บทที่
บูรณาการ กับ พัฒนาการ

 

หลักการทั่วไปของบูรณาการ

 

เมื่อเรามองเห็นว่าการที่สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นหน่วยย่อย จะต้องมาประสานสัมพันธ์กลมกลืนกันให้ดี จึงจะเกิดความพอดีเป็นสมดุล และสิ่งนั้นจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ในกรณีที่เป็นอย่างนี้ เมื่อเรามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นหน่วยย่อยเราจะทำอย่างไร เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องนำเอามันเข้ามาประมวลประสานเข้าหากันเป็นองค์รวม ในลักษณะอาการที่ให้เกิดความสมดุลให้ได้ ซึ่งการกระทำอันนี้เขาเรียกว่า บูรณาการ

 

บูรณาการ แปลว่าการกระทำให้สมบูรณ์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า integration ในที่นี้ต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วย ก็เพราะว่าในปัจจุบันทรรศนะแบบนี้ไปเฟื่องฟูขึ้นในเมืองฝรั่ง และเราก็บัญญัติคำขึ้นใหม่จากศัพท์ฝรั่ง ก็เลยต้องอ้างศัพท์ฝรั่ง

 

มาพูดถึงความหมายของศัพท์ว่า บูรณาการ หรือ integration กันนิดหน่อย จะลองให้ความหมายอย่างง่ายที่สุดว่า บูรณาการ คือการทำให้สมบูรณ์ แต่พูดแค่นี้มันอาจจะไม่สมบูรณ์ ถ้าจะพูดให้สมบูรณ์ก็คงจะต้องให้ความหมายที่ละเอียด ให้เกิดภาพที่ชัดยิ่งขึ้น ขอพูดขยายความออกไปหน่อยว่า การนำหน่วยย่อยอันหนึ่งเข้ารวมกับหน่วยย่อยอื่น ภายในองค์รวมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ อย่างนี้ก็ได้

 

หรือขยายความออกไปอีกก็บอกว่า การประมวลหน่วยย่อยที่แยก ๆ กันให้รวมเข้าเป็นองค์รวมที่ครบถ้วนสมบูรณ์

 

ขออีกอันหนึ่งว่า การทำให้หน่วยย่อยทั้งหลายเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบซึ่งทำหน้าที่ ประสานซึ่งกันและกัน กลมกลืนเข้าเป็นองค์รวมอันเดียวอันทำให้เกิดความสมดุลที่องค์รวมนั้น สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปได้ในภาวะที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็วนเวียนอยู่ที่คำว่าสมบูรณ์นี่เอง

 

คราวนี้ขอเสนอคำจำกัดความสุดท้ายให้เลือกว่า

 

การทำให้หน่วยย่อย ๆ ทั้งหลาย ที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เข้ามาร่วมทำหน้าที่ประสานกลมกลืนเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัว

 

เป็นอันว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบูรณาการ หรือความหมายของมันนี้ ก็ไปสัมพันธ์กับทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม ที่เรียกว่า holistic view หรือ holism อย่างที่ยกตัวอย่างเช่นเรื่องแพทย์เมื่อกี้ ถ้าวินิจฉัยและรักษาโรคโดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง
ทางร่างกายและจิตใจของคนไข้ พร้อมทั้งปัจจัยทางสังคมและธรรมชาติแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
ก็เรียกว่าใช้วิธีบูรณาการ หรือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าพัฒนาโดยมุ่งให้มนุษย์เป็นอยู่ดี ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและนิเวศวิทยาที่เกื้อกูล ก็เรียกว่าใช้วิธีบูรณาการ หรือถ้าเป็นการศึกษา เอาเฉพาะการสอน การสอนโดยทำให้คนพัฒนาขึ้นมาเต็มตัวทั้งคน ก็เป็นการใช้วิธีบูรณาการ

 

ในประเทศอย่างอเมริกาเขาเอาคนผิวดำเข้ารวมในสังคมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยคนผิวขาวให้กลมกลืนกัน อันนี้ก็เรียกว่าบูรณาการเหมือนกัน หมายความว่าคนดำกับคนขาวนี่มีปัญหากันมาก คนดำเป็นคนส่วนน้อยมักถูกแบ่งแยก มีปัญหาว่าอาจจะถูกเหยียดหยามไม่ได้รับสิทธิสมบูรณ์ ทำอย่างไรจะให้เข้าร่วมอยู่ในสังคมอเมริกันโดยสมบูรณ์ เขาก็พยายามที่จะจัดเอาคนดำนี้เข้าร่วมในกิจกรรมของสังคม และในสภาพความเป็นอยู่ของสังคม อเมริกันโดยสมบูรณ์ เช่นจัดรถนำเอาเด็กดำไปเรียนรวมกับเด็กขาว หรือนำเอาเด็กขาวไปเรียนรวมกับเด็กดำในชั้นเรียนเดียวกันในโรงเรียนเดียวกัน หรืออาจจะให้คนผิวดำทั้งหมดเข้าร่วมทำงาน โดยมีสิทธิเสมอทัดเทียมกับคนผิวขาวอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็เรียกว่าเป็น integration เป็นบูรณาการเหมือนกัน

