จริยธรรมต้องครบวงจร



| ตัวอย่างที่ ๑ | | ตัวอย่างที่ ๒ | | ตัวอย่างที่ ๓ |

 

ตัวอย่างที่ : เสรีภาพในการแสดงออก

 

ตอนนี้ขอพูดผ่านไปถึงว่า การฝึกและการใช้จริยธรรมต้องเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร ปัจจุบันนี้เขานิยมใช้คำว่า "ครบวงจร" อะไร ก็ต้องครบวงจร พูดกันมากเหลือเกิน อีกคำหนึ่งก็คือ "บูรณาการ" ชักเข้ามามาก ที่จริงจริยธรรมก็เป็นเรื่องแบบเดียวกันนั้นแหละ ต้องครบวงจรเหมือนกัน จริยธรรมก็ต้องเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร ถ้าไม่ครบวงจรก็เกิดผลเสีย จริยธรรมที่ครบวงจรนี่จะยกตัวอย่าง เพราะถ้าจะอธิบายก็กินเวลามาก ต้องมีตัวอย่างจึงจะเห็นง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การแสดงออกโดยเสรี

 

เดี๋ยวนี้เป็นยุคประชาธิปไตย แม้แต่ในวงการศึกษาก็ถือว่าจะต้องฝึกฝนประชาธิปไตย และการมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงออกอย่างเสรี ก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย และก็เป็นองค์ประกอบทางจริยธรรมด้วย เรื่องนี้จะมาสัมพันธ์กับการปฏิบัติจริยธรรมให้ครบวงจรอย่างไร ที่ว่าต้องครบวงจรก็เพราะว่า จริยธรรมแต่ละข้อย่อมมีความสัมพันธ์กับข้ออื่น โดยมีจุดมุ่งหมายและมีการรับส่งต่อกันไปเป็นทอด เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น ดังนั้น จริยธรรมทุกข้อจะต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร หรือเพื่อผลอะไร

 

การแสดงออกอย่างเสรีหรือเสรีภาพในการแสดงออกมีจุดมุ่งหมายอย่างไร อันนี้มีเรื่อง ที่จะต้องพูดกันหลายแง่หลายมุม แง่หนึ่งก็คือเอาด้านความสัมพันธ์ก่อน แล้วมันจะโยงไปถึงความมุ่งหมาย เราจะเห็นว่าการแสดงออกโดยเสรีนี่มันคู่กันกับการรับฟังผู้อื่นใช่ไหม คือเมื่อเราแสดงออกโดยเสรี เช่นแสดงความคิดเห็นของเราออกไป เราก็ต้องยอมให้คนอื่นเขาแสดงความคิดเห็นโดยเสรี คือยอมรับฟังเขาด้วย แต่ตัวแกนหรือสาระสำคัญของการแสดงออกโดยเสรี และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนั้นคืออะไร คือการแสวงปัญญา ต้องการรู้ความจริง หาความถูกต้อง มองเห็นเหตุผลถูกไหม

 

เมื่อแสดงออกโดยเสรี คนมีความคิดเห็นก็จะได้สามารถใช้ความคิดเห็นของตนมาช่วย ประกอบในการที่จะร่วมกันคิดพิจารณาให้ถึงความรู้ที่ถูกต้อง กล่าวคือคิดหาเหตุผลที่ถูกต้องเท่าที่สามารถและนำมาแสดงออก เมื่อนำมาแสดงออกแล้วก็เป็นการแลกเปลี่ยนกัน คนอื่นเขาก็มีความคิดเห็นของเขา ก็มาพูดให้เราฟังบ้าง แลกเปลี่ยนกันไปกันมา ก็เข้าถึงปัญญา เข้าถึงสัจธรรมความรู้จริง เกิดความรู้แจ้งขึ้นมา ได้สิ่งที่ถูกต้องที่จะใช้ปฏิบัติให้บรรลุความมุ่งหมาย โดยนัยนี้เสรีภาพในการแสดงออกก็คู่กันกับการรับฟังผู้อื่น ฉะนั้น
ถ้าจะฝึกการแสดงออกโดยเสรีก็ต้องฝึกการรับฟังผู้อื่นด้วย จะฝึกแต่การแสดงออกโดยเสรีอย่างเดียวไม่ได้

 

นอกจากการรับฟังผู้อื่นแล้ว การแสดงออกอย่างเสรีสัมพันธ์กับอะไรอีก สังคมที่มีการแสดงออกโดยเสรีที่ดำเนินไปอย่างถูกต้อง จะเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัยมาก อย่างเช่น อเมริกาก็เป็นประเทศที่มีการแสดงออกโดยเสรี แต่ในประเทศนี้สังคมก็จะต้องมีระเบียบวินัยค่อนข้างดีด้วย คนจะต้องมีการฝึกตนในเรื่องระเบียบวินัยจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา ดังนั้น พร้อมกันไปกับที่เขาแสดงออกโดยเสรีนั้นก็จะมีตัวคุม กล่าวคือระเบียบวินัย นี้มีระเบียบวินัย มีกฎเกณฑ์ของสังคมเป็นเครื่องควบคุมกำกับยับยั้งชั่งใจให้อยู่ในกรอบ ทำให้การแสดงออกโดยเสรีอยู่ในขอบเขตที่ถือว่าพอดี ระเบียบวินัยนี้รวมไปถึงกฎเกณฑ์ของสังคมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในสังคมด้วย

 

