http://www.tungsong.com
Home
| Guestbook
|Local Agenda 21
|Download Document

                   


        ปัจจุบันสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานแบ่งส่วนการปกครองออกเป็น 4 แคว้นด้วยกันคือ : บาโลชิสถาน, เขตแดนตะวันตกเฉียงเหนือ,ปันจาบและสินธุ และเขตปกครองชนเผ่ารวม ประธานาธิบดีทำหน้าที่ประมุกของรัฐโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะบริหาร วุฒิสภา (สภาสูง) มีจำนวนผู้แทนจากแคว้นต่าง ๆ ในจำนวนเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ประธานศาลฎีกาเป็นหัวหน้าสถาบันตุลาการ โดยที่ภายใต้บทบัญญัติของกฏหมาย รัฐธรรมนูญ ได้มีการแบ่งแยกอำนาจหลักทั้งสามคือฝ่ายบริหารนิติบัญญัติและตุลาการ

        ประเทศปากีสถานได้ผ่านประวัติศาสตร์ร่วมอนุทวีปกับอินเดียมายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยที่ยุคอยู่ในช่วง 4,000 - 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช จวบจนกระทั่งปี 1,500 ก่อน ค.ศ.ชนชาติอารยันได้บุกรุกเข้ามาหาทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือจนกระทั่งเข้ายึดครองและผสมผสานกับอารยธรรมฮินดูที่เป็นดินแดนของปากีสถานและอินเดียเป็นเวลายาวนานถึง 2,000 ปี

        ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของปากีสถานเริ่มต้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1เมื่อชาวมุสลิมได้เรียกร้องสิทธิ์การเลือกตั้งจากทางการอินเดียที่กำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (1876-1948) ถือได้ว่าเป็นสถาปนิกผู้ก่อตั้งปากีสถานคนสำคัญ โดยที่เขาได้เป็นผู้นำสันนิบาตมุสลิมในปี 1916 เมื่ออังกฤษได้ถอนตัวออกไปเมื่อวันที่ 14 ส.ค.1947 กลุ่มชาวมุสลิมในอินเดียก็ได้แยกตัวออกเป็นประเทศปากีสถานเพื่อปกครองตนเองโดยมีการแบ่งออกเป็น ปากีสถานตะวันออกและตะวันตก ซึ่งทั้งสองพื้นที่อยู่ห่างกันเกือบ 1 พันไมล์โดยมีอินเดียคั่นกลาง ปากีสถานตะวันออกต่อมาได้กลายเป็นประเทศบังกลาเทศ ส่วนปากีสถานตะวันตกได้กลายเป็นสาธารณรัฐในปี 1956

        การยืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยวอันมีจุดเริ่มจากเมืองลาฮอร์ในปี 1940 ที่ซึ่งจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวมุสลิมแห่งอนุทวีปได้ยุติคืนวันแห่งอาณานิคมอันยาวนานจนปากีสถานได้รับเอกราช

Top


เศรษฐกิจของประเทศปากีสถานก็คล้าย ๆ กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายกล่าวคือเป็นเศรษฐกิจที่ผสมผสานกันระหว่างวิธีการเก่า ๆ กับวิธีการสมัยใหม่ทั้งทางด้านการเกษตร การขนส่ง การค้า และอุตสาหกรรม ในขณะนี้วิธีการแบบเก่า ๆ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ค่อย ๆ หมดไปและเริ่มหันไปใช้วิธีการสมัยใหม่แทน แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเป็นไปอย่างช้า ๆ อยู่

        การเกษตรกรรมเป็นหัวใจของเศรษฐกิจในประเทศปากีสถานทีเดียวทั้งนี้เพราะมีประชากรมากกว่า 3 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศที่มีอาชีพโดยการเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีวิต นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กของปากีสถานเป็นจำนวนมากก็ยังใช้วัตถุดิบที่ได้จากการเกษตรกรรมเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้สินค้าออกที่สำคัญส่วนใหญ่ จึงเป็นผลิตผลจากไร่นาทำให้รายได้ ที่สำคัญของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีไร่นารวมทั้งเป็นภาษีที่ได้จากผลิตผลจากไร่นาอีกด้วย