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรามีเด็กบกพร่อง จะบกพร่องทางกายก็ตาม บกพร่องทางใจก็ตาม วิธีการเรียนการสอนแบบหนึ่งคือ เขาแยกให้เรียนต่างหาก แต่มีทรรศนะอีกพวกหนึ่งบอกว่า ต้องเอาเด็กที่มีความบกพร่องทางกายก็ตาม ทางใจก็ตามนี้ เข้าเรียนรวมกันกับเด็กปกติในชั้นเรียนปกติ การทำอย่างนั้นก็เรียกว่าบูรณาการ นี่ก็เพื่อจะให้เด็ก เป็นเด็กที่สมบูรณ์มีความเจริญเติบโตทุกด้านเหมือนเด็กปกติ ก็เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ

 

ในหลักสูตรและการสอนก็มีตัวอย่าง เช่นเราจัดการสอนการเรียนให้เชื่อมโยงวิชาทั้ง
หลายทุกวิชาเข้ามาหากัน อาจจะตั้งเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นหลักสักเรื่องหนึ่ง หรือเป็นแกนให้
มีการเรียนรู้ แล้วก็โยงทุกวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามา ตัวอย่างง่าย ๆ เช่นให้เรียนเรื่องข้าว
เอาข้าวขึ้นมาเป็นหลักตั้ง แล้วจากเรื่องข้าวนี้เราก็สามารถเรียนทุกด้าน เช่นว่าด้านวิทยา ศาสตร์ ในแง่ชีววิทยาอาจจะให้เรียนรู้ว่าข้าวนี่เป็นพืชตระกูลไหน มันแพร่พันธุ์อย่างไร
เป็นต้น ให้เรียนในแง่เกษตรกรรมว่าข้าวนี่จะต้องปลูกในฤดูไหน จะปลูกกันอย่างไร
ในแง่ภูมิศาสตร์ก็ให้เรียนรู้ว่าข้าวนี้มีปลูกมากในถิ่นไหน เหมาะกับภูมิอากาศแบบใด
ในด้านเศรษฐกิจก็ให้รู้ว่าข้าวนี้ มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร
เช่นเป็นรายได้หลักของชาติ เป็นที่มาของเงินทองรายได้ของประเทศอย่างไร ในแง่
คณิตศาสตร์เช่นว่าปลูกข้าวได้ไร่ละ ๕๐ ถัง ถ้ามีนา ๑๘ ไร่จะได้ข้าวเท่าไร หรือขายได้
เกวียนละ ๒,๕๐๐ บาท มี ๕ เกวียนจะได้เงินเท่าไรอะไรพรรค์นี้ หรือในแง่ศิลปวัฒนธรรมก็อาจจะเรียนว่าเรามาร้องเพลงเกี่ยวข้าวกัน ให้มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม หรืออาจจะให้วาดภาพทุ่งนายามเช้าแดดส่องผืนนาเป็นสีทองอะไรทำนองนี้ ตลอดจนให้เรียนในแง่จริยธรรมให้รู้จักว่าจะต้องกินข้าวอย่างไรจึงจะประหยัด หรือว่าถ้าเป็นเด็กชาวนาก็แนะนำให้ไปช่วยพ่อแม่ทำนา ถ้าเป็นเด็กทั่วไปก็อาจจะใหรู้จักคุณค่าของชาวนาอย่างนี้เป็นต้น
ว่าเรื่อยไปจนกระทั่งให้รู้จักมารยาทในการกินอะไรต่าง ๆ ทำนองนี้ เพราะฉะนั้นจากเรื่องข้าวเรื่องเดียวก็เรียนได้ครบทุกด้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเรียนการสอนโดยวิธีบูรณาการ

 

รวมความแล้วจะเห็นได้ว่าในการบูรณาการนั้น เราจะเอาหน่วยย่อยหน่วยหนึ่งมารวมเข้าในองค์รวมที่มีหน่วยย่อยอื่นอยู่แล้วก็ได้ หรือจะเอาหน่วยย่อยทั้งหลายที่ต่างก็แยก ๆ กันอยู่มารวมเข้าด้วยกันเป็นองค์รวมก็ได้ อันนี้เรียกว่าบูรณาการทั้งสิ้น แต่ข้อสำคัญจะต้องมีตัวยืนที่เป็นหลักอยู่ ๓ อย่างในเรื่องบูรณาการ คือ

 

.