นอกจากนี้ ในสังคมที่มีการแสดงออกโดยเสรีนั้นปรากฏว่ายังต้องเป็นสังคมที่แต่ละ คนต้องมีความรับผิดชอบตัวเองมากด้วย คือเมื่อตัวเองแสดงออกโดยเสรี ตัวเองก็จะต้องรับผิดชอบในการแสดงออกนั้นมากด้วย นอกจากรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์ของสังคมแล้ว ก็รับผิดชอบต่อบุคคลอื่นและต่อสิทธิของคนอื่นด้วย เช่นอย่างในสังคมอเมริกันนั้น พร้อมกับที่แสดงออกโดยเสรีก็มีสิทธิที่จะถูกซูได้ง่าย ด้วย ในสังคมอเมริกันนั้น คำว่า "ซู" (sue) คือการเรียกร้องค่าเสียหาย นี่ใช้กันมากเหลือเกิน ถ้าไปละเมิดสิทธิคนอื่นปั๊บนี่ถูกซูทันที เพราะฉะนั้นเขาแสดงออกโดยเสรีจริง แต่ก็มีตัวคุมมากเหลือเกิน คุมทั้งในทางสังคมและคุมทั้งระหว่างบุคคลด้วยกัน โดยเฉพาะด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี้ถูกคุมอย่างหนักเลย ถ้าไปละเมิดเขาปุ๊บเขาก็ซูปั๊บ แต่ในเมืองไทยเราไม่เป็นอย่างนั้น

 

ยกตัวอย่างเช่น อาชีพแพทย์ คนไทยเราใช้ระบบจริยธรรมทางจิตใจมาก มีการเคารพนับถือกัน ให้เกียรติแพทย์ แพทย์จะรักษาก็ต้องมีน้ำใจ เพราะว่าคนไข้เขามีน้ำใจมีความเคารพนับถือ แพทย์ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางจิตใจ มีความเมตตากรุณาต่อคนไข้ รักษาด้วยความเอาใจใส่โดยมุ่งประโยชน์แก่คนไข้ มีความเมตตาต้องการรักษาให้เขาหาย จึงจะไปด้วยกันได้กับน้ำใจที่มีความเคารพนับถือ แต่ถ้าไปตามอย่างสังคมแบบประเทศอเมริกา ความเคารพกันและน้ำใจต่อกันนั้นจะค่อย หมดไป คนไข้ก็ไม่มีความรู้สึกเคารพแพทย์ ไม่ได้นับถือบูชา คิดแต่เพียงว่าจะต้องมอบเงินแค่นี้ไป เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจที่จะแลกเปลี่ยนซื้อขายบริการกัน แพทย์ก็อาจจะมีความรู้สึกแบบธุรกิจ คือมองว่าฉันจะได้เงินฉันจึงรักษาคุณ เพราะฉะนั้นฉันจะรักษาให้ก็เพราะคุณมาซื้อบริการ แต่อย่าพลาดนะ ฝ่ายคนไข้ก็คอยดูอยู่ ถ้าหมอพลาดนิดหนึ่งฉันซูฟ้องเรียกค่าเสียหายเลย เมื่อไม่มีน้ำใจแล้วมันก็เป็นธุรกิจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

ทีนี้ สังคมไทยปัจจุบันนี่กำลังอยู่ระหว่างครึ่ง กลาง ในแง่หนึ่งสังคมของเรามาตามประเพณีเดิมในแบบมีน้ำใจ คนไข้มีความเคารพนับถือหมอ หมอเป็นคนประเภทหนึ่งในสังคมที่ได้รับเกียรติมาก อยู่ในกลุ่มพระ ครู แพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเคารพนับถืออย่างสูง เพราะฉะนั้น หมอจะไปที่ไหนเขาก็มีความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณอยู่แล้ว หมอรักษาไปคนไข้ก็คอยกราบไหว้ มีความเคารพซาบซึ้งบุญคุณ ทางฝ่ายแพทย์ก็ต้องมีเมตตาตอบแทนดังที่ว่าเมื่อกี้ แต่เวลานี้สังคมกำลังเปลี่ยนมาสู่แนวทางธุรกิจ ก็ชักจะกลายเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนด้วยทรัพย์สินเงินทอง คนไข้ก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องนึกถึงบุญคุณของแพทย์ หรือนึกถึงบ้างก็เป็นเรื่องเล็กน้อย ข้อสำคัญคือให้ค่าตอบแทนไปก็แล้วกัน ฉันจ้างคุณก็รีบไปรักษานะ

 

ทีนี้ ถ้าก้าวไปถึงวัฒนธรรมธุรกิจอย่างอเมริกา ก็เลยต่อไปว่าเธอต้องรักษาฉันให้ถูกต้องนะ ถ้าเธอรักษาผิดพลาดไปฉันจะซูเธอ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะฉะนั้นก็เลยมีการฟ้องกันบ่อย แพทย์บางทีก็ทำดีตั้งใจรักษาเพราะว่าต้องระวังตัวที่จะไม่ให้ผิดพลาด กลัวว่าคนไข้เขาจ้องจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ใช่ตั้งใจรักษาให้ดีเพราะมีเมตตากรุณาปรารถนาดีต่อคนไข้ ฉะนั้นแพทย์บางคนถึงจะรวย แต่ถ้าไม่ระวังตัวให้ดีบางทีถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายรายเดียวเท่านั้น ชดใช้ชั่วชีวิตไม่พอ นี้เป็นเรื่องสำคัญ

 

การแสดงออกอย่างเสรีจะต้องเป็นไปด้วยความระวังตัวในทุกอย่าง แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างครอบครัว เด็กบ้านนี้ไปบ้านโน้นไปกินอาหารของเขาแล้วท้องเสีย บางทีพ่อแม่บ้านนี้ซูฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้านนั้น อย่างนี้เมืองไทยเราทำไหม เราอยู่บ้านนี้ไปเยี่ยมเพื่อนอยู่อีกเมืองหนึ่งไปพักในบ้านเขา เวลาจะออกจากบ้านทั้ง ที่เป็นเพื่อน ก็เขียนบิลให้กันช่วยค่าใช้จ่าย อาตมาไปเห็นด้วยตาตนเอง เมืองไทยเราทำได้ไหม อย่างนั้น

