จะพัฒนาบุคคลให้มีคุณธรรม
และจริยธรรมได้อย่างไร



| สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน | | หลักกการและวิธีการทั่วไปในการแก้ปัญหาจริยธรรม |

 

ขออำนวยพร ท่านรองอธิบดีผู้เป็นประธาน
ขอเจริญพร ท่านนักการศึกษาผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

 

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มาพบปะกับท่านผู้มาร่วมประชุมในที่นี้ ซึ่งดังที่ได้ทักทายไว้ในเบื้องต้นว่าท่านเป็นนักการศึกษา เป็นผู้ให้การศึกษาโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้างแก่สังคมนี้ จึงเป็นผู้มีความรับผิดชอบอย่างสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศชาติ วันนี้อาตมภาพได้รับนิมนต์มาพบปะกับที่ประชุมซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก เป็นที่ประชุมเล็ก
แต่แม้จะเล็ก ก็มีความสำคัญอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า มีความรับผิดชอบสูง ทีนี้ในเมื่อเป็นที่ประชุมเล็กๆ ก็นึกว่ามาคุยกันแบบสบาย

 


. สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

 

หัวข้อที่ท่านนิมนต์มาพูดในวันนี้ ตั้งเป็นคำถามว่า จะพัฒนาบุคคลให้มีคุณธรรม และจริยธรรมได้อย่างไร อาตมภาพมีข้อสังเกตในเบื้องต้นนิดหน่อยว่า ในช่วงหลัง สักสิบกว่าปีมานี้มีการประชุม มีการสัมมนาต่าง เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมบ่อยครั้ง ในกระทรวงศึกษาธิการเอง กรมกองต่าง ก็มีการจัดเรื่องนี้กันมาก กว้างออกไปในวงการศึกษาด้วยกัน คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติก็ดี ทบวงมหาวิทยาลัยก็ดี ตลอดจนหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง เช่น .. ในวงกว้างทั่ว ไปก็มีการประชุม มีการสัมมนาในเรื่องจริยธรรมกันมาก อันนี้เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาวการณ์ที่ได้มีขึ้นในระยะสิบกว่าปีมานี้ ถ้าหวนหลังไปก่อนหน้านั้น รู้สึกว่าจะไม่ค่อยมีการสนใจในเรื่องจริยธรรมกันมากเท่าไร

 

เหตุใด ในปัจจุบัน ปัญหาจริยธรรมจึงแก้ไขได้ยาก?

 

ข้อสังเกตนี้ก็ไปสัมพันธ์กับสภาพของบ้านเมือง การที่เราให้ความสำคัญหรือสนใจต่อเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมมากขึ้น ก็เนื่องจากว่าในสังคมนี้หรือในประเทศชาตินี้
เราได้ประสบปัญหาในทางจริยธรรมและคุณธรรม หรือเรียกศัพท์อย่างเก่า ว่า ปัญหาทางศีลธรรมเพิ่มขึ้น

 

ในยุคก่อนนั้นเรากำลังมุ่งไปในการพัฒนาประเทศชาติ ให้มีความเจริญก้าวหน้า
ให้พ้นจากสภาพด้อยพัฒนา หรือแม้ภายหลังเราจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เราก็จะทำให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจึงได้มุ่งมั่นดำเนินงานต่าง ที่เรียกว่าการพัฒนาเป็นการใหญ่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราดำเนินงานกันมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นกาลเวลาที่ผ่านไปมากพอสมควรแล้ว ประเทศชาติสังคมก็ควรจะพัฒนาไปได้ไกลพอสมควร แต่สภาพที่เป็นจริงก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

 

การที่พัฒนานั้นก็หมายความว่า ปัญหาต่างๆควรจะลดลง แต่ตามสภาพที่มองเห็น เรารู้สึกว่าไม่ค่อยจะสมหวัง เพราะปรากฏว่าประเทศของเรายังมีปัญหามากมาย สังคมนี้ยังไม่พ้นจากข้อบกพร่องที่ประสบอยู่ตั้งแต่เดิม แล้วก็ยังมีปัญหาใหม่ เข้ามาอีกมากมายเหลือเกิน ทำให้ต้องมาคิดทบทวนกันว่า นี่มันอะไรกัน โดยเฉพาะในเรื่องศีลธรรมนี้ ก็เกิดความรู้สึกว่าประชาชนมีความเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น แล้วก็ได้คิดว่า กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมานั้นได้มุ่งเน้นไปทางเดียวแต่ด้านวัตถุ ละเลยด้านจิตใจ ทำให้ไม่สมดุล เพราะฉะนั้น ในตอนหลัง นี้ การพัฒนาประเทศชาติจึงชักจะให้ความสนใจ หันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน และพัฒนาจิตใจมากขึ้น หันมาสนใจปัญหาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น จนทำให้มีข้อสังเกตดังที่ได้ว่าไว้เมื่อกี้นี้

 

ในเมื่อได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนี้แล้ว มันก็โยงต่อไปถึงว่า สภาพเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องฟ้องหรือเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัว กล่าวคือ การที่เราไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาเรื่องนี้กันมานาน แล้วกลับหันมาสนใจอีกครั้งหนึ่งในเมื่อปัญหามันปรากฏชัดขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้มองเห็นได้ตามหลักสามัญว่า คนที่โดยพื้นเดิมของตนเองไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนั้น ย่อมจะสนใจขึ้นมาก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องสนใจ เพราะเรื่องนั้นเกิดเป็นปัญหากระทบกระเทือนตนเองอย่างรุนแรง จนทนไม่ได้ที่จะไม่สนใจ หรือไม่ก็เป็นเพราะเรื่องนั้นเกิดความวิปริตผิดแปลกไปเด่นชัดมากเหลือเกิน จนกระทั่งแม้แต่คนที่ไม่เอาใจใส่หรือไม่เคยเหลียวแล ก็ต้องมองเห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า คนที่ไม่สนใจเรื่องนี้ จะสนใจขึ้นก็ต่อเมื่อปัญหานี่มันรุนแรง เมื่อรุนแรงก็หมายความว่า ปัญหานั้นมันได้มีกำลังมากขึ้นแล้ว ถ้าเรียกว่าเป็นกระแสก็เป็นกระแสที่หนัก ไหลมาอย่างรุนแรงและท่วมท้น
ถ้าเป็นน้ำหลากน้ำท่วมมันก็ไหลมาจนบ่านองไปหมดแล้ว ถ้าเป็นไฟไหม้ก็ไหม้ลุกลามใหญ่โตแดงฉานทั่วไปหมด หรือถ้าเป็นร่างกายของเราก็เหมือนกับว่าโรคร้ายได้เข้ามากัด กร่อนเบียดเบียนจนโทรมหมดเป็นไปเสียมากแล้ว เราจึงได้เห็นชัด

 

ในเมื่อเห็นชัดเอาเมื่อมันมากแล้ว ในเมื่อมารู้ตัวเอาเมื่อมันรุนแรงไปเสียไกลแล้ว
ก็เป็นธรรมดาที่ว่ามันต้องยากที่จะแก้ไข คนที่จะแก้ไขก็ตื่นช้า แล้วโรคหรือว่าปัญหานั้นมันก็แรงแล้ว ฉะนั้น กระแสที่แรงนั้นกว่าจะกั้นหยุดยั้งหรือทานได้ มันจะต้องไหลอย่างหนักหน่วงไปอีกนาน การที่จะแก้ไขให้เสร็จสิ้นไปง่าย เป็นไปได้ยาก อันนี้เราต้องยอมรับความจริงเป็นเบื้องต้นก่อน

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางคุณธรรมจริยธรรมนั้น
จะต้องยอมรับความจริงไว้แต่ต้น ว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก โดยปกติการอบรมปลูกฝังจริยธรรมก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมาเข้ากับสภาพอย่างนี้ที่ว่าเราได้ปล่อยให้ปัญหา
มันปรากฏชัดรุนแรงแล้วจึงมาสนใจ ก็เลยยิ่งเป็นเรื่องยากกันใหญ่ นี่เป็นประการที่หนึ่ง
ที่เราจะต้องยอมรับความยากไว้แต่ต้น จะได้ไม่ท้อใจว่า เอ! ทำไมแก้ไขไม่เห็นค่อยสำเร็จ เราประชุม เราสัมมนา เราพยายามจัดหลักสูตรจริยศึกษาอะไรกันมาตั้งหลายปีแล้วก็ไม่เห็นก้าวหน้าไปเท่าไร ปัญหาก็ยังมีเรื่อย เพราะเราปล่อยให้กระแสมันแรงไปตั้งไกล มันไหลมาท่วมท้นแล้ว จะไปแก้กันให้รวดเร็วได้อย่างไร มันต้องใช้เวลานานแน่นอน

 

อีกประการหนึ่ง มันก็ฟ้องไปในตัวพร้อมกันนั้นว่า การที่กระแสอย่างนี้
จะรุนแรงขึ้นได้ ก็เพราะเราได้ปล่อยปละละเลยในเรื่องระบบการควบคุมดูแล ไม่ได้ใส่ใจ
จัดสรรระบบควบคุมทางจริยธรรมต่าง รวมไปถึงสถาบันที่มีหน้าที่ในทางศีลธรรม
จริยธรรมด้วย ก็เป็นเครื่องฟ้องว่าสถาบันอะไรต่าง เหล่านั้น หรือระบบทั้งหมด
ได้ย่อหย่อนอ่อนแอไป ขาดความเอาใจใส่ แม้แต่วัดวาอารามก็คงจะมีความอ่อนกำลัง
ในเรื่องนี้ด้วย จึงได้ปรากฏผลออกมาอย่างนี้ ในเมื่อระบบการควบคุมมันอ่อนกำลัง
และเราไม่ได้เอาใจใส่ดูแลระบบนั้น ปล่อยปละละเลยกันมา มันก็อยู่ในสภาพที่ชำรุด
ทรุดโทรม ขาดความชำนิชำนาญหย่อนความสามารถ ก็กลายเป็นว่าเราจะต้องไปเสียกำลัง
รื้อฟื้นระบบการควบคุม ระบบที่จะมารักษาดูแลเป็นเครื่องประคับประคองจริยธรรม
ของสังคมนี้ขึ้นมาอีก นี้ก็คือความไม่พร้อมอีกสถานหนึ่ง เฉพาะตัวปัญหาเองที่รุนแรง
ก็ยากอยู่แล้ว ระบบที่จะรับผิดชอบช่วยในทางจริยธรรมก็อ่อนโทรมเสียอีก จะต้องกลับ
ไปหาทางช่วยเสริมกำลังให้สถาบัน และระบบทั้งหมดนั้นเข้มแข็งขึ้นมา จึงเป็นเรื่อง
ที่ยากซ้ำสอง

 

นอกจากนั้น ที่ว่ามานี้ยังเป็นการพูดเฉพาะในแง่สถานการณ์เท่านั้น ถ้าว่าให้ลึก
ลงไป สังคมปัจจุบันมีค่านิยมทางวัตถุสูง การมีค่านิยมทางวัตถุสูง ย่อมหนุนให้เกิดปัญหาจริยธรรมได้ง่าย และเป็นแรงต้านให้การแก้ไขปัญหาจริยธรรมเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความจริง การที่จะบ่นอะไรต่ออะไรกันไปก็บ่นได้ แต่จะต้องเข้าใจสภาพพื้นเพว่าอะไรเป็นตัวปัญหา สภาพที่เป็นปัญหาคืออะไร เป็นอย่างไร ขนาดไหน เพราะอะไร

