ตอน : สร้างปัญหา

 

ในช่วงนี้ อยากจะพูดถึงเรื่องปัญหาบ้าง ที่พูดมาแล้วช่วงที่หนึ่งก็คือช่วยแก้ปัญหา คราวนี้ช่วงที่สองก็จะเป็นช่วงของการสร้างปัญหา แต่อยากจะเน้นอะไรบางอย่างเสียก่อนคือ

ข้อพึงเน้นในการแก้ปัญหา

อย่างที่พูดแล้วข้างต้นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาไทยนี่ เราจะต้องไม่โทษเพียงตัวการศึกษาหรือวงการศึกษาเท่านั้น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะมองปัญหาในวงแคบเกินไป แล้วก็ทำให้การแก้ปัญหานั้นติดตัน แต่เราจะต้องมองถึงการบริหารประเทศทั้งหมด เริ่มแต่ผู้นำนโยบายในการบริหารประเทศซึ่งโยงมาถึงการศึกษา และการศึกษานี้เองก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมที่สัมพันธ์กับกิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่าง พูดได้ว่าสังคมไทยเราทั้งหมดนี้ได้มีส่วนร่วมกันในการสร้างปัญหาขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะบอกว่าการศึกษาสร้างปัญหา เราอาจจะพูดว่าปัญหาทางการศึกษาที่เราจะต้องแก้จะดีกว่า จะทำให้ไม่รู้สึกจำกัดตัวที่จะโทษเฉพาะการศึกษา แล้วก็มองปัญหาการศึกษากันแค่ในวงการศึกษาเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะเน้น ก็คือเรื่องที่การศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยจะเป็นผู้นำสังคมเสียแล้ว แต่คอยตามสนองความต้องการของสังคมมากกว่า ตามความเป็นจริงนั้น การศึกษาต้องทำทั้งสองหน้าที่ ทั้งตามสนองความต้องการของสังคมและนำสังคม แต่บทบาทที่สำคัญมากกว่าก็คือนำสังคม ทีนี้ถ้าหากว่าการศึกษาทำหน้าที่ตามสนองความต้องการของสังคมมากไปหรืออย่างเดียว ก็จะเป็นอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้าสังคมเดินผิดทางก็เท่ากับว่าการศึกษาไปตามช่วยเพิ่มปัญหาให้สังคม การศึกษาก็จะเสริมขยายปัญหาสังคมและสร้างปัญหาแก่สังคมไปโดยไม่รู้ตัว

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่คนเรานี้มักจะเอียงสุดอย่างที่ท่านอาจารย์รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่าน ดร. เอกวิทย์ พูดเมื่อกี้แล้ว คือว่าไม่ควรจะมองแต่ด้านเสียอย่างเดียว จะเห็นว่าในระยะนี้เราชักจะนิยมพูดกันถึงเรื่องปัญหาต่าง ในทางการศึกษาว่าการศึกษาไม่ดีอย่างนั้น ว่ากันไป เราก็จะมองเห็นแต่แง่ร้าย นั่นคือการไปสุดโต่งข้างหนึ่ง การมองแต่ดีก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ถ้าเรามองแต่สุดโต่งข้างเดียวแล้วก็จะทำให้เป็นการพรางตาตัวเอง ในการแก้ปัญหาเราอาจจะแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไปสุดทางอีกด้านหนึ่ง แล้วต่อไปเราก็จะต้องประสบปัญหาอีกด้านหนึ่ง วนไปวนมา

 

ดร. เอกวิทย์ ถลาง

 

การศึกษาของเราที่จัดทำกันมานี้ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นั่นเป็นลักษณะทั่วไป แต่มันก็มีส่วนดีอยู่ในตัวเองบ้างเหมือนกัน แม้แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นเอง มันก็ยังดำเนินอยู่และต้องทำต่อไป เพราะเงาหรืออิทธิพลของปัญหาเฉพาะหน้านั้นก็ยังไม่หมดไป ฉะนั้นผลดีของการศึกษาที่สืบมาแต่เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งเราก็ต้องมองส่วนดีด้วย
อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท เราจะต้องพยายามมองสิ่งที่เป็นปัญหาไว้ให้มากสักหน่อย เพื่อว่าเราจะได้เร่งรัดตัวเองในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น

อีกประการหนึ่งในเรื่องของการมองปัญหา ลักษณะที่ถูกต้องอย่างหนึ่งก็คือการมอง ปัญหาให้ครอบคลุมมองให้ทั่ว เพราะว่าปัญหาต่าง นั้นโดยปกติแล้วมันสัมพันธ์โยงกัน ไปหมด บางทีมันแทบจะเป็นปัญหาเดียวกันนั่นเอง แต่ปรากฏออกมาเป็นด้านต่าง ของปัญหานั้น ถ้าเราไม่มองปัญหาให้ครอบคลุม มาจำกัดตัวอยู่กับปัญหาอันหนึ่ง การแก้ปัญหาก็จะมีลักษณะของการที่แก้พอให้รอดตัวไปครั้งหนึ่ง แล้วมันก็จะทำให้ยุ่งวุ่นวาย สับสนมากขึ้น