 

เรื่องตัวอย่างในประเทศอเมริกาที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องของระเบียบที่ไม่เป็นทางการของสังคม เป็น tradition เป็นธรรมเนียม ประเพณี แต่มันก็มีสาระที่บ่งชัดอยู่ในตัว คือการที่จริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีอยู่หรือเกิดขึ้นได้ โดยจะต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับองค์ประกอบทางจริยธรรมอย่างอื่น สมมุติว่า เราจะนำเอาการแสดงออกอย่างเสรีเข้ามาจากอเมริกานี่ เราได้นำเอาองค์ประกอบอื่นที่สัมพันธ์กับมันเข้ามาพร้อมด้วยหรือไม่ ทั้งตัวคุมคู่ดุลคือการรับฟังผู้อื่น และตัวคุมจุดหมาย คือการใฝ่แสวงปัญญา นี้เป็นอย่างน้อยที่สุด

 

โดยเฉพาะอย่างที่สองเป็นแกนสำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานสำคัญกว่าอย่างอื่น คือในการที่คนใดคนหนึ่งแสดงออกโดยเสรีนั้น เขามีความใฝ่แสวงสัจธรรมหรือใฝ่แสวงปัญญาอยู่หรือเปล่า หรือเป็นเพียงการแสดงออกโดยเสรีแบบเลื่อนลอยครึ่ง กลาง ถ้าแสดงออกเสรีโดยเลื่อนลอย มันก็อาจจะกลายมาเป็นเครื่องสนองมานะ ที่เป็นตัวพื้นฐานนิสัยของคนไทยคนเดิม แล้วจะกลายเป็นตัวร้ายที่สุดเลย เมื่อนำเอามาแล้วแทนที่จะดีกลับยิ่งร้าย การแสดงออกเสรีนั้น แทนที่จะเป็นตัวสร้างเสริมประชาธิปไตย ก็จะกลับกลายเป็นเครื่องทำลายประชาธิปไตย ฉะนั้นถ้าเราไม่ได้เอาสาระ คือการใฝ่แสวงปัญญา ความใฝ่รู้ความจริง หรือความต้องการเหตุผลมาด้วย การแสดงออกโดยเสรีก็จะกลายเป็นตัวสนองมานะ ดังเช่นที่ว่าเมื่อกี้ คือต้องการอวดเด่น แสดงออกโดยเสรีเพื่อให้เห็นว่าฉันแน่เท่านั้นเอง และก็จะต้องเอาชนะให้ได้ ยอมใครไม่ได้ ผลที่สุดการแสดงออกโดยเสรีอย่างนี้ ไม่มีทางส่งเสริมประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ

 

การเสาะแสวงปัญญาก็มาคู่กับการยอมรับฟังผู้อื่นอย่างที่กล่าวแล้ว นี่เป็นตัวประกอบที่ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด แต่นอกจากนั้นแล้วยังมีตัวประกอบหรือตัวควบคุมอื่นที่จะมาช่วยอีก เช่นระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ของสังคม tradition คือ ประเพณีหรือธรรมเนียมของสังคมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ว่าจะละเมิดกันไม่ได้ ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่นสูง เพราะเหตุที่ว่าต้องคอยระวังตัว ฉะนั้นการแสดงออกโดยเสรีก็ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบด้วยอย่างสูง เพราะจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่น ด้วยเหตุว่าถ้าละเมิดเขาแล้วตัวเองจะต้องถูกซู จะถูกเรียกค่าเสียหายได้ง่ายที่สุด แต่คนไทยเรานำหลักการแสดงออกโดยเสรีมาใช้นี่เป็นแบบครึ่ง กลาง เหลือเกิน แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก

 

ในสังคมของฝรั่งนั้น พ่อแม่กับลูกมีความสัมพันธ์ไม่เหมือนคนไทย ในสังคมอเมริกันนี่พอลูกโตหน่อย พอวัยรุ่นอายุ ๑๗, ๑๘ พ่อแม่อาจจะบอกว่า เออ... แกออกจากบ้านได้ถึงเวลาที่แกจะดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาเงินหาทองได้แล้วไปหาเงินหาทองรับผิดชอบตัวเอง แต่พ่อแม่เมืองไทยเป็นอย่างไร เป็นลูกแหง่อยู่จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ยังตามกันแจ พ่อแม่ตามดูแลเอาใจใส่ ลูกยังมาตามขอเงินขอทองพ่อแม่ได้อยู่ เป็นอย่างนี้ แต่มันก็มีแง่ดี ตามประเพณีของเราคนแก่ได้รับความเคารพนับถือเอาใจใส่ ลูกมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กันจนกระทั่งแก่เฒ่า เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าลูกก็ไม่ทิ้ง มันก็ดีไปทางหนึ่ง แต่ละระบบก็มีข้อดีและข้อเสียของตนเอง

 

