การจำแนกหนังออกเป็นหนังโบราณและหนังสมัยค่อนข้างจะทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะเนื้อเรื่องที่นายหนังแสดง แม้จะมีภูมิหลังเป็นประวัติศาสตร์และสังคมร่วมสมัย ต่างเป็นสาระที่หยิบยืมหรือดัดแปลงจากชีวิตของผู้คนและสำนวนภาษาสมัยใหม่ สถานการณ์ร่วมสมัย นิทานพื้นบ้านรวมไปถึงประวัติการณ์ และขนบธรรมเนียมท้องถิ่นตัวละครและสถานที่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างถูกใช้และพาดพิงถึง ดังนั้น โลกของวรรณกรรมหนังตะลุงจึงเป็นได้ทั้งโลกของการเปรียบเปรยวิพากย์วิจารณ์ (allegory) หรือการวิพากย์วิจารณ์สังคมสมัยใหม่โดยตรง หรือโลกนิยายประโลมโลก หรือโลกที่มีการผสมผสานสิ่งต่างๆ ข้างต้นสถาบันการศึกษาบางแห่งได้พยายามสร้างเกณฑ์

         มาตรฐานให้กับการแสดงหนังตะลุงแต่การกระทำดังกล่าวไม่ค่อยบรรลุผล เพราะไม่สอดรับกับรสนิยมของผู้ชมที่เปลี่ยนไป และตัวนายหนังเองก็ปรารถนาที่จะให้หนังของตนได้รับความนิยมจากผู้ชมมากกว่าเป็นรูปหนังที่พึงประสงค์ของสถาบันการศึกษา นอกจากความหลากหลายของเนื้อเรื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อสังคมภาคใต้ปัจจุบันแล้ว การแสดงหนังตะลุงยังได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีด้านสื่อและความบันเทิงสมัยใหม่อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่มุ่งหวังที่จะวิเคราะห์คำหมายของภาษาหนังตะลุงโดยละเอียด แต่จะพยายามอธิบายความเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มของหนังสมัยใหม่

    
         จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า การแสดงหนังตะลุงในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา เป็นการแสดงที่อาศัยภาษาร้อยกรองเป็นส่วนใหญ่ จากการที่ผู้เขียนฟังเทปบันทึกเสียงการแสดงหนังตะลุงนับตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๖๐ เป็นต้นมา พบว่าลักษณะเด่นของการแสดงหนังในอดีตคือ การขับบทกลอน ผสมผสานกับการสนทนาของตัวตลก การสื่อสารระหว่างตัวละครส่วนใหญ่สื่อด้วยภาษาร้อยกรอง และน้อยนักที่จะพบการสนทนาด้วยภาษาพูด แล้ถ้ามีก็อาจจะเพียง ๒-๓ นาที แทรกอยู่ระหว่างการขับบท การขับบทอาศัยจังหวะที่เรียบง่ายของโหม่งและฉิ่งนายหนังร่วมสมัย ที่จำแนกโดยผู้ชมในท้องถิ่นว่าเป็น " นายหนังโบราณ " เช่น หนังฉิ้น ธรรมโฆษ จังหวัดสงขลา จะกำหนดสัดส่วนค่อนข้างแน่นอนระหว่างการขับบทกับการสนทนา

         ฉากที่แสดงอาจจะเริ่มต้นด้วยการขับบทของตัวเอกราว 2 - 3 นาที ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้า และการกระทำของตัวละครปัจจุบัน จากนั้นนายหนังก็ออกตัวละครอื่นและเริ่มสนทนา การสนทนาอาจจะกินเวลาประมาณ 20 นาที หรือมากกว่าการสนทนาของตัวละครหลักบ่อยครั้งจะค่อนข้างยืดยาวคล้ายกับการกล่าวสุนทรพจน์ที่เรียบง่าย และนุ่มนวลส่วนการสนทนาของตัวตลกจะกระชับและรวดเร็วหลังการสนทนาก็กลับเข้าสู่การขับบทเพื่อสรุปเรื่องราวอีกครั้งก่อนที่จะเริ่มฉากใหม่ ระหว่างการขับบทเพื่อปิดฉากก่อนที่จะเริ่มฉากใหม่ บางครั้งจะถูกแทรกด้วยการบรรเลงดนตรี เพื่อให้นายหนังดื่มน้ำหรือมีเวลาพักชั่วคราว ในอดีตดนตรีจะบรรเลงตามท่วงทำนองดั้งเดิม ที่นิยมใช้ในการ แสดงหนังใหญ่ของราชสำนัก