สาเหตุของปัญหาก็เช่นเดียวกัน สาเหตุของปัญหานั้นมักจะอิงอาศัยกัน โยงกัน สัมพันธ์กันไปหมด ฉะนั้นเราจะต้องจับตัวปัญหาให้ชัด แล้วก็ดูว่าเหตุปัจจัยของปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรบ้าง จับให้ได้ แล้วไล่ดูว่ามันสัมพันธ์อิงอาศัยส่งต่อกันอย่างไร เรื่องนี้ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นกระบวนการ อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท สิ่งทั้งหลายในสังคมนี้ย่อมอิงอาศัยเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสิ่งที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกันเป็นอย่างยิ่งก็คือ กระบวนการของการก่อปัญหา ฉะนั้นในการวิเคราะห์ปัญหาจึงจะต้องมองปัญหาให้ครอบคลุม แล้วก็โยงกันให้ได้แล้วสืบค้นเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันให้พบ แล้วแก้ให้ตรงเหตุตรงปัจจัย มิฉะนั้นแล้วการแก้ปัญหาจะไม่ตรงจุดแล้วก็ยาก

ปัญหาการศึกษาที่จะต้องแก้

ต่อไปนี้ก็อยากจะพูดถึงปัญหาของสังคมของเราในปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือเป็นปัญหาทางการศึกษาที่จะต้องแก้ ในเวลาที่สั้นนี้ก็จะขอพูดแบบสรุปพอให้มองเห็นกว้าง ว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง

ข้อที่หนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากที่พูดมาแล้วก็คือ เรื่องที่ว่าการศึกษาสมัยใหม่ของเรานี้ ได้ทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชนหรือท้องถิ่นของตน เรื่องนี้หลายท่านก็พูดกันอยู่ ซึ่งการแปลกแยกนี้อาจจะมีลักษณะที่รุนแรงถึงกับทำให้ดูถูกวิถีชีวิตของชุมชน ไม่มีความภูมิใจในถิ่นของตน ในวัฒนธรรมของตน เมื่อไม่ภูมิใจและไปดูถูกเสียแล้ว ก็เลยไม่ยอมรับไม่อยากศึกษา เข้าไม่ถึงและเลยไม่รู้จักที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นเมื่อแปลกแยกจากชุมชนท้องถิ่นของตน ก็จะมีลักษณะอีกประการหนึ่งคือ เกิดช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูก เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ลูกไม่สืบต่ออาชีพของพ่อแม่ คนรุ่นใหม่เข้ากับชุมชนเดิมไม่ได้ ต่อจากนั้นในแง่ของวัฒนธรรม ภูมิธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่นก็ถูกละเลยทอดทิ้ง เมื่อถูกละเลยทอดทิ้งสิ่งเหล่านั้นก็ค่อย เลือนรางหายไป เหมือนกับถูกทำลายไปเอง ไม่มีผู้สืบต่อ

ผลเสียตามมาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ทรัพยากรคนของท้องถิ่นถูกดูดสูบขุดออกไป ผลเสียข้อนี้สืบเนื่องจากลักษณะของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือเลื่อนสถานภาพทางสังคม ซึ่ง ทำให้คนเล่าเรียนศึกษาเพื่อไต่เต้า อย่างที่ท่านอาจารย์รองปลัดกระทรวง ท่านพูดบ่อย ว่าไต่บันไดดารา ทุกคนก็คิดจะเข้ากรุงกัน พยายามที่จะแสวงหาฐานะที่สูงในทางสังคม คนที่ดีที่สุด เก่งที่สุดของท้องถิ่นก็มีทางเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะละทิ้งถิ่นฐานออกจากชุมชนไป เมื่อละทิ้งถิ่นฐานออกจากชุมชนไป คนดีของชุมชนนั้นก็หมดไป เมื่อไม่มีคนดีมีคุณภาพ ชุมชนชนบทก็ทรุดโทรมลงไปเรื่อย

ข้อที่สอง ต่อจากปัญหานี้ก็คือการศึกษาของเรานั้นแต่เดิมมาที่เราจัดขึ้น มีลักษณะ อย่างหนึ่งคือการสนองระบบราชการโดยผลิตคนเพื่อเข้ารับราชการ แล้วในปัจจุบันมันก็ขยายมาถึงว่าเพื่อมารับใช้ระบบอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือเป็นการดึงคนจากชนบทเข้าสู่เมืองทั้งนั้น ทีนี้ต่อมาปัญหาก็มีขึ้นใหม่อีกว่า พอดึงไปดึงมา มากันมากเข้ามากเข้า ในที่สุดงานไม่พอทำ ก็เกิดปัญหาการว่างงานขึ้นในเมือง ทีนี้ทางฝ่ายชนบท คนดีมีคุณภาพออกไปเข้าเมืองหมด ก็เกิดอาการขาดแรงงานที่จะพัฒนาท้องถิ่น และในเวลาเดียวกันคนที่เราดึงเข้ามาสู่เมืองนั้น ก็กลายเป็นคนที่แปลกแยกจากชุมชนเดิม เข้ามากรุงเทพ ฯแล้วกลับไปท้องถิ่นไม่ได้อีก กลายเป็นคนที่ไร้ประโยชน์
จะมาช่วยในเมืองก็ช่วยไม่ได้เพราะว่าเต็มเสียแล้ว จะกลับไปช่วยท้องถิ่นตัวเองก็ไม่รู้จักชุมชนนั้น แปลกแยกเข้ากับเขาไม่ได้ และทำอะไรไม่ได้ก็อุดตันหมด