อย่างเมืองฝรั่ง คนแก่ว้าเหว่มาก ลูกจะไปเอาใจใส่อะไรล่ะ เพราะฉันโตฉันก็เลี้ยงดูตัวเอง ตั้งแต่อายุ ๑๗, ๑๘ ฉันก็ออกจากบ้านไปหางานหาการทำ แม้แต่เรียนหนังสือในระบบฝรั่งพ่อแม่มีเงินไม่ใช่ไม่มีเงินนะ แต่ลูกก็ไปหางานทำเพื่อเอาเงินมาเสียค่าเทอมของตนเอง จริงอยู่พ่อแม่ก็ยังช่วยบ้างแต่การรับผิดชอบตัวเองของลูกนี่สูง ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ก็จะต้องหัดที่จะให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง เรียกทางธรรมว่าพ่อแม่ฝรั่งใช้อุเบกขามาก ฉะนั้นการแสดงออกโดยเสรีนี้ก็เป็นการฝึกฝนเตรียมไว้ ในการที่ตัวเขาจะต้องไปรับผิดชอบดิ้นรนต่อสู้ชีวิตของเขาเอง จะต้องเป็นผู้ใหญ่รู้จักรับผิดชอบพึ่งพาตนเองได้ การแสดงออกโดยเสรีอย่างนั้น ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของระบบชีวิตที่ว่าจะต้องดิ้นรนรับผิดชอบตนเอง

 

ทีนี้ฝ่ายคนไทยเรานำเอามาไม่ครบกระบวนการ ไม่ครบวงจร เอามาใช้เฉพาะตัวการแสดงออกล้วน ลอย ก็เกิดปัญหาขึ้น เอาการแสดงออกเสรีมาปล่อยเข้าในระบบการเลี้ยงดูแบบตามใจลูก พ่อแม่ตามใจลูกหมด ลูกแสดงออกโดยเสรีก็กลายเป็นลูกบังเกิดเกล้า เดี๋ยวนี้พูดกันบ่อย หมายความว่าลูกจะเรียกร้องอย่างไรก็ต้องตามใจใช่ไหม ลูกที่แสดงออกโดยเสรีแล้วนี่ต่อไปก็เรียกร้องกันเรื่อย เมื่อแสดงออกเสรีโดยไม่ฝึกให้รู้จักรับ
ผิดชอบ ก็มีการแสดงออกเสรีแบบตามใจตัวเองโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่อใคร ยิ่งมีแต่คนที่รอจะตามใจอยู่แล้ว ก็เลยเป็นการแสดงออกเสรีแบบตามใจตัวเองชนิดไม่มีเหตุผล
โตขึ้นก็ติดความเคยตัวนี้ไป ต่างคนต่างเป็นอย่างนี้ก็เลยคุมกันไม่อยู่ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะการแสดงออกเสรีนั้น ขาดลอยจากระบบความสัมพันธ์ไม่มาพร้อมกันกับองค์ประกอบอย่างอื่น ของมัน และขาดความรู้ตระหนักในจุดมุ่งหมาย นี้คือตัวอย่างอันหนึ่งของจริยธรรมที่ไม่ครบวงจร

 

ในระบบจริยธรรมที่ครบวงจร การแสดงออกอย่างเสรีนั้นจะเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริง โดยจะต้องเป็นพฤติกรรมแห่งการใฝ่แสวงปัญญา หรือแสวงหาสัจจธรรม ต้องการเข้าถึงความรู้จริง เราให้มีการแสดงออกโดยเสรี เพื่อว่าคนจะได้ฝึกหัดใช้ความคิดและเหตุผล และจะได้มาแลกเปลี่ยนเสริมต่อความคิดเห็นของกันและกัน เอาภูมิปัญญามาช่วยเสริมกันเป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์ประกอบในกระบวนการ ที่จะเข้าสู่การรู้แจ้งสัจจธรรม และเป็นการดึงเอาศักยภาพของบุคคลแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ หรือเปิดช่องทางให้ศักยภาพของบุคคลแต่ละคนนั้นหลั่งไหลออกมารวมกันเป็น กระแสแห่งพลังปัญญาธรรม ที่จะแก้ปัญหาหรือทำการสร้างสรรค์ให้สำเร็จผลตามหลักการแห่งประชาธิปไตย หากปราศจากความมุ่งหมายเช่นนี้การแสดงออกเสรีก็เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์และจะเฉออกไปสู่ทางแห่งการก่อโทษ การแสดงออกโดยเสรีที่แท้ย่อมเป็นอย่างนี้

 

เป็นอันว่าพื้นฐานและสาระอันนี้จะต้องหยิบขึ้นมาให้ได้ คือจะต้องฝึกการแสวงปัญญาและความใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นพร้อมกันไปกับการรับฟังผู้อื่น ฝึกไปด้วยกัน ฝึกเนื้อแท้ในใจคือการใฝ่แสวงปัญญา และฝึกภายนอกคือการรับฟังผู้อื่น นอกจากนั้นก็ต้องฝึกความมีระเบียบวินัย คุมการแสดงออกให้อยู่ในขอบเขตแห่งกฎเกณฑ์ของสังคมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ตลอดจนความรับผิดชอบต่อตัวเอง อย่างนี้จึงจะเป็นจริยธรรมที่ครบวงจร แต่หันมาดูปฏิบัติการทางจริยธรรมในปัจจุบัน มีการฝึกอย่างรายละเอียดรายการสินค้ายกเอามาเป็นอย่าง ว่า ข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ มีวิธีการผลิตอย่างนี้เป็นข้อ ไป โดยไม่สัมพันธ์ไม่โยงกัน ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของจริยธรรมจึงยากที่จะได้ผลดี

 

ตัวอย่างที่ : สันโดษ

 

ต่อไปอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ สันโดษ สันโดษนี่มันขาดวงจรไปเสียนานแล้ว สันโดษ เราแปลกันว่า ความพอใจตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่ตัวมี สันโดษแล้วเป็นอย่างไร สันโดษแล้วก็จะได้มีความสุข เพราะว่าถ้าเราพอใจในสิ่งที่เรามีแล้ว เราก็ไม่ทะเยอทะยานไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ก็มีความสุขได้ ก็ถูกก็มีความจริง แต่อย่างนั้นเป็นความมุ่งหมายของสันโดษหรือเปล่า ตอบว่าไม่ใช่ ที่จริงการมีความสุขเป็นผลพลอยได้ของสันโดษ สันโดษทำให้มีความสุขได้ถูกต้อง แต่เราดูมันครบวงจรหรือยัง ตอบว่าไม่ครบ

