยู่ติดเกาะใหญ่ดังตำนาน กระแสที่ ๓ กล่าวว่า |
|||
คลื่นซัดมิ่งมิตร |
ไปติดเกาะสีชัง |
||
คลื่นซัดมิ่งมิตร | ไปติดเกาะสีชัง | ||
สาวน้อยร้อยชั่ง | เคืองคั่งบิดร | ||
จับระบำรำร่อน | อยู่ที่ดอนเกาะใหญ่ | ||
ในตอนปลายของตำนานก็กล่าวไว้ตรงกันว่า พระบิดาของนางนวลสำลีไห้อภัยโทษและให้บรรดาศักดิ์แก่หลานเป็นขุนศรีศรัทธา จากตำนานทั้งหมด ตำนานที่เล่าโดยโนราวัด จันทร์เรืองมีพิสดารออกไปในตอนปลาย คือนำชาดกเรื่องสุธนชาดก หรือพระสุธน-นางมโนห์ราเข้ามาผนวก ที่เป็นดังนี้เข้าใจว่า มิใช่ตำนานโนราที่มีมาแต่ดั้งเดิม คงจะเสริมเข้าทีหลังเมื่อโนรานำเอาเรื่องพระสุธนมโนห์รามาเล่น แต่เมื่อผนวกเข้าแล้ว โนราก็เชื่อว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ดังที่ได้ให้พรานบุญเอาเรื่องที่ตนได้จับนางมโนห์รามาเล่นเป็นบทคล้องหงส์ และเมื่อโนรากาศครูก็ออกชื่อตัวละครต่างๆ ในเรื่องพระสุธนมโนห์ราเป็นครูโนราด้วย ได้แก่ พรานบุญ ธิดาทั้ง ๗ ของท้าวทุมพร มีพิณ พัด ศรีจุรัส พัชดา จันจุรี ศรีจุหลา และมโนห์รา จากตำนานแต่ละกระแสที่กล่าวมา โนราคณะไหนเชื่ออย่างไรก็นับถือครูโนราอย่างนั้น เวลาเข้าพิธีโรงครูโนราก็จะเชิญวิญญาณครูต่างๆ ที่เอ่ยถึงในตำนานมารับเครื่องสังเวยโดยเฉพาะครูที่สำคัญๆ เช่น แม่ศรีมาลา นางนวลสำลี พระเทพสิงหร พระยาสายฟ้าฟาด ขุนศรัทธา และพรานบุญเป็นต้น นอกจากนี้ตำราโนรายังอธิบายขนบนิยมและพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับโนราได้อีกทางหนึ่ง เช่น อธิบายที่มาของรำคล้องหงส์ รำแทงเข้ การเข้าโรงครูในวันพุธและส่งครูในวันศุกร์ การผูกเสาโรงโนราหนึ่งด้วยผ้าแดง เป็นต้น ซึ่งตำนานเหล่านี้บางส่วนจะเป็นความจริงที่เล่าสืบมาหรือแต่งขึ้นให้สอดคล้องกับขนบนิยมในการเล่นโนรา ก็ยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ โนรามีขึ้นในภาคใต้เมื่อไร ได้มีผู้วินิจฉัยไว้แล้วตอนต้น ๒ ท่าน คือ เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ว่าคงระหว่าง พ.ศ.๑๘๕๘-๒๐๕๑ และเทวสาโร ว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าจันทรภาณุ คือประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพราะตามหลักฐานระบุว่ากษัตริย์พระองค์นี้ได้ยกทัพไปตีลังกาเมื่อ พ.ศ.๑๗๗๓ ในที่นี้จะยึดเอาความในตำนานโนราตอนหนึ่งเป็นหลักการวินิจฉัยข้อความดังกล่าวมีว่า |
|||
ก่อเกื้อกำเนิด |
คราเกิดชาตรี |
||
ปางหลังยังมี | เมื่อครั้งตั้งดิน | ||
บิดาของเจ้า | ชื่อท้าวโกสินทร์ | ||
มารดายุพิน | ชื่อนางอิทรกรณีย์ | ||
ครองเมืองพัทลุง | เป็นกรุงธานี | ||
บุตรชายท่านมี | ชื่อศรีสิงหร | ||
ข้อความนี้ กล่าวว่า "ชาตรี" หรือโนรา มีตั้งแต่เริ่มตั้งเมืองพัทลุงว่าตามนัยนี้ พัทลุงตั้งขึ้นครั้งแรกที่บางแก้ว (อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ปัจจุบัน) แต่เวลายังคลาดเคลื่อนกันอยู่ เช่น ตำนานท้องถิ่นว่าเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวสร้างวัดเขียนบางแก้ว (รวมถึงบางแก้วด้วย) เมื่อ พ.ศ.๑๔๙๒ พระครูสัฆรักษ์ (เพิ่ม)ว่าพระยากรุงทองเจ้าเมืองพัทลุงสร้างวัดเขียน เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ จ.ศ.๓๐๑ ตรงกับพ.ศ.๑๙๘๒ เป็นต้น และตำนานโนราเกี่ยวกับตำนานเรื่องนางเลือดขาว พระยากรุงทองก็ดูจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ฉะนั้นกำเนิดโนราจะกำหนดเวลาให้แน่นอนลงไปได้ยาก แต่คงอย่างช้าก็ช่วงปลายศรีวิชัย ดังกล่าวแล้ว |
![]() หน้าแรก |
หน้าแรก |
![]() องค์ประกอบหลักในการแสดง |