 

มองปัญหาจริยธรรม โดยสัมพันธ์กับความต้องการของบุคคล และสังคม

 

ในการพูดนี้ ทางท่านผู้จัดดำเนินการได้พูดเกริ่นคล้าย เสนอแนะว่า นอกจากจะพูดเรื่องว่า จะทำให้บุคคลมีคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างไรแล้ว ก็ขอให้พูดในหัวข้อแทรกเข้ามาด้วยว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร แสดงว่าท่านมองเรื่องจริยธรรมของบุคคลนี้โดยสัมพันธ์กับสังคม คือไม่ได้มองบุคคลเป็นส่วนต่างหากจากสังคม มองบุคคลในฐานะเป็นส่วนประกอบของสังคม แล้วก็มองถึงการที่จะแก้ไขปัญหาของบุคคลนี้ โดยสัมพันธ์พร้อมกันไปกับการแก้ปัญหาของสังคมด้วย จึงได้ตั้งปัญหาขึ้นมาว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร

 

ก่อนที่เราจะทราบว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร เราคงจะต้องพูดกันบ้างว่า สังคมของเราที่เป็นอยู่นี้ มันไม่พึงประสงค์อย่างไร การที่เราปรารภขึ้นมาอย่างนี้ เราคงจะ
มีความรู้สึกอยู่บ้าง คล้าย กับว่าขณะนี้สังคมของเราไม่ค่อยเป็นที่น่าสบายใจ ไม่เป็นที่
พึงประสงค์ ก็จึงอยากจะหาสังคมที่พึงประสงค์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร ก็ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้สังคมของเราเป็นอย่างไร มันจึงไม่พึงประสงค์ ก็คือต้องรู้สภาพที่เป็นอยู่ ต้องรู้ปัญหาสังคมของเราและลักษณะต่าง ของปัญหา แล้วเราจึงจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ตลอดกระทั่งว่า จะต้องรู้ความต้องการที่แท้จริงของสังคมของเราด้วย ทั้งนี้เพราะว่าเราอาจจะพูดถึงสังคมที่พึงประสงค์ชนิดที่เป็นอุดมคติ แต่ก็ไม่แน่ว่าสังคมที่พึงประสงค์ที่เป็นอุดมคตินั้น เข้ากับความต้องการที่แท้จริงของสังคมของเราหรือไม่
เพราะฉะนั้นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเรียนรู้ความต้องการของสังคมนี้ได้

 

เมื่อรู้ความต้องการของสังคมแล้ว ก็รู้ละเอียดเข้ามา ย่อยเข้ามาถึงความต้องการของบุคคลในสังคมอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราก็จะมาพิจารณารายละเอียดของปัญหา โดยสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม และความต้องการของบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้น นี้ก็เป็นเรื่องทางจริยธรรมที่สำคัญด้วยเหมือนกัน หมายความว่า เรื่องปัญหาทางจริยธรรมนี้ มันมาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องความต้องการของสังคม และความต้องการของบุคคลในสังคม คือ พูดในแง่หนึ่งก็คล้าย จะเป็นไปในทำนองว่าสังคมของเราและบุคคลในสังคมนั้น มีความต้องการในทิศทางหนึ่งหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในการปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการ หรือทำให้สำเร็จตามความต้องการนั้น ปฏิบัติไม่ถูก เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องในการสนองความต้องการของตนเองหรือของสังคมของตน ก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ถ้าเราจับเจ้าตัวความต้องการนี้ไม่ได้ ก็เรียกว่าไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อไม่เข้าใจตัวเอง ก็เรียกว่าศึกษาปัญหาไม่ถูกที่ จับไม่ถูกจุด ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เป็นอันว่าเรื่องเหล่านี้โยงกันไปหมด เรื่องบุคคล เรื่องสังคม เรื่องปัญหาของสังคมที่เป็นรายละเอียดที่ไปสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม และทิศทางเดินของสังคมนั้น

 

ปัญหาทางจริยธรรมในสังคมไทย

 

ทีนี้ รายละเอียดของปัญหาในทางจริยธรรมนั้น เราสามารถพูดกันได้มากมายอย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้แล้วว่า เบื้องต้นนี้เราจะต้องเข้าใจสภาพของสังคมของเรา ต้องรู้ปัญหาที่เราประสบหรือพบก่อน แต่ก็ได้ย้ำไว้ว่า ถ้าเราจะพิจารณารายละเอียดของปัญหาเหล่านั้น เป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างไป มันก็เลื่อนลอย เราจะต้องจับเอามาโยงกับสังคมทั้งหมด โดยสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม เพราะว่า ถ้าเราจะพูดกันแต่ในแง่ของรายละเอียดของปัญหาทางจริยธรรมของสังคมนี้ ก็เป็นเรื่องไม่รู้จักจบสิ้น เราอาจจะพรรณนาได้ว่า สังคมของไทยเราปัจจุบันนี้ มีปัญหามากมายเหลือเกิน เช่นยกตัวอย่างว่ามีอาชญากรรมมาก
อาชญากรรมอย่างง่ายที่สุดก็คือ ฆาตกรรมหรือการฆ่ากันตาย เมืองไทยนี้มีชื่อเสียงมาก
ในเรื่องการฆ่ากันตายมากขนาดเข้าสถิติโลก การที่จะพูดว่ามีการฆ่ากันตายมากขนาดไหน
ก็ต้องเทียบตามอัตราส่วนของประชากร เมื่อคิดตามอัตราส่วนของประชากรแล้วดูเหมือนว่า
ประเทศไทยนี้จะมีการฆ่ากันตายเป็นอันดับสองของโลก เท่าที่ได้ยินมานี้เป็นที่น่าสงสัย

 

เคยมีคนพูดว่า เอ! สังคมพุทธนี่ เป็นสังคมแห่งความเมตตากรุณา คนไทยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนา แต่ว่าทำไมสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ฆ่ากันตายมากเหลือเกิน เหมือนกับว่าเป็นสังคมที่มีความโหดร้ายมาก อันนี้เป็นข้อสงสัยที่ได้ตั้งขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง สังคมไทยปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มีความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยมาก
มีลักษณะนิสัยหรือค่านิยมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งพูดกันบ่อยมากเหมือนกันว่า ค่านิยมชอบบริโภค ไม่ชอบผลิต การที่ชอบบริโภคไม่ชอบผลิตนี้ก็เป็นการไปสนับสนุนนิสัยฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แน่นอน เพราะว่าคนที่ชอบบริโภคก็ย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่จะบริโภค แสวงหารับสิ่งที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวให้มากที่สุด ไม่รู้จักสิ้นสุด ทีนี้ เมื่อมุ่งมั่นไปในทางที่จะบริโภคก็ไม่ทำการผลิต เมื่อไม่ทำการผลิต การพัฒนาประเทศก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าในการพัฒนาประเทศนี้ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการที่จะต้องผลิต และการที่จะผลิตนั้นก็คือต้องมีการทำงาน เมื่อทำงานจึงจะเกิดผลผลิตขึ้นมาได้ เมื่อคนของเราไม่ชอบผลิตก็ไม่ชอบทำงานแต่ชอบบริโภค ชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แล้วก็ตามมาด้วยปัญหาอื่น เช่นหนี้สินในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว จนกระทั่งในระดับประเทศ เดี๋ยวนี้ประเทศไทยของเราก็เป็นประเทศที่มีหนี้สินมากมายเหลือเกิน ท่วมท้นตัวจนกระทั่งว่าต่อไปลูกหลาน จะใช้กันไหวหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

 

ถ้าจะพรรณนาต่อไปอีก ก็อย่างที่ท่านรองอธิบดีพูดในตอนต้นว่า ปัญหาของเรา
อย่างหนึ่งก็คือว่า คนของเรานี้ไม่ค่อยจะสนใจประโยชน์ส่วนรวม ไม่ค่อยรักประเทศชาติ ความรักประเทศชาตินั้นแสดงออกมาอย่างหนึ่งก็คือ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
แต่คนของเรายังมีความเห็นแก่ตัวมาก นอกจากนี้ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาพัวพันก็คือว่า
คนของเรานี้มีนิสัยที่ทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ ทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะไม่ค่อยสำเร็จ ต้องทำงานเอาตัวคนเดียว การเอาเด่นเอาหน้าเป็นลักษณะที่ปรากฏชัดมาก เรื่องที่ว่านี้ไม่ใช่เฉพาะเป็นปัญหาที่ปรากฏออกมาภายนอกเท่านั้น แต่มันเป็นทั้งปัญหาและเป็นเหตุของปัญหาไปด้วยในตัว

 

สิ่งที่พูดมานี้ เช่นว่าการชอบบริโภค ไม่ชอบผลิตนี่ มันเป็นทั้งปัญหาและก็เป็นทั้ง
ตัวเหตุของปัญหา เป็นตัวเหตุซึ่งสำคัญ เช่นเดียวกับเรื่องการทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ อันนี้ เป็นเหตุของปัญหาต่อ ไปอีกมากมายหลายประการ แล้วก็สัมพันธ์โยงกันไป
โยงกันมา เช่นว่าเมื่อชอบเอาดีเอาเด่นคนเดียว มันก็ไปสอดคล้องกับค่านิยมในสังคมของเรา
ที่คนชอบโก้เก๋ ทำอะไรก็ต้องการความโก้เก๋ จะมีอะไรมีวัตถุสิ่งของไว้ก็เพื่ออวดโก้ อวดมั่ง
อวดมี อวดฐานะกัน เมื่อแข่งขันกันในเรื่องการอวดโก้ มันก็ไปสนับสนุนนิสัยฟุ้งเฟ้อ
ฟุ่มเฟือยเข้ามาอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมุ่งไปในทางนี้ มันก็ไปสนับสนุน
ค่านิยมในการบริโภค และการชอบฟุ้งเฟ้อนั้นก็ไปสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยชอบสนุกสนาน
รื่นเริง คนไทยจะมีอะไรก็มุ่งการสนุกสนานรื่นเริง การที่ชอบสนุกสนานรื่นเริงนั้นก็ย่อม
ไม่สนับสนุนให้คนทำงาน ทำให้ไม่อยากทำงาน แต่ชอบสนุกก็ย่อมชอบบริโภค เมื่อชอบ
บริโภคก็ชอบฟุ้งเฟ้อ ฯลฯ