 

ในแง่หนึ่ง สันโดษนี้ป้องกันความโลภ คือ ไม่ให้โลภของผู้อื่น ให้มั่นอยู่ที่ของตัวเอง ให้พอใจในสิ่งที่ตัวมีที่เป็นสมบัติของตัวเอง ซึ่งจะมีความหมายไปถึงว่ามีความพอใจในสิ่งที่เป็นของ ตน ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตน และโดยชอบธรรม สันโดษนี้จึงป้องกันความโลภและการทุจริต คือได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเองและโดยชอบธรรม ไม่ใช่ไปลักของเขามา ไม่ได้ไปละเมิดคนอื่นมา ไม่ได้ไปเอาของใครมา พอว่าอย่างนี้ความหมายก็กว้างขึ้นและไปสัมพันธ์กับเรื่องอื่น สัมพันธ์ในแง่ที่ว่าเมื่อสันโดษก็พอใจในของของตน แต่การที่จะได้มาเป็นของตัวเองก็ต้องได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเอง ต้องทำเอาเองโดยชอบธรรม โดยสุจริต คราวนี้ความหมายเริ่มกว้างขึ้นแต่ก็ยังไม่ครบวงจร จะให้ครบวงจรอย่างไร ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า สันโดษเพื่ออะไร จริงอยู่ที่ว่า ถ้าสันโดษแล้วก็มีความสุข แต่บอกแล้วว่าความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ของสันโดษเท่านั้น ตัวความมุ่งหมายของสันโดษยังไม่มา

 

ความสันโดษมีความมุ่งหมายอะไร สันโดษเพื่ออะไร คนที่ไม่สันโดษย่อมมุ่งแต่จะแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง เมื่อมุ่งแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง จิตใจก็กระวนกระวาย ได้แต่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับการหาสิ่งปรนเปรอความสุขของตัว นี้เป็นผลด้านหนึ่ง แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือด้านการใช้เวลาและแรงงาน เขาก็ต้องทุ่มเทอุทิศเวลาและแรงงานไปในการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอตัวเองเหล่านั้น แรงงานและเวลาจะหมดเปลืองไปกับการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอ จนไม่เป็นอันทำกิจหน้าที่

 

สันโดษนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนเน้นเป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ เพราะว่าชีวิตของพระสงฆ์นี้มีหลักการเบื้องต้นว่าเป็นคนที่ชาวบ้านเลี้ยง จึงต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย แล้วก็จึงควรจะอยู่ง่าย อยู่ง่ายก็หมายความว่า มีวัตถุแต่เพียงพอประมาณเท่าที่จำเป็น หรือเท่าที่เป็นสัปปายะ คือพอสบายให้เกื้อกูลแก่การดำเนินสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไป นี่ก็คือการที่จะต้องสันโดษ และเหตุผลที่พระสงฆ์ต้องสันโดษนั้น นอกจากเพื่อทำตัวให้เขาเลี้ยงง่ายแล้ว ที่สำคัญยิ่งและสัมพันธ์กับการเป็นผู้เลี้ยงง่ายนั้นเอง ก็คือจะได้ตัดความวุ่นวายกังวลในการแสวงหาวัตถุ และจะได้มุ่งมั่นทำกิจหน้าที่หรืองานของพระสงฆ์ได้เต็มที่ คือจะได้เอาเวลาและแรงงานของตัวเองไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ของสมณะ ไม่ต้องมากังวลวุ่นวายกับการแสวงหาปัจจัยสี่ ไม่ต้องมามัวครุ่นคิดแต่ว่าจะหาอาหารเอร็ดอร่อยฉันได้อย่างไร ไม่ต้องคิดเดือดร้อนกับการจะหาจีวรสวย งาม มาห่ม หรือหาที่อยู่อาศัยที่หรูหราอะไรต่าง ซึ่งจะทำให้ต้องแสวงหาวัตถุปัจจัยวุ่นวาย จะได้เอาเวลาและแรงงานนั้นไปใช้ทำหน้าที่การงานของสมณะ จะไปบำเพ็ญสมาธิหรือจะไปเทศนาสั่งสอนประชาชน ก็มีเวลาอุทิศให้กับเรื่องเหล่านั้นได้เต็มที่ แล้วสันโดษนี่ก็จะไปสนับสนุนความเพียรพยายาม สอดคล้องกับหลักทั่วไปที่สันโดษนี้มักจะมาคู่กับความเพียร

 

ขอให้ท่านสังเกตว่าในหลักพระพุทธศาสนานั้น ธรรมะต่าง มักจะมาเป็นคู่กัน หรือมาเป็นชุด เช่นศรัทธามาก็จะให้มีปัญญาควบ ถ้าสันโดษมาความเพียรก็มักมาด้วย เพราะอะไร เพราะเมื่อสันโดษในเรื่องการบำรุงบำเรอตัวเองแล้ว ก็จะได้เอาเวลาและแรงงานตลอดจนความคิดที่สงวนไว้นั้น ไปใช้ในการเพียรพยายามทำกิจหน้าที่ของตัวเอง

 