         การแสดงของหนังฉิ้นแต่ละฉากจะมีวัฎจักรคล้ายกันคือ เริ่มด้วยการบรรเลงดนตรี การขับบทการสนทนา และการขับบทสรุปฉากที่แสดงผ่านมาในระหว่างฉากที่แสดงนั้น หลังการขับบทแรกสิ้นสุดลงบ่อยครั้งนายหนังจะปล่อยให้ฉากเงียบไป แต่บางครั้งก็บรรเลงดนตรี 2 - 3 นาที ก่อนที่ขับบทถัดไปดังนั้นการแสดงจึงดำเนินไปเรียบๆ วนวัฏจักเดิมและบ่อยครั้งทำให้ผู้ชมง่วงและหลับ

         นายหนังร่วมสมัยที่มีชื่อและได้รับการจำแนกจากผู้ชมในท้องถิ่นว่าเป็นนายหนังสมัยอย่างหนังณรงค์จะแตกต่างออกไป การแสดงของหนังณรงค์จะเน้นการผสมผสานระหว่างการบรรยายฉาก การร้องเพลงของตัวตลก การขับบทและบทสนทนา การขับบทอาจจะเป็นการขับบทโดยอาศัยดนตรีสมัยใหม่ หรือไม่ก็ดนตรีดั้งเดิม โดยเฉพาะโหม่งและฉิ่ง บทสนทนามักมีดนตรีประกอบโดยเฉพาะการย้ำฉิ่งและกลองเพื่อเน้นอารมณ์ การต่อสู้และอิจฉาริษยา ความต้องการคำตลกขบขัน และบางฉากก็ใช้ดนตรีที่บ่งบอกอารมณ์ของการสนทนา เพลงที่ร้องโดยตัวตลกมีหลากหลายและอาศัยทำนองจากโนรา เพลงที่กำลังได้รับความนิยมเพลงประกอบละครโทรทัศน์และเพลงประกอบมวยไทย คณะหนังยอดนิยมจำนวนมากใช้ดนตรีสมัยใหม่ประเภทต่างๆ ประกอบการแสดง อาทิ การใช้คีย์บอร์ด และแซกโซโฟนแทนปี่ และผู้เขียนเคยได้ยินการใช้ออร์แกนไฟฟ้าแทนเสียงผีในฉากโนราลงครู และ การใช้เสียงประกอบดังกล่าวพบในหนังตะลุงเช่นกัน

         นายหนังรุ่นใหม่ค่อนข้างจะใช้เสียงและออกเสียงภาษากลาง ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้โดยตัวละครชั้นสูงได้อย่างถูกต้องและชัดเจนกว่านายหนังรุ่นเก่า ทั้งนี้เป็นเพราะนายหนังรุ่นปัจจุบันค่อนข้างจะมีการศึกษาดี ดังเห็นได้จากการแสดงของหนังณรงค์ซึ่งมีการใช้ทั้งราชาศัพท์และภาษาบาลี หนังนครินทร์ ชาทอง จากหาดใหญ่ก็เช่นกัน คือ มักผนวกภาษาต่างประเทศเข้าเป็นภาษาหนังตะลุง

         ก่อนหน้านี้หนังตะลุงไม่ค่อยมีบทสนทนา แต่มากด้วยบทกลอนที่ใช้สำหรับทุกสิ่ง ผู้ชมนิยมการแสดงที่ดำเนินไปรวดเร็ว ปราศจากการสนทนายืดเยื้อปัจจุบันหนังเต็มไปด้วยสนทนา การแสดงก็ต่างไปจากเดิม และต่างกันราวหน้ามือกับหลังมือ