 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏออกมาชัด ก็คือเรื่องการขาดระเบียบวินัย ซึ่งก็พูด
กันมาก ขาดระเบียบวินัยตั้งแต่ในท้องถนนไปเลย ชีวิตประจำวันของเราไม่ค่อยจะมี
ระเบียบวินัย นอกจากนั้นการรักษาความสะอาดก็มาสัมพันธ์กับเรื่องระเบียบวินัย เพราะ
เมื่อไม่มีระเบียบวินัย ชอบทิ้ง ขว้าง สิ่งของเศษขยะอะไรกันอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง
ก็ทำให้เกิดความสกปรก ลักษณะที่ขาดระเบียบวินัยนี้ก็มีทั่วไปแพร่หลายอย่างกว้างขวาง
ต่อไปก็คือการขาดความรับผิดชอบ เรื่องนี้ก็เป็นลักษณะที่พูดกันมากเหมือนกันว่า
เด็กของเราไม่ค่อยมีความรับผิดชอบในการงาน ต่อไปอีกก็คือปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น
ซึ่งก็อาจไปสัมพันธ์กับเรื่องชอบบริโภคไม่ชอบผลิตด้วย เพราะว่าเมื่อชอบบริโภคมาก
ก็ฟุ่มเฟือยมาก ฟุ่มเฟือยมากก็ต้องหาทรัพย์สินเงินทองมาก เมื่อไม่ได้โดยทางที่ถูกต้อง
ก็ต้องได้มาในทางไม่สุจริต

 

สุดท้ายก็คือประเทศไทยปัจจุบันนี้มีอบายมุขมาก อบายมุขมากก็ไปสัมพันธ์กับเรื่อง
ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอีกนั่นแหละ ก็รวม คลุม กันอยู่นี่พันกันไปหมด ประเทศไทยเป็น ประเทศที่มีอบายมุขแพร่หลายในด้านต่าง มากเหลือเกิน การติดยาเสพติดก็ระบาดทั่วไป โดยเฉพาะการที่เด็กวัยรุ่นมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ จะทำให้สังคมทรุดโทรมมาก

 

ถ้าจับเอามาพิจารณาตามหลักทางศีลธรรม โดยเอาศีลห้าเป็นเกณฑ์วัด ก็จะเห็นว่า
ประเทศไทยของเรานี่ เป็นประเทศที่ปัจจุบันขาดศีลห้ามาก จนแทบจะพูดได้ว่าประเทศไทย
เป็นประเทศที่ไร้ศีล ถ้าพูดออกมาอย่างนี้ก็แย่หน่อยแต่ก็เถียงเขายากเพราะว่าตั้งแต่ข้อที่หนึ่ง เว้นปาณาติบาต ก็บอกได้ว่าประเทศไทยฆ่ากันตายมากแทบจะที่สุดในโลก ศีลข้อเว้นปาณาก็ไปแล้ว ในข้อปาณานี่ต้องพูดถึงสัตว์มนุษย์ก่อน

 

คำว่าสัตว์ในภาษาบาลีมีความหมายกว้าง คือมิใช่หมายถึงเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน ความจริงคำว่า "สัตว์" ในภาษาบาลี พอพูดขึ้นมาก็หมายถึง "มนุษย์" ก่อนอื่นเลยแล้วจึงจะไปถึงสัตว์อย่างอื่น ในบางกรณีก็มุ่งเอามนุษย์โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไปเป็นศัพท์ที่ใช้รวมกัน แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่มองมนุษย์แยกต่างหากจากโลกแห่งธรรมชาติส่วนอื่น มองจากตัวเราก็ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ลำดับที่หนึ่ง อันดับแรก แต่เป็นสัตว์ที่ต่อมาได้เรียกกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ว่ากันไปตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ เพราะไม่ค่อยจะมีศีลเสียแล้ว เป็นอันว่าศีลข้อที่หนึ่งก็แล้งไปแล้วจากสังคมไทย

 

ข้อที่สอง "อทินนา" อาชญากรรมด้านที่เกี่ยวกับการลักขโมยอะไรต่าง ตลอดจนกระทั่งการคอร์รัปชั่นก็แพร่หลาย ส่วนสามข้อท้าย คือ "กาเม, มุสา, สุรา" ก็ระบาดทั่วไปหมด แปลว่า ปัญหาสังคมของเรานี่พรรณนากันไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น ถ้ามัวมาพูดเรื่องรายละเอียดปัญหาจริยธรรมก็คงไม่ต้องทำอะไรอื่น ก็ได้แต่พูดถึงปัญหากันอยู่นี่เอง ทีนี้ทำอย่างไรจะให้มีผลในทางปฏิบัติขึ้นมาได้ ก็อย่างที่บอกแล้วเมื่อกี้ว่า ต้องจับหลักให้ได้แล้วก็โยงเข้ามาสู่การแก้ปัญหา อันนี้จะทำให้แคบเข้ามา กล่าวคือ จะต้องมองปัญหาศีลธรรมโดยสัมพันธ์กับสภาพสังคมทั้งหมด แล้วจึงจะเห็นทางแก้ไขได้ดีขึ้น

 

สภาพที่ชี้บ่งถึงความต้องการของสังคมไทย

 

สภาพสังคมและลักษณะสังคมไทยของเรานี่เป็นอย่างไร อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้ว่า การเข้าใจลักษณะสังคมของเรา หรือสภาพสังคมของเรา ก็รวมไปถึงเข้าใจความต้องการของสังคมด้วย เริ่มแรกเราลองมาดูหน้าของสังคมไทยว่าหน้าตาของเราเป็นอย่างไร หน้าตานี้ก็บอกถึงสภาพและลักษณะหน้าตาของสังคมไทยนั้น แสดงออกได้สองด้าน หน้าตาที่เห็นชัด ก็คือ สังคมของเรามีชื่ออยู่แล้วว่าเป็นสังคมที่กำลังพัฒนา นี่แหละหน้าตาด้านที่หนึ่งของสังคมไทย คือเป็นสังคมที่กำลังพัฒนา

 

อย่างไรก็ดี สังคมที่กำลังพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาเหมือนกันทีเดียว คนเราเกิดมาแม้แต่พี่น้องครอบครัวเดียวกันก็มีหน้าตาไม่เหมือนกัน เรียกชื่อว่าเป็นเด็กชายนั่นเด็กหญิงนี่ สมมติว่าเราแบ่งโลกทั้งโลกนี้เป็นประเทศพัฒนา และกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ครอบครัวของพวกกำลังพัฒนานี่ก็อาจจะเป็นครอบครัวหนึ่ง เป็นสังคมที่อยู่ในประเภทเดียวกัน แต่ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกันหรอก แต่ละสังคมที่แม้กำลังพัฒนาด้วยกัน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันก็มีลักษณะหน้าตามีสภาพไม่เหมือนกัน เหมือนกับเด็กท้องเดียวกันหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับกันไว้ก่อนว่า หน้าตาที่ไม่เหมือนกันนี่มันก็มีอะไรคล้าย คลึง กันอยู่บ้าง ทีนี้เราจะพูดถึงเฉพาะหน้าตาของสังคมที่กำลังพัฒนาที่ได้ชื่อว่าประเทศไทย

 

พูดอย่างกว้าง หน้าตาของสังคมไทยนี่ก็มองได้สองด้าน คือลักษณะด้านหนึ่งนั้น เป็นอาการของสังคมที่กำลังพัฒนา ที่กำลังมีปัญหาต่าง ซึ่งจะต้องแก้ไข มีความต้องการที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า สร้างความสมบูรณ์พูนสุข สร้างความมั่นคงทางวัตถุ ความเจริญทางอุตสาหกรรม ทางเทคโนโลยีที่ล้าหลังเขาอยู่ อันนี้เป็นลักษณะอาการอย่างหนึ่งที่ว่าเป็นสังคมที่กำลังพัฒนาและไม่ทันเขา ก็เลยจะต้องมาเร่งพัฒนาด้านเหล่านี้ขึ้นไป ที่ทำอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะเรามองในด้านลบ เห็นว่าประเทศมีปัญหามาก เช่น ปัญหาความยากจนขาดแคลน มีโรคภัยไข้เจ็บมาก แต่ไม่มีความรู้ รวมไปถึงเรื่องการขาดอาชีพ การว่างงานอะไรต่าง ซึ่งเป็นปัญหาที่รวม กันอยู่ ปัญหาของสังคมที่กำลังพัฒนานี้ พรรณนาไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น

 

ลักษณะสังคมที่กำลังพัฒนา คือหน้าตาของเราด้านนั้น ก็คือสภาพที่มีปัญหา ดังได้พรรณนากันมาแล้วนั้นแหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข แต่โดยมากเราจะมองกันไปในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องของการที่จะทำให้เจริญทันสมัยขึ้นมา มีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์พูนสุข และก็เพ่งไปทางอุตสาหกรรม ไปทางเทคโนโลยีอะไรพวกนั้น เป็นเรื่องที่ว่าเราล้าหลังเขาและพยายามเร่งตัวเองขึ้นไป อันนี้ก็นับว่าเป็นความต้องการด้านหนึ่งละ คือความต้องการที่จะแก้ไข ที่จะกำจัดปัญหาเพื่อทำตัวเองให้พ้นไปจากความด้อยพัฒนา คือกำลังพัฒนาตัวเองขึ้นไป หรือแสดงอาการว่ากำลังพยายามทำให้พัฒนาขึ้นไป เมื่อพัฒนาไปถ้าทำไม่ถูกต้อง เกิดการปฏิบัติผิดพลาดในการพัฒนานี้ แทนที่จะออกผลให้การพัฒนาสำเร็จก็จะเกิดเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมา นี้คือหน้าตาด้านที่หนึ่งของสังคมไทย ได้แก่หน้าตาของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีลักษณะความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อจะให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

ต่อไปหน้าตาด้านที่สองซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกัน ก็คือในการที่เราจะ พัฒนาตัวเองนี้ เราก็ตามหรือมองดูประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เรามองดูว่า อ้อ! ประเทศที่เขา เจริญก้าวหน้าเขาพัฒนาแล้วเป็นอย่างไร เราก็หันไปนิยมหันไปเอาเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราจะ มองเห็นภาพว่าประเทศไทยของเราหรือสังคมไทย ตลอดจนคนในสังคมนี้ มีความนิยม และมองประเทศที่เจริญหรือประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง เราเห็นประเทศไหนที่ เจริญมาก เราก็จะเอาประเทศนั้นเป็นแบบอย่าง อย่างสังคมไทยนี้เท่าที่เป็นมาจะมองไป
ที่สังคมอเมริกันมาก ลักษณะนี้ก็คือหน้าตาด้านที่สองของสังคมไทย ได้แก่การนิยมคอย
ตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วนี่ เราตามถูกไหม
ถ้าเราตามถูกเราก็ได้ความพัฒนานั้น ถ้าเราตามไม่ถูกเราก็ได้ปัญหาเพิ่มเข้ามาอีก ทั้งปัญหา ในการตามอย่างผิดพลาด และปัญหาของประเทศพัฒนาที่เขามีอยู่แล้ว

 

ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่ใช่เป็นประเทศที่หมดปัญหา เขาก็มีปัญหาแบบของเขาเหมือนกัน เมื่อเราพัฒนาไปตามอย่างเขา ถ้าหากว่าปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ก็เลยรับเอาปัญหาของเขาเข้ามาด้วย คือแทนที่จะพัฒนาได้สำเร็จ ก็เลยกลายเป็นว่ายิ่งพัฒนาไปยิ่งได้รับแต่ส่วนที่ร้ายของเขามา หมายความว่าส่วนที่ดีของเขาเอามาไม่ได้ เอาส่วนที่เสื่อมที่เป็นปัญหาของเขา ไม่ได้ความเจริญของเขาหรือไม่ได้เท่าที่ควร

 