ที่ร้ายกว่านั้นอีกคือ เมื่ออยู่ในกรุงก็ไม่มีงานทำ จะกลับท้องถิ่นก็ไม่ได้ หรือไม่ยอม ก็เลยต้องสร้างปัญหาอยู่ในเมืองนั่นเอง คนก็ติดตันหมดทางไปทั้งในเมืองและในชนบท ปัญหาก็เพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและในชนบท นี่เป็นความอับจนของการศึกษาอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นปัญหาการศึกษาที่พ่วงมากับลักษณะที่ว่า ได้กลายเป็นเครื่องมือเลื่อนฐานะทางสังคมซึ่งสืบเนื่องมาจากค่านิยมเจ้าคนนายคน

ต่อไปอีก ข้อที่สาม ก็คือปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา การกระจายโอกาสในทางการศึกษาไม่ทั่วถึงหรือไม่สม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นผลพ่วงมาจากการดำเนินการศึกษาแบบนี้ที่มีความพร้อมไม่เพียงพอ ตั้งแต่รัฐได้เริ่มต้นมาจนตลอดเวลาเท่าที่ผ่านมานี้ เราต้องแก้ปัญหาเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษากันมาเป็นปัญหาหนักทีเดียว แม้ว่าเราจะประสบผลสำเร็จพอสมควรในระดับประถมศึกษา ซึ่งเดี๋ยวนี้มีความเสมอภาคมากทีเดียว แต่ในระดับมัธยมและอุดมศึกษา เราก็ยังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จ และแม้ในระดับประถมศึกษานั่นเอง กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้มันก็กินเวลาตั้งเท่าไร และระหว่างนั้นมันได้ทำให้มีปัญหาแทรกซ้อนหรือคู่ขนานอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในเวลาสั้น นี้ จะยกมาสักปัญหาเดียวเป็นตัวอย่าง คือการที่วัดและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม อันนี้เป็นสภาพที่ได้เป็นมานาน จนกระทั่งตัวเลขพระเณรได้กลายเป็นดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และเป็นตัวเลขที่ชัดเจนมาก เราพูดได้ว่าวัดในเมืองในกรุงนี้ ก็คือชุมชนชนบทในเมือง วัดทั้งหมดทั่วกรุงเทพ ในปัจจุบันนี้ พระเณร ถ้าไม่ใช่ผู้บวชชั่วคราวในพรรษาแล้ว ๙๕% เป็นชาวนา ๙๙% เป็นชาวชนบททั้งสิ้น และเป็นผู้มาเพื่อการศึกษา และเข้ามาเพราะเข้าในระบบของรัฐไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขของพระเณรเหล่านี้จึงสัมพันธ์กับการจัดการศึกษาของบ้านเมือง พอการศึกษาของบ้านเมืองขยายไปถึงไหน ตัวเลขเณรก็หมดลงที่นั่น

 

ขอให้ดูเลยทุกแห่ง ถ้าการศึกษาของรัฐไปถึงไหน ตัวเลขเณรที่จะบวชก็หมดที่นั้น ฉะนั้น เวลานี้จึงมีตัวเลขเณรบวชมากที่สุดแถว ภาคอีสาน และภาคเหนือที่ห่างไกล
ถ้าเป็นภาคกลางก็มาจากชุมชนกันดารปลายแดน นี้ก็เป็นตัวอย่าง และเราจะต้องมองปัญหานี้รวมอยู่ในปัญหาการศึกษาของเรา คือของสังคมไทยทั้งหมดด้วย ขอพูดต่อไปก่อนเพราะเรื่องนี้เราอาจจะต้องโยงกลับมาอีกที

ทีนี้ ข้อที่สี่ เป็นปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับการศึกษา ซึ่งปรากฏชัดในปัจจุบันนี้ คือการที่เราพัฒนาให้ทันสมัย สร้างความเจริญทางวัตถุ แล้วระบบทุนนิยม อุตสาหกรรมเข้ามา เราพยายามที่จะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้น ถ้าไม่มีสติยับยั้งให้ดี
ไม่รอบคอบ แก้ปัญหาไม่เป็นในระดับชาติ และการศึกษาไม่รู้จักนำสังคม ก็ทำให้ระบบวัตถุนิยมเฟื่องฟู ทีนี้วัตถุนิยมที่เฟื่องฟูในลักษณะที่ไม่มีการนำทาง หรือปราศจากการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะเป็นวัตถุนิยมในลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดค่านิยมบริโภคซึ่งเป็นวัตถุนิยมในด้านที่ไม่ดี ถ้าเป็นวัตถุนิยมในด้านส่งเสริมการผลิตก็ยังดี แต่น่าเสียใจที่ของเรานี้มันเป็นค่านิยมบริโภค

ขณะนี้เรากำลังมีปัญหามาก กับการที่คนของเราส่วนมากมีค่านิยมบริโภคแทนที่จะมีค่านิยมในการผลิต แล้วเราก็ต้องมาคิดแก้ปัญหากันอย่างหนักว่าทำอย่างไรจะให้คนของเรามีค่านิยมในการผลิต เวลานี้คนของเรามุ่งไปแต่ในทางว่ามีอะไรต่ออะไรเพื่อให้โก้เก๋โอ่อ่า วัดเกียรติวัดฐานะกันด้วยยศลาภ มีการแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบกันเพื่ออำนาจ เพื่อเงินทอง เพื่อความโก้หรูหราฟุ้งเฟ้อ ไม่คิดในการที่จะสร้างสรรค์ทำงานผลิต เมื่อมีค่านิยมบริโภคไม่ชอบผลิตอย่างนี้ แม้แต่การพัฒนาทางวัตถุก็ยากที่จะสำเร็จด้วยดี

