![]() |
![]() |
![]() |
ประทุม โสมจันทร์ หรือ "หนังประทุม เสียงชาย" เป็นหนังตะลุงสตรีที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่ง มีความใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาการเล่นหนังแบบดั้งเดิม จนได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนวิชาหนังตะลุงให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช ประทุม เป็นบุตรนายเลื่อน นางเคล้า ขาวเรือง เกิดที่บ้านโคกทอง หมู่ที่ 7 ตำบลทรายขาว อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2491 เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน วันที่ประทุมถือกำเนิดนั้นมีหนังแข่งที่โรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น คือ หนังจันทร์แก้วราชครู หนังโบราณ กับหนังเอี่ยม เสื้อเมือง |
คืนวันนั้นคุณแม่เคล้าเจ็บท้องถึงกำหนดคลอดอยู่ที่บ้านใกล้กับโรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น คุณลุงตั้งพี่ชายของคุณพ่อเลื่อนได้เอาแผงหนังตะลุงของครูหนังจันทร์แก้วไปไว้ที่บ้าน เหมือนมีอาถรรพ์บางอย่าง คุณแม่เคล้าเจ็บท้องเท่าใดก็คลอดไม่ได้ หมอตำแยพากันหมดหนทางก็บังเอิญได้ยินเสียงลุงเมือง รูปหนังตะลุงในแผงดังขลุกขลักขลึงขลัง เหมือนมีใครเอามาเชิดอยู่นอกจอ ทำให้คิดขึ้นว่าต้องไปหานายหนังเจ้าของรูปลุงเมืองมาแก้ไข ครั้นหนังจันทร์แก้วมาเสกน้ำมนต์และต้มยามีดอกบัวหลวงบาน 3 ดอก ให้คุณแม่เคล้ากินก็คลอดทันทีเป็นหญิง ครูหนังจันทร์บอกว่า "เออ คลอดแล้ว ขอตั้งชื่อนะ ให้ชื่อ ประทุมรัตน์" คือประทุม เสียงชาย |
เมื่อประทุมอายุได้ 7 ปี บิดาได้ย้ายครอบครัวไปอยู่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเขาน้อย อำเภอดังกล่าวจบประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดเขาน้อยเมื่ออายุ 11 ปี ในปี พ.ศ.2502 ขณะทีประทุมยังเป็นนักเรียน เธอรู้สึกชอบหนังตะลุงอย่างจับใจ มีเวลาว่างก็เอาใบไม้มาสมมติเป็นรูปหนังแล้วเชิดเล่นหรือไม่ก็วาดรูปต่างๆ ลงบนพื้นดิน แล้วขับร้องกลอนเจรจาและตลกไปประสาเด็ก จบตอนหนึ่งก็ลบ วาดรูปและเล่นตอนใหม่ เมื่อออกจากโรงเรียนเธอก็ยุให้บุญฤทธิ์ซึ่งเป็นน้องชายปลูกโรงเล็กๆ เล่นหนัง เพื่อเธอจะได้มีโอกาสเล่นด้วยที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะถ้าเธอลงมือทำเองจะถูกพี่ชายเฆี่ยนด้วยเห็นว่าเป็นการละเล่นที่ไม่เหมาะกับลูกผู้หญิง แม้ประทุมจะหาทางออกเช่นนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่วายถูกลงโทษอยู่เรื่อย ในที่สุดเธอก็ยืนกรานว่าถึงจะถูกลงโทษอย่างไรก็จะเป็นหนังตะลุงให้ได้ และให้สัญญากับพี่ชายว่าถ้าเป็นหนังแล้วประพฤติเสื่อมเสียขอให้ลงโทษอย่างไรก็ได้ตามชอบใจจนอายุได้ 13 ปี พี่ชายเห็นว่าทัดทานไว้ไม่สำเร็จ |