ยกตัวอย่าง แม้แต่ปัญหาเรื่องอบายมุขนี้ ก็ไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นปัญหาเดิมของตัวเอง แต่เป็นปัญหาพอกพูนขึ้นมาจากการที่ไปตามเขาอย่างไม่ถูกต้อง ค่านิยมบริโภคที่ว่าชอบบริโภคไม่ชอบผลิตก็มีส่วนที่เกิดจากการ ตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างผิดพลาด คือไม่ได้ตามเขาในแง่ของการผลิต แต่ตามในแง่ของการชอบบริโภค คือชอบตามเขาในแง่ของการเสพผลของการพัฒนา แต่ไม่ตามเขาในแง่ทำเหตุของการพัฒนา เราตามเก่งในเรื่องเสวยหรือเสพผลของการพัฒนา

 

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ได้รับผลของการพัฒนาของเขา แต่เราไม่มองที่ตัวแท้ของการพัฒนา หรือแม้แต่กระบวนการพัฒนาของเขา กลับเพ่งมองในแง่ผลที่เขาได้รับจากการพัฒนาแล้ว เราก็ได้แต่ชื่นชมต่อผลของการพัฒนา แล้วเราก็ตามเขาในการเสพผลของการพัฒนา เราก็เลยกลายเป็นผู้บริโภคคอยแต่จะรับเอาผลผลิตสำเร็จรูปแล้วของเขามา แต่ตัวการทำเหตุของการพัฒนา เขามีผลของการพัฒนาอย่างนั้นได้อย่างไรเราไม่ได้ตาม และไม่ค่อยจะสนใจศึกษาด้วย จึงไม่ได้ตามอย่างในแง่การทำเหตุของการพัฒนา เมื่อคอยแต่ตามเสพผลไม่ตามทำเหตุ ก็เป็นการตามที่ผิดพลาด เพราะเท่ากับว่าคอยอาศัยเขา รอให้เขาผลิตให้ไม่ได้พัฒนาตัวเองเลย ฉะนั้นการพัฒนาก็ต้องไม่สำเร็จผลแน่นอน

 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็คือปัญหาทางจิตใจ
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนมากคนมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น มีความอ้างว้างว้าเหว่
ความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคม การแข่งขันช่วงชิงก็ทำให้เกิดความบีบคั้น ความเครียด
ความกระวนกระวายอะไรต่าง แล้วแสดงออกมาทางด้านที่รุนแรงก็คือ การฆ่าตัวตาย
ซึ่งตรงข้ามกับการฆ่ากันตาย ประเทศอเมริกาปัจจุบันนี้ ก็กำลังประสบปัญหานี้อย่างหนัก
คือการที่คนฆ่าตัวตายกันมาก และที่น่าแปลกประหลาดก็คือว่าเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวซึ่งไม่น่า
จะฆ่าตัวตาย ก็มาคิดสั้นทำลายชีวิตของตนเอง

 

แต่ก่อนนี้ประเทศอเมริกามีปัญหาคนแก่ฆ่าตัวตายมากเหลือเกิน เพราะในสังคมที่ พัฒนาแล้วแบบนั้น แต่ละคนต้องรับผิดชอบตนเอง ดิ้นรนขวนขวายไม่มีเวลาที่จะมา
ดูแลกัน คนแก่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ถูกทอดทิ้งมาก อ้างว้าง เหงาว้าเหว่ ไม่มีทางออก
อยู่ด้วยความทรมาน ในที่สุดก็ฆ่าตัวตายหนีไป ในระยะก่อนนี้ประเทศอเมริกา หรือพวก ประเทศฝรั่งที่เจริญด้วยอุตสาหกรรมมากแล้วมีปัญหานี้มาก คนแก่ฆ่าตัวตายเยอะแยะ แต่มาถึงปัจจุบันปัญหานี้มันพัฒนามากขึ้นมาในรูปที่ว่าคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก ปัจจุบันนี้ประเทศอเมริกากำลังประสบปัญหานี้อย่างหนัก เพราะอัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่สูงขึ้นมาแล้วนั้น เขายังอธิบายไม่ได้ชัดเจนยังหาเหตุไม่ได้ และไม่ใช่เฉพาะประเทศอเมริกา ในประเทศญี่ปุ่นคนก็ฆ่าตัวตายมากสถิติสูงอย่างยิ่ง นี้ก็เป็นปัญหาของประเทศพัฒนา

 

ปรากฏว่าประเทศไทยก็รับเอาปัญหาแบบนี้ของประเทศพัฒนามาด้วย ปัญหาทาง จิตใจของเราก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยของเราตอนระยะหลัง นี้ หันมาสนใจปัญหาทางจริยธรรมและเรื่องจิตใจมากขึ้น แม้แต่ในระดับบุคคลก็เป็นที่สังเกตว่าปัจจุบันนี้คนสนใจศาสนามากขึ้น หันไปสนใจเรื่องจิตใจ ทำสมาธิวิปัสสนามากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายไม่เฉพาะในประเทศไทย บางทีกลายเป็นว่าเราเป็นผู้ตามประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

 

ในประเทศเจริญอย่างอเมริกาเป็นมาหลายปีแล้ว คนจำนวนมากเบื่อหน่ายสังคมที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ คนรุ่นใหม่ พวกวัยรุ่นหนุ่มสาว ปลีกตัวออกจากสังคม ละทิ้งระเบียบแบบแผนของสังคมของตนออกไป บางพวกก็ไปตั้งกลุ่มชนใหม่ของพวกตน เช่นเป็นฮิปปี้ กระแสนั้นเป็นไปรุนแรงในระยะต้น พอตั้งตัวได้ต่อมาก็ปรากฏในรูปของการสนใจศาสนา สนใจปรัชญาตะวันออก สนใจสมาธิ ปรากฏว่าตอนนี้ฝังใจกับเรื่องสมาธินี้กันมาก จนกระทั่งว่าบางทีพวกคนตะวันออกที่มีชื่อในเรื่องการปฏิบัติทางจิตใจนี้ เช่น เรื่องโยคะ เรื่องอบรมจิตวิญญาณอะไรพวกนี้ ก็เลยไปหากินกับฝรั่ง ตั้งตัว
เป็นอาจารย์ อย่างชาวอินเดียบางคนไปตั้งตัวเป็นฤาษี เป็นฤาษีจริงก็มี เป็นฤาษีหลอกก็มี
พอทำตัวเป็นฤาษีไปหน่อย ฝรั่งหนุ่มสาวมาหากันเยอะแยะ ได้เงินได้ทองมากจนกระทั่งเป็นมหาเศรษฐีมีเครื่องบินส่วนตัวใช้ มั่งมีเงินทองหลายสิบหลายร้อยล้าน บางรายถึงกับตั้งเป็นอาณาจักรของตนเองขึ้นมา แล้วไป มา ถูกเนรเทศออกจากประเทศไปก็มี แต่ถ้ายังอยู่ไม่มีปัญหาก็ร่ำรวยกันมากมาย นี่หากินจากฝรั่ง แต่ที่เป็นฤาษีดีก็มีเหมือนกัน

 

อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสังคม ซึ่งคนไทยเราปัจจุบันนี้ก็มีความสนใจเรื่อง สมาธิเรื่องวิปัสสนากันไม่ใช่น้อยเลย เข้าใจว่าแม้ในห้องประชุมนี้ก็อาจจะมีบางท่านหรือ หลายท่านที่สนใจทางด้านนี้ ก็เป็นเรื่องทางจิตใจ รวมความว่าปัญหาประเภทนี้ก็เป็น ลักษณะด้านหนึ่งของสังคมซึ่งพัฒนาแล้ว ที่มีความเจริญทางด้านวัตถุมาก แล้วก็มีปัญหา จิตใจตามมา เพราะเจริญทางวัตถุมุ่งไปด้านเดียวไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ได้พัฒนาทาง ด้านจิตใจไปด้วย ก็เลยปรากฏผลขึ้นมาอย่างนี้

 

เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามา ประเทศไทยของเราที่เป็นประเทศกำลังพัฒนานี้ ก็เลยมีปัญหา
ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งก็คือปัญหาของตัวเองที่ยังไม่พัฒนาแล้วกำลังพัฒนาขึ้นไป ก็ปรากฏ ปัญหาด้านที่จะต้องกำจัดความยากจนแร้นแค้น โรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น อีกด้านหนึ่งก็คือการไปตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็เลยได้ปัญหาอีกแบบหนึ่งมา แล้วก็เลยเป็นที่ประชุมของปัญหาทั้งสองแบบ แต่รวมความแล้วมันก็เป็นเครื่องแสดงถึงความต้องการของสังคมของเรา กล่าวคือสังคมของเรานั้นด้านหนึ่งก็มีความต้องการแบบประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีความขาดแคลนทางวัตถุและต้องการความเจริญก้าวหน้ามั่งมีศรีสุข ความพรั่งพร้อมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นี่เป็นความต้องการของประเทศของเราที่เราจะต้องยอมรับ

 

แต่พร้อมกันนั้นเราก็มีปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือปัญหาแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งเราไปตามอย่างทำให้เรามีความต้องการอีกด้านหนึ่งติดมาด้วย คือความต้องการแบบประเทศที่ได้พัฒนาอย่างไม่สมดุล ซึ่งทำให้เกิดความขาดแคลนทางจิตและต้องการที่จะมีความสงบภายใน ความสุขของจิตใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ ความอบอุ่น ความเกื้อกูลกัน ความมีศีลธรรม จึงเป็นความต้องการทั้งสองด้าน

 

ถ้าเรามองจำกัดเข้ามาแคบเข้ามายังบุคคล ก็จะเห็นว่า บุคคลผู้อยู่ในสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างนี้ ก็จะมีความต้องการของเขาที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม กล่าวคือบุคคลที่อยู่ในสังคมนี้จะมีความต้องการที่แยกได้เป็นสองด้านเช่นเดียวกัน ความต้องการด้านหนึ่งก็คือความต้องการความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน การประสบความสำเร็จในชีวิต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสมบูรณ์พูนสุขอะไรต่าง ในการอยู่ในสังคมที่แข่งขันอย่างที่เรียกว่ามีความปลอดภัย มีความมั่นใจในตัวเองพอสมควร อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการดิ้นรนขึ้น ที่เขาศึกษาเล่าเรียนอะไร ต่าง แข่งขันกันในปัจจุบันนี้ก็มุ่งไปที่จุดหมายนี้กันมาก เป็นความต้องการของบุคคลที่เราจะต้องยอมรับความจริง และพร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งเขาก็มีความต้องการทางด้านชีวิตจิตใจ ต้องการความอบอุ่น ความไม่อ้างว้างว้าเหว่ ความต้องการเป็นอิสระ ปลอดพ้นจากความเครียดความกระวนกระวาย ในการดำรงชีวิตประจำวันในอาชีพการงานเป็นต้น

 