         ความเปลี่ยนแปลงเทคนิคภาษาพูดที่ชัดเจนก็คือการผนวกเพลงลูกทุ่งหรือเพลงประเภทอื่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงหนังตะลุง เนื้อเพลงที่ผนวกเข้ามานั้น อาจจะเป็นบางท่อนหรือเนื้อทั้งหมดของเพลง นายหนังที่มีความเชี่ยวชาญบางคนจะให้ตัวตลกหลายคนร้องเพลงสลับกัน โดยแต่ละคนยังรักษาเอกลักษณ์เสียงของตน อาทิ ในการแสดงเรื่อง "ต่างรสนิยม" เมื่อปี 2536 นั้น หนังนครินทร์ให้ตัวตลก 4 คน ร้องเพลง 5 คน เพลงด้วยทำนองดนตรีที่ต่างกันโดยที่ตัวตลกยังคงรักษาเอกลักษณ์เสียงของตน ความเชี่ยวชาญดังกล่าวเพิ่มความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างยิ่งยวด เพราะเพลงดังกล่าวไม่เพียงแต่ร้องได้ดี และตลกขบขัน หากแต่ยังเป็นเพลงร้องด้วยภาษาและสำเนียงท้องถิ่น

         ความซับซ้อนของเทคนิคด้านเสียงและภาษาพูดของนายหนังสมัยใหม่ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของไวยากรณ์สื่ออิเลคทรอนิค หากแต่รวมถึงการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนภาคใต้ปัจจุบัน

    
         นอกจากการปรับเปลี่ยนเทคนิคด้านเสียงและภาษาพูด นายหนังสมัยใหม่ยังใช้เทคนิคการเชิดรูปที่เคลื่อนไหวเร็ว เพื่อให้เข้ากับเทคนิคการขับบท การพูดและการสนทนาของตัวละคร ที่มีการเพิ่มสีสันด้วยเสียงประกอบและทำนองดนตรีสมัยใหม่ การนำเสนอโดยรวมของนายหนังจึงคล้ายกับเทคนิคการนำเสนอของภาพยนตร์หรือละครทีวี

         โดยปกติเมื่อตัวหนังถูกเสียบบนต้นกล้วยหรือหยวกกล้วยที่ใช้เป็นแท่นปัก ตัวละครที่จัดอยู่ในประเภทตัวละครชั้นสูง เช่น เจ้าเมือง นางเมือง พระโอรส พระธิดา จะแสดงการเจรจาด้วยการขยับปากและแขน ส่วนตัวตลกจะแสดงการพูดด้วยการขยับปากและแขน แต่เมื่อรูปหนังถูกเชิดและชูขึ้นโดยนายหนังแสดงว่ารูปหนังตัวนั้นกำลังแสดงบทผู้กระทำหรือเจรจา หากรูปหนังกำลัง

         แสดงบทคนตายหรือไร้สำนึก รูปหนังจะถูกปักหันหลังให้กับจอและแขนจะห้อยไขว้ลำตัว โดยทั่วไปตัวละคนชั้นสูงหรือนายจะเคลื่อนไหวน้อย ยาเว้นการเคลื่อนของแชนแย่างนวยนาดขณะเจรจาส่วนตัวตลกจะแสดงพฤติกรรมกระปรีกระเปร่า ขยับแขนและขากรรไกรขณะพูด ปัจจุบันนักวิชาการกำลังสนใจที่จะฟื้นฟูเทคนิคการเชิดให้เหมาะกับรูปหนังแต่ละประเภท ผลที่ตามมาก็คือนายหนังบางคน เช่น หนังนครินทร์ ชาทอง ได้พัฒนาเทคนิคการเชิดรูปตัวหนังที่จัดอยู่ในประเภทตัวละครชั้นสูงเคลื่อนไหวอย่างงดงามและผึ่งผายขณะเจรจา

