โยงตัวเราเข้าสู่ระบบการพัฒนาและบูรณาการ

 

ที่ว่ามา อย่างนี้ก็คือหลักของบูรณาการ ที่เป็นความเชื่อมโยงระหว่างพระรัตนตรัยเอง ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงว่าพระรัตนตรัยนั้นมาสัมพันธ์กับเราอย่างไร กล่าวคือต่อจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์ต่าง ของพระรัตนตรัยเองแล้ว ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับตัวเรา ว่าเราคือคนแต่ละคนนี้ สัมพันธ์กับพระพุทธอย่างไร สัมพันธ์กับพระธรรมอย่างไร และสัมพันธ์กับพระสงฆ์อย่างไร

 

เราสัมพันธ์กับพระพุทธ โดยที่ว่าพระพุทธเป็นแม่แบบที่ทำให้เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ พระพุทธเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนจนกระทั่งบรรลุถึงความสมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นจึงทำให้มนุษย์ทุกคนเกิดความมั่นใจว่า ตัวเราแต่ละคนนี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้

 

ศรัทธาในพระพุทธก็หมายถึงศรัทธาในความเป็นมนุษย์ คือศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ ด้วยศรัทธาในพระพุทธก็โยงมาถึงศรัทธาในศักยภาพของตนเอง ที่ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองทำให้เรามีกำลังใจ และพร้อมกันนั้นก็เป็นการเตือนใจเราให้นึกถึงหน้าที่ในการพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย

 

ฉะนั้นหลักการเรื่องพระพุทธนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจตัวเราในฐานะเป็นมนุษย์ว่าจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปให้ถึงที่สุด และพร้อมกันนั้นก็ทำให้คนมีกำลังใจในการที่จะพัฒนาตนอย่างนั้น เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้นที่เป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพระพุทธเจ้า เป็นศรัทธาพื้นฐานในพระพุทธศาสนา เรียกว่า "ตถาคตโพธิศรัทธา" (ถ้าจะเรียกให้จำง่ายก็ว่า โพธิศรัทธา) แปลว่าความเชื่อหรือความมั่นใจในปัญญาตรัสรู้ของตถาคต คือความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะ ซึ่งโยงมาหาความสามารถของตัวเราเอง ว่าเรานี้สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นพุทธะได้ ให้เป็นคนสมบูรณ์ได้ ดังมีคาถาบทหนึ่งเป็นคติเตือนใจและเร้าใจไว้ว่า "พระพุทธ ทั้งที่เป็นมนุษย แต่เป็นผู้พัฒนาตนแล้วนี้ แม้แต่เทวดาก็นอบน้อมนมัสการ" อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นหลักที่พระพุทธศาสนาวางไว้ให้เชื่อและสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตน นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับมนุษย์แต่ละคน

 

ทีนี้พระธรรมสัมพันธ์กับเราอย่างไร พระธรรมสัมพันธ์กับเราคือ ธรรมนั้นเป็นความจริงในธรรมชาติที่แวดล้อมตัวเราอยู่ และเป็นความจริงในตัวเราเอง ในชีวิตของเราด้วย เป็นกฎเกณฑ์อันแน่นอนที่แผ่ครอบคลุมตัวเราและทุกสิ่ง เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มแต่หลักความจริงที่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจะทำอะไรให้ได้ผลดีรวมทั้งการพัฒนาตัวของเราเองด้วย เราก็จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลที่ดีงาม หรือความเป็นไปอย่างประสานกลมกลืน มิฉะนั้นผลร้ายจะเกิดขึ้นแก่สิ่งทั้งหลายและตัวเราเอง ดังนั้นการรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรม แต่เราจะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อธรรมได้อย่างไร ก็ด้วยการพัฒนาตนให้มีปัญญาเป็นต้น ตามอย่างพุทธะที่เป็นแม่แบบอยู่แล้ว

 

ต่อไปเรามีความสัมพันธ์กับสงฆ์อย่างไร สงฆ์เป็นแหล่งกัลยาณมิตร เป็นแหล่งที่เราจะไปแสวงหาผู้ที่จะช่วยชี้แจงแนะนำ เร้าเตือนเราให้เดินหน้าไปในการพัฒนาตน เช่นเป็นครู อาจารย์ เป็นต้น และเมื่อเราพัฒนาตนไป เราก็เข้าร่วมเป็นกัลยาณมิตรด้วยโดยเข้าเป็นสมาชิกของสงฆ์ ซึ่งเมื่อเราพัฒนาตนแล้วเราก็กลายเป็นหรือสามารถเป็นกัลยาณมิตรของผู้อื่นต่อไป สงฆ์จึงเป็นแหล่งที่เราหากัลยาณมิตรและเข้าร่วมเป็นกัลยาณมิตรเองด้วย