ปัญหาต่อไป ข้อที่ห้า ก็คือเรื่องความเสื่อมของสถาบันครู ครูมีสถานภาพทางสังคมตกต่ำเสื่อมโทรมลงไป ลดคุณค่าจากความเป็นปูชนียบุคคล ปัจจุบันนี้แม้แต่ตัวครูเองก็ไม่ค่อยจะยอมเป็นปูชนียบุคคลแล้ว และสังคมก็ไม่ค่อยยอมรับด้วย ฐานะของครูซึ่งเคยเป็นที่เคารพนับถือเดี๋ยวนี้เสื่อมทรามลงมาก นอกจากเสื่อมสถานภาพในทางสังคมแล้วก็มีคุณภาพเสื่อมลงด้วย เสื่อมลงเริ่มตั้งแต่การที่เอาคนที่มีสติปัญญาค่อนข้างด้อยมาให้ครุศึกษา เพราะว่าการเข้าสู่อาชีพครูกลายเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายก็ไม่มีโอกาสที่จะคัดเลือกคนดีมีคุณภาพ ซ้ำร้ายรัฐเองก็อาจจะไม่ค่อยมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพครูด้วย

 

ต่อไป ข้อที่หก ก็คือความเสื่อมโทรมจากคุณธรรม จริยธรรม และมีปัญหาทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่ครูสอนจริยธรรม นอกจากครูจะเป็นอาชีพหางแถวแล้ว ลึกลงไปในบรรดาครูด้วยกัน ครูจริยศึกษาเป็นครูหางแถวในบรรดาครูทั้งหมด เพราะฉะนั้นในเมื่อครูก็แย่อยู่แล้ว ครูจริยศึกษายิ่งแย่แล้วจริยศึกษาจะไม่แย่ได้อย่างไร มีผู้พูดกันมาอยู่เรื่อยว่าเอาคนที่สอนอะไรไม่ได้ไปสอนศีลธรรม ไปสอนจริยศึกษา ปัจจุบันนี้สังคมตระหนักถึงปัญหาจริยธรรมมากขึ้นแล้ว เพราะเราประสบปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคมนี้มากมาย เราก็เริ่มตื่นตัว แต่ว่าจริยศึกษาก็ไม่ทันการอยู่นั่นเอง

นอกจากการขาดครูทางด้านจริยศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว หันมาดูระบบการศึกษาของเราทั้งหมด อย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี่ทั้ง ที่เราก็พูดกันปาว ว่าเราจะต้องส่งเสริมจริยศึกษา แต่เวลาสอบคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยนี่เราเอาอะไร เราก็เอาแต่เนื้อหาวิชาเป็นหลักอยู่นั่นแหละ แล้วโรงเรียนมัธยมก็ต้องสนองความต้องการของมหาวิทยาลัย เพราะเรามีค่านิยมในการที่ว่าเรียนเพื่อมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย ไต่เต้าให้สูงที่สุด เพราะฉะนั้น โรงเรียนมัธยมก็แข่งขันกันในการที่ว่าจะผลิตนักเรียนที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยให้มากที่สุด เมื่อทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียกร้องจริยธรรมแล้ว โรงเรียนมัธยมจะไปสนองทำไม ทางฝ่ายมัธยมก็ให้การศึกษาที่เน้นเนื้อหาวิชาไปตามเดิม

ทีนี้ต่อไปอีก สุขภาพจิตของคนก็เสื่อมโทรมลงไปเหมือนในประเทศพัฒนาทั้งหลาย
มีความเครียด ความกระวนกระวายโรคจิต ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขัน ไร้น้ำใจ

ต่อไป ข้อที่เจ็ด ก็คือความเข้าใจต่อความหมายของการศึกษาเอง ปัญหานี้หยั่งลึกลงไปถึงรากฐานทีเดียว ดังที่พูดแต่แรกว่าเราให้การศึกษากันมาในระบบนี้ โดยเริ่มด้วยการที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อแก้ปัญหานั้นผ่านไปได้แล้วเราไม่ได้กลับมาตั้งหลักให้ดี การศึกษาเป็นเครื่องมือผลิตคนเข้ารับราชการ และการที่จะก้าวหน้ามีฐานะในสังคม มีลาภยศ มีทรัพย์สมบัติวัตถุบริโภคมาก สนองค่านิยมที่จะเป็นเจ้าคนนายคน และต่อมาก็สนองค่านิยมบริโภคด้วย ต่อมาชาวบ้านทั่ว ไปเขามองการศึกษาในความหมายอย่างไร เขาไม่เข้าใจความหมายของการศึกษาว่า เป็นการพัฒนาความสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนของตน แต่เขาเข้าใจการศึกษาว่าคือเครื่องมือในการเลื่อนสถานะทางสังคม อันนี้ชัดเจนมากทีเดียว ซึ่งก็เป็นผลพ่วงมาจากการดำเนินการศึกษาอย่างสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยมาเข้ากับเรื่องคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม และความต้องการแท้ ความ
ต้องการเทียม ชาวบ้านก็มีความต้องการเทียม คือการที่จะแข่งขันวัดฐานะกันในทุกสิ่งทุกอย่าง การศึกษาก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการที่จะวัดฐานะกันด้วย ก็จึงสนองความต้องการนี้ ทีนี้ความต้องการแท้ที่ว่าจะให้มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชนก็เลยถูกละทิ้งมองข้ามไปหมด ชาวบ้านไม่มองเห็นการศึกษาในความหมาย อย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้เขาจะมาพัฒนาชุมชนของเขาให้ได้ผลได้อย่างไร เพราะเขาไม่มองไม่สนับสนุนความหมายของการศึกษาในแง่นั้น