มีหน่วยย่อยองค์ประกอบ ชิ้นส่วน อวัยวะ หรือขั้น ระดับ แง่ ด้านที่จะเอามาประมวลเข้าด้วยกัน อันนี้เป็นสิ่งที่จะเอามาประมวลเข้าด้วยกันคือสิ่งย่อย ส่วนย่อย

.

หน่วยย่อยเป็นต้นนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน อันนี้อาจจะเลยไปถึงลักษณะที่ว่ายืดหยุ่นปรับตัวได้ มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วย

.

เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วก็จะเกิดความครบถ้วนเต็มบริบูรณ์ โดยมีความประสาน กลมกลืน เกิดภาวะได้ที่ พอดี หรือสมดุล พอได้ที่หรือพอดีสมดุลแล้วองค์รวมนั้นก็มีชีวิตชีวา ดำรงอยู่และดำเนินไปด้วยดีอันเป็นภาวะของบูรณาการ

 

ถ้าครบ ๓ อย่างนี้ก็เป็นบูรณาการ สามอย่างนี้เป็นตัวยืนที่จำเป็นตามสภาวะ ส่วนในทางปฏิบัติจะมีหลักและกระบวนวิธีอย่างไร ก็พิจารณาว่ากันอีกส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่จะต้องเน้นก็คือว่าความพอดีหรือได้ที่หรือสมดุล ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องการของบูรณาการนั้น เราจะแสดงลักษณะออกมาให้เห็นเป็นข้อสำคัญได้ ๒ อย่างคือ

 

ข้อที่ ๑

เมื่อเป็นองค์รวมแล้ว องค์รวมนั้นมีชีวิตชีวาหรือดำเนินไปด้วยดี

ข้อที่ ๒

องค์รวมนั้นเกิดมีภาวะและคุณสมบัติของมันเอง ที่ต่างหากจากภาวะและคุณสมบัติขององค์ประกอบทั้งหลาย

 

นี่เป็นลักษณะ ๒ อย่างที่เป็นองค์รวมซึ่งเกิดบูรณาการขึ้นมาแล้ว ขอยกตัวอย่างเพื่อ
ให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเอาชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบมากมายมาประกอบเข้าให้ประสาน
กลมกลืนได้ที่สมดุลพอดีแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นองค์รวมอันหนึ่งเรียกว่ารถยนต์ รถยนต์นี้
ก็จะมีภาวะของมันขึ้นมาเป็นพาหนะสำหรับใช้ขับขี่ได้

 

ภาวะที่เป็นรถยนต์ซึ่งมีความหมายเป็นพาหนะใช้ขับขี่ได้ เป็นภาวะและคุณสมบัติ
ใหม่ที่ไม่เหมือนกับส่วนประกอบย่อยของมัน กล่าวคือ ส่วนประกอบย่อยของมันนั้น
จะเป็นล้อ เป็นเครื่องยนต์ เป็นพวงมาลัยหรืออะไรก็ตาม ล้วนแต่ใช้ประโยชน์ในการขับขี่เป็นพาหนะไม่ได้เลยสักอย่าง แต่พอมาประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมแล้ว มันมีภาวะใหม่เป็นรถยนต์ เป็นพาหนะสำหรับใช้ประโยชน์อย่างใหม่ เป็นคุณสมบัติอย่างใหม่ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ดีมันจะต้องมีภาวะที่สมดุล ถ้าไม่สมดุลมันก็ไม่เดินไม่วิ่ง ความเป็นรถก็เกิดขึ้นไม่ได้เป็นพาหนะไม่ได้ ถ้าไม่สมดุล คือองค์ประกอบต่าง ๆ ส่วนย่อยหรือชิ้นส่วนทั้งหลายของรถนั้นมันไม่เข้าที่กัน มันก็เป็นรถขึ้นมาไม่ได้ อย่างดีก็ได้แค่เป็นของพิการ ฉะนั้นจึงต้องมีภาวะที่ว่าเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์รวมมีความสมดุลพอดีก็มีชีวิตชีวาดำเนินไปด้วยดี แล้วก็เกิดมีภาวะเป็นคุณสมบัติใหม่ของมัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างขององค์รวม


Back