         โดยปกติ ตัวละครจะอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของจอ โดยตัวละครหลักของฉากจะอยู่บริเวณกึ่งกลางของจอมากที่สุด แต่ถ้าฉากนั้นมีตัวละครน้อยตัวละครจะหันหน้าเข้าหากัน หากตัวละครแบ่งเป็นสองพวก ตัวละคนทั้งสองพวกจะหันหน้าเผชิญกัน โดยมีตัวละครที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นคนสนทนาหลักของแต่ละกลุ่มยืนอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางจอ ตัวละครที่ขึ้นอยู่ด้านหลังจะแสดงการสนทนาด้วยการขยับแขนหรือขยับปาก แต่ถ้าเป็นการสนทนาค่อนช้างยาวตัวละครที่อยู่หลังจะถูกเชิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในการแสดงของนายหนังประเภทโบราณ ตัวละคนในบทเจรจาหนึ่งจะมีได้ไม่เกิน 3 - 4 ตัว แต่นายหนังสมัยใหม่จะใชัตัวละครประมาณ 8 ตัวหรือมากกว่าในบางฉาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวตลก การมีตัวละครมากและการเคลื่อนไหวไปมา ทำให้ฉากการแสดงของนายหนังสมัยใหม่ค่อนข้างมีพลวัตสูงกว่าฉากการแสดงของหนังโบราณ เทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคที่นายหนังสมัยใหม่ใช้เป็นสิ่งดึงดูดสายตาและกระตุ้นผู้ชมให้ติดตามเรื่องที่แสดงทั้งด้านเสียงและภาพ

         นายหนังโบราณมักนำรูปหนังไปปักกลางจอและบางตรั้งก็ทำก่อนการพูดหรือเจรจาใดๆ แต่นายหนังสมัยใหม่นิยมที่จะเชิดหรือเคลื่อนรูปหนังคู่ไปกับการบรรเลงดนตรี เช่น การย้ำกลองในวินาทีแรกที่ตัวละครเจรจาหรือขับบทคำแรก การต่อสู้และการสมสู่ของตัวละครส่วนใหญ่จะมีเสียงประกอบพร้อมการ เคลื่อนของรูป หนังออกนอกจอทางด้านล่างการต่อสู้ของตัวละครมักมีดนตรีบรรเลงประกอบเบาๆ แต่การขับเคี่ยวและไล่ล่า มักดำเนินโดยการเคลื่อนไหววุ่นวายของตัวละครพร้อมกับการบรรเลงดนตรีอย่างเร่งร้อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคนิคการนำเสนอแสงและภาพของหนังตะลุงปัจจุบัน ที่มีลักษณะสัจจะนิยมมากขึ้น
    
         การเลือกใช้รูปหนังมิใช่ตัวบ่งบอกประเภทนายหนังที่ดีนัก แต่วิธีการจัดกลุ่มรูปหนังน่าจะบ่งบอกประเภทนายหนังได้ดี กล่าวคือ นายหนังสมัยโบราณนิยมแยกฉากที่ประกอบด้วยตัวตลกออกจากฉากที่เป็นแกนของเรื่อง และโดยทั่วไปจะไม่ปล่อยให้ตัวตลกสนทนาเรื่องลามกหรือร้องเพลงต่อหน้าตัวละครชั้นสูงนายหนังโบราณเช่น หนังฉิ้น ธรรมโฆษ จะให้ตัวตลกสนทนายืดยาวท้ายฉาก หลังตัวละคร ชั้นสูงจากไปการสนทนาของตัวตลกมักจะไม่เกี่ยวกับแกนเรื่องที่กำลังดำเนินไป

         นายหนังร่วมสมัยมักผนวกตัวละครจากหลายชนชั้นไว้ในฉากเดียวกัน คล้ายกับจะพยายามสะท้อนภาพความเป็นจริงของการพบปะของผู้คนจากหลายชนชั้นในชีวิตประจำวันของคนเมือง และในหลายกรณีนายหนังจะให้ตัวละครจากทุกชนชั้นมีโอกาสสนทนาอย่างเท่าเทียม