ต่อมาปัญหาใหม่ก็เกิดซ้อนขึ้นมาบนปัญหาเก่านั้นอีก กล่าวคือเมื่อลูกหลานของประชาชนเหล่านั้นหรือของชาวบ้านเหล่านั้น ได้รับการศึกษามาแล้วไม่สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้ กลับมาว่างงานแล้วกลับไปเป็นปัญหาแก่บ้าน ทีนี้ผลต่อไปคืออะไร ผลก็คือประชาชนปัจจุบันกำลังเริ่มหมดศรัทธาในการศึกษา ประชาชนเริ่มไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เพราะว่าไม่สนองความต้องการของเขาอันนี้ก็เป็นอันตรายยิ่งใหญ่ด้วย

ทีนี้ต่อไปอะไรอีก นอกจากหมดศรัทธาในการศึกษาแล้ว ประชาชนกำลังมีปัญหาตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือว่าชาวบ้านทั่วไปกำลังจะเพิ่มความไม่มั่นใจ ความไม่เชื่อถือในกลไกและระบบงานของรัฐ อันนี้จะเป็นปัญหามากเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐด้วย ในเรื่องนี้รัฐจะต้องไม่มองเฉพาะรายงานตามสายราชการเท่านั้น ขอให้ฟังเสียงนกเสียงกาด้วย เพราะว่าคนที่อยู่นอกวงราชการนี้ บางทีก็ได้เห็นอะไรที่ชัด เหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องนี้อย่าประมาท เพราะถ้าประชาชนหมดความเชื่อถือในกลไกระบบงานของรัฐเสียแล้ว จะเป็นสัญญาณอันตรายที่ร้ายแรง

 

เอาละนี่ก็เป็นปัญหาต่าง ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งเราจะต้องแก้ แต่ได้บอกแล้วว่าปัญหาเหล่านี้บางทีมันก็เป็นเพียงด้านต่าง ของปัญหาเดียวกัน แล้วก็เกิดมาจากเหตุเดียวกันหรือเหตุปัจจัยกลุ่มเดียวกัน หรือในกระบวนการเดียวกัน เราจะต้องพยายามโยงให้เห็นถึงกัน สาเหตุใหญ่ ของปัญหามีอะไรบ้าง ก็อย่างที่พูดมาแล้วเช่น

 

หนึ่ง

 การทำประเทศให้ทันสมัย แต่ต่อมาเมื่อจุดหมายเดิมเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ได้ปรับ
เปลี่ยนการกระทำ และไม่ได้ตั้งเป้าหมายใหม่รับให้พอดี การทำให้ทันสมัยนั้นก็เลยกลายเป็นการตามฝรั่งไป

สอง

 ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน และชุมชน
แตกสลาย ชนบทสูญเสียทรัพยากร ทรุดโทรมอ่อนแอ

สาม

 เรื่องวัตถุนิยมที่มาออกผลในด้านค่านิยมบริโภค แล้วก็

สี่

 การไม่รู้จักสังคมไทย นี้เป็นข้อสำคัญมากขอเน้นไว้ด้วย

 

ต่อนี้ไปก็อยากจะพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหาสักนิดหน่อย

แนวทางในการแก้ปัญหา

ดังได้กล่าวแล้ว สาเหตุสำคัญของปัญหาการศึกษาไทยซึ่งเป็นปัญหาไปด้วยในตัว ก็คือเรื่องสภาพชุมชนแตก และอีกอย่างหนึ่งคือการไม่รู้จักสังคมไทย เมื่อไม่รู้จักสังคมไทย ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศ ก็นำสังคมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมในลักษณะที่ทำให้ชุมชนรวนเรระส่ำระสาย เราจะเห็นว่าลักษณะการดำเนินนโยบายของรัฐนี้ คล้าย กับจะให้สังคมไทยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม แต่ในเวลาเดียวกันนั้น เพราะการไม่รู้จักไม่เข้าใจชุมชนหรือสังคมเพียงพอ ก็ทำให้ชุมชนรวนเรระส่ำระสาย ถ้าหากว่าเราเข้าใจสังคมของเราดี แม้ว่าเราจะมีวัตถุประสงค์ในการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เราก็จะมีวิธีการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่แนบเนียนกว่านี้ แม้ว่าการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้น จะยังเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ว่าเราควรจะทำแค่ไหน

ขอพูดต่อไปถึงแนวทางในการแก้ปัญหา การศึกษาเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของการพัฒนาสังคม และการพัฒนานั้นจะเป็นไปด้วยดีก็ต่อเมื่อองค์ประกอบทุกส่วนของสังคม พัฒนาไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน เพราะฉะนั้น แนวทางอย่างหนึ่งในการจัดการพัฒนาประเทศหรือพัฒนาสังคมก็คือ

 

หนึ่ง

 จะต้องให้กิจกรรมทุกอย่างในการพัฒนา ทั้งวิทยาการและระบบการทุกอย่าง
ทำงานอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลแก่กัน การศึกษาจะต้องเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาตามแนวทางนี้