คนในสังคมปัจจุบันนี้มีมากเหลือเกิน ประชากรของประเทศไทยนี่เพิ่มพูนจนกระทั่งมีตั้ง ๕๓ ล้านแล้ว กรุงเทพฯ ก็หนาแน่นมีคนอยู่ถึง - ล้าน แต่ดูเหมือนว่ายิ่งคนมากขึ้น แต่ละคนดูเหมือนว่ายิ่งอ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งขึ้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ในเมื่อคนยังน้อยอยู่เรารู้สึกว่ามีความอบอุ่นมาก มีคนที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยมาก มีคนที่รักใคร่กัน มีมิตรไมตรีกันมาก ช่วยเหลือกันได้มาก แต่คนมากขึ้นกลับโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งขึ้น อ้างว้างมากขึ้น นี้มันเป็นอย่างไร มันกลับกัน ในสังคมที่คนมากขึ้น ความโดดเดี่ยวเดียวดาย ความเป็นอยู่เฉพาะตัว ตัวใครตัวมันมากขึ้น อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความต้องการของชีวิตส่วนบุคคลขึ้นด้วย เราต้องยอมรับความจริงว่าบุคคลมีความต้องการทั้งสองอย่าง

 

การแก้ปัญหาทางจริยธรรมนั้น จำเป็นจะต้องให้สนองความต้องการทั้งของบุคคลและของสังคม ถ้ามันไม่สนองความต้องการแล้ว การแก้ปัญหาก็ยากที่จะสำเร็จ จึงต้องยอมรับความจริง ถ้าเราไม่รู้จักความต้องการของเขาไม่ยอมรับความต้องการของคน เราก็จะยืนยันตามที่เรามองหรือตามมาตรฐานของเราว่า ปัญหาจริยธรรมเป็นอย่างนี้ มันไม่ถูกต้อง มันขาดแคลนอย่างนี้แล้วพยายามจะสร้างจริยธรรมขึ้นมาโดยไม่สอดคล้อง ไม่สนองความต้องการก็ยากที่จะสำเร็จ เราจึงต้องเข้าใจความต้องการของทั้งบุคคลในสังคมและของสังคม แล้วก็แก้ปัญหาจริยธรรมนั้น โดยให้สอดคล้องกับความต้องการนี้ แต่เป็นการสนองความต้องการอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นการสนองความต้องการอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดจริยธรรมขึ้นมา

 

ปัจจุบันนี้เราพูดได้ในแง่หนึ่งว่าสังคมนี้ก็ดี บุคคลในสังคมนี้ก็ดี ไม่รู้จักความต้องการของตนอย่างถูกต้อง และปฏิบัติผิดในการสนองความต้องการนั้น จึงเกิดปัญหาในทางจริยธรรมขึ้นมา เราจะต้องหาทางให้เขาสนองความต้องการอย่างถูกต้อง

 

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นส่วนของการพูดทั่ว ไป เพื่อให้เข้าใจเรื่องความต้องการของสังคม ลักษณะหน้าตาของสังคมรวมไปถึงปัญหาต่าง ซึ่งคลุมอยู่ในนั้น จากนี้เราก็จะสามารถก้าวขึ้นไปสู่การพิจารณาเรื่องวิธีแก้ปัญหาจริยธรรมว่า ทำอย่างไรจะให้บุคคลมีคุณธรรมและจริยธรรมขึ้นมาได้

 


. หลักการและวิธีการทั่วไป ในการแก้ปัญหาจริยธรรม

 

ปัญหาเรื่องทำอย่างไรนี่เป็นเรื่องที่ยาก เป็นขั้นวิธีการ การที่จะเข้าสู่วิธีการได้อย่าง ถูกต้องก็ต้องรู้หลักการ วิธีการที่ถูกต้องก็มาจากหลักการที่ถูกต้อง ถ้าไม่รู้หลักการวิธีการ ก็อาจจะทำผิด วิธีการนี้จะย่อยลงไปจนถึงเทคนิคกลวิธีการปฏิบัติอะไรต่าง ซึ่งทั้งหมด
นั้นจะต้องสัมพันธ์กันไปกับหลักในการแก้ หลักในการแก้นี่อาตมภาพก็จะพูดคลุม ๆปน กันไปกับวิธีการเลย โดยถือเป็นเรื่องที่โยงกันอาศัยซึ่งกันและกัน

 

กำจัดเหตุเดียวได้ ปัญหาหมดไปเป็นพวง

 

มีข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า หลักและวิธีการในการแก้ปัญหาทางจริยธรรมที่จะทำให้คน มีจริยธรรมนี้ มีแง่ปฏิบัติสองด้านไปพร้อมกัน คือมีด้านลบและด้านบวก เมื่อเราพูดว่า เราจะทำให้คนมีจริยธรรม เราก็พูดถึงการแก้ปัญหาจริยธรรมไปด้วย จึงมีด้านลบและ ด้านบวก ด้านลบคือจะต้องกำจัดอะไร ส่วนด้านบวกก็คือจะต้องส่งเสริมอะไร บางคน พูดหนักไปทางส่งเสริมว่าจะต้องมีจริยธรรมข้อนั้น จะต้องสร้างความมีระเบียบวินัยให้ เกิดขึ้น จะต้องทำให้คนมีความขยันหมั่นเพียร จะต้องทำให้คนมีความรับผิดชอบ จะต้อง มาช่วยกันส่งเสริมอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของการพูดในแง่บวก แต่บางคนหันไปสนใจ หรือเน้นในแง่ลบว่าประเทศเรามีปัญหาอย่างนั้น คนของเรามีปัญหาอย่างนี้ เช่นว่า
มีค่านิยมบริโภคมาก ชอบหรูหราฟุ่มเฟือย ชอบอวดโก้อวดฐานะ ชอบเอาดีเอาเด่นคนเดียว ตลอดจนกระทั่งว่ามีการฆ่าฟันกันตายมาก มีความขาดแคลนแร้นแค้นเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สัมพันธ์ เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องเลิก ละ กำจัด จริยธรรมจะแก้ไขอย่างไรนี้ก็หนักไปใน ด้านลบ

 

ในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง จะหนักไปในด้านเดียวด้านใดด้านหนึ่งไม่พอ ต้องพูดให้ สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือต้องมีทั้งบวกและลบ แล้วก็ทั้งบวกและลบนี่มันอยู่ในเรื่อง เดียวกัน คือในเรื่องเดียวกันนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ต้องแก้ให้ตรงให้ครบ แต่คำว่า ด้านบวกและด้านลบ ไม่ใช่มีความหมายเพียงเท่านี้ยังมีความหมายลึกซึ้งลงไปกว่านี้อีก

 

เอาตอนแรกก่อน ในการที่จะแก้ปัญหานั้น ตามหลักการของการแก้ปัญหาซึ่งเป็น หลักของพระพุทธศาสนาด้วย ก็คือต้องแก้ที่สาเหตุ สาเหตุนี้มักจะเป็นด้านลบ คือด้าน กำจัด เริ่มด้วยรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของปัญหา เราก็จะต้องสืบสาวหาสาเหตุ คือไม่ใช่มัวนึกแต่ จะสร้างคุณธรรมจริยธรรมข้อนี้ข้อนั้น จริงอยู่การขาดแคลนจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องด้านลบ อยู่ในตัวแล้ว เวลาเราพูด เราจะปฏิบัติ เรามักจะเพ่งทางด้านบวก คือด้านว่าจะทำอย่างไร ให้คนมีอันนั้นอันนี้ แต่เราลืมมองไปว่าเราได้ค้นหาสาเหตุของมันหรือยังว่าทำไมมันจึงเป็น อย่างนั้น ทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้น ทำไมเราจึงขาดแคลนจริยธรรมข้อนั้น ทำไมคนของเรา จึงชอบบริโภคไม่ชอบผลิต ทำไมคนของเราจึงขาดระเบียบวินัย ทำไมคนของเราทำงาน รวมกันเป็นทีมไม่ได้ นี้ก็เป็นปัญหาที่เราจะต้องวิเคราะห์ต้องหาสาเหตุแต่ละอย่างว่าทำไม คนของเราจึงเป็นอย่างนี้

 

บางทีเหตุของปัญหาจริยธรรมหลาย อย่างนี้มันอาจจะเป็นเหตุเดียวกันก็ได้ โดย เฉพาะเหตุส่วนหนึ่งนั้นมันก็ปนมาและแฝงอยู่ในพื้นฐานของเรานี่เอง แต่พื้นฐานจิตใจของ คนไทยเรานี่เราเคยศึกษาให้ชัดเจนไหม ตัวเหตุนี่มันจะต้องมาในตัวของคนเราหรือในสังคม ของเรา เราก็ต้องศึกษาว่าลักษณะนิสัยจิตใจของคนไทย พื้นเพของคนไทยเป็นอย่างไร เราจะคิดแต่เพียงว่าเราจะทำให้คนไทยมีจริยธรรมข้อนี้ เราจะสร้างจริยธรรมข้อนี้ขึ้นเท่านี้ ไม่พอ เพราะว่าในพื้นฐานจิตใจของคนไทย อาจจะมีลักษณะหรือองค์ประกอบบางอย่าง เป็นปมหรือเป็นตอ ที่อาจจะขัดขวางหรือคอยต้านให้รับจริยธรรมข้อนั้นไม่ได้ ก็จะปลูกฝัง จริยธรรมข้อนั้นไม่สำเร็จ อาจจะต้องกำจัดปมหรือตอนั้นก่อน หรือบางทีอาจจะแก้ได้โดย ปรับให้เข้าเหลี่ยมเข้าแง่เข้ามุมกันก่อน ก็จะรับกันและเสริมต่อกันได้ การทำในด้านบวก จึงต้องควบคู่ไปกับการปรับแก้ในด้านลบด้วย

 

ขอยกตัวอย่างเลย จะพูดไปจากสภาพปัญหาที่ปรากฏนี้ เช่นว่าทำไมคนไทยจึงทำงาน เป็นทีมไม่ได้ ปัญหานี้จะสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยของคนไทยอย่างหนึ่ง ขอพูดเป็นข้อเสนอ ไว้ว่าคนไทยนี้มีลักษณะเด่นในแง่ของความเป็นผู้มีมานะมาก

 

คำว่า "มานะ" แปลว่าอะไร หลายท่านอาจจะบอกว่า มานะก็แปลว่าความเพียร พยายาม เช่นในคำว่าต้องมีมานะอดทน มีมานะพากเพียร "มานะ" นี่เรามักจะพูดพร้อมกัน ไปกับคำว่า "อดทน" บ้าง "พากเพียร" บ้าง

 

ความจริงมานะไม่ได้แปลว่าพากเพียรเลย มานะนั้นแปลว่า "ความถือตัว" ความ
ถือตัวสำคัญตน ความเชิดชูตัวให้เด่น ความเอาเด่น ความต้องการเด่นล้ำเหนือเขา ความ
ต้องการที่จะยิ่งใหญ่ นี้คือความหมายที่แท้จริงของมานะ แต่ "มานะ" ในภาษาไทยได้ กลายความหมายมาเป็น "ความเพียรพยายาม" เพียรแล้วบางทีก็ไปคู่กับอดทน เป็นมานะ
อดทน เช่น สอนเด็ก บอกว่าเธอต้องมานะอดทนหรือมานะพากเพียรเล่าเรียนหนังสือ
ต่อไปให้สำเร็จ ต่อไปจะได้เก่ง ถ้าเป็นคนเก่า บางทีก็บอกว่า "อ้าวหนู ตั้งหน้าตั้งตา มานะอดทน หรือว่ามานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต"

 