         หนังตะลุงปัจจุบันไม่เหมือนอดีต ในอดีตหนังตะลุงสะทอ้นความเป็นไทยปักษ์ใต้และความเป็นไปในหมู่บ้านอย่างสมบูรณ์ และมีแบบแผนที่ถูกต้องถือนายเป็นนาย ไพร่เป็นไพร่ ชายเป็นชาย หญิงเป็นหญิง ตัวตลกจะไม่พูดตลกลามกต่อหน้ากษัตริย์และราชินีแต่ปัจจุบันหนังตะลุงเป็นส่วนผสมของสิ่งต่างๆ จากข้างนอก ทุกสิ่งทุกอย่างผสมผสานกันในหนังตะลุงหนังจึงเป็นหนังตะลุงข้าวยำ…ปัจจุบันลูกของกำนันแต่งงานกับลูกนายอำเภอ ลูกนายอำเภอแต่งงานกับลูกผู้ว่า ลูกผู้ว่าแต่งงานกับลูกผู้ใหญ่บ้าน

         แม้หนังที่แสดงจะประกอบด้วยตัวละครสมัยใหม่และเรื่องราวที่สนทนาถกเถียงจะเป็นประเด็นปัญหาร่วมสมัย แต่โครงสร้างทางสังคมแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น ที่ประกอบด้วย นายและบ่าว ยังคงปรากฏชัดในหนังตะลุง นายหนังร่วมสมัยหลายคนนิยมใช้เจ้าชาย เจ้าหญิง เจ้าเมืองและนายเมืองเป็นตัวละครหลักของเรื่อง และมักให้ตัวละครชนชั้นบ่าว (ตัวตลก) และนายประกอบเป็นตัวแสดงในฉากเดียวกัน

    
         เรื่องที่หนังตะลุงแสดงกันในอดีต เรื่องราวจากรามเกียรติ์ตอนต่างๆ อันเป็นมหากาพย์ของอินเดีย ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยสุนทรภู่และเรื่องเล่าอื่นที่สืบทอดทางมุขปาฐะ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้นายหนังแต่งเติมได้ตามความต้องการ นายหนังทั้งในอดีตและปัจจุบันโดยทั่วๆ ไป เป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะมีการศึกษาดีและคุ้นเคยกับวรรณกรรมไทยมากกว่าผู้ชม อย่างไรก็ดีวรรณกรรมหนังตะลุงที่แสดงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีเค้าเรื่องจากนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมราชสำนัก วรรณกรรมคลาสสิค และเค้าเรื่องจากแหล่งอื่นที่นายหนังสามารถเข้าถึงได้ เช่น นวนิยาย ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน รวมถึงเรื่องที่ได้จากหนังสือพิมพ์และเรื่องที่นายหนังประจักษ์ในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ไปแสดง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่นายหนังแต่งขึ้นเองซึ่งอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์อินเดีย ภาพยนตร์สมัยใหม่ วีดีโอเพลงยอดนิยม เป็นต้น หนังที่แสดงโดยนายหนังปัจจุบันจึงค่อนข้างหลากหลาย โดยนายหนังบางคนอาจจะรักษาเค้าเรื่องในประวัติศาสตร์ไว้ แต่บางคนอาจจะใช้เค้าเรื่องแนวสัจจะนิยม เรื่องที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์สังคมสมัยใหม่หรือบางคนจะแสดงหนังที่มีเค้าเรื่องผสมผสาน