สันโดษนั้นก็นำมาใช้กับฆราวาสได้ในแง่นี้ด้วย คือทำให้ไม่มัวเมา ไม่มัวหลงเพลิดเพลินกับการบำรุงบำเรอตัวเอง มุ่งหน้าทำกิจหน้าที่ สามารถอุทิศเวลาและแรงงานพร้อมทั้งความคิดให้แก่การงานของตนอย่างเต็มที่ ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่รู้จักพอมุ่งแต่จะหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเองแล้วก็จะไม่รักงาน จิตใจจะคอยใฝ่แสวงหาแต่สิ่งบำรุงบำเรอนั้น เมื่อไม่รักงานแล้วการทำงานก็จะเป็นเรื่องจำใจ เป็นเพียงเงื่อนไขเพื่อจะให้ได้สิ่งเสพหาความสุขหรือบำรุงความสุข ไม่ใช่เป็นตัวสิ่งที่เราอยากจะทำ ทีนี้ถ้าเกิดว่าเราจะได้สิ่งบำเรอสุขนั้นโดยไม่ต้องทำงาน เราก็จะเอาทางนั้นใช่ไหม เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน คนที่ไม่สันโดษมุ่งความบำรุงบำเรอตนเองนี้ใจจะไม่มุ่งไปที่ผลของงาน เขาไม่อยากทำงานเลยด้วยซ้ำ แต่ที่ทำงานก็เพื่อเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุขเท่านั้น ดังนั้นถ้าเขาจะได้สิ่งบำเรอสุขโดยไม่ต้องทำงานเลยเขาก็จะเอาทางนั้น เขาอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำงาน และอาจทำโดยทางลัดเพื่อให้ได้สิ่งบำรุงบำเรอหรือวัตถุนั้นมาทำให้เกิดการทุจริตขึ้น

 

ในสังคมที่คนไม่สันโดษมุ่งหาสิ่งบำเรอสุขโดยไม่ต้องเพียรทำงานแบบนี้ ก็ต้องมีการควบคุมกันอย่างแจทีเดียว จะต้องสร้างระบบควบคุมกันขึ้นมาหลาย ชั้น เพื่อจะให้มั่นใจว่าคนจะทำตามเงื่อนไข คือทำงานเพื่อจะให้ผลงานเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะได้เครื่องบำรุงบำเรอ มิฉะนั้นแล้วเขาจะหลีกเลี่ยงการทำงานเพื่อจะได้เครื่องบำรุงบำเรอนั้นโดยทางลัด โดยนัยนี้สันโดษจึงต้องครบวงจร คือต้องทำให้คนเอาเวลาและแรงงานพร้อมทั้งความคิดมาอุทิศ ให้แก่การเพียรพยายามทำกิจหน้าที่และสิ่งที่ดีงามให้บรรลุผลสำเร็จโดยถูกต้อง

 

บางทีคนของเรานี้สันโดษจริงแต่ไม่ครบวงจร แล้วก็เกิดโทษขึ้นมา สันโดษเลยกลายเป็นตัวหนุนความเกียจคร้านไปเสีย คนที่สันโดษแบบนี้จะคิดว่า เอาละเราอยู่แค่นี้ก็มีความสุขสบายแล้ว พอแล้ว ก็เลยไม่ต้องทำอะไร เขาคิดถึงสันโดษเพียงเพื่อมีความสุข คิดเพียงเท่านี้ จับเอาความสุขมาเป็นจุดหมายของสันโดษ ไม่คิดโยงต่อไปถึงกิจหน้าที่และความดีงามที่จะต้องทำว่าเมื่อเราสบาย ว่างจากความวุ่น มีโอกาสดีอย่างนี้แล้วควรจะทำอะไร วัตถุประสงค์ของสันโดษก็เลยหายไปไม่ครบวงจร ก็เลยเกียจคร้านไปเลย อยู่ไปวัน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือทำไมสันโดษแล้วชอบบริโภคด้วย ก็ขัดกัน เขาว่าคนไทยสันโดษ แต่อีกด้านหนึ่งก็ว่าคนไทยมีค่านิยมชอบบริโภค การชอบบริโภคไม่แสดงว่าสันโดษเลย มันเป็นข้อขัดแย้งในทางจริยธรรมไปแล้ว ถ้าคนไทยสันโดษก็ต้องไม่มีค่านิยมบริโภค ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภคก็ต้องชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่สันโดษ จะต้องมาตรวจสอบกันใหม่ว่าคนไทยเป็นอย่างไรแน่

 

ตัวอย่างที่ : ปลงอนิจจังได้ สบายใจ

 

ทีนี้อีกตัวอย่างหนึ่งของจริยธรรมที่ครบวงจร คือคนไทยนี้มีลักษณะจิตใจอย่างหนึ่งที่ดี ซึ่งชาวต่างประเทศมาแล้วจะสังเกตเห็นได้ง่าย คือเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส วางใจปลงใจกับสิ่งต่าง ได้ง่าย เคยมีฝรั่งเข้ามาแล้วเขามาตั้งข้อสังเกตกับอาตมาว่า งานศพในประเทศของเขานั้นเศร้าจริง ฝรั่งไปงานศพแล้วเศร้าสลดหดหู่เครียดมาก จิตใจไม่สบายเลย แต่มาถึงเมืองไทยนี่ โอ้โฮ งานศพสนุกสนาน มีลิเก ละคร หนัง และคนที่มาในงานก็สนุก หน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสไม่ต้องตีหน้าเศร้าอย่างฝรั่ง ฝรั่งไปงานศพแล้วเครียดทำให้ไม่มีความสุข จะเศร้าจริงหรือเศร้าไม่จริงก็ต้องทำเศร้าไว้ก่อน แต่คนไทยเราไม่เป็นไรยิ้มแย้มแจ่มใสได้ เขาก็เลยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลก

 