 

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับตัวเรา ถ้าหากว่าชาวพุทธเข้าใจหลักพระรัตนตรัยนี้ถูกต้องแล้ว ก็จะโยงเข้ามาหาระบบบูรณาการทั้ง อย่างที่ว่า มี มนุษย์ ธรรมชาติ และ สังคม แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืน ก็จะเป็นการเข้าสู่ยุคบูรณาการอยู่แล้วในตัว ตกลงว่ายุคบูรณาการก็หันกลับไปหาหลักพระรัตนตรัยนี้เอง

 

ขอถามแทรกเข้ามาอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ สิ่งหนึ่งก็คือเทคโนโลยี เทคโนโลยีนี้น่าจะเป็นระบบหนึ่ง แต่ไม่เห็นเลย มันอยู่ที่ไหน เท่าที่สำรวจดูพวกนักปราชญ์ นักคิดต่าง เขาก็ไม่ได้จัดเทคโนโลยีเป็นระบบหนึ่งในระบบใหญ่ทั้งหลาย ระบบใหญ่ก็มีเพียงมนุษย์ ระบบนิเวศวิทยาและสังคม หรือมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนั้นแหละ แล้วทีนี้ในระบบบูรณาการนี้เทคโนโลยีอยู่ที่ไหน

 

เทคโนโลยีไม่สามารถเป็นระบบอันหนึ่งได้ มันไม่มีระบบบูรณาการภายในกลุ่มพวกของมันเอง ไม่มีความสัมพันธ์ในระหว่างพวกของมันเองที่ต่างหากจากตัวมนุษย์ เป็นเพียงตัวพ่วงตามของมนุษย์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็ไม่อาจจัดเข้าในจำพวกสิ่งแวดล้อมทั่วไปตามปกติ ซึ่งได้แก่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางสังคม คือต้องเป็นสิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งต่างหาก และมักจะเป็นตัวการที่ไปทำลายระบบบูรณาการของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยซ้ำ คือมันเป็นตัวการในฝ่ายของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งจะไปแทรกแซงบั่นรอนระบบบูรณาการของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือไม่ หรือจะกลับไปช่วยเสริมระบบบูรณาการนั้น ก็อยู่ที่การปฏิบัติของมนุษย์ จึงต้องจัดรวมไว้ในระบบของมนุษย์เอง แต่มันอาจจะกลายเป็นสภาพแวดล้อมส่วนเกิน ที่กลับมาส่งผลทำลายตัวมนุษย์เองก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องในระบบของมนุษย์เอง

อนึ่งเพราะเหตุที่เทคโนโลยีสามารถเป็นสภาพแวดล้อมขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ต่างหากจาก
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังนั้นในการจัดระบบบูรณาการระดับองค์รวมสมบูรณ์จึง
หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าสิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อม และใช้คำว่าระบบนิเวศหรือใช้ง่าย
ว่าธรรมชาติเท่านั้น

 

ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เทคโนโลยีอยู่ที่ไหนในระบบบูรณาการนี้ แล้วก็ขอตอบเลยว่าอยู่ที่มนุษย์นั่นเอง อยู่ที่มนุษย์อย่างไร เทคโนโลยีก็คือส่วนขยายแห่งศักยภาพทางกายของมนุษย์ หรือเป็นเครื่องมือขยายพิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เป็นส่วนขยายหรือ extension ของศักยภาพด้านกายของมนุษย์ ซึ่งไปเข้าคู่กับส่วนขยายหรือ extension แห่งศักยภาพด้านจิตของมนุษย์ ด้านจิตของมนุษย์เมื่อขยายศักยภาพออกไปมันจะเป็นอภิญญา ด้านกายเมื่อขยายศักยภาพออกไปก็เป็นเทคโนโลยี

 