         แต่ไม่ว่าโครงเรื่องจะเป็นแบบใด หนังแต่ละเรื่องปกติประกอบด้วยตัวเอกและสถานที่ที่หลากหลายสถานที่ดังกล่าวมักหมายถึงเมือง เมืองดังกล่าวอาจจะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กันในเรื่องก็ได้ เรื่องหนังที่แสดงมักเป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องย่อยหลากหลาย ที่เปิดให้ตัวแสดงหลักของเรื่องสามารถเดินเสี่ยงโชคไปพร้อมๆ กัน โดยตัวละครหลักดังกล่าวอาจจะมาพบหรือไม่พบกันในตอนท้ายของเรื่องก็ได้ เรื่องที่หนังตะลุงแสดงปกติจะไม่จบโดยสมบูรณ์ เรื่องใดมีโครงเรื่องซับซ้อนและยาว ซึ่งไม่สามารถแสดงให้จบในคืนเดียว นายหนังจึงมักจบเรื่องในจุดที่ผู้ชมกำลังสนใจ ซึ่งปกติมักเป็นจุดวิกฤติของเรื่อง คล้ายกับการจบตอนของละครโทรทัศน์

         เรื่องหนังตะลุงปกติจะเริ่มจากปัญหาวิกฤติหรือการผจญภัยของตัวเอก แต่การผจญภัยหรือปัญหาดังกล่าว มักจะเป็นการผจยภัยที่ไม่สิ้นสุดและปัญหาวิกฤติตที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาโดยสมบูรณ์ วิกฤติของตัวเอกเกิดได้หลายกรณี อาทิการเผชิญหน้ากับตัวร้าย การเผชิญหน้ากับข้าราชการ การต่อสู้ การถูกล่อลวง การถูกกดขี่ และการพลัดพรากของครอบครัวหรือคนรักวิกฤติของตัวเอกมักได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และโดยทั่วไปหนังตะลุงมักจบลงตรงจุดวิกฤติ ที่เปิดโอกาสให้มีการแตกเรื่องใหม่ได้หลากหลาย แต่เรื่องจะยุติลงเวลาไหนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายหนัง หลังการประเมิณผลการแสดงหรือการประเมิณผู้ชมหนังที่แสดงจบโดยสมบูรณ์มีนอ้ยทั้งนี้เพราะนายหนัง ปรารถนาให้ผู้ชมเกิดความอยากและต้องการติดตามเรื่อง หรือไม่ก็จินตนาการความเป็นไปของเรื่องด้วยตัวเอง

         เรื่องที่แสดงจะเป็นเรื่องในอดีต แต่สิ่งที่พบทั่วไปในหนังตะลุงก็คือ คำอธิบาย หรือวัตถุ หรือภาษาที่เกี่ยวข้องกับผู้คนสมัยใหม่ นี่มิใช่เรื่องผิดเวลาและบริบทของหนัง แต่เป็นสิ่งสะท้อนโลกทัศน์ของคนปักษ์ใต้ปัจจุบัน ซึ่งบ่อยครั้งเป็นโลกทัศน์ที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ทางสังคมแบบลำดับชั้นในอดีต หรือความสัมพันธ์ในระบบศักดินาดั้งเดิม และสะท้อนแนวคิดเรื่องบาป-บุญของศาสนา ที่ยังคงอยู่ในสังคมไทยภาคใต้ปัจจุบัน สาระในวรรณกรรมหนังตะลุงจึงสะท้อนทั้งภาพในอดีต และความเป็นสมัยใหม่ของสังคมปักษ์ใต้

         วรรณกรรมหนังตะลุงเป็นได้ทั้งการให้คำแนะนำสั่งสอนและความบันเทิง คำแนะนำสั่งสอนอาจจะรวมถึงการเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมหรือข้อมูลเชิงปฏิบัติที่สอดคล้องกับผู้ชม อาทิ คำอธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน วิธีการแก้ปัญหาทางสังคมและปัญหาชีวิตในสังคมสมัยใหม่ทัศนคติหรือข้อกำหนดที่รัฐเห็นว่าสำคัญ จริยปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา พลังของสิ่งเหนือธรรมชาติและโลกของภูตผีและวิญญาณและไม่ว่านายหนังจะใช้เทคนิควิธีการแสดงสมัยใหม่หรือดั้งเดิม เรื่องที่แสดงล้วนแต่สะท้อนโครงสร้างอำนาจทางสังคมและวิธีการใช้อำนาจทางสังคม และวิธีการใช้อำนาจทั้งที่ถูกต้องชอบธรรมและไม่ถูกต้องชอบธรรมของเจ้าเมือง ข้าราชการ สมาชิกในครอบครัว นายหรือบ่าว รวมถึงผลของการใช้อำนาจดังกล่าวต่อความสัมพันธ์ทางสังคมและโชคชะตาของตัวละครเอกของเรื่อง