สอง

 ในแง่ของการศึกษาโดยเฉพาะ จะต้องให้การศึกษาเป็นเครื่องช่วยให้องค์ประกอบทุกส่วนของชุมชน พัฒนาขึ้นไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน
นี้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งการศึกษาจะช่วยได้ และมีหน้าที่จะต้องช่วย แต่ขณะนี้ในการจัดการศึกษา เมื่อเรามองไปที่ชุมชนนั้น เรามองไปที่ไหน เรามองไปแต่ที่นักเรียนของเรา หรือมองไปที่โรงเรียนมากไป เราไม่มองว่าชุมชนนี้มีองค์ประกอบอะไรร่วมอยู่ด้วย และการศึกษาจะไปช่วยพัฒนาองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างไร นี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ก็คือจะต้องให้การศึกษาประสานกลมกลืนกับกิจกรรมอื่น ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาของชุมชน และ

สาม

 จะต้องให้สถาบันทุกฝ่ายที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา อันนี้พูดพันกันไปพันกันมาแต่เป็นสามด้านด้วยกัน

 

จะยกตัวอย่างข้อเน้นในเรื่องที่ว่า ผู้บริหารประเทศของเรานี่เกรงว่าจะไม่ค่อยรู้จักสังคมไทย ไม่เข้าใจชุมชนไทย ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เคยมีท่านผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบางท่านบอกว่า การศึกษาของรัฐรัฐก็จัด การศึกษาของวัดวัดก็จัด ต่างคนต่างทำ การพูดอย่างนี้ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง อาจจะเป็นนโยบายของประเทศไทยในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าได้ แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะว่านโยบายการศึกษาหรือการจัดการศึกษาของเราสืบเนื่องมาจากเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน เมื่อเราเริ่มจัดการศึกษานั้น วัดกับรัฐนี่ช่วยกันจัด แล้วสภาพนั้นก็ยังสืบทอดมา ยังตัดตอนไม่ได้ เมื่อไปตัดตอนเข้ามันก็เกิดผลเสีย เพราะฉะนั้นอันนี้จะต้องมองให้ชัด

ที่ว่าการพูดอย่างนั้นไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ก็เพราะเป็นที่ปรากฏชัดอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า การศึกษาของวัดรัฐจัดก็มี และการศึกษาของรัฐวัดจัดก็มี ที่ว่านั้นจึงไม่ตรงความจริง การศึกษาของวัดรัฐก็จัด ดังเห็นกันอยู่ว่าพระเณรพากันไปเข้าเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ นิยมไปเรียนของรัฐมากกว่าของวัดเอง ทีนี้การศึกษาของรัฐวัดก็จัด ก็คือคนของรัฐที่เข้าสู่ระบบของรัฐเองไม่ได้ก็มาเข้าวัด การที่มีพระเณรสองสามแสนรูปนั้น เฉพาะเณรที่เป็นแสนสองแสนนั้นก็คือเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไม่ได้ แล้วมาใช้วัดเป็นช่องทางการศึกษาแทบทั้งสิ้น ถ้าเราไม่จัดการกับเรื่องนี้ให้ดี ปัญหาสังคมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรามองไหมว่าปัญหาเรื่องอะไรต่าง ที่กำลังฉาวโฉ่เกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์นี้ มันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการศึกษาที่ตัดแยกกันนี้ด้วยเป็นผลระยะยาว

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า จำนวนพระเณรคือดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษา ที่มีมาจนถึงปัจจุบัน เช่นปัจจุบันนี้เรามีมหาวิทยาลัยทางโลกและมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในฝ่ายมหาวิทยาลัยทางโลกนี้ ท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปรายได้บอกแล้วว่า มีลูกชาวไร่ชาวนาเข้าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมดไม่ถึง ๑๐% ทีนี้หันไปดูมหาวิทยาลัยสงฆ์ อาตมภาพเคยสำรวจทั้งหมดในตึกเดียว ๖๗๘ รูป มีเกิดในกรุงเทพฯ หนึ่งรูป นอกนั้นเกิดในชนบททั้งสิ้น เป็นลูกชาวนาและกสิกรอื่น ๙๑.๖๙% นับว่าเป็นตัวเลขที่ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นให้ท่านดูได้เลยว่า ตัวเลขพระเณร คือดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษา อาจจะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไปอีกหลายสิบปีก็เป็นได้ ถ้าเราไม่จัดการกับเรื่องนี้ให้ดีแล้ว ผลเสียจะต้องเกิดขึ้นมากมาย ที่ว่ามานี้ในระดับรัฐ

ทีนี้ในระดับชุมชน เราจะต้องแยกแยะให้ดี จะต้องพิจารณาว่าชุมชนประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบหลักของชุมชน คือสถาบันบ้าน + วัด + โรงเรียน บ้าน วัด โรงเรียนนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดมา หน่วยราชการไปทำหน้าที่อะไรต่อชุมชน หน่วยราชการอยู่ในชุมชนได้จริงหรือเปล่า เป็นส่วนประกอบของชุมชนได้ไหม และควรจะไปอยู่ในฐานะอะไร หน่วยราชการอาจจะไปอยู่ในฐานะผู้คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ หรือไปช่วยอุปถัมภ์ให้กำลังเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับส่วนกลาง หรือเป็นตัวแทนของส่วนกลางที่คอยเอื้ออำนวยแก่ชุมชน อยู่ในฐานะเป็นคนนอกเสียมากกว่า แล้วตัวชุมชนเองมีใครบ้างจะต้องดูให้ออกให้หมด ที่แน่นอนก็คือบ้าน วัด โรงเรียน แม้วัดจะเลิกให้การศึกษาแก่นักเรียนแล้ว แต่วัดก็ยังให้การศึกษาแก่ชาวบ้านอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ไปรับการศึกษาจากวัด โดยเป็นแบบระบบนอกโรงเรียน หรือ Informal Education เป็นการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ วัดจะให้การศึกษาอยู่เรื่อยไป ถ้าปฏิบัติในเรื่องนี้ถูกต้อง วัดหรือพระก็จะยังคงเป็นหน่วยสำคัญที่จะช่วยในการทำให้ลูกกับพ่อแม่เข้ากันได้ หรือผู้ใหญ่เข้ากับเด็กได้ และให้บ้านกับโรงเรียนกลมกลืนกัน เจ้าอาวาสเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของชุมชน และพระก็เป็นคนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ

ถ้าเราสามารถทำให้พระมีการศึกษาดี ที่จะนำความคิดถูกต้องแก่ประชาชน ก็จะนำประชาชนไปในทางที่ถูกต้องได้ แต่ถ้าพระคุณภาพต่ำ อาจจะชักชวนชาวบ้านไปสู่ความหายนะก็ได้ ปัจจุบันนี้คุณภาพของพระเป็นอย่างไร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณา ถ้าคุณภาพของพระเสื่อมลงแล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไร

ทีนี้ต่อไปก็คือผู้นำในหมู่บ้าน ผู้นำในหมู่บ้านนี้เรามักจะมองข้ามไปไม่เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์กับวัดอย่างไร ผู้นำในหมู่บ้านนั้นนับว่าเป็นผู้บริหารวัดด้วยถัดจากเจ้าอาวาส ขอให้ไปดูเถิดในต่างจังหวัดนั้น ผู้นำของชาวบ้านจะไปบริหารวัดด้วย และวัดก็เป็นแหล่งที่ผู้นำของหมู่บ้านเหล่านี้มาพบปะทั้งกับพระและชาวบ้าน ผู้นำของชาวบ้านนี่เขาไปพบกับชาวบ้านที่ไหน โดยมากก็พบที่วัด แล้วเขาก็อาศัยวัดเป็นที่เข้าถึงชุมชน นอกจากเข้าถึงชุมชนแล้ว เขาก็แสวงหาความเป็นผู้นำของชุมชนโดยไปที่วัด แล้วก็ใช้วัดนั้นเป็นที่แสดงหรือใช้ความเป็นผู้นำด้วย รวมความว่าแสวงหาความเป็นผู้นำก็ที่วัด ใช้ความเป็นผู้นำของตนต่อประชาชนก็ที่วัด แม้แต่ครูเองก็ไม่เว้น ครูเองก็มักจะใช้ความเป็นผู้นำของตนและแสวงหาความเป็นผู้นำของตนจากที่วัดเหมือนกัน

 

เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ด้วย จะต้องไม่ละทิ้งองค์ประกอบสามประการของชุมชน จะต้องให้องค์ประกอบในชุมชนของเขาประสานกลมกลืนกัน ถ้าเรามองเห็นว่าการเจริญเติบโตพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนเป็นสิ่งสำคัญแล้ว เราจะละทิ้งองค์ประกอบของชุมชนเหล่านี้ไม่ได้ การวางนโยบายการ ศึกษาจะต้องครอบคลุมชุมชนทั้งหมดด้วย

แม้มาถึงระดับของรัฐก็เหมือนกัน การที่กระทรวงศึกษาธิการมีทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาและมีกรมการศาสนาอยู่ในนั้น ได้เป็นประเพณีมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าท่านเห็นว่าสถาบันศาสนากับชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ปัจจุบันนี้ในเมื่อมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ การที่เราจะมองกิจการศาสนากับการศึกษาแยกกันย่อมไม่ถูกต้อง แต่ตามที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทั้งที่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน เวลาเรามองเรามักมองด้วยความรู้สึกเหมือนว่าเป็นกิจการคนละอย่าง ถ้าอย่างนี้แล้วก็จะไม่ประสานไม่กลมกลืนกัน ไม่สอดคล้องกับระบบของเราที่มีมาแต่เดิม แล้วก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่กำลังเป็นอยู่ด้วย ฉะนั้นการวางนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะวางโดยเป็นแผนรวมที่ให้การศึกษากับศาสนาเข้ามาประสานสอดคล้องกัน คณะสงฆ์จะต้องมาร่วมด้วย จะต้องพิจารณาว่าทางคณะสงฆ์จะจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะกลมกลืนเอื้อต่อกันกับระบบการศึกษาของรัฐเป็นต้น และในระดับชุมชนก็ต้องให้มีความประสานกลมกลืนในการพัฒนา ทั้งของพระสงฆ์ ชาวบ้าน และเด็กนักเรียน