        ตั้งแต่ได้รับอิสรภาพเป็นต้นมา รัฐบาลปากีสถานได้เพียรพยายามที่จะสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งโดยการพัฒนาการเกษตรกรรม การชลประทาน ประดิษฐกรรม กำลังงานการขนส่ง การเคหะ สุขาภิบาล และการศึกษาให้ขยายตัวออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลปากีสถานได้นำโครงการแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498 จำนวนหลายโครงการออกมาใช้รวมทั้งยังได้รับการช่วยเหลือในการกู้ยืมเงินจากต่าง ประเทศอีก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นับว่าได้ช่วยให้ปากีสถานพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี การพัฒนาส่วนใหญ่ของรัฐบาลปากีสถานจะมุ่งไปในแง่ของการพัฒนาการเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาการชลประทานเพื่อการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาการอุตสาหกรรมและการขนส่ง ในขณะที่โครงการพัฒนา เศรษฐกิจกำลังก้าวหน้าไปด้วยดีนั้น ปรากฏว่าเศรษฐกิจทุกสาขาต้องหยุดชะงักไป ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลของปากีสถานต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการใช้เงินจำนวนมากในกิจการทางทหาร ตลอดจนปัญหาความไม่มั่นคงแห่งเสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องประสบกับความล้มเหลว

        จากสถิติล่าสุดของปี 1995-96 ปากีสถานมีค่าจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 60.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอันตราเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนนั้นถึง 6.1 % โดยที่อัตราการขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 % จากปีก่อนนั้นที่มีอัตราอยู่ที่ 5.9 % โดยมีผลผลิตหลักอยู่ที่ข้าวและข้าวสาลี ขณะที่ผลผลิตฝ้ายได้เพิ่มขึ้นถึง21.8 % ภาคการผลิตขยายตัว 4.8% เพิ่มจากปีก่อนนั้นที่มีอัตราเพียง 2.9 %

Top


        ทรัพยากรธรรมชาติที่กล่าวได้ว่ามีความสำคัญยิ่งของปากีสถานก็คือ พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่ราบต่ำทางภาคตะวันออกของประเทศ อย่างไรก็กีพื้นที่ราบต่ำในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผืนแผ่นดินที่มีความแห้งแล้งมาก ดังนั้นการทำเกษตรกรรมจะไม่ได้ผลเลย ถ้าหากไม่มีการทำชลประทาน โดยการระบายน้ำจากแม่น้ำอินดัสและแควของแม่น้ำสายนี้เข้ามาใช้ในดินแดนแห่งนี้

        สำหรับทรัพยากรที่เป็นสินแร่ของปากีสถานมีอยู่ไม่มากนัก กล่าวคือ มีการทำเหมืองแร่ถ่านหิน และขุดบ่อน้ำปิโตรเลียม แต่ก็ได้ปริมาณไม่พอใช้กับความต้องการภายในประเทศอย่างไรก็ดีได้ปรากฎว่ามีการขุดค้นพบแก็ซธรรมชาติปริมาณมากมหาศาล ซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญของปากีสถาน นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบแร่เหล็กที่จะนำเอามาใช้ในทางอุตสาหกรรมอีกด้วย แต่ก็มีคุณภาพต่ำ และมีปริมาณไม่มากนัก บนที่ราบสูงทางภาคตะวันตกของประเทศได้มีการค้นพบสินแร่คุณภาพดีหลายชนิด เช่นในบริเวณเทือกเขาชีตราล (Chitral) มีการค้นพบแร่เหล็ก พลวง ทองแดง ปรอท และตะกั่ว เป็นต้น แต่เนื่องจากไม่มีเส้นทางคมนาคมที่จะไปยังดินแดนต่าง ๆ เหนล่านี้ได้ ดังนั้นจึงไม่มีการพัฒนาเหมืองแร่หรือขุดแร่ดังกล่าวขึ้นมาใช้

        การาจีเป็นเมืองหลวงเก่าเมื่อครั้งอังกฤษปกครอง จึงมีถาวรวัตถุแบบตะวันตกน่าท่องเที่ยวอยู่หลายแห่ง รวมทั้งแหล่งประวัติศาสตร์ทางศาสนา อิสลามเก่าแก่ มีชายหาดหมู่บ้านประมง ส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรม แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบพื้นบ้านไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว

         เนื่องจากการาจีเป็นเมืองล้าหลังทุรกันดาร ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ มีคนไร้ที่อยู่อาศัยตามที่ สาธารณะมาก ความเป็นอยู่แบบครอบครัวใหญ่ ธรรมเนียมสตรีมุสลิมไม่ออกนอกบ้าน แต่หากจำเป็นต้องแต่งกายมิดชิด ร้านค้าธุรกิจทั่วไป และร้านอาหารมีแต่ผู้ชายทำงาน ดังนั้น สตรีต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นระบบสังคมเดี่ยว

Top


        อุตสาหกรรมสิ่งทอถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในเศรษฐกิจของปากีสถาน มีโรงงานทั้งหมด 351 แห่งในประเทศ, นอกจากนั้นก็เป็นโรงงานอ้อย 70 แห่งที่มีกำลังการผลิตถึงวันละ 253,000 ตัน มีโรงงานปุ๋ย 10 แห่งที่มีกำลังการผลิตถึงวันละ 4.1 ล้านตันและโรงงานปูนซีเมนต์ 20 แห่งที่มีกำลังการผลิต 9.9 ล้านตัน (4 แห่งเป็นของรัฐและอีก 16 แห่งของเอกชน)

        ในส่วนความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างปากีสถานกับไทยนั้น ทั้งสองประเทสเคยมีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงภาษีซ้ำซ้อนและการป้องกันการหลีกเลี่ยงทางการเงินเมื่อปี 1980 ตามด้วยข้อตกลงว่าด้วยการค้า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.1984 ซึ่งมีผลก่อให้เกิดการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการ (ที่มิได้มีจุดหมายเพื่อการขาย) และการแสดงสินค้า

        มูลค่าการค้าทั้งหมดระหว่างสองประเทศในปี 1996 มีจำนวน 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปากีสถานนำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า147 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่ส่งออกเป็นจำนวน 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐสินค้านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ สารโพลีเมอร์ประเภท เอธีลีนโพรไพลีน ฯลฯ นอกจากนั้นก็ยังมี สารเคมี ยางพารา สินค้าพลาสติก ซินเทติค และไฟเบอร์ ส่วนสินค้าออกไปสู่ไทยส่วนจะเป็นฝ้ายเส้นด้ายและสิ่งทอต่าง ๆ

Top


        ความสัมพันธ์โดยทั่วไประหว่างปากีสถานและไทยนั้นได้เริ่มขึ้นในยุคของสงครามเย็นช่วงต้นของทศวรรษปี 1950 ในฐานะที่ต่าง ก็เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีอาโต้ (SEATO : South East Asia Treaty Organization) และในฐานะที่ต่างก็ยึดมั่นในหลักการของกฎบัตรแห่ง

        สหประชาชาติอย่างเหนียวแน่น ปากีสถานและไทยได้มีความร่วมมือระหว่างกันเป็นอย่างดีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ในระดับภูมิภาคนั้นปากีสถานมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนการเจรจานอกเหนือไปจากการที่ปากีสถานได้เป็นภาคีสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรืออีซีโอ (ECO : Economic Cooperation Organization) และสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ หรือเอสเอเออาร์ซี (SAARC : South Asian Association for Regional Cooperation) ซึ่งองค์กรทั้งสองนี้ต่างก็มีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับกลุ่มอาเซียน ความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติยังได้สะท้อนให้เห็นในกรณีของการแก้ไขวิกฤตืการณ์ในกัมพูชาและอัฟกานิสถาน

        ภาคการเกษตรปากีสถานครองส่วนแบ่ง 25 % ของค่า จีดีพีและเกี่ยวพันกับกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศเกือบครึ่งหนึ่ง ภาคการเกษตรนับเป็นแหล่งเงินได้จากต่างประเทศมากที่สุดนอกเหนือไปจากเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมภายใน เช่นสิ่งทอและน้ำตาล พืชผลหลักของปากีสถานได้แก่ ข้าว สาลี ฝ้าย ข้าว น้ำตาล อ้อย ถั่วเขียว ข้าวโพด และยาสูบ โดยที่ฝ้าย ข้าวและยาสูบเป็นสินค้าสำคัญ


แหล่งอ้างอิง
- 23 มีนาคม 2541 เดลินิวส์ ฉบับที่ 17693 (23 มี.ค. 41) หน้า 5
- สารบรรณโลกและเงินตรานานาชาติ(.ทวีปเอเชีย ตอน 1) เล่ม 5