         นอกจากนี้หนังตะลุงยังให้ข้อมูลผู้ชมเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และตำนานท้องถิ่นวิธีการและความสำคัญของการคุมกำเนิด ปัญหาสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางสังคมปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีที่การแสดงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนหรือได้รับอิทธิพลจากสถาบันการศึกษา และบางครั้งนายหนังจะแทรกสำนึกความเป็นชาติหรือเรียกร้องให้ผู้ชมปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตย

         เราจำเป็นต้องผสมผสานเรื่องราวในอดีตเข้ากับปัจจุบันและหากเรามุ่งที่จะให้ประชาชนรับผิดชอบต่อตนเอง และครอบครัว เช่น พ่อแม่ต้องติดตามพฤติกรรมของลูก ว่าพัวพันกับยาเสพติดหรือไม่ เรา จำเป็นต้องแสดงเรื่องสมัยใหม่และหากมีการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อ 50 หรือ 60 ปีก่อนไม่มีเราจำเป็นต้องกระตุ้นให้ประชาชนไปเลือกตั้ง เมื่อเรารู้แหล่งจำหน่ายยาเสพติดเราจำเป็นต้องแจ้งแก่ตำรวจ เราทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้สื่อข่าวของรัฐบาล และเราบอกให้ชาวพุทธไปวัดในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5

         นายหนังที่มีชื่อและประสบความสำเร็จ มักเป็นผู้ที่มีความสามารถในการผสมผสานรูปแบบที่แตกต่างกันของการแสดงหนังตะลุง และสามารถผสมผสานเรื่องทีแสดงให้สอดคล้องกับรส นิยมของผู้ชม ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ผู้ชมนิยมละครจักรๆ วงศ์ ในโทรทัศน์ นายหนังดังจึงยังคงรักษาเรื่องราวดั้งเดิมไว้ และเสริมแต่งด้วยสิ่งที่เป็นสมัยใหม่

         ปัจจุบันการแสดงเรื่องเก่าที่ประกอบด้วยยักษ์ เทวดา หรือมนุษย์เหาะเหิรเดินอากาศน่าจะเหมาะกว่าเพราะเทียบระหว่างละครชีวิตกับละครจักรๆ วงศ์ ๆ มากกว่า ผมไม่ทราบว่าใครชอบเรื่องดั้งเดิม ใครชอบเรื่องสมัยใหม่ แต่คิดว่าหนังตะลุงต้องมีการผสมผสานในเบื้องแรกคณะหนังต้องมีกีตาร์ ออร์แกนหรือดนตรีไฟฟ้าอื่น เพื่อดึงดูดผู้ชมวัยรุ่น และทำให้พวกเขาประทับใจ แต่ถ้าคณะหนังไม่มีปี่และซออู้ คนเฒ่าคนแก่ที่มาชมก็จะบ่นว่าคณะหนัง ทิ้งดนตรีดั้งเดิม คณะหนังจึงจำเป็นต้องมีดนตรีทั้ง 2 ประเภท ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นหากเรื่องที่แสดงมียักษ์นายหนังที่ฉลาดจะทำเรื่องให้เป็นสมัยใหม่โดยการเพิ่มตัวตลกในเมืองยักษ์ โดยเฉพาะตัวตลกที่พกโทรศัพท์มือถือ

ตัวตลกหนังตะลุง
ตัวตลกหนังตะลุง