ไม่เฉพาะเรื่องนี้แม้ในชีวิตประจำวันทั่ว ไป คนไทยของเราก็มีลักษณะจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ยึดติดถือมั่นอะไรมากมาย มีความสุขได้ง่าย การที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากหลักธรรมข้อหนึ่งคือ "อนิจจัง" คนไทยนี้สอนกันให้รู้จักอนิจจัง ให้รู้เท่าทันคติธรรมดา มองเห็น ความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งหลาย เมื่อเกิดความพินาศแตกสลาย ความพลัดพรากจากกันเป็นต้น ก็ทำใจได้ง่าย สามารถปลงใจได้ว่านี้เป็นอนิจจัง เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลายที่มีความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอนเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
คนไทยเราพอรู้เท่าทันแล้วก็ปลงอนิจจัง เมื่อปลงอนิจจังได้ก็มีความสุขอย่างหนึ่ง จิตใจก็สบาย อย่างน้อยก็หายทุกข์หรือทุกข์น้อยลง

 

การปลงอนิจจังได้นี้ก็เป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็อาจจะเกิดผลเสีย คือสำหรับคนเราทั่ว ไปที่เป็นมนุษย์ธรรมดานี่ การที่จะดิ้นรนขวนขวายทำอะไรต่าง มันมักจะต้องมาจากการที่มีอะไรบีบคั้น เช่นว่ามีทุกข์ มีภัย โดยมากก็ทุกข์กับภัย เมื่อมีทุกข์หรือภัยอันตรายเกิดขึ้น ก็ต้องดิ้นรนขวนขวายพยายามต่อสู้หรือตระเตรียมการต่าง เพื่อจะแก้ไขตัวให้พ้นจากภัยอันตราย บางทีภัยมาถึงตัวแล้วจึงดิ้นรนก็มี ภัยยังไม่มาก็ไม่ดิ้น เอาไว้เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นบีบคั้นแล้วจึงดิ้นรน เช่นจะไม่มีกินอยู่แล้วจึงพยายามออกไปหากิน รวมแล้วที่จริงภัยก็ทุกข์นั่นแหละ ทุกข์นี่เป็นตัวบีบคั้นทำให้ดิ้นรน

 

คนธรรมดานี้ถ้าไม่มีจริยธรรม ก็จะต้องใช้สิ่งบีบคั้นคือภัยหรือทุกข์มาขับดันให้ดิ้นรนขวนขวาย ภัยอันตรายนี้รวมไปถึงความกลัวด้วย คือการบังคับกันทำให้เกิดความกลัว เช่นความกลัวจะถูกลงโทษ ความกลัวต่อเจ้านาย ความกลัวต่อการเสียยศอำนาจตำแหน่งอะไรต่าง เป็นตัวบีบทำให้คนต้องดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามทำการต่าง นี่เป็นวิสัยของมนุษย์ธรรมดา ต้องถูกทุกข์ภัยเช่นความเดือดร้อน ความกลัวเข้ามาบีบคั้นแล้วจึงทำการต่าง แต่ทีนี้พอมีความสุขสบายคนเราจะเป็นอย่างไร ก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะหยุดเฉยนิ่งไม่ต้องทำอะไร ก็สบายแล้วจะไปทำทำไม

 

ทีนี้ในท่ามกลางภัยอันตรายที่ไม่รุนแรง ถ้าคนคิดปลงอนิจจังได้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันก็เป็นอย่างนี้แหละเป็นธรรมดา ก็ปลงใจได้ เสร็จแล้วสบายใจก็หยุดนิ่งเฉยปล่อยแล้วแต่มันจะเป็นไปไม่ทำอะไรเลย เพราะเหตุนี้คนไทยจึงถูกติเตียนอย่างหนึ่ง แล้วก็เลยลามปามต่อว่าพระพุทธศาสนาด้วยว่า พุทธศาสนานี่สอนเรื่องอนิจจังเป็นต้น
ทำให้คนไทยเป็นคนเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้นขวนขวาย เพราะได้แต่ปลงใจว่าสิ่งทั้งหลายมันก็เป็นเช่นนี้แหละ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนแล้วก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ปัญหาที่ควรแก้ไขก็ไม่แก้ สิ่งที่ควรเร่งรัดจัดทำก็ไม่ทำ ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไป ชีวิตของตนเอง
ก็ปล่อย สังคมก็ปล่อย ปัญหาอะไรต่าง เกิดขึ้นก็ปล่อย สาเหตุก็คือการที่ปลงอนิจจังได้ก็สบายเสียแล้ว ก็เลยพอใจในความสุขสบายนั้น เข้ากับธรรมดาของมนุษย์ที่ว่าสบายแล้ว ไม่ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่าไม่ครบวงจร

 

การรู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นปัญญา ก็ดีในตัวอยู่แล้ว เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองทำให้จิตใจสบายก็ดี แต่ประการที่สามทำให้อยู่เฉย
ข้อนี้ไม่ดีแล้วและผิดพลาดด้วย ผิดพลาดอย่างไร ผิดทั้งที่รู้ก็ไม่ตลอดสาย ปฏิบัติก็ไม่ครบวงจรได้แค่ครึ่ง กลาง ไปหมด จึงจะต้องมาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง

 

หลักการเปลี่ยนแปลงหรือความเป็นอนิจจังที่ไม่เที่ยง สอนว่าสิ่งทั้งหลายเกิดมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป มีความเสื่อมความเจริญไปตามธรรมดาของมัน แต่ที่ว่ามันไม่เที่ยง
มีความเสื่อมความเจริญไปตามธรรมดาของมันน่ะ ธรรมดาคืออะไร ธรรมดานั้นก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่าที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ที่มันเสื่อมก็เสื่อมตามเหตุปัจจัยเพราะเหตุปัจจัยทำให้มันเสื่อม แล้วมันจะเจริญได้
ก็เพราะแก้ไขไม่ให้มีเหตุปัจจัยของความเสื่อม แต่ให้มีเหตุปัจจัยของความเจริญเข้ามาแทน เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนต่อไปว่า เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงความเสื่อม เราก็ต้องหลีกเลี่ยงแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม ถ้าเราต้องการความเจริญก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญขึ้น