จึงหันมาสนับสนุนโดยปลูกโรงและเป็นลูกคู่ให้ด้วย การหัดหนังครั้งนั้นประทุมได้ นายฤกษ์ หนูทอง เพื่อนบ้านซึ่งเป็นพ่อยก (เทียบได้กับแม่ยก)ช่วยสอนและแต่งเรื่องให้ เธอหัดอยู่ราว 6 เดือน ก็ออกเล่น 3 วัด 3 บ้าน ต่อมาบิดานำไปฝากให้เป็นศิษย์หนังประวิง หนูเกื้อ (ชีช้าง) แห่งอำเภอหัวไทร ซึ่งเป็นหนังมีชื่อเสียงามากคณะหนึ่งในสมัยนั้น หนังประวิงได้สอนให้ว่ากลอน หัดเดินทำนองและเรียนเรื่องใหม่ๆ อยู่กับหนังประวิงได้ไม่นาน ที่บ้านหัวถนนการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีหนังแก้ว บรมครูหนังตะลุงเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ประกอบพิธี ครั้นนั้นมีหนังเข้าพิธีครอบมือหลายคณะ ประทุมไปในงานดังกล่าวด้วยปรารถนาจะได้ไหว้ขอพรจากบรมครูหนังจันทร์แก้วจึงคลานเข้าไปหาหนังจันทร์แก้วครอบมือให้โดยเธอมิได้คาดคิดไว้ก่อนในพิธีครอบมือประทุมจับรูปเสี่ยงทายได้รูป "ยอดทอง" ทันทีที่เธอจับได้รูปดังกล่าว หนังจันทร์แก้วกล่าวว่า "ได้กูคนหนึ่งแล้ว" เป็นอันว่าเธอได้เป็นหนังโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันนั้น ซึ่งมีอายุได้ 11 ปีเต็ม |
หลังจากครอบมือแล้ว ประทุมได้อยู่ใกล้ชิดหนังจันทร์แก้วระยะหนึ่ง ได้เรียนวิชาไสยศาสตร์เยี่ยงหนังตะลุงแต่โบราณกาลเชื่อถือกันมา เช่น วิชาฝ่ายเมตตามหานิยม การผูกใจคน การกันร่าง และการแก้คุณไสยต่างๆ จากนั้นประทุมได้เดินโรงเที่ยวแสดงหนังไปเกือบทั่วภาคใต้ จนอายุได้ 18 ปี บิดาได้ย้ายครอบครัวกลับมาอยู่หัวไทรอีก และที่นี่ในปีถัดมาเธอได้แต่งงานกับนายจำเริญ โสมจันทร์ ครูโรงเรียนหัวไทรประถมศึกษาตอนปลาย และมีบุตรด้วยกัน 3 คน |
ประทุมใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้ เธอเห็นว่าหนังตะลุงต้องพัฒนาตนเองให้ทันกาลสมัย ด้วยเหตุนี้เมื่อโรงเรียนหัวไทรประถมศึกษาตอนปลายเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น เธอจึงได้สมัครเข้าเรียนโดยเข้าเรียนหลักสูตรระดับ 3 (เทียบประถมศึกษาปีที่ 7) เมื่ออายุ 24 ปี สอบเทียบประถมศึกษาปีที่ 7 ได้ในปี พ.ศ. 2515 ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๗ เรียนจบการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4 (เทียบมัธยมศึกษาปีที่ 3) จบแล้วญาติฝากชื่อให้เป็นครูโรงเรียนไตรภูมิ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อให้มีสิทธิสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ประทุมสอบได้ประกาศนียบัตรครู พ.กศ. ในปี พ.ศ.2519 ได้ประกาศนีบัตรครู พ.ม. ปี พ.ศ.2521 ปี พ.ศ.2523 วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชได้เชิญเป็นลูกจ้างชั่วคราวสอนวิชาหนังตะลุงและวิชาภาษาไทยให้แก่นักศึกษา หลังจากเข้าเป็นลูกจ้างได้ไม่นาน ก็ได้คัดเลือกให้ศึกษาต่อครุศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทนาฏศิลป์ ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช และจบการศึกษาได้ปริญญาจากสถาบันดังกล่าวในปี พ.ศ.2527 |
เรื่องหรือนิยายที่ประทุมใช้แสดงเป็นประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งสิ้น สมัยแรกๆ ทีหัดหนัง นายฤกษ์เป็นผู้แต่งเรื่องให้ ต่อมาเมื่อเธอไปดูหนังก็จะชวนพี่สาวที่ชื่อแนวไปด้วย ครั้นกลับมาก็ช่วยกันปับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องขึ้นใหม่ บางเรื่องก็ได้นำสมุดบันทึกเรื่องและกาพย์กลอนของหนังตะลุงอื่นมาดัดแปลง ได้แก่ ของหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ จังหวัดสงขลา และของหนังพร้อมน้อย จังหวัดพัทลุง แนวเรื่องที่ถนัดจะเป็นนิยายชีวิตที่แฝงคติสอนไว้ นิยายที่ทำเงินและใช้แสดงแล้วชนะ ในการประชันมากที่สุดคือ เรื่อง "ยาจกแย่งบัลลังก์" นอกจากนี้เรื่องที่จัดว่าได้รับความสำเร็จค่อนข้างมากก็คือเรื่อง "ทาสรัก" และ "นางทาส"ประทุมแสดงหนังโดยยึดแนวดั้งเดิม ดนตรีใช้โหม่ง ทับ และปี่เป็นหลัก การแสดงพยายามใช้กลอนทุกรูปแบบที่หนังสมัยก่อนใช้เช่น กลอนสี่ กลอนสามห้า กลอนลอดโหม่ง และกลบทต่างๆ การเชิดรูปก็พยายามทำอย่างสุดฝีมือ รายละเอียดของเรื่องได้สอดแทรกชีวิตพื้นบ้านลงไว้เกือบทั้งหมด โดยชี้ให้เห็นคุณค่าและโน้มน้าวใจผู้ชมให้ตระหนักค่าในความเป็นพื้นบ้านเหล่านั้น เช่น บทเกี้ยว เธอก็ใช้โวหารอย่างชาวบ้านเช่นตอนหนึ่งว่า |
"เรไรชั่งตั้งหม้อหุงข้าว |
ถามสาวทำคอแคงถามว่าน้องแกงไหร |
||
อ้ายนุ้ยทั้งสองไม่ต้องคล้องคอไก่ | แกงไหรก็ได้ที่มันไม่บาปกรรม | ||
น้ำชุบซุบปลาร้าปลาจี่ | ถ้ากินที่นี่แล้วพี่อิ่มหนำ | ||
ส่งครกมานี่ต้าพี่ช่วยตำ | พี่ไม่ต้องทำมันบาปกรรมเปล่าเปล่า" |
การสอนวิชาหนังตะลุงให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช เธอพยายามเน้น คุณค่าดังกล่าวมานี้เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามและมีคุณค่าทางศิลปะกว่าการแสดงหนังตลุงแบบใหม่มาก นอกจากสอนนักศึกษาแล้ว ประทุมยังมีศิลปินที่เป็นลูกศิษย์อีกหลายคน ที่พอมีชื่อเสียง ได้แก่ หนังหญิงจำเริญ บ้านห้วยน้ำเย็น อำเภอหัวไทร และหนังหญิงบุญรวย อำเภอห้วยยอด ส่วนบุตรของเธอๆ เพียงแต่สอนให้เข้าถึงคุณค่าของศิลปะประเภทนี้ แต่ไม่หวังจะให้สืบทอดเพราะชีวิตของเธอลำบากกับการเร่ร่อนเที่ยงแสดงหนังมามากแล้ว |
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2535 ขณะที่หนังประทุมกำลังแสดงอยู่ที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ชมเมาสุราก่อกวนอยู่บริเวณหน้าโรงหนัง หนังประทุมจึงได้สอดแทรกคำสอนเข้าไปในบทแสดง เป็นเหตุให้ผู้นั้นไม่พอใจและเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้นคือ บุคคลนั้นได้ยิงปืนขึ้นไปบนโรงหนัง จนเป็นเหตุให้หนังประทุมเสียชีวิตทันที นายสงวน กลิ่นหอม ครูโรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย ได้ประพันธ์บทกลอนเป็นที่ระลึกแก่หนังประทุม เสียงชายไว้เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2535 ดังนี้ |
ได้ยินข่าวเศร้าต่อไปนี้ |
|
จะไม่มี โหม่ง ฉิ่ง ทับ เสียงขับขาน | |
ศิลปินต้องมาตายกับอันธพาล | |
ในสันดานมืดมิดหนอจิตคน | |
เกิดเป็นหนังตะลุงมุ่งสร้างสรรค์ | |
บนเส้นทางความสุขทุกแห่งหนนิยายหนังสอดแทรกแจกมวลชน | |
บำเพ็ญตนศิลปินถิ่นเมืองคอน | |
เป็นผู้หญิงแต่ใจใฝ่ต่อสู้ | |
ออกจากครูเล่นหนังดังกระฉ่อน | |
แต่ด้วยมือคนใจสัตว์มาตัดทอน | |
ดับเสียก่อนแม้วัยไม่สมควร | |
ฤทธิ์สุราพาไปไม่ตระหนัก | |
นิสัยกักขฬ์ลืมผิดชอบการสอบสวน | |
หนังแสดงดื่มสุรามาก่อกวน | |
เป็นชนวนเข่นฆ่าปัญญาชน | |
แสนเสียดายมันสมองของนักศิลป์ | |
มาสูญสิ้นอย่างไร้ค่าอนุสนธิ์ | |
หนังผู้หญิง เมืองพระ ครามืดมน | |
กว่าจะมีอีกสักคนก็คงนาน | |
ขอเอาอักษราเป็นอนุสรณ์ | |
ร้อยบทกลอนตั้งจิตอธิษฐาน | |
แสดงความสูญสิ้นร่างวิญญาณ | |
และเป็นการคารวะด้วยอาลัย | |
ร่างของหนังประทุมจอคลุมร่าง | |
ตายอยู่กลางเวทีที่ยิ่งใหญ่ | |
ศิลปินเมืองใต้ได้เตือนใจ | |
ราชการไทยตายเพื่อชาติร่างพาดธง |
![]() ประทิ่น บัวทอง |
![]() |
![]() ประวิง หนูเกื้อ |