อันนี้ก็เป็นปัญหาต่าง ที่จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะสภาพชุมชนปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องรีบพิจารณาแก้ไข ขอพูดอย่างสั้น ว่า ในบรรดาสถาบันหรือองค์ประกอบหลักของชุมชนที่มีสาม คือบ้าน วัด และโรงเรียนนั้น เวลานี้เรามองไปที่โรงเรียนครูก็จ๋อง เดี๋ยวนี้ครูจ๋องแล้ว โดยตกต่ำทั้งคุณภาพและสถานภาพ ทีนี้ต่อไปมองมาที่วัดพระก็เจ็บ ตอนนี้พระกำลังป่วยร่อแร่ อยู่ โดยขาดทั้งสมรรถภาพและประสิทธิภาพที่จะนำชาวบ้านไปด้วยดี และมีความเสื่อมโทรมอ่อนแอปรากฏขึ้นทั่วไป ทีนี้ สาม มองไปที่บ้าน ตาสีก็กำลังโซ ตาสีนี่โซทั้งทรัพย์และโซทั้งสติปัญญา และเมื่อมองหาผู้คนที่จะมาช่วยแก้ปัญหาต่อไป ก็ปรากฏว่าลูกหลานของตาสีตาสาได้พากันออกจากหมู่บ้านไปแทบหมดแล้ว นี่คือสภาพชุมชนของเราในปัจจุบัน เราจะทำอย่างไร ก็ต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหา และจะช่วยแก้ปัญหาก็ต้องช่วยทั้งชุมชน มองปัญหาทุกอย่างในลักษณะที่เรียกว่าสัมพันธ์โยงซึ่งกันและกัน แล้วก็วางวิธีการแก้ไปตามหลักการที่ว่า เหตุปัจจัยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จะต้องทำให้องค์ประกอบทั้งหลายพัฒนาไปโดยมีความประสานกลมกลืนกัน

การแก้ปัญหามิใช่มีเพียงเท่านี้ แต่ในเวลาที่จำกัด ก็ต้องยกมาพูดเน้นให้เด่นชัดเพียงบางเรื่องบางข้อ จากส่วนย่อยในระดับชุมชนนี้ ขอข้ามขึ้นไปถึงส่วนรวมทั้งหมดในระดับชาติเลยทีเดียว เรื่องสำคัญที่พูดไว้แต่ต้นซึ่งขอย้ำในที่นี้ คือเรื่องจุดหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการศึกษาจะต้องช่วยกำหนดวางและทำให้คนในสังคมนี้ตระหนักชัด ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันของคนในชาติ ได้พูดไว้ข้างต้นว่าเมื่อเริ่มการศึกษาสมัยใหม่ เราพัฒนาประเทศเพื่อให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย เพื่อจะได้สามารถต่อสู้ต้านทานลัทธิอาณานิคม แต่เมื่อจุดหมายนี้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เราปล่อยให้การพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทันสมัย ดำเนินไปอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายที่ชัดเจน จนกระทั่งการสร้างความเจริญก้าวหน้านั้น จะมีความหมายเพียงเป็นการตามอย่างฝรั่งหรือตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วไปเรื่อย

เป็นอันว่าเราจะต้องตั้งจุดหมายใหม่ขึ้นมาให้ชัดเจน แต่จะเอาอะไรเป็นจุดหมาย ถ้าจะตั้งให้ได้ผลอย่างญี่ปุ่นว่า จะต้องให้ชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด เจริญที่สุด ก้าวหน้ายิ่งกว่าประเทศใด ก็เห็นว่าไม่น่าสนับสนุน เพราะมีลักษณะคับแคบ เป็นทางก่อปัญหาแก่มนุษย์ร่วมโลกในระยะยาว

ขอเสนอว่าไหน เราก็ถลำหรือพลาดกันมานานแล้ว ก็ควรจะตั้งจุดหมายที่ดีที่สุดและก้าวหน้าที่สุด เวลานี้กำลังเกิดความสำนึกกันมากขึ้นว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายกำลังจะถึงจุดติดตัน วิทยาการต่าง กำลังจะถึงที่อับจน อารยธรรมของมนุษย์กำลังจะหลงทิศทาง ในสภาพเช่นนี้โลกต้องการภูมิปัญญาใหม่ที่จะชี้นำทางให้ สังคมไทยน่าจะพิสูจน์ตนเองว่ามิใช่สามารถแต่เพียงตามอย่างเขาไปเรื่อย ไม่ว่าจะไปสู่วัฒนาหรือหายนะเท่านั้น แต่มีภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะเสนอให้เป็นส่วนร่วม ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้ด้วย จุดหมายที่จะตั้งขึ้นนี้ พึงมุ่งให้เห็นทางออกของอารยธรรมมนุษย์ ชี้นำทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่ถูกต้องให้แก่มวลมนุษย์

จุดหมายที่ตั้งขึ้นแล้ว จะเร้าให้เกิดจิตสำนึกและเกิดพลังในการที่จะสร้างสรรค์ความก้าวหน้าของวิทยาการ การจัดวางระบบการต่าง ตลอดจนปฏิบัติการทั่ว ไปในการพัฒนาให้มุ่งแน่วแน่ไปในแนวทางที่ร่วมกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงอยู่กันไปและทำกันไปอย่างเปะปะเลื่อนลอย ซึ่งเมื่อไม่รู้ว่าจะทำเพื่ออะไรที่ดีกว่า ก็เลยกลายเป็นเพียงนักบริโภค หันไปเอาดีด้วยการอวดเก่งอวดโก้ในหมู่พวกเดียวกันเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องจุดหมายนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพูดกันอีกมาก ในที่นี้เพียงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมี และเสนอแนวคิดกว้าง ว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีแล้วก็มาช่วยกันทำให้ชัดเจนต่อไป ซึ่งคงจะต้องพูดกันอีกมาก คราวนี้ขอยกเรื่องตั้งรูปขึ้นมาเพียงเท่านี้ก่อน อาตมภาพก็ขอเสนอไว้และขออนุโมทนา


Back