 

โดยนัยนี้ หลักอนิจจังก็จะทำให้เราก้าวขึ้นมาสู่พัฒนาการขั้นที่สอง คือขั้นที่ทำการด้วยความรู้ ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ คือไม่ใช่ว่าเพราะถูกทุกข์บีบคั้นแล้วฉันจึงทำ แต่ให้เปลี่ยนเป็นว่าแม้ไม่ได้ถูกทุกข์ภัย ความกลัว ความเดือนร้อนบีบบังคับก็ทำ แต่เป็นการทำด้วยความรู้ความเข้าใจ คือรู้เข้าใจเหตุปัจจัย รู้ว่าต้องการความเจริญอย่างนี้ จะหลีกเลี่ยงความเสื่อมอย่างนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงละเลิกเหตุปัจจัยอย่างนั้น จะต้องเสริมสร้างเหตุปัจจัยอย่างนี้ แล้วแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อมและสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญขึ้นมา ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องอนิจจังพร้อมไปกับความไม่ประมาท

 

ขอให้ดูพุทธพจน์เมื่อจะปรินิพพาน เป็นพุทธโอวาทที่เรียกว่าปัจฉิมโอวาท หรือปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนน่าจะถือเป็นสำคัญที่สุด แต่มักจะมองข้ามไป เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนั้น ได้ตรัส ปัจฉิมวาจา ว่า "วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" นี่พุทธพจน์สุดท้าย พุทธศาสนิกชนควรจะถือเป็นสำคัญอย่างยิ่ง การปฏิบัติตามหลักอนิจจังมาครบวงจรที่นี่

 

"วยธมฺมา สงฺขารา" สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา นี้คือหลักอนิจจัง คือมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ถ้าจับเอาแค่นี้ก็อาจจะสบายปลงได้ว่า เออ... มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นก็มีความสุข แต่พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปอีกว่า

 

"อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า (เพราะฉะนั้น) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือท่านแปลแบบขยายความว่า จงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

 

เมื่อสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าเราประมาท เหตุปัจจัยของความเสื่อมหรือสิ่งที่เป็นโทษจะเข้ามาหรือได้โอกาสแล้ว เราก็จะเสื่อมหรือประสบโทษ เพราะฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังไม่ให้เหตุปัจจัยของความเสื่อมเข้ามา พร้อมกันนั้นเมื่อเราต้องการประโยชน์หรือความเจริญ เราก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญหรือประโยชน์โดยไม่ประมาท จะปล่อยปละละเลยเพิกเฉยอยู่ไม่ได้ อยู่นิ่งไม่ได้ ความไม่ประมาทคือความไม่อยู่นิ่งเฉย แต่กระตือรือร้นเร่งรัดทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อม เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ พร้อมกันกับหลักนี้ความรู้เท่าทันและปลงใจได้ที่พูดแล้วข้างต้น
ก็เข้ามาประสานทำให้เรากำจัดแก้ไขป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยจิตใจที่มีความสุขอย่างพร้อมกันไป นี้คือการปฏิบัติที่ครบวงจร

 

เมื่อมองตามหลักนี้ จะเห็นการดำเนินชีวิตของคนในโลกนี้เป็น พวก คือพวกหนึ่ง ปลงใจได้ก็สบาย เสื่อมก็ช่างมันปล่อยตามเรื่อง ก็มีความสุขแต่เสื่อม อีกพวกหนึ่งถูกภัยอันตราย ถูกความกลัวบีบคั้นจึงทำ พวกนี้ก็ทำด้วยความทุกข์หรือเจริญแต่ทุกข์ แต่ทางพุทธศาสนานั้นให้ทำไปด้วยและมีความสุขด้วยเป็นพวกที่สาม ซึ่งมีความรู้ที่ตลอดสายและการปฏิบัติที่ครบวงจร เพราะรู้อนิจจังและปฏิบัติต่ออนิจจังในทางที่ถูกต้อง คือรู้อนิจจังตามธรรมดาสังขารที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้วมีความไม่ประมาท

 

เมื่อทำให้ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติจริยธรรมในเรื่องอนิจจังก็ครบวงจร ถ้าจะแยกเป็นส่วน ตอน ก็คือ

 

ประการที่หนึ่ง

รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง (ปัญญา)

ประการที่สอง

ปลงใจได้ จิตไม่หวั่นไหว มีความสุข (จิตใจเป็นอิสระหรือวิมุตติ)

ประการที่สาม

รู้ว่าความไม่เที่ยงแล้วเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงศึกษาสืบสาวเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ (โยนิโสมนสิการ) แล้วเร่งขวนขวายทำการต่าง ที่จะหลีกเลี่ยงละกำจัดเหตุปัจจัยของความเสื่อม และสร้างเสริมทำเหตุปัจจัยของความเจริญ (ไม่ประมาท = อัปปมาท) นี่เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติจริยธรรมที่ต้องครบวงจร ต้องรู้ความสัมพันธ์ระหว่างข้อธรรมว่า
ข้อธรรมทั้งหลายรับช่วงส่งต่อกันให้ข้อไหนสืบทอดไปข้อไหน และนำไปสู่ผลอย่างไร เป้าหมายเป็นอย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีปัญหา


Back