มนุษย์ในยุคที่ผ่านมานี้ได้เน้นการพัฒนาศักยภาพด้านกาย จนมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอันมาก แต่ในสมัยก่อนที่มนุษย์จะหันมาพัฒนาศักยภาพด้านกายนั้น เป็นยุคที่มนุษย์สนใจด้านจิตมาก และได้ขยายศักยภาพด้านจิตออกไป มีการบำเพ็ญฌาน ได้อภิญญาสมาบัติกันมากมายไปหมด ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญอีกด้านหนึ่งของอีกยุคหนึ่งและเอียงสุดไปข้างหนึ่ง คือไปด้านจิต ส่วนในเวลานี้เราก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง คือไปด้านกายหรือด้านวัตถุ ตอนนี้เมื่อมาถึงยุคบูรณาการก็น่าจะทำให้เกิดบูรณาการกันเสียที คือให้มีการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านกายและด้านจิตเข้ามาร่วมกัน แล้วทำให้เกิดสมดุลที่เป็นความสมบูรณ์ของมนุษยชาติ

 

เป็นอันว่าโดยสรุป พระรัตนตรัยเป็นแม่แบบใหญ่แห่งระบบบูรณาการในระดับแห่งพัฒนาการที่สูงสุด พระพุทธเจ้าเป็นพัฒนาการระดับสูงสุดของมนุษย์ พระรัตนตรัยก็เป็นระบบบูรณาการที่สมบูรณ์สูงสุดขององค์รวมใหญ่ทั้งหมด

 

เท่าที่บรรยายมา ก็ได้พยายามพูดให้เห็นว่าพัฒนาการกับบูรณาการนั้นต้องดำเนินไปด้วยกัน การศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์จะเป็นพัฒนาการอย่างมีบูรณาการ แล้วก็เป็นบูรณาการท่ามกลางพัฒนาการด้วย ต้องไปด้วยกันอย่างนี้

 

ปาฐกถานี้เริ่มจากหัวข้อว่า "การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ" และเท่าที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้มาลงท้ายโดยสามารถเปลี่ยนชื่อหัวข้อปาฐกถาได้ คือให้สามารถเปลี่ยนจากหัวข้อชื่อว่า การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ มาเป็นว่า "การศึกษา: พัฒนาการและบูรณาการ" ถ้ามาลงตัวอย่างนี้ได้ ก็เป็นอันสมประสงค์ของการปาฐกถาครั้งนี้ แต่จะสมประสงค์เป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังด้วย แต่สำหรับตัวอาตมาเองขอถือว่า บัดนี้หัวข้อปาฐกถาได้มาลงข้อสรุปอย่างที่อาตมาต้องการแล้ว คือสามารถเปลี่ยนได้จากหัวข้อว่า "การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ" มาเป็น "การศึกษา: พัฒนาการและบูรณาการ" เมื่อมาสรุปลงได้อย่างนี้แล้วก็ถือว่าจบปาฐกถานี้เพียงเท่านี้

 

เมื่อจบปาฐกถาด้วยเรื่องพัฒนาการและบูรณาการอย่างนี้แล้ว ก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ในการที่ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดปาฐกถาครั้งนี้ขึ้น และได้จัดกิจกรรมอื่น ทั้งหมดเท่าที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสิริมงคลด้วยการที่ได้แสดงความกตัญญูต่อบุพการี และด้วยการเกื้อหนุนทางวิชาการ ให้เป็นประโยชน์แก่คนที่จะเจริญก้าวหน้ากันต่อไป

 

ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน จงมีทั้งพัฒนาการและบูรณาการประกอบพร้อมกันไป จนกระทั่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ คือมีปัญญา มีความรู้เข้าใจ และให้ปัญญานั้นเจริญถึงที่สุด รู้เข้าใจความจริงที่เป็นสภาวะของสิ่งทั้งหลายโดยถ่องแท้ ที่จะทำให้เกิดมีคุณธรรมทั้งหลายพรั่งพร้อม รวมทั้งฉันทะคือความใฝ่ดีที่จะกระทำการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วแสดงออกมาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกรุณา คือความใฝ่ที่จะช่วยเหลือให้เขามีความสุขร่วมด้วย อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม พร้อมนั้นก็ขอให้ทุกท่านประกอบด้วยคุณสมบัติข้อที่ คือมีความสุข เป็นผู้ไร้ทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระปราศจากทุกข์ ปราศจากปัญหา มีความเจริญพรั่งพร้อมบริบูรณ์โดยส่วนตัว และเป็นส่วนร่วมที่มีประโยชน์แก่สังคมโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ


Back