คำว่า มานะ หรือตัวมานะนี่เราเข้าใจผิดกลายไปเป็นความพากเพียร แต่ความหมาย
ที่แท้จริงของมันซึ่งแฝงอยู่ก็ไปโผล่ออกมาตรงข้างท้าย คือคำพูดที่ว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นเจ้าคนนายคน นั่นแหละคือตัวมานะ ความหมายที่แท้จริงของมานะไปโผล่ตรง
ที่ว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตหรือจะได้เป็นเจ้าคนนายคน คำว่า มานะ นี่เป็นคำที่เอามาใช้ใน ภาษาไทยสำหรับเป็นเครื่องกระตุ้นคนให้มีความเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียนและทำการงาน

 

ทีนี้ก็มีคำถามว่า ทำไมมานะจึงถูกนำมาใช้จนติดปากและกลายความหมายไปอย่างนี้ ขอวิเคราะห์ว่าเพราะเราได้ใช้มานะเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำ คือเอามานะเป็นแรงจูงใจจน เป็นนิสัยของคนไทยที่ได้กระตุ้นคนด้วยมานะกันมานานแล้ว เราเอามานะเป็นตัวกระตุ้น เพื่อให้คนทำการงาน เอามานะมาใช้เป็นแรงจูงใจ จนกระทั่งมานะเองได้กลายความหมาย กลายเป็นตัวความพากเพียรไปเลย ที่จริงมานะไม่ใช่ความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้มี ความเพียร กล่าวคือเพราะต้องการใหญ่โต ต้องการเป็นเจ้าคนนายคน ก็จึงพากเพียร เพียรไปพยายามไป ทำไปเล่าเรียนไปเพื่อจะได้เป็นใหญ่เป็นโตสนองความต้องการของ มานะนั้น มานะจึงเป็นแรงจูงใจพูดตามภาษาวิชาการว่าใช้มานะเป็นปัจจัยให้เกิดความเพียร หรือมานะเป็นปัจจัยแก่วิริยะ

 

ทีนี้การใช้มานะเป็นแรงจูงใจในการเพียรพยายามกระทำการ จะเป็นการงานหรือการ เล่าเรียนหนังสือก็ตาม นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเราก็ใช้กันมานานแล้ว แต่จะเป็นการ ปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอพูดว่า มานะนี้น่าจะเป็นลักษณะเด่นใน นิสัยของคนไทยอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นคนไทยก็จึงถือตัวสำคัญ มีความรู้สึกเกี่ยวกับการ ถือตัวมาก ชอบเอาดีเอาเด่นเฉพาะตัว ตลอดถึงมีการแสดงออกในลักษณะที่ไม่ยอมกัน
ไม่ลงให้แก่กัน เมื่อมาทำงานก็เลยทำงานเป็นทีมไม่ได้ เพราะว่าในเมื่อแต่ละคนถือตัวมาก
ก็ตาม ต้องการเอาดีเอาเด่นคนเดียวก็ตาม มันก็ว่ากันไม่ได้ ไม่ฟังกัน ไม่ยอมกัน

 

เวลาทำงานร่วมกันเป็นทีมนี้ จะเอาเด่นเฉพาะตัวเอาหน้าเฉพาะตัวไม่ได้ จะต้องให้
หมู่คณะเด่นหรือว่ายอมให้คนอื่นที่ควรจะเด่นนั้นเด่นขึ้นมา โดยที่เราต้องยอมให้โดยมุ่ง ประโยชน์แก่งานเป็นสำคัญ คือแล้วแต่ว่างานจะเดินไปดีได้อย่างไร และในการทำงาน ร่วมกันนั้นจะต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน จะมุ่งแต่เอาชนะกันไม่ได้ต้อง รับฟังคนอื่น แต่เมื่อมีมานะก็ทำให้ยอมไม่ได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะด้อยลงไป จะแพ้เขา เราแพ้ไม่ได้ต้องชนะท่าเดียวอะไรทำนองนี้ เมื่อมานะเป็นตัวขับที่เด่นในจิตใจแล้วมันจะ ต้องยอมกันไม่ได้ เมื่อยอมกันไม่ได้ก็ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ก็ยอมให้คนอื่นเด่นไม่ได้
เพราะฉะนั้นงานก็ไม่สำเร็จ

 

อีกด้านหนึ่งมันก็ต้องการโก้เก๋ เมื่อต้องการโก้เก๋ก็ไปส่งเสริมค่านิยมชอบบริโภค
ไม่ชอบผลิต การบริโภคของเรานี้จะสัมพันธ์กับลักษณะนี้ด้วย คือลักษณะของการอวดเด่น
อวดโก้ การที่เราบริโภคนี้บ่อยครั้งไม่ใช่บริโภคเพราะว่าชอบ หรือว่าเอร็ดอร่อย บางทีของ
นั้นไม่ดีหรอก เช่นของที่มาจากต่างประเทศไม่ใช่ว่ามันจะดีวิเศษอะไร แต่มันช่วยให้โก้
มันสนองความรู้สึกโก้หรือเด่นได้เราจึงเอา จึงชอบไปบริโภคในแง่ของการที่จะได้อวดเด่น
อวดโก้ ทั้งที่ของนั้นอาจมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น บางทียิ่งแพงกลับยิ่งชอบซื้อเพื่อ สนองความอยากอวดโก้ เอามาคุยได้ เสริมมานะนั้นแหละ คือเพื่อแสดงว่ามีฐานะดี
หรือทันสมัยอะไรทำนองนั้น

 

จะเห็นได้ว่า เจ้าตัวมานะนี้มันแสดงออกได้หลายท่า แม้แต่การขาดระเบียบวินัยของ คนไทยก็มีลักษณะอย่างหนึ่งที่ส่อถึงมานะ คือพ่วงมากับความรู้สึกว่า ถ้าฉันทำตามใจ ตัวเองได้ ก็แสดงว่าฉันนี่เก่ง ฉันนี่ใหญ่ เช่น อย่างเราจะเดินข้ามถนน ถ้าฉันไม่เดินที่ ม้าลายก็แสดงว่าฉันแน่ ฉันอยู่เหนือกฎเกณฑ์ได้ ฉันละเมิดกฎหมายได้ ฉันไม่ทำตามกฎ ของสังคมได้ คนไทยจำนวนมากมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ได้ แสดงว่าเก่ง

 

ลักษณะนิสัยนี้แสดงออกทั่วไปหมด แม้แต่ในการติดต่อกับราชการ ชาวบ้านคนไหน ไม่ต้องเดินตามสายงาน ไม่ต้องเดินตามระเบียบราชการได้แสดงว่าแน่มากเก่งมาก ยิ่งใหญ่
มาก คุยอวดคนอื่นได้ การที่ไม่ต้องทำตามระเบียบของหมู่คณะได้แสดงว่าเป็นคนเก่ง กลายเป็นดีไป แทนที่จะเอาระเบียบของหมู่คณะเข้าว่า ถ้าทำตามระเบียบก็น่ายกย่อง
ถ้าไม่ทำตามระเบียบเป็นเรื่องน่าละอาย กลับนิยมกันในทางตรงข้าม เมื่อแต่ละคนถือว่าการที่ฉันทำตามใจชอบได้นี่คือเก่ง คือการที่จะเป็นที่ยอมรับยกย่องในสังคม เมื่อเป็นอย่างนี้การมีระเบียบวินัยก็เป็นไปไม่ได้

 

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ได้ก็ดี ค่านิยมชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิตก็ดี หรือแม้แต่การขาดระเบียบวินัยต่าง ก็ดี บางทีมันมาจากสาเหตุตัวเดียวกัน ซึ่งถ้าแก้สาเหตุตัวนั้นแล้ว ก็อาจจะแก้ตัวประกอบอื่น ที่โยงหรืออิงกันอยู่ ตลอดจนปัญหาต่าง ที่สืบเนื่องจากมันได้ทั้งหมดหรือแก้ง่ายขึ้น

 

คนไทยเราชอบแสดงออกอย่างนี้มาก แม้แต่เวลาไปต่างประเทศ คนไทยเราไปในที่ ของเขาประเทศของเขา เขามีระเบียบมีกฎจราจร คนไทยมักจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราฝ่าฝืนกฎจราจรอันนี้ได้ละเราเก่ง แล้วบางทีก็ไม่ทำตามระเบียบ ตำรวจฝรั่งก็เผลอ ได้เหมือนกัน คนไทยเราก็ทำเพื่อแสดงความเก่งนั้น ก็รู้สึกตัวว่าเราแน่ที่ไม่ต้องทำตามกฎ ของฝรั่ง หรือฝ่าฝืนแล้วเขาจับไม่ได้ เราจะไม่มีความรู้สึกละอายในการกระทำอย่างนี้ เพราะเรารู้สึกว่าการทำได้อย่างนั้นเป็นเก่งเป็นโก้ไป นี่ก็เป็นลักษณะที่น่าสังเกต

 

เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า ในการวิเคราะห์ปัญหานั้น เราจะต้อง ศึกษาลึกลงไปถึงสภาพพื้นเพจิตใจของเราและหาสาเหตุที่ในนั้นด้วย บางทีสาเหตุอันเดียว อาจเป็นที่มาของปัญหาได้หลายอย่างเท่าที่เราพบประสบกันอยู่ ซึ่งจะต้องกำจัดสาเหตุ อันนี้ให้ได้ นี้เป็นเพียงตัวอย่าง มิใช่หมายความว่ามีตัวเดียว แต่มันเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่
มีความสำคัญมาก อาตมาเห็นว่า "มานะ" นี้เป็นตัวการสำคัญ มานะมีบทบาทมากจน กระทั่งว่า คนไทยได้ใช้มานะในความหมายที่ดีไปเสียแล้ว

 

มานะนี้เป็นกิเลสใหญ่ตามหลักพุทธศาสนา อยู่ในกลุ่มที่มีจำนวน คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้เรามักจัดอะไร เป็นชุด กิเลสอีกชุดหนึ่งก็คือรากเหง้าของ อกุศลหรือรากเหง้าของความชั่ว ซึ่งมี เหมือนกันคือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง เรียกว่าเป็นอกุศลมูล เรามักมองกันแต่กิเลสชุดรากเหง้านี้ ไม่ค่อยมองไปถึงกิเลสชุดที่เป็นตัวกำกับบทบาทของคน ซึ่งก็มี เหมือนกัน กิเลสตัวกำกับบทบาทของคนชุดที่ว่า ก็คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ

 

.

ตัณหา คือความอยาก ความเห็นแก่ตัว ความอยากจะได้อยากจะเอาเพื่อตัว ต้องการบำรุงบำเรอปรนเปรอตัว

.

มานะ คือความต้องการให้ตัวเด่น อยากยิ่งใหญ่ ความสำคัญตน หรือถือตนสำคัญ

.

ทิฐิ คือความถือรั้นในความเห็นของตน พอเถียงกันไปเวลาหาความรู้ ความจริง ก็ไปติดตัวทิฐิเสีย ทิฐิก็มากั้นความจริง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ เพราะแต่ละคนมาติดทิฐิ ยึดในทิฐิของตัวเองว่าทิฐิของฉันจะต้องถูก เพราะฉะนั้น การแสวงหาความจริงก็เดินหน้าไปไม่ได้

 

ในการพากเพียรพยายามในการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาค้นคว้าของมนุษย์ และแม้แต่
ในการทำงานทำการนี้ เราต้องการที่จะเข้าถึงความจริง แต่คนเราจะไปติดปัญหาก็คือว่า เมื่อค้นคว้าหาความจริงไปถึงตอนหนึ่ง มันจะมีทิฐิมีความคิดเห็นของตัวเกิดขึ้น แล้วคนเราก็มักจะติดในความคิดเห็นนั้น เกิดยึดถือขึ้นมาว่าเป็นความเห็นของฉัน และมีมานะเข้ามาหนุนอีก ความเห็นของฉันนั้นก็กลายเป็นตัวฉันที่ใครกระทบไม่ได้ พอถึงตอนนี้การค้นคว้าความจริงก็จะหยุด จะต้องให้คนอื่นยอมรับทิฐิความคิดเห็นของตัวเอง แล้วต่อจากนั้นไป ตัวความจริงหรือสัจธรรมก็ไม่สำคัญเท่าทิฐิของฉันเสียแล้ว จะต้องให้ทิฐิของฉันนี้มันถูก ตัวความจริงจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ตอนแรกนั้นมุ่งหาความจริงแต่ตอนหลังนี่มาติดในทิฐิ ติดในความเห็นของตัวเอง กลายเป็นเอาทิฐิของตัวเองนี่มาขัดขวางการเข้าถึงความจริงไปเลย กระบวนการค้นหาความจริงก็เลยสะดุดหยุดลงแค่นั้น

 

ตกลงว่ากิเลส อย่างนี้เป็นตัวกำกับบทบาทของมนุษย์ที่สำคัญมาก ทำให้มนุษย์ไม่ สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ดี ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงความสุขที่แท้จริง และไม่ สามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ เพราะตัณหา มานะ ทิฐินี้ เข้ามาครอบงำกำกับบังคับบัญชา การแสดงเสีย ในทางพระท่านเรียกว่าเป็น ปปัญจธรรม แปลว่า สิ่งที่เป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า คือ ทำให้วกวน วุ่นวาย นัวเนีย นุงนังอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตัณหา มานะ ทิฐิ ทั้งสามอย่างเป็นเรื่องตัวตนทั้งนั้น ตัณหา ก็เห็นแก่ตัว เอาเพื่อตัว มานะ ก็ถือตัว มุ่งให้ตัวเด่น เอาตัวเป็นสำคัญ ทิฐิ ก็เอาแต่ความเห็นของตัว ถือรั้นไม่รับพิจารณาใคร ในเมื่อจะเอาแต่ตัว มุ่งผลประโยชน์ ต้องการให้ตัวเด่นเป็นสำคัญ ติดในทิฐิของตัวก็เลยไปไม่รอดแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ติดคาวนเวียนอยู่นี่เอง ตัณหา มานะ ทิฐิ อย่างนี้ที่จริงสำคัญมาก คนไทยเรามักพูดเน้นกันแต่โลภะ โทสะ โมหะ ควรจะหันมาเอาใจใส่ต่อตัณหา มานะ ทิฐิให้มากขึ้น

 

มานะนี้ ในเมืองไทยได้ใช้ในความหมายที่เพี้ยนไปจนกระทั่งว่าดึงหรือกู่แทบไม่กลับแล้ว เวลานี้ถ้าพูดว่า มานะ คนไทยเข้าใจเป็นว่าพากเพียรพยายามหมด คู่กับอดทน แต่ที่จริงแล้วมันเป็นตัวกระตุ้นให้พากเพียรพยายามและอดทนต่างหาก

 

เดี๋ยวนี้เวลาเราพูดถึงเรื่องตัวตน ความเอาตัวเป็นใหญ่นี้ เราต้องไปใช้คำว่า "อัตตา"
แทนเสียแล้ว ที่จริงอัตตานั้นมันเป็นเรื่องสำหรับรู้ คือ เรารู้เข้าใจว่าความจริงไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา เป็นอนัตตา เป็นเรื่องสำหรับรู้ ถ้าเทียบกับปรัชญาปัจจุบัน เขาแยกเป็นด้านเมตาฟิสิกซ์หรืออภิปรัชญา กับด้านเอธิกซ์ (Ethics) หรือจริยธรรม ด้านเมตาฟิสิกซ์ (Metaphysics-อภิปรัชญา) คือด้านที่แสวงหาสัจธรรมว่า ความจริงเป็นอย่างไร ในการศึกษาว่าความจริงเป็นอย่างไร เราจะพูดถึงเรื่องอัตตา- อนัตตา ให้รู้ว่าความจริงนั้น ไม่มีอัตตา มันเกิดจากส่วนประกอบเข้ามาประชุมกันมันเป็นอนัตตาเป็นเรื่องของความรู้ คือรู้จักอัตตาว่า โดยแท้จริงแล้วอัตตาไม่มี เป็นแต่อนัตตา ส่วนด้านของจริยธรรมนี่เป็นเรื่องของมานะ การถือตัวสำคัญตนต่าง ถือเกี่ยวกับตัวตนที่เป็นกิเลสนี้เป็นเรื่องของมานะ

 

ปัจจุบันนี้เราเอามานะไปใช้เพี้ยนแล้ว เราเลยต้องเอาคำว่าอัตตาซึ่งเป็นเรื่องด้าน
สัจธรรมมาใช้ในทางจริยธรรม เป็นการนำไปใช้ผิดทาง เสร็จแล้วก็เลยต้องยอมรับกัน เลยตามเลยไป เช่นที่ชอบพูดกันว่า คนนี้อัตตาใหญ่อัตตาแรง ที่จริงนั่นคือมานะแรงไม่ใช่ อัตตาแรง อัตตาเป็นเรื่องสำหรับรู้ไม่ใช่เป็นเรื่องของจริยธรรม อัตตาไม่มีแล้วจะมาใหญ่ มาแรงได้อย่างไร

 

จุดมุ่งหมายที่พูดเรื่องนี้ ก็เพื่อให้เราแก้ปัญหาจริยธรรมโดยสืบสาวหาสาเหตุ และสาเหตุที่สำคัญก็มีมาในพื้นเพของเรานี้เอง คือพื้นเพวัฒนธรรมในสังคมของเรา และลักษณะจิตใจของเรา หรือคนของเราซึ่งจะต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องมานะไม่สำเร็จ การแก้ปัญหาในเรื่องที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่นการขาดระเบียบวินัยก็แก้ยาก ถ้าเด็กรู้สึกว่าถ้าฉันฝืนระเบียบได้นี่ฉันเก่ง แล้วท่านจะไปแก้ปัญหาทำให้เด็กมีระเบียบวินัยได้อย่างไร

 

ในทางตรงข้าม คนอีกพวกหนึ่งเขารู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เขารู้สึกว่าถ้าฉันฝืนระเบียบวินัยนี่เป็นเรื่องที่น่าละอาย ทุกคนจะไม่ให้เกียรติเลย และในบางประเทศถ้าใครฝืนระเบียบวินัย สังคมจะประณาม คนทั่วไปจะรู้สึกดูหมิ่นเหยียดหยาม เห็นเป็นคนไม่มีเกียรติ แต่คนไทยของเรานี่นอกจากตัวเองจะรู้สึกโก้แล้ว สังคมยังยอมรับด้วย รู้สึกว่าเพื่อน จะชื่นชมยกย่องว่า แหม... หมอนี่มันเก่งจริง มันแน่มันฝืนระเบียบได้ มันไม่ต้องทำตามขั้นตอนก็ได้ มันเก่งจริง เรารู้สึกกันอย่างนั้นจริง ด้วย สังคมของเราเป็นอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็แก้ปัญหาระเบียบวินัยไม่ได้ หรือถ้าเรานิยมความโก้แล้วมีค่านิยมชอบบริโภค มันก็เป็นธรรมดา จะไปแก้ได้อย่างไร เรื่องทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่แก้ที่มานะมันก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวสาเหตุ อันนี้เป็นด้านกำจัดหรือด้านลบ

 

อาตมาเพียงยกตัวอย่างให้ดูอย่างหนึ่งว่าลักษณะนิสัยคนไทยเรานี้เด่นในเรื่องมานะมาก และเราได้ใช้คำว่ามานะจนกระทั่งมันกลายเป็นมีความหมายดีไป เดี๋ยวนี้มานะเป็นศัพท์ที่ดีในเมืองไทย แต่เป็นกิเลสในพุทธศาสนา เป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง สังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดคนไว้กับทุกข์ ไว้กับปัญหา ไว้กับวัฏฏสงสาร สังโยชน์นี้มีหลายอย่าง พระอริยบุคคลจะต้องละไปตามลำดับ มานะนี้ก็เป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง แต่เป็นสังโยชน์ระดับสูงซึ่งมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะละได้ พระอริยบุคคลอื่น ยังละมานะได้ไม่หมด มานะนี้จะต้องยอมรับว่าเป็นกิเลสที่ลึกซึ้งมีหลายระดับ มีตั้งแต่หยาบรุนแรงไปจนกระทั่งละเอียดอ่อน
แม้แต่ความภูมิใจในตนเองน้อย ก็เป็นมานะ เช่น ในเวลาที่เราทำความดีหรืออะไรเสร็จแล้วรู้สึกว่ามีความภูมิใจ แต่มานะในระดับนี้ท่านไม่ถือสานัก เพราะเมื่อมองในแง่ของการศึกษา เราต้องยอมรับด้วยว่ากิเลสนี้บางทีก็มีประโยชน์

 

กิเลสนั้นเป็นพวกอกุศลธรรม อกุศลธรรมหรืออกุศล แปลง่าย ก็คือ ความชั่ว อกุศลนั้นตรงข้ามกับกุศลคือความดี แต่อกุศลกับกุศลธรรมนี่มันอิงอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กันได้ สังคมไทยเราจะว่าไปก็มีความฉลาดในแง่หนึ่ง คือรู้จักเอาอกุศลธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์สนับสนุนกุศลธรรม คือเอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล แต่ถ้าใช้ความฉลาดไม่ครบวงจรก็เกิดโทษได้ ตามหลักธรรมนั้นกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทีนี้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ ถ้าเราใช้ถูกก็เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็นก็ผิดเกิดโทษ ทีนี้เราจะต้องยอมรับหลักทั่วไปว่า

 

.

ถ้าใช้เป็น ใช้ถูกต้อง ก็มีประโยชน์ แต่

.

พร้อมกันนั้นแม้จะใช้เป็นใช้ถูก แต่มันจะมีผลข้างเคียงในทางร้ายขึ้นมาด้วย ไม่บริสุทธิ์

 

การใช้กิเลสแม้แต่ในทางที่ดีก็ต้องระวัง อย่างมานะนี้จะใช้ในทางที่ดีก็ได้เช่นใช้เป็นเครื่องสนับสนุนให้มีระเบียบวินัย โดยจับเอาไปสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นที่จะช่วยให้เกิดผลอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ตาม เช่นสร้างโดยเร้าให้เกิดความรู้สึกในแง่ว่าถ้าเราพากันรักษาระเบียบวินัยได้แสดงว่าพวกเราเก่ง พอทำอย่างนี้ปั๊บมันเปลี่ยนทันทีเลย มานะนี้กลับกลายเป็นแรงจูงใจให้มีระเบียบวินัยไปแล้ว เหมือนในบางประเทศเขาคอยกระตุ้นเร้ากันให้มีความรู้สึกว่า ประเทศชาติของเรานี้จะต้องเป็นประเทศที่เก่งที่สุด เป็นประเทศที่หนึ่งยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติคนของเราจะต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนจะต้องทำได้ทุกอย่างเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น

 

ความคิดที่ว่าประเทศของเราแน่มาก นี่ก็เป็นมานะเหมือนกัน แต่เป็นการใช้มานะอีกรูปแบบหนึ่ง คือเอามานะมาใช้สนองความเชื่อที่ว่า ถ้าเรารักษาระเบียบวินัยได้แสดงว่าประเทศของเรานี่เก่งมาก มานะกลับเป็นตัวแรงผลักแรงกระตุ้นให้คนรักษาระเบียบวินัย เราจะเห็นว่าแม้แต่ในกลุ่มชนหรือหมู่คณะย่อย บางทีเขาสามารถรักษาระเบียบวินัยหรือข้อปฏิบัติบางอย่างได้เคร่งครัด เพื่อให้สนองความรู้สึกภูมิใจในตัวเองว่า "ฉันแน่" เพื่อให้คนรู้เห็นว่าฉันนี้เก่งหรือว่าหมู่คณะของเรานี้เก่ง หมู่คณะของเรานี้เป็นหมู่คณะที่เคร่งครัดที่สุด ทำอะไรได้ดีที่สุด

 

ที่ว่ามานี้ก็เป็นแง่คิดอย่างหนึ่งว่าที่จริงเป็นหลักอย่างหนึ่งทีเดียว คือหลักปัจจัยสัมพันธ์ว่าธรรมข้อเดียวกัน (จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม) อาจทำให้เกิดผลต่างกันไปได้หลายอย่างแล้วแต่ว่าจะใช้อย่างไร คือแล้วแต่ว่าจะเอาไปสัมพันธ์เป็นปัจจัยกันหรือร่วมกันกับธรรมอื่นข้อใด ระบบปัจจัยสัมพันธ์แง่หนึ่งก็คือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า บูรณาการ เป็นระบบที่สำคัญและถ้าใช้เป็นก็มีประโยชน์มาก ดังนั้นจึงควรเรียนรู้และระลึกถึงระบบปัจจัยสัมพันธ์นี้ไว้ให้ดี อย่างในกรณีนี้เอามานะไปร่วมสัมพันธ์กับความเชื่อในเสรีภาพส่วนบุคคลแบบหนึ่ง ออกผลมาเป็นความขาดระเบียบวินัยอย่างหนัก เอามานะไปปัจจัยสัมพันธ์กับความเชื่อในชาตินิยมแบบหนึ่ง ออกผลมาเป็นความมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดดังนี้เป็นต้น

 

เป็นอันว่า มานะตัวเดียวกันใช้เป็นเรื่องเก่งเฉพาะตัวว่าเราแน่มากที่ทำได้อย่างนั้นตามใจเรา ทำได้ตามใจคือเก่งมากหรือทำได้ตามใจคือไทยแท้ อันนี้ก็ไปสนองความต้องการเก่งเฉพาะตัว แล้วก็กลายเป็นว่าถ้าไม่เป็นไปตามระเบียบวินัยได้คือเก่ง แต่อีกพวกหนึ่งเอามานะไปใช้ในแง่ว่าทำได้ตามระเบียบวินัยคือเราแน่ เรานี่เก่ง ก็กลับตรงข้ามกัน รวมความก็คือเป็นการเอากิเลสมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์หรือในทางที่เป็นโทษ แต่ก็เป็นเพียงการพูดว่าใช้ได้เป็นประโยชน์ ซึ่งในทางที่ถูกต้องดีงามแท้จริงแล้วไม่ควรใช้

 

การใช้อกุศลธรรมเป็นแรงกระตุ้นกุศลธรรมนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ดีจริง เราจึงควรจะพูดกันต่อไปว่า ในวิธีการที่ถูกต้อง ที่บริสุทธิ์นั้น ควรใช้อะไรเป็นแรงกระตุ้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อต่อไป ตอนนี้ก็พูดพอเป็นตัวอย่าง

 

สรุปประเด็นอีกครั้งหนึ่งว่า ในแง่หนึ่งของการแก้ปัญหานั้นต้องสืบสาวหาสาเหตุให้ได้ บางทีถ้าแก้สาเหตุของปัญหาได้ตัวเดียวก็แก้ปัญหาได้ตั้งหลายอย่าง และถ้าไม่แก้ที่สาเหตุอันนี้อันเดียว จะไปแก้อย่างไรก็ไม่สำเร็จ จะไปส่งเสริมอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ไปไม่รอด

 

สร้างจริยธรรมตัวนำขึ้นข้อเดียว จริยธรรมอื่นพ่วงมาเป็นพรวน

 

คราวนี้ ประการที่สองเป็นด้านบวก เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงสาเหตุของปัญหาซึ่งเป็นการหนัก ไปในด้านลบหรือด้านสิ่งที่ต้องกำจัด คราวนี้ก็ถึงด้านเสริมสร้างเป็นด้านบวก ในด้านนี้ สิ่งสำคัญคือจะต้องจับให้ถูกที่ เพราะว่าหัวข้อจริยธรรมหรือองค์ประกอบของจริยธรรมและ คุณธรรมต่าง นั้นมีมากมายเหลือเกิน แจกแจงกันไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด พูดกันไม่หวาด ไม่ไหว

 

เรามักจะบอกว่าคนไทยจะต้องมีจริยธรรมข้อนั้นข้อนี้ การส่งเสริมจริยธรรมข้อนี้จะทำอย่างไร เรามักจะระบุชี้กันเป็นข้อ วิธีแก้ปัญหาแบบนี้นอกจากจะไม่สัมพันธ์กับปัญหาแล้ว แม้แต่ในแง่การเสริมสร้างก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จะคิดเสริมสร้างกันทีละข้อ แต่ละข้อเป็นบัญชีเหมือนอย่างรายการสินค้าว่า จริยธรรมข้อหนึ่ง เรื่องนั้นมีวิธีการที่จะส่งเสริมอย่างไร จริยธรรมข้อสอง ข้อนี้มีวิธีการสร้างและส่งเสริมอย่างไร ว่ากันเป็นข้อ แล้วก็หาทางส่งเสริมกันเป็นข้อ

 

ชีวิตมนุษย์นั้นเกิดจากองค์ประกอบมากมายที่รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสัมพันธ์โยงถึงกันหมด การพูดแยกเป็นรายข้อนั้นควรทำเพียงเพื่อความสะดวก เพราะการที่จะเข้าใจองค์รวมให้ชัดเจน ก็ต้องรู้จักองค์ประกอบทั้งหลายว่ามันมีอะไรบ้าง แต่ในเวลาปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเป็นต้น จะต้องมองเห็นองค์ประกอบเหล่านั้นโดยสัมพันธ์กันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ไปแยกเป็นรายข้อพรากออกไปจากกันแล้วสร้างเสริมขึ้นทีละอย่าง ซึ่งก็ย่อมได้ผลบ้างแต่นิด หน่อย ฉาบฉวยผิวเผิน ไม่ว่าในการแก้ปัญหาหรือในการสร้างเสริมก็เช่นเดียวกัน จะต้องจับจุดให้ถูก คือจับจริยธรรมตัวแกนหรือจริยธรรมตัวนำของเรื่องนั้นให้ได้ เมื่อจับตัวนำหรือตัวแกนอันเดียวถูกต้องแล้ว ก็ส่งเสริมอันนั้นเป็นจุดรวม แล้วโยงทั่วไปหมด ก็จะแก้ปัญหาทีเดียวได้หลายอย่าง

 

เป็นอันว่า ในการแก้ปัญหาจริยธรรมนั้นจะต้องจับหาจุดประสานของมันให้ได้ คือจับตัวแกนหรือตัวนำแล้วชักพาอันอื่นให้พ่วงมาด้วย ไม่ใช่ว่ามาเองด้วยทันทีแต่จะต้องรู้เข้าใจว่าถ้าเราทำอย่างนั้นอะไรจะพ่วงมาบ้าง แล้วตั้งใจชักนำให้มันพ่วงมาด้วย ตัวอย่างง่าย สมมุติว่ามีนิสัยรักงานตัวเดียว เมื่อทำงานอะไรก็มีความรักในงานนั้นอยากจะทำ พอเราอยากจะทำขึ้นมานี่จะมีอะไรตามมาบ้าง ความขยันหมั่นเพียรจะตามมาเอง นอกจากความขยัน ความมีระเบียบวินัยจะตามมา มีระเบียบวินัยเพราะว่าการงานนั้นมีระเบียบมีขั้นมีตอนของมัน เมื่อทำงานแล้วการทำงานจะฝึกตัวเขาให้มีระเบียบวินัยไปเอง ระเบียบวินัยก็จะเกิดขึ้น ความอดทนก็จะตามมาด้วย เพราะขั้นตอนของการทำงานนั้นแหละจะฝึกเขาว่าเมื่อทำขั้นนี้เสร็จแล้ว จะต้องรอถึงขั้นนั้นจึงจะทำอย่างนั้นได้ ถ้าทำอันนั้นตรงนั้นแล้วจะต้องรออีกเท่านั้นจึงจะมีผลสำเร็จ จึงเป็นการฝึกความอดทนไปด้วยพร้อมในตัวเลย

 

ยังไม่หมดเท่านั้น การรู้จักขั้นตอนของงาน ความฉลาดจัดเจนในการจัดการและความตรงต่อเวลาเป็นต้น ก็ตามมาด้วย บางทีมาก่อนเวลาด้วยซ้ำ เพราะรักงานอยากจะทำงาน ทำให้กระตือรือร้นตั้งหน้าตั้งตาคอยจะทำงาน จะยิ่งกว่าตรงเวลาเสียอีก จะทำจนเกินเวลาด้วยซ้ำ และแม้แต่จิตใจก็มีความสบาย วิ่งแล่น ไม่ขัดไม่ฝืน สมาธิก็เกิดขึ้น จิตใจมั่นคงเข้มแข็งสงบอยู่กับงาน มีความแน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอันว่าสมาธิเกิดขึ้นเพราะความรักงาน แล้วทำงานไปเพราะความรักงานนั้น มีความสุขอยู่กับงานก็ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องอื่น อะไรจะมาล่อเร้าชักจูงก็ไม่สนใจ ตัดทางความชั่วร้ายสิ่งเสียหายไปมากมาย อารมณ์ที่เข้ามากระทบกระแทกก็ไม่คำนึงมากนัก มีสุขภาพจิตดี แม้แต่ปัญหาเรื่องจิตใจก็สร่างซาพลอยดีขึ้นมาหมด ตกลงว่าถ้าจับจุดอันเดียวได้ถูกแล้วฝึกในเรื่องนั้นขึ้น ตัวอื่นก็พ่วงมาด้วย คือหาตัวนำหรือแกนของจริยธรรมในเรื่องนั้น ให้ได้ แล้วใช้ตัวนั้นในการฝึกให้จริยธรรมข้ออื่นพ่วงมาด้วยกัน ข้อสำคัญก็คือจะต้องจับให้ถูกนั่นเอง นี้เป็นด้านเสริมสร้าง


Back