 |
|
  
|
|
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ฯ ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2435 ณ พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเข้าพิธีโสกันต์เมื่อพระชันษาได้ 13 พรรษา และเมื่อเข้าพิธีโสกัณต์แล้ว ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2447 และลาผนวชเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2447 ด้วยสมเด็จพระชนกนาถมีพระประสงค์ที่จะส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ พระองค์จึงได้เสด็จไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2448 ณ โรงเรียนกินนอน แฮร์โรว์ เมื่อทรงศึกษาจบจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2450 จึงเสด็จไปศึกษาต่อที่ Royal Prussian Military College เมืองโพสต์แดม ( Potsdam)ประเทศเยอรมนี ต่อจากนั้นทรงย้ายไปศึกษาต่อที่ Imperial German Naval College Flensburg และทรงจบการศึกษาในปี พ.ศ.2454 โดยทรงสอบไล่ได้ในอันดับที่ 2 นอกจากนั้นยังทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำอีกด้วย |
หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาในวิชาทหารเรือ ทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศ ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือประจำกรมเสนาธิการ ในตำแหน่ง นายเรือตรี นายเรือโท และนาวาเอก ตามลำดับ หลังจากนั้นทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เพื่อศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพระราชดำรัสก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ต่อที่ต่างประเทศว่า" ฉันจะไปเรียนหมอหละ เพราะเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนคนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศล ในการรักษาพยาบาลได้ดี เมืองไทยเราถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้างเขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่รักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน" |
ในปี พ.ศ. 2460 ทรงเดินทางไปศึกษาต่อวิชาเตรียมแพทย์ที่ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.2462 ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาสาธารณสุขและปรีคลินิกบางส่วนที่ School of Health office Harvard University and the Massachusetts Institute of Technology ในปี พ.ศ.2463 ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นิวัติกลับประเทศครั้งหนึ่งเนื่องในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชริทรา บรมราชินีนาถ ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทยทรงได้เข้าปฎิบัติร่วมกับนักศึกษา และเจ้าหน้าที่แพทย์ ภายในห้องทดลองวิทยาศาสตร์โรงพยาบาลศิริราชทรงเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเตรียมแพทย์ แผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พระองค์พระราชทานทุนการศึกษาในต่างประเทศให้กับบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการศึกษาในวิชาแพทย์ ชีววิทยา ฟิสิกส์และเคมีเป็นจำนวนเงินถึง 200,000 บาท อีกทั้งยังทรงนิพนธ์หนังสือชื่อว่า Tuberculosis เพื่อจัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับไปศึกษาจนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2464 ทรงได้รับประกาศนียบัตร C.P.H. เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเสด็จประพาสยุโรป ในระหว่างนั้นทางกระทรวงธรรมการกำลังเจรจาขอทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯได้ทรงรับมอบอำนาจในการเจรจาครั้งนั้น เนื่องจากทรงมีความรู้ความชำนาญในวิชาแพทย์มากกว่าผู้ใด ทรงเจรจาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในการขยายและปรับปรุงด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งทางมุลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการส่งอาจารย์แพทย์มามาถึง 6 ท่าน และมอบเงินเพื่อจัดสร้างตึกในโรงพยาบาลศิริราชเป็นจำนวนเงินถึง 400,000 บาท อีกทั้งยังมอบทุนให้กับแพทย์เพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศอีกด้วย นับว่าเป็นผลอันเกิดจากการเจรจาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก |
ในปี พ.ศ. 2466 ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่ Edinburg Schotland University แต่เนื่องจากอากาศหนาวจัดทำให้ประชวรจึงต้องเดินทางกลับประเทศไทย ในระหว่างนั้นทรงเข้ารับราชการ ทรงมีส่วนสำคัญในการพิจารณา แก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ในพระราชบัญญัติการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนประกาศเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2467 ทรงเข้าร่วมการอบรมแพทย์สาธารณสุขมณฑล โดยทรงสอนวิชาปฎิบัติการสุขาภิบาลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ตำราอีกเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการสุขาภิบาล คือ วิธีการปฎิบัติสุขาภิบาล แต่เนื่องจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาต่อในวิชาแพทย์เฉพาะทางดังนั้นในปี พ.ศ.2469 จึงเสด็จไปศึกษาต่อในในวิชากุมารเวชศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2471 ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) ด้วยระดับคะแนนเกียรตินิยมชั้น Cum Laude นอกจากนี้ยังทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omerga Alpha เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจึงนิวัติกลับประเทศไทย ทรงเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จ.เชียงใหม่ และทรงช่วยเหลือโรงพยาบาลศิราราชในเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาล |
พระราชกรณียกิจที่สำคัญอันหนึ่ง คือ เมื่อทรงเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการวชิรพยาบาล ทรงริเริ่มโครงการเพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลแห่งนี้ ให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น ทรงดัดแปลงโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลสำหรับคลอดบุตร และเป็นศูนย์อบรมพยาบาลผดุงครรภ์ พยาบาลสาธารณสุข สังคมศาสตร์ และหมอตำแย เพื่อให้การคลอดบุตรมีความทันสมัย และปลอดภัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมิใช่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเท่านั้นที่พระราชทานความช่วยเหลือจนมีความเจริญ แต่ยังพระราชทานความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ อีก เช่น พระราชทานเงินให้กับโรงพยาบาลแมคคอมิค สำหรับจ้างแพทย์ชาวต่างประเทศ จำนวน 16,000 บาท และเพื่อซื้อเครื่องเอกซเรย์อีก จำนวน 6,750 บาท และพระราชทานเงินให้กับโรงพยาบาลสงขลาอีกปีละ 5,000 บาทเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกกรมต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล |
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อภิเษกสมรสกับ นางสาวสังวาล ตะละภัฏ ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ วังสระปทุม มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 3 พระองค์ ได้แก่
-
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
-
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชการที่ 8
-
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ 9
|
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประชวรด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกน ประชวรนานถึง 4 เดือน ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดโรคพระอาการบวมน้ำในพระปัปผาสะแทรกซ้อน และพระหทัยวายในที่สุด และเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 |
|
|
Home
|
Back
|
|
ที่มา :
|
|
ศิริวรรณ คุ้มโห้ ; วันและประเพณีสำคัญ , บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด, กทม. 